“Twitter” กับวงการข่าว

“Twitter” กับวงการข่าว

ดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

ธุรกิจขายข่าวสารเป็นอีกสาขาอาชีพหนึ่งที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสายงานข่าวทั้งสิ้น

ยิ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี่การสื่อสารด้วยแล้ว ยิ่งส่งผลสะเทือนโดยตรง เนื่องเพราะธุรกิจประเภทนี้ ยึดถือเอาความสดใหม่ รวดเร็วของข่าวเป็นหัวใจสำคัญ

ไม่ต้องย้อนหลังไปไกลหรอกครับ เอาแค่เมื่อ 20 ปีก่อน สมัยผมเพิ่งก้าวเข้าสู่อาชีพนักข่าวการเมืองในหนังสือพิมพ์รายวัน ตอนนั้นการสื่อสารระหว่างกองบรรณาธิการข่าวกับนักข่าวใช้โทรศัพท์สาธารณะเป็นหลัก

เมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น หรือมีการแถลงข่าว นักข่าวจะถูกส่งลงพื้นที่ทำข่าว สัมภาษณ์แหล่งข่าวเสร็จ ต้องวิ่งวุ่นหาโทรศัพท์สาธารณะที่อยู่ใกล้สุดรายงานข่าวให้กับกองบรรณาธิการเรียบเรียงเป็นเนื้อข่าวนำเสนอสู่สายตาประชาชน หากอยู่ไม่ไกลจากออฟฟิตต้องรีบเดินทางกลับไปพิมพ์ข่าวด้วยตนเอง

หรือถ้าใครประจำอยู่ในพื้นที่ข่าวของตัวเองอยู่แล้ว เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่างๆ อย่างนี้โชคดีหน่อยครับ ส่วนใหญ่องค์กรเหล่านี้มีห้องนักข่าวและมีโทรศัพท์ มีเครื่องแฟ๊กซ์ประจำให้ห้องละเครื่อง สองเครื่อง เมื่อได้ข้อมูลข่าวนักข่าวจะวิ่งกรูกันมาแย่งโทรศัพท์ส่งข่าว หรือไม่เช่นนั้นก็รีบมาพิมพ์ดีดป๊อกๆแป๊กๆ ส่งเป็นแฟ็กซ์ให้กับกองบรรณาธิการ

อย่างไรก็ตามมีหลายครั้งเหมือนกันนะครับ ที่นักข่าวต่างฉบับกันทะเลาะเบาะแว้งเพราะแย่งชิงโทรศัพท์ หรือแฟ๊กซ์ซึ่งมีอยู่น้อยนิดเดียว

แต่เหตุการณ์เหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นอวัยวะชิ้นใหม่ของคนเรา แม้ว่าในยุคแรกๆ โทรศัพท์มือถือจะมีรูปลักษณ์หนักและเทอะทะปานกระบอกข้าวหลามก็ตามเถอะ แต่มันช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างคนข่าวภาคสนามกับกองบรรณาธิการเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์มากขึ้น

ยิ่งทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือได้พัฒนาไปไกล เครื่องเล็กกะทัดรัด ทำงานได้หลากหลายเกินกว่าคนเมื่อสองทศวรรษก่อนจะนึกภาพได้ กอปรกับมันยังทำงานร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และโปรแกรมต่างๆซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นยุคของ Web 2.0 ซึ่งผู้ใช้บริการเป็นผู้สามารถกำหนด หรือสร้างเนื้อหาสาระต่างๆในเว็บไซต์ เหล่านี้ยิ่งเปลี่ยนโฉมการทำงานในแวดวงข่าวสาร

เพราะมันทำให้สิ่งที่เรียกว่า วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) มีพลังและมีที่ยืนในพื้นที่สื่อกระแสหลัก (Mainstream media) มากขึ้น
แล้วในบรรดาเว็บไซต์ ประเภท Web 2.0 ยอดฮิต จำพวกสร้างเครือข่ายสังคม (Social network) เว็บ Twitter ซึ่งแปลเป็นไทยแบบบ้านๆ ว่า เสียงร้องจ๊อกแจ๊กของนก เป็นอีกตัวหนึ่งที่มาแรงเชื่อกันว่ามีผู้คนกว่า 6 ล้านคนทั่วโลกใช้บริการ Twitter อยู่ในขณะนี้

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ Twitter กันก่อนดีกว่านะครับ
Twitter จัดว่าเป็นเว็บให้บริการเขียน Blog ประเภทหนึ่ง แต่มันแตกต่างจากพวก Blogger.com หรือ Wordpress.com ตรงที่เว็บ Blog อื่นๆเขาไม่จำกัดพื้นที่การเขียนของสมาชิก คุณอยากโพสต์เขียนอะไรยาวแค่ไหนก็ได้

แต่ Twitter.com กำหนดให้สมาชิกโพสต์เขียนข้อความได้ครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษรเท่านั้น จะว่าไปแล้วมันเหมือนกับการคุณยิงส่งข้อความสั้นๆประเภท SMS เข้าโทรศัพท์มือถือคนอื่นนั่นแหละครับ ดังนั้นจึงเรียกบริการของ Twitter ว่าเป็น Micro-blogging service

ต้นกำเนิดของ Twitter เริ่มเมื่อปี 2549 โดย Jack Dorsey และกลุ่มเพื่อนวัย 30 เศษ พวกเขาเกิดปิ๊งไอเดียการส่งข้อความสั้นๆ ในหัวข้อคำถาม “คุณกำลังทำอะไรอยู่” กับเพื่อนฝูงและผู้ติดตามอ่าน Microblog มาจากการไปร่วมงานเทศกาลแสดงดนตรีเซาท์เวสต์ เมื่อเหล่าแฟนเพลงใช้รูปแบบการพูดคุย แสดงความคิดเห็นและนัดหมายระหว่างกันผ่านการสื่อสารในรูปแบบนี้

ไม่น่าเชื่อว่า รูปแบบการสื่อสารสั้นๆเช่นนี้จะมีอิทธิพลแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นักการตลาดหยิบฉวยใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง แม้กระทั่งนักการเมืองอย่างนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี จนตอนนี้ผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลก และเหล่านักการเมือง ดารา นักร้อง โฮโซ เซเลบฯทั้งหลาย อย่าง Ashton Kutcher, Oprah Winfrey ต่างกลัวตกเทรนด์รีบสมัครเป็นสมาชิกของ Twitter ส่งผลให้บรรดาแฟนๆสมัครตามกันเป็นทิวแถว เพื่อขอเป็นผู้ติดตาม (Follower) อ่านกิจกรรม ความคิดของเหล่าคนดัง

อิทธิพลของ Twitter กระจายไปทั่วโลก องค์กรระดับบิ๊กอย่าง สำนักงานอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือที่รู้จักดีในนามของนาซ่า ยังใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกระจายข่าวสาร หรือแม้กระทั่งรัฐบาลอังกฤษเองยังเตรียมแผนให้เยาวชนระดับประถมเรียนรู้และฝึกใช้งาน Social Network อย่าง Twitter ให้คล่องแคล่ว

แล้วเจ้า Twitter มันเกี่ยวข้องกับวงการข่าวอย่างไรหรือครับ...ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความฮิตของมัน แถมยังใช้งานได้ง่าย สามารถส่งและรับข้อความสั้นๆผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ

เชื่อไหมครับว่า ในช่วงปีสองปีมานี้ เหตุการณ์วิกฤติสำคัญๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยพิภัยธรรมชาติ หรือภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายล้วนถูกถ่ายทอดสดผ่าน Twitter ก่อนสื่อมวลชนกระแสหลักอื่นๆจะรายงานข่าวเสียอีก
ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การก่อการร้ายใหญ่ในเมืองมุมไบ ของประเทศอินเดีย มีผู้คนจำนวนมากอยู่ในเหตุการณ์ส่งข้อความสั้นๆผ่าน Twitter ของตนเองแล้วถูกนำไปถ่ายทอดกระจายต่อโดยเพื่อนฝูงและผู้ติดตาม Twitter ของพวกเขา

หรือกรณีเครื่องบินตกที่ Denver, Colorado ผู้โดยสารบนเครื่องบินยังสามารถกระหน่ำยิงข้อความสั้นๆ รายงานสดผ่าน Twitter ของตนเองเป็นชุดๆ ก่อนสื่อกระแสหลักจะหยิบฉวยไปนำเสนอข่าวสดผ่านทางจอโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์เสียอีก

แม้แต่ในประเทศไทย ช่วงวิกฤติทางการเมือง อย่างช่วงสงกรานต์แดงเดือดที่ผ่านมา Twitter กลายเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราว ข่าวสารต่างๆ

แน่นอนครับว่า ความน่าเชื่อถือของข่าวสารในลักษณะเช่นนี้ยังถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้อง แม่นยำของข้อมูล

เพราะหลายๆครั้งมันกลายเป็นช่องทางแพร่กระจายข่าวลือ ข่าวลวง อย่างเช่น ช่วงวิกฤติไข้หวัดใหญ่แม๊กซิโกระบาด Twitter ของผู้คนจำนวนมากกระจายข่าวผิดๆสร้างความตื่นตระหนักไปทั่วโลก

ความร้อนแรงของ Twitter เช่นนี้ ทำให้องค์กรสื่อ สำนักข่าวทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น CNN BBC ฯลฯ หยิบฉวยใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเช็คข่าวสาร ตรวจสอบกระแสความรู้สึก ความคิดเห็นของประชาชน และยังใช้เป็นช่องทางในการเผยกระจายข่าวของตนเองฟีด (Feed) ส่งข้อมูลข่าวผ่าน Twitter

ล่าสุดเมื่อ ต้นเดือนเมษายน 2552 หนังสือพิมพ์ระดับยักษ์อย่าง Guardian ประกาศตัวว่าเป็นเจ้าแรกที่กระโดดเข้าสู่ยุคใหม่ ในรูปโฉมของการรายงานข่าวผ่านทาง Twitter ทุกข่าว หลังจากหนังสือพิมพ์ Guardian ยืนหยัดในวงการสิ่งพิมพ์มาถึง 188 ปี Guardian เชื่อว่าทุกข่าวสามารถสรุปสั้นๆได้ภายใน 140 ตัวอักษร แล้วรายงานผ่านทาง Twitter

องค์กรสื่อในประเทศไทยเองก็เริ่มกระโดดเข้าสู่ Twitter เหมือนกันครับ แม้ว่าในตอนนี้จะแค่ Feed ส่งพาดหัวข่าว หรือเนื้อหาเล็กน้อยในส่วนของข่าวเด่นประเด็นร้อน แต่เชื่อว่าในอนาคต Twitter จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนข่าวจากสำนักข่าวต่างๆลงมาเล่นมากขึ้น

ไม่แน่นะครับ ในอนาคตอันใกล้ คณะนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ คงไม่เพียงแค่สอนนักศึกษาให้เขียนข่าวตามรูปแบบข่าวเดิมๆที่เห็นในหนังสือพิมพ์อย่างเดียวเท่านั้น

ต่อไปอาจจะต้องสอนให้นักข่าวรุ่นใหม่สามารถจับประเด็นและสรุปความให้ได้อย่างรวดเร็ว และอยู่ภายใน 140 ตัวอักษร

อืม...มันอาจจะเหมาะกับจริตของคนรุ่นใหม่ก็ได้นะครับ ที่ชอบอะไรสั้นๆ เร็วๆ แต่ไม่ลึกซึ้ง