รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๕/๒๕๕๗

รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๕/๒๕๕๗

 

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ – ๔ มีนาคม ๒๕๕๘  ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการดำเนินไว้ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ” โดยมุ่งหวังให้  “คนข่าว” ต้องปรับตัวเป็นคนข่าวที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของคนข่าว ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีองค์ความรู้รอบตัว ต้องมีสวัสดิการที่เหมาะสม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นสื่อมวลชนมีเป้าหมายในการทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องและผลประโยชน์สาธารณะ และได้ใช้แนวคิดนี้ในการจัดทำโครงการ ๖๐ ปี สมาคมฯ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๖๐ ปี สมาคมฯ อีกด้วย

ในปี ๒๕๕๖  คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ  ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรม โดยแบ่งออกเป็น ๖ คณะอนุกรรมการ ดังนี้

๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายพิจารณาบทบาทสมาคมในสถานการณ์เร่งด่วน

๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์

๕) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

๖) คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

 

๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายพิจารณาบทบาทสมาคมในสถานการณ์เร่งด่วน

คณะอนุกรรมการ ชุดนี้จะทำหน้าที่ในการรวบรวมทั้งความเห็นและข้อเสนอต่างๆ จากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการนำมาพิจารณาบทบาทสมาคมฯ ในสถานการณ์เร่งด่วน ทั้งในรูปแบบของการออกแถลงการณ์, การออกจดหมายเปิดผนึก และการเผยแพร่คำชี้แจงในเรื่องต่างๆ รวมทั้งทำความเข้าใจและสื่อสารกับสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ของสื่อ (ดูเอกสารแถลงการณ์ในเล่ม)

 

๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

ในปี ๒๕๕๗  คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ แบ่งงานออกเป็น ๕  กลุ่มงาน คือ

๒.๑. ด้านการอบรม สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการด้านการฝึกอบรมจำนวน ๒ หลักสูตร คือ

๒.๑.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว ประจำปี ๒๕๕๗ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว ประจำปี ๒๕๕๗  ขึ้นระหว่าง วันศุกร์ที่ ๒๕ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเดอะเบย์วิว พัทยา (The Bayview Pattaya) จังหวัดชลบุรี  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยใช้ Role model ทั้งจากผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มวิชาชีพและผู้แทนจากกลุ่มนักวิชาการเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นวิชาชีพและจริยธรรมให้กับผู้สื่อข่าว มีนักข่าวเข้าร่วมการอบรมจำนวน ๓๒  คน  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หัวข้อการอบรมประกอบด้วย  สนทนาถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างแหล่งข่าว เครือข่ายนักข่าวรุ่นต่อรุ่น  สนทนา “ปัญหาเมืองพัทยา” และการฝึกปฏิบัติการเขียนข่าว เขียนสกู๊ป รายงานพิเศษ การถ่ายภาพข่าวและการทำคลิปข่าว

 

๒.๑.๒ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น ๑๗ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๑๗ ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์  (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำงานทั้งในภาคสนาม และในส่วนของผู้บริหารงานข่าว อันเป็นการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่วิชาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการปลูกฝังอุดมคติให้กับนักศึกษาด้วย ในรุ่นที่ ๑๗  มีนักศึกษาที่เรียนด้านหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๖๗  คน จาก  ๓๒  สถาบัน จัดอบรมระหว่างวันพฤหัสบดีที่  ๓๐ ตุลาคม  – วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน  ๒๕๕๗   ณ แคปปิตอลเจ แอท เขาใหญ่จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน

 

ในการอบรมครั้งนี้ได้เพิ่มกระบวนการฝึกฝนนักศึกษาในการเขียนข่าวเพิ่มขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยนักศึกษาทุกคนจะ ต้องส่งผลงานข่าวเข้าร่วมโครงการ TJA  Cyber Reporter อย่างน้อยคนละ ๒  ชิ้นงาน

๒.๑.๓  การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะการจัดรายการวิทยุสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมืออาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาทักษะการจัดรายการวิทยุสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมืออาชีพ” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับนักข่าวทั่วไปในสื่อประเภทต่างๆ ที่สนใจต้องการพัฒนาทักษะการจัดรายการวิทยุ หรือนักจัดรายการวิทยุรุ่นใหม่ที่สนใจพัฒนาตนเองเพื่อก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมืออาชีพ  เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ซึ่งกันและกันในการผลิตรายการวิทยุ และพัฒนาทักษะการถ่ายทอดข่าวสารหรือการสื่อสารไปยังผู้ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อสร้างทัศนคติและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน  เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุให้เข้มแข็งขึ้น  และฝึกปฏิบัติจริงหลังจากผ่านการอบรม โดยจัดขึ้นระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๒ – วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน  ๒๕๕๗     ณ อาคารวิทยพัฒนา ชั้น ๗  สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน ๑๖ คน

เนื้อหาในการอบรมประกอบด้วย  ๑. คุณสมบัติการเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ดีและประสบความสำเร็จ       ๒. เทคนิคการจัดรายการวิทยุในรูปแบบต่าง ๆ   ๓.บอกเล่าประสบการณ์กับจรรยาบรรณนักจัดรายการวิทยุ    ๔.การเขียนบทวิทยุ     ๕. ฝึกภาคปฏิบัติ การเขียนบทรายการสารคดีที่ประกอบไปด้วยการสัมภาษณ์  การใช้ VOX POP และการใช้เสียงประกอบ และ  ๖. ฝึกปฏิบัติจริง ผลิตรายการ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ๑ ครั้ง ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท. เอฟเอ็ม ๑๐๐.๕  เมกะเฮิร์ต ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐ น.

 

๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๓ กิจกรรม ดังนี้

 

๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๑๖  ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในปี พ.ศ.  ๒๕๕๗ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) ผ่านทางสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  ได้จัดราชดำเนินเสวนาไป จำนวน กิจกรรมเสวนาสาธารณะ การจัดเวทีเสวนาสาธารณะจัดร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆที่เป็นภาคี และเครือข่ายพันธมิตรใหม่ๆ โดยเน้นความหลากหลาย และให้ความสาคัญกับเนื้อหาหรือ หัวข้อเสวนาที่เป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านสิทธิเสรีภาพและสิทธิในการสื่อสาร เป็นการเปิดเวทีให้กับภาคประชาสังคม ได้ใช้เป็นพื้นที่ร่วมกันหาทางออก และหาแนวทางแก้ปัญหาด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมจำนวน ๗ ครั้ง สามารถติดตามเนื้อหาราชดำเนินเสวนาได้ที่ www.tja.or.th

๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด มหาชน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท.  FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

 

สำหรับนักจัดรายการประจำปี  ๒๕๕๗  มีจำนวน ๗  คนคือ ๑.นายธีรเดช  เอี่ยมสำราญ   (มติชนออนไลน์)  ๒. นายราม อินทรวิจิตร  (สถาบันอิศรา) ๓.นางสาวชุติมณฑน์ ศรีขำ (หนังสือพิมพ์บ้านเมือง) ๔.นางสาวเลอลักษณ์ จันทร์เทพ   (หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์) ๕. นายจีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง  (สำนักข่าวเนชั่น ) ๖.นายวรพล  กิตติรัตวรางกูล (หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์) ๗.นายสิทธิชน  กลิ่มหอม(หนังสือพิมพ์แนวหน้า)

ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่  www.tja.or.th

๒.๒.๓ www.tja.or.th เป็นเวบไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความ เป็นมา จุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน ซึ่งในโอกาส ๖๐ ปี สมาคมฯ ได้มีการจัดทำเวบไซต์ ๖๐ ปีสมาคมฯ เป็นเวบไซต์ย่อยขึ้นมาเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่งด้วย (http://๖๐thanniversary.tja.or.th/)

๒.๓ กลุ่มงานหนังสือ ในปี   ๒๕๕๗ ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือรวม ๒  เล่ม ดังนี้

๒.๓.๑ จุลสารราชดำเนิน ในปี ๒๕๕๗  สมาคมฯ ได้จัดทำวารสารราชดำเนินโดยออกเป็นรายสามเดือนจำนวน ๑  ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ได้รับเสียงสะท้อนอย่างดีทั้งจากสมาชิกสมาคมฯ สถาบันวิชาการและผู้สนใจทั่วไป

วารสารราชดำเนินฉบับที่ ๒๕  เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗  เนื้อหาหลักเรื่อง “เกียรติภูมิ...อันฝันใฝ่” ความท้าทายของนักข่าวไทย”  นายธนวัฒน์ เพชรล่อเหลียน  เป็นบรรณาธิการ

อ่านเนื้อหาจุลสารราชดำเนินฉบับย้อนหลังได้ที่ www.tja.or.th

๒.๓.๒ หนังสือวันนักข่าว “ปฏิวัฒน์คนข่าว ปฏิรูปสื่อ ” หนังสือวันนักข่าวเป็นหนังสือรายงานประจำปีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าวและหนังสือพิมพ์  ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม  และทำเนียบรายชื่อนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เป็นสมาชิกสมาคม  เนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง  “ปฏิวัฒน์คนข่าว ปฏิรูปสื่อ”   มีนางสาว น.รินี เรืองหนู เป็นบรรณาธิการ มีการแจกจ่ายหนังสือวันนักข่าวถึงมือสมาชิก สมาคมฯ ในวันที่ ๔ มีนาคม  ๒๕๕๗  ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ

 

๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เป็น เครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยในปี ๒๕๕๗ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ๓ กิจกรรม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) ผ่านทางสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  ดังนี้

๒.๔.๑ ห้องเรียนสาธารณะ เป็นกิจกรรมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ และเทคนิค ทางวิชาชีพสื่อมวลชน แก่นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเป็นแรงจูงใจในการกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ เข้ามาทำงานสื่ออย่างเป็นระบบภายใต้กรอบการทำงานเชิงวิชาการ และเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างนิสิต นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และนักวิชาชีพสื่อทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น โดยในปี ๒๕๕๗ จัดกิจกรรมหัวข้อ "Multi-skilled journalists " ร่วมกับ ๓ สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (๑๑ ก.ย.๕๗) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(๒๙ ต.ค.๕๗)

๒.๔.๒ ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นเครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยในปี ๒๕๕๗ จัด ๓ ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ ๖  จัดร่วมกับณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  หัวข้อ ‘ASEAN Journalism & Education’ (๑๔ มี.ค. ๕๗) ครั้งที่ ๗ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   หัวข้อ ‘ตำราวารสารศาสตร์ คอนเวอร์เจ้นซ์’ (๒ พ.ค. ๕๗ )  ครั้งที่ ๘  จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวข้อ  “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ”

๒.๔.๓ ประชุมและศึกษาดูงาน เครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ได้จัดกิจกรรมอบรมและศึกษาดูงานขึ้น ๑ ครั้งในหัวข้อ  “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ….ปฏิรูปหลักสูตร”  ในวันเสาร์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๗  ณ  มหาวิทยาลัยรามคำแหง         และได้เดินทางไปศึกษาดูงานองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)

๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว

๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๕๗ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ สำหรับในปี ๒๕๕๗ มีผลงานงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจำนวน ๑๕ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๕  ฉบับ และส่งผลงานภาพข่าวเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมจำนวน  ๕๘ ภาพ จากหนังสือพิมพ์  ๘ ฉบับ

๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๗ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๕๗ มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๕ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๔ ฉบับ

๒.๕.๓ การประกวดรางวัลพิราบน้อย ประจำปี ๒๕๕๗ เป็นการประกวดผลงานฝึกปฏิบัติของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการทำ หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ๒ รางวัล ๔ ประเภท คือ รางวัลพิราบน้อย ประกอบด้วย  ๑.ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๒. ประเภทข่าวฝึกปฏิบัติ ๓.ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมฝึกปฏิบัติ และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี คือประเภทสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติ  เริ่มจัดการประกวดตั้งแต่ปี พ.ศ.   ๒๕๓๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของ นิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์  ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา  กับสมาคมฯ    ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน ในปี ๒๕๕๗ มีผลงานส่งเข้าประกวดดังนี้ ๑. หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๑๔ ฉบับ ๒. ข่าวฝึกปฏิบัติ ๓๑ ข่าว ๓. ข่าวสิ่งแวดล้อม ๒๕ ข่าว และ ๔. สารคดีเชิงข่าว ๒๕ ชิ้น

๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

ในปี  ๒๕๕๗  คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้รูปแบบของการจัดตั้ง  “ศูนย์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน” เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมส่งเสริมและปกป้องมีสิทธิเสรีเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยนักข่าวจะต้องมีอิสรภาพ เสรีภาพ ในการทำงาน ไม่ถูกคุกคาม แทรกแซงทั้งจากกลุ่มทุน รัฐ และผู้มีอิทธิพล  โดยมีกิจกรรมดังนี้

๓.๑ งานรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ

๓.๑.๑. โครงการฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day – ๓ MAY) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก  ตั้งแต่เมื่อปี  ๒๕๔๓  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวมาโดยตลอด

ในปี ๒๕๕๗  สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยใช้หัวข้อหลัก “เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ – หยุดวาทกรรมความขัดแย้ง” กิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ – หยุดวาทกรรมความขัดแย้ง ”   และการออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก  เพื่อแสดงถึงท่าที่และจุดยืนของสื่อมวลชนไทย

๓.๑.๒ สนับสนุนการดำเนินการของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เพื่อเป็นกลไกในการ ขับเคลื่อนด้าน สวัสดิการนักข่าว โดยได้มีการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดสวัสดิการสื่อ โดยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานเลขทะเบียนที่ กธ.๑๑๑๔  เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕ โดยมีนายสุเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานก่อตั้ง  และได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ สหภาพชุดที่ ๒  เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีนายสุเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหภาพฯต่อ

๓.๒ งานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว  ในปี ๒๕๕๗ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อ  สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๑ หลักสูตร

๓.๒.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง รุ่น ๕ (Safety Training for Thai Journalists)” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง (Safety Training)”  ขึ้นเพื่อให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากสื่อหนังสือพิมพ์  สถานีโทรทัศน์และวิทยุ  ได้เรียนรู้เรื่องการทำข่าวอย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วย ๑. การเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าว ๒. การเข้าทำข่าวพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในแต่ละสถานการณ์ ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าว . การปฐมพยาบาล  ๖.แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง  จัดขึ้นระหว่าง วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗  ณ ไมด้ารีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี

โดยมีทั้งผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมจำนวน ๒๖ คน โดยหลังจากอบรมหลักสูตรนี้แล้วได้มีการคัดเลือกผู้เข้าอบรมจากทั้ง ๕ รุ่น เพื่อเข้าอบรมหลักสูตร Train the trainer for safety training ต่อไป

๓.๓ งานติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพและสถานการณ์สื่อ

๓.๓.๑ งาน “เติมกำลังใจ ครั้งที่ ๒”  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย งาน “เติมกำลังใจ ครั้งที่ ๒”   ขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้สื่อมวลชนภาคสนามที่ต้องปฏิบัติภารกิจทำข่าวการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้มีโอกาสผ่อนคลายในบรรยากาศเป็นกันเองรวมทั้งพบปะพูดคุยกับเพื่อนพี่น้องในสื่อภาคสนามด้วยกันเองที่ต้องกระจัดกระจายทำข่าวในแต่ละจุดที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งจะมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนอาวุโส เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ในวิชาชีพ

๓.๓.๒ .เสวนา ”ถอดบทเรียนการทำข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง” โดยจัดขึ้นระหว่าง วันเสาร์ที่ ๑๓ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๗ ณ คุ้มหม่อมไฉไล อ.บางเลน จ. นครปฐม

เนื่องจากการทำหน้าที่รายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งจนเกิดความรุนแรงของสื่อมวลชนมีความสำคัญ  สมควรที่จะนำเหตุการณ์ต่างๆ มาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การจัดทำ “คู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง” เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติให้สื่อมวลชนมีความพร้อมในการทำข่าวอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน  ๒๖ คน  ได้แก่ ผู้สื่อข่าวสื่อมวลชน ทั้งบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ผู้สื่อข่าว ช่างภาพหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และทีวีดิจิตอล คณะทำงานและวิทยากร รวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๐ คน

 

๔. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์

ในปี   ๒๕๕๗  คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ

๔.๑ งานด้านสมาชิกสัมพันธ์

๔.๑.๑ รวมพลนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส "ด้วยรักและผูกพัน คนข่าว"  ครั้งที่ ๑ (ครั้งแรกในประวัติศาสตร์)  ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ที่มีนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นประธาน ได้ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดกิจกรรม รวมพลนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส "ด้วยรักและผูกพัน คนข่าว"  ครั้งที่ ๑  เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗  มีนักข่าวอาวุโสที่มาร่วมงานประมาณ ๓๐ คนโดยคนมีนายเลิศ อัศเวศน์  อายุ ๙๒ ปี เป็นผู้อาวุโสสูงสุดและนายพิศาล พ้นภัย อายุ ๙๑ ปี อาวุโสรองลงมา

๔.๑.๒ กิจกรรม พิราบ Fit & Firm รุ่น ๖ ดูแลสุขภาพกายและใจ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมโครงการดูแลห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อสุขภาวะสื่อมวลชน  พิราบ Fit & Firm รณรงค์ดูแลด้านสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต  ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๘- วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗  ณ  สามพรานริเวอร์ไซด์ จังหวัดนครปฐม กิจกรรมในโครงการเน้นการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพื่อให้นักข่าวมีประสบการณ์ตรงในการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและมีทักษะในการบริหารร่างกาย รวมทั้งมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันและระหว่างรุ่นพี่และ รุ่นน้อง จะนำมาซึ่งนักข่าวที่มีสุขภาวะที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการรายงานข่าวและการปฏิบัติหน้าที่

 

๔.๑.๓ การอบรมให้ความรู้ด้านการออมเงินและการลงทุน ในหัวข้อ “วางแผนการเงินเรื่องง่ายๆ ที่รู้แล้วรวย”  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จัดโครงการอบรมให้ความรู้ด้านการออมเงินและการลงทุน ในหัวข้อ “วางแผนการเงินเรื่องง่ายๆ ที่รู้แล้วรวย” ณ  ศูนย์ฝึกอบรม ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน โดยมีหัวข้อการอบรมประกอบด้วย ๑.ความสำคัญของการออมเงิน  ๒.จัดสรรเงินอย่างไรให้ได้ตามเป้า ออมเงินอย่างไรให้รวย ๓. หลักการวางแผนการเงินให้กับตัวเอง  ๔. รูปแบบการออมเงิน การฝากเงิน และการลงทุนประเภทต่างๆ ๕. การประเมินความเสี่ยงให้กับตัวเอง นอกจากนี้จะมีการให้คำปรึกษาการวางแผนออมเงินเป็นรายบุคคล กับเจ้าหน้าที่ธนาคาร อีกด้วย โดยมีนักข่าวที่สนใจเข้าร่วมการอบรมจำนวน ๓๐ คน จากสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและเว็บไซด์

๔.๑.๔ อบรมเชิงปฏิบัติการ “ปั้นนักข่าวเป็นนักเขียน” รุ่นที่ ๗ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ สถาบันอิศรา และ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ  บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด มหาชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ปั้นนักข่าวเป็นนักเขียน” รุ่นที่ ๗ ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๓ – วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗  ณ เรือนไทยบางกุ้ง จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ในการอบรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างนักข่าวในพื้นที่ และเพื่อให้ผู้เข้าอบรมนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพในการเขียนข่าว สารคดีเชิงข่าว รายงานพิเศษ หรือการเขียนรูปแบบอื่น

 

ซึ่งเนื้อหาและกิจกรรมประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ “บทบาทของนักเขียนที่เป็นนักข่าว:ศึกษาจากบทบาทศรีบูรพา” โดยวิทยากร  เชียงกูล   สนทนาพิเศษ “จุดไฟนักข่าวก้าวสู่นักเขียน”     บรรยาย โลกวรรณกรรมและกลวิธีการเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย  พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย”  คุยกับนักข่าวที่เป็นนักเขียน   บรรยายลิขสิทธิ์ จริยธรรมและศักดิ์ศรีของนักเขียน  การฝึกปฏิบัติเขียนงานวรรณกรรม

๔.๑.๕  ค่ายกระจิบ กระจาบพิราบน้อยรุ่น ๘  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดค่ายกระจิบ กระจาบพิราบน้อยรุ่น ๘ ให้กับบุตร-ธิดาสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของครอบครัวสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เข้าใจธรรมชาติและสัตว์ มีน้ำใจและเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมและครอบครัวนักข่าว  ในวันเสาร์ที่ ๑๘  ตุลาคม ๒๕๕๗    สนับสนุนโดย ซาฟารีเวิลด์ และ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

๔.๑.๖  อบรมภาษาจีน หลักสูตร “ทางลัดสู่ภาษาจีน”   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ได้จัดทำโครงการอบรมภาษาจีน หลักสูตร “ทางลัดสู่ภาษาจีน”  ซึ่งเรียนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. เริ่มเรียนครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน (ถนนเทียมร่วมมิตร รัชดา) ระยะเวลาการเรียนของหลักสูตรรวม ๑๐๐ ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรมจนจบหลักสูตรจำนวน ๑๓ คน

๔.๒ งานด้านสวัสดิการสมาชิก

๔.๒.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับสมาชิกสมาคมฯ โดยแบ่งเป็นทุนการศึกษาที่มอบให้กับสมาชิกสมาคมฯ และทุนการศึกษาที่มอบให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก ดังนี้

๑) ทุนการศึกษาที่มอบให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก สมาคมฯ แบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นทุนแบบรายปี ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ -ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิซีเมนต์ไทย ปีละ ๑๐ ทุน ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๗๐ คน

มีการจัดพิธีมอบทุนการศึกษาบุตร-ธิดานักข่าว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน  ๒๕๕๗ ได้แบ่งให้ทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท  คือ ๑. ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๑๒๒ ทุน ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็น เงิน ๔๘๘,๐๐๐ บาท และ ๒. ทุนต่อเนื่อง ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย เป็นปีที่ ๖ โดยในปี  ๒๕๕๖ ได้รับการสนับสนุนเพิ่มอีก ๑๐ ทุน  รวมเป็น ๗๐ ทุน

๒.) ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท ในปีนี้มหาวิทยาลัยมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทให้กับสมาชิกสมาคมฯจำนวน ๒ ทุนคือ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จำนวน ๑ ทุน โดยคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯได้คัดเลือกให้ นางสาวธนิตา อิสรา  ผู้สื่ออาวุโส สายเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เข้ารับทุน และคัดเลือกให้ นางมยุรี วนะสุขสถิตย์  ผู้สื่อข่าวสายบันเทิง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เข้ารับทุนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

๔.๒.๒ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่มให้กับสมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ในปี  ๒๕๕๗ สมาคมฯ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพและส่งหรีดเคารพศพสมาชิกอีก ๘  รายคือ ๑.  นายพิสันต์  ใจการุณ (ไทยรัฐ) ๒. นายเชลง  กัทลีรดะพันธุ์ (วิสามัญสมาชิก) ๓. นายบุญเสริม  พัฑฒนะ(ไทยรัฐ) ๔. นายวิชัย  วลาพล (วิสามัญสมาชิก)๕. นายประสิทธิ์  เหตระกูล (เดลินิวส์) ๖. นายวิเชียร  แก้วเปล่ง(วิสามัญสมาชิก) ๗.  นายประสิทธิ์  ยอดมั่น ๘.นายสุรพล  พรหมสาขา ณ สกลนคร (บางกอกโพสต์)

๔.๒.๓ การจัดทำโครงการสวัสดิการผู้ป่วยนอกร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นการดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับสมาชิก สมาคมฯได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน ๒ โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลเวชธานีและโรงพยาบาลพญาไท โดยสมาชิกสามารถเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ ๑,๕๐๐ บาท ต่อคน คนละ ๖ ครั้งต่อไป และมีนโยบายที่จะประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆในลักษณะเดียวกันนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯทั้ง ๔ มุมเมือง

 

๕. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

ในปี  ๒๕๕๗  คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ

๕.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ

๕.๑.๑ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนเวียตนาม-ไทย เป็นโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ ที่คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ มีความประสงค์ในการจัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสื่อในภูมิภาคเดียวกันขึ้น โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเยือนที่สมาคมนักข่าวฯทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับสมาคมนักข่าวแห่งประเทศเวียดนาม   (Vietname Journalists Association)  ระหว่างวันจันทร์ที่ ๓ – วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗  โดยมีนาย Mr. Pham Quoc Toan อุปนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศเวียดนาม  เป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยผู้แทนสื่อมวลชนเวียตนามอีกจำนวน ๘ คน โดยในครั้งนี้ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าทั้งสองสมาคมจะดำเนินกิจกรรมในเรื่องการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่างๆ ร่วมกัน

๕.๑.๒ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-จีน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนสื่อมวลชนไทยรวมจำนวน ๗ คนไปเยือนประเทศจีนตามคำเชิญของ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศจีน ( All China Journalists Association – ACJA )  ระหว่างวันจันทร์ที่  ๒๒ –  วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน  ๒๕๕๗

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนจีน-ไทยนี้เป็นโครงการที่สลับกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากแต่ละประเทศ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี  ๒๕๔๒ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศอีกทั้งยัง เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

๕.๒ ความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนนานาชาติ

๕.๒.๑ SEAPA  หรือ สมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะนายก สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารสมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สมาคมนักข่าวฯเป็นองค์กรก่อตั้ง SEAPA)

๕.๒.๒ IFEX - International Freedom of Expression Exchange สมาคมฯเป็นสมาชิกของ IFEX มีการเข้าร่วมประชุมใหญ่ทุกปี

๕.๓. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๕๗  คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๑ หลักสูตร

๕.๓.๑ การอบรมหลักสูตรเสริมสร้างความรู้เรื่องการเป็นประชาคมอาเซียนสำหรับสื่อมวลชนรุ่นที่ ๓ :  การเมืองและความมั่นคงในอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สื่อมวลชนในด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนในระดับต่าง ๆ  และเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สื่อมวลชนที่สนใจมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้า ผลิตและเผยแพร่ผลงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน  กิจกรรมในโครงการนอกจากการฟังการบรรยายแล้วยังมีการศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๕  คน จัดตั้งแต่ ๗ กุมภาพันธ์  – ๒๙ มีนาคม  ๒๕๕๘  เป็นระยะเวลารวม ๘ สัปดาห์

 

๖. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

ในปี ๒๕๕๗  คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ดังนี้

 

๖.๑ การจัดสัมมนาเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ สมาคมฯ ได้จัดการสัมมนาเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ สมาคมฯ ขึ้นระหว่างวันศุกร์ที่ ๑๘  - วันเสาร์ ๑๙  เมษายน  ๒๕๕๗   ณ สามพรานริเวอร์ไซต์  จังหวัดนครปฐม  มีทั้งกรรมการบริหาร สมาคมฯ ชุดปัจจุบันและชุดที่ผ่าน ที่ปรึกษา สมาคมฯ และอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งจากการสัมมนาดังกล่าวทำให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานของสมาคมฯมากขึ้น

 

๖.๒. การจัดทำระบบทะเบียนสมาชิก สมาคมฯ ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบของ Data Base รวมทั้งปรับปรุงระบบการส่งข่าวสารถึงสมาชิกโดยเพิ่มช่องทางการส่งข่าวผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถืออีกหนึ่งช่องทาง

 

๖.๓ การจัดกิจกรรมระดมทุน สมาคมฯ จัดกิจกรรมระดมทุนครั้งใหญ่ปีละ ๒ กิจกรรม คือการจัดทำหนังสือรายงานประจำปีและการจัดงานดินเนอร์ทอล์ค โดยในส่วนของงานดินเนอร์ทอล์คประจำปี ๒๕๕๗ จัดเมื่อวันพุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๗  ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น ๒ โรงแรมสุโกศล  ถนนศรีอยุธยาได้รับเกียรติจากคุณประมณฑ์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) มาปาฐกถาพิเศษหัวข้อ  “วาระประเทศไทย ล้างคอรัปชั่น”

 

๖.๔ โครงการ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมฯริเริ่มจัดทำโครงการ ๖๐ ปี สมาคมฯเพื่อเฉลิมฉลองในวาระ ๖๐ ปี ซึ่งจะครบรอบในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙  โดยมีเป้าหมายในการจัดตั้งกองทุน ๖ กองทุน ประกอบด้วย ๑.กองทุนเพื่อสร้างและปรับปรุงอาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๒. จัดตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพนักข่าว  ๓. จัดตั้งกองทุนสิทธิเสรีภาพสื่อและปฏิรูปสื่อ ๔. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมจริยธรรม   ๕. จัดตั้งกองทุนสวัสดิการนักข่าว และ ๖. ……..

โดยกิจกรรมในโครงการ ๖๐ ปีที่ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วคือ ๑.  การแข่งขันกอลฟ์การกุศล ๖๐ ปี สมาคมฯ จัดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ สนามกอล์ฟกองทัพบก รามอินทรา ๒. การจัดทำหนังสือ “คือ...คนหนังสือพิมพ์” ซึ่งรวบรวมชีวประวัติ ผลงานและบทเรียนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน โดยการถอดบทเรียนจากบรรดาผู้อาวุโสในวงการหนังสือพิมพ์ โดยหนังสือเล่มนี้จะประกอบด้วยบทรายงานที่สะท้อนภาพการทำงานของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีนายขุนทอง ลอเสรีวนิช อดีตกรรมการบริหาร สมาคมฯ และอดีตบรรณาธิการจุลสารราชดำเนินเป็นบรรณาธิการ และ ๓. โครงการรณรงค์รับบริจาคเลือด “๖๐ ปี ๖๐ คน” โดยเปิดรับบริจาครอบแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ และรอบสองในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๘

ปี ๒๕๕๗  ซึ่งเป็นปีที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ ๖๐ ได้เน้นการทำงานภายใต้แนวคิด “การปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ” ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามเองก็ยังต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงและในที่สุดก็ต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดด้านสิทธิเสรีภาพในการรับรู้และแสดงออกความคิดเห็น  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้พยายามได้จัดทำโครงการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยและสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง ภายใต้ความคาดหวังที่จะให้สื่อมวลชนสามารถรักษาบทบาทการทำหน้าที่ที่มีความเป็นกลางและเป็นธรรม ภายใต้หลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง