จดหมายเปิดผนึกเรื่อง “แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย” จาก คณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จดหมายเปิดผนึกเรื่อง
“แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย”
จาก คณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

21 พฤษภาคม 2553
เรียน ท่านบรรณาธิการ และ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคารพ

จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ และสื่อทางเลือกใหม่ๆ เช่น วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และ อินเทอร์เน็ต  มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดการรับรู้ด้านข้อมูลข่าวสาร และในการชี้นำความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน

ในหลายกรณี สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ และในการระดมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชนอย่างเข้มข้น บางครั้งสื่อซึ่งมีวาระทางการเมืองชัดเจนได้มีพฤติกรรมอันขัดต่อจรรยาบรรณทางวิชาชีพ   ด้วยการใช้ภาษาที่ หยาบคาย ยั่วยุ ปลุกเร้า สร้างความเกลียดชัง และด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง  ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว ยังผิดกฎหมายในหลายๆ ฉบับอีกด้วย  ทว่าด้วยภาวะของการขาดองค์กรกำกับดูแลของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมายทำให้พฤติกรรมดังกล่าวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนจิตวิทยาของมวลชนในสถานการณ์ของการแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมไทยอย่างมาก

ในช่วงตั้งแต่วันศุกร์ที่14 พฤษภาคม จนถึงขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ความรุนแรงในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับการชุมนุมทวีขึ้นถีงขีดสุด สื่อหลายแขนงเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อวินาศกรรมของกลุ่มที่ได้ยกระดับไปเป็นผู้ก่อการร้าย เช่นในกรณีของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  และ สื่อในเครือโพสต์ พับบลิชชิ่ง  เป็นต้น หรือ จากการข่มขู่คุกคามตามที่ทำการและกองบรรณาธิการต่างๆ และในสนามข่าว ทำให้สื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เตามที่ควรจะเป็น ส่งผลให้สวัสดิภาพ ขวัญ และกำลังใจของนักวิชาชีพข่าวยิ่งอ่อนล้าลงไปอีกในช่วงแห่งสถานการณ์อันตึงเครียดนี้

ทางคณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นห่วงเสรีภาพ และสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวและนักปฏิบัติการด้านข่าวสาร อีกทั้งยังมีความกังวลใจต่อปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง   ด้วยเหตุนี้จึงขอนำเสนอ “แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย” โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1)    การนำเสนอข่าวในสื่อทุกประเภทพึงยึดหลักความถูกต้อง จรรยาบรรณวิชาชีพ และประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะการแสวงหาข้อมูลที่ตรวจสอบได้และนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง ปราศจากความเป็นฝักเป็นฝ่าย
2)    สื่อไม่ควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรง ที่แบ่งฝักฝ่ายสองขั้วอย่างชัดเจน และความขัดแย้งที่มีเป้าหมายเดียวเพื่อเอาชนะ โดยเน้นหาผู้ชนะและผู้แพ้ แต่สื่อควรให้ความสำคัญกับสเหตุและผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความรุนแรงและความขัดแย้ง เช่น ความชอกช้ำทางจิตใจ และความสูญเสียของสังคมและประเทศชาติ โดยภาพรวม มากกว่า การนำเสนอภาพความสูญเสียที่กระทบอารมณ์ความรู้สึก  การสอดแทรกวาระทางการเมือง การกระตุ้นยอดขาย หรือ การแสวงผลประโยชน์ทางการตลาด
3)    การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อควรแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ส่อเสียด ยุยง หยาบคาย และการปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง หรือ พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงใดๆ
4)    สื่อควรมุ่งเน้นบทบาทของการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำเสนอเหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุแห่งความขัดแย้ง และเพื่อหาทางออกในการคลี่คลายปัญหา และสร้างความสมานฉันท์ในสังคม
5)    ในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง องค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระของรัฐ  และองค์กรกำกับดูแลตนเองในวิชาชีพสื่อ จำเป็นต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนและเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่จำเป็นต้องรอการร้องเรียน
6)    การใช้สื่อเพื่อเป็นช่องทางในการก่อการร้าย ก่อวินาศกรรม อันอาจนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และจิตใจ จำเป็นต้องมีการจัดการตามกฎหมาย และ กระบวนการยุติธรรมให้เด็ดขาด
7)    รัฐ ควรสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้สื่อข่าวในภาวะวิกฤตินี้จะได้รับเสรีภาพ และ สวัสดิภาพในการทำหน้าที่ผู้แจ้งข่าวสารให้ประชาชน โดยไม่ตกเป็นเป้าหมายในการก่อวินาศกรรม หรือ การข่มขู่ คุกคาม และปองร้ายใดๆ ในขณะเดียวกัน องค์กร/สมาคมวิชาชีพสื่อและ องค์กรที่เป็นเจ้าของสื่อควรส่งเสริมและดูแลสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าว และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงให้เพียงพอและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
8)    องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และสิทธิเสรีภาพ ควรรณรงค์ในประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆกับการใช้เสรีภาพสื่อที่สร้างสรรค์และ สอบทานได้

คณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจักษ์ถึงความอุตสาหะ ความอดทน และความกังวลของสังคมในภาวะการณ์อันอ่อนไหวนี้ และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพยายามขับเคลื่อนร่วมกับ ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ สื่อทุกแขนงทุกประเภท กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และ นักการเมือง ภาคประชาสังคม ได้ตระหนักถึง “แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย” และร่วมผลักดันให้นำไปสู่การปฎิบัติจริง เพื่อช่วยเยียวยา และบูรณะสังคมอันบอบช้ำของเราต่อไป

คณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย