รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2543

2543 ปีแห่งการก่อร่างสร้างตัว
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในรอบ 1 ปี ของการรวมกันระหว่างสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ย่อมเป็นที่จับตามองของทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อมวลชนด้วยกัน หรือองค์กรอื่น ๆ ในสังคม

ดังนั้น เพื่อการทำงานภายใต้ความคาดหวังของทุก ๆ คน ทุก ๆ ฝ่ายเป็นไปตามเป้าหมายของการสร้างความเป็นปึกแผ่นของสมาคมวิชาชีพ คณะกรรมการบริหารชุดแรกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้วางนโยบายการทำงานไว้ดังนี้ คือ

  1. พัฒนาความเป็นปึกแผ่นขององค์กรวิชาชีพหลังการรวมสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  2. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจรรยาบรรณ และเป็นกลางเพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคม
  3. พัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด
  4. เสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคม ฯ สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ

จากนโยบายดังกล่าว ได้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้เพื่อให้สามารถแปรเปลี่ยนนโยบายไปสู่ การปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้

1. แผนพัฒนาความเป็นปึกแผ่นขององค์กรวิชาชีพภายหลังการรวมสมาคม ฯ

ภายใต้แผนนี้ คณะกรรมการบริหารได้กำหนดกิจกรรมไว้หลายเรื่อง ได้แก่

1.1 แผนการปรับปรุงสถานที่ทำการของสมาคม

ในวาระเริ่มแรก คณะกรรมการบริหารมีมติให้สำนักงานเดิมของสมาคมนักหนังสือพิมพ์ ฯ ที่ ถนนสามเสน เป็นสำนักงานใหญ่ของสมาคม และกำหนดให้ที่ทำการเดิมของสมาคมนักข่าว ฯ ที่ถนน ราชดำเนินเป็นสำนักงานสาขา แต่เนื่องจากสำนักงานที่ถนนสามเสน อยู่ในสภาพทรุดโทรม และห้องประชุม-ห้องทำงานต่าง ๆ ไม่สามารถรองรับกิจกรรมและเจ้าหน้าที่ของสมาคมได้

คณะกรรมการบริหารสมาคม ฯ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงอาคารสมาคมขึ้นโดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่จัดหาผู้ออกแบบและประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา ขณะเดียวกัน ก็ให้ใช้ที่ทำการที่ถนนราชดำเนินเป็นสำนักเลขาธิการชั่วคราวไปพรางก่อน

นอกจากนี้ ยังได้ตกลงว่าจ้างนายโอภาส เกวลิน ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบก่อนจะเปิดให้มีการประกวดราคาค่าก่อสร้างในเวลาต่อมา โดยประมาณการงบประมาณในการปรับปรุงสมาคม ฯ เบื้องต้นประมาณ 5-5.5 ล้านบาท กำหนดให้แล้วเสร็จอย่างช้าภายในวันที่ 4 มีนาคม 2544 เพื่อให้สามารถใช้สมาคมเป็นสถานที่ประชุมใหญ่ประจำปีของสมาชิกได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เปิดซองประกวดราคาแล้ว ปรากฏว่า บริษัทที่ยื่นประมูลส่วนใหญ่เสนอราคาตั้งแต่ 7 ล้านบาท-10 ล้านบาทเศษ จึงได้ประเมินราคากลางใหม่อีกครั้งพบว่าน่าจะใช้งบประมาณใน การซ่อมแซมไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท

ดังนั้น คณะกรรมการบริหาร จึงมีมติให้ชะลอการซ่อมแซมไว้ก่อน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งเกินกำลังเงินที่มีอยู่ของสมาคม พร้อมทั้งพยายามมองหาช่องทางการหาทุนเพิ่มเติมจนกว่าจะหารายได้เข้ามามากพอสมควร จึงจะลงมือก่อสร้าง แต่เชื่อว่าจะไม่เรียบร้อยในสมัยบริหารนี้ ต้องรอให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่เข้ามาสานงานส่วนนี้ต่อไป

1.1 แผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของสมาคม ฯ

การรวมสมาคมสองสมาคมเข้าด้วยกันถือเป็นการรวมเอาทรัพย์สิน-หนี้สิน และบุคลากรของทั้งสองสมาคมเข้ามาไว้ด้วยกัน ดังนั้น ภารกิจอีกประการหนึ่งของคณะกรรมการบริหารคือ การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสมาคม เพื่อให้สามารถรองรับงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นได้

เพราะขณะนี้ นอกจากสมาคม ฯ จะให้การสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและชมรมนักข่าวสายไอทีแล้วสมาคม ฯ ยังทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการให้กับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงการต้องสนับสนุนงานของเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของนักข่าวในเอเชียอาคเนย์ หรือ SEAPA อีกด้วย

ล่าสุด สมาคม ฯ ได้ร่วมมือกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้าไปฟื้นฟูสถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์เดิมที่ได้ยุติกิจกรรมไปหลายปีแล้ว เพื่อแบ่งเบางานด้านการฝึกอบรม และสัมมนาต่าง ๆ ที่เป็นกิจกรรมหลักส่วนหนึ่งของสมาคม ฯ ภายใต้ชื่อองค์กรใหม่ว่า “สถาบันพัฒนาการสื่อมวลชนแห่งประเทศ-ไทย” คาดว่าจะเปิดตัวสถาบันแห่งนี้ได้ในวันที่ 4 มีนาคมนี้

1.2 แผนการปรับปรุงสวัสดิการของสมาชิกสมาคม ฯ

คณะกรรมการบริหาร ได้ปรับปรุงระเบียบสวัสดิการสมาชิกใหม่ เริ่มตั้งแต่การปรับระเบียบการมอบทุนการศึกษา ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติร่วมกันว่า จะไม่ขอรับบริจาคเงินจากหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรธิดาของสมาชิกเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่จะใช้วิธีนำดอกผลจากบัญชีเงินฝากกองทุนเพื่อการศึกษาของสมาคม มาเฉลี่ยกันกับจำนวนผู้ขอรับทุนควบคู่ไปกับการกำหนดเพดานเงินเดือนของสมาชิกผู้ขอรับทุน เพื่อเฉลี่ยให้กับสมาชิกที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนจริง ๆ

นอกจากนี้ ล่าสุด คณะกรรมการบริหาร ฯ ได้อนุมัติให้เพิ่มวงเงินประกันชีวิตสำหรับสมาชิกที่ชำระค่าธรรมเนียมจากเดิมคนละ 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท ในกรณีเสียชีวิตด้วยการเจ็บป่วยและเพิ่มเป็น 200,000 บาท ในกรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสวัสดิการที่สมาชิกทุกคนมีโอกาสได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน ก็ได้เพิ่มเงินสวัสดิการคลอดบุตรคนแรกจากเดิม 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท

ส่วนสวัสดิการการรักษาพยาบาล ได้ปรับปรุงให้ในกรณีผู้ป่วยใน สมาชิกสามารถเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท แต่ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง กรณีผู้ป่วยนอก เบิกได้ครั้งละ 500 บาท แต่ไม่เกินปีละ 6 ครั้ง โดยหลักฐานการขอรับเงินต้องมีใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จรับเงินตัวจริงเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างหลักประกันในการทำงานให้แก่พนักงานของสมาคม คณะกรรมการบริหารได้ออกระเบียบว่าด้วยพนักงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างความชัดเจนในการบริหารงานบุคคลของสมาคมได้ในระดับหนึ่ง

2. แผนงานส่งเสริมจริยธรรมและยกระดับความเป็นวิชาชีพ

เนื่องจากสื่อมวลชนในประเทศไทย โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อที่มีสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวอย่างเต็มที่ ดังนั้นปัญหาที่ตามมาก็คือ ความรับผิดชอบในการใช้เสรีภาพ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งสมาคม ฯ ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสภาการหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมจริยธรรมโดยการใช้สภาการหนังสือพิมพ์ ฯ เป็นเครื่องมือตรวจสอบย่อมไม่พอเพียง จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเชิงรุก เช่น การลดเงื่อนไขที่จะทำให้นักข่าวละเมิดจริยธรรม ฯลฯ

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาสมาคม ฯ ยังได้ออกแถลงการณ์เตือนกรณีที่มีการแอบอ้างเป็นนักข่าวเพื่อเรียกรับเงิน หรือผลประโยชน์จากแหล่งข่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันสอดส่องและกำจัดพฤติกรรมเหล่านี้

เช่นเดียวกับกิจกรรมการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการความร่วมมือ ทางวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน (กวส.) ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมีกิจกรรมสำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 การสัมมนาเสริมประสบการณ์วิชาชีพแก่ผู้สอนวิชาหนังสือพิมพ์ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-29 ตุลาคม 2543 มีอาจารย์ที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 14 คน

2.2 การประชุมวิชาการประจำปี เรื่อง “สื่อมวลชนกับธรรมาภิบาล” เมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม 2543 ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จ. นครราชสีมา มีอาจารย์และนักวิชาชีพเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 คน จากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านวิชาการหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ

2.3 การจัดทำวารสารวิชาการ “สื่อมวลชนปริทรรศน์” ราย 3 เดือน

2.4 การจัดการเสวนาทางวิชาการดำเนินการไปแล้ว 4 ครั้ง โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ

3. แผนการพัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาสมาคม ฯ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และทักษะในการประกอบวิชาชีพให้กับเพื่อนสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ โดยในปี 2543 สมาคม ฯ มีการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ ดังนี้

3.1 การสัมมนาเชิงปฏิบัติการการทำข่าวสืบสวนสอบสวน โดยใช้วิทยากรที่มีประสบการณ์ทั้งไทยและต่างประเทศสนับสนุนโดย World Bank Institute เมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายน 2543 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์จำนวน 25 คน

3.2 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อย เป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาด้านนิเทศ-ศาสตร์ – วารสารศาสตร์ได้มาสัมผัสกับทักษะและเรียนรู้จริยธรรมในวิชาชีพ จัดเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2543 ณ วังยางรีสอร์ต จ. สุพรรณบุรี มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมอบรมประมาณ 100 คน

3.3 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าววิทยุอาวุโส เป็นการสัมมนาติดตามผลอันเนื่องมาจากโครงการในปีที่ 2542 พร้อมทั้งการอบรมให้เป็นวิทยากรการอบรม เมื่อวันที่ 21-28 มิถุนายน 2543 โดยความร่วมมือจาก Canadian Journalists for Free Expression (CJFE) มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และกรมประชาสัมพันธ์ สนับสนุนโครงการโดย SEAFIELD ของรัฐบาลแคนาดา

3.4 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้านการทำข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเมื่อวันที่ 17-21 ตุลาคม 2543 ณ โรงแรมสวนบวกหาด อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี โดยความร่วมมือกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดยมูลนิธีฟรีดริค เอแบร์ท มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั่วประเทศรวม 17 คน

4. แผนการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคม ฯ สมาชิกองค์กรผู้ประกอบธุรกิจ สื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ

ในรอบปีที่ผ่านมา สมาคม ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสมาคม รวมทั้งหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

4.1 ประสานงานใกล้ชิด รวมทั้งจัดกิจกรรมร่วมกับสมาคมทางวิชาชีพอื่น ๆ ผ่านทางสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เช่น การจัดทำเวบไซต์รวมของสมาพันธ์ ฯ ล่าสุดมีแผนงานที่จะจัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีระหว่างสมาคมในสมาพันธ์ ฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 17 มีนาคม 2544 ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

4.2 ร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพอื่น ๆ นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนเคลื่อนไหวติดตาม การดำเนินงานตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด โดยเข้าไปร่วมจัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพสื่อเพื่อประชาชนดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจปัญหาในการเลือกคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)

4.3 ต้อนรับผู้แทนจากสมาคมนักข่าวลาว มาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. 2543 โดยมีการสัมมนาเรื่องการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมไทย-ลาว ขึ้นในระหว่างที่คณะนักข่าวลาวมาเยือนด้วย

4.4 ให้ความร่วมมือเป็นสำนักเลขาธิการของเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ หรือ SEAPA ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการคุมคามนักข่าวในอินโดนีเซีย และการก่อตั้งสมาคมนักข่าวในติมอร์ตะวันออก ฯลฯ

4.5 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนานาชาติ หรือ IFEX ในการจัดการประชุมใหญ่ประจำปีที่กรุงเทพ ฯ ในระหว่างวันที่ 2-8 มิถุนายน 2544 โดยมี SEAPA ร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประมาณ 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการไปบ้างแล้ว

4.6 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์เครือข่ายของสมาคม ฯ ที่ต่างมีกิจกรรมทั้งด้านวิชาการ การส่งเสริมยกระดับทักษะในวิชาชีพและสร้างความสามัคคีอย่างต่อเนื่อง

นอกจากกิจกรรมตามนโยบายและแผนงานของสมาคม ฯ แล้ว ในปี 2543 ยังเป็นปีที่มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก ทั้งด้วยการใช้กำลังประทุษร้าย และการใช้อำนาจรัฐเข้ามาคุกคาม ดังนั้น สมาคม ฯ จึงได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อกรณีต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง (ดูแถลงการณ์แนบท้าย) และล่าสุดในช่วงท้ายปี 2543 สมาคม ฯ ได้จัดทำรายงานการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนในรอบปี 2543 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจกทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดาของสมาชิก การจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตามระเบียบ การจัดประกวดข่าวและภาพข่าวประเภทต่าง ๆ และการจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2544 ก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ

ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมางานส่วนใหญ่ของสมาคม ฯ จึงเป็นงานการวางโครงสร้างพื้นฐานของสมาคม ฯ เพื่อรองรับกิจกรรมในอนาคต ทั้งในด้านของวัตถุและการบริหาร ที่สมาคม ฯ จะต้องรับหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการให้กับองค์กรทางด้านสื่อมวลชนต่าง ๆ อีกด้วย

แต่ทั้งนี้ กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วของสมาคม ฯ จะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ ถ้าปราศจากความร่วมมือของเพื่อนสมาชิกทั้งหลาย นอกจากนี้ ยังมีงานอีกมากมายที่ต้องได้รับการสานต่อจากกรรมการชุดต่อไป