2 องค์กรวิชาชีพสื่อไทยและเทศ ‘TJA – FCCT’ กระชับความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 คณะผู้แทนกรรมการบริหาร 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” และ “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย” หรือ FCCT ได้ร่วมพบปะหารือและทำความรู้จักกัน ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย อาคารมณียา ถนนเพลินจิต 

ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้แก่ นายมงคล บางประภา นายกสมาคม (บางกอกโพสต์) และนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ (ประชาไท) ด้านคณะผู้แทนสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ประกอบด้วย นายภาณุ วงศ์ชะอุ่ม ประธานสมาคม (Reuters) พร้อมด้วย Gwen Robinson (Nikkei Asia), Dominic Faulder (Nikkei Asia) และ Elaine Kurtenbach (The Associated Press) กรรมการบริหารสมาคม 

ในการหารือดังกล่าว นายมงคลได้แสดงความยินดีกับ FCCT ที่เพิ่งได้จัดการประชุมสามัญประจำปี และมีมติรับรองให้นายภาณุเป็นประธานสมาคมอีกสมัย ซึ่งถือเป็นผู้สื่อข่าวชาวไทยคนแรกในรอบหลายสิบปีที่ดำรงตำแหน่งประธาน FCCT นับว่าเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญระหว่างสององค์กรสื่อ

ด้านนายภาณุกล่าวว่า FCCT ต้อนรับผู้สื่อข่าวจากทุกสังกัด ไม่ว่าจะไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งไม่นานมานี้ได้ปรับลดค่าสมาชิกรายปีเป็นกรณีพิเศษให้กับสื่อมวลชนชาวไทย ที่สังกัดสำนักข่าวที่ชาวไทยเป็นเจ้าของ จากเดิม 3,000 บาท เหลือ 1,500 บาท ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกสามารถเข้าร่วมฟังงานเสวนาต่างๆของ FCCT ได้ฟรีทุกครั้ง พร้อมส่วนลดค่าอาหารและเครื่องดื่ม สะท้อนนโยบายของ FCCT ที่ให้ความสำคัญสื่อมวลชนชาวไทย

นอกจากนี้ นายภาณุกล่าวว่านอกจากงานเสวนาในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำแล้ว FCCT ยังมีแผนจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและบันเทิงเพื่อเป็นโอกาสให้ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศได้มาพบปะกัน เช่น แสดงดนตรี, นิทรรศการภาพถ่าย-แสดงงานศิลปะ, ฉายภาพยนตร์และสารคดี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาตามสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 

ในประเด็นความร่วมมือทางด้านสิทธิเสรีภาพสื่อนั้น นายมงคลกล่าวว่า หลักเกณฑ์ขอปลอกแขนล่าสุดที่ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ทำขึ้น ได้อนุโลมให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ปฏิบัติงานในลักษณะ freelancer, stringer และ fixer สามารถขอปลอกแขนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในสถานการณ์ชุมนุมได้ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับสื่อมวลชนต่างชาติทุกแขนงที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย โดยขอให้ FCCT เป็นผู้ประสานงานและตรวจสอบสถานะความเป็นสื่อมวลชนของคนกลุ่มนี้ ซึ่งทาง FCCT เห็นด้วยอย่างยิ่ง และจะช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งหาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสื่อมวลชนต่างชาติที่ยื่นขอปลอกแขนสื่อ 

ทั้งนี้ นายภาณุได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับผู้สื่อข่าวภาคสนามมาหารือ โดยระบุว่าเสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวที่สำคัญ โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศจะค่อนข้างให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในปัจจุบัน เสื้อเกราะกันกระสุนยังมีสถานะเป็นยุทธภัณฑ์ในกฎหมายไทย จึงไม่สามารถครอบครองได้อย่างถูกกฎหมาย ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายคนในพื้นที่การชุมนุมมีความเข้าใจและไม่ขัดขวางผู้สื่อข่าวที่ใส่เสื้อเกราะกันกระสุนลงพื้นที่ แต่ก็เป็นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีความเข้มงวดขึ้นมาและส่งผลให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกดำเนินคดีก็เป็นได้ จึงอยากให้ทางการไทยออกกฎระเบียบที่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวสามารถสวมใส่เสื้อเกราะกันกระสุนได้อย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันปัญหาใดๆที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นความร่วมมือต่างๆ และตกลงกันว่าจะติดต่อประสานกันอย่างใกล้ชิด พร้อมช่วยกันสอดส่องปัญหาหรือประเด็นที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพของทั้งสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที

สำหรับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500 โดยการรวมตัวของสื่อมวลชนที่มีสังกัดทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น บางกอกโพสต์, The Associated Press และ United Press เดิมทีมีลักษณะเป็นสโมสรที่พบปะกันอย่างไม่เป็นทางการในย่านถนนพัฒน์พงษ์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างยุคสงครามเวียดนาม นับเป็นสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่มีความเป็นมายาวนานที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อมา FCCT ได้มีการจดทะเบียนขึ้นเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ และย้ายที่ทำการมาประจำ ณ อาคารมณียา ปัจจุบันสมาคมมีบาร์และร้านอาหารเป็นของตัวเอง จึงเป็นสถานที่ที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในประเทศไทย มักพบปะสังสรรค์กันเป็นประจำ