รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2542

สมาคมนักข่าวปี 2542 พันธกิจการสร้าง “มืออาชีพ” ที่ยังไม่สิ้นสุด

ความแตกต่างของปี 2542 กับปีอื่น ๆ นอกจากจะเป็นปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว ยังเป็นปีที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยมีกรรมการบริหารหน้าใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แทนเพื่อนพ้องกรรมการชุดเก่ากว่าครึ่งคณะ อีกทั้งยังเป็นการก้าวเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมครั้งแรกของ “กวี จงกิจถาวร” บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นที่เน้นนโยบายการส่งเสริมความเป็น “มืออาชีพ” ของนักข่าว ทั้งในแง่ของ “จริยธรรม” และ “ทักษะ” ในการทำงาน รวมไปถึงการสานต่อภารกิจรวมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

หลังการเลือกตั้งนายกสมาคมและกรรมการบริหารชุดใหม่เมื่อ 4 มีนาคม 2542 คณะกรรมการบริหารก็เริ่มงานทันที ด้วยการประชุมกำหนดนโยบายการทำงานร่วมกันซึ่งสามารถกลั่นกรองออกมาสั้น ๆ ดังนี้

  1. ส่งเสริมจริยธรรมและการสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างแหล่งข่าวกับนักข่าว
  2. เสริมสร้างทักษะการทำข่าวของนักข่าวทุกระดับ
  3. ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างนักข่าวสายต่าง ๆ
  4. สนับสนุนการส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ดังนั้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ พร้อมด้วยเพื่อนนักข่าวสายต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จึงสามารถแยกแยะออกมาตามนโยบายแต่ละข้อดังต่อไปนี้

กิจกรรมส่งเสริมจริยธรรมและสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างแหล่งข่าวกับนักข่าว

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยยังคงเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการดำเนินงานของ “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เพื่อให้ภารกิจในการควบคุมกันเองของหนังสือพิมพ์เป็นไปอย่างจริงจัง ด้วยการส่งกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ไปร่วมสนับสนุนงานของสภาการหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องตลอดปี

จุลสาร “ราชดำเนิน” ราย 3 เดือน เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ได้มีการนำเสนอข่าวและบทความที่เน้นย้ำถึงการรักษาจริยธรรมของนักข่าว และการกำหนดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับแหล่งข่าวมาโดยตลอดทุกฉบับ ขณะเดียวกันก็ได้มีการสอดแทรกประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมในกิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคม เช่น ในการอบรมเชิงปฏิบัติการนิสิตนักศึกษาด้านหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ ยังได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนปัญหาในการทำข่าวกับโฆษกรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักข่าว – แหล่งข่าว ได้แก่ กิจกรรม “เสาร์เสวนา” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2542 (ดูรายละเอียดการจัดรายการเสาร์เสวนาตลอดทั้งปีในตารางท้ายรายงานฉบับนี้) กิจกรรมเสาร์เสวนามีวัตถุประสงค์หลักในการเปิดโอกาสให้นักข่าวและแหล่งข่าวได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นอกเหนือไปจากการสัมภาษณ์เพื่อนำมาเสนอเป็นข่าวตามปกติ พร้อมกันนี้ นักข่าวที่มาร่วมในการเสวนาก็ยังมีข่าวกลับไปป้อนให้สำนักข่าว – สำนักพิมพ์ของตนอีกด้วย

กิจกรรมเสริมสร้างทักษะการทำข่าวของนักข่าวทุกระดับ

กิจกรรมด้านการพัฒนาและยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน โดยส่วนการเสริมสร้างทักษะการทำข่าวของนักข่าวทุกระดับของสมาคมนักข่าวฯ ยังถือเป็นภารกิจหลักอีกประการหนึ่งของสมาคมนักข่าวฯ โดยยังเน้นกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งนักข่าวประจำการในสื่อมวลชนกลาง อาจารย์ที่สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ นักศึกษาวิชาวารสารศาสตร์ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกด้วย ดังนั้น กิจกรรมการฝึกอบรม – สัมมนาในรอบปี 2541 จึงมีดังต่อไปนี้

  1. โครงการ “เสริมทักษะวิชาชีพหนังสือพิมพ์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2542 เป็นโครงการที่นำเสนอในการสัมมนาผู้สอนวิชาการหนังสือพิมพ์เรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชนที่จัดโดยสมาคมนักข่าวฯ และสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อวันที่ 10 – 12 ธันวาคม 2541 โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ได้มีโอกาสสัมผัสกระบวนการผลิตข่าวในทุกขั้นตอน ซึ่งได้ความร่วมมือจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในการรับอาจารย์เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการทำข่าวและผลิตหนังสือพิมพ์เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ มีอาจารย์เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 17 คน จาก 17 สถาบันการศึกษา
  2. การอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2542 ณ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากสภาสถาบันราชภัฏ ธนาคารเอเชีย มูลนิธิอิศรา อมันตกุล มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ มูลนิธิไทยรัฐ และบริษัทไทยน้ำทิพย์ โดยเป็นการอบรมที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน และเป็นการสนับสนุนโครงการประกวดข่าว “พิราบน้อย” มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพหนังสือพิมพ์แก่นิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาด้วยกัน มีนักศึกษาเข้าร่วมการสัมมนาจากทั่วประเทศจำนวน 100 คน
  3. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนวิชาการหนังสือพิมพ์” เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2542 ณ วังยาง รีสอร์ต จ.สุพรรณบุรี เป็นอีกโครงการที่มาจากข้อเสนอในการสัมมนาผู้สอนวิชาการหนังสือพิมพ์เรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชน โดยเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการที่สอนวิชาการหนังสือพิมพ์และนักหนังสือพิมพ์อาวุโสได้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องแนวความคิดในการสอน – อบรมวิชาการหนังสือพิมพ์ให้กับนักศึกษาและนักข่าวรุ่นใหม่ มีนักวิชาการและนักข่าวอาวุโสเข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น 18 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักข่าวสารอเมริกัน และเครือเจริญโภคภัณฑ์
  4. การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เนตในงานข่าว” เมื่อวันที่ 18 – 22 ตุลาคม 2542 โดยความร่วมมือของ The freedom Forum องค์กรพัฒนาเอกชนด้านหนังสือพิมพ์จากสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านงบประมาณและวิทยากรแบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น รุ่นแรกสำหรับนักข่าวในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ และรุ่นที่ 2 สำหรับนักข่าวไทย รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 50 คน
  5. การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าววิทยุอาวุโส ร่วมกับ Canadian Journalists for Free Expression (CJFE) กรมประชาสัมพันธ์ และมูลนิธิแสงชัยสุนทรวัฒน์ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแคนาดา (CIDA) แบ่งการสัมมนาเป็น 2 รุ่น ๆ ละ 12 คน รุ่นแรกอบรมไปเมื่อวันที่ 14 – 24 พฤศจิกายน 2542 ที่เมืองพัทยาและรุ่นที่ 2 อบรมไปเมื่อวันที่ 6 – 16 กุมภาพันธ์ 2543 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากนี้ ในเดือนมิถุนายน จะเชิญผู้ผ่านการอบรมทั้ง 2 รุ่นมาสัมมนาเพื่อติดตามผลการอบรมอีกครั้ง รุ่นละ 2 วัน จากนั้นจะคัดเลือกผู้ผ่านการอบรมรวม 4 คน เพื่ออบรมให้สามารถเป็นวิทยาการจัดการอบรมในลักษณะเดียวกันได้
  6. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก : วิกฤตและการฟื้นตัว” ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในอาเซียน (SEAPA) โดยการสนับสนุนงบประมาณและวิทยากรจากสถาบันธนาคารโลก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2542 ณ โรงแรมมาเจซติก บีชรีสอร์ต อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีนักข่าวไทยเข้าร่วมการสัมมนา 12 คน และมีนักข่าวจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เข้าร่วมอีกชาติละ 9 คน รวมเป็น 30 คน
  7. การสัมมนาวิชาการประจำปีผู้สอนวิชาหนังสือพิมพ์ ครั้งที่ 2 เรื่อง “หนังสือพิมพ์ไทยในสหัสวรรษหน้า” เมื่อวันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2542 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ The Freedom Forum มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ และธนาคารนครหลวงไทย เป็นการสัมมนาต่อเนื่องจากปีก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้แลกเปลี่ยนถึงปัญหาและพัฒนาการในวงการหนังสือพิมพ์ไทย รวมทั้งการปรับตัวของทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายวิชาชีพเพื่อให้ได้นักข่าวรุ่นใหม่ที่เพียบพร้อมทั้งความสามารถในงานข่าวและสำนึกด้านจริยธรรมในวิชาชีพมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นนักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ทั้งสิ้น 100 คน
  8. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 – 27 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นเดียวกัน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดเยี่ยมที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและสามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความรับผิดชอบด้านจริยธรรมในวิชาชีพหนังสือพิมพ์มีนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเข้าร่วมการสัมมนา 30 คน

กิจกรรมการส่งเสริมความสามัคคีระหว่างนักข่าวสายต่าง ๆ

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวฯ ประจำปี 2542 เห็นความจำเป็นในการสร้างความสามัคคีระหว่างนักข่าวสายต่าง ๆ จึงได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนองตอบนโยบายดังกล่าวดังต่อไปนี้

  1. โครงการจัดทำจุลสารข่าว “ราชดำเนิน” ราย 3 เดือน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนและบุคคลในวงการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นสื่อกลางและเวทีทางความคิดของสื่อมวลชนทุกระดับซึ่งในปี 2542 ก็ได้มีการจัดทำอย่างต่อเนื่องรวม 4 ฉบับ
  2. โครงการจัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทางสถานีวิทยุ FM. 100.5 ของ อสมท. ทุกวันอาทิตย์เวลา 15.00 – 16.00 น. เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับสำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกับประชาชนและเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของสมาคมฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2540 ซึ่งคณะกรรมการการบริหารชุดนี้ ได้ดำเนินการสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
  3. การสัมมนาร่วมกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภภาคม 2542 ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อเป็นการรับฟังเสียงสะท้อนจากเพื่อนนักข่าวแขนงต่าง ๆ ที่ประจำอยู่ ณ ทำเนียบรัฐบาลต่อกิจกรรมของสมาคม โดยในการสัมมนาครั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ ได้สนับสนุนพาหนะที่ใช้ในการเดินทางด้วย นอกจากนี้สมาคมนักข่าวฯ ยังได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อนสื่อมวลชนประจำรัฐสภาบางส่วนในเรื่องเดียวกันอีกด้วย
  4. การสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักข่าวสายต่าง ๆ เพื่อเป็นการสานต่อนโยบายของคณะกรรมการบริหารชุดก่อน ๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้นักข่าวในสายต่าง ๆ ที่ต้องการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อยกระดับวิชาชีพและส่งเสริมความสามัคคีระหว่างกันในปีที่ผ่านมา สมาคมฯได้สนับสนุนกิจกรรมการประชุมสัมมนาของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง ส่วนชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือนักข่าวสายไอทีนั้น ยังเน้นกิจกรรมทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ของนักข่าวเอง เช่น การอบรมความรู้ภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การจัดสัมมนาเรื่องกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จนถึงกระทั่งในขณะนี้ ชมรมนักข่าวสายไอที ได้ดำเนินการมาครบ 3 ปีแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคม 2543 ที่ผ่านมา
  5. โครงการประชุมสัญจร เพื่อให้การประชุมคณะกรรมการบริหาร ซึ่งต้องมีขึ้นเป็นประจำทุกเดือนเกิดประโยชน์สูงสุดคณะกรรมการบริหารชุดนี้ จึงรื้อฟื้นโครงการประชุมสัญจรขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสมาคมนักข่าวกับผู้บริหารหนังสือพิมพ์ และองค์กรทางด้านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ โดยในปีที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและพบปะกับผู้บริหารหนังสือพิมพ์และองค์กรด้านสื่อมวลชนรวม 8 ครั้ง ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน บางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น ผู้จัดการ สยามรัฐ และ อ.ส.ม.ท.

กิจกรรมสนับสนุนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ในส่วนของการกิจกรรมสนับสนุนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคนั้น ในรอบปีที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ ได้ขยายการดำเนินการในด้านนี้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการภายใต้ชื่อของสมาคมนักข่าวฯ เอง หรือการดำเนินการผ่านสมาพันธ์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้

การสนับสนุนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศ

  1. การผลักดันให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้เริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และต่อมาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งผู้แทนของสมาคมนักข่าวฯ เป็นคณะทำงานยกเลิกกฎหมายดังกล่าวร่วมกับคณะที่ปรึกษาของ รมว.มหาดไทยซึ่งในที่สุด คณะรัฐมนตรีได้รับหลักการให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 แล้ว และอยู่ระหว่างการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานร่าง พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ที่จะออกมาอำนวยความสะดวกในการเก็บรวบรวมทะเบียนสิ่งพิมพ์
  2. การติดตามการบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ชุดนี้ เห็นพ้องต้องกันว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปได้ด้วยความโปร่งใสและเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการของประชาชนและสื่อมวลชน ทั้งนี้สมาคมได้จัดการเสวนาในประเด็นปัญหานี้หลายครั้ง รวมทั้งมีการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกฎหมายนี้ เพื่อนำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. การนำเสนอปัญหาขอบเขตการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเป็นตัวกลางในการหาทางออก และมีข้อเสนอแนะในการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยร่วมมือกับ อ.ส.ม.ท. จัดการอภิปรายทางโทรทัศน์ช่อง 9 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542

นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ยังมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์คุกคามสื่อมวลชน โดยบุคคลผู้ใกล้ชิดกับนักการเมืองในรัฐบาลรวมทั้งการคุกคามสื่อมวลชนในกรณีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2542 อีกด้วย

การสนับสนุนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในระดับภูมิภาค

หลังจากที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งเครือข่ายสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน หรือ Southeast Asia Press Alliance (SEAPA) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 พร้อมทั้งให้สมาคมนักข่าวฯ เป็นสำนักเลขาธิการของ SEAPA ด้วยนั้น สมาคมนักข่าวฯ จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมของ SEAPA ในประเทศไทยดังนี้

  1. การจัดประชุมคณะกรรมการบริหาร SEAPA ครั้งที่ 1 / 2542 เพื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหาร และกิจกรรม เมื่อวันที่ 20 – 22 พฤษภาคม 2542
  2. การจัดประชุมคณะกรรมการบริหาร SEAPA ครั้งที่ 2 / 2542 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2542 เพื่อติดตามความคืบหน้าของแผนงาน
  3. การจัดการประชุมนานาชาติหัวข้อ “Rebuilding East Timor’s Media” เมื่อวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนของ UNESCO มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายประเทศหลายหน่วยงานรวมประมาณ 40 คน

นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวฯ ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างสัมพันธ์กับนักข่าวในประเทศเพื่อนบ้านและนักข่าวในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกดังนี้

  1. การส่งผู้แทนไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวลาว ระหว่างวันที่ 9 – 14 สิงหาคม 2542 เพื่อเป็นสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กับสมาคมนักข่าวสปป.ลาว โดยในการเยือนครั้งนี้ มีการประชุมเพื่อติดตามผลการจัดสัมมนาเรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ลาว – ไทย” ปรากฏว่ามีความก้าวหน้าด้วยดี และจะมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนให้เกิดความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  2. การส่งผู้แทนไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวจีน ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 8 ตุลาคม 2542 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักข่าวทั้งสองประเทศ ซึ่งต่อมาสมาคมนักข่าวจีนได้ส่งผู้แทนจำนวน 12 คน มาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทนเมื่อวันที่ 9 – 18 มกราคม 2543 ทำให้นักข่าวทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  3. การส่งผู้แทนไปร่วมประชุม International Freedom of Expression (IFEX) ที่ประเทศแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 16 – 21 เมษายน 2542 หลังจากที่สมาคมนักข่าวฯ ได้กลับเข้าไปเป็นสมาชิก IFEX อีกครั้งในช่วงปลายปี 2541 จากการประชุมดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเป็นที่รับรู้ว่าเป็น 1 ในประเทศที่มีสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพค่อนข้างมาก
  4. การส่งผู้แทนไปร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียนที่ประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2542 โดยกรรมการบริหารสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่มาจากสมาคมนักข่าวฯ ได้รับการเสนอชื่อไปร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ได้อนุมัติให้รับสมาคมนักข่าวลาว เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 7
  5. การส่งผู้แทนไปร่วมประชุมนักข่าวอิสระจัดโดย International Federation of Journalists (IFJ) โดย IFJ ได้เชิญสมาคมนักข่าวฯ ในฐานะสมาชิกประเภทวิสามัญ ให้ส่งผู้แทนจำนวน 3 คน เข้าร่วมการประชุมนักข่าวอิสระในภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 29 – 30 มกราคม 2543 โดยทางผู้จัดรับผิดชอบค่าเดินทาง ที่พักและอาหารทั้งหมด
  6. ร่วมต้อนรับคณะสื่อมวลชนเวียดนาม ซึ่งเป็นการเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 2 – 8 สิงหาคม 2542 โดยสมาคมนักข่าวฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงต้อนรับคณะผู้แทนดังกล่าวด้วย

กิจกรรมทางวิชาการและสังคมอื่น ๆ

นอกเหนือจากกิจกรรมตามนโยบาย 4 ข้อของคณะกรรมการบริหารแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ สมาคมนักข่าวฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการอีกดังนี้

  1. การสัมมนาผู้ประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารของรับกับสื่อมวลชน เป็นการจัดร่วมกับกองงานโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 9 กรกฎาคม 2542 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้หน่วยงานรัฐและสื่อมวลชนสามารถประสานงานกันได้ดียิ่งขึ้น
  2. การเสวนาพาทีเรื่อง “เศรษฐกิจไทย : ฟื้นจริงหรือฟุบยาว” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อเป็นการหารายได้สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมนักข่าวฯ
  3. การสัมมนา “สิทธินักข่าวตาม พรบ.แรงงานฉบับใหม่” โดยการสนับสนุนจาก IFJ เป็นการสัมมนาเพื่อศึกษาถึงสิทธิที่นักข่าวพึงมีพึงได้จากกฎหมายแรงงานระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2542 ณ วังยาง รีสอร์ต จ.สุพรรณบุรี ซึ่งหลังจากโครงการนี้ สมาคมนักข่าวฯ ได้ดำเนินโครงการวิจัยสถานภาพการจ้างของนักข่าวระดับต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง โดยร่วมมือกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
  4. โครงการผ่าตัดเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ฟรี 100 คน ร่วมกับโรงพยาบาลยันฮี และกรมประชาสงเคราะห์ ที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมหลักที่ดำเนินงานเป็นประจำ

  1. มอบทุนการศึกษาแก่บุตร – ธิดา ของสมาชิกจำนวน 181 ทุน ทุนละ 2,500 บาท
  2. การจัดทำประกันชีวิตสำหรับสมาชิก (เฉพาะที่ชำระค่าธรรมเนียมประจำปี) โดยในปีที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ ได้เริ่มดำเนินการประกันชีวิตและอุบัติเหตุแก่สมาชิกกับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เป็นปีแรก
  3. การให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่สมาชิกตามระเบียบ
  4. การจัดประกวดข่าว – ภาพข่าว ประเภทต่าง ๆ
  5. การจัดทำหนังสือประจำปีของสมาคม หรือหนังสือวันนักข่าว
  6. การจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี

กิจกรรมที่รอการสานต่อ

แม้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ โดยคณะกรรมการบริหารชุดนี้ จะได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่วางแผนไว้มากมายหลายประการ แต่ยังคงมีกิจกรรมหลายเรื่องที่ยังไม่สามารถดำเนินการลุล่วงไปในสมัยการบริหารงานนี้ได้แก่ โครงการจัดทำคู่มือนักข่าว และการปรับโครงสร้างการบริหารของสำนักเลขาธิการของสมาคม ฯลฯ ซึ่งต้องรอการรวมสมาคม คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยชุดปี 2542 – 2543 ขอขอบคุณเพื่อนนักข่าวทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐบาล เอกชน และองค์กรต่างประเทศ ที่ได้ช่วยกันผลักดันให้กิจกรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปได้ตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยชุดต่อไป (ไม่ว่าการรวมสมาคมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะเสร็จสิ้นหรือไม่ก็ตาม) คงจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดีเช่นเคย