วันที่ 20 พ.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2564 หัวข้อ "เล่า(แชร์)เรื่องราวการทำข่าวโควิดด้วย Data J ผ่านกรณีศึกษา โดยมีอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The Matter อรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการข่าว ThaiPBS (The Active) และนพพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารข่าว WorkpointToday เป็นวิทยากรผู้บรรยาย
เริ่มที่พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The Matter กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดจากข้อมูลที่เปิดผ่าน ศบค. ผ่านการปรุงแต่งมาค่อนข้างมาก โดยเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2564 เริ่มมีวิกฤติเรื่องเตียง มีผู้เสียชีวิต แต่ขณะนั้นยังไม่มีเรื่องการฉีดวัคซีน จึงนำข้อมูลจาก ศบค.มารวบรวม โดยตั้งต้นจากประเด็นในสมมติฐานว่า จะนำเสนอข้อมูลอะไร นอกจากนี้ การคิดวิธีนำเสนอสวยๆ ยังต้องเน้นเรื่องการหาข่าว วิธีการตั้งประเด็น การตั้งสมมติฐาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยนำข้อมูลมาจากหน่วยงาน เพื่อเป็นหลังพิงว่าเรานำข้อมูลจากหน่งยงานรัฐมายืนยัน ส่วนข้อมูลที่ได้มาจะเชื่อได้หรือไม่นั้น เรารู้ว่ารัฐมี Agenda การให้ข้อมูลตลอด ทำให้เราก็ต้องประเมินว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน
"สำหรับเรื่อง Data J นักข่าวแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีแหล่งข่าวไม่เหมือนกัน เพราะข้อมูลในเมืองไทยให้มาน้อยและจำกัด แต่บางอย่างก็ได้ประเด็นมาจากการแถลงข่าว เราก็จากตั้งประเด็นตรงนั้น หรือการได้เข้าใจประเด็นมาก่อนแล้วไปหาข้อมูลมาทำเพิ่มได้"พงศ์พิพัฒน์ ระบุ
ด้านอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า เราจะให้ความสำคัญกับความสวยงามของกราฟิคมากกว่าการหาประเด็น ที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์จะเป็นพยายามเล่าเรื่องข้อมูลให้เข้าใจง่าย ส่วนการจัดการข้อมูลก็มีงานหลายรูปแบบ ซึ่งในสถานการณ์โควิดไทยรัฐออนไลน์ได้บันทักตัวเลขผู้ติดเชื้อผ่านวิธีการเล่าเรื่อง การใช้สี การเปลี่ยนเลย์เอาท์ในการนำเสนอ โดยไทยรัฐออนไลน์จะทำข้อมูลว่าฉีดวัคซีนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และตามดูข้อมูลหน่วยงานที่รายงานออกมา เพื่อจัดการข้อมูลในแต่ละวัน ส่วน Data J เราได้ค้นข้อมูลเพื่อนำตัวเลขมาจัดเรียง เพราะคนอ่านสนใจเรื่อวัคซีนโควิด และใช้เวลาอ่านค่อนข้างมาก
"ทีมข่าวไปตั้งต้นข้อมูลแล้วหาวิธีเล่าเรื่อง ให้คนเข้าใจง่ายขึ้นในเชิง Data Driven แต่ที่ผ่านมามีปัญหาการหาข้อมูล ตั้งแต่การจัดการวัคซีนของรัฐบาล ไปจนถึงสถานการณ์เชื้อโควิดกลายพันธ์ จึงต้องออกแบบข้อมูลให้คนอ่านได้เห็น โดยดูจากจำนวนวัคซีนที่นำเข้ามามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่ง Data J คือการทำข่าวด้วยข้อมูล อาทิ ประเทศไทยได้เข้าไปโครงการ Covax หรือไม่ จึงไปค้นอ่านสัญญาก็พบว่าประเทศไทยไม่เข้าร่วม แต่คิดว่าแบบนี้ก็เป็น Data J ได้ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องตัวเลข"อรพิณ ระบุ
อมรพิณ กล่าวต่อว่า ในไทยรัฐออนไลน์มีนโยยายให้ทำงานแบบไม่ใช่แนวเดิมๆ ซึ่งเรื่อง Data J ก็เป็นหนึ่งในแนวนโยบายนั้น แต่หัวใจสำคัญของงานดาต้าไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ต้องสวย แต่คือวิธีการทำงานได้มาซึ่งข้อมูล และคนทำข่าวต้องเป็นเชิงรุก โดยต้องตั้งประเด็นเองแล้วไปอยู่กับข้อมูลตรงนั้นอย่างใช้เวลา
ด้านอรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการข่าว ThaiPBS (The Active) กล่าวว่า The Active เน้นออนไลน์ แต่จริงๆ ก็มีทีมงานทำออนแอร์และออนไลน์ หรือร่วมทำกับพาร์ทเนอร์ ในโดยช่วงโควิดระบาดในประเทศไทย ก็เป็นช่วงที่ The Active ตั้งต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าการสื่อสารค่อนข้างสับสน จึงตั้งต้นงานชิ้นแรกว่า คนติดเชื้อมาจากที่ไหน หรือชาติอะไร โดยต้องย้อนไปฟังคำแถลงในขณะนั้นว่าพบการติดเชื้อในครอบครัว จากนั้นเมื่อเผยแพร่ในออนไลน์รู้ได้ว่า คนอ่านชื่นชอบกับชุดข้อมูลที่เรามาเปิดเผย หรือกรณีการแพร่ระบาดที่ จ.สมุทรสาครก็มีผู้มาติดตามในเว็ปไซต์เป็นจำนวนมาก
อรุชิตา กล่าวอีกว่า เรื่อง Data J นักข่าวบางคนสามารถทำข้อมูลได้ และพยายามเรียนรู้และท้าทายข้อจำกัด ส่วนทีมงาน The Active ก็เริ่มต้นจาก Data เล็กๆ ค่อยๆ พิสูจน์ออกมา เพราะเชื่อว่าเทรนด์ข่าวการทำ Data J จะไม่หายไป ส่วนเรื่องข้อมูลในต่างประเทศถือว่ามีชุดข้อมูลเปิดจำนวนมาก แต่ทำไมของประเทศไทยไม่มีข้อมูลเหล่านี้ จอยากให้มีการไปกดดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ
ขณะที่นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารข่าว WorkpointToday กล่าวว่า สำหรับสถานการ์โควิดตั้งแต่ เดือน มี.ค.2563 เราพยายามรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไปแล้วเท่าไหร่ และสถานการณ์จะไปอย่างไรจากการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทางทีมจึงมีตัวเลขเปรียบเทียบผู้ติดเชื้อกับต่างประเทศในช่วงโควิดระบาดระลอกแรก โดยพยายามทำลูกเล่นในแดชบอร์ดของโควิดให้ครบในที่เดียวกัน ทั้งนี้ งานเรื่อง Data อยากให้ อยากให้ภารรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้นและเปิดข้อมูลให้ง่ายขึ้น เพราะถ้าสุดท้ายข้อมูลเปิดเผยออกมาได้ ก็เชื่อว่ารัฐบาลก็อยากเห็นความโปร่งใส หากมีปัญหาตรงไหนก็ไปแก้หน่วยงานนั้นได้
"ที่พวกเราทำอยู่ยังมีอีกเยอะมากที่ต่างประเทศทำได้ และคนในสื่อสารมวลชนก็ทำได้ แต่รัฐบาลต้องเปิดข้อมูลให้มากกว่านี้ เพราะงานด้านนี้คือเทคนิคการนำเสนอ แต่จุดหลักคือการมีข้อมูลเยอะเท่าไหร่เป็นเรื่องยิ่งดี"นพพัฒน์จักษ์ ระบุ
ด้านอินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล ผู้สื่อข่าว WorkpointToday กล่าวว่า ในเรื่องที่ไทยตกขบวน Covax ก็ไปตรวจพบว่าทุกประเทศในอาเซียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลออกมาตอบโต้ว่าข้อมูลเราผิดหรือไม่ แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนสนใจ
สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนมุมมองเชิงวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อมวลชน การจัดการองค์ความรู้สื่อมวลชนในสถานการ์โควิด-19 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสื่อ และกระบวนการผลิตสื่อวารสารศาสตร์ทำให้ สถาบันการศึกษา และสมาคมวิชาชีพวารสารศาสตร์ ที่เป็นองค์กรบ่มเพาะนักวารสารศาสตร์จำเป็นต้องนำมาพิจารณา ปรับปรุง และประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพวารสารศาสตร์แห่งอนาคต