สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จับมือ กสทช. จัดอบรม ‘พัฒนาสำนักข่าวขนาดเล็ก’

วันที่ 16 กันยายน 2565 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “อบรมเชิงปฏิบัติการ เสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาศักยภาพ สำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน” ณ โรงแรม Siam@Siam กทม.ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วย มูลนิธิ Friedrich Naumann ประจำประเทศไทย 

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 กันยายน 2565 ประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ วงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถ่ายทอดประสบการณ์จากคนทำงานสื่อมวลชนและนักวิชาการ 

 โดยมี วศินี พบูประภาพ อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้จัดการโครงการ 

รมิดา ลีลาพตะ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง กสทช. เป็นผู้แทนจาก กสทช. กล่าวเปิดงานโดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ภารกิจของกสทช.เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนโดยตรง เพราะนอกจากที่กสทช.จะทำงานร่วมกับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว ยังทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆในวิชาชีพสื่อ เพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนเข้าใจการทำหน้าที่สื่อ หลักจริยธรรม และจรรยาบรรณได้ดีขึ้น

ในปัจจุบัน บริบทสภาพแวดล้อมของสื่อเปลี่ยนไป มีสื่อออนไลน์ สื่อขนาดเล็ก ผู้ผลิตคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ นักข่าวพลเมือง จำนวนเพิ่มมากขึ้น มีอิทธิพลมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้รวดเร็ว เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว สร้างอิมแพคในสังคมมากมาย องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักข่าวกระแสหลักในปัจจุบัน จึงย่อมรู้สึกสั่นคลอนเล็กน้อย เพราะมีผู้เล่นใหม่ๆ เริ่มขยับมาแทนที่ 

ทั้งนี้ ตนได้ทราบมาว่ากิจกรรมอบรมครั้งนี้ นอกจากคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น วิทยากรและสตาฟที่เตรียมมา ก็พยายามสรรหาเข้ามาอย่างเข้มข้นเช่นกัน และมีจำนวนเกือบจะเท่าๆกับจำนวนผู้เข้าอบรม เรียกได้ว่าแทบจะประกบกันทีเดียว แปลว่าองค์กรวิชาชีพสื่อให้ความสำคัญกับการสร้างสื่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันกับสื่อมืออาชีพในยุคปัจจุบัน

ตนจึงหวังว่า การอบรมให้ความรู้ต่างๆในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักการวิชาชีพสื่อ ทักษะการเขียนข่าว การถ่ายทอดประสบการณ์จากคนทำงานในอาชีพสื่อมวลชนรุ่นเก่า เป็นต้น จะช่วยผลักดันให้งานข่าวที่ทุกท่านผลิตช่วยสร้างผลกระทบในสังคมอย่างแน่นอน และขอให้ทุกท่านตระหนักถึงศักยภาพของตนในการสร้างอิมแพคเหล่านั้น ช่วยให้สังคมได้ประโยชน์สูงสุด

ด้าน ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า เป็นความสืบเนื่องมาจากเวทีพบปะพูดคุยกับสื่อภาคพลเมืองที่สมาคมนักข่าวฯจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจากการพูดคุยและรับฟัง ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้ทราบความต้องการของนักข่าวภาคพลเมืองหลายๆท่าน ที่สนใจอยากเรียนรู้วิชาชีพสื่อ พัฒนาตนเองเป็นสื่อมืออาชีพ ประกอบกับคนทำงานสื่อกระแสหลักบางส่วนเอง ก็อยากทบทวนหลักวิชาชีพพื้นฐานเช่นกัน

ดังนั้น ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อของสมาคมฯ จึงตัดสินใจต่อยอดเสียงสะท้อนเหล่านั้น กลายมาเป็นโครงการในวันนี้ นับเป็นมิติใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ใน 67 ปีของสมาคมฯ ที่ได้เปิดประตูให้กับผู้ที่มิได้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนกระแสหลักในรูปแบบเก่า 

ธีรนัยกล่าวด้วยว่า ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกคนสามารถเสนอข้อมูลข่าวสารได้จากมือถือตัวเอง เราเห็นกลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือที่เรียกกันว่า “นักข่าวพลเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อข่าว ก็แตกต่างกันออกไปมากขึ้นด้วย กลายเป็นความสับสนในบทบาทของตัวเองในหลายๆกรณี บางส่วนสื่อความคิดเห็นของตนเองมากกว่าที่จะสื่อข่าวเสียอีก บางส่วนก็ยังไม่เข้าใจหลักการจริยธรรมเบื้องต้นในการสื่อข่าว

ในอีกด้านนึง ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาของสื่อมวลชนกระแสหลักจำนวนมาก กลายเป็นปรากฏการณ์ “race to the bottom” แข่งขันกันที่ปริมาณและยอดคลิก มากกว่าจะให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ กองข่าวหลายแห่งประหยัดงบ ไม่ลงทุนส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในองค์กร หลายแห่งประหยัดเวลา ด้วยการใช้วิธีก๊อปคลิปหรือดราม่าจากโซเชียลมีเดียมาเป็นข่าว ขยี้ไปขยี้มา ส่งผลให้สังคมขาดข่าวสารที่มีสาระอย่างแท้จริง

สองปรากฏการณ์ข้างต้น คือเหตุผลที่สมาคมนักข่าวฯ ตระหนักว่าเราต้องสร้างนักข่าวที่มีคุณภาพ ยึดมั่นในจริยธรรม และมีความรักในอาชีพสื่อมวลชน ไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มใดๆ ก็ตาม ตนเชื่อมั่นว่า การเกิดขึ้นของสำนักข่าวขนาดเล็กที่มีคุณภาพจะช่วยดึงมาตรฐานสื่อมวลชนในบ้านเราให้สูงขึ้น กู้ศรัทธาของสังคมที่มีต่อวงการสื่อมวลชน และเสนอข้อมูลข่าวสารในมุมมองต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ตนหวังว่ากิจกรรมใน 3 วันข้างหน้านี้ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดประสบการณ์ ถ่ายทอดความรู้ สร้างความตระหนักในความสำคัญของเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เสรีภาพบนจริยธรรม และเสรีภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น