ระดมคิดจากนักวิชาการ-นักวิชาชีพ ย้ำสื่อทำผิด ละเมิดจริยธรรม ต้องใช้มาตรการสังคมลงโทษ เสนอรัฐต้องใจกว้างให้สื่อบริหารจัดการกันเอง

 

(ฟังเสียงการสรุปงานวิจัย 6หัวข้อและการระดมความคิดเห็นการปฏิรูปสื่อ)

ระดมคิดจากนักวิชาการ-นักวิชาชีพ ย้ำสื่อทำผิด ละเมิดจริยธรรม ต้องใช้มาตรการสังคมลงโทษ  เสนอรัฐต้องใจกว้างให้สื่อบริหารจัดการกันเอง

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดประชุมใหญ่วิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชนระดับชาติ ประจำปี 2553 เป็นวันที่สอง มีการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ ได้ผลสรุป

นายประสงค์เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าเวลานี้ถ้าสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติหากต้องการปฏิรูปสื่อจริงจังนั้นจะต้องมีความกล้าหาญ และทำจริง เด็ดขาดในการเตือนและลงโทษ แม้ว่าทำแล้วจะเหลือสมาชิกลดลงก็จะต้องทำและเวลานี้องค์กรควบคุมวิชาชีพสื่อและวงการสื่อสารมวลชนจะต้องทำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนอย่างจริงจังได้แล้ว

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยกล่าวว่าขณะนี้องค์กรควบคุมวิชาชีพและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้กำลังดำเนินการพูดคุยกับผู้บริหารเจ้าขององค์กรสื่อมวลชนไทยรวมถึงองค์กรสื่อต่างๆ ในเรื่องการดำเนินการปฏิรูปสื่ออยู่โดยมีการพยายามพูดคุยถึงบทบาทของเจ้าของสื่อ บทบาทของตัวองค์กรสื่อในการมีส่วนร่วมการกระบวนการปฏิรูปสื่อซึ่งมี 2 ประเด็นหลักเรื่องการปฏิรูป คือ 1.ประเด็นกระบวนการปฏิรูปสื่อ บทบาทในการปฏิรูปสื่อของตัวองค์กรสื่อ และ2.ประเด็นคุณภาพเนื้อหาบนสื่อสารมวลชนไทย

"งานบางส่วนต่อจากนี้ที่องค์กรควบคุมวิชาชีพสื่อจะทำต่อเช่น จะเน้นเรื่องการสร้างการรณรงค์กดดันอย่างสร้างสรรค์กับสื่อที่ละเมิดจริยธรรมบ่อยๆ ให้เกิดมาตรการลงโทษทางสังคม (SocialSanction)อาจจะให้ประชาชนร่วมกันรณรงค์ไม่ใช้หรือไม่ซื้อสื่อ ที่ละเมิดจริยธรรม หรืออาจถึงขั้นไม่ใช้หรือไม่ซื้อสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อนั้นด้วยฯลฯ"

ผู้อำนวยการสถาบันอิศรากล่าวด้วยว่า ส่วนของกระบวนการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนที่มีหน่วยงาน เช่น มีเดีย มอนิเตอร์ ขณะนี้หากมีเพียงมีเดียมอนิเตอร์หน่วยงานเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น อยากเห็นภาควิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยควรจะเข้ามาร่วมมีบทบาทด้านนี้ ด้วยซึ่งหากมหาวิทยาลัยใดสนใจที่จะเข้ามาร่วมทำก็พร้อมที่จะหาแนวทางหางบสนับสนุนโครงการได้

ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าว ขณะนี้วงการสื่อมวลชนต้องช่วยกันทำให้คนสื่อรุ่นใหม่ๆมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่กำลังใช้และหากินในสิ่งที่คนสื่อรุ่นเก่าๆได้ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพสื่อมาด้วยความยากลำบากดังนั้นต้องมีการทำให้สื่อใหม่มีความรับผิดชอบด้วย


ส่วนนายคธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าวช่อง 7 เสนอหลักการปฏิรูปสื่อในแง่จริยธรรมอย่างง่ายๆว่า ควรต้องทำให้ทุกสื่อต้องไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่นโดยการให้มีกระบวนการศาลกระบวนการยุติธรรมศาลเข้ามาดูแลปัญหาคดีละเมิดของสื่อโดยตรงคือ ให้มีกระบวนการศาลที่รับผิดชอบคดีหมิ่นประมาทของสื่อมวลชนให้มีหน่วยงานดูแลโดยตรงขณะเดียวกันต้องทำให้ตัวองค์กรสื่อจะต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างกว้างประกอบด้วยและว่า "ถ้าจะปฏิรูปสื่อจริง ต้องรัฐบาลใจกว้างพอจะให้มีสื่อเหลืองสื่อแดงหรือไม่"


นายธาม เชื้อสถาปนศิริผู้จัดการโครงการเฝ้าระวังสื่อ หรือมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่าวันนี้เราพูดคุยกันในประเด็นของการปฏิรูปสื่อ ซึ่งการปฏิรูปสื่อนั้นไม่ใช่การปฏิวัติสื่อ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และไม่ได้ทำให้เห็นผลในทันทีเพราะเป็นการปฏิรูป

ทั้งนี้มีประเด็นข้อเสนอต่อการปฏิรูปสื่อที่น่าสนใจจากเวทีรับฟังความคิดเห็น เช่น เสนอให้มีการปฏิรูปตัวองค์กรสื่อร่วมด้วย,สร้างเครือข่ายที่มีความคิดเห็นเดียวกันในการปฏิรูปสื่อ, มีการเสนอให้สอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อใหม่ (NewMedia Literacy)ในตั้งแต่ระดับเด็กนักเรียนโดยไม่ใช่สอนแค่เพียงในคณะนิเทศศาสตร์เท่านั้น,เสนอให้มีระบบดูแลเรื่องมาตรการลงโทษสื่อมวลชนที่ละเมิดจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพที่เป็นมาตรการลงโทษทางสังคม(Social Sanction)  ด้วย

โดยเฉพาะเสนอให้องค์กรวิชาชีพดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพโดยสามารถเตือนและลงโทษสื่อที่ทำผิดอย่างจริงๆ ให้สื่อที่ละเมิดนั้นมีการปรับเปลี่ยนตัวเองจริงๆ ฯลฯขณะเดียวกันมีประเด็นที่น่าสนใจอีก คือ มีข้อสังเกตการพูดประเด็นการปฏิรูปสื่อนั้นในส่วนผู้ประกอบวิชาชีพ นักข่าวเองมักจะมองและพูดเน้นเฉพาะ ส่วนใหญ่ในเรื่องของมุมมองเรื่องข่าวขณะที่ภาคประชาชนหากพูดถึงเรื่องปฏิรูปสื่อจะหมายรวมถึงทุก สิ่งที่จัดว่าเป็นสื่อเป็นต้น