(ฟังเสียงการพิธีเปิดงาน นายมานิจ สุขสมจิตร, ปาฐกถา ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ, การอภิปรายหัวข้อ ปฎิรูปสื่อ สู่การปฏิรูปสังคม)
วันนี้ (22 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดประชุมใหญ่วิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชนระดับชาติ ประจำปี 2553 ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน ในหัวข้อ “ปฏิรูปสื่อ สู่การปฏิรูปสังคม “
สมาคมนักข่าวฯ สรุปประเด็นการประชุมและการเสวนา ที่น่าสนใจดังนี้
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวนำเรื่อง “กระบวนการปฏิรูปสื่อภาครัฐ” ว่า ความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพนี้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ทางวิชาการ โดยมีโครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น โครงการความร่วมมือห้องเรียนสาธารณะเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์วิชาชีพในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ โครงการพิราบน้อยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิชาชีพหนังสือพิมพ์ให้นักศึกษาสาขานี้ โครงการประชุมแลกเปลี่ยนวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีคณะกรรมการความร่วมมือวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน
เหตุผลในการใช้หัวข้อ “การปฏิรูปสื่อ สู่การปฏิรูปสังคม” ว่า มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อยอมรับแผนปรองดองแห่งชาติในข้อ 3 ที่ระบุให้ระบบสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ไม่สร้างความรุนแรงและความเกลียดชัง เนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมาช่วงเม.ย.และพ.ค.ที่ผ่านมาสื่อมวลชนถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนร่วมและสร้างความขัดแย้งในสังคม หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำให้เกิดความุรนแรงและเกลียดชัง และ2.เพื่อสนองความเปลี่ยนแปลงที่สื่อมวลชนต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด
"สื่อได้ตระหนักในความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สัตว์บางชนิดปูก็ดีเวลาโตขึ้นก็ต้องลอกคราบซึ่งก็คือ ความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับไก่และนกก็ต้องผลัดขน ต้นไม้ก็ต้องลอกเปลือกผลัดใบ เพราะฉะนั้นสื่อก็ต้องปรับเปลี่ยน ตามสัจธรรมที่ว่าสิ่งที่ขัดขืนการเปลี่ยนแปลงย่อมเสื่อมสลาย เช่น ช้างกับหนู ช้างกำลังสูญพันธุ์เพราะช้างไม่สามารถปรับตัวเองได้ แต่หนูนั้นอยู่ทุกหนแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นจนเป็นที่น่ารำคาญของคน หนูได้เปลี่ยนแปลงตัวเข้ากับทุกสภาพสังคม ดังนั้นวงการวิชาชีพสื่อมวลชนก็ต้องตระหนักในการปรับเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป”
นายมานิจ กล่าวอีกว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) โดยมีทั้งนักวิชาการและนักวิชาชีพเพื่อจัดทำแผนปฏิรูปสื่อให้ปฏิบัติได้ มี 5 คณะกรรมการย่อย คือ 1.คณะพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ 2.คณะพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ 3.คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน 4.คณะทำงานปรังปรุงกฎหมายด้ายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และ 5.คณะทำงานพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ทั้งห้าคณะได้ทำงานคืบหน้าพอสมควรแล้ว ซึ่งได้ฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและบรรณาธิการข่าว ขณะนี้กำลังจะดำเนินการฟังความเห็นจากเจ้าของสื่อต่อไป
“ผมเชื่อว่าคณะกรรมการที่ร่วมประชุมจะช่วยเสนอข้อเสนอในการปฏิรูปสื่ออย่างมีเหตุมีผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพต่อการปฏิรูปสื่อที่มีจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีนั้น มีข้อเสนอในข้อหนึ่งว่ารัฐบาลต้องเร่งปฏิรูปสื่อภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโครงสร้างการบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สสท.11) ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาเอง ที่รัฐบาลไม่ได้หยิบข้อเสนอเอาไปดำเนินการใดๆเลย”
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐ กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปสื่อภาครัฐ ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีได้ประชุมกันทั้งหมด 14 ครั้ง และทำงานเสร็จหลายเรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปช่อง 11 และกรมประชาสัมพันธ์ได้เสนอให้เป็นองค์กรมหาชน และมีการประเมินค่าใช้จ่ายเงินที่รัฐบาลต้องใช้ในการปรับบทบาทซึ่งมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์และรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์เป็นผู้มีบทบาทหผลักดัน
เรื่องที่ 2 คือ ปรับปรุงระบบวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ที่มีการจัดการอำนาจการทำงานที่สับสน เรื่องที่ 3 เสนอให้ปรับปรุงช่อง9 และเรื่องสุดท้ายเสนอบัญญัติ 10 ประการให้กับสื่อภาครัฐ ซึ่งข้อเสนอแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2552
ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เพียงสรุปข้อเสนอ ไม่ได้มีอำนาจในการเข้าไปปฏิรูปสื่อ ก็เข้าใจว่ารัฐมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปสื่อภาครัฐแต่ว่าความเกรงกลัวในเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นต้องตัดอำนาจในการต่อรองเงื่อนไขกับคนที่มีอำนาจออกไป ต้องแยกผลประโยชน์ของรัฐกับรัฐบาลออกจากกัน รัฐบาลต้องไม่ใช้สื่อของประชาชนในการเป็นกระบอกเสียงซึ่งประเทศไทยไม่ตระหนักเรื่องนี้
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องรักษาคำพูดที่ทำมา ที่จะบังคับทำให้ทุกคนทำตามแผนปฏิรูปที่กำหนดไว้แล้ว ต้องตัดอำนาจในการเปลี่ยนคำพูดตัวเอง จะต้องทำตามแผนปฏิรูปการศึกษา แผนปฏิรูปสื่อที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้าเพราะตัวเองไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงตามนั้น อย่างนี้จะเป็นการเดินทางไปข้างหน้าได้”
ดร.วรากรณ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจะมีการปฏิรูปสื่อจะต้องทำให้คนที่มีอำนาจในการปฏิเสธไม่ทำตามแผนนั้นไม่สามารถปฏิเสธการทำตามแผนที่กำหนดได้ด้วยอำนาจกฎหมายใดก็ตาม และการปฏิรูปที่เป็นของรัฐจะไม่มีวันสำเร็จ แต่ถ้าคนคิดว่าเป็นเรื่องการปฏิรูปของตัวเองสิ่งนั้นจะประสบความสำเร็จ
"ถ้าเราจะปฏิรูปประเทศไทย แต่ถ้าเราทุกคนคิดว่าเป็นหน้าที่ของกรรมการ การปฏิรูปก็ไม่มีวันสำเร็จ แต่ถ้าคนไทยตระหนักว่าการปฏิรูปประเทศไทยนั้นเริ่มจากที่ตนเองก่อน การปฏิรูปการศึกษาก็จะสำเร็จถ้าพ่อแม่เริ่มปฏิรูปตัวเองก่อน เป็นพ่อแม่ที่ดีมีความรับผิดชอบเช่นนั้นการปฏิรูปทุกเรื่องก็จะประสบความสำเร็จได้
ดังนั้น การแยกผลประโยชน์ของรัฐกับรัฐบาลออกจากกันได้ก็จะทำให้เกิดความชัดเจน อย่าลืมว่าเสรีภาพของสื่อนั้นไม่ใช่จุดจบของตัวมันเอง แต่เป็นหนทางไปสู่สังคมที่มีเสรีภาพ เพราะว่าถ้าสื่อมีเสรีภาพสังคมมีโอกาสจะดีได้ แต่ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพเราต้องตกเป็นทาสของความไม่รู้"
นายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กล่าวว่า สปอตขอโทษประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิรูปสื่อที่ไม่ต้องออกมาประกาศว่าปฏิรูป เพราะสังคมกำหนดสื่อเองอยู่แล้วว่า จะต้องปฏิรูปอย่างไร รัฐบาลต้องเลิกคิดได้แล้วว่าจะเข้ามาควบคุม ไม่มีอีกแล้วที่จะมาตีกรอบไม่ให้สังคมไม่รับรู้ได้ วันนี้โซเชียลมีเดีย ทำได้โดยไม่ต้องมีใครหรือรัฐบาลมาบอกให้เราปฏิรูปสื่อ นี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อแล้ว และเสรีภาพเท่านั้นทำให้สังคมเดินหน้าได้
“ผมปฎิเสธที่จะขึ้นเวทีปฎิรูปสื่อมานานเพราะไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วสั่งให้เราต้องปฎิรูป เพราะเราปฏิรูปสื่อทุกวันอยู่ แล้วทุกครั้งที่ประชุมข่าว ขณะนี้สังคมกำลังปฏิรูปอย่างใหญ่หลวง นักการเมืองต่างหากที่ล้าช้าไม่ทันสมัย ไม่ควรมาบอกว่าปฏิรูปสื่อหรือไม่ วันนี้ได้เวลาแล้วที่ต้องออกจากความเชื่อเก่าๆ สังคมจะบอกสื่อเราเองว่าสื่อต้องปฏิรูปอย่างไร สปอตขอโทษประเทศไทยเป็นจุดประกายเล็กๆ ที่นำไปสู่ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่”
บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ยังกล่าวว่า การกระจายตัวของสื่ออย่างกว้างขวางทำให้เราต้องมาคุยเรื่องสื่อกันใหม่ สมาคมนักข่าวฯ องค์กรวิชาชีพต้องขยายกรอบจริยธรรมวิชาชีพกันใหม่ ทำให้บทบาทสื่อหลักที่เคยเป็นหมาเฝ้าบ้านจะค่อยๆหายไป เพราะโซเชียลมีเดียทำให้หมาเฝ้าบ้านมีเต็มบ้านเต็มเมือง ดังนั้นสังคมต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากการใช้โซเชียลมีเดีย เชื่อว่าถ้าใช้เป็นจะช่วยตรวจสอบรัฐบาลที่แย่ นักการเมืองที่ห่วยได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วสื่อกระแสหลักก็ต้องลงมาเล่นในกติกาเดียวกันกับสื่อโซเชี่ยลมีเดีย
“ขณะนี้ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คเหมือนสี่แยกกลางเมืองมีคนมากมายมาคุยกัน นี่คือเสน่ห์กลางเมือง ซึ่งสังคมไม่ต้องห่วงว่านักข่าวจะมาแย่งพื้นที่ส่วนนี้จากสังคม คนในรัฐบาลใช้โซเชี่ยลมีเดียกันเยอะ แต่ก็ใช้แค่เพื่อประชาสัมพันธ์ ไม่ค่อยมารับฟังประชาชน”
นอกจากนี้ นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า การเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมือง คือการตรวจสอบสื่อหลักครั้งที่หนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งคนทำข่าวที่เน้นใช้โซเชี่ยลมีเดียมากๆ ต้องไม่หลงทางว่าคือคำตอบทั้งหมด ดังนั้นถ้าใครก็เป็นนักข่าวได้ ฉะนั้นนักข่าวจะต้องสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพต้องลึกและกว้างที่ต่างจากคนทั่วไปที่ทำได้ ฉะนั้นเราต้องปฏิรูปสื่อทุกเช้า ถ้าคุณไม่ปรับ ไม่มีคุณภาพ ก็จะกลายเป็นสื่อที่งี่เง่า ที่ประชาชนไม่ต้องการ และนักข่าวต้องเร็วกว่าประชาชนครึ่งก้าวเข้าโค้งไปมองเหตุการณ์ก่อน ถ้าเลยไปหนึ่งก้าวจะไม่เห็นประชาชน แต่ถ้าอยู่หลังประชาชนเมื่อใดสังคมไม่ให้อภัยคุณแน่
นายสุทธิชัย กล่าวถึงแนวทางการทำข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยว่า ไม่จริงที่นักข่าวทีวีไม่สามารถทำข่าวสืบสวนไม่ได้เพราะขึ้นอยู่ที่คุณภาพของคน และไม่จำเป็นต้องทำข่าวตามกระแสของสังคม เสิร์ฟสังคม แต่จะต้องทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องดีต่อสังคม แม้สังคมอาจจะไม่เห็นด้วย
ทางออกคือต้องสร้างการทำสื่อแบบไม่มุ่งหวังกำไร (Non-Profit) เสนอให้สื่อลองใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นช่องทาง ประชาชนกับนักข่าวเสนอโครงการทำข่าวสืบสวน หรือให้ประชาชนขอมาว่าจะให้ทำข่าวเรื่องใดแล้วสนับสนุนทุนให้สื่อมีทุนเสรีอิระจริงๆ ด้วย
“คนไทยเวลาพูดว่าสื่อ พูดดี แต่ไม่เคยทำ สนับสนุนสื่อเลย อย่าลืมว่าสื่อก็เป็นลูกจ้างเขา ทางแนะคือ คนดูเปิดเว็ปบอกไปเลยว่าอยากให้ทำข่าวอะไรเชิงลึก แล้วจะสนับสนุน ข้อจำกัดคือโครงสร้างสื่อยังต้องใช้เงินมาบริหาร หากต้องการสื่อที่อิสระ สื่อต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และการปฏิรูปสื่อต้องไปถึงหน้าจอทีวีมีแต่นักวิชาการซ้ำซาก พูดเรื่องเดิมๆ พิธีกรถามเดิมๆ เป็นความมักง่ายด้วย”
วันนี้คนข่าวมีจิตวิญญาณทางวารสารศาสตร์หายไป ดังนั้นควรต้องสอนให้มีคุณภาพวารสารศาสตร์ตั้งแต่มัธยมศึกษา ส่วนที่ถามกันว่าหนังสือพิมพ์กำลังจะตายนั้น ตนเชื่อว่าวารสารศาสตร์จะไม่มีทางตาย
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีสปอตโฆษณาชุดขอโทษประเทศไทยว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนความกลัวและวิธีคิดแบบเดิมๆ ของคนที่ดูแลสื่อและสื่อ
สปอตนี้ได้สะท้อนว่าสื่อตอบสนองสิ่งที่ประชาชนอยากรู้หรือไม่ สื่อควรจะให้ความรู้ประชาชนว่าทำไมถึงออกอากาศไม่ได้ แทนที่สื่อจะบอกแค่เพียงว่าถูกแบน
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาคำว่าปฏิรูปสื่อเหมือนเป็นคำที่เป็นวาระทางการเมือง เหมือนสื่อทำหน้าที่ไม่ดีแล้วควรจะปฏิรูป ทุกครั้งที่มีการปฏิรูปสื่อกลายเป็นเรื่องการเมือง ไม่เคยมีการพูดถึงผลประโยชน์ประชาชน
รศ.มาลี กล่าวอีกว่า การปฏิรูปสื่อนั้นต้องเริ่มจากตั้งแต่เมื่อคุณเข้ามาและรู้สึกว่าเป็นสื่อมวลชน สิ่งสำคัญที่สุดของการปฏิรูปสื่อไม่ใช่วงการสื่อมาพูดกันเอง แต่ต้องเป็นการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย และการปฏิรูปสื่อนั้นต้องสร้างภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชน ถ้าประชาชนไม่เชื่อข้อมูลในสื่อแล้วจะสามารถไปหาข้อมูลตรวจสอบได้ที่ใดบ้าง เช่น กรณีโซเชี่ยลมีเดียนั้นเป็นการเปิดโอกาสประชาชนแสดงความเห็นและเข้ามาตรวจสอบได้ และข้อมูลความเห็นเหล่านี้จากประชาชนก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลด้วยในการสร้างนโยบายที่ดีพลเมือง ซึ่งนี่คือความสำคัญของการเป็นพลเมืองด้วย
"ถ้าจะปฏิรูปสื่อกันจริงๆ ต้องสร้างทำให้ประชาชนตรวจสอบสื่อได้ โดยคนที่สื่อต้องแคร์ที่สุดคือประชาชน สื่อต้องปฏิรูปตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่าต้องปฏิรูปซึ่งการปฏิรูปแท้จริงต้องมองถึงองค์กรสื่อด้วย ดังนั้นเสนอให้ต้องสร้างความรู้เรื่องสื่อให้ประชาชนและต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามาร่วมปฏิรูปสื่อได้ด้วย ส่วนคนไทยทุกคนต้องช่วยกันปฏิรูปสื่อ สื่อไม่ดีอย่าไปดู เดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้เอง และวันนี้องค์กรสื่ออาจต้องมีการนิยามคำว่าสื่อหนังสือพิมพ์กันใหม่ด้วยเพื่อให้ครอบคลุมถึงสื่อใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่สื่อกระแสหลักยังมีคือ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ”
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล บรรณาธิการเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ กล่าวว่า คำจำกัดความสื่อมวลชนในวันนี้ไม่ได้เหมือน 20 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแล้ว และตราบใดที่มีการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตเราจะพูดเรื่องปฏิรูปสื่อกันได้อย่างไร ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ เพราะถ้าอยากให้คนมีความรู้แยกแยะอะไรได้มากขึ้น ก็ต้องปล่อยให้คนเรียนรู้ และถามว่าในเมื่อประชาชนใช้โซเชียลมีเดียแล้ว ประชาชนก็คือสื่อ เสรีภาพของประชาชนจะคือเสรีภาพสื่อด้วยหรือไม่ ดังนั้นจะเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อด้วยหรือไม่ และห่วงใยการใช้โซเชี่ยลมีเดียของสื่อกระแสหลักที่พึ่งการทำข่าวจากสื่อนี้เสียมาก
“สื่อรุ่นใหม่อย่าไปคิดว่าทำงานให้องค์กรสื่อ คิดแต่ว่าเราจะทำหน้าที่สื่อยังไง อย่าไปท้อใจถ้าทำข่าวดีๆ แล้วไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าเราใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเป็น สักวันคนก็จะเข้าค้นเจอประเด็นดีๆ ของเรา"
นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สปริงส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ สปริงส์นิวส์ กล่าวว่า โลกของสื่อวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และวันนี้สิ่งแรกไม่ใช่ปฏิรูปเรื่องสื่อ แต่เป็นเรื่องการศึกษา และฝากให้ทุกสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองกลับมาเน้นที่ความรับผิดชอบต่อสังคม
#