รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ประจำปี 2540

บทบาทของสมาคมนักข่าว ในรอบปีแห่ง “วิกฤต” ของวงการหนังสือพิมพ์

แทบไม่น่าเชื่อว่าสถานการณ์ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 กับสถานการณ์ในวันนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งแม้ว่าจะมีสัญญาณบางตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะดิ่งเหว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายถึงขนาดนี้ สถานการณ์เช่นว่านี้ หลายคนเรียกมันว่า “ภาวะวิกฤต” แต่อีกหลายคนก็บอกว่าเราจะต้องแปร “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส” เพื่อให้สามารถหลุดพ้นภาวะวิกฤตไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยชุดปี 2540-41 ซึ่งรับหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2540 จึงถือได้ว่าเป็นคณะกรรมการชุดที่ต้องรับ “บทหนัก” อีกชุดหนึ่งภายใต้สถานการณ์ ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

แรกเริ่มเดิมทีเมื่อเข้ามารับงานใหม่ ๆ คณะกรรมการบริหารชุดนี้ ได้วางนโยบายการทำงานไว้กว้าง ๆ 3 ประการ ได้แก่

  1. เน้นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
  2. เน้นการพัฒนาและยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน
  3. เน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนทั้งภายในและต่างประเทศ

แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศใช้นโยบายค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจหนังสือพิมพ์ต้องประสบภาวะขาดทุนจนถึงขั้นปิดกิจการ บางส่วนก็ทนแบกภาระโดยพนักงานได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวน และส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้องพยายามตัดรายจ่ายทุกวิถีทางเพื่อให้กิจการอยู่รอด

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมการบริหารไม่สามารถนิ่งเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมวิชาชีพได้โดยได้ออกนโยบายเร่งด่วน “เพื่อช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤต” ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฏาคม 2540 โดยได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤต พร้อมอนุมัติเงินฉุกเฉินเพื่อให้การช่วยเหลือเพื่อนนักข่าวที่ประสบปัญหาในทันที

นโยบายทั้ง 4 ข้อนี้ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมต่าง ๆ ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าว ฯ พร้อมด้วยเพื่อนนักข่าวสายต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

กิจกรรมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

เนื่องจากในช่วงของการเข้ามารับหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ เป็นช่วงที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อร่างแรกที่ทาง สสร.ได้ร่างออกมาเป็นตัวอย่าง โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อมวลชนอยู่หลายประการเช่น ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งห้ามทำการพิมพ์ได้โดยไม่ต้องลงมือพิจารณาคดี และเรื่องการเสนอให้ มีองค์กรอิสระที่มีกฎหมายรองรับมาควบคุมดูแลการทำงานของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพจึงทำให้สมาคมนักข่าว ฯ ซึ่งมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนต้องออกมาดำเนินการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

ดังนั้น กิจกรรมแรกที่คณะกรรมการบริหารได้เริ่มลงมือคือจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อประสานงานกับสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้นก็ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน” ซึ่งเป็นการหนุนช่วยในการร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญไม่ให้มีเนื้อหาที่อาจจะเป็นการบั่นทอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2540 ที่จังหวัดต่าง ๆ ใน 3 ภาคที่สำคัญได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนในส่วนภูมิภาคได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ สสร. กำลังนำเสนอ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะต้องเรียกร้องให้ สสร.ตัดข้อความในส่วนที่จะบั่นทอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนออกไป รวมทั้งเห็นด้วยที่จะให้มีองค์กรอิสระมาควบคุมจริยธรรมของสื่อมวลชนด้วยกันแต่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกครอบงำหรือแทรกแซงจากภาครัฐได้

เมื่อได้รับทราบความคิดเห็นส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนทั่วประเทศแล้ว คณะกรรมการบริหารได้ร่วมประสานงานในการก่อตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองของหนังสือพิมพ์ ซึ่งภายหลังเรียกชื่อว่า “สภา การหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” โดยได้เชิญเจ้าของและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย มาร่วมลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างธรรมนูญขององค์กรอิสระดังกล่าวมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการผลักดันองค์กรอิสระนี้ให้ได้รับความเชื่อถือ และศรัทธาจากประชาชน

ในที่สุด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 ซึ่งได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการสรรหาคณะกรรมการของสภาจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเจ้าของบรรณาธิการ ผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์ และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกรวม 21 คน และได้เลือกให้คุณมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานกรรมการหนังสือพิมพ์คนแรกในประวัติศาสตร์วงการหนังสือพิมพ์ไทย

สมาคมนักข่าว ฯ ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจนเป็นผลสำเร็จเท่านั้น แต่เมื่อธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกำหนดให้คณะกรรมการสภา ฯ ต้องยกร่างข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของหนังสือพิมพ์หรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าว ฯ ยังได้เข้าไปมีส่วนช่วยในการจัดทำกรอบความคิดของร่างข้อบังคับดังกล่าว โดยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาประกอบด้วยนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง แล้วนำกรอบความคิดนี้ มาระดมความคิดเห็นจากทั้งจากผู้แทนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ก่อนจะนำมาให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ และให้ข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ก่อนจะนำเสนอผลสรุปของการจัดทำกรอบความคิดจริยธรรมนี้ ส่งให้สภา- การหนังสือพิมพ์แห่งชาติในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ทั้งนี้ การทำกรอบความคิดด้านจริยธรรมในครั้งนี้ ได้รับ การสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักข่าวสารอเมริกันหรือ USIS

กิจกรรมการพัฒนาและยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน

ความจริงแล้ว กิจกรรมการพัฒนาและยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นกิจกรรมที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าว ฯ ชุดก่อน ๆ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงปี 2540 นั้น สถาการณ์ด้านการขยายตัวของวิชาชีพสื่อมวลชนเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด หนังสือพิมพ์บางฉบับเริ่มลดจำนวนพนักงาน หรือไม่รับพนักงานเพิ่ม ดังนั้นอัตราการเพิ่มขึ้นของนักข่าวใหม่หดหายไปอย่างมาก จนเกือบไม่มีให้เห็น

กิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวใหม่ซึ่งเคยจัดต่อเนื่องมาถึง 4 ปี จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มรูปแบบและกลุ่มเป้าหมาย โดยยังเน้นการพัฒนาศักยภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งเป็นการยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชนให้สามารถเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น กิจกรรมที่มารองรับนโยบายข้างต้นจึงปรากฏดังนี้คือ

  1. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าว “เทคนิคการทำข่าวสืบสวนสอบสวน : ศึกษากรณี การเจาะข่าวงบประมาณ” เมื่อวันที่ 26 – 27 กรกฎาคม 2540 ณ วังยางรีสอร์ท จ. สุพรรณบุรี มีผู้สื่อข่าวระดับกลางประมาณ 30 คนไปร่วมการสัมมนา ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กลุ่มชินวัตร มูลนิธิอิศรา อมันตกุล มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และจากองค์กรสื่อมวลชนที่ส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมการสัมมนาอีกจำนวนหนึ่ง
  2. การสัมมนาทางวิชาการ “ตลาดวิชาชีพสื่อมวลชนในวิกฤตเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2540 ณ สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา มีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ และนิสิตนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ประมาณ 100 คนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนการสอนวิชานิเทศศาสตร์ และความสอดคล้องกับสภาวะ ทางเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหา ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายวิชาการและวิชาชีพได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดจากบริษัทเทเลคอมเอเชียคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  3. การสัมมนาทางวิชาการ “จับชีพจรกรุงเทพ : ข่าวสารเพื่อชุมชนและคนเมือง” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2540 ณ ห้องประชุมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเป็นโครงการที่จัดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และโครงการบางกอกฟอรั่ม โดยการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิฟรีดิช เนามัน เพื่อจุดประกายความคิดด้านประชาสังคม แก่สื่อมวลชน เสริมสร้างความเข้าใจด้านสื่อมวลชนกับชุมชนเมือง เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวที่ทำข่าว สาย กทม. และสายสังคมประมาณ 35 คนเข้าร่วมการสัมมนา
  4. โครงการประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดเยี่ยมร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาค แห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มเป็นปีแรกใน คณะกรรมการบริหารชุดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น และเพื่อเป็นการให้กำลังใจกับผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น ทั้งนี้ จะมีการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศในวันที่ 4 มีนาคม 2541 นี้

นอกจากโครงการหลักเพื่อพัฒนาและยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าวแล้ว สมาคมนักข่าว ฯ ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพในการนำเสนอข่าวของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมนักข่าว ฯ อีกหลายครั้ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการจัดโครงการประกวดข่าวยอดเยี่ยม ภาพข่าวยอดเยี่ยมข่าวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น การประกวดข่าวและหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น และการสนับสนุนมูลนิธิแสงชัย สนุทรวัฒน์ จัดการประกวดข่าวโทรทัศน์ยอดเยี่ยมเป็นปีแรก ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมเพื่อการยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสิ้น

กิจกรรมการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนทั้งภายในและต่างประเทศ

เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าว ฯ ได้ตระหนักในบทบาทหน้าที่นี้เป็นอย่างดี จึงได้กำหนดกิจกรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวต่อไปนี้

1. โครงการจัดทำจุลสารข่าว “ราชดำเนิน” ซึ่งแม้สมาคมนักข่าว ฯ จะมีจดหมายข่าวรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกทราบเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตคณะกรรมการ ฯ จึงมีดำริให้มีการจัดทำจุลสารเพิ่มเติมออกเป็นราย 3 เดือน โดยมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนและบุคคลในวงการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นสื่อกลางและเวทีทางความคิดของสื่อมวลชนทุกระดับ ซึ่งสมาชิกและเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลายคงจะได้ผ่านตากันไปแล้ว

2. โครงการจัดทำโฮมเพจของสมาคมนักข่าว ฯ ด้วยความตระหนักว่าขณะนี้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสื่อสารระหว่างคนทั่วโลกรวมทั้งวงการสื่อสารมวลชน คณะกรรมการบริหาร ฯ จึงได้จัดนำโฮมเพจของสมาคม ฯ ขึ้น ภายใต้ชื่อที่อยู่ (domain name) บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คือ : //www.rat.or.th และมีอีเมล์แอดเดรสเพื่อติดต่อกับองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลกผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เช่นกัน คือ reporter@inet.co.th ทั้งนี้โดยการสนับสนุนจากบริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด

3. โครงการจัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทางสถานีวิทยุ FM. 100.5 ของ อ.ส.มท. ทุกวันอาทิตย์เวลา 15.00 – 16.00 น. เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าว ฯ กับ อ.ส.ม.ท. และสำนัก ข่าวไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกับประชาชน รับฟังเสียงสะท้อนต่อการทำงานของสื่อมวลชนจากประชาชน และเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของสมาคม ฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

4. การสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักข่าวสายต่างๆ เพื่อเป็นการสานต่อนโยบายของ คณะกรรมการบริหารชุดก่อน ๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้นักข่าวในสายข่าวต่าง ๆ ที่ต้องการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อยกระดับวิชาชีพและส่งเสริมความสามัคคีระหว่างกัน ในปีนี้จึงได้เน้นสนับสนุนให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้นรวมทั้งมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือนักข่าวสายไอทีนั้นก็ได้เน้นกิจกรรมทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ของนักข่าวเอง อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ สมาคมนักข่าว ฯ ยังได้รับเชิญจากนักข่าวสายสาธารณสุขให้ไปร่วมระดมความคิดเพื่อจัดตั้งเครือข่ายนักข่าวสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการของกลุ่มผู้สื่อข่าวในสายนี้ ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามนโยบายสมาคม ฯ ที่มุ่งให้การรวมตัวของนักข่าวสายต่าง ๆ ต้องมาจากความริเริ่มของนักข่าวในสายนั้นเอง

5. การเดินทางเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามคำเชิญของสมาคม นักข่าวลาว เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้เกิดความขัดข้องบางประการทำให้สมาคมนักข่าวไทย ไม่สามารถส่งผู้แทนไปเยือนประเทศลาวได้ตามโครงการแลกเปลี่ยนคณะผู้ที่ซึ่งได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้น สมาคมนักข่าวไทยจึงส่งคณะผู้แทนจำนวน 5 คน นำโดยคุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล อุปนายก ไปเยือนประเทศลาวระหว่างวันที่ 12 – 16 พฤศจิกายน 2540 รวม 5 วัน ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสื่อมวลชนไทยและลาว

6. การส่งผู้แทนไปร่วมการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เหรัญญิกเดินทางไปร่วมประชุมด้านสื่อมวลชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยที่ประเทศฟิลิปปินส์
  • นายกสมาคมและอุปนายกเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนามร่วมกับคณะของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตามคำเชิญของสมาคมนักหนังสือพิมพ์เวียดนาม
  • เลขาธิการไปร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารประจำปีของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน (CAJ) ที่ประเทศสิงคโปร์
  • นายกสมาคม เดินทางไปร่วมประชุมนักหนังสือพิมพ์อาเซียนกับบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาญี่ปุ่นตามคำเชิญของสมาคมผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น ซึ่งรับปากว่าจะให้การสนับสนุนทุนฝึกอบรมนักข่าวแก่ประเทศกลุ่มอาเซียนต่อไป หลังจากที่ดำเนินการมาแล้ว 20 ปี
  • นายกสมาคมและเลขาธิการ เดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ประจำปี ของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเลขาธิการได้รับเลือกให้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียนด้วย

7. การต้อนรับสื่อมวลชนจากต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

  • ร่วมต้อนรับคณะสื่อมวลชนเวียดนาม ซึ่งเป็นการเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  • ให้การช่วยเหลือด้านที่พักชั่วคราวแก่นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์กัมพูชา ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองมายังประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารภายในประเทศ
  • แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนผู้แทนกันในระดับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป

กิจการช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤต

ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารสมาคม ฯ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤตเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 พร้อมอนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่นักข่าวที่ถูกเลิกจ้างในทันที พร้อมจัดหาทนายความให้ ในกรณีที่ผู้ถูกเลิกจ้างต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมตามกฎหมายจากนายจ้าง โดยความร่วมมือของ สภาทนายความแล้ว

สมาคมนักข่าว ฯ ยังได้ร่วมมือกับบริษัทเอ็มดีเค คอนซัลแตนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ประสานจัดการอบรมเสริมความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ภาษาอังกฤษ และงานอาชีพอื่น ๆ แก่นักข่าวที่ถูกเลิกจ้าง โดยที่ดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่นคือ การอบรมคอมพิวเตอร์ และการอบรมภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงต้นปี 2541 ปรากฏว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขนักข่าวที่ประสบภาวะวิกฤตจากการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือนและไม่ได้รับเงินเดือนตามกำหนดเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สมาคมนักข่าวจึงได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ขยายขอบข่ายการช่วยเหลือ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤตร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
  2. จัดการประชุมระดมความคิดเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนักข่าวที่ประสบปัญหาจากภาวะวิกฤตจากบริษัทเอกชนชั้นนำ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541
  3. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารโครงการพิเศษช่วยเหลือนักข่าวในภาวะวิกฤต ซึ่งมีคุณบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าว ฯ เป็นประธานและอนุมัติให้จัดจ้างผู้จัดการโครงการพิเศษเพื่อทำหน้าที่บริหารโครงการตามคำแนะนำและการกำกับดูแลของคณะกรรมการดังกล่าว
  4. จัดประชุมนักข่าวที่ประสบปัญหาเพื่อประมวลความเดือดร้อนและหาแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประสานหางานพิเศษ และตำแหน่งงานชั่วคราวแก่นักข่าวที่เดือดร้อนจนกว่าสภาพปัญหาจะคลี่คลาย โดยจะมีคณะกรรมการโครงการพิเศษเป็นผู้ดำเนินการ
  5. จัดตั้งกองทุนเพื่อให้นักข่าวที่ประสบปัญหากู้ยืมโดยไม่เสียดอกเบี้ยด้วยการเสนอโครงการมายังคณะกรรมการพิเศษข้างต้น

จากการดำเนินการดังกล่าวคณะกรรมการบริหารชุดนี้ และความร่วมมือร่วมใจจากทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาให้กับนักข่าวที่ประสบปัญหาจากภาวะวิกฤตได้ในระดับหนึ่ง

กิจกรรมหลักที่ดำเนินงานเป็นประจำ

นอกจากกิจกรรมตามนโยบายหลักของคณะกรรมการบริหารทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว คณะกรรมการ ฯ ยังได้ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารชุดอื่นๆ ได้ดำเนินมาเป็นประจำ ได้แก่

1. การมอบทุนการศึกษาแก่บุตร – ธิดาของสมาชิก จำนวน 182 ทุน ๆ ละ 2,500 บาท

2. การจัดทำประกันชีวิตสำหรับสมาชิก (เฉพาะที่ชำระค่าธรรมเนียมประจำปี)

3. การให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่สมาชิกตามระเบียบ

4. การจัดการประกวดข่าวภาพข่าวประเภทต่าง ๆ

5. การจัดทำหนังสือประจำปีของสมาคมหรือหนังสือ “วันนักข่าว”

6. การจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี

7. การออกแถลงการณ์ ในกรณีที่มีการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตามสถานการณ์ ได้แก่ กรณี นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านข่าวและสื่อมวลชน โดยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2540 และกรณีนายสยมชัย วิจิตรวิทยาพงศ์ นักข่าวมติชนถูกฆาตกรรม ขณะปฏิบัติหน้าที่ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2541

กิจกรรมที่รอการสานต่อ

แม้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสมาคมนักข่าว ฯ โดยคณะกรรมการบริหารชุดนี้ จะได้ดำเนินกิจกรรม ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้พอสมควร แต่คงไม่สามารถเสร็จสมบูรณ์อย่างที่คาดหวังไว้ทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการสานต่องานกันต่อไป เช่น โฮมเพจของสมาคมที่ยังไม่มีผู้ดูแลรับผิดชอบชัดเจน เพื่อคอยปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งงานการช่วยเหลือเพื่อนักข่าวที่ประสบภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป

คณะกรรมการบริหาร ฯ ชุดปี 2540 – 2541 ขอขอบคุณเพื่อนนักข่าวทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ช่วยกันผลักดันให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ตามวัตถุประสงค์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุก ๆ คนจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารชุดต่อไปด้วยดี เช่นเดิม...