นักข่าวหนังสือพิมพ์กับการตั้งรับและไล่รุกในยุคสงครามข่าวสาร

นักข่าวหนังสือพิมพ์กับการตั้งรับและไล่รุกในยุคสงครามข่าวสาร

ศึกษาเฉพาะกรณีหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Newspaper Reporter with Reactive and Proactive Responses to the Information Warfare.

อาจารย์สุนทรี อมรเพชรสถาพร

สาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา

 

บทคัดย่อ

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความประนีประนอมสูง หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และให้อิสระในการทำงานค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่เข้มงวดในการทำงานของกองบรรณาธิการคือต้องนำเสนอความจริง โดยจะเสนอข่าวที่ตรวจสอบแหล่งข่าวได้เท่านั้น ประกอบกับการที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์มียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับ 2 จึงส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของนักข่าวทั้งเชิงลบและเชิงบวก คือต้องรักษากลุ่มผู้อ่านที่ส่วนใหญ่สนใจข่าวเบาและต้องแสดงบทบาทในการนำพาสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะในสถานการณ์การทำสงครามข่าวสาร เดลินิวส์จึงใช้วิธีการนำเสนอข่าวตามประเด็นที่ประชาชนสนใจบนพื้นฐานข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือและตรวจสอบได้เท่านั้น ทำให้รูปแบบการทำงานของนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จึงมีทั้งลักษณะเชิงตั้งรับและเชิงรุก

คำนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

สงครามข่าวสารในสังคมไทยปะทุขึ้นจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจากปัญหาโครงสร้างสังคมที่ถูกกดเก็บไว้นาน ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ผนวกเข้ากับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ ทำให้ข่าวสารข้อมูลที่แตกต่างถูกผลิตขึ้นและเผยแพร่เพื่อโจมตีกันได้ไม่รู้จบ พื้นที่และระยะเวลาอันไม่จำกัดในการแสดงออกซึ่งความแตกต่างนี้เองที่ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบด้านข่าวสารที่สำคัญยิ่งถูกท้าทาย จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าค้นหาว่านักข่าวหนังสือพิมพ์มีวิธีการตั้งรับและปรับกลยุทธ์เพื่อไล่รุกในสงครามข่าวสารยุคนี้เช่นไร

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของนักข่าวหนังสือพิมพ์ในยุคสงครามข่าวสาร
2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อกระบวนการทำงานของนักข่าวหนังสือพิมพ์ในยุคสงครามข่าวสาร
3. เพื่อหาแนวทางเสริมสร้างบทบาทที่พึงประสงค์ของสื่อหนังสือพิมพ์ในยุคสงครามข่าวสาร

คำถามในการวิจัย

1. นักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มีกระบวนการทำข่าวในยุคสงครามข่าวสารอย่างไร

2. มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการทำงานของนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในยุคสงครามข่าวสาร

นิยามศัพท์

นักข่าวหนังสือพิมพ์ หมายถึง ผู้ทำหน้าที่คัดเลือกประเด็นข่าว เสาะหาและรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอเป็นข่าวและภาพข่าวสำหรับตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน

การตั้งรับ หมายถึง กระบวนการทำข่าวแบบรายงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การนำเสนอประเด็นข่าวตามข้อมูลที่แหล่งข่าวกำหนดให้ การควบคุมทิศทางข่าวโดยแหล่งข่าว

การไล่รุก หมายถึง กระบวนการทำข่าวที่มีการคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป การสืบเสาะหาข้อเท็จจริงนอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าวใดแหล่งข่าวหนึ่ง การควบคุมทิศทางข่าวโดยนักข่าว

สงครามข่าวสาร หมายถึง สถานการณ์ความขัดแย้งของข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยมีการใช้สื่อต่างๆเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และใช้สื่อในการหักล้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลฝ่ายตรงข้าม

แนวคิดทฤษฎีและหลักการเบื้องต้น

การรายงานข่าวหนังสือพิมพ์

มีผู้ให้ความหมายของ “ข่าว” ไว้อย่างหลากหลาย พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช (2539) ตั้งข้อสังเกตว่า อะไรก็ตามหากเป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ คนไม่สนใจ ไม่เป็นข่าว เว้นแต่เป็นเรื่องผิดปกติ หรือผิดวิสัยตามสภาพที่เป็นจริงของมนุษย์ในสังคมหรือแม้กระทั่งความผิดปกติตามธรรมชาติ คนจึงให้ความสนใจ

ประเภทของข่าว

มาลี บุญศิริพันธ์ (2537 : 26-27) ได้แบ่งประเภทของข่าวออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ข่าวหนัก (Hard news) ได้แก่ ข่าวที่มีคุณสมบัติของความสำคัญ มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่าข่าวที่มีองค์ประกอบของความน่าสนใจเพียงอย่างเดียว เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าวสิ่งแวดล้อม ส่วนข่าวเบา (Soft news) ได้แก่ ข่าวที่มีองค์ประกอบของความน่าสนใจมากกว่าความสำคัญ มักเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจให้ผู้อ่านในช่วงระยะเวลาเดียวแล้วจางหายไปจากความทรงจำของประชาชน เช่น ข่าวอาชญากรรม ตีรันฟันแทง ข่าวบันเทิง เหตุการณ์ที่เป็นข่าวจะไม่มีผลกระทบต่อเนื่องกับความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าใดนัก แต่จะให้อารมณ์สนองความอยากรู้อยากเห็นแก่ผู้อ่านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวัน ข่าวประเภทนี้จึงมักจะมีองค์ประกอบของความสนใจ กระตุ้นอารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจได้มากกว่าข่าวหนัก

 

ภาพข่าว

Breley (1968 อ้างถึงใน เบญจวรรณ นรสิงห์, 2538 : 4) กล่าวถึงความสำคัญของภาพถ่ายทางวารสารศาสตร์ไว้ว่า ภาพถ่ายจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพ และรู้สึกมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ภาพถ่ายก็สามารถบิดเบือนเหตุการณ์ได้ ซึ่งกระทำได้โดยตัดทอนบางส่วนของภาพออกไป การซ้อนภาพ การรวมภาพ หรือการอธิบายที่ชี้นำความคิด ภาพข่าวที่ดีจึงต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ควรเกิดขึ้นจากการจัดฉาก เพราะภาพข่าวก็คือข่าวประเภทหนึ่ง (นรินทร์ นำเจริญ , 2549 : 262)

จากการศึกษาเกี่ยวกับ “การนำเสนอและการคัดเลือกภาพข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน” ของเบญจวรรณ นรสิงห์ (2538) พบว่า ลักษณะของภาพข่าวที่หนังสือพิมพ์รายวันนำเสนอมากที่สุดคือ ภาพเหตุการณ์ หรือภาพข่าว ณ ที่เกิดเหตุ รองลงมาคือ ภาพข่าวที่เตรียมไว้ล่วงหน้า และภาพกราฟฟิกนำเสนอน้อยที่สุด ส่วนประเภทของภาพข่าวที่หนังสือพิมพ์รายวันนำเสนอมากคือ ภาพข่าวบันเทิง ภาพข่าวเศรษฐกิจ ภาพข่าวบุคคล/สังคม ส่วนภาพข่าวในพระราชสำนัก มีการนำเสนอน้อยมาก ในส่วนของการคัดเลือกภาพข่าว พบว่า ผู้คัดเลือกภาพข่าวของหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับจะให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลกระทบกับผู้อ่านโดยตรง เช่น เลือกภาพข่าวที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เตือนภัยอันตราย สร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้อ่าน มากกว่าภาพข่าวที่สร้างประโยชน์ให้แก่หนังสือพิมพ์ที่สังกัด

การเลือกใช้แหล่งข่าวบุคคลในการรายงานข่าว

Soley (1992, อ้างถึงใน รุ่งนภา เอี่ยมงามทรัพย์, 2545 : 7) ได้แบ่งประเภทของแหล่งข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ออกเป็น 2 ประเภท คือ News Maker ได้แก่ แหล่งข่าวที่ทำให้เกิดข่าว เป็นที่มาของข่าว หรือมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข่าว เช่น อาจเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ เป็นพยานในเหตุการณ์ หรือเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้นมาด้วยตัวเอง และ News Shaper เป็นแหล่งข่าวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข่าว หน้าที่หลักของแหล่งข่าวประเภทนี้คือการให้ข้อมูลภูมิหลัง ข้อคิดเห็น คำวิจารณ์ หรือบทวิเคราะห์ ที่สามารถช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจปรากฏการณ์ยากๆได้ง่ายขึ้น แหล่งข่าวประเภทนี้มักจะถูกพิจารณาจากความเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ (Expertise) ในเรื่องนั้นๆ

การคัดเลือกข่าวของนายประตูข่าวสาร (Gatekeeper)

Galtang & Ruge (1965 อ้างถึงใน ศิริชัย ศิริกายะ และ กาญจนา แก้วเทพ, 2531 : 205-206) ได้ระบุและเชื่อมโยงปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกข่าวว่ามีอยู่ 3 แบบ คือ 1. ปัจจัยด้านองค์กร 2. ปัจจัยที่เกี่ยวกับประเภทของข่าว 3. ปัจจัยด้านสังคม-วัฒนธรรม โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเภทข่าวคือการเลือกเหตุการณ์ที่เข้ากับความคาดหวังส่วนหนึ่งของผู้รับสาร แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่คุ้นเคยแต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่ยอมรับกันได้ เป็นข่าวประเภทที่ช่วยให้ลักษณะของเหตุการณ์ที่เคยได้รับการยอมรับกันอยู่แล้วว่ามีคุณค่าข่าวนั้นคงอยู่ต่อไปและตลอดไป

ธงชัย มหาไตรภพ (2532) ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการคัดเลือกข่าวสำหรับลงพิมพ์ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย 4 ฉบับ” โดยวิเคราะห์เนื้อหาและการสัมภาษณ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน สยามรัฐ และเดลิมิเรอร์ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดต่อการตัดสินใจคัดเลือกข่าวของหนังสือพิมพ์สยามรัฐและมติชนคือ ปัจจัยด้านคุณค่าข่าวและความสนใจส่วนตัว ขณะที่ไทยรัฐและเดลิมิเรอร์ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านความสนใจของผู้อ่านและคุณค่าข่าวมากที่สุด

การกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda setting)

สังคมที่มีการเปิดรับข่าวสารจากสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ข่าวที่ถูกนำเสนอเป็นข่าวสำคัญก็จะกลายเป็นเรื่องสำคัญของประชาชนตามไปด้วย ประชาชนจะพูดคุยกันถึงเรื่องนั้นเป็นส่วนใหญ่ในการเข้าสังคมและในชีวิตประจำวัน ผลกระทบที่ตามมาคือการกำหนดวาระข่าวสารนั้นอาจกลายเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม เช่น นักการเมืองซึ่งรู้จักธรรมชาติของผู้สื่อข่าวดีจะจัดฉากขึ้นเพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อหรือสร้างการต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ (นรินทร์ นำเจริญ, 2549 : 18) ดังนั้น การกำหนดวาระข่าวสารของสื่อมวลชนจึงอาจเกิดจากการใช้พื้นที่สื่อเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มก็ได้ สื่อจึงต้องคิดและพิจารณาถึงที่มาที่ไปและคุณค่าที่แท้จริงของเหตุการณ์ให้ถี่ถ้วนก่อนนำเสนอแก่ประชาชน

การกำหนดวาระข่าวสารในสังคมเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ให้ข่าวสารแก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ข้อมูลและความรู้อย่างถูกต้องรอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่นและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคม

Cohen (อ้างถึงใน กิติมา สุรสนธิ, 2548 : 165-166) ได้สรุปว่า การกำหนดวาระหรือการจัดลำดับความสำคัญของสื่อนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดลำดับความสำคัญจาก 3 ส่วน คือ

1. Media Agenda การจัดวาระจากสื่อ เป็นการจัดลำดับความสนใจในเนื้อหาหรือเหตุการณ์ต่างๆของสื่อโดยยึดการพิจารณาจากความสนใจของสื่อเองเป็นหลัก

2. Public Agenda การจัดวาระของสาธารณชนเป็นการจัดลำดับเหตุการณ์ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่มีผลต่อความเห็นสาธารณะหรือประชาชน โดยยึดความสนใจของประชาชนเป็นหลัก

3. Policy Agenda การจัดวาระของรัฐบาล เป็นการจัดลำดับเหตุการณ์ขึ้นอยู่กับการวางนโยบายทางการเมืองที่กำหนดไว้ โดยยึดนโยบายหรือความต้องการของรัฐเป็นหลัก

ซึ่งการกำหนดวาระจาก 3 ส่วนดังกล่าว มีความสัมพันธ์กันดังนี้คือ

1. สื่อมวลชน มีอิทธิพลโดยตรงต่อการกำหนดวาระสาธารณะ ซึ่งอาจคาดเดาได้จากน้ำหนักในการให้ความสนใจ และอำนาจของสื่อแต่ละประเภทที่มีต่อความคิดเห็นของประชาชน

2. ความเห็นสาธารณะ (Public Opinion) มีผลต่อการกำหนดนโยบาย (Policy Agenda) ของนักการเมืองที่ต้องการการตอบสนองจากผู้ลงคะแนนเสียงตามที่เขาต้องการ

3. การจัดวาระของสื่อ (Media Agenda) มักมีผลโดยอิสระไม่พึ่งพากับการกำหนดวาระของรัฐ แต่นักการเมืองมักจะใช้การจัดวาระของสื่อมาเป็นตัวชี้นำความเห็นสาธารณะ (Public Opinion)

4. ในบางเหตุการณ์ การกำหนดนโยบายของรัฐ ก็มีผลโดยตรงและมีผลอย่างมากต่อการกำหนดวาระของสื่อ

5. การกำหนดวาระของสื่อได้รับผลโดยตรงจากหลายแหล่งสาร

แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมองค์กร

กริช สืบสนธิ์ (2533 : 6-7) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของวัฒนธรรมองค์กรไว้ว่าประกอบด้วย สภาพแวดล้อมขององค์กร ค่านิยม วีรบุรุษ ขนบธรรมเนียมประเพณี และข่ายวัฒนธรรม

งานวิจัยของยุวดี มณีกุล (2539, อ้างถึงในสุรชัย พงเพ็ง : 26) เรื่อง วัฒนธรรมองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์กับขีดความสามารถในการขยายธุรกิจข้ามสื่อของ บริษัท เนชั่น พับลิชชิ่ง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พบว่า ลักษณะสำคัญขององค์กร เนชั่น คือ การมีผู้นำ 2 คน ได้แก่ ธนาชัย ธีระพัฒนวงศ์ ซึ่งรับผิดชอบด้านบริหารธุรกิจ ทำให้ผู้นำอีกคนหนึ่ง คือ สุทธิชัย หยุ่น สามารถสร้างภาพลักษณ์ของนักสื่อสารมวลชนแบบอุดมคติได้อย่างเต็มที่ และใช้ภาพลักษณ์นี้เป็นจุดขายขององค์กร นอกจากนี้ ผู้บริหารมีแนวทางจัดการวัฒนธรรมย่อยในองค์กรให้เกิดเอกภาพในความหลากหลายได้ ที่ผ่านมาองค์กรเนชั่น ประสบบัญหาเรื่องการลาออกของบุคลากรอยู่เสมอทำให้ผู้บริหารประกาศนโยบายสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้น

วิธีการวิจัย

ศึกษาโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกบรรณาธิการข่าว หัวหน้าโต๊ะข่าวและนักข่าวจำนวน 12 คน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาวิเคราะห์

ผลการศึกษา

1. นักข่าวกับกระบวนการทำข่าวในยุคสงครามข่าวสาร

แม้ว่าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะมีการขยายช่องทางการสื่อสารจากสื่อหนังสือพิมพ์ไปสู่การให้บริการข่าวสารผ่าน sms และข่าวออนไลน์ใน www.dailynewsonline.com ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์แห่งแรกของไทยที่บุกเบิกเวบไซต์ข่าวออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2541 แต่ทว่าการเติบโตของ www.dailynewsonline.com กลับเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากเป็นการก่อตั้งกองบรรณาธิการออนไลน์ขึ้นมาใหม่และแยกส่วนออกจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันข่าวสารส่วนใหญ่ในเวบกลับยังต้องพึ่งพานักข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในการทำข่าว บทบาทของ www.dailynewsonline.com จึงยังคงเป็นพื้นที่ในการผลิตซ้ำข่าวสารตามที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตีพิมพ์มากกว่าที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอข่าวแบบ real time หรือเพื่อเปิดพื้นที่ให้สำหรับข่าวที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์

ในเชิงนโยบายของบริษัทที่มีต่อการพัฒนา www.dailynewsonline.com นั้น มีการให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียเป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้นักข่าวภาคสนามถ่ายคลิปวิดีโอข่าวให้มากขึ้น ขณะที่ผู้สื่อข่าวทีมเฉพาะกิจ อาชญากรรม สุธิดา จิระมงคล สะท้อนความยุ่งยากในการทำงานกลับมาว่า “นักข่าวคนเดียวแค่เขียนข่าวกับถ่ายรูปก็เต็มที่แล้ว ถ้าจะให้ถ่ายคลิปวิดีโอไปด้วย ถ่ายรูปไปด้วย ทำข่าวด้วย ในสถานการณ์คับขันคงทำได้ยาก”

แต่เทคโนโลยีทางการสื่อสารเองก็ช่วยให้การทำข่าวเอาชนะข้อจำกัดของระยะทางและระยะเวลาได้มากขึ้น โดยนักข่าวในพื้นที่จะใช้การโทรศัพท์บอกเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ไปยังหัวหน้าข่าวที่ประจำการอยู่ในสำนักพิมพ์ ส่งภาพข่าวไปทางอีเมล์ และแจ้งประเด็นเร่งด่วนทาง sms แม้ในสถานการณ์ตึงเครียด นักข่าวเหล่านี้ก็ยังต้องแบกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คติดตัวเพื่อเตรียมพร้อมในการเขียนข่าวและส่งข่าวกลับไปยังกองบรรณาธิการได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วฉับไวนี้เองที่ทำให้ “ข่าวลือ” แพร่กระจายไปในวงกว้างได้ชั่วพริบตา อีกทั้งยังยากที่จะตรวจสอบที่มาของข่าวลือด้วย นักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จึงมักไม่ให้ความสำคัญกับข่าวที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลที่เคยให้ข่าวหลอกหรือจาก Social Network อย่าง facebook หรือ twitter เพราะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงที่มีที่มาที่ไปซึ่งต้องอ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ตรวจสอบได้เท่านั้น

การทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ดูเหมือนนักข่าวทำหน้าที่เพียงสังเกตการณ์หรือคอยฟังความคิดเห็นจากฝ่ายนั้นทีฝ่ายนี้ทีแล้วนำไปเสนอเป็นข่าว จนคล้ายเป็นการทำข่าวที่ตั้งรับมากเกินไป แต่นักข่าวภาคสนามยืนยันว่าในการตั้งรับนั้นมีการไล่รุกอยู่ไม่น้อย หากไม่ทำการบ้านก่อนลงสนามก็จะไม่รู้ว่าวันนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จะต้องมีการคาดเดาล่วงหน้าเพื่อไปให้ทันเหตุการณ์ เช่น จะมีการปะทะกันหรือไม่ หรือจะมีการเจรจากันตรงจุดไหน ถือเป็นการทำข่าวเชิงรุกทั้งนั้น เพราะนักข่าวไม่ได้นั่งรอเฉยๆ แต่ต้องคอยสังเกตความเคลื่อนไหวและคอยตั้งคำถามแทนประชาชนเมื่อเห็นสัญญาณของความรุนแรง

สำหรับการทำข่าวไอทีและ “ข่าวแห้ง” ในหน้าอื่นๆ ซึ่งมีการปิดต้นฉบับล่วงหน้า 1-2 วัน และมีบทบาทในการให้ข่าวสารที่ “ประชาชนอยากรู้และประชาชนควรรู้” ส่งผลให้กระบวนการทำข่าวของโต๊ะข่าวไอทีมีลักษณะตั้งรับเป็นหลัก โดยมักจะได้รับ “หมายข่าว” จากประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานและองค์กรทั้งภาคธุรกิจและราชการ เชิญให้ไปทำข่าวอยู่เสมอ นักข่าวไอทีจึงชัดเจนในการทำหน้าที่ของนายประตูข่าวสาร คอยคัดกรองและเลือกนำเสนอข่าวเพื่อให้ความรู้แบบเข้าใจได้ง่ายแก่ประชาชนคนอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านระดับกลางลงไป การทำข่าวไอทีของเดลินิวส์จึงเป็นกระบวนการถ่ายทอดข้อเท็จจริงของเทคโนโลยีที่ยุ่งยากซับซ้อนให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโต๊ะข่าวไอทีจะตั้งรับอยู่ฝ่ายเดียว การทำข่าวเชิงรุกของนักข่าวไอทีสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน จากการอ่านเกมของแหล่งข่าวให้ออก และการมองประเด็นให้รอบด้าน เช่น การไปทำข่าวสำนักที่ดินซึ่งมีการใช้ไอทีในการจัดเก็บข้อมูลโฉนดที่ดิน นักข่าวมีโอกาสเชื่อมโยงประเด็นไปสู่ข่าวการเมืองเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกที่ดินได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักข่าวที่จะพลิกเกมให้เป็นข่าวเชิงรุกหรือไม่ อีกทั้งการทำข่าวเชิงรุกนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อหลายๆองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แหล่งข่าวเปิดเผยข้อมูลด้วย

 

2. ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของนักข่าวหนังสือพิมพ์ในยุคสงครามข่าวสาร

แม้ว่าการนำเสนอข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะเน้นหนักไปที่ข่าวการเมืองและข่าวอาชญากรรม แต่เนื้อหาข่าวหน้าในมีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้อ่านที่มีความสนใจแตกต่างกันได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยหลักๆที่มีผลต่อรูปแบบการทำงานของนักข่าวโดยรวม ได้แก่

วัฒนธรรมองค์กร

เนื่องจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นองค์กรที่บริหารจัดการในระบบครอบครัว วัฒนธรรมในองค์กรจึงมีลักษณะแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นพี่เป็นน้อง ถกเถียงกันน้อยแต่พูดคุยกันมาก ให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ และให้ความเคารพผู้อาวุโสหรือรุ่นพี่เป็นอย่างมาก

ลักษณะศักดิ์ โรหิตาจล ผู้สื่อข่าวและช่างภาพทีมเฉพาะกิจ สะท้อนภาพวัฒนธรรมองค์กรจากประสบการณ์การทำงานมา 16 ปีว่า “เวลาไปทำข่าว นักข่าวใหม่ๆจะยังไม่รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เช่น การถ่ายภาพผู้ต้องหาผ่านรั้วลูกกรงในที่คุมขัง แต่แค่นักข่าวรุ่นพี่ตักเตือนด้วยสายตา เด็กใหม่ๆก็รู้แล้วว่าไม่ควรทำ”

การประชุมโต๊ะข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จึงดำเนินไปตามรูปแบบวัฒนธรรมองค์กร คือแทบจะไม่มีการถกเถียงกัน และหากไม่ใช่ประเด็นข่าวระดับที่จะได้ขึ้นหน้า 1 ก็จะไม่มีการนำเสนอในที่ประชุม การประชุมโต๊ะข่าวทั้งรอบ 10.00 น. และ 15.00 น. จึงใช้ระยะเวลาเพียง 10-15 นาที แต่การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนักข่าวกับหัวหน้าโต๊ะข่าวเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน

การให้อิสระในการทำงานเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักข่าวแต่ละคนสามารถคิดประเด็นข่าว และวางแผนการทำงานได้โดยไม่ถูกกดดันจากภายในองค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความตื่นตัวในระดับปัจเจกบุคคลเพื่อให้มีการทำข่าวเชิงรุกมากขึ้น

เงื่อนไขของเวลา

ทุกๆ วันหนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะมีการตีพิมพ์ 5 รอบ เพื่อส่งหนังสือพิมพ์ไปจำหน่ายในเขตต่างๆ นักข่าวแต่ละคนต้องส่งข่าวให้ทันตามกำหนด เพราะกระบวนการตีพิมพ์และการจัดส่งไปจำหน่ายไม่สามารถยืดหยุ่นได้มากนัก หากส่งข่าวล่าช้าย่อมหมายถึงว่าข่าวนั้นจะไม่ถูกนำเสนอ

การทำข่าวที่ต้องแข่งกับเวลา ทำให้นักข่าวต้องอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการโทรศัพท์สัมภาษณ์แหล่งข่าว การขอรายละเอียดข้อมูลส่งผ่านทางอีเมล์ และการสืบค้นเอกสารอ้างอิงจากฐานข้อมูลออนไลน์ต่างๆ แต่ในหลายกรณีที่เทคโนโลยีไม่สามารถตอบสนองกระบวนการทำข่าวเชิงรุกได้ ดังนั้น การทำข่าวเชิงรุกของเดลินิวส์จึงมักต้องหาหลักฐานข้อมูลให้มากในระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยๆทยอยนำเสนอข่าว และใช้วิธีการให้นักข่าวแต่ละโต๊ะข่าวร่วมกันนำเสนอเรื่องเดียวกันนี้แต่ชี้ให้เห็นในหลายๆแง่มุมที่เกี่ยวข้อง จนทำให้สังคมตอบรับ เกิดเป็นกระแสสังคมผลักดันไปสู่ทางออกของปัญหา

การทำข่าวเชิงรุกอันจะนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญๆจึงเกิดขึ้นได้ยากในภาวะการทำงานที่เร่งรีบของนักข่าว

สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคม

นักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์สวมบทบาทของคนกลางหรือบุรุษที่สามที่เป็นเพียงผู้สื่อสารความเคลื่อนไหวระหว่างคู่ขัดแย้งบอกเล่าไปสู่คนอ่านข่าว จึงเน้นเกาะติดเหตุการณ์ กิจกรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น แม้จะประกาศว่ายึดมั่นหลักความเป็นกลางและแสดงจุดยืนเป็นสื่อที่ไม่เลือกข้าง แต่ก็ยอมรับว่าปัจจัยภายนอก อาทิ เสียงสะท้อนกลับจากผู้อ่านข่าวและการคุกคามนักข่าวในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการนำเสนอข่าวเช่นกัน

พีรภัทร์ เกื้อวงศ์ นักข่าวการเมือง ระบุว่าสถานการณ์ตอนนี้การทำข่าวเชิงรุกในแวดวงการเมืองทำได้ค่อนข้างยาก หากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน นักข่าวก็สุ่มเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้อง และหากนำเสนอข่าวในทิศทางที่ไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจเป็นอันตรายอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในการเสนอข่าวมาก

ในสงครามข่าว การแย่งชิงพื้นที่ข่าวหน้า 1 นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ผู้ต้องการตกเป็นข่าวจึงต้องใช้หลากหลายกลยุทธ์ในการสร้างเหตุการณ์ที่มีคุณค่าข่าวขึ้นมาเพื่อให้นักข่าวสนใจนำเสนอ กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เองก็ตระหนักดีว่าเป็นการกำหนดวาระข่าวสารโดยคนกลุ่มหนึ่ง แต่บรรณาธิการภาพ ชาย ปถะคามินทร์ ให้ความเห็นว่าถึงจะรู้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากเจตนาของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อมันคือภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หนังสือพิมพ์จะไม่นำเสนอก็ไม่ได้เพราะมีหน้าที่ต้องสะท้อนความจริง และยกตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้เคยไปลงพื้นที่และสอบถามคนในพื้นที่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่สงบแล้วหนังสือพิมพ์ไม่นำเสนอหรือเสนอน้อยลงจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะผู้ก่อความไม่สงบจะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อให้ได้

อภิปรายผล

จากการศึกษาทั้งโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในสนามข่าวจริงและการสัมภาษณ์นักข่าวถึงวิธีคิดวิธีทำงาน ทำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่แตกต่างกันไปตามพื้นฐานอุดมการณ์ของแต่ละบุคคล โดยมีวัฒนธรรมองค์กรและนโยบายของฝ่ายบริหารเป็นกลไกในการหล่อหลอมนักข่าวเดลินิวส์ให้ยึดหลักต้องนำเสนอความจริง ตามสโลแกน “อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์” เสมอ

แม้ผู้วิจัยจะวาดภาพนักข่าวในยุคสงครามข่าวสารไว้ว่าต้องมีความทันสมัยพร้อมด้วยอุปกรณ์ไฮเทคครบถ้วน แต่สำหรับนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์แล้วยังคงให้ความสำคัญกับวิธีเข้าถึงข้อมูลแบบเดิมๆมากกว่าที่จะใช้อุปกรณ์สมัยใหม่ ตราบใดที่เมื่อเอ่ยชื่อแนะนำตัวว่าเป็นนักข่าวเดลินิวส์แล้ว แหล่งข่าวเต็มใจจะให้ข้อมูล อุปกรณ์ไฮเทคก็ดูจะสู้ความได้เปรียบในเรื่องของชื่อเสียงองค์กรไม่ได้ ดังนั้นคุณค่าในฐานะสื่อที่เชื่อถือได้กับสื่อที่ทันสมัยจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปัจจัยที่มีผลต่อการทำข่าวเชิงรุกหรือตั้งรับของนักข่าวเดลินิวส์ในสงครามข่าวสารทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องของแรงเสียดทานจากภายนอกที่นักข่าวแต่ละคนต้องเผชิญ โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์เพื่อครอบครองพื้นที่ข่าวหน้า 1 ของคนบางกลุ่ม ซึ่งสื่อเองก็มักเลือกเหตุการณ์ที่ขายได้ หากไม่นำเสนอก็เท่ากับว่าตกข่าว เมื่อทุกสื่อพร้อมใจกันนำเสนอจึงถูกมองว่าตกเป็นเครื่องมือให้กับแหล่งข่าว

ความพยายามช่วยกันหาทางออกให้กับสังคมไทย มักลงท้ายด้วยการฝากความหวังไว้ที่สื่อมวลชน จะทำอย่างไรให้สงครามข่าวสารนี้คลี่คลายลง หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับสื่อว่ากำลังทำอะไรอยู่ บทความนี้อาจไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน แต่ผู้วิจัยเองก็รับรู้ได้ถึงความพยายามของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตั้งรับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนภาพปัญหาของสังคมให้ถูกต้องชัดเจนที่สุด และยังพยายามรุกไล่โดยการกระตุ้นเตือนให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้ข้อมูลที่ตรวจสอบได้กับประชาชนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันข่าวสารที่ถูกดัดแปลงบิดเบือน

รายการอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ.  สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 3.  ม.ป.ท. :  โรงพิมพ์
ศาลาแดง, 2545.

การุณย์  มีถม.  การคัดเลือกข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย : ศึกษาเปรียบเทียบ    
ระหว่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะ
วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.

กิติมา สุรสนธิ.  ความรู้ทางการสื่อสาร. พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพมหานคร : จามจุรีโปรดักท์, 2548.

ณรงศักดิ์  ศรีธานันท์.  เนื้อหาข่าวและแนวทางการคัดเลือกข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันภาษา
ไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, 2533.

ธงชัย  มหาไตรภพ.  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการคัดเลือกข่าวสำหรับลงพิมพ์ในหน้าแรกของ
หนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย 4 ฉบับ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์
และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532.

ธนิตา แสนคำ.  ดุลยพินิจในการคัดเลือกข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวัน. วิทยานิพนธ์ปริญญา
มหาบัณฑิต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

เบญจวรรณ  นรสิงห์.  การนำเสนอและการคัดเลือกภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน. วิทยานิพนธ์
ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2538.

ปรมะ สตะเวทิน.  การสื่อสารมวลชน : กระบวนการและทฤษฎี. พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร :
ภาพพิมพ์, 2546.

ปาจรีย์ ธนะสมบูรณ์กิจ.  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับการกำหนดวาระข่าวสารความขัดแย้งทางการเมืองใน
เหตุการณ์พฤษภาคม 2535. ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล.  ม็อบการเมือง ในมุมมองของสื่อมวลชน: ปรากฏการณ์สะท้อนตัวตนของหนังสือพิมพ์
ไทย.  วารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.

พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช.  การรายงานข่าวชั้นสูง.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2539.

มาลี บุญศิริพันธ์.  หลักการทำหนังสือพิมพ์เบื้องต้น.  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2537.

รุ่งนภา เอี่ยมงามทรัพย์.  การใช้แหล่งข่าวบุคคลของนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน. วิทยานิพนธ์ปริญญา
มหาบัณฑิต ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.

วิไล ฉัตรกุล ณ อยุธยา.  หนังสือพิมพ์ไทยกับหน้าที่ในการกำหนดวาระข่าวสาร. วิทยานิพนธ์ปริญญา
มหาบัณฑิต ภาควิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

ศิริชัย ศิริกายะ และ กาญจนา แก้วเทพ. ทฤษฎีการสื่อสารมวลชน. เอกสารประกอบการเรียนวิชา
ทฤษฎีการสื่อสารมวลชนขั้นพื้นฐาน, 2531.

ศุภสิทธิ์ ศรีสวัสดิ์ศักดิ์.  การนำเสนอภาพข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันประเภทประชานิยม
และความคิดเห็นของนักวิชาการและนักศึกษาด้านวารสารศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญา
มหาบัณฑิต  ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.

 

สัมภาษณ์

ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร                                  พรชัย ปุณณวัฒนาพร

หัวหน้าข่าวหน้า 1                                          วิษณุพงษ์   หิญชีระนันทน์

บรรณาธิการภาพ                                            ชาย  ปถะคามินทร์

หัวหน้าข่าวประจำวัน                                        ศิวสรรค์  เมฆสัจจากุล

หัวหน้าข่าวการเมือง                                        พัฒน์พงศ์  สำเนียงเสนาะ

หัวหน้าข่าวไอที                                             วีระพันธ์  โตมีบุญ

ผู้สื่อข่าวและช่างภาพทีมเฉพาะกิจ                         ลักษณะศักดิ์  โรหิตาจล

ผู้สื่อข่าวทีมเฉพาะกิจ อาชญากรรม สุธิดา  จิระมงคล

ผู้สื่อข่าวการเมือง                                            พีรภัทร์ เกื้อวงศ์

ผู้สื่อข่าวไอที                                                 ปรารถนา ฉายประเสริฐ, น้ำเพชร จันทา

ผู้สื่อข่าวออนไลน์                                             อาทิตยา ร่วมเวียง