12 มีค.53-เฝ้าระวังการรายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์การชุมนุมกลุ่งนปช.


จากเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่จะจัดชุมนุมในช่วงวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2553 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ก่อให้กระแสความตื่นตัวในสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความขัดแย้งและความรุนแรงนี้ ผู้คนในสังคมต่างจับตาการทำหน้าที่ของสื่อว่าจะสามารถเป็นไปอย่างมีจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพได้หรือไม่ อีกทั้งการรายงานข่าวนั้นมีส่วนช่วยลดหรือขยายความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นหรือไม่อย่างไร
โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) ทำหน้าที่การเฝ้าระวังการรายงานข่าวของสื่อในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 (สมัยกลุ่มพันธมิตรฯ) จนรัฐบาลปัจจุบัน เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางการเมือง สังคมและสื่อมวลชน โครงการฯ พิจารณาแล้ว จึงจะเฝ้าระวังการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม ใน 10 ช่องสถานีโทรทัศน์ตลอด 24 ชั่วโมง (ได้แก่ ฟรีทีวี 6 ช่อง คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11, ทีวีไทย, และ เคเบิ้ลทีวีหรือทีวีผ่านดาวเทียมอีก 4 ช่องคือ เนชั่นชาแนล, เอเอสทีวี, ทีเอ็นเอ็น และ ดีสเตชั่น) ว่ามีลักษณะเนื้อหาข่าวเช่นไร

ผลการศึกษา เปรียบเทียบในระดับภาพรวม (ของวันที่ 12 มีนาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 00.00-16.00 น.) ดังนี้
1. การให้พื้นที่ข่าว พบว่า โดยรวมสื่อโทรทัศน์ทุกช่องสถานี ให้พื้นที่ข่าวการชุมนุมเป็นข่าวหลักในทุกช่วงข่าว และให้สัดส่วนพื้นที่ข่าวมากกว่าปกติ ช่องที่ให้พื้นที่ข่าวค่อนข้างน้อยได้แก่ช่อง 5 และช่อง 7
2. ประเด็นข่าว พบว่า โดยรวมเน้นประเด็นเหตุการณ์-สถานการณ์/บรรยากาศ/ความพร้อมของกลุ่มผู้ชุมนุม ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศและในกรุงเทพ เน้นใช้ภาพถ่ายทอดจำนวนผู้ชุมนุม ขณะที่หากเป็นการสอบถามความคิดเห็นก็จะเน้นประเด็นเรื่องมาตรการการตั้งรับสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และความเห็นทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล
ค่อนข้างขาดรายงานพิเศษ – บทวิเคราะห์ทางการเมือง ผลกระทบทางการเมือง-สังคม วัฒนธรรม แต่จะเน้นประเด็นข่าวเหตุการณ์/บรรยากาศ
3. แหล่งข่าว ส่วนมากข่าวเน้นบรรยากาศ/เหตุการณ์การเดินทางมาชุมนุม มีการใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดจากกองบังคับบัญชาตำรวจนครบาล (บก.02) ประกอบการรายงานข่าว เน้นเฝ้าระวังเหตุการณ์และรายการงานสภาพการจราจรตามจุดต่างๆ และแหล่งข่าวฝ่ายแกนนำ แต่ไม่มากและไม่เด่นชัด
โดยมากเป็นการรายงานโดยผู้สื่อข่าวภาคสนาม และเน้นสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร รัฐมนตรี นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล
4. การใช้ภาพข่าว ส่วนมากเป็นภาพบรรยากาศการรวมตัวของผู้ชุมนุม กิจกรรมการตั้งขบวน พิธีกรรมของผู้ชุมนุม การเดินทาง การตรวจค้นผ่านด่าน ณ จุดต่างๆ โดยใช้ภาพจากผู้สื่อข่าวภาคสนามและภาพกล้องจรปิด ขณะที่ช่องเอเอสทีวีมีการปล่อยสกู๊ปพิเศษเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงการชุมนุมเดือนเมษายน 2552
ภาพข่าวที่สื่อนำเสนอ อาจมุ่งเน้นไปที่การสื่อความหมายในเชิงความรุนแรง (ภาพกองกำลังตำรวจและภาพกลุ่มผู้ชุมนุมในลักษณะการเตรียมความพร้อมการปะทะ
5. การใช้ภาษาข่าว โดยรวมพบว่าใช้ภาษาค่อนข้างสุภาพ ปลอดอคติ และการแสดงความคิดเห็น

ผลการศึกษา สรุปแยกรายช่อง ดังนี้
ช่อง 3 :
รายการข่าวในช่วงผังข่าวปกติ เน้นเกาะติดสถานการณ์การเดินทางเพื่อเข้าร่วมการชุมนุมในเส้นทางสายต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน รวมถึงจำนวนผู้ชุมนุม การรวมตัวของผู้ชุมนุมตามจุดสำคัญในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล สำหรับแหล่งข้อมูลสำคัญที่ใช้มักมาจากฝั่งรัฐบาล ขณะที่ข้อมูลจากกลุ่มผู้ชุมนุมจะเน้นการสรุปเหตุการณ์โดยผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าวภาคสนามแทน
เน้นประเด็นข่าวมาตรการของรัฐในการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม การตรวจค้นอาวุธ อุปกรณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง เส้นทางการจราจรในกรุงเทพฯ วิถีชีวิต ผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องหรือความคิดเห็นอื่นๆ จากผู้ชุมนุมมากนัก อีกทั้งพบว่าทิศทางการรายงานข่าวนั้นมุ่งนำเสนอทิศทางหรือเหตุการณ์ในประเด็นการรุก-รับของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลัก

ช่อง 5 : นำเสนอข่าวตามผังปกติ สลับกับการรายงานสดสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น และรายงานข่าวการชุมนุมในช่วงรายการข่าว เน้นประเด็นข่าว เรื่อง การเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในแต่ละจุด (การเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่ต่างๆ) สภาพการจราจร บริเวณต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และประเด็นการเตรียมตัวรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พื้นที่ข่าวมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยกว่าช่องอื่นอย่างเห็นได้ชัด
เน้นการรายงานสดจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามายังห้องส่ง เช่น อนุสาวรีย์หลักสี่ วงเวียนใหญ่ วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ด้านผู้ดำเนินรายการ, ผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าว ส่วนใหญ่รายงานตามข้อเท็จจริง ไม่ใส่อารมณ์ และความคิดเห็นขณะรายงานข่าว ด้วยลีลาภาษาแบบผู้ประกาศข่าว ไม่พบคำพูดที่ไม่สุภาพ คำพูดยั่วยุ หรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง

ช่อง 7 : พื้นที่ข่าวค่อนข้างน้อย แต่เด่นในช่วงรายงานพิเศษ เน้นสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้น
มีการรายงานสดแทรกในรายการปกติ (ภาพยนตร์เกาหลีและถ่ายทอดสดการแข่งขันชกมวย) ใช้ชื่อรายการว่า “รายการเกาะติด สถานการณ์ชุมนุมเสื้อแดง” เน้น 3 ประเด็นข่าว คือ ประเด็นการเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในแต่ละจุด ประเด็นสภาพปัญหาการจราจร บริเวณต่างๆ และประเด็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ด้านผู้ดำเนินรายการ, ผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าว ส่วนใหญ่รายงานตามข้อเท็จจริง ไม่ใส่อารมณ์ และความคิดเห็นขณะรายงานข่าว ด้วยลีลาภาษาแบบผู้ประกาศข่าว ไม่พบคำพูดที่ไม่สุภาพ คำพูดยั่วยุ หรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง, มีการแนะนำและให้ความรู้กับประชาชนเพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและรักษาความเป็นกลาง

ช่อง 9 : ให้พื้นที่ข่าวค่อนข้างมาก นำเสนอในทุกช่วงข่าวและเป็นข่าวสำคัญของทุกช่วง มีข่าวต้นชั่วโมงบ่อยและถี่มากกว่าช่องอื่นๆ เน้นประเด็น บรรยากาศการแถลงการณ์ชุมนุม รัฐคุมเข้ม การเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในแต่ละจุด สภาพการจราจร การตั้งด่านตรวจตรา ณ จุด บริเวณต่างๆ
เพิ่มการรายงานความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด ภาคเหนือ  จ.เชียงใหม่ และ จ.นครสวรรค์, ภาคอีสาน จ.ศรีสะเกษ, ภาคใต้ จ.สงขลา และภาคกลาง จ.นนทบุรี
การใช้ภาษาข่าวของผู้ประกาศข่าว ค่อนข้างสุภาพ ปลอดอคติ ความคิดเห็น รายงานตามข้อเท็จจริง ไม่ใส่อารมณ์/ความคิดเห็นขณะรายงานข่าว ไม่พบ คำพูดยั่วยุ หรือส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง, มีการแนะนำและให้ความรู้กับประชาชนเพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ ส่วนรายการคุยโขมงบ่าย 3 โมง พิธีกรชายใส่อารมณ์ขณะรายงานข่าว แต่ไม่ได้รายงานผิดไปจากข้อเท็จจริง

ช่อง 11 : ให้พื้นที่ข่าวในระดับกลาง รายงานข่าวในช่วงผังข่าวปกติ มีเพลงรณรงค์สันติภาพในช่วงข่าว เน้นการรายงานเรื่องสภาพการจราจร ณ จุดต่างๆ ให้รายละเอียดเรื่องความคืบหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุมตามจุดต่างๆ ให้ความสำคัญกับทั้งสองฝ่าย มีการเสนอภาพกราฟฟิกผลโพลล์สำรวจ และหน่วยงานที่สามารถสอบถามปัญหาการจราจร หลายๆ ช่วง ทั้งการรายงานโพลล์จากกรุงเทพฯ โพลล์ และภาพกราฟฟิกศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ในพื้นที่ 10 จุด มี Vox Pop ของประชาชนที่ไม่สนับสนุนการชุมนุม ผู้ประกาศรายงานข่าวอย่างสุภาพ
เน้นการสัมภาษณ์เรื่อง การชุมนุมอย่างสันติวิธี จากนักวิชาการมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แทรกด้วยรายงานสดทางโทรศัพท์จากผู้สื่อข่าวในพื้นที่รวมทั้งประชาสัมพันธ์ของจังหวัดสมุทรปราการที่รายงานความคืบหน้าการชุมนุมตั้งแต่ต้น แต่การรายงานค่อนข้างใช้คำที่ให้ภาพลบกับฝั่งผู้ชุมนุม เช่น ออกมากล่าวปราศรัยว่า “ที่ออกมาชุมนุมเท่านี้แค่น้ำจิ้มนะ วันที่ 14 จะทำให้รัฐบาลหวั่นไหวมากกว่านี้” หรือผู้ชุมนุมออกมาส่งเสียงเชียร์เสียงดัง และยังทำให้รถติดยาวเหยียดหลายสิบกิโล นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดเรื่องเส้นทางการเดินทางต่างๆทั้งทางรถ และทางเรือด้วย พิธีกรในรายการไม่ค่อยมีปัญหาในการรายงาน ไม่ได้ให้น้ำหนักไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
เน้นรายงานความคืบหน้าจากที่ชุมนุมเป็นหลัก มีการรายงานหน้าสทท.ที่ผู้ชุมนุมเดินทางมาชุมนุมด้วย แต่ออกมารายงานหลังจากที่ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปแล้ว ไม่มีภาพขณะผู้ชุมนุมมาถึงมารายงาน มีภาพความรุนแรงตอนที่เสื้อแดงทำร้ายประชาชนนำเสนอด้วย ผู้ประกาศและผู้สื่อข่าวภาคสนามใช้ภาษาสุภาพในการรายงานข่าว

ทีวีไทย : เน้นภาพเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม ให้รายละเอียดการเคลื่อนขบวน ณ จุดต่างๆ  กำลังทำอะไรอยู่บ้าง ไม่มีการสัมภาษณ์แกนนำหรือกลุ่มผู้ชุมนุม การรายงานข่าวทางฝ่ายรัฐบาลเน้นที่ตัวนายกรัฐมนตรีว่ากำลังไปไหน และทำอะไรอยู่ มีการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้มีการให้รายละเอียดเรื่องการจราจรกับผู้ชมว่าบริเวณที่มีการชุมนุมมีสภาพการจราจรเป็นอย่างไร รายละเอียดของสภาพแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง ทั้งร้านค้า ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน ว่ามีที่ไหนเปิดบริการและที่ไหนปิดบริการไปแล้ว มีการนำเทปรายการ ตอบโจทย์ ที่มาออกอากาศซ้ำ โดยนำคำสัมภาษณ์ของแกนนำนปช.และฝ่ายรัฐบาลที่เป็นประเด็นสำคัญมาออกอากาศให้ชม มีการรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การชุมนุม และมี Vox Pop ของประชาชนเกี่ยวกับสันติวิธีในการชุมนุม
ผู้ประกาศใช้ภาษาข่าวสุภาพ มีการตั้งคำถามในเชิงรุกต่อแหล่งข่าวและผู้สื่อข่าว ภาคสนามเพื่อต่อยอดประเด็นต่างๆ ออกไป ให้ผู้ชมเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ในขณะนั้น

ช่อง TNN : เกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่มักรายงานสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น เนื้อหามุ่งนำเสนอการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในภาคส่วนต่างๆ ทั้งแกนนำ จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม การตรวจค้นอาวุธ การเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญในรัฐบาล และเน้นหนักไปที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สถาบันทางการเงิน ตลาดหุ้น การจราจรในกรุงเทพฯ ข้อมูลที่ได้มักมาจากผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ และบุคคลในรัฐบาลมากกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเปิดพื้นที่เพียงการสรุปความโดยผู้สื่อข่าว และผู้ประกาศข่าวเท่านั้น

ช่อง เอเอสทีวี : ให้พื้นที่ข่าวอย่างต่อเนื่อง เน้นรายการสนทนา และนำเสนอผลกระทบจากการชุมนุม เช่น สถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์  เน้นวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงมากกว่ารายงานข่าวการติดตามสถานการณ์ มีการใช้ภาพข่าวความรุนแรงจากการชุมนุมมานำเสนอประกอบ (ภาพเก่าช่วง เม.ย.52) ในลักษณะสารคดี เน้นการใช้ภาษาบรรยายที่สื่อถึงความรุนแรง ใช้คำสนทนาระหว่างพิธีกรที่แสดงความคิดเห็นรุนแรง เช่น “ชั่วช้าที่สุดเลย”, และในช่วงรายการบิสสิเนสเฮดไลน์ พิธีกรพูดว่า “เรามาติดตามลิ่วล้อระบบทักษิณ” เน้นแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่ากลุ่มเสื้อแดง และมีการสัมภาษณ์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนขบวนของกลุ่มเสื้อแดง

ช่อง D Station : เกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื้อหามุ่งนำเสนอความเคลื่อนไหวของการชุมนุมในลักษณะของการปลุกระดม ผ่านการให้ข้อมูลโดยแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม และพบว่าผู้ประกาศข่าวมีบทบาทในการสรุปเหตุการณ์ ให้ข้อมูล บรรยาย หรือแม้กระทั่งร่วมแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ โดยข้อมูลมุ่งวิพากษ์บุคคลในรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ องคมนตรี และมักปรากฏถ้อยคำลักษณะ “ประกาศสงคราม” อยู่เสมอ
ทิศทางการนำเสนอไม่ได้อธิบายเหตุการณ์ในมุมของกลุ่มผู้ชุมนุมมากนัก แต่มักนำเสนอการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ดูแลควบคุมการชุมนุม และให้พื้นที่มากเป็นพิเศษกับการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลุ่มทหาร และมุ่งสร้างความเกลียดชังฝั่งรัฐบาลอย่างชัดเจน มีการใช้คำชักชวนผู้ชุมนุมให้ออกมาชุมนุม เช่น “ผมขอเชิญให้ประชาชนออกมาร่วมกันชุมนุมเพื่อทำสงครามครั้งสุดท้าย….”


ข้อเสนอแนะจากโครงการฯ
1) สื่อควรให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมในสัดส่วนพื้นที่เหมาะสมกับเหตุการณ์
2) สื่อควรเน้นการรายงานข่าวเชิงลึก ข่าวเชิงวิเคราะห์ ข่าวเชิงตีความ จุดสำคัญต่างๆ ที่มีการชุมนุม เน้นข่าวที่มีการใช้ความรุนแรง เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้ชุมนุม และเน้นรายงาน-สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวเป็นหลัก ขาดมิติทางด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม
3) ควรลดการให้ความสำคัญของแหล่งข่าวที่เป็นคู่ขัดแย้งลง (เฉพาะรัฐกับผู้ชุมนุม) แต่เพิ่มน้ำหนัก ความสมดุลและความหลากหลายของข่าว จากกลุ่มอื่นๆ ของสังคม เช่น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้ง กลุ่มพลังเงียบ ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม หรือกลุ่มรณรงค์สันติ กลุ่มภาคประชาสังคม หรือนักวิชาการอิสระ
ควรเน้นความสมดุล และความเป็นธรรมในการรายงานข่าว ให้มีความเหมาะสม
4) ควรแสดงความเป็นกลาง (การปลอดอคติ) ทั้งในการแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ สันติ และการตั้งคำถามควรเป็นไปในลักษณะที่ไม่สร้างความแตกแยก เน้นคำถามที่หาทางออกของสถานการณ์ ถามเพื่อหาคำตอบเพื่อลดความรุนแรงของเหตุการณ์ ไม่ถามคำถามที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความรุนแรง เช่น “จะใช้มาตรการใดในการจัดการสลาย” ควรถามว่า “จะใช้วิธีการใดที่จะไม่เกิดความรุนแรงกับลุ่มผู้ชุมนุม”

5) ไม่ควรนำเสนอภาพความรุนแรง ผ่านภาพข่าว ภาษาพูด ที่มีลักษณะซ้ำไปซ้ำมา หรือการเน้นให้เห็นภาพความรุนแรงของเหตุการณ์ ไม่ควรขยายเพิ่มเติมความรุนแรงโดยการใช้ภาษาบรรยายข่าว คำขยาย คำอคติ คำสรรพนาม หรือคำกริยาที่มุ่งเน้นความรุนแรง
เสนอข้อมูลอย่างรัดกุม ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่จะสร้างความตระหนกแก่สาธารณะชนให้เพิ่มขึ้น สื่อควรเน้นเฉพาะข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ นำเสนออย่างเข้าใจและรู้
6) สื่อควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอข่าว ตระหนักในผลกระทบของข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอว่าอาจสร้างความแตกแยก หรือทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ไม่ควรนำเสนอข่าวลือ หรือข่าวที่ยังไม่มีความแน่ชัดต่อสาธารณะ นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้ภาษาข่าวที่ส่งสัญญาณความรุนแรงดู การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การตราหน้า การเหมากลุ่ม การเหยียดหยาม

7) สื่อควรเน้นการรายงานข่าวเชิงสันติภาพ (Peace Journalism) ดังนี้

หลีกเลี่ยงการตราหน้าว่าเป็นคนดีหรือผู้ร้าย, รายงานทั้งสาเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, คำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์, เสนอข่าวเชิงลึก ริเริ่ม และนำเสนอมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน, ใช้ภาษาเป็นกลางไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึก หลีกเลี่ยงคำที่แสดงอารมณ์เกินจริง, รายงานเหตุการณ์หรือข้อตกลงต่างๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง, หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อทำให้รู้สึกเวทนา, รายงานข้อมูลผลกระทบรอบด้านทั้งกายภาพ จิตใจ สังคมและวัฒนธรรม, หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นผู้ร้าย, เน้นแนวทางประนีประนอมทั้ง 2 ฝ่าย, ให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนทั่วไป ทั้งในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ และการเป็นแหล่งข่าว, เกาะติดและรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง แม้เหตุการณ์สงบลงแล้ว

และสื่อควรเน้นการนำเสนอข่าวเชิงโครงสร้าง (Structural) ให้มากขึ้น โดยยึดหลัก 1) การอธิบายถึง สาเหตุ ที่มาของปัญหาความขัดแย้ง 2) สภาพบริบทแวดล้อมตัวเหตุการณ์ ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งเชิงโครงสร้างมากกว่าความรุนแรงเชิงกายภาพที่มองเห็น 3) ทางออกสำหรับปัญหาความขัดแย้ง 4) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งและความรุนแรงในบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เน้นผลลัพธ์ที่มองไม่เห็นจากปัญหาความรุนแรงมากกว่าฉายภาพความรุนแรงจากการปะทะ การทำงายสิ่งของ การทำร้ายร่างกาย และ 5) เสนอแนะความคิดร่วม ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งคืออะไร อย่างไร และใครควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขความจัดแย้งบ้าง