ความเป็นกลางของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

รายงานวิชาการ

โดย ณัชชา  อาจารยุตต์

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เรื่อง ความเป็นกลางของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กรณีศึกษา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณประกอบกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 2 รูปแบบได้แก่ 1.สัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานผลิตข่าวในกองบรรณาธิการตามลักษณะองค์กรของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 2.เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 30 เมษายน 2553

ผลการศึกษาพบว่า

1.      กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ให้ความสำคัญกับความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวซึ่งมีการกำหนดนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง มาสู่กองบรรณาธิการผ่านการประชุมทุกสัปดาห์ ส่วนการตีความในเรื่องความเป็นกลาง (Objectivity) และวิธีการที่ให้ได้มาซึ่งความเป็นกลางของผู้รับผิดชอบงานด้านข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มีความแตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม “ความเป็นกลาง” ที่เกิดขึ้นในการทำงานก็คือการพยายามทำงานโดยปราศจากอคติ ระมัดระวังการทำงานไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์เอนเอียง นำเสนอข่าวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

2.      ส่วนการให้พื้นที่ในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2553 มีการให้พื้นที่ประเด็นด้านอื่นๆ (หมายถึงข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆที่นอกเหนือจากคู่ขัดแย้งทั้งสองขั้ว ได้แก่ กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มธุรกิจ แหล่งข่าวต่างประเทศ ผลกระทบจากส่วนอื่น รวมไปถึงข้อมูลที่มาจากการรายงานโดยตรงของผู้สื่อข่าวที่มาจากการสังเกตสถานการณ์และบรรยากาศในพื้นที่) มากที่สุดประมาณ  556 ประเด็น หรือคิดเป็น 40.70% รองลงมาเป็นการนำเสนอประเด็นด้านนปช.ประมาณ 415 ประเด็นหรือคิดเป็น 30.38% และประเด็นด้านภาครัฐประมาณ 395 ประเด็นหรือคิดเป็น 28.9%

คำนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมแต่ละครั้งสื่อมวลชนมักเข้ามามีบทบาทต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามลักษณะหน้าที่ โดยเฉพาะ ในสังคมประชาธิปไตย  เนื่องจากประชาชนต้องอาศัยการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อมวลชน จึงหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานควบคู่ไปด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ความขัดแย้งระดับประเทศระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และลุกลามไปสู่ความขัดแย้งจากอีกหลายภาคส่วนของประเทศ ทุกส่วนของสังคมนับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งถึงการทำงานของสื่อสารมวลชนท่ามกลางกระแสความขัดแย้งดังกล่าวนี้

จากอดีตจนถึงปัจจุบันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าในประเทศหรือระหว่างประเทศอาวุธที่สำคัญในการต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้งไม่ใช่กระบอกปืนแต่เป็นสื่อมวลชนเพราะสื่อมีอิทธิพลต่อคน การช่วงชิงพื้นที่จากสื่อถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมและดึงมวลชนเข้าไปเป็นพวก ทำให้สื่อตกเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองเสมอมา   แม้ว่าปัจจุบันลักษณะการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อของมนุษย์จะมีความแตกต่างจากอดีตเพราะมีช่องทางให้เลือกรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่สื่อกระแสหลักก็ยังได้รับความนิยมและถูกพึ่งพาควบคู่กัน จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ลุกลามทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามต่อสื่อมวลชนว่า “สื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่” เพราะคนทำสื่อซึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลมากกว่าประชาชนที่สื่อสารกันทั่วไปก็มีอารมณ์ความรู้สึก มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับปุถุชน ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นจะถูกสอดแทรกหรือสะท้อนผ่านช่องทางของสื่อสารมวลชนหรือไม่ โดยเฉพาะใน “ข่าว” ที่ตามหลักทฤษฎีนิเทศศาสตร์ให้ความหมายว่า ข่าว คือ การรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังมีการกำหนดคุณสมบัติของข่าวไว้อย่างกว้างขวางว่าจะต้องมีความถูกต้อง  สมดุล  เที่ยงตรงหรือเป็นภววิสัย และชัดเจน

เรื่องของ“ความเป็นกลาง”  ซึ่งนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ให้นิยาม เรียกชื่อหรือเลือกใช้คำที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นเที่ยงตรง ปรวิสัย  ภววิสัย แต่รากฐานมาจากคำเดียวกันคือ Objectivity ซึ่งโดยสรุปก็คือการรายงานข่าวจะต้องทำโดยปราศจากอคติส่วนตัวของผู้สื่อข่าว

แต่ในปัจจุบันการตีความเรื่องความเป็นกลางของนักสื่อสารมวลชนอาจแตกต่างออกไปจากทฤษฎี หลายฝ่ายหรือแม้แต่ทฤษฎีบางทฤษฎีไม่กล่าวถึงความเป็นกลาง เพราะเชื่อว่าไม่มีความเป็นกลางอยู่จริงบนโลกและไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่เป็นกลาง ความเป็นกลางเป็นสิ่งที่วัดกันได้ยาก ดังเช่นที่ เอกพันธ์  ปิณฑวนิช นักวิชาการศูนย์ศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวไว้ในงานเสวนา วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (2553) ว่าในโลกนี้ไม่มีใครเป็นกลาง ความเป็นกลางไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น สื่อสามารถเลือกข้างได้แต่ต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่สื่อออกไป เป็นความไม่เป็นกลางที่มีความรับผิดชอบซึ่งถือเป็นจรรยาบรรณ และเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ แสดงทัศนะไว้(สัมภาษณ์ ; 2553) ว่าสถานการณ์ขณะนี้สื่อมวลชนถูกกล่าวหาว่าอยู่ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ สื่อมวลชนไม่ได้เป็นกลางตลอด สามารถแสดงความคิดเห็นสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ การวางตัวเรื่องความเป็นกลางไม่ใช่เรื่องของความคิดแต่เป็นการปฏิบัติตัวเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ จนมาถึงการรายงานข่าวที่เป็นจริงไม่ใส่อคติลงไป หรือแม้แต่ วรพล พรหมิกบุตร , 2540 (อ้างถึงในนิมิต สุขประเสริฐ ,2550)ที่ระบุว่าความเป็นกลางของข่าว คือการรายงานเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ข่าวที่มีความเป็นกลางคือการรายงานที่สมจริงสอดคล้องถูกต้องตามสภาพอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น รายงานข่าวที่เป็นกลางอย่างสมบูรณ์ถูกต้องสมจริง 100 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถมีจริงได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากความขาดตกบกพร่องของบุคคลและเทคโนโลยีที่ใช้บันทึกและเผยแพร่ข่าวสาร แต่ข่าวที่มีความเป็นกลางหรือความถูกต้องสอดคล้องสมจริงค่อนข้างมากหรือเกือบสมบูรณ์ สามารถมีได้จริงในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามความเป็นกลางยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันทั้งในแวดวงวิชาการและวงการสื่อสารมวลชนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง จึงมีความน่าสนใจที่จะศึกษาเรื่องความเป็นกลางในความหมายตามทฤษฎีแวดวงวิชาการ และความเป็นกลางในแง่ของผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่สื่อสารมวลชน โดยเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ที่ออกสู่สายตาประชาชน

วัตถุประสงค์การศึกษา

เพื่อศึกษาความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

คำถาม

1. กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ให้ความสำคัญกับความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวหรือไม่ การตีความเรื่องความเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งขณะนี้เของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลิตข่าวของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นอย่างไรและมีวิธีในการได้มาซึ่งความเป็นกลางอย่างไร

2.การให้พื้นที่ในการนำเสนอข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นอย่างไร

แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1.แนวคิดเกี่ยวกับการรายงานข่าว

2. ทฤษฎีความเป็นกลางของสื่อมวลชน

แนวคิดเกี่ยวกับการรายงานข่าว

คุณสมบัติของข่าว (Quality of News) ข่าวที่ดีจะต้องมีความถูกต้อง (Accuracy) มีความสมดุลและเที่ยงธรรม (Balance and Fairness) เป็นภววิสัย (Objectivity) และมีความกะทัดรัด ชัดเจน (Conciseness and Clearness)

ข่าวที่ดีจะต้องเป็นภววิสัย  ข่าวเป็นการรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ตามที่เกิดขึ้น มิใช่เหตุการณ์ที่มีผู้คนคาดหมายล่วงหน้าว่ามันควรจะต้องเป็นหรือนักข่าวปรารถนาจะให้เป็น ถึงแม้ว่านักข่าวนั้นจะใช้ความเชื่อมั่นส่วนตัว มีความสนใจหรือมีความเกี่ยวพันเป็นส่วนตัวกับสิ่งรอบๆกายก็ตามแต่เมื่อนักข่าวต้องทำข่าวเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับความรู้สึกส่วนตัวความเชื่อมั่นส่วนตัวเขาจะต้องละทิ้งความรู้สึกส่วนตัวไปเสีย แล้วรายงานข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติและตรงไปตรงมาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ผู้อ่านแต่ละคนค้นหาความจริงในข่าวนั้นด้วยตัวของผู้อ่านเอง  ข่าวที่มีลักษณะเป็นภววิสัยจึงหมายความว่าข่าวที่ปราศจากอคติส่วนตัวของนักข่าว หรือปลอดจากอิทธิพลภายนอกซึ่งอาจจะทำให้ข่าวนั้นปรากฏออกมาเป็น “อะไรอย่างอื่น” ที่มิใช่ข่าวนั่นเอง (สิรินทิพย์ ขันสุวรรณ,2539 ;148)

ความเป็นภววิสัยคือการทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติใดๆ จะเอาความเห็นส่วนตัวมาปะปนด้วยเพื่อให้เนื้อข่าวบางส่วนถูกกำหนดโดยคิดนึกในใจหรือด้วยความรู้สึกของตัวเราเอง ในทางปฏิบัติเราจะ เสนอข่าวให้มีลักษณะเช่นที่กล่าวนี้ได้อย่างไร ขอให้ยึดหลักที่ว่า รายงานข่าวจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง อย่างไม่มีอคติ ส่วนตัว อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง มีคุณค่าทางข่าวให้รายงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ควรใช้ความรู้สึกส่วนตัวไปพัวพันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รายงานข่าวอย่างรอบด้านให้ผู้อ่านตัดสินใจเอง ประเด็นนี้อาจนำไปสู่เรื่องของความเป็นกลางที่สื่อมวลชนและสังคมเรียกร้องความเป็นกลางในการทำหน้าที่เพื่อรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวหรือสื่อมวลชนโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบางคนเห็นว่าความเป็นกลางเป็นเรื่องอุดมคติจนดูเลื่อนลอย ใครกล่าประกาศรับรองความเป็นกลางได้บ้าง บางคนยอมรับว่าความเป็นกลางเป็นเพียงความพยายามของคนๆหนึ่งที่อาจสามารถทำได้ตามสติปัญญาด้วยความระมัดระวัง แต่ในทางปฏิบัติและความเป็นจริงของการเสนอข่าวจะต้องนำข้อเท็จจริงของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เป็นจริง( พิศิษฐ์ ชวาลาธวัชและคณะ ,;2549)

นรินทร์ นำเจริญ (2549) ระบุถึง ปรวิสัยหรือความเป็นกลาง (Objectivity) ไว้ในประเด็นทางจริยธรรมของสื่อสารมวลชน(Ethics Issues) โดยหมายความถึงการรายงานแต่ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา โดยแยกอารมณ์ความรู้สึก ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นออกจากกัน โดยทั่วไปข่าวจะนำเสนอข้อเท็จจริง บทความจะนำเสนอข้อคิดเห็น การรายงานข่าวอย่างเป็นกลางจะต้องพูดแต่ความจริงทั้งหมดและไม่มีอะไรอีกนอกจากความจริง ความเป็นกลางถือเป็นหลักการสื่อสารมวลชนที่สำคัญมาก สื่อมวลชนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านำเสนอข่าวอย่างไม่เป็นกลาง กล่าวคือนำเสนอเพียงบางแง่บางด้าน เช่นกรณีที่มีการโต้แย้ง สื่อก็นำเสนอแต่ประเด็นในฝ่ายที่สื่อเห็นด้วย ดังนั้นจึงมักมีการตั้งข้อสงสัยเสมอว่าเป็นได้หรือไม่ว่าผู้ที่ให้การสนับสนุนสื่อ คนรู้จัก ผู้มีบุญคุณหรืออื่นๆของผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการจะมีอิทธิพลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในการนำเสนอข่าว

พันธะหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของสื่อสารมวลชนคือไม่ควรจะยอมตามแหล่งข่าวหรือยอมให้แหล่งข่าวเข้ามามีอิทธิพลเหนือการรายงานของสื่อ โดยทำให้การนำเสนอนั้นเหลือเพียงบางแง่มุม และสื่อก็ไม่ควรใช้ข้ออ้างเรื่องกำหนดเวลาหรือการเข้าไม่ถึงแหล่งข่าวมาอธิบายว่าทำไมข้อมูลจึงถูกนำเสนอเพียงบางด้านเพราะจริยธรรมการสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุดคือความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และความเป็นธรรม ดังนั้นเมื่อผู้สื่อข่าวรู้ว่าข้อมูลจากแหล่งต่างๆยังไครบถ้วนก็ต้องยิ่งใช้ความพยายามมากขึ้น ผู้สื่อข่าวจะต้องแน่ใจว่าได้เข้าถึงทุกด้านของประเด็นที่กำลังมีการโต้แย้งแล้ว แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับทัศนะของแหล่งข่าวนั้นๆหรือไม่หรือทัศนะของแหล่งข่าวนั้นจะดูไม่มีเหตุผลก็ตาม

อย่างไรก็ดีการยอมรับจากพื้นฐานที่ว่าการรายงานข่าวอย่างเป็นกลางคือการรายงานข่าวอย่างมีจริยธรรมได้ตั้งประเด็นคำถามที่น่าสนใจเพราะความเป็นกลางคือการ “ไม่เอาตัวเองไปตัดสิน” ในขณะที่จริยธรรมหมายถึงการที่เรา “ต้องใช้สำนึกจากตัวตนของเราในการตัดสิน” ดังนั้นการพยายามที่จะมีทั้งสองอย่างในขณะเดียวกัน คือช้ำนึกจากตัวตนและไม่ใช้สำนึกจากตัวตนเป็นความแปลกแยกอย่างยิ่งสำหรับการทำงาน

นอกจากนี้ความเป็นกลางของสื่อมวลชนในปัจจุบันยังถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ผู้สื่อข่าวจะเป็นกลางได้เพราะการนำเสนอข่าวต้องผ่านการตีความจากผู้สื่อข่าวเสมอ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้สื่อข่าวต้องเลือกตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือการนำเสนอข่าว ในขณะที่ความเป็นกลางกลับมีความหมายให้ผู้สื่อข่าวแยกตัวเองออกจากการตีความของตนเอง

ภายใต้การอธิบายเช่นนี้จึงมีความพยายามที่จะอธิบายความเป็นกลางใหม่ เปลี่ยนท่าทีหรือวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นกลางจากเดิมที่มองว่าความเป็นกลางเป็นเรื่องของ “วิธีการ” ที่จะเป็นกลางไปสู่ความหมายที่มีความเกี่ยวพันกับความเป็นธรรม (Fairness) และความสมดุล (Balanced) ดังนั้น ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับจริยธรรมซึ่งสื่อมวลชนต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้จึงถูกนำมาอธิบายใหม่ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความเป็นธรรม (Fair) และความสมดุล (Balanced) ต่อความคิดเห็นทั้งหมดที่แสดงออกมา หน้าที่ของสื่อมวลชนก็คือการนำเสนอข้อคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ไปสู่ผู้อ่านอย่างเป็นธรรมและสมดุล นำเสนอทัศนคติโดยบุคคลซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่ควรจะเป็น (นรินทร์ นำเจริญ, 2549)

สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ (2545) แสดงทัศนะถึงความเที่ยงตรงหรือภววิสัย (Objectivity) ว่าเป็นการเขียนข่าวโดยไม่ผสมโรงความรู้สึกหรือความคิดเห็นของตนลงไปในการรายงานข่าว แต่ต้องรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ ไม่เอาตัวเองเข้าไปพัวพัน ไม่มีผลประโยชน์ในการรายงานข่าว ผู้สื่อข่าวต้องทราบดีว่าจะต้องมีความเป็นกลางในการรายงานข่าว

ทฤษฎีความเป็นกลางของสื่อมวลชน

ในสังคมประชาธิปไตยที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข่าวสารการเมือง รวมทั้งบทความทางหนังสือพิมพ์ที่มีลักษณะตำหนิวิจารณ์และที่สนับสนุนรัฐบาลสามารถปรากฏอยู่ด้วยกันทำให้สาธารณชนรับรู้ข้อมูลจากหลายแหล่งเปรียบเทียบกันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นจริงในที่สุด “ความเป็นกลาง” ของสื่อมวลชนจะถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการตรวจสอบเปรียบเทียบข่าวสารข้อมูลเช่นนั้นในทางปฏิบัติ ความเป็นกลางของข่าวสารข้อมูลยังมิได้เกิดขึ้นทันทีที่สื่อมวลชนอ้างว่าข่าวสารของตนเป็นกลาง โดยธรรมชาติของกระบวนการสื่อสารมวลชน  “ความเป็นกลางของข่าวสาร” คือสิ่งที่จะค่อยๆก่อตัวและปรากฏภายหลังจากที่ข่าวสารข้อมูลหลายแหล่งถูกแพร่หลายและนำเสนอให้สาธารณชนพิจารณาเปรียบเทียบกัน (วรพล พรหมิกบุตร ,2540 อ้างถึงในนิมิต สุขประเสริฐ, 2550)

การเปรียบเทียบข่าวสารข้อมูลจากหลายแหล่งข่าวจะช่วยให้ข้อมูลที่บิดเบือนถูกตรวจพบและขจัดทิ้งไปในขณะที่แก่นของข้อเท็จจริงจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงขึ้นทุกขณะด้วยกระบวนการเช่นนี้ “ความเป็นกลาง” จึงค่อยๆก่อตัวขึ้นพร้อมความจริงปรากฏ คำถามเรื่องความเป็นกลางของสื่อมวลชนยังคงเป็นประเด็นที่ไม่เคยล้าสมัย ทั้งในแง่ที่เป็นปัญหาเชิงวิชาการหรือในแง่ที่เป็นปัญหาทางปฏิบัติ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐ สื่อสารมวลชน และประชาชนสังคม

วรพล พรหมิกบุตร (2540) ระบุว่า ในช่วงเวลาที่สังคมตกอยู่ภายใต้การควบคุมของการเมืองแบบเผด็จการหรือการครอบงำทางการเมืองแบบอำนาจนิยม สื่อสารมวลชนมีแนวโน้มจะถูกกำหนดทั้งแนวทางการทำงานและสาระของข่าวสารที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนภายในกรอบที่ควบคุมโดยองค์กรตัวแทนผู้มีอำนาจรัฐ  ในสภาวการณ์ดังกล่าวนี้ “สื่อสารมวลชนของรัฐ” จะถูกควบคุมการทำงานโดยตรง ขณะที่ “สื่อมวลชนนอกภาครัฐ” จะถูกควบคุมโดยกฎระเบียบและกรรมวิธีตรวจสอบเซ็นเซอร์ในสถานการณ์ดังกล่าว สื่อมวลชนจำนวนมากอาจมีแนวโน้มเอนเอียงเข้าข้างผู้ใช้อำนาจรัฐ ความลำเอียงนั้นก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นกลางของสื่อมวลชน ในทางตรงกันข้ามเมื่อสังคมอยู่ในบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในทุกๆด้านมากขึ้น แนวโน้มการปรากฏตัวขององค์กรในสังคมและสื่อสารมวลชนที่มุ่งเอนเอียงไปในทางการวิจารณ์คัดค้านผู้ใช้อำนาจรัฐจะปรากฏเด่นชัดขึ้นเป็นแนวโน้มทางสังคมในห้วงเวลานั้น แนวโน้มทางสังคมดังกล่าวก็ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับ “ความเป็นกลาง” ของสื่อสารมวลชนได้เช่นเดียวกัน

ปัญหาความเป็นกลางของข่าวในบริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน สาธารณชนอาจสังเกตเห็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสื่อสารมวลชน ในบริบทหนึ่งสาธารณชนสังเกตเห็นสื่อสารมวลชนที่เต็มไปด้วยความลำเอียงเข้าข้างผู้มีอำนาจ ในอีกบริบทหนึ่งสาธารณชนสังเกตเห็นสื่อสารมวลชนที่มีความโน้มเอียง ในทางวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านผู้มีอำนาจรัฐ ทั้งสองบริบทสาธารณชนสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นกลางของสื่อมวลชนในสังคมของตน

ปัญหาความเป็นกลางในบริบทแรกเป็นคำถามเกี่ยวข้องกับการครอบงำของการเมืองแบบอำนาจนิยม ปัญหาความเป็นกลางในคำถามแห่งบริบทที่สองเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพแสดงวามคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย ในทางทฤษฎีการแก้ไขปัญหาความเป็นกลางในบริบทการเมืองประชาธิปไตยไม่อาจกระทำได้ด้วยการงดหรือยกเลิกสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวสาร วิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐ แต่ในทางปฏิบัติสาธารณชนสังเกตเห็นความพยายามของรัฐที่จะกระทำเช่นนั้น

ความเป็นกลางของข่าว คือการรายงานเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ข่าวที่มีความเป็นกลางคือการรายงานที่สมจริงสอดคล้องถูกต้องตามสภาพอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น รายงานข่าวที่เป็นกลางอย่างสมบูรณ์ถูกต้องสมจริง 100 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถมีจริงได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากความขาดตกบกพร่องของบุคคลและเทคโนโลยีที่ใช้บันทึกและเผยแพร่ข่าวสาร แต่ข่าวที่มีความเป็นกลางหรือความถูกต้องสอดคล้องสมจริงค่อนข้างมากหรือเกือบสมบูรณ์ สามารถมีได้จริงในทางปฏิบัติ

แนวคิดเกี่ยวกับการรายงานข่าวและทฤษฎีความเป็นกลางของสื่อมวลขนจะถูกใช้เป็นกรอบในการศึกษา รวมทั้งตั้งคำถามเพื่อสัมภาษณ์หาคำตอบจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับความเป็นกลาง การตีความเรื่องความเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลิตข่าวของกองบรรณาธิการรวมทั้งวิธีในการได้มาซึ่งความเป็นกลาง

วิธีการเก็บข้อมูล

การศึกษาค้นคว้าเรื่องความเป็นกลางของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)และรัฐบาล กรณีศึกษา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในครั้งนี้ผู้ศึกษาใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล 2 รูปแบบได้แก่

1.สัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานผลิตข่าวในกองบรรณาธิการตามลักษณะองค์กรของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

2.เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 30 เมษายน 2553

ผลการค้นพบ

ส่วนที่ 1

การคัดเลือกประเด็นขึ้นมาพาดหัวข่าวต้องสามารถแข่งขันได้และเป็นกลาง บรรณาธิการต้องตัดอคติและกลั่นกรองอย่างละเอียดเพื่อให้ข่าวปราศจากอคติและเป็นกลางมากที่สุดเพราะต้องรับผิดชอบข่าวที่นำเสนอสู่ประชาชน

กระบวนการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และผลลัพธ์ที่ปรากฏ

ผู้สื่อข่าวต้องตระหนักก่อนเข้าไปทำงานในสถานการณ์ต่างๆ วางตัวเหนือความขัดแย้งทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

 

รีไรท์เตอร์เหมือนทีมบัญชาการการเดินข่าวในแต่ละวัน สั่งให้นักข่าวหาข้อมูลให้ครบพิจารณาเนื้อหาและเลือกนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริง รีไรท์เตอร์ทุกคนย่อมมีอคติส่วนตัวแต่เมื่อมาทำหน้าที่ก็ต้องตัดอคติออกไป

 

การรายงานข่าวต้องไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อประชาชน ถ้ามีความรุนแรงมาก จาบจ้วงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหมิ่นเหม่ก็ต้องตัดออก หัวหน้าข่าต้องตัดสินใจเพื่อดำรงรักษาความเป็นกลางไว้ให้มากที่สุด

 

สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมภาคสนาม

ความเป็นกลางและการได้มาซึ่งความเป็นกลาง

นักข่าวต้องศึกษาข้อมูลความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายแล้ววางตัวเองอยู่เหนือความขัดแย้งให้ได้ ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกที่ในใจลึกๆอาจจะมี และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และไม่ไปเติมเชื้อไฟให้ยิ่งลุกลามไปอีกพยายามไม่มีอารมณ์และคิดว่าไม่ใช่สงครามของเราเรามีหน้าที่เพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

ในการทำงานความเป็นกลางเกิดขึ้นเมื่อก่อนที่เราจะเข้าไปในสถานการณ์ ต้องตระหนักก่อนแล้วทำออกมาให้ดี ส่วนผลที่ออกมาโดยภาพรวมอาจขึ้นอยู่กับหลายฝ่ายนักข่าวไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพราะในแต่ละวันจะรับผิดชอบเฉพาะสถานการณ์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำเท่านั้น ส่วนน้ำหนักในการเลือกข้อมูลมานำเสนอเป็นหน้าที่ของหัวหน้าข่าว  สิ่งสำคัญคือหัวหน้าข่าวต้องมองให้ออกมีวิจารณญาณในการเลือกนำเสนอข้อมูลที่นักข่าวในพื้นที่ส่งเข้าไปเพราะบางครั้งนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่อาจคล้อยตามไปกับข้อมูลที่ตนได้รับฟังมา ส่วนหน้าที่ของผู้สื่อข่าวต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มมีข้อดีข้อเสีย มีเหตุผลที่แตกต่างกันซึ่งต้องทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ เพราะสื่อสารมวลชนถือเป็นพื้นที่โฆษณาอย่างหนึ่งขึ้นอยู่ที่ใครจะสามารถช่วงชิงพื้นที่ได้

สถานการณ์ในขณะนี้มีความขัดแย้งที่รุนแรง เรียกได้ว่าไม่เหลือความเป็นกลางในประเทศ ไม่เหลือคนที่ขึ้นชื่อว่า “กลาง” สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะวัดว่าเป็นกลางหรือไม่คงต้องรอให้เวลาผ่านไป 10 ปีแล้วมองย้อนกลับมาเนื่องจากในขณะนี้ไม่สามารถมองได้อย่างกระจ่างชัด ตราบใดที่การทำงานมีคนชมบ้างและตำหนิบ้างก็ถือเป็นตัววัดได้อย่างหนึ่งว่าการทำหน้าที่ยังคงมีความเป็นกลางอยู่ แต่ตราบใดที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชมหรือตำหนิอย่างเดียวก็คงไม่แน่ว่าเราทำหน้าที่ได้ดีแล้วหรือไม่ (ณัฐกมล ไชยสุวรรณ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

สัมภาษณ์ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง (รีไรท์เตอร์)

ความเป็นกลางและการได้มาซึ่งความเป็นกลาง

ความเป็นกลางคือการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ใคร ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร นำเสนอผลของเหตุการณ์ ส่วนเรื่องของความคิดเห็นต้องสัมภาษณ์ให้ครบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงจะเรียกว่าเป็นกลาง  ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือความไม่ชัดเจนจากการไม่นำเสนอข้อมูลให้ครบทุกฝ่าย หน้าที่ของรีไรท์เตอร์เหมือนเป็นทีมบัญชาการในการเดินข่าวในแต่ละวัน สั่งให้นักข่าวหาข้อมูลเพิ่มให้ครบ  ปัญหาของการนำเสนอข่าวความขัดแย้งระหว่างนปช.และรัฐบาลคือทุกฝ่ายพูดจริงไม่หมด สังคมต้องการความจริง ทั้งนี้ในการทำงานเราไม่สามารถรู้จักตัวตนของนักข่าวได้ครบทั้งหมด ไม่รู้ว่าเป็นฝักฝ่ายใดแต่ต้องพิจารณาจากเนื้อหาของข่าวและเลือกนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริง คำพูดที่หมิ่นเหม่ หยาบคายหรือเป็นประเด็นเดิมๆก็ต้องตัดทิ้ง ข้อมูลเชิงลึกบางประเด็นเสนอไม่ได้ก็ต้องตัดทิ้งเพราะพื้นฐานของนักข่าวจะไม่ค่อยตัดประเด็น ไม่เรียบเรียงเมื่อสัมภาษณ์เสร็จจะส่งมาทันที ส่วนรีไรท์เตอร์ทุกคนย่อมมีอคติส่วนตัวแต่เมื่อต้องมาทำหน้าที่คัดกรองเนื้อหาให้คนทั้งประเทศอ่านก็ต้องตัดอคติออกไปเพื่อให้ปัญหาจบเร็วที่สุด

การหาความเป็นกลางของสื่อเป็นเลือกที่ลำบากเพราะสื่อคือธุรกิจ ต้องกินต้องใช้สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือนำเสนอทางออกแต่โดยทั่วไปการนำเสนอทางออกจะถูกกล่าวถึงเป็นประเด็นสุดท้ายเสมอ  ตามปกติเนื้อหาข่าวไม่ค่อยเอียงแต่จะเอียงที่พาดหัวและความนำเพราะเลือกใช้คำเพียงไม่กี่คำที่จะสรุปประเด็นข่าวทั้งหมด (นพปฏล รัตนพันธ์ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง)

สัมภาษณ์หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง

ความเป็นกลางและการได้มาซึ่งความเป็นกลาง

ความเป็นกลางคือการนำเสนอข่าวทั้งสองด้านของทุกข่าวที่นำเสนอ การทำหน้าที่ของเดลินิวส์เป็นกลางตามนโยบายของผู้บริหาร คือต้องเป็นกลาง เป็นความจริง ไม่ใส่สีตีไข่ ไม่มีอคติ ในฐานะหัวหน้าข่าวต้องสั่งให้ผู้สื่อข่าวเลือกประเด็นที่จะส่งและให้นักข่าววางตัวเป็นกลางไม่มีอคติ นอกจากนี้หัวหน้าข่าวต้องรู้จักตัวผู้สื่อข่าวว่าเป็นอย่างไรด้วย เมื่อส่งข่าวเข้ามาเป็นหน้าที่รีไรท์เตอร์ต้องตรวจสอบก่อนนำเสนอ ทั้งนี้การรายงานข่าวต้องไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อประชาชน ถ้าหากมีความรุนแรงมากเกินไปหรือจาบจ้วงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหมิ่นเหม่ก็จำเป็นต้องตัดออก หัวหน้าข่าวและบรรณาธิการข่าวแต่ละเวรต้องตัดสินใจเพื่อดำรงรักษาความเป็นกลางไว้ให้มากที่สุด

สำหรับการนำเสนอข่าวความขัดแย้งระหว่างนปช.กับรัฐบาลไม่ได้มีการจำกัดพื้นที่ว่าข้อมูลของแต่ละฝ่ายต้องอยู่ในกรอบพื้นที่เท่าไรแต่ใช้วิธีคัดเลือกประเด็น สาระของเหตุการณ์ รวมทั้งเสนอภาพรวมทั่วไปของสถานการณ์ ส่วนการพาดหัวข่าวต้องดูจากประเด็นในแต่ละวันและพิจารณาว่าคนอ่านจะได้อะไรบ้าง ไม่ก้าวร้าว กระทบต่อประเทศชาติ มีความเป็นกลางการทำงานไม่ยากกว่าในสถานการณ์ปกติแต่ต้องมีความละเอียดมากขึ้น รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งจากเว็บไซต์และโทรทัศน์ตลอดเวลา (ธีรชัย หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง)

สัมภาษณ์บรรณาธิการข่าว

ความเป็นกลางและการได้มาซึ่งความเป็นกลาง

ความเป็นกลางคือการเสนอข่าวตามความจริงของเหตุการณ์ ซึ่งเป็นไปตามกระแส โดยพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงให้ครบทุกฝ่าย แม้ว่าบางวันกลุ่มนปช.จะมีความเคลื่อนไหวมากกว่าฝ่ายอื่นๆ ทำให้ข้อมูลเข้ามาเป็นจำนวนมากก็ไม่สามารถลงทั้งหมดได้ต้องตัดออกเหลือพื้นที่ให้กับข้อมูลด้านอื่นด้วย

สำหรับการพาดหัวก็ต้องพิจารณาจากประเด็นที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมไปถึงการเลือกภาพเพื่อลงหน้าหนึ่งต้องพยายามให้มีทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

กระบวนการการผลิตข่าวต้องผ่านหลายฝ่ายก่อนมาถึงบรรณาธิการ โดยเฉพาะรีไรท์เตอร์ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงข่าวทั้งหมด บรรณาธิการต้องเข้าใจธรรมชาติเวรแต่ละเวรด้วยว่ามีความชื่นชอบฝ่ายใดเป็นพิเศษหรือไม่เพราะอาจส่งผลต่อการให้หัวข่าวในแต่ละประเด็น ทำให้ต้องกลั่นกรองอย่างละเอียดอีกขึ้นหนึ่งเพื่อให้ข่าวที่ออกมาปราศจากอคติและมีความเป็นกลางมากที่สุด ทั้งนี้ตามปกติเนื้อหาข่าวไม่ค่อยมีปัญหา นำเสนออย่างตรงไปตรงมา แต่มักมีปัญหาที่หัวขั้นในหน้าต่อข่าวและโปรยข่าวที่มักมีอคติแฝงลงไป ซึ่งบรรณาธิการต้องพิจารณาอย่างละเอียดก่อนส่งไปตีพิมพ์

เดลินิวส์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นกลาง เพราะมีการกำหนดแนวทางจากบรรณาธิการใหญ่ในการประชุมร่วมเสมอๆ บรรณาธิการข่าวต้องพยายามตัดอคติออกไปให้ได้เพราะต้องรับผิดชอบข่าวที่นำเสนอสู่ประชาชน  ซึ่งการทำงานในช่วงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้บรรณาธิการเครียดกว่าปกติ โดยเฉพาะการคัดเลือกประเด็นขึ้นมาพาดหัวข่าวที่ต้องสามารถแข่งขันได้และต้องเป็นกลาง ไม่ให้โน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป (อภิชัย รุ่งเรืองกุล บรรณาธิการข่าว)

ส่วนที่ 2

ผู้ศึกษาได้เก็บรวมรวมข้อมูลพาดหัวข่าวและประเด็นต่อข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในช่วงเวลา 30 วันตลอดเดือนเมษายน 2553 เพื่อวิเคราะห์การให้พื้นที่ของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายได้แก่รัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ   (นปช.) โดยจำแนกประเด็นออกเป็นสามด้านได้แก่ ประเด็นด้านภาครัฐ ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่มาจากแหล่งข่าวภาครัฐรวมไปถึงฝ่ายตำรวจและทหาร ประเด็นด้านนปช. ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่มาจากแหล่งข่าวฝ่ายนปช.ทั้งหมดรวมไปถึงนปช.แต่ละภูมิภาคด้วยและประเด็นด้านอื่นๆซึ่งหมายถึงข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆที่นอกเหนือจากคู่ขัดแย้งทั้งสองขั้ว ได้แก่ กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มธุรกิจ แหล่งข่าวต่างประเทศ ผลกระทบจากส่วนอื่น รวมไปถึงข้อมูลที่มาจากการรายงานโดยตรงของผู้สื่อข่าวที่มาจากการสังเกตสถานการณ์และบรรยากาศในพื้นที่ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2553 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ให้พื้นที่ประเด็นด้านอื่นๆมากที่สุดประมาณ  556 ประเด็น หรือคิดเป็น 40.70% รองลงมาเป็นการนำเสนอประเด็นด้านนปช.ประมาณ 415 ประเด็นหรือคิดเป็น 30.38% และประเด็นด้านภาครัฐประมาณ 395 ประเด็นหรือคิดเป็น 28.9%

ตัวอย่างตารางแสดงพาดหัวข่าวและการให้พื้นที่ประเด็นที่นำเสนอ

ว/ด/ป

พาดหัวข่าว

ประเด็นด้านภาครัฐ

ประเด็นด้านนปช.

ประเด็นด้านอื่นๆ

11 เม.ย 53

นองเลือดปะทะเดือดทหาร-เสื้อแดง ตาย 12 บาดเจ็บร่วมครึ่งพัน 100 กระสุน-บึ้มใส่

กลางวง

- ทหารคุมเข้มไทยคม

- ขนทหารตรึงกำลังเข้ม

- ขอพื้นที่ตามแผน

- โดนบุกก่อนจำเป็นสลาย

- เริ่มแผนขอคืนสองทิศ

-ทหารโดนยังไม่มีสั่งฆ่า

-เอาคืน 2 จุดชุมนุมใหญ่

-มาร์คพอใจปูด 3 แนวสู้

-ตร.เลิกเฝ้าราชประสงค์

-2 ฝ่ายพักยกเจรจา

-ประยุทธ์กร้าวใส่นปช.

-แจงขั้นตอนยิงกระสุนจริง

ยึดเครื่องยึงเอ็ม 79 ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- แดงอัดรบ.ไม่จริงใจ

- อ้างตำรวจจับ 3 แกนนำ

- แฉรัฐสั่งสลายม็อบแดง

- แดงลุยลื้อด่านจนท.

- บุกทัพภาค 1 ตึงเครียด

- ปะทะยิงแก๊ส-กระสุนยาง

- แดงฮือยิงถล่มกันสนั่น

- ราชประสงค์พร้อมลุย

- ตร.-ทหารกดดันเครียด

- โชว์คนเจ็บ แม้วปลุกคน

- ขู่ทหารไม่หยุดเจอหนัก

- สู้ต่อเนื่องโคมลอยสู้ ฮ.

- แดงเชียงใหม่รวมพลังสู้

- ระดมพลบุกศาลากลาง

- ขอนแก่นต้านสลายชุมนุม

- แดงคุมเข้มสถานีวิทยุ

- ปิดล้อมสนามบินอุบล

- เกาะติดการชุมนุมใหญ่

- นำกำลังสมทบช่วยผ่านฟ้า

- แดงสมทบผ่านฟ้า

- ตายสังเวยม็อบ 5 ศพ

 

- ฮือทำร้ายเวทีป่วน

- ลุยหน้าทำเนียบอุตลุต

- ม็อบเจ็บปลุกคนสู้

- ลุยกลางแยกมัฆวาน

- ผลัดกันรุกรับกันเครียด

- ฮ.ทิ้งแก๊สน้ำตาหน้าผ่านฟ้า

- ทหารม็อบเจ็บระนาว

- ขสมก.ระวังเดินรถเมล์

- บีทีเอสสูญรายได้ 10 ล./วัน

- ทหารปะทะม็อบอีกรอบ

- แยกคอกวัวยิงสนั่น

- ปาบึ้มทหารเจ็บ 10 นาย

- พ.อ.นั่ง ฮ.โดนยิง

- ยิงบึ้มแดงตาย 2 ศพ

- เจรจายุติยิงปะทะ

- สรุปยอดตายรวม 12 ศพ

- ม็อบทหารสงบยุติศึก

อภิปราย

จากผลการศึกษาพบว่ากระบวนการทำงานของหนังสือพิมพ์มีหลายขั้นก่อนจะออกสู่ประชาชน ซึ่งกระบวนการทำงานข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)เป็นการทำงานที่สื่อมวลชนต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าสถานการณ์ปกติ เนื่องจากเป็นที่จับตาและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม  ซึ่งกระบวนการทำงานของสื่อมวลชนพยายามดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่และจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน

ทั้งนี้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ให้ความสำคัญกับความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวซึ่งมีการกำหนดนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง มาสู่กองบรรณาธิการผ่านการประชุมทุกสัปดาห์ ส่วนการตีความในเรื่องความเป็นกลาง (Objectivity) และวิธีการที่ให้ได้มาซึ่งความเป็นกลางของผู้รับผิดชอบงานด้านข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อาจมีความแตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม “ความเป็นกลาง” ที่เกิดขึ้นในการทำงานก็คือการพยายามทำงานโดยปราศจากอคติ ระมัดระวังการทำงานไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์เอนเอียง นำเสนอข่าวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการสื่อสารมวลชนเรื่องคุณภาพของข่าวที่ระบุว่าข่าวที่ดีจะต้องมีความถูกต้อง (Accuracy) มีความสมดุลและเที่ยงธรรม (Balance and Fairness) เป็นภววิสัย (Objectivity) และมีความกะทัดรัด ชัดเจน (Conciseness and Clearness) และสอดคล้องกับแนวคิดของ พิศิษฐ์ ชวาลาธวัชและคณะ (2549)ที่ระบุว่ารายงานข่าวต้องรายงานจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง อย่างไม่มีอคติ ส่วนตัว รายงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ควรใช้ความรู้สึกส่วนตัวไปพัวพันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและแนวคิดของนรินทร์ นำเจริญ (2549) ที่ระบุถึง ปรวิสัยหรือความเป็นกลาง (Objectivity) ไว้ในประเด็นทางจริยธรรมของสื่อสารมวลชน(Ethics Issues) โดยหมายความถึงการรายงานแต่ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา โดยแยกอารมณ์ความรู้สึก ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นออกจากกัน

ผลการวิเคราะห์การให้พื้นที่ในการนำเสนอเนื้อหาของฝ่ายต่างๆที่พบว่าเดลินิวส์มีการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายอื่นๆมากที่สุดคิดเป็น 40.70% แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามสรรหาข้อมูลที่รอบด้าน  หลากหลายภาคส่วน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝ่ายต่างๆมานำเสนอมากกว่าที่จะเลือกนำเสนอข้อมูลจากตัวแหล่งข่าวแต่ละฝ่ายที่มีสัดส่วนการนำเสนอที่ลดลงตามลำดับ  รวมไปถึงการพาดหัวข่าวที่ไม่หวือหวาและการนำเสนอภาพข่าวที่เสนอภาพของทุกฝ่ายในหน้าหนึ่งของวันเดียวกันให้ครบซึ่งเป็นไปตามแนวทาง นโยบายปฏิบัติของทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่พยายามเสนอข่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน

เสนอแนะ

1.สื่อมวลชนกระแสหลักควรตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้านตามจริยธรรม เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับข้อมูลและในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมซึ่งความรู้สึกของคนเปราะบางกว่าสภาวการณ์ปกติ สื่อมวลชนควรระมัดระวังการทำงานให้มากขึ้น รวมไปถึงการพาดหัวข่าวที่ต้องสะท้อนข้อเท็จจริงไม่แฝงอคติ

2. ในสถานการณ์ที่สื่อมวลชนตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน สื่อมวลชนควรตรวจสอบการทำงานของตนเองและการทำงานภายในองค์กรวิชาชีพเดียวกันด้วยว่ามีประเด็นปัญหาหรือไม่ อย่างไรและรีบแก้ไขในการนำเสนอข่าวครั้งต่อไปอย่างทันท่วงที

บรรณานุกรม

ดรุณี  หิรัญรักษ์ ,เทคนิคการหาข่าวและการเขียนข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ , สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กรุงเทพมหานคร ; 2529

ถาวร บุญปวัตน์ ,หลักการหนังสือพิมพ์ ,สำนักพิมพ์มติชน , กรุงเทพมหานคร ; 2538

นรินทร์ นำเจริญ, ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการรายงานข่าว,สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพมหานคร ; 2549

นิมิต สุขประเสริฐ , ความเป็นกลางกับการเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ,2550

ประชัน วัลลิโก , หลักการเขียนข่าวกรุงเทพหมานคร,สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2536

พิศิษฐ์ ชวาลาธวัชและคณะ ,การรายงานข่าวชั้นสูง ,กรุงเทพฯ  โรงพิมพ์ โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ ;2549

สิรินทิพย์ ขันสุวรรณ,การหนังสือพิมพ์เบื้องต้น ,กรุงเทพมหานคร ,สำนักพิมพ์ประกายพรึก , 2539 ;148

สุรสิทธิ์  วิทยารัฐ, การสื่อข่าว : หลักการและเทคนิค กรุงเทพมหานคร ; 2545