เมื่อนักข่าว “ดราม่า”
โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
E-mail: dr.mana@hotmail.com
Twitter: @dr_mana
ด้วยเทคโนโลยี่การสื่อสารพัฒนาขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือได้ก้าวล้ำผนวกรวมอุปกรณ์หลากหลายชนิดเข้าไปอยู่ในเครื่องเล็กๆเครื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตกล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ เกมส์ ฯลฯ ทำให้โทรศัพท์มือถือขยายขีดความสามารถของตนเองมากกว่าการติดต่อสื่อสารด้วยเสียงเพียงอย่างเดียว
ยิ่งราคาของโทรศัพท์มือถือแบบอัจริยะเหล่านี้ถูกลง ผู้คนก็สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญใดๆเกิดขึ้น เราจะเห็นคนอยู่ในเหตุการณ์ต่างควักโทรศัพท์มือถือของตนเองขึ้นมาถ่ายรูป ถ่ายคลิปวีดีโอ จากนั้นก็ส่งผ่านสัญญาณ wi-fi หรืออินเตอร์เน็ตไร้สายไปปรากฏใน Social media หรือเวบประเภทต่างๆ
โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) รวมทั้งนักข่าวมืออาชีพ (Professional Journalist) ในการถ่ายทอดข่าวสาร เรื่องราว ภาพเหตุการณ์ที่สดใหม่ รวดเร็ว
ในแวดวงวิชาวารสารศาสตร์ เรียกคนที่ใช้เฉพาะโทรศัพท์มือถือในการรายงานข่าวว่า Mojo ซึ่งย่อมาจากคำว่า Mobile Journalist
Mojo จัดเป็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ แตกต่างจากนักข่าวมืออาชีพแบบดั้งเดิม เพราะธรรมดาแล้ว การทำข่าวโทรทัศน์แบบมืออาชีพจะต้องใช้ทีมงานไม่น้อยกว่า 3 คน
แต่ Mojo สามารถทำข่าวทั้งกระบวนการจบสิ้นได้โดยคนคนเดียว ผ่านโทรศัพท์มือถือประเภท Smart Phone ใช้ Free software เป็นตัวช่วยในการตัดต่อ ก่อนจะเผยแพร่ผ่านสัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย
Mojo กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของแวดวงนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวพลเมือง ซึ่งเน้นความดิบ สดใหม่ รวดเร็ว
การแพร่ขยายของ Mojo เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้นักข่าวมืออาชีพ โดยเฉพาะนักข่าว ช่างภาพโทรทัศน์ ต้องปรับตัวเพื่อดึงเรตติ้งคนดูของตนเอง
ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า Emo-Journalism ซึ่งย่อมาจาก Emotion Journalism อันหมายถึง วารสารศาสตร์ที่ขับเน้นแต่อารมณ์ ความรู้สึกของผู้เสพข่าวสารเป็นหลัก
บทบาทของนักข่าวในแนวของ Emo-Journalism ผิดแผกแตกต่างจากนักข่าวในแบบเดิมที่ได้รับการสั่งสอน บ่มเพาะให้นำเสนอข่าวด้วยความเป็นกลาง เที่ยงตรง เป็นธรรม พยายามดึงตัวเองออกจากเรื่องราวข่าวสารที่กำลังนำเสนอ
ที่สำคัญคือ นักข่าวรวมทั้งผู้ประกาศข่าวต้องไม่แสดงอารมณ์รัก ชอบ เกลียด โกรธ ผ่านออกมาทางการรายงานข่าว
แต่นักข่าว หรือผู้รายงานข่าวในแนว Emo-Journalism ไม่เพียงแต่แสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านการรายงานข่าวเท่านั้น หากแต่ยังกระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในตัวละครข่าว
พูดง่ายๆว่า ข่าวกลายเป็นเรื่อง “ดราม่า”มากๆ โดยมีนักข่าวเป็นตัวละครเอกคนหนึ่งในข่าว
รูปธรรมที่ชัดเจนของ Emo-Journalism เกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่เฮติ (Haiti) ต้นปี 2553 ทีมข่าว CNN ได้ส่งผู้ประกาศข่าวชื่อดังของเขาชื่อ Anderson Cooper ลงพื้นที่ รายงานข่าวภัยพิบัติครั้งสำคัญ ระหว่างการรายงานข่าวปรากฏว่าเกิดจลาจลขึ้นท่ามกลางซากปรักหักพังของเมือง มีเด็กชายคนหนึ่งได้ได้รับบาดเจ็บ
ทันทีที่เห็นเหตุการณ์ Anderson Cooper ผละจากการทำหน้าที่รายงานข่าวไปช่วยเด็กชายผู้มีเลือดอาบศีรษะ โดยมีกล้องทีวีของ CNN ถ่ายทอดสดภารกิจครั้งนี้ของเขาตลอดเวลา (ผู้สนใจดูคลิปเหตุการณ์ครั้งนี้ สามารถสืบค้นดูได้จาก www.youtube.com ด้วยคำสำคัญ “CNN: Anderson Cooper Carries Bloody Child Away From Haiti Looters” หรือคลิ๊กดูจาก http://www.youtube.com/watch?v=N-P5D887IcI )
นอกจาก Anderson Cooper แล้ว Dr.Sanjay Gupta ผู้เป็นทั้งศัลยแพทย์และผู้สื่อข่าวยังได้แสดงการ “ผ่าตัดสมอง” เด็กหญิงชาวเฮติถ่ายทอดออกอากาศมาแล้ว (ผู้สนใจดูคลิปเหตุการณ์ครั้งนี้ สามารถสืบค้นดูได้จาก www.youtube.com ด้วยคำสำคัญ “CNN reporter dr.Sanjay Gupta operates on 12 year-old girl” หรือคลิ๊กดูจาก http://www.youtube.com/watch?v=-dnLMMQpIdo )
นอกจากคลิปข่าวทั้ง 2 ที่ผมนำมาเสนอแล้ว หากสืบค้นดูใน Youtube จะพบว่า นักข่าวทั้ง 2 คน “ดราม่า” มากๆ เล่นกับอารมณ์ของคนดูรายการข่าว จนไม่แน่ใจว่าเขาเป็นนักข่าวหรือดารากันแน่
อ้อ...ต้องบอกก่อนนะครับว่าการทำข่าวในแนวของ Emo-Journalism ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาตินะครับ ทุกอย่างล้วนผ่านการกลั่นกรอง คัดสรร
หลายๆข่าวในแนว Emo-Journalism ผ่านการจัดฉาก เลือกมุมกล้อง เฟ้นตัวละครมาร่วมซีนข่าว
Mike Lyons นักวิชาการจาก Saint Joseph's University ระบุว่า Emo-Journalism เป็นเทรนด์ใหม่ในแวดวงสื่อสารมวลชน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะถึงความเหมาะสมของบทบาทนักข่าว รวมถึงจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชน
นอกจาก Emo-Journalism แล้ว ในแวดวงวารสารศาสตร์ยังมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ทั้ง“ดราม่า”และเร้าอารมณ์ผู้เสพสื่อคล้ายคลึงกัน
นั่นคือ “Cinematic Journalism”
อันเป็นการผนวกรวมของ 2 ศาสตร์เข้าหากัน ได้แก่ศาสตร์แห่งภาพยนตร์ กับวารสารศาสตร์
Dan Chung ช่างภาพฝีมือเยี่ยมจาก The Guardian กล่าวบนเวทีอภิปรายของ The Konrad Adenauer Asian Center for Journalism ที่ มหาวิทยาลัย Ateneo de Manila เมื่อกลางปี 2553 ว่า
นักข่าว หรือช่างภาพมืออาชีพจำต้องพัฒนาฝีมือการเล่าเรื่องของตนเองให้เหนือกว่าข่าวที่ปรากฏตามสื่อโทรทัศน์ในทุกวันนี้ เพราะในอนาคต Mojo หรือ “นักข่าวมือถือ” จะเหนือนักข่าวมืออาชีพตรงที่สามารถนำเสนอข่าวได้สด และไวกว่า เนื่องเพราะอยู่ในสถานที่เกิดเหตุการณ์ ดังนั้นนักข่าวมืออาชีพต้องสู้ด้วยการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพทั้งภาพและเสียง
“...ต้องขอขอบคุณการพัฒนาเทคโนโลยี่ของกล้อง DSLRs ซึ่งสามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ชัดเจน มีคุณภาพเหมือนกล้องถ่ายภาพยนตร์ราคาแพง ดังนั้นนักข่าวหรือช่างภาพสามารถใช้แสง ภาพ เสียงเพลงประกอบ รวมทั้งการตัดต่อแบบภาพยนตร์มาช่วยทำให้งานแบบ Cinematic Journalism มีคุณค่าขึ้น...” Dan Chung กล่าว
ความเร้าอารมณ์ในรูปแบบของ Cinematic Journalism สามารถดูได้จากผลงานของ Khalid Mohtaseb ที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของภาพเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวที่เฮติ (Haiti) ด้วยกล้อง Canon5D Mask2 ได้หดหู่ใจยิ่งนัก (ผู้สนใจดูคลิปเหตุการณ์ครั้งนี้ สามารถสืบค้นดูได้จาก www.youtube.com ด้วยคำสำคัญ “Haiti Earthquake Aftermath Montage” หรือคลิ๊กดูจาก http://www.youtube.com/watch?v=nXUMuGXCDRk )
หรือผลงานของ Dan Chung ในการถ่ายทอดพิธีเดินสวนสนามฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อย่างงดงามแปลกตายิ่ง แตกต่างจากข่าวสวนสนามของทีวีทุกช่อง (ผู้สนใจดูคลิปเหตุการณ์ครั้งนี้ สามารถสืบค้นดูได้จาก www.youtube.com ด้วยคำสำคัญ “China National Day parade + TheGuardian” หรือคลิ๊กดูจาก http://www.youtube.com/watch?v=vo242-rYv0g )
เทรนด์ของนักข่าวสายพันธุ์ใหม่แบบ Cinematic Journalism และ Emo-Journalism เกิดขึ้นแล้วในซีกโลกตะวันตก เชื่อแน่ว่าอีกไม่นานคงแพร่กระจายเข้าสู่สังคมไทย
ปัญหาสำคัญคือ การขับเน้นแต่รูปแบบการนำเสนอข่าว เหนือกว่าข้อมูล ข้อเท็จจริงของข่าวด้วยหวังดึงความสนใจของคนเสพสื่อโดยกลวิธีการเร้าอารมณ์แบบดราม่าสุดๆเช่นนี้
ใช่หรือไม่ว่า มันอาจกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อชิ้นสำคัญของทั้งนักการเมือง และนายทุนโฆษณาสินค้าที่จะมอมเมาผู้บริโภคสื่อ
ครับ...ขนาดเรายังไม่มี Emo-Journalism และ Cinematic Journalism สื่อบ้านเรายังก่อปัญหาให้กับสังคมมากมาย ยิ่งถ้าเรามีนักข่าว ช่างภาพสายพันธุ์ดราม่าเช่นนี้ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร อืม...ผมมิกล้าคาดเดา
หนทางรอดเดียว คือการสร้างพลังถ่วงดุลจากผู้บริโภคสื่อ ให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลื่ยม นัยยะที่ซ่อนเร้นผ่านเปลือกสวยงามของความเป็นดราม่าในข่าวนั้นๆว่า แก่นแท้แล้วงานข่าวชิ้นนั้นต้องการโน้มน้าวใจเรื่องอะไร อะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือการปรุงแต่งขึ้น
สุดท้ายคงต้องพึ่งปัญญาแห่งการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) เท่านั้นแหละครับ ที่พอจะทัด ทานความเป็น “ดราม่า” ของสื่อได้บ้าง
ว่าแต่เรามีปัญญาแห่งการรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทยหรือยังละ