Citizen Journalism…วารสารศาสตร์พลเมือง (2)

ตอนที่แล้วผมได้เล่าถึง ความหมายและความสำคัญของวารสารศาสตร์ยุคใหม่...วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) ซึ่งพลิกโฉมของคนรับสื่อ ทั้งคนอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ รับฟังทางวิทยุ หรือดูทางโทรทัศน์

 

 

Citizen Journalism...วารสารศาสตร์พลเมือง (2)

โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

E-mail : dr.mana@hotmail.com

Twitter: http://twitter.com/dr_mana

 

ตอนที่แล้วผมได้เล่าถึง ความหมายและความสำคัญของวารสารศาสตร์ยุคใหม่...วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) ซึ่งพลิกโฉมของคนรับสื่อ ทั้งคนอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ รับฟังทางวิทยุ หรือดูทางโทรทัศน์

จากเดิมเป็นผู้นั่งอยู่เฉยๆ รอรับข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการกลั่นกรอง คัดเลือกจากนักข่าวหรือกองบรรณาธิการข่าว กลายสภาพเป็นผู้ที่สามารถเขียนหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เปิดประเด็นข่าว รวมทั้งแสดงความคิดเห็นกลับไปยังสื่อหรือส่งสารไปถึงนักข่าว ขณะเดียวกันยังสามารถส่งข้อมูลข่าวสารไปยังสาธารณชน (Public) หรือชุมชน (Community) ได้ร่วมรับรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอีกด้วย

หรืออีกนัยหนึ่งคือ  เปลี่ยนสภาพจากคนอ่านข่าว ฟังข่าว ดูข่าว เป็นนักข่าว นักวิเคราะห์ วิจารณ์เสียเอง

ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของแวดวงสื่อสารมวลชนทั่วโลก

ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก (Mainstream media) หรือ สื่อทางเลือก (Alternative Media) ล้วนเต็มใจกระโจนเข้าสู่กระแสวารสารศาสตร์ยุค 2.0 นี้กันทั้งสิ้น

สื่อกระแสหลักระดับพี่เบิ้ม อย่าง Yahoo, Reuters, CNN, BBC ฯลฯ ต่างพร้อมใจกันเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้กับประชาชน-พลเมืองผู้กระตือรือร้นได้ส่งข่าวสาร ข้อมูล ความคิดเห็นของตน

อย่างเวบข่าวของ Yahoo ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเวบสำนักข่าว Reuters เปิดเวทีให้กับ นักข่าวพลเรือนได้แสดงฝีมือในส่วนของ You Witness News

ผู้สนใจลองคลิ๊กเข้าไปได้ที่ http://news.yahoo.com/you-witness-news

ตรงส่วนนี้ คู่หูดูโอ Yahoo และ Reuters ทำหน้าที่เหมือนโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวแล้วให้นักข่าวอิสระจากทั่วโลกส่งเรื่องราว ภาพข่าว คลิปวีดีโอข่าวมาให้ หลังจากนั้นโต๊ะข่าวจะทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบก่อนนำเผยแพร่ในเวบ

สำหรับ CNN ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านส่งข่าว ส่งรูปถ่าย วีดีโอ เข้ามาให้เช่นกัน โดยเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า iReport

สนใจเปิดเข้าไปดูได้ที่ http://edition.cnn.com/ireport/

CNN ได้ประเดิมโครงการวารสารศาสตร์พลเมือง เฟสแรกเมื่อสิงหาคม 2549 วันแรกมีคนส่งข่าวให้เพียง 13 เรื่องเท่านั้น

แต่ต่อมาความแรงของ iReport ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะชาวอเมริกันเมื่อพบกับเหตุภัยพิบัติใดๆ หรือเกิดเหตุร้าย เหตุด่วน อาชญากรรมตรงหน้า พวกเขาจะไม่รีรอที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องวีดีโอขึ้นมาเก็บภาพดังกล่าวแล้วรีบวิ่งหาคอมพิวเตอร์ อัพโหลดภาพเหตุการณ์ข่าวนั้นๆ พร้อมเขียนข่าวส่งให้ CNN

อย่างเช่นเหตุการณ์เด็กวัยรุ่นชาวเกาหลีใต้สังหารหมู่เพื่อนนักศึกษาใน Virginia Tech เมื่อเดือนเมษายน 2550

ในขณะที่นักข่าวมืออาชีพยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ แต่มีนักศึกษาคนหนึ่งชื่อ Jamal Albarghouti ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพข่าวด้วยกล้องในโทรศัพท์มือถือแล้วส่งมาให้ iReport

แม้ว่าในคลิปวีดีโอนี้จะไม่เห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เพราะถ่ายจากนอกอาคารเกิดเหตุ แต่เสียงปืนที่ดังลั่นยี่สิบกว่านัดทำให้คนดูจิตนาการความโหดร้ายในนั้นได้อย่างชัดเจน

แน่นอนครับว่า หลังจากส่งไปยังเวบ iReport เครือข่ายของเคเบิลทีวีข่าว CNN ต้องรีบนำคลิปวีดีโอข่าวของนักศึกษาคนนี้ยิงขึ้นจอทีวีถ่ายทอดสดออกทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หลังจากนั้นปรากฏการณ์สะพาน Minneapolis พัง เหตุการณ์ไฟป่า หรือพายุทอนาโดถล่มในสหรัฐอเมริกา ฯลฯ CNN ล้วนได้คลิปวีดีโอเด็ดๆใหม่สดจากสถานที่จริง ด้วยฝีมือของนักข่าวพลเมือง

ต่อมาเมื่อพฤศจิกายน 2550 CNN ได้ตัดสินใจทำ iReport ใน Second Life ซึ่งเป็นโปรแกรมโลกเสมือนจริง (the virtual world) สุดฮิต เปิดโอกาสให้พลเมืองใน Second Life นำเสนอข่าวสารความเป็นไปในโลกเสมือนแห่งนี้

พูดง่ายๆคือ ให้คนเล่น Second Life เป็นนักข่าวพลเมือง คอยรายงานข่าวเกี่ยวกับ Second Life นั่นเอง

ส่วน BBC ก็ไม่ยอมน้อยหน้าครับ เปิดโอกาสให้คนเสพข่าวสารของเขาเป็นผู้ส่งข่าวสารให้กับ BBC ด้วยเช่นกัน ที่ฮือฮามากที่สุดน่าจะเป็นภาพการลอบวางระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดิน กรุงลอนดอน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548

ตอนนั้นนักข่าวมืออาชีพทุกสำนักข่าวเข้าไม่ถึงจุดเกิดเหตุ แต่ผู้ประสบเหตุในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินใช้โทรศัพท์มือถือของตนถ่ายภาพเก็บเหตุการณ์เอาไว้ ทั้งภาพนิ่งและคลิปวีดีโอถูกทยอยนำออกมาเผยแพร่ผ่าน BBC

ภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงพลังของนักข่าวแบบบ้านๆ ผู้ซึ่งไม่ได้ผ่านการอบรมทักษะวิชาชีพด้านนักข่าวจากสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ รวมทั้งไม่ได้ผ่านการเคี่ยวบ่มจากโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวของสำนักข่าวใดสำนักข่าวหนึ่ง

นั่นเป็นปรากฏการณ์ของสำนักข่าวและเครือข่ายสื่อสารมวลชนระดับโลก แล้วเมืองไทยละครับ

ในเมืองไทย สื่อหลายๆแห่งเริ่มขยับตัวต้อนรับกระแสวารสารศาสตร์พลเมืองเหมือนกัน แต่ที่ออกตัวแรงสุด น่าจะเป็นค่ายเนชั่น

ทั้งนี้เพราะหัวเรือใหญ่อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น ออกมาชักธง”นักข่าวพลเมือง” เดินลุยสั่งนักข่าว คอลัมนิสต์ในสังกัดเขียน Blog ใน http://www.oknation.net

พร้อมทั้งนั้นยังเชื้อเชิญคนอ่านมาร่วมเป็นนักข่าวพลเมือง ซึ่งทางค่ายเนชั่นเรียกขานว่า “นักข่าวอาสา” นำเสนอเรื่องราวข่าวสารใน Blog ของค่ายเนชั่น โดยยึดสโลแกน “ทุกคนเป็นนักข่าวได้”

เชื่อไหมครับว่า ข่าวหลายชิ้นของผู้สื่อข่าวพลเมืองในสังกัดของค่ายเนชั่นถูกหยิบยกมาขยายผลต่อเนื่องในสื่อกระแสหลักอื่นๆ อาทิเรื่องหมอกควันพิษที่จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องปัญหาวุฒิการศึกษาของรัฐมนตรีผู้อ้างว่าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศฟิลิปินส์ ฯลฯ

กระแสนักข่าวพลเมืองปลุกให้ Blog ของค่ายเนชั่นมีชีวิตชีวา และมีลูกค้าติดตามมาไม่น้อย

ส่วนค่ายพี่ใหญ่แห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างไทยรัฐ ครั้งหนึ่งก็เคยขยับตัวตามกระแสวารสารศาสตร์พลเมืองเช่นกัน เพียงแต่ไทยรัฐไปจับกลุ่มเป้าหมายที่นิสิต นักศึกษา ด้วยการทำโครงการไทยรัฐ-กระปุก รีพอร์เตอร์ อันเป็นการร่วมมือกันระหว่างเวบไทยรัฐออนไลน์กับเวบไซด์กระปุกดอทคอท เวบไซด์วัยรุ่นยอดฮิตของเมืองไทย

โครงการนี้ไปรับสมัครนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ หลังจากนั้นคัดเลือกเหลือเด็กนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปฝึกอบรมการทำข่าวส่งเวบไทยรัฐ แล้วปล่อยให้เยาวชนเหล่านี้กลับไปสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นนักข่าวส่งข่าวเกี่ยวกับรอบรั้วมหาวิทยาลัยมาให้เวบไทยรัฐ โดยมีหัวหน้าข่าวของโต๊ะข่าวไทยรัฐออนไลน์เป็นผู้กลั่นกรอง ขัดเกลาภาษาอีกครั้งหนึ่ง

แต่น่าเสียดายที่โครงการของไทยรัฐกลับเงียบหายไป ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ

ทีนี้มามองทางด้านสถานีโทรทัศน์ของไทยกันบ้าง เดี๋ยวนี้โทรทัศน์หลายแห่ง โดยเฉพาะทีวีสาธารณะ ThaiPBS ได้หันมาสนใจเกี่ยวกับนักข่าวพลเมือง ด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถส่งข่าวเข้ามายังสถานีโทรทัศน์ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่เปิดรับข่าวเฉพาะจากนักข่าวสติ๊งเกอร์ หรือนักข่าวท้องถิ่นเฉพาะกิจของตนเองเท่านั้น

นอกจากนั้น ทาง ThaiPBS ยังจัดโครงการฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ด้วยหวังจะมีข่าวสดจากท้องถิ่น อันเป็นเรื่องราวและเสียงจากชาวบ้านตัวจริง พร้อมทั้งให้เวลาในการออกอากาศอีกด้วย

ส่วนสื่อวิทยุ ต้องถือว่าเป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้กับนักข่าวพลเมืองก่อนสื่อประเภทอื่นๆในสังคมไทย เพราะการเกิดขึ้นของวิทยุ จส.100 วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ฯลฯ ก็อิงมาจากการดึงความร่วมมือของผู้ฟังให้ช่วยรายงานข่าวสารการจราจร รายงานข่าวความทุกข์ร้อน ฯลฯ

แต่การรายงานข่าวของชาวบ้านในสื่อวิทยุกระแสหลักมักจะอนุญาตให้ออกอากาศได้เฉพาะที่พูดระบายถึงปัญหาแบบผิวเผิน ประเภท รถติด ไฟไหม้ ของแพง ฯลฯ ชาวบ้านไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง การคอรัปชั่น การรีดไถ ของนักการเมือง หรือข้าราชการไทย

ครับ...นี่คือเรื่องราวของสื่อกระแสหลักที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์”วารสารศาสตร์พลเมือง” แต่ปัญหาคือ สื่อกระแสหลักเหล่านี้ถึงที่สุดก็ยังไม่ไว้ใจชาวบ้าน ซึ่งแปลงบทบาทมาเป็นนักข่าวอยู่ดี

ด้วยสื่อกระแสหลักมองว่า คนเหล่านี้ขาดทักษะการทำข่าวอย่างมืออาชีพ

นั่นคือ ขาดความเป็นกลางในการนำเสนอเรื่องราว ข่าวสาร ขาดความสมดุลของข่าว ขาดเทคนิคในการนำเสนอเรื่องราวข่าวให้น่าสนใจ

ดังนั้น สิ่งที่สื่อกระแสหลักทำจึงเป็นการมุ่งเน้นเรื่องฝึกอบรมให้ชาวบ้านหรือผู้สวมบทบาทนักข่าวพลเมืองมีทักษะในการทำข่าวแบบมืออาชีพ หรือไม่ก็ใช้วิธีให้นักข่าวพลเมืองส่งเรื่องราวข่าวสาร ภาพ คลิปวีดีโอมายังโต๊ะข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าว เพื่อให้นักข่าวมืออาชีพกลั่นกรอง เซ็นเซอร์ ตรวจสอบ ดัดแปลงให้ข่าวชิ้นนั้นมีคุณค่าข่าวก่อนนำเสนอออกไปผ่านสื่อกระแสหลัก

นั่นแหละครับ ทำให้นักข่าวพลเมืองจำนวนหนึ่งรู้สึกอึดอัด และมองหาแหล่งระบายข่าวสารของข้อมูลตน โดยมีอิสระไม่ขึ้นตรงกับสำนักข่าว หรือเครือข่ายของสื่อกระแสหลัก