ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชน ครั้งที่ ๒ / ๒๕๕๓

"สถาบันการศึกษากับการมีส่วนร่วมพัฒนาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคอีสาน" ว่าด้วย ... วิกฤตวารสารศาสตร์   ทุนท้องถิ่น   และพิราบคืนรัง

17 กันยายน ที่ผ่านมา   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดประชุมเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชน ครั้งที่ 2/2553 ภายใต้หัวข้อ " สถาบันการศึกษากับการมีส่วนร่วมพัฒนาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ภาคอีสาน" ณ.โรงแรมอุบลรีสอร์ท จ.อุบลราชธานี  โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา  ประกอบด้วย  ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี   ผศ.เมตตา ดีเจริญ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา  อาจารย์จักษุ ตะกรุดแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม  เอกนที วัชรพนมชัย รองประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน และสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้จัดการสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี   พร้อมกันนี้ ยังมีตัวแทนนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในภาคอีสานหลายสถาบัน ร่วมเปิดประเด็นเสวนาอย่างคับคั่ง

"เอกนที" เปิดประเด็นว่า  ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องการอยู่รอด แต่ด้านหนึ่งต้องตอบสนองข้อมูลข่าวสารให้กับสังคม  จึงเสมือนเป็นการยืนกันคนละมุม ฉะนั้นแล้ว  ฝ่ายวิชาชีพและวิชาการต้องร่วมมือกันเป็นทวิภาคีให้มากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษากับการแนะแนวทางจากฝ่ายวิชาชีพ

"เอกนที" ยอมรับว่า   ทุกวันนี้ มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งการผลิตบัณฑิตและการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาที่ไม่ตอบสนองกับวิชาชีพ  เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีความสนใจในวิชาชีพหนังสือพิมพ์น้อยลง  แต่สนใจงานสื่อสารมวลชนด้านอื่นมากกว่า เช่น สนใจงานโฆษณา ประชาสัมพันธ์ มากกว่าสนใจการเขียนข่าว การรายงานข่าว หากจะมี ก็จะเป็นเฉพาะบุคคลที่สนใจงานด้านวารสารศาสตร์จริงๆ   แต่นักเรียน นักศึกษาที่สนใจก็มีปัญหาในรายละเอียด   นั่นก็คือ    การจับประเด็นไม่ถูก เขียนข่าวไม่ได้  ไม่นับรวมการไม่ค้นคว้า กระทั่งไม่ชอบอ่านหนังสือ นับเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง

"เอกนที" ยังเห็นว่า   นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นปรับมาเป็นเชิงธุรกิจให้ได้อย่างเป็นระบบ  เนื่องจากทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ไม่สามารถปฏิเสธเรื่องทุน หรือเรื่องธุรกิจได้ แต่การเดินบนนถนนสายธุรกิจ ก็ต้องทำควบคู่ไปกับการผลิตเนื้อหาข่าวที่เกิดประโยชน์ ตอบสนองสังคมในท้องถิ่นนั้นๆ ได้

ด้าน "สุชัย" และ "ผศ.เมตตา" เห็นพ้องกันว่า   ข้อสังเกตประการหนึ่งขณะนี้ก็คือ แขวงวิชาวารสารศาสตร์  หรือ  หนังสือพิมพ์ เสมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 ในต่างจังหวัด  หรือเป็นศูนย์รวมของเด็กเรียนไม่เก่ง หรือเด็กที่ผิดหวังมาจากสาขาอื่น  จึงจำใจเรียนวารสารศาสตร์

ฉะนั้น  ประการสำคัญก็คือ จะมีความร่วมมือที่มากขึ้นได้อย่างไร ระหว่างสมาคมวิชาชีพสื่อและอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาในสถาบันมีใจรักในงานหนังสือพิมพ์จริง ๆ   ขณะที่อาจารย์ผู้สอนก็ต้องรักในอาชีพและวิชาชีพที่ตนเองสอนด้วย เช่นกัน

ดร.เสกสรร เล่าว่า  จากการสำรวจและติดตามผล ในสถาบันการศึกษาภาคอีสานหลายแห่ง มีความพยายามในการให้ความรู้เรื่องวารสารศาสตร์กับนักศึกษาอย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้  เช่น การจัดสัมมนาให้ความรู้กับนักศึกษา  จัดให้มีการทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในท้องถิ่น หรือหลังจากนักศึกษาผ่านการฝึกงานจากวิชาชีพมาแล้ว  ก็จัดให้มีการประเมินการฝึกงานของเด็กๆ อีกครั้งหนึ่ง

"สุชัย" และ "ผศ.เมตตา" เสนอเพิ่มเติมว่า ให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นศูนย์กลาง ในกระบวนการเรื่องการจัดทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

"อาจารย์จักษุ"     เสนอประเด็นเพิ่มเติมว่า    สถาบันการศึกษา ควรผลิตบัณฑิตเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากปัจจุบัน การผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดวิชาชีพลดลงอย่างน่าใจหาย  ขณะเดียวกันน่าจะจัดสถานที่ฝึกงานให้นักศึกษาในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ  โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสื่อข่าวและการรายงานข่าวอย่างเต็มที่

"อาจารย์จักษุ" มองว่า  วิกฤตวาสารศาสตร์ยุคปัจจุบัน นักศึกษาอาจไม่ได้เป็นปัญหาเสียทั้งหมด  แต่ปัญหาประการหนึ่งน่าจะเป็นหลักสูตร และการเรียนการสอน  ที่ไม่สอดคล้องกัน

จากผลวิจัยพบว่า นักศึกษาวารสารศาสตร์ในช่วงหลายปีมานี้  เข้าสู่วิชาชีพได้มากกว่านักศึกษาวิทยุโทรทัศน์ หรือนักศึกษาที่เรียนวิชาประชาสัมพันธ์ ฉะนั้น หากฝ่ายวิชาชีพและวิชาการดีไซน์หลักสูตรดีๆ  อย่างครบถ้วน  อาจเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ

ที่สำคัญคือ  การดึงวิชาชีพเข้ามาสู่สถาบันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้   เช่น ให้เด็กฝึกงานตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง เป็นต้น เพราะหนังสือพิมพ์ในชุมชนท้องถิ่น ก็มีปริมาณเพียงพอที่จะรับนักศึกษาเข้าฝึกงานได้

"อาจารย์จักษุ" เล่าว่า  ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  จัดฝึกอบรมพิราบน้อยของสถาบันตนเอง หรือ การฝึกอบรมนักศึกษา ก่อนก้าวเข้าสู่วิชาชีพข่าวจริงๆ เช่นเดียวกับโมเดลการจัดพิราบน้อยของสมาคมนักข่าวฯ

ฉะนั้น การนำศิษย์เก่าที่อยู่ในสนามข่าวจริง หรือ เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างๆ กลับมาเป็นวิทยากรให้กลับมหาวิทยาลัย   เป็นสิ่งที่หลายมหาวิทยาลัยทำได้

มากกว่านั้น หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันการศึกษาต้องไม่อยู่ในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง   แต่ต้องเกิดจากความศรัทธาของนักศึกษา     ที่จะเข้ามาร่วมทำกับมหาวิทยาลัย สถาบันหรือคณะก็มีส่วนช่วยด้วยการจัดกิจกรรมให้กับนักศึกษาในหัวข้อที่น่าสนใจ

"ผมเห็นว่า ทำอย่างไรก็ได้ ผลักดันเด็กส่วนกลางให้กลับท้องถิ่น   หรือเรียกว่า พิราบคืนรัง   มาช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจในท้องถิ่น ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างคนในท้องถิ่นไปในตัวด้วย "  "อาจารย์จักษุ"   ให้เหตุผลย้อนหลัง

"เอกนที" เสริมว่า     เห็นด้วยที่จะให้นักศึกษาฝึกงานตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีต้นๆ  ให้อยู่กับสถานที่จริง อยู่กับความเป็นจริงในสนามข่าว ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ก็ต้องสร้างตัวเองให้มีความพร้อมในการทำงานให้กับนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงาน   มากกว่านั้นอาจมีค่าตอบแทนกับนักศึกษาที่เหมาะสมกับการทำข่าว หรือรายงานข่าว  เพื่อให้นักศึกษาสัมผัสและซึมซับราวกับได้ทำงานข่าวจริงๆ  นี่คือระบบที่ต้องการคนบริหารทรัพย์ ดูแลตลาดทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ในวงเสวนา ยังมีการถกเถียงและหารือกันในหลายประเด็น   อาทิเช่น  การประชุมครั้งต่อไป น่าจะมีนักศึกษามารับฟัง แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นด้วยโดยตรง   หรือ การรณรงค์สร้างภาพลักษณ์วารสารศาตร์และการอ่านหนังสือให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม   มีการโปรโมตหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์  เช่น การโปรโมตจัดกิจกรรมผ่านเคเบิ้ลทีวีวีท้องถิ่น   และการจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้   วงเสวนายังเสนอความเห็นเพิ่มเติ่มว่า จะทำอย่างไรที่สถาบันการศึกษาจะแนะแนวคุณภาพเรื่องวารสารศาสตร์อย่างเป็นระบบให้กับนักศึกษา  สร้างแรงจูงใจการฝึกงานในท้องถิ่น  หรือให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีตะกร้าข่าวกลาง สามารถหยิบนำมาคุยหรือเผยแพร่ผ่านวิทยุหรือโทรทัศน์ท้องถิ่น   รวมถึงการการประกวดข่าวท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

#

กำหนดการ

ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชน  ครั้งที่ ๑ / ๒๕๕๓

หัวข้อ “สถาบันการศึกษากับการมีส่วนร่วมพัฒนาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ภาคอีสาน”

วันศุกร์ที่ ๑๗  กันยายน  ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓o - ๑๒.oo น.

ณ  โรงแรมอุบลบุรี  รีสอร์ท  จังหวัดอุบลราชธานี

โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

_______________________________________________________________________________

 

๐๘.๓๐ - ๐๙.๐๐  น.                  ลงทะเบียน

๐๙.๐๐  - ๐๙.๑๐ น.                   กล่าวแนะนำโครงการ

๐๙.๑๐ - ๑๒.๐๐  น.                  ประชุม หัวข้อ “สถาบันการศึกษากับการมีส่วนร่วมพัฒนาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ภาคอีสาน”

 

วิทยากร  นำการประชุม

ผศ.ดร.เสกสรร  สายสีสด

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ผศ.เมตตา  ดีเจริญ

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

อาจารย์จักษุ  ตะกรุดแก้ว

มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

คุณเอกนที วัชรพนมชัย

รองประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์   ภาคอีสาน

คุณสุชัย เจริญมุขยนันท

ผู้จัดการสื่อสร้างสุข  อุบลราชธานี

๑๒.๐๐  น.                                จบการประชุม

๑๒.๐๐  น.                                รับประทานอาหารกลางวัน