“งาน” ในรอบขวบปี ของคณะกรรมการบริหารชุด 41 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
จากปี 2498 เป็นต้นมา ถึงวันนี้อายุ 41 ปีของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตคนแล้ว ก็ยังเป็นคนที่วัยกำลังอุดมไปด้วยบทเรียนและประสบการณ์ หากแต่สมาคมนักข่าวฯ เป็นองค์กรทางวิชาชีพ ที่มีบุคลากรในแวดวงหนังสือพิมพ์วนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามารับผิดชอบ ดูแลและสร้างสรรค์กิจกรรมตามวาระบทเรียนและประสบการณ์ของสมาคมนักข่าวฯ จึงซึมซับ รับรู้ได้ด้วยคนที่เข้ามาทำงานในแต่ละรุ่นแต่ละยุคสมัย
บทเรียนและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเสมือนเข็มทิศที่จะช่วยชี้นำการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับแวดวงวิชาชีพสื่อสารมวลชนในแต่ละรุ่นแต่ละปีได้เป็นอย่างดี ปีแล้วปีเล่าที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยแต่ละชุด เข้ามารับผิดชอบงานของสมาคมฯ ต่างได้อาศัย “เข็มทิศ” ดังกล่าวพยายามรังสรรค์งานออกมาอย่างหลากหลาย ทั้งที่รับรู้ได้จากข่าวคราวที่เผยแพร่กันออกมาเป็นระยะ ๆ และทั้งที่ขับเคลื่อนไปอย่างเงียบ ๆ
นับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาชิกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้มอบฉันทานุมัติให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายกสมาคมนักข่าวฯ เข้าบริหารงานสมาคมนักข่าวฯ เป็นเวลา 1 ปี ตามระเบียบ บัดนี้เวลา 1 ขวบปีได้ครบวาระลงแล้ว
ในฐานะเลขาธิการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “แม่บ้าน” ที่มีภารกิจดูแลรับผิดชอบงานของสมาคมนักข่าวฯ ในทุกด้านจึงขอถือโอกาสนี้รายงานสรุปถึงกิจกรรมและความเป็นไปของสมาคมนักข่าวฯ ในทุกด้านในรอบปีที่ผ่านมาให้เพื่อสมาชิกได้รับทราบโดยทั่วกัน
การประชุมคณะกรรมการบริหารชุดที่ 41 ครั้งแรก ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2539 นอกเหนือจากงานประจำที่สมาคมฯ จะต้องผลักดันเป็นปกติทุกปีแล้วยังได้กำหนดทิศทางหลักในการทำกิจกรรมของสมาคมฯ ไว้ 2 ประการ คือ
- การพัฒนายกระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
- การส่งเสริมจริยธรรมและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน
ดังนั้นกิจกรรมตลอดทั้งปีของสมาคมนักข่าวฯ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ จึงเน้นหนักไปใน 2 เรื่องดังกล่าว นอกเหนือจากกิจกรรมประจำที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาทุกปี และกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาอีกต่างหาก
อบรม – ติวเข้มนักข่าว ภารกิจ “สร้างคน”
ท่ามกลางการพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ส่งผลให้วิถีชีวิตและการรับรู้ของประชาชนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคข่าวสารมีระดับความรู้ที่สูงขึ้นแต่ระดับคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนเท่าใดนัก ขณะเดียวกันการอบรม เพิ่มพูนความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพขององค์กรสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ ยังมีอยู่น้อยมาก ในรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ตระหนักในเรื่องนี้ตลอดมา จึงวางน้ำหนักการจัดอบรม ให้ความรู้กับสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในรูปแบต่าง ๆ มากเป็นพิเศษ ดังนี้
1. สนับสนุนชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นชมรมที่เกิดจากการรวมตัวของผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม จากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ภายใต้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมของสมาคมนักข่าวฯ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 / 2539 เรื่อง “การบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและการแก้ปัญหา” ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน 2539
2. ร่วมกับมูลนิธิอิศรา อมันตกุล จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวใหม่ครั้งที่ 1 / 2539” ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2539 ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการสัมมนาที่สมาคมนักข่าวฯ จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นผู้สื่อข่าวใหม่ที่มีอายุงานตั้งแต่แรกเข้าจนถึง 2 ปี จากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์รวม 70 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทบางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
3. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดอบรม “ความรู้เรื่องกฎหมายมหาชนสำหรับนักข่าว” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ที่ห้องฝึกอบรมชั้น 4 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
4. สนับสนุนชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวเรื่อง “องค์กรการค้าโลกกับสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
5. สนับสนุนชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวเรื่อง “การสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 ที่ห้องประชุมชั้นสองสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
6. ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาว ประเทศเยอรมนี และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเชิงวิชาการให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวว่าด้วย “เศรษฐศาสตร์การเมืองสำหรับนักข่าว” ระหว่างวันที่ 5 – 6 พฤศจิกายน 2539 ที่ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ มีผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เข้าร่วมประมาณ 50 คน
7. ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จัดอบรมให้ความรู้เรื่อง “ภาพรวม – เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 ที่ห้องกรรณิการ์ ชั้น 24 อาคาร บุญผ่อง ถนนพหลโยธิน
8. ร่วมกับมูลนิธิอิศรา อมันตกุล จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวระดับกลาง – อาวุโส” ครั้งที่ 1 / 2539 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2539 ที่โรงแรมโรสการ์เดน อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาเป็นผู้สื่อข่าวที่มีอายุการทำงานตั้งแต่ 2 – 5 ปี จากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์และจากหน่วยงานอื่น ๆ รวม 50 คน โดยได้รับการสนับสนุนจาก เครือชินวัตรและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
9. สนับสนุนชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวฯ จัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวเรื่อง “การส่งเสริมอุตสาหกรรมกับฐานทรัพยากรไทย” เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2539 ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
10. สนับสนุนการจัดตั้งชมรมผู้สื่อข่าวสายไอที ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวสายไอที วันที่ 17 – 19 มกราคม 2540 ที่โรงแรมรีเจ้นท์ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
เข้มงวด “จรรยาบรรณ” ขานรับกระแสสังคม
ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่ากระแสการตรวจสอบสื่อมวลชน โดยผู้บริโภคข่าวสารในสังคมไทย ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ กระแสดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงออกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น หากแต่ยังเรียกร้องต่อสมาคมวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนให้แสดงบทบาทในการตรวจสอบ และควบคุมสื่อมวลชนด้วยกันเองอยู่ตลอดเวลา
คณะกรรมการบริหาร ได้รับฟังกระแสดังกล่าวทั้งที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนหรือปฏิกิริยาที่มีเข้ามายังสมาคมนักข่าวฯโดยตรง จึงได้จัดกิจกรรมและแสดงบทบาทในเรื่องนี้อย่างจริงจังในรอบปีที่ผ่านมา
1. กองทุนส่งเสริมจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวฯ จัดทำโครงการสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท ในหัวข้อที่เกี่ยวกับจรรยาบรรณในวิชาชีพสื่อสารมวลชนสำหรับปีการศึกษา 2539 จำนวน 2 ทุน ๆ ละ 15,000 บาท
2. ออกแถลงการณ์เรื่อง “การเสนอข่าวล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 กรณีหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับเสนอภาพและข่าวนักร้องชื่อดังคนหนึ่งถ่ายภาพเปลือยส่วนตัวออกตีพิมพ์เผยแพร่ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ติดตามมาอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง โดยแถลงการณ์เรียกร้องให้การเสนอข่าวและภาพของสื่อมวลชนที่มีลักษณะยั่วยุ อาจจะเป็นส่วนกระตุ้นให้มีการกระทำผิดทางเพศเพิ่มขึ้นได้ จึงควรพึงระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการเสนอข่าวและภาพในลักษณะดังกล่าวให้มากขึ้น และเรียกร้องให้รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งในส่วนของประชาชน นักวิชาการและเพื่อนสื่อมวลชนด้วยกันอย่างจริงจัง เพื่อตรวจสอบการทำงานและสร้างบรรทัดฐานที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อไป
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงร่วมกันตระหนักในการทำหน้าที่โดยเน้นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
3. จัดเสวนาเรื่อง “ภาษาหนังสือพิมพ์...วิบัติจริงหรือ ?” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539 ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มีวิทยากรจากแวดวงที่เกี่ยวข้องมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษาในหนังสือพิมพ์ รวมถึงประเด็นบทบาทโดยทั่วไปของสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางด้วย
4. จัดเสวนาเรื่อง “วิพากษ์สินบนคนหนังสือพิมพ์” เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการเสวนามีทั้งนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักประชาสัมพันธ์ และนักธุรกิจ
5. จัดเสวนาเรื่อง “สื่อจ๋า อย่ารังแกหนู” ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานยูนิเซฟ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ มีนักวิชาการ ตัวแทนสื่อมวลชน ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
อนึ่ง การเสวนาแต่ละครั้งมีสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมและนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางนอกจากนี้ศูนย์ข้อมูล สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้เก็บบันทึกเนื้อหารายละเอียดไว้เพื่อจัดทำรูปเล่มพิมพ์เผยแพร่ต่อไป
พิทักษ์สิทธิเสรีภาพปกป้องเพื่อนร่วมวิชาชีพ
แม้ว่าปัญหาการคุกคามชีวิต ทรัพย์สิน และละเมิดสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนจะลดน้อยลงในระยะหลัง แต่ในรอบปีที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ และสมาคมนักข่าวฯ ได้เข้าไปแสดงบทบาทอย่างเด่นชัดในหลายเหตุการณ์
1. เหตุการณ์คนร้ายลอบยิงนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2539 เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง สมาคมนักข่าวฯ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าวทันทีในวันที่ 12 เมษายน 2539 พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยดำเนินการติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว
จากนั้นวันที่ 19 เมษายน 2539 สมาคมนักข่าวฯ ได้เชิญเพื่อนสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการจากทุกสาขา มาร่วมหารือเพื่อกำหนดมาตรการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องต่อกรณีการเสียชีวิตของนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ พร้อมกับออกแถลงการณ์อีก 1 ฉบับ เนื้อหาสำคัญคือ ยกย่องนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ เป็น “นักสื่อสารมวลชนเกียรติยศ” วันที่ 26 เมษายน 2539 จัดเสวนาหัวข้อ “แสงชัย สุนทรวัฒน์ อหังการแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน” ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
2. ออกแถลงการณ์เรื่อง “คำสั่งตักเตือนหนังสือพิมพ์” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 ทั้งนี้เป็นผลจากการที่เจ้าพนักงานการพิมพ์กรุงเทพมหานครออกหนังสือเตือนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน 6 ฉบับ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม เกี่ยวกับการใช้คำพาดหัวข่าวเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลซึ่งเจ้าพนักงานการพิมพ์ระบุว่า เป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484
โดยแถลงการณ์ระบุว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานการพิมพ์น่าจะมาจากความต้องการของผู้มีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งถูกสื่อมวลชนและสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จากการรวบรัดชิงปิดการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 สิ่งที่หนังสือพิมพ์นำไปพาดหัวข่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของนักการเมืองด้วยกันเอง และประชาชนที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้สะท้อนความคิดเห็นผ่านมายังสื่อมวลชน ถือว่าหนังสือพิมพ์ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงโดยแท้จริง
3. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 คณะกรรมการบริหาร ได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากผู้สื่อข่าว สายการเมือง กรณีผู้สื่อข่าวสายทหารของสถานีโทรทัศน์คนหนึ่งถูกขอให้ลาออกจากงานโดยระบุว่ามีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของนายทหารผู้หนึ่งผ่านทางผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ สมาคมนักข่าวฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่าผู้สื่อข่าวสายทหารส่วนหนึ่งถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานข่าว ดังนั้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 2539 จึงได้นัดหมายกลุ่มผู้สื่อข่าวสายทหารมาให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมที่สมาคมนักข่าวฯ และเก็บบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาต่อไป
4. บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวไทย รายสัปดาห์ ได้มีหนังสือถึงสมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 ระบุว่า ถูกคุกคามจากผู้ไม่ประสงค์ดีปาอุจจาระใส่สำนักงาน เลขที่ 390 ถนนสุโขทัย แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กทม. เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539 สันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดจากการเสนอข่าวด้านการเมือง ทำให้นักการเมืองบางกลุ่มได้รับผลกระทบและไม่พอใจ คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาเรื่องนี้และมีหนังสือตอบแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวและประณามการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้เสนอแนะให้เร่งร้องเรียนตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อความกระจ่างในการสอบหาสาเหตุและผู้กระทำผิดที่แท้จริง โดยสมาคมนักข่าวฯ พร้อมจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ชาวไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่งเสริมสวัสดิการเพื่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิก
กิจกรรมด้านสวัสดิการ เป็นภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการบริหาร ให้ความสนใจและพยายามปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เพื่อนสมาชิก
1. ปรับปรุงระเบียบสวัสดิการ โดยคณะกรรมการบริหารมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 แก้ไขเพิ่มเติมสวัสดิการสมาชิก โดยเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิม จ่ายครั้งละไม่เกิน 1,500 บาท เพิ่มเป็นไม่เกินรายละ 2,000 บาท กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินทดแทนมรณกรรมจากบริษัทประกันชีวิตรายละ 50,000 บาท จากกรณีเสียชีวิตด้วยสาเหตุเจ็บป่วย และ 100,000 บาท สำหรับกรณีเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ และสมาคมนักข่าวฯ อนุมัติเงินค่าพวงหรีด หรือเป็นเจ้าภาพสวดศพ นอกจากนั้นสมาชิกที่ได้บุตรคนแรกได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท ทุนการศึกษาบุตร – ธิดา มอบให้ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรี ครอบครัวละ 1 ทุน ๆ ละ 1,500 บาท (มีบริษัทเอกชนสนับสนุนอีกทุนละ 1,000 บาทรวมเป็นทุนละ 2,500 บาท)สำหรับกองทุนเหยี่ยวปีกหัก ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักหนังสือพิมพ์ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เจ็บป่วย หรือประสบปัญหาด้านการเงิน ยังคงมีต่อไป โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนเหยี่ยวปีกหักเป็นผู้พิจารณาตามคำร้องขอของสมาชิก
2. มอบทุนการศึกษา บุตร – ธิดา สมาชิก ประจำปี 2539 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2539 จำนวน 172 ทุน ๆ ละ 2,500 บาท ที่ห้องประชุมชั้นสองสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีประทุม องค์การค้าคุรุสภา ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย บริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด บริษัทเอสทีซี. ทาปิโอกา กรุ๊ป จำกัด มูลนิธิอายิโนโมะโต๊ะ กองทุนมูลนิธิชวน ตั้งในธรรม ชมรมมินิเอ็มบีเอ. รุ่น 24 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัทเคมีธุรกิจ จำกัด คุณจาคิณา สุจินดาวัฒน์ และบริษัทริซมอนเด้ (บางกอก) จำกัด
3. วันที่ 28 พฤษภาคม 2539 มอบทุนเรียนฟรีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม แก่บุตร – ธิดา สมาชิกสมาคมนักข่าวฯ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 2 ทุน โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยสยาม โดย ผู้ได้รับทุนดังกล่าวประกอบด้วย น.ส.จรรยาลักษณ์ วิโรจน์สกุล ธิดาของนายประดิษฐ์ วิโรจน์สกุล และน.ส.สุนทรี ทวีวิทย์ ธิดาของนายลายไทย ทวีวิทย์
เกาะติดสถานการณ์จัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญ
นอกเหนือจากกิจกรรมปกติตามแนวทางหลักที่ระบุไว้แล้ว คณะกรรมการบริหารยังได้พยายามจัดกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ตามความสนใจในแต่ละช่วงสถานการณ์เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสมาคมนักข่าวฯ ด้วย
1. จัดอภิปรายและฉายวิดีโอเทป “รำลึก 4 ปี ผลพวงเดือนพฤษภา” ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม
2. จัดเสวนา “ปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ กับผู้ว่า กทม.” ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2539
3. จัดอภิปราย “รำลึกประวัติศาสตร์ เดือนตุลาคม กับพัฒนาการหนังสือพิมพ์” ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539
4. สนับสนุนชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี. เปิดเวทีให้ผู้แทนพรรคการเมืองแถลงนโยบายสิ่งแวดล้อม ก่อนการเลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 ที่ห้องประชุมชั้นสอง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
5. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาหัวข้อ “การปฏิรูปการเมืองโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ” ที่ห้องแอลที. 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2539
ทั้งหมดคือบางส่วนของ “งาน” ที่ได้รับการผลักดันสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการบริหารชุดที่ 41
ทั้งนี้ไม่ได้นั บรวมถึงการจัดประกวดข่าวยอดเยี่ยม ภาพข่าวยอดเยี่ยม ข่าวดีเด่นอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ และข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2539 อันเป็นงานที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาทุกปีซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเป็นอย่างดียิ่ง
นอกจากนี้ตลอดทั้งปี คณะกรรมการบริหารยังมีภารกิจอีกมากมายในการประสานงานกับองค์กร หน่วยงาน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และผลักดันงานกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนสมาชิกโดยรวมในอนาคต