หรือวารสารศาสตร์ตายแล้ว?



หรือวารสารศาสตร์ตายแล้ว?

โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

E-mail : dr.mana@hotmail.com

"หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ของเมืองไทย เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่  หรือเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะในสภาวะอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะถดถอยแล้วหรือยัง หาคำตอบได้จาก บทความนี้"

เมื่อปลายปีที่แล้ว MediaShift ซึ่งเป็น Blog คอยมอนิเตอร์ติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีสื่อดิจิตอลประเภทต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของ Public Broadcasting Service (PBS) ในสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งของนักศึกษาสาวสาขาวิชาวารสารศาสตร์แห่ง New York University (NYU) ชื่อ Alana Taylor ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “Old Thinking Permeates Major Journalism School”

เธอได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนของโรงเรียนสอนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ชั้นนำอย่าง  NYU ว่าล้าหลัง ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

Alana Taylor เขียนอย่างดุเดือดว่า รู้สึกผิดหวังที่เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เนื่องจากมุ่งหวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสื่อใหม่ (New Media) ซึ่งเป็นสื่อยุคดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาท มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่

เธออยากจะเรียนรู้ถึงความหมาย  ความสำคัญของสื่อดิจิตอล  รวมทั้งการประยุกต์ใช้เป็นแนวทางใหม่ๆในการรายงานข่าว  แต่ปรากฏว่าคณาจารย์ในหลักสูตรวารสารศาสตร์ยังพร่ำสอนแต่เรื่องเกี่ยวกับสื่อเก่า  อย่างสื่อหนังสือพิมพ์  นิตยสาร แม้ว่าจะมีการพูดถึงสื่อใหม่บ้างแต่ก็เพียงผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่ลึกซึ้งถ่องแท้

ตอนหนึ่งของรายงานเธอเขียนเอาไว้ว่า “...สิ่งที่น่าหลงใหล และเป็นเสน่ห์ของการเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อดิจิตอลนั่นก็คือ การมีอิสระเสรีในการตีพิมพ์เรื่องราวต่างๆ อิสระในการเป็นบรรณาธิการของตนเอง เป็นนักการตลาด และสร้างแบรนด์ด้วยตนเอง...

...แต่น่าประหลาดใจว่า  NYU กลับไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย ยังคงจมอยู่กับการสอนในแนวทางของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แบบดั่งเดิม...”

แม้แต่ในห้องเรียนวิชาการรายงานข่าวสำหรับคนรุ่นใหม่  (Reporting Generation Y) แทนที่จะให้นักศึกษาเรียนการเขียนรายงานข่าวผ่านทาง Blog หรือเขียนผ่านทางมือถือ หรือผ่านทางบริการ Microblog สุดฮิตของคนรุ่นใหม่อย่าง Twitter ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสื่อของคน Generation Y ทั้งสิ้น แต่อาจารย์กลับสอนการเขียนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบเก่าอย่างหนังสือ หรือนิตยสาร

งานเขียนชิ้นนี้สร้างความฮือฮา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขยายประเด็นต่อเนื่องตามมาทั้งในแวดวงการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์  รวมทั้งในชุมชนชาว Blog

เพราะงานเขียนของ Alana Taylor เสมือนจุดพลุแสดงความคลางแคลงใจของคนรุ่นใหม่ต่อการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ตามสถานการศึกษาชั้นนำของโลก

แล้วอะไรถึงทำให้คนรุ่นใหม่เมินเฉยต่อสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์  นิตยสารละครับ

ในบทความ “State of Blogosphere 2008” รวบรวมและรายงานโดย Technorati ระบุว่า ปัจจุบันผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มใช้เวลาในการเสพสื่อดั่งเดิม (Traditional Media) อย่างสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ลดน้อยลง แต่ใช้เวลาในการบริโภคสื่อใหม่มากขึ้น อาทิ อ่านข่าวสารความเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ หรืออ่านผ่าน Blog เป็นต้น โดยขณะนี้คนทั่วโลกมี Blog ส่วนตัวกันมากถึง 184 ล้านคน และมีคนอ่าน Blogเหล่านี้ จำนวน 346 ล้านคน

พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อแปรเปลี่ยนไปเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น Vin Crosbie ผู้บริหารของบริษัท Digital Deliverance ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของสื่อ ได้เขียนบทความชิ้นสำคัญเรื่อง “Transforming American Newspapers” ระบุว่า กว่าครึ่งของสื่อหนังสือพิมพ์รายวันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่มากมายถึง 1,439 ฉบับจะต้องถึงกาลอวสานไปภายในสิ้นทศวรรษหน้า

ถึงตอนนั้นจะเหลือเพียงสื่อยักษ์ระดับชาติอย่างเช่น USA Today, The New York Times และ The Wall Street Journal เท่านั้นที่อยู่รอด แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์เช่นปัจจุบัน หากแต่เป็นในรูปแบบของ Web และ E-Paper เท่านั้น

วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯในขณะนี้ย่อมเป็นตัวเร่งให้คำพยากรณ์ของ  Vin Crosbie ปรากฏผลเร็วขึ้น

อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยไม่ได้มีอนาคตดีกว่าของสหรัฐอเมริกาสักเท่าไหร่หรอกนะครับ  เนื่องด้วยต้นทุนค่ากระดาษพุ่งสูง กอปรกับรายรับจากโฆษณามีทิศทางลดน้อยถดถอยลงเรื่อยๆ หนังสือพิมพ์รายวันหลายแห่งในเมืองไทยกำลังใช้นโยบายรัดเข็มขัดกันจนหน้าเขียวกันถ้วนทั่ว หนังสือพิมพ์บางสำนักมีนโยบายให้พนักงานออกก่อนวัยเกษียณ บางแห่งจำต้องปลดหรือลดจำนวนพนักงาน ฯลฯ

แน่นอนครับ  ในสภาวการณ์เช่นนี้อัตราการรับสมัครบัณฑิตจบใหม่จากสาขาวิชาวารสารศาสตร์  เข้าสู่ตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ยิ่งมีน้อยนิด

พูดได้ว่าบัณฑิตใหม่จากสายวารสารศาสตร์จะต้องเป็นคนเก่งจริง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือมีเส้นสายดีเท่านั้นถึงสามารถหางานในแวดวงนี้ได้

คำถามที่ชวนคิดต่อคือ  แล้วหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ของเมืองไทยเรา เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่  หรือเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  โดย เฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะถดถอยแล้วหรือยัง

คำตอบซื่อสัตย์ต่อตนเองมากที่สุดคือ  ยังครับ ?!?

ย้อนหลังกลับไปมองหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเมืองไทย จะพบว่าการสอนวิชาหนังสือพิมพ์จัดว่าเป็นหลักสูตรแรกของสายวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ โดยถือกำเนิดขึ้นในยุคของจอมพลป. พิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยแรกที่เปิดสอนหลักสูตรหนังสือพิมพ์คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2482

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องคือการผลิตบัณฑิตป้อนสู่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร  วารสาร ฯลฯ

แต่ปรากฏการณ์ของวันนี้คือ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กำลังมีปัญหา  สื่อใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างออกไปจากสื่อดั่งเดิมกำลังครอบงำผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้หลักสูตรด้านวารสารศาสตร์จำต้องปรับตัว

เพราะหากปล่อยให้หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์เป็นเช่นเดิม  นอกจากจะไม่มีเด็กรุ่นใหม่สนใจเข้ามาเรียนรู้แล้ว  มิหนำซ้ำบัณฑิตที่เรียนจบออกไปจากสาขาวิชานี้ยังไม่มีโอกาสได้นำวิชาความรู้ก้าวสู่วิชาชีพอย่างตรงสาขา

แล้วควรจะปรับหลักสูตรอย่างไรดีละครับ

แค่เพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อใหม่ อย่างสื่ออินเทอร์เนต การทำเวบไซด์ หรือเพิ่มวิชารายงานข่าวออนไลน์เข้าไปในหลักสูตร แล้วยังใช้รูปแบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับนำเสนอ การเขียน การรายงานข่าวแบบดั่งเดิมเพื่อหวังป้อนบัณฑิตเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งปรับตัวจากสื่อกระดาษเป็นสื่อดิจิตอลเท่านั้นคงไม่เพียงพอ

หลักสูตรวิชาวารสารศาสตร์ยุค 2.0 จำต้องสอนให้นักศึกษาสามารถใช้สื่อใหม่ในการแสดงความคิดเห็น  รายงานข่าว บอกเล่าปรากฏการณ์ที่นักศึกษาพบเจอได้อย่างเป็นอิสระ สอดคล้องต่อธรรมชาติของสื่อดิจิตอล

นักวารสารศาสตร์ยุคใหม่จำต้องสามารถเขียนเรื่องราวต่างๆได้อย่างสั้น กระชับ ได้ใจความ สามารถถ่ายรูป  ถ่ายคลิป อัพไฟล์รูป ไฟล์เสียงได้อย่างรวดเร็ว เพราะในโลกของสื่อใหม่นั้นได้ผนวก หลอมรวม (Convergence) จุดเด่นของสื่ออันหลากหลายเข้าด้วยกันแล้ว

และที่สำคัญเหนือกว่าการเรียนการสอนด้านเทคนิค  คือการสอนเรื่องของหลักคิด  มุมมอง ต่อตนเอง ต่อสังคมและโลก เพื่อให้นักวารสารศาสตร์รุ่นใหม่สามารถวิเคราะห์ และนำเสนอเรื่องราวต่างๆได้อย่างมีเอกลักษณ์

ถึงตรงนี้ แม้ว่าบัณฑิตสาขาวารสารศาสตร์จะไม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ  แต่พวกเขาก็สามารถผลิตสื่อ  บอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ด้วยตนเอง

ใช่แล้วครับ หลักสูตรวิชาวารสารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องผลิตแต่นักข่าว/นักวารสารศาสตร์มืออาชีพ  (Professional    Journalist) อย่างเดิมเท่านั้น

หากแต่ควรหันมาผลิตและสร้างคุณภาพของนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) อีกประการหนึ่งด้วย

ไม่เช่นนั้น การเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ของไทยก็ไม่ต่างกับคนป่วยโคม่ารอวันตายเท่านั้น