“วิกฤตปัญหาขยะ สร้างมลพิษ ต้นเหตุภาวะโลกร้อน”

อยากให้เหมือนปีพ.ศ. 2527 สมาคมสร้างสรรค์ไทย มีโครงการ “ตาวิเศษ” รณรงค์ให้ทิ้งขยะ มี “ลูกตา” เป็นสัญลักษณ์ หลังจากสถานการณ์ขยะ ในประเทศไทย ขณะนั้นเข้าขั้นวิกฤติ เป็นแบรนด์ที่ทำให้ลดการทิ้งขยะ ในที่สาธารณะได้ดีทีเดียว   

            ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้สื่อข่าว ช่อง 8  ซึ่งมีประสบการณ์ รายงานข่าวสิ่งเเวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่นเเละชาติ  บอกกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”  ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งระดับนโยบายชาติเเละท้องถิ่นว่า  ทุกวันนี้ มีหลายหน่วยงาน ที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว อาทิ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กรมควบคุมมลพิษ , หน่วยงานNGO  , ท้องถิ่นอย่าง กทม.หรือจังหวัดใหญ่ๆ  ที่มีการนำร่องหรือกระตุ้น โดยเฉพาะการกำจัดขยะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะมา ในแนวอีเวนท์ ให้ตื่นตัวในบางช่วง

            ไม่ค่อยเห็นองค์กรภาครัฐ ติดตามงานอย่างจริงจัง เท่ากับหน่วยงาน ภาคประชาสังคม  เมื่อหน่วยงานภาคประชาสังคม ไปติดตามงานก็จะเกิด การกีดกันต่างๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ อาจจะกีดกันงบประมาณ  หรือโยนภาระหน้าที่กันไปมา  โดยไม่บูรณาการอย่างจริงจัง นโยบาย คัดแยกขยะเปียก กับขยะทั่วไป โดยไม่เท-รวม มีมานานแล้ว  แต่คนทั่วไปลึกๆ ยังคิดว่าเจ้าหน้าที่ ก็จะนำไปเท-รวมกัน ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่  

            นโยบายที่ชัดเจน คือ การประชาสัมพันธ์ นอกจากให้คนตระหนัก ถึงการคัดแยกขยะ  ต้องมีเครื่องมือ ที่รองรับสิ่งเหล่านั้น ถ้าให้นโยบายมา  แต่ไม่ให้อวัยวะต่างๆมา นโยบายก็ไม่สำเร็จ   เช่น การให้ยาแรงจริงๆ  ถ้าคุณไม่คัดแยก เราก็จะไม่เก็บขยะ ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้ เพราะคนไทยไม่มีระเบียบวินัย

            “ถ้าหากใช้กฎหมาย เป็นยาแรงมาบังคับ  เช่น บอกว่าอาจจะต้อง เพิ่มเงินค่าเก็บขยะ แบบอัตราก้าวหน้า คนก็จะต่อต้านลุกฮือ ไม่ยอมให้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ  จะเห็นว่ามีการจัดเก็บจ่ายค่าขยะ แบบอัตราก้าวหน้า  ถ้าใครไม่คัดแยกขยะ ก็เท่ากับว่าคุณกำลัง สร้างมลพิษให้กับโลก ทำให้โลกร้อนขึ้น ก๊าซมีเทนต่างๆ กำลังทำให้โลกร้อน  เมื่อคุณเป็นผู้ก่อมลพิษ คุณจึงต้องจ่ายค่าส่วนต่าง ที่มากกว่าคนที่คัดแยกขยะ” 

             ผมเคยคุยกับหัวหน้าเขต ของกทม.พบว่าบางบ้าน มีท่อตรงจากชักโครก ลงไปในคลอง  พื้นที่กทม.มีทั้งหอพัก , คอนโด , อพาร์ทเม้นท์ , อาคารสูงจำนวนมาก  เขาไม่ได้แยกใส่ถุงขยะ แต่เทลงไปในชักโครก หรือท่อระบายน้ำ  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ก้อนไขมันที่เทลงไปนั้น  ทำให้ท่อตัน  หากไม่มีการรื้อหรือตักไขมันขึ้นมา ก็ส่งผลกระทบ ทำให้เกิดปัญหา น้ำเน่าเสียอย่างหนักและ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กทม.

            ก่อนหน้านี้ผู้ว่าฯกทม.หลายสมัย  มีนโยบายเกี่ยวกับ การคัดแยกขยะ ดังนั้นนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผว.กทม. จึงไม่ใช่นโยบายใหม่  ขณะที่รัฐบาล หรือ กทม.มีนโยบาย ประโคมขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็จะกระตุ้นให้ชาวบ้าน รู้สึกว่าต้องมีจิตสำนึกคัดแยกขยะ ตื่นตัวในช่วงของกระแสเท่านั้น แต่เมื่อทุกอย่างเงียบหายไป ตามผู้นำรัฐบาล หรือผู้ว่าฯกทม. พฤติกรรมของคนไทย ก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

            “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เคยยอมรับกับผม แบบเอ็กซ์คลูซีฟว่า การแก้ไขปัญหาขยะ ในประเทศไทยทำสำเร็จ 100%ยาก เพราะติดขัดเรื่องของงบประมาณ  แม้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. เคยมีนโยบายออกมา ว่า จะต้องลดปัญหาการฝังกลบ จาก 80% ให้เหลือ 30% ส่วนที่เหลือนำเข้า โรงงานกำจัดขยะ  แม้ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย  รัฐบาลก็ไม่เคยอนุมัติ สร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ ทั่วประเทศเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะใช้งบประมาณสูง”  

             ผมมองว่าจำเป็นที่จะต้อง ใช้ระบบ ที่รัฐ-เอกชน-ท้องถิ่น มาร่วมกันตั้งโรงกำจัดขยะ เป็นแนวคลัสเตอร์ คือ นำพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน มาร่วมเป็นหนึ่ง  แล้วกำจัดขยะเป็นหนึ่ง  แต่การจะใช้คลัสเตอร์ เขาวางแปลนไว้ว่า ทั่วประเทศต้องมี 262 แห่ง จึงจะเพียงพอ เมื่อตีเป็นงบประมาณ ต้องใช้เงิน 262,000 ล้านบาท ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์บอกว่า รัฐบาลไม่มีเงินมากขนาดนั้น 

            ปัจจุบันรัฐบาลบอกว่า การกำจัดขยะที่ดีที่สุด คือสร้างโรงกำจัดขยะ เพื่อลดปริมาณการฝังกลบ  เพราะไม่มีพื้นที่แล้ว  จึงทำให้ประชาชน ที่อยู่ในกทม.และต่างจังหวัด  ตระหนักถึงปัญหาขยะ บางเวลาเท่านั้น  

            “อยากให้เหมือนเมื่อปีพ.ศ. 2527 ที่สมาคมสร้างสรรค์ไทย มีโครงการ “ตาวิเศษ” รณรงค์ให้ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง มี “ลูกตา” เป็นสัญลักษณ์ เปิดตัวต่อสังคม  หลังจากสถานการณ์ขยะ ในประเทศไทย ขณะนั้นเข้าขั้นวิกฤติ  เป็นแบรนด์ที่ทำให้  คนกทม.สมัยนั้น ลดการทิ้งขยะ ในที่สาธารณะได้ดีทีเดียว”   

            ปัญหาปัจจุบัน  ที่เรายังเห็นคนไม่คัดแยกขยะ อย่างจริงจัง  ต้องโทษกลับไปที่หน่วยงานท้องถิ่น อย่างกทม.ด้วย  เพราะไม่มีถังขยะที่ แยกสีชัดเจนทั่วถึง  เพราะนำถังขยะสีแดง มาตั้งไว้ชั่วคราว  พอคนไม่ทิ้งก็เก็บคืน ทั้งที่ควรต้องมีไว้ระยะยาว

            ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ผมไม่อยากให้ผู้ว่าฯชัชชาติ ซึ่งเข้ามาแล้วมีนโยบายมากมาย เกี่ยวกับการกำจัดขยะ ซึ่งแซนบล็อก 3 เขตนั้น เป็นเรื่องดี ที่ทำตัวอย่างขึ้นมา แต่ไม่อยากให้ล่าช้า เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมคิดว่าข้าราชการของกทม. ทุกคนรู้ปัญหาอยู่แล้ว แต่ปัญหามันวนหลูบเป็นวงกลม

             ที่ผ่านมาประเทศไทย มีรายงานการศึกษาเรื่องนี้ ใช้งบประมาณมากไปถึง 4,000 ล้านบาท  แต่เวลาลงไปปฏิบัติจริง เป็นลักษณะอีเว้นมากกว่า แม้กระทั่งกรณีของผู้ว่าฯชัชชาติ ผมกล้าพูดได้ว่า เป็นอีเวนท์โดยให้ มิสยูนิเวอร์สไทยแลนด์ ไปเปิดงาน  ถ้าเรานำงบประมาณตรงนั้น มาใช้ในการบริหารจัดการขยะ  จะดีกว่าหรือไม่

            ขณะเดียวกันไม่ค่อยเห็น ผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม ทำข่าวแนวเจาะลึก โดยเฉพาะนโยบายกำจัดขยะ  จึงอยากฝากว่า ควรจะต้องไปตามต่อ ว่าโรงกำจัดขยะ มีผลดีผลเสียอย่างไร และจะกระทบกับอะไรบ้าง มีปัญหาแฝงเร้นอยู่หรือไม่ 

            ควรจะกระตุ้น เรื่องการแก้ไขปัญหา คัดแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทาง  ก็จะตอบโจทย์ นโยบายของผู้ว่าฯกทม.ทุกสมัย รวมถึงผู้ว่าฯชัชชาติด้วย แม้ว่ารัฐบาลและแต่ละจังหวัด  จะมีนโยบายท้องถิ่น  แต่ในระดับประเทศ ควรมีนโยบายที่มาช่วยส่งเสริมด้วยเช่นกัน

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5