สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมในโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 4 นำคณะนักข่าวไทย 17 คนจากสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์และสื่อใหม่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนของจีนที่มีบทบาทต่อชาติต่าง ๆในอาเซียน โดยมีกรณีศึกษาคือ เส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว
กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยคณะนักข่าวได้พบปะกับผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม อาทิ Mr. Du Zhigang , Operations Director of Laos-China Railway Company Limited ซึ่งเป็นผู้แทนจากบริษัทรถไฟลาว – จีน , คุณสอนสัก ยานชะนะ อดีตรองอธิบดีกรมรถไฟลาว , ท่านเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูตไทยประจำนครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนจากสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว และได้ไปเยี่ยมชม สถานีโทรภาพแห่งชาติลาวด้วย
เอกอัครราชทูตไทยประจำนครหลวงเวียงจันทน์ กล่าวว่า รถไฟลาว-จีน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในลาวโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพราะลาวเป็นประเทศที่มีสินค้าเกษตร เช่น ยางพาราทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุหายากที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อการขนส่งพัฒนาขึ้นจึงหมายถึงโอกาสดีด้านการลงทุนและการเชื่อมต่อระหว่าง ลาว จีน รวมทั้งไทยและชาติอื่น ๆในอาเซียนด้วย
“รถไฟความเร็วปานกลางนี้เป็น Game Changer สำหรับลาวเลยก็ว่าได้ เพราะเป้าหมายหลักคือสร้างเพื่อใช้ขนส่งสินค้าสมัยก่อนมีเส้นทางถนน เมื่อรถบรรทุกขนส่งแล่นมาก ๆเข้า ก็มีปัญหาถนนพังง่าย รถไฟ ได้มีส่วนช่วยทำให้การขนส่งสินค้าต่างๆ ดีขึ้น เปิดศักยภาพด้านอื่น ๆที่ยังไม่ได้ใช้ของลาวให้มากขึ้น ขณะนี้ จีนก็เริ่มเข้ามาลงทุนด้านต่าง ๆในลาวเพิ่มขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการหนี้สินและเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลลาวต้องจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการชำระหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างจีน-ลาว คือ 70-30
ในภาพรวมเศรษฐกิจลาวไม่ได้ขาดดุลการค้าตามที่เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ อันที่จริง ลาวได้กำไรจากการส่งออกเฉลี่ย 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินดอลล่าร์จากการขายนั้น ไหลกลับเข้ามาในประเทศเพียงประมาณ 33 % ที่เหลือถูกเก็บสะสมไว้ที่สถาบันการเงินในต่างประเทศ ประกอบกับค่าเงินผันผวน เงินดอลล่าร์สหรัฐถูกดึงออกจากตลาดลาวจำนวนมาก ดังนั้นโจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลลาวคือทำอย่างไรจึงจะทำให้รายได้กลับเข้ามาในประเทศให้มากที่สุด มีทั้งการส่งเสริมให้เอกชนมาทำโครงการขนาดใหญ่ การชะลอการชำระหนี้ในโครงการต่าง ๆและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้
ด้าน Mr. Du Zhigang, Operations Director of Laos-China Railway Company Limited ได้เล่าภาพรวมของการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทนี้ว่ามีทั้งหมด 32 สถานี ปัจจุบันเปิดบริการรับส่งผู้โดยสารในฝั่งลาวแล้ว 6 สถานี ได้แก่ บ่อเต็น เมืองไซ หลวงพระบาง วังเวียง โพนโฮง และนครหลวงเวียงจันทน์ และกำลังจะขยายเป็น 10 สถานี แล่นด้วยความเร็วประมาณ 150-160 กม./ชั่วโมง มีเป้าหมายให้บริการขนส่งสินค้าเส้นทางระหว่าง จีน-ลาว เชื่อมต่อมายังไทยและอาเซียน ระยะเวลาเดินทางยาวสุดคือ 4 ชั่วโมง 20 นาทีจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเต็น หากเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถโดยสารแล้วต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 13 ชั่วโมงบนระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร
นับตั้งแต่เปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมามีเสียงตอบรับอย่างดีทั้งจากผู้คนที่ต้องการทดลองโดยสารรถไฟขบวนนี้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาเดินทางได้มากกว่าเส้นทางรถยนต์ และการขนส่งสินค้าที่ไม่เพียงเชื่อมจีน-ลาว-อาเซียน แต่เชื่อมโยงต่อไปยังประเทศในยุโรปได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารจากบริษัทรถไฟลาว-จีน ยอมรับว่ายังมีปัญหาหลายประการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาให้บริการดีขึ้น อาทิ ปัญหาไฟตกบ่อยจากระบบไฟฟ้าในลาวที่ไม่เสถียร ส่งผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟ รวมทั้งปัญหาอุทกภัย เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมบ่อย ทำให้ต้องหยุดการเดินรถชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่คือระบบการขายตั๋ว ซึ่งเปิดให้ซื้อล่วงหน้าได้เพียง 3 วัน และจำกัดโควต้าคนละ 3 ใบ ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการซื้อตั๋วไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าระยะยาวได้
“เรื่องการซื้อตั๋วได้จำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสารนี้ เราทราบปัญหาแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เกี่ยวข้องฝั่งลาวและจะพัฒนาระบบขายตั๋วออนไลน์และมีตัวแทน Agent ขายตั๋วให้ คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในสิ้นปีนี้ ขณะนี้มีผู้นิยมใช้บริการรถไฟจำนวนมาก เฉลี่ยในวันธรรมดาจันทร์-พฤหัสบดี มีประมาณวันละ 4 พันคน ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ วันละ 5-6 พันคน ให้บริการวันละ 6 ขบวน”
ปัญหาการซื้อตั๋วนี้ ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่รับจ้างการต่อคิวเพื่อจองซื้อตั๋วรถไฟ มีการขายตั๋วเกินราคา กระทั่งบริษัททัวร์ยังจำเป็นต้องยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากราคาตั๋วจริงมากถึง 100-300 บาทต่อใบ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวซึ่งอาจมีผู้โดยสารมากถึงกว่า 8 พันคนต่อวัน
ด้านคุณสอนสัก อดีตรองอธิบดีกรมรถไฟลาว กล่าวว่า รัฐบาลลาวเห็นความสำคัญของการสร้างระบบขนส่งเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆด้วยรถไฟมานานแล้ว พร้อมยกตัวอย่างตัวเองว่าได้ถูกส่งไปศึกษาต่อด้านระบบรางจากสหภาพโซเวียต พร้อมกับนักศึกษาลาวอีกหลายคนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 เพียงแต่มีช่วงเวลาของการหยุดชะงักไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การลงทุนรถไฟลาว - จีนครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว แต่ก็ยังมีปัญหาหลายประการที่ต้องเร่งแก้ไข รวมทั้งกำจัดอุปสรรคการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟมายังประเทศไทยเพื่อไปสู่ชาติอื่น ๆในอาเซียนด้วย เนื่องจากขนาดของรางรถไฟไม่เท่ากัน จึงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเพิ่มขึ้นในการขนถ่ายสินค้าขึ้นลง บริเวณจุดเชื่อมต่อลาว-ไทย
“กลางเดือนตุลาคม 2565 นี้ ผู้แทนลาว - ไทย จะนัดคุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหา และมีประเด็นการสร้างสะพานใหม่เพื่อรองรับการจราจรขนส่งข้ามแดนที่หนาแน่นให้สะดวกมากขึ้นด้วย ปัจจุบันเกิดความล่าช้าในการขนส่งเพราะเมื่อรถจากไทยผ่านข้ามไปลาว ต้องมีการปิดสะพานนาน10-15 นาทีต่อรอบ”
อดีตรองอธิบดีกรมรถไฟลาว กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับการลงทุนจากจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในขณะนี้ รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของลาวเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงประโยชน์ด้านการค้าและรายได้ที่มากขึ้น แต่หวังว่าจะเป็นโอกาสให้คนลาวได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางจากจีนให้คนลาวได้เป็นแรงงานฝีมือในอนาคต อีกทั้งสามารถเพิ่มตลาดแรงงานลาวในกิจการของจีนที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมมองเชิงบวกต่อภาระหนี้สินของประเทศว่า เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว เชื่อมั่นว่าจะมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้อย่างแน่นอน
การจัดโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 4 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยซึ่งประสานงานกับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาวในการเดินทางภายใน สปป.ลาว สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย