ถอดประสบการณ์ภาคสนาม: กระบวนการเสนอข่าวการชุมนุมของ นปช. ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ถอดประสบการณ์ภาคสนาม: กระบวนการเสนอข่าวการชุมนุมของ นปช. ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ศึกษาตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. - 3 พ.ค. 2553

 

นันทกา สุธรรมประเสริฐ[1]

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล

บทนำ

ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองไทยอยู่ในความไม่ปกติ อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง สังคมเกิดความแตกแยกทางความคิดกันอย่างหนัก อีกทั้งการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ปิดถนนราชประสงค์ย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุง จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 วันที่ 22 และวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าว สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำหน้าที่รายงานข่าวสารความเคลื่อนไหวในสังคม (to inform) จึงเป็นความรับผิดชอบของสื่อมวลชนทุกแขนงที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการรายงานข้อเท็จจริง (fact) ให้ถูกต้อง (accuracy) สมดุล (balance) และเป็นกลาง (objectivity) เพื่อให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาอย่างครบถ้วน แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงทำให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ทำให้สื่อมวลชนถูกมองว่า นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างไม่เป็นกลาง จนเกิดกระแสที่เรียกว่า “สื่อเลือกข้าง”

นอกจากปัจจัยของความเป็นปัจเจก (individual) ของสื่อมวลชนผู้ส่งสารซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนย่อมมีจุดยืนและความคิดความเชื่อเป็นของตนเองแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มวลชนส่วนหนึ่งมองว่า “สื่อเลือกข้าง” นั่นคือ ผู้รับสารในปัจจุบันมีลักษณะเป็นผู้รับสารแบบ active audience มากขึ้น มีการเลือกรับสาร (selective perception) และการตีความสาร (interpretation) ตามความคิดความเชื่อของตนเอง สื่ออื่นที่ไม่ตรงตามความเชื่อของตนจึงมักถูกมองว่าสื่อนั้นๆ ไม่เป็นกลาง เนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อนั้นไม่สามารถทำให้กลุ่มที่มีความขัดแย้งพึงพอใจได้ทุกกลุ่มชน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เขียนมีความสนใจว่า สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์มีวิธีในการนำเสนอข่าวอย่างไร ในภาวะที่สื่อตกเป็นผู้ต้องหาของสังคมว่า “เป็นสื่อเลือกข้าง” และองค์กรหนังสือพิมพ์มีบทบาทใน “การสร้างสันติภาพ” อย่างไรในวิกฤตการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเช่นนี้

ในบทความนี้ผู้เขียนเลือกหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเป็นกรณีศึกษา ซึ่งมติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนในการนำเสนอข่าวการเมืองและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจนเป็นหน่วยในการศึกษา โดยเลือกศึกษาเฉพาะกระบวนการรวบรวมและการหาข่าว (news gathering) ที่เกี่ยวกับการชุมนุมของ นปช. ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึง วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2553 โดยใช้ทั้งการสังเกตการณ์ (observation) แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก (in depth interview) และการวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นวันรวมพลใหญ่ของกลุ่ม นปช. ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เชื่อมโยงในการอธิบายปรากฏการณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าว ผู้เขียนจะนำเสนอใน 3 ประเด็น ด้วยกัน คือ 1) นโยบายและการกำหนดประเด็นข่าวการชุมนุมของ นปช.ของหนังสือพิมพ์มติชน 2) การหาข่าว 3) สิ่งที่มีและไม่มีในการรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มนปช. ของหนังสือพิมพ์มติชน รายละเอียดดังนี้

1. นโยบายและการกำหนดประเด็นข่าวการชุมนุมของ นปช. ของหนังสือพิมพ์มติชน

บทบาทของสื่อมวลชนโดยเฉพาะบทบาทในการรายงานข้อมูลข่าวสาร หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมนั้น เป็นการ

รายงานข่าวสารโดยผ่านการเลือกสรรของสื่อมวลชน ข่าวเหตุการณ์เพียงบางอย่างเท่านั้นที่จะได้รับการสื่อสารไปยังผู้รับ ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อมวลชนในด้านเนื้อที่บนหน้าหนังสือพิมพ์หรือเวลาในการออกอากาศ ข่าวที่เผยแพร่ต้องมีการคัดเลือกซึ่งจะกระทำโดยใช้เกณฑ์ในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เช่น จะต้องเป็นข่าวที่มวลชนให้ความสนใจ (interest) หรือเป็นข่าวที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม (consequence) หรือเป็นข่าวที่มีองค์ประกอบของความขัดแย้ง (conflict) เป็นต้น

พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช[2] กล่าวว่า การคัดเลือกข่าวเพื่อนำเสนอขึ้นอยู่กับนโยบายองค์กรและแนวทางของหนังสือพิมพ์ว่า มีเป้าหมายอย่างไร เช่น เน้นข่าวเชิงปริมาณ หรือข่าวเชิงคุณภาพ เป็นต้น หลังจากผู้สื่อข่าวแสวงหาข่าวตามประเด็นที่กำหนดหรือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับเนื้อหามาแล้วจะเสนอขึ้นไปตามลำดับขั้น กองบรรณาธิการข่าวจะประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกประเด็นข่าวที่เห็นว่าดีที่สุดเป็นลำดับต้น ยกเว้นเมื่อมีการกำหนดหัวข้อประเด็นข่าวที่ติดตามข้อมูลสำคัญๆ อาจจะมีการตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำการโดยเฉพาะ

เช่นเดียวกันกับ กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชน ภาคภูมิ ป้องภัย[3] บรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการได้มีการประชุมหารือกันและตกลงเป็นนโยบายแบบไม่เป็นทางการในการทำข่าวการชุมนุม 4 ข้อ ด้วยกัน คือ

1)      ไม่นำเสนอข่าวโดยการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

2)      เน้นการนำเสนอทางออกด้วยสันติวิธีและการเจรจา

3)      นำเสนอข่าวให้ครบทุกด้าน

4)      ไม่ชี้นำว่าใครเป็นฝ่ายถูกฝ่ายผิด

นอกจากนี้ภาคภูมิยังเพิ่มเติมถึงการใช้ภาษาในการพาดหัวและการเขียนข่าวว่า ต้องใช้ภาษาที่เป็นกลาง ไม่ปลุกปั่น

และไม่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยก

นฤตย์ เสกธีระ[4] บรรณาธิการบริหาร กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้มติชนจะเน้นการหาทางออกของความ

ขัดแย้ง และเห็นว่าปัญหาทางการเมืองควรแก้ด้วยการเมืองโดยไม่มีความเสียหายและความรุนแรง

ขณะที่ สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร[5] บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การทำข่าวการชุมนุมหรือข่าวม็อบต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงจะทำให้การนำเสนอข่าวมีความเป็นกลาง ซึ่งมติชนมีเป้าหมายใหญ่ คือ อยากเห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมโดยสันติและอหิงสา

ในการกำหนดประเด็นข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น ประเด็นข่าวจะถูกกำหนดจากทั้งแหล่งข่าวและการประชุมโต๊ะข่าวของทุกวัน ซึ่งการประชุมโต๊ะข่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดประเด็นข่าว 2) ทบทวนและดูทิศทางของคู่แข่ง และ 3) เพื่อกำหนดทิศทางของข่าวหน้า 1 ซึ่งผู้รับผิดชอบแต่ละโต๊ะจะนำเสนอประเด็นข่าวจากการติดตามข่าวสารจากสื่ออื่นๆ หรือแหล่งข่าว แล้วส่งประเด็นข่าวไปยังหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งประจำวันรวบรวมประเด็นนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับการชุมนุมของ นปช. นั้น นฤตย์ บรรณาธิการบริหารมติชน (อ้างแล้ว) ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณค่าข่าว (news value) ของการชุมนุมว่า ม็อบมีคุณค่าในตัวเอง กล่าวคือ ม็อบมีความขัดแย้งกับรัฐ มีข้อเรียกร้องซึ่งข้อเรียกร้องมีความสำคัญในแง่ของการพัฒนาบ้านเมือง ขณะที่ ภาคภูมิ บรรณาธิการข่าวมติชน (อ้างแล้ว) ให้ทัศนะว่า ข่าวการชุมนุมเป็นประเด็นที่ต้องตามวันต่อวัน ดูว่าม็อบและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ศอฉ. หรือกลุ่มอื่นๆ มีความเคลื่อนไหวอย่างไร แต่จะไม่กำหนดประเด็นจากการปราศรัยบนเวที นปช. เพราะมีลักษณะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) มากกว่า และจะดูว่าในแต่ละวันแกนนำ นปช. จะแถลงอะไรหรือเคลื่อนไหวอย่างไร โดยประเด็นข่าวการชุมนุมที่มติชนกำหนดไว้เป็นกรอบใหญ่ๆ ได้แก่ ความเคลื่อนไหวของ นปช. ทางออกวิกฤตการณ์ทางการเมือง ผลกระทบของการชุมนุม นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวภาคสนามหากพบประเด็นใดที่น่าสนใจก็จะเสนอไปที่หัวหน้าโต๊ะที่สังกัด เพื่อพิจารณาว่าควรตามประเด็นนั้นต่อหรือไม่

ประเด็นข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. นั้นจะมีลักษณะเป็นการติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำว่าจะมีการวางหรือแบ่งกำลังกันอย่างไร จะเคลื่อนไหวอะไรต่อไปบ้าง และติดตามความเคลื่อนไหวของภาครัฐว่าจะจัดการการชุมนุมอย่างไร เมื่อรัฐมีความเคลื่อนไหวแล้วกลุ่มนปช. มีความเห็นหรือเคลื่อนไหวหรือตอบโต้อย่างไร และประเด็นที่มติชนให้ความสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ มีใครนำเสนอทางออกวิกฤตินี้หรือไม่ และมีแนวทางใดบ้าง

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ ประเด็นข่าวสามารถเกิดจากมุมมองของผู้สื่อข่าวที่อยู่ในพื้นที่ด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่ทำงานในพื้นที่จะมีความใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากกว่ากองบรรณาธิการ แต่ในสถานการณ์ของการชุมนุมที่มีการปลุกระดมมวลชนให้มีอารมณ์และอุดมการณ์ร่วมกับแกนนำนั้น ผู้สื่อข่าวเองก็ต้องใช้วิจารณญาณและประสบการณ์ในการทำงานข่าวอย่างมาก เพราะการปราศรัยบนเวทีส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ผู้สื่อข่าวจึงต้องมีการเช็คข้อมูลว่ามีมูลความจริงและความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหลายครั้งที่ผู้สื่อข่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดวาระข่าวสาร (agenda setting)

สุเมศ ทองพันธ์[6] ผู้สื่อข่าวสายการเมืองผู้คลุกคลีกับวงการการเมืองมาเกือบ 7 ปี เล่าว่า ประเด็นข่าวของเขากับของหัวหน้าโต๊ะหรือกองบรรณาธิการจะมีความใกล้เคียงกัน เพราะเขามีประสบการณ์ทางการเมืองมานานทำให้รู้จักและทันเกมของนักการเมือง สามารถประเมินสถานการณ์และรู้เหลี่ยมของข่าวค่อนข้างดี ประเด็นข่าวส่วนหนึ่งของเขามาจากแหล่งข่าว  ซึ่งเขาจะตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ ด้วย เช่น แกนนำ นปช. นักการเมือง และนักข่าวสายที่เกี่ยวข้องก่อนจะหาข้อมูลมาเขียนลงในคอลัมน์ของเขาต่อไป ซึ่งการตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งจะสามารถยืนยันได้ว่าข่าวหรือเหตุการณ์นั้นเป็นความจริงหรือไม่ ที่สำคัญต้องดูด้วยว่าข่าวชิ้นนั้นถูกปล่อยออกมาด้วยวัตถุประสงค์ใด และใครจะได้ผลประโยชน์จากข่าวนั้น

ถึงแม้ว่ามติชนจะมีนโยบายในการทำข่าวการชุมนุมดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคนทุกคนย่อมมีความคิดความเชื่อเป็นของตนเองไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพคอยกำกับให้มีความเป็นกลาง ไม่เอาความคิดเห็นส่วนตัวถ่ายทอดลงในข่าวก็ตาม ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดภายในกองบรรณาธิการที่เกี่ยวกับการนำเสนอข่าว บรรณาธิการข่าวและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จะยึดถือที่หลักฐาน ข้อเท็จจริง และความเป็นข่าวเป็นหลัก ถ้ามีใครต้องการนำเสนอความคิดเห็นของตนเองก็จะมีพื้นที่ในการเขียนคอลัมน์โดยต้องลงชื่อของตัวเองอย่างชัดเจน เพราะถือว่าเป็นการนำเสนอความเห็นส่วนบุคคล

กล่าวโดยสรุปคือ นโยบายของมติชนในการทำข่าวการชุมนุมของ นปช. คือ การเน้นการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใช้ภาษาที่เป็นกลาง และเน้นการหาทางออกด้วยสันติวิธี ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นแนวปฏิบัติในการหาข่าวและนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวมติชน ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป ส่วนประเด็นข่าวการชุมนุมของ นปช. นั้น มีการกำหนดประเด็นทั้งจากแหล่งข่าว การประชุมโต๊ะข่าว และจากผู้สื่อข่าวเอง ประเด็นข่าวทุกประเด็นจะต้องผ่านการพิจารณาจากบรรณาธิการข่าว หรือหัวหน้าโต๊ะข่าวก่อน เนื่องจากมติชนจะกำหนดทิศทางข่าวให้มีการนำเสนอไปในแนวเดียวกัน

2. การหาและรวบรวมข่าว (News Gathering)

ในการทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มนปช.นั้น มติชนได้จัดทีมผู้สื่อข่าวให้รับผิดชอบติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ราช

ประสงค์จากโต๊ะข่าวสายต่างๆ หมุนเวียนกันวันละ 2 คน และมีทีมอาชญากรรมดูบรรยากาศรอบนอก ผู้สื่อข่าวที่เข้าเวรในพื้นที่นั้นจะประจำที่หลังเวที นปช. 1 คน และเดินสำรวจบรรยากาศภายในการชุมนุมอีก 1 คน ส่วนช่างภาพจะเป็นช่างภาพจากส่วนกลางของมติชนจะสลับสับเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่ โดยหัวหน้าช่างภาพจะถ่ายทอดประเด็นข่าวจากการประชุม เพื่อเป็นโจทย์ให้ช่างภาพเก็บรูปให้สอดคล้องกันกับประเด็นข่าวแต่ละข่าว

สาเหตุที่ต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างผู้สื่อข่าวแต่ละโต๊ะนั้น เป็นเพราะว่าก่อนหน้าที่ นปช. จะชุมนุมกันนั้น มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาก่อน กองบรรณาธิการได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบ และได้รับเสียงสะท้อนมาว่า ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมมีความเครียดสูง เมื่อเกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จึงขออาสาสมัคร แต่มีคนอาสาน้อยเนื่องจากการทำข่าวการชุมนุมเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงสูง

ภาคภูมิ (อ้างแล้ว)บรรณาธิการข่าวมติชน กล่าวว่า “ทำงานข่าวม็อบนี่ความเครียดสูง คือไม่รู้ว่าเขาจะสลายม็อบเมื่อไหร่ แล้วบรรยากาศภายในม็อบก็ไม่น่าอยู่ และอารมณ์นักข่าวบางส่วนก็ไม่เอาเสื้อแดง เลยต้องจัดเวรความรับผิดชอบเพื่อความยุติธรรม ให้หัวหน้าโต๊ะข่าวแต่ละโต๊ะส่งตัวแทนมา 2 คน ก็หมุนกันทำงาน”

อาทิตย์[7] หรือ แขก เป็นผู้สื่อข่าวประจำโต๊ะชีวิตคุณภาพที่ถูกเลือกมาประจำพื้นที่ราชประสงค์ ซึ่งเขาบอกว่าถึงถูกเลือกมา ก็มาทำงานด้วยความเต็มใจเนื่องจากต้องการพัฒนาประสบการณ์ในการทำงานข่าวให้มากขึ้น สิ่งที่เขาต้องติดตามเป็นประจำในการทำงานข่าวในพื้นที่คือ การตามเหตุการณ์ในแต่ละวันว่าวันนี้มีผู้ชุมนุมประมาณเท่าไหร่ การตั้งทีมรักษาความปลอดภัย (การ์ด นปช.) การตั้งบังเกอร์เป็นอย่างไร ส่วนประเด็นข่าวจะดูว่าวันนี้แกนนำจะแถลงเรื่องอะไรบ้าง มีความเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากที่รายงานการแถลงข่าวของ นปช. แล้ว เขาก็จะเดินสำรวจรอบๆ เพื่อดูบรรยากาศและดูว่ามีเรื่องไหนน่าสนใจบ้าง โดยส่วนตัวของเขาที่เป็นผู้สื่อข่าวสายชีวิตคุณภาพจึงหามุมมองเรื่องผลกระทบของการชุมนุมว่ามีอะไรบ้างแล้วเก็บข้อมูลเพื่อนำมารายงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบด้วย

เช่นเดียวกันกับ สุทธาสินี จิตรกรรมไทย และเชตวัน เจือประโคน[8] ผู้สื่อข่าวโต๊ะข่าวเฉพาะกิจ ที่ต้องรายงานความเคลื่อนไหวของการชุมนุมว่าแกนนำจะแถลงหรืออะไรบ้าง โดยจะรายงานข่าวตามเหตุการณ์เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าแต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยสุทธาสินีจะรับหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่หลังเวที ส่วนเชตวันจะรับหน้าที่ในการเดินสำรวจดูสถานการณ์รอบๆ พื้นที่ ขณะเดียวกันก็หาข้อมูลทำข่าวให้โต๊ะของตนเองด้วย

ถึงแม้ว่าการผลัดเปลี่ยนกันของโต๊ะข่าวแต่ละโต๊ะ จะกำหนดอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและต้องการลดความเครียดอันเกิดจากพื้นที่การชุมนุมของผู้สื่อข่าว แต่หากมองในแง่ของความต่อเนื่องของข้อมูลและการเชื่อมโยงประเด็นของผู้สื่อข่าวในแต่ละวันแล้ว ผู้สื่อข่าวอาจขาดความใกล้ชิดกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในเชิงลึกจึงทำให้การรายงานข่าวทำได้เพียงแค่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวมีการสื่อสารถึงประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อมิให้ประเด็นที่กำหนดไว้ตกหล่น

จากวิธีการรายงานข่าวดังกล่าว ผู้เขียนจึงลองสำรวจเนื้อหาข่าวการชุมนุมของหนังสือพิมพ์มติชนแล้วพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการรายงานข่าวแบบติดตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นการรายงานข่าวแบบตั้งรับ กล่าวคือ เน้นการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่แหล่งข่าวให้สัมภาษณ์ มากกว่าการรายงานข่าวเชิงรุกที่ผู้สื่อข่าวต้องออกหาข่าวหรือประเด็นที่น่าสนใจและติดตามหาข้อมูลมารายงาน เมื่อสอบถามบรรณาธิการข่าว เขาได้ให้เหตุผลว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ ทำให้มีข่าวลือและข่าวปล่อยมากมาย ทำให้ยากต่อการตรวจสอบข้อมูล เพราะภาวะเช่นนี้สื่อมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ อีกทั้งหากตามตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างที่ได้รับก็อาจเป็นการเสียเวลาและทรัพยากรโดยใช่เหตุ

ส่วนประเด็นข่าวในเชิงลึกนั้น สุวพงศ์ (อ้างแล้ว) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน ยอมรับว่า มติชนนำเสนอข่าวการชุมนุมในเชิงลึกน้อยลงกว่าปกติ เพราะมุ่งนำเสนอเหตุการณ์เฉพาะหน้ามากเกินไป ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดด้านกำลังคนและสถานการณ์ที่ต้องติดตามวันต่อวัน ขณะที่ ภาคภูมิ (อ้างแล้ว) เห็นว่า ในสถานการณ์วิกฤติการเมืองเช่นนี้การทำข่าวเชิงลึกทำได้ยากเนื่องจากว่า หากนำเสนอด้านลบของการชุมนุมจะทำให้ผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ทำงานยากขึ้น เพราะอาจสร้างความไม่พอใจกับแกนนำหรือกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวได้

ในการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความรุนแรงเช่นนี้ ความปลอดภัยในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง ผู้สื่อข่าวภาคสนามจะต้องมีปลอกแขนที่แสดงสถานะของสื่อมวลชน และมีเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ เช่น ขวดน้ำ ผ้าขนหนู และหมวกนิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากการปะทะและการใช้แก๊สน้ำตา ผู้บริหารในกองบรรณาธิการมติชนกล่าวว่า “มติชนคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากมีอะไรไม่ชอบมาพากล หรือมีเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงให้ผู้สื่อข่าวถอนตัวออกจากพื้นที่ทันที” นฤตย์กล่าว

จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียน พบว่า ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มักจะมีข่าวลือออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะข่าว รัฐบาลจะสลายการชุมนุม อย่างเช่นในวันที่ผู้เขียนลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์การทำงานของทั้งสองคนนั้น เป็นวันที่ 28 เมษายน ที่เกิดเหตุการณ์การปะทะกันของ นปช.กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถนนวิภาวดีรังสิต ศูนย์ข่าวหลังเวที นปช.มีการปล่อยข่าวจากผู้ติดตามแกนนำ นปช. คนหนึ่งว่า จะมีการสลายการชุมนุมและทุกอย่างต้องจบวันนี้ หลังจากนั้นที่แยกศาลาแดงเกิดเสียงดังคล้ายปืนขึ้นหลายครั้ง มีแนวร่วมนปช.กลุ่มหนึ่งร้องว่ามีคนยิงจากตึกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อผู้สื่อข่าวได้รับทราบข่าวหรือเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวผู้เขียนจึงสังเกตว่าผู้สื่อข่าวจะจัดการกับข่าวลือนี้อย่างไร สิ่งแรกที่สุทธาสินีทำคือโทรศัพท์ตรวจสอบข้อมูลจากกองบรรณาธิการ และจากแหล่งข่าวอื่นๆ ขณะที่เชตวันซึ่งได้ยินเสียงดังคล้ายปืนจากระยะไกลได้โทรศัพท์ประสานงานกับสุทธาสินีและรายงานเข้ากองบรรณาธิการ หลังจากนั้นจึงเข้าไปดูในที่เกิดเหตุและพบว่าเป็นเพียงพลุตะไลเท่านั้น

การจัดการกับกระแสข่าวลือของผู้สื่อข่าวภาคสนามซึ่งถือว่าเป็นนายด่าน (Mr. Gate) ด่านแรกนั้น สุเมศ (อ้างแล้ว) ผู้สื่อข่าวสายการเมือง กล่าวว่า “ต้องดูก่อนว่าใครปล่อย เชื่อถือได้แค่ไหน ถ้าโอเค เชื่อถือได้จะโทรเช็คกับเพื่อนๆ ว่าที่เวทีว่าอย่างนี้ที่นั่น (ศอฉ.) ว่ายังไง” ขณะที่ผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์น้อยกว่าและไม่ได้อยู่ประจำโต๊ะการเมืองจะใช้วิธีโทรเช็คกับกองบรรณาธิการ และเพื่อนผู้สื่อข่าวค่ายอื่นๆ “ก็ต้องเช็คหลายทาง อย่างมีเพื่อนนักข่าวที่อยู่ฉบับอื่นพอมีข่าวออกมาก็โทรถามเขาว่าได้ยินข่าวนี้บ้างไหม ข่าวเป็นยังไง” อาทิตย์ (อ้างแล้ว) ผู้สื่อข่าวสายชีวิตคุณภาพกล่าว

ภาคภูมิ นฤตย์ และสุวพงศ์ เห็นไปในทางเดียวกันว่า ต้องมีการตรวจสอบ (verify) ข้อมูลอย่างเข้มข้น หากประเด็นไหนตรวจสอบไม่ได้หรือไม่มีมูลความจริงก็จะไม่ลงข่าวอย่างเด็ดขาด โดยมติชนจะมีกลไกในการกรองข้อมูลหลายชั้น กล่าวคือ โต๊ะข่าวที่รับข่าวจากผู้สื่อข่าวภาคสนามต้องกรองก่อนชั้นแรก หลังจากนั้นข่าวจะถูกประเมินโดยที่ประชุมโต๊ะข่าว หัวหน้าข่าวหน้า 1 และบรรณาธิการข่าว ตามลำดับ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยกรองข่าวลือได้

สำหรับข่าวลือที่ถูกปล่อยออกมานั้นผู้เขียนได้ทัศนะจากพี่โก่ง[9] ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากไทยรัฐว่า การปล่อยข่าวลือเรื่องการสลายการชุมนุมมี 2 ลักษณะ คือ หากข่าวนี้ถูกปล่อยจากฝั่งรัฐบาลข่าวนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อหยั่งเสียงจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากถูกปล่อยจากฝั่ง นปช. มีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกระดมมวลชนให้มีความฮึกเหิม

การทำงานของผู้สื่อข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. นั้นจากการสังเกตพบว่า มีทั้งทำงานเป็นกลุ่มและทำงานเดี่ยว ในการทำงานเป็นกลุ่มนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนประเด็นระหว่างผู้สื่อข่าวด้วยกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะเกิดเหตุอะไรต่อไป เพื่อที่จะได้วางแผนการทำงาน เช่น กำหนดจุดที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ ดังเช่นวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการเจรจาขอเปิดพื้นที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมีตัวแทนฝ่ายตำรวจและแกนนำ นปช. หลังจากที่มีการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเสร็จแล้ว ผู้สื่อข่าวจะแลกเปลี่ยนประเด็นซึ่งกันและกันว่าตกประเด็นข่าวไหนหรือไม่ “ทำข่าวร่วมกัน ทุกคนก็มาสัมภาษณ์เหมือนกัน แหล่งข่าวก็คนเดียวกัน คือใจความข่าวเดียวกันนี่แหละ แต่การเขียนมันต่างกันแล้วแต่ว่าคนไหนจะเขียนยังไง ขึ้นอยู่กับนโยบายของหนังสือพิมพ์ด้วย” กลุ่มนักข่าวจากเนชั่น ไทยรัฐ และเดลินิวส์[10] กล่าว ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีประเด็นสำคัญผู้สื่อข่าวกลุ่มดังกล่าว จะประสานงาน แลกเปลี่ยน และตรวจสอบข้อมูลจากผู้สื่อข่าวในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

ส่วนการทำงานข่าวแบบเดี่ยวนั้น ผู้สื่อข่าวส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนสัมภาษณ์บอกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตามการแยกตัวไปทำข่าวแบบเดี่ยวนั้นจะทำให้ทิศทางของข่าวฉีกไปจากฉบับอื่นๆ หรือมีความลุ่มลึกมากกว่า แต่ผู้สื่อข่าวเองก็ต้องดูสถานการณ์ด้วยว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ปลอดภัยหรือไม่

ในการหาข่าวและรวบรวมข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ของผู้สื่อข่าวภาคสนามของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น จะเห็นได้ว่ามีนโยบายเป็นตัวกำหนดวิธีการและประเด็นในการรายงานข่าวเป็นหลัก ซึ่งนโยบายส่วนหนึ่งก็ถูกกำหนดโดยสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. และภาวะความแตกแยกในสังคม ผู้สื่อข่าวต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าว การนำเสนอข่าวที่เป็นแง่ลบต่อการชุมนุมก็สามารถนำมาซึ่งอันตรายและความยากลำบากในการทำงานภาคสนาม ผู้สื่อข่าวจึงต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้สื่อข่าวฉบับอื่นๆ  อีกทั้งการทำงานข่าวท่ามกลางกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัด ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องมีวิจารณญาณ และการตรวจสอบ คัดกรองข้อมูลอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของแหล่งข่าว

3. สิ่งที่มีและไม่มีในการรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ของหนังสือพิมพ์มติชน

ดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อที่ 2 ว่า มติชนมีนโยบายการนำเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่เน้นความเคลื่อนไหวที่

เกิดขึ้นในแต่ละวัน ผลกระทบของการชุมนุม และการนำเสนอทางออกด้วยสันติวิธี ข่าวในด้านความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์การชุมนุมนั้นมิได้มีเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งในเชิงขัดแย้งและเชิงสนับสนุนของกลุ่มคนอีกหลายฝ่าย เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มนักวิชาการ เป็นต้น

การนำเสนอข่าวของมติชนนั้น หากมีคู่ขัดแย้งให้สัมภาษณ์พาดพิง หรือเปิดประเด็นด้านลบของฝ่ายตรงข้าม กองบรรณาธิการจะให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่ว่า “แหล่งข่าวคนนั้นๆ ได้ให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวจริงหรือไม่” มากกว่าการสืบค้นความจริงให้กระจ่าง (fact finding) เนื่องจากไม่สามารถสืบค้นความจริงได้ทั้งหมดในสถานการณ์วิกฤติการเมือง โดยเฉพาะการสืบหาความจริงจากส่วนราชการที่หาเอกสารหลักฐานมายืนยันได้ยาก นฤตย์และภาคภูมิ ซึ่งเป็นบรรณาธิการของมติชน มองว่า การนำเสนอความจริงในแง่นี้ก็สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ตกเป็นข่าวได้โดยการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาชี้แจงได้เช่นเดียวกัน

จากการสำรวจเนื้อหาของมติชนในวันที่ 14 เมษายน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้นำเอาภาพชาย 2 คน ถือปืนสวมหมวกไอ้โม่งออกมาเปิดเผยว่า เป็นอดีตทหารพรานและมีส่วนในการสร้างสถานการณ์ในวันที่ 10 เมษายน ต่อมาในวันที่ 15 เมษายน มติชนได้ลงข่าวคำชี้แจงของ นายมานพ ชาญช่างทอง และนายสมาน ศรีแก้ว ซึ่งเป็นชายในภาพที่ถูกกล่าวหา ในข่าวหน้า 2 นอกจากนั้นยังมีรายงานพิเศษเรื่อง “ไขปริศนา ‘นักฆ่าเสื้อดำ’ ปชป. ดิ้นล้าง ‘เลือด’ ออกจากมือ” การให้พื้นที่แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงนั้น ถือว่าเป็นลักษณะของการรายงานข่าวที่มีความสมดุล (balance) และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งใด

สุวพงศ์ (อ้างแล้ว) ได้ให้ทัศนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในการสร้างสมดุลของข่าวว่า “เราต้องเก็บประเด็นให้ครบถ้วนมากที่สุด บางครั้งข้อเท็จจริงก็ทำให้ดูเหมือนกับว่าเราเข้าข้างคนนั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าเราจะต้อง balance ให้ฝ่ายนั้น 5 บรรทัด ฝ่ายนี้ 5 บรรทัด ไม่ใช่ เราต้องเปิดโอกาสให้ทุกคน กระจายพื้นที่เป็นเวทีกลางให้มากที่สุด....สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้เป็นกลางด้วยข้อเท็จจริง”

ในประเด็นของความเป็นกลางของสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้น กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ ในการเสวนาหัวข้อ “สื่อเสรีสร้างสันติภาพอย่างไร” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2553 ดร.พนา ทองมีอาคมได้ให้ทัศนะว่า ความเป็นกลางไม่สามารถวัดได้ แต่ต้องมองว่าข่าวนั้นมีความสมดุลหรือไม่ อย่างไร ขณะที่ สุนัย ผาสุก มองว่าสื่อมวลชนสามารถ “เลือกข้างได้” แต่ผู้สื่อข่าวต้องมีความรับผิดชอบ ส่วน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เห็นว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้สื่อต้องมีความเป็นมืออาชีพ ต้องนำเสนอข่าวสารที่เป็นความจริงและสามารถตรวจสอบได้

จากทัศนะเกี่ยวกับความเป็นกลางข้างต้นนักวิชาชีพอย่าง สุวพงศ์และภาคภูมิ กลับเห็นต่างว่า สื่อมวลชนต้องมีความเป็นกลางไม่สามารถเลือกข้างได้ เพราะสื่อมวลชนไม่สามารถตัดอคติออกจากการรายงานข่าวได้จริง แต่การรายงานข่าวต้องมีความเป็นกลาง ดังนั้นการจะทำให้ข่าวเป็นกลางจะต้องผ่านการกรองหลายชั้นของการทำงานและยึดถือข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ ขณะที่ผู้สื่อข่าวภาคสนามเห็นว่าความเป็นกลางเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สิ่งที่ต้องยึดถือในการทำงานข่าวคือ “ความจริง”

สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในข่าวการชุมนุมของนปช. คือ การเสนอข่าวแบบโต้กันไปโต้กันมาของคู่ขัดแย้ง หรือที่เรียกว่า “ข่าวปิงปอง” แน่นอนว่าข่าวลักษณะดังกล่าวมีคุณค่าเชิงความขัดแย้ง แต่หากมองในมุมของข้อเท็จจริงนั้น ผู้อ่านแทบไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่คู่ขัดแย้งกำลังโต้กันอยู่นั้นมีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน และผู้อ่านได้ประโยชน์อะไรจากการนำเสนอข่าวแบบนี้ แต่ สุวพงศ์ ได้ยืนยันว่า “ข่าวปิงปองจำเป็นในสถานการณ์แบบนี้ เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อกับการทำข่าวเจาะ แต่ต้องยึดเอาพื้นฐานที่เป็นข้อเท็จจริงในการทำข่าวก่อน ด้วยเงื่อนไขของเวลา กองบก. นักข่าว ไม่สามารถเก็บเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วน แล้วก็สำคัญที่ความปลอดภัยของนักข่าวด้วย ข้อมูลที่ถูกต้องจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล”

นอกจากการรายงานข่าวตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มติชนมีแนวทางในการนำเสนอผลกระทบของการชุมนุมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากข่าวที่มติชนนำเสนอตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นวันชุมนุมใหญ่ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินเป็นวันแรก ดังตัวอย่าง

โพลชี้คนไทยเครียด “ม็อบ”[11]

การท่องเที่ยว VS วิกฤตการเมือง (อีกแล้ว)[12]

คนรุ่นใหม่ “พี่อาร์-ออกาไนซ์” ทำใจรับมือม็อบ[13]

แดงยึดราชประสงค์ยาว กทม.อัมพาต ศอ.รส.ขู่เจอคุกชี้ปิดทาง[14]

เศรษฐกิจพัง 300 ล้านต่อวัน[15]

ยอดสูญเสียพุ่งพันล้านต่อวัน[16]

ขสมก. ปรับเส้นทางเดินรถเลี่ยงแดงยึดราชประสงค์[17]

ผู้พ่ายแพ้ตัวจริงในสงครามราชประสงค์[18]

การเมืองรุนแรงส่งผลให้เด็กก้าวร้าว[19]

ถ้าย้อนกลับไปดูจุดยืนของหนังสือพิมพ์มติชนก็จะพบว่า มติชนมีจุดยืนในการนำเสนอข่าวการเมืองและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก แต่นโยบายในการเสนอข่าวการชุมนุมของ นปช. ที่กองบรรณาธิการกำหนดไว้จะเห็นว่ามีเรื่องผลกระทบของการชุมนุมอยู่ด้วย ซึ่งกองบรรณาธิการมติชนก็ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากตัวอย่างข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในด้านผลกระทบนั้น จะเห็นได้ว่า มติชนได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจระดับมหภาคมากกว่าระดับจุลภาค ขณะที่ผลกกระทบด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองให้สอดรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบของมลภาวะทางเสียงที่เกิดกับผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และผู้ที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันกวดวิชาในพื้นที่ วิถีชีวิตของวัยรุ่นที่เคยใช้เวลาว่างในการจับจ่ายและทำกิจกรรมในพื้นที่แถบราชประสงค์ หรือแม้แต่ผลกระทบที่มีต่อศาสนสถาน ฯลฯ มติชนไม่ได้สะท้อนผลกระทบเหล่านี้ต่อสาธารณชนเท่าที่ควร

เช่นเดียวกันกับมุมมองของชาวบ้านที่มาเข้าร่วมการชุมนุม ในความเป็นจริงชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องและไม่ได้รับการเหลียวแล การไม่นำเสนอแง่มุมดังกล่าวของสื่อเท่ากับเป็นการผลักให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วมการชุมนุมไปโดยปริยาย การที่พวกเขาเข้าร่วมกลุ่มกับ นปช. นั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขามี “อุดมการณ์แดง” มาตั้งแต่แรก แต่มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ต้องการแสดงออกถึงความคับข้องใจและปัญหาปกท้องของพวกเขา นอกจากจะไม่ได้รับความสนใจจากมวลชนแล้ว ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวยังถูกกลุ่มผลประโยชน์นำเอาความทุกข์ยากมาผลักดันและใส่ข้อมูลด้านเดียวให้แก่พวกเขาจนถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกลุ่ม นปช.ในที่สุด ซึ่งการไม่เสนอภาพความเป็นจริงของชาวบ้านที่ทุกข์ยากยังจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดและเหมารวม (stereotype) ให้กับกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ว่าเป็น “ม็อบรับจ้าง” ประกอบกับกลุ่ม นปช. เป็นสาเหตุให้เกิดความวุ่นวายในสังคมจึงไม่มีความเห็นใจซึ่งกันและกัน

มะเดี่ยว หรือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ให้สัมภาษณ์กับมติชน[20] ถึงเรื่องการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในเครือข่ายสังคม (social network) อย่างเฟซบุ๊ก (facebook) ว่า “อย่างพอมีคนเอารูปคนตายลงอินเทอร์เน็ต ก็มีคนแสดงความสะใจ ตายซะได้ก็ดี ที่น่ากลัวคือมีคนเห็นด้วยเยอะแยะ เรารู้ว่าคน กทม.รู้สึกอย่างไรกับการชุมนุมก็ด่าทุกวันในเฟซบุ๊ก ไปตายซะ เป็นวัวเป็นควายก็ไปอยู่นาซะ” การให้สัมภาษณ์ของ มะเดี่ยว สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ที่ทำให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้วออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่นเดียวกับที่คนกรุงเทพฯ ต้องการเรียกร้องวิถีชีวิตแบบเดิมคืนมาเช่นกัน ในแง่นี้ถือว่าหนังสือพิมพ์มติชนและสื่อมวลชนแขนงอื่นๆ ไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่มีความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจเพื่อนร่วมชาติและมีปฏิกริยาเช่นนี้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม

สถาพร พงศ์พิพัฒน์วัฒนา[21] ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยได้ให้ทัศนะว่า “การนำเสนอเรื่องของเขา (กลุ่ม นปช.) เป็นการเปิดพื้นที่ทำให้เสื้อแดงหันมารับข่าวสารผ่านช่องทางอื่นๆ บ้าง” ความคิดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่สื่อมวลชนไม่เปิดพื้นที่ให้กับมวลชนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการผลักให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและเข้าไม่ถึงในทรัพยากรสาธารณะแยกตัวเองออกมาเป็น “พวกเขา” และ “พวกเรา” เกิดการเปรียบเทียบการมีและการได้มาซึ่งทรัพยากรอันนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม จนกลายเป็นความรู้สึกที่ว่า “ใครไม่ใช่พวกเรา” ทั้งที่อยู่ในสังคมในประเทศเดียวกัน

ดังนั้นหนังสือพิมพ์มติชนและสื่อมวลชนอื่นๆ ควรต้องย้อนกลับมาดูบทบาทหน้าที่ในการเชื่อมโยงหน่วยต่างๆ ในสังคม (correlation of parts of society)[22] เพื่อให้สังคมได้รับรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกหน่วยของสังคม การนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นของสื่อมวลชนจะช่วยให้มวลชนผู้รับสารขยายโลกทัศน์ ความรู้ ความคิด มองเห็นประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากส่วนอื่นๆ ของสังคม อย่างน้อยการใส่ใจในข้อเรียกร้องที่แท้จริงของชาวบ้านกลุ่มนั้น อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่นำความสงบและสันติมาสู่สังคมได้เช่นกัน

นอกจากบทบาทหน้าที่ในการเชื่อมโยงสังคมแล้ว สื่อมวลชนยังมีบทบาทในการให้การศึกษา (to educate) การให้การศึกษาในที่นี้คือ การให้คำอธิบายในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งในสังคมขณะนั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดสื่อสร้างสันติภาพของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล[23] ได้ให้ทัศนะว่า สื่อต้องให้ความรู้ในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งโดยไม่ต้องพาดพิงคู่กรณี เช่น คำว่า อหิงสา ที่กลุ่ม นปช.อ้างเป็นแนวทางในการชุมนุมที่จริงแล้วมีลักษณะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยในโลกนี้มีกี่แบบแล้วประเทศไทยอยู่ในขั้นไหน เป็นต้น สำหรับมติชน บทบาทหน้าที่ในการให้การศึกษาในประเด็นขัดแย้งนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของบทความในคอลัมน์กระแสทรรศน์ หน้า 6-7 และเคียงข่าว การให้ความรู้ดังกล่าว ผู้อ่านหรือผู้รับสารจะนำข้อมูลไปคิดพิจารณาว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อของผู้รับสารได้อีกทางหนึ่ง

ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า หนังสือพิมพ์มติชนให้ความสำคัญกับการนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดพื้นที่ให้แก่นักวิชาการ กลุ่ม องค์กร นักธุรกิจ เสนอแนวทางโดยผ่านการสัมภาษณ์ลงในส่วนของข่าวเศรษฐกิจ กระแสทรรศน์ และคอลัมน์อื่นๆ เช่น

ยอมรับกันและกัน[24]

“ม.เที่ยงคืน” เสนอ 4 ปม แก้การเมืองตีบตัน[25]

ยุบไม่ยุบสภา: แก้ปัญหานักการเมือง ปฏิรูปประเทศ: แก้ปัญหาประชาชน[26]

มีส่วนร่วมแบบไหน “พอดี” สำหรับประชาธิปไตยแบบไทยๆ[27]

“นักธุรกิจ-อาจารย์” ร่วมฝ่าทางตัน “วิกฤต” ประเทศไทย[28]

นานาทัศนะหลังม่านควัน แก๊สน้ำตา “แสวงจุดร่วมหาทางออกวิกฤต”[29]

อย่างไหนถึงจะเรียกว่า “สันติวิธี”[30]

องค์กรประชาชน-นักวิชาการ แนะทางออก แก้ขัดแย้ง-เหตุรุนแรง[31]

นอกจากมติชนจะทำหน้าที่ในการเป็นเวทีกลางในการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแล้ว ยังถือเป็นการสร้างพื้นที่ให้สาธารณะ (public sphere)[32] ซึ่งมีความสัมพันธ์กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่อย่างใกล้ชิด กลุ่มที่เข้ามายึดกุมและขยายบทบาททางการเมืองของพื้นที่สาธารณะในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทั้งในประเด็นเฉพาะและประเด็นสาธารณะ ซึ่งในที่นี้มติชนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะมีบทบาทในการผลักดันเพื่อให้เกิดความสงบและสันติสุขขึ้นในสังคม

บทสรุป

การทำหน้าที่สื่อมวลชนในภาวะที่มีความขัดแย้งสูงทำได้ยาก เนื่องจากผู้รับสารมักจะเลือกเสพเฉพาะสิ่งที่ตรงกับทัศนะและความคิดเห็นของตนเอง ขณะเดียวกันบุคลากรในวงการสื่อที่เป็นปัจเจกบุคคลต่างก็มีจุดยืนเป็นของตนเองยากจะแยกสถานภาพของปัจเจกกับบทบาทหน้าที่ได้อย่างสิ้นเชิง สื่อมวลชนโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวจึงต้องปรับตัวและนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

กระบวนการหาและรวบรวมข่าว (news gathering) ในการรายงานข่าวการชุมนุมของ นปช.ของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น มีนโยบายเฉพาะกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งวิกฤตดังกล่าวยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดวิธีการสื่อข่าวของกองบรรณาธิการอีกด้วย กล่าวคือ ในการรายงานข่าวการชุมนุมในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ ผู้สื่อข่าวต้องยึดหลักข้อเท็จจริงและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากภาวะความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม ทำให้ในการนำเสนอข่าวของมติชนเน้นหนักไปที่การรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการทำข่าวเจาะ ทั้งนี้เป็นเพราะจำนวนบุคลากรและสถานการณ์ที่มีการปล่อยข่าวลือจนไม่สามารถตามข่าวได้ครบทุกประเด็น นอกจากนั้นการทำข่าวการชุมนุมเป็นการทำงานที่มีความเครียดสูงทั้งในแง่ของสถานการณ์ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อม จึงต้องมีการหมุนเวียนผู้สื่อข่าวจากโต๊ะต่างๆ เพื่อความยุติธรรมและให้ผู้สื่อข่าวได้ผ่อนคลายบ้าง

ด้านเนื้อหาของข่าวกองบรรณาธิการมติชน เน้นการนำเสนอด้วยความเป็นกลางและหลักความสมดุล ให้โอกาสผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจง ซึ่งทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่สามารถตรวจสอบได้ ส่วนข่าวผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น ส่วนใหญ่เน้นการรายงานผลกระทบในเศรษฐกิจระดับมหภาค และขาดการนำเสนอผลกระทบในเชิงสังคมและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการเปิดพื้นที่ในข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนเน้นหลักความสมดุลให้คู่ขัดแย้งได้มีพื้นที่ชี้แจงข้อกล่าวหา หรือการกล่าวพาดพิง เช่น กลุ่มนปช. กับรัฐบาล แต่ไม่ได้เปิดพื้นที่สำหรับชาวบ้านให้ได้เสนอความเดือดร้อนของพวกเขา ในขณะที่กลุ่มผลประโยชน์ต้องการมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมอยู่แล้ว การไม่มีพื้นที่สำหรับกลุ่มคนด้อยโอกาสถือเป็นการผลักกลุ่มคนดังกล่าวให้เข้าสู่การชุมนุมโดยปริยาย อีกทั้งทำให้คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมองไม่เห็นถึงความจำเป็นของการเข้าร่วมชุมนุม กลับต่อต้านและมองว่ากลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมการชุมนุมเป็นม็อบรับจ้าง

ส่วนบทบาทในการสร้างสันติภาพในภาวะความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น มติชนได้ให้พื้นที่ในการนำเสนอบทความ ความคิดเห็นต่างๆ ในการหาทางออกของความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้

ข้อเสนอแนะ

1.     การเสนอข่าวควรนำเสนอความเดือดร้อนและวัตถุประสงค์ของชาวบ้านที่การเข้าร่วมการชุมนุม เพื่อนำเสนอปัญหาที่แท้จริงและเปิดพื้นที่ให้กับมวลชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้เสียผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

2.     ควรจะมีการนำเสนอข่าวที่ให้ความรู้ในประเด็นที่ขัดแย้งให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวในเชิงลึก อันจะนำไปสู่ความเข้าใจและผลประโยชน์ร่วมกันของคนในสังคม

3.     ควรนำเสนอข่าวที่เป็นผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรมของทั้งผู้เข้าร่วมชุมนุมและคนกรุงเทพฯ ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยผู้สื่อข่าวอาจต้องใช้วิธีการเวลาในการศึกษาผลกระทบในระยะยาว เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์สังคมที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ เพื่อผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

รายการอ้างอิง

พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช. (2543) การรายงานข่าวขั้นสูง. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์.

มาลี บุญศิริพันธ์. (2550) วารสารศาสตร์เบื้องต้น: ปรัชญาและแนวคิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. (2550) สื่อสารมวลชนเบื้องต้น: สื่อมวลชน สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-------------------------------------------------------------------------------


[1] อาจารย์ประจำสาขาวิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล

[2] พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช. (2543) การรายงานข่าวขั้นสูง. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์.

[3] สัมภาษณ์ วันที่ 26 เมษายน 2553

[4] สัมภาษณ์ วันที่ 26 เม.ย. 2553

[5] สัมภาษณ์ วันที่ 6 พ.ค. 2553

[6] สัมภาษณ์ วันที่ 29 เม.ย. 2553

[7] สัมภาษณ์ วันที่ 27 เมษายน 2553

[8] สัมภาษณ์ วันที่ 28 เมษายน 2553

[9] สัมภาษณ์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2553

[10] สัมภาษณ์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2553

[11] ข่าววันที่ 14 มีนาคม 2553 หน้า 15

[12] โดยมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด. กระแสทรรศน์ หน้า 7. วันที่ 15 มีนาคม 2553

[13] ข่าววันที่ 18 มีนาคม 2553

[14] พาดหัวหลัก ข่าวหน้า 1 วันที่ 4 เมษายน 2553

[15] พาดหัวรอง ข่าวหน้า 1 วันที่ 4 เมษายน 2553

[16] ข่าว 2 ในข่าวหน้า 1 วันที่ 6 เมษายน 2553

[17] ข่าววันที่ 16 เมษายน 2553 หน้า 15

[18] ชีวิตคุณภาพ วันที่ 26 เมษายน 2553 หน้า 10

[19] ข่าววันที่ 26 เมษายน 2553

[20] คอลัมน์บันเทิง “จากเฟซบุ๊กถึงชนชั้นกลางด้วยรักแห่งสยามที่แท้” หน้า 24 วันที่ 26 เมษายน 2553

[21] สัมภาษณ์ วันที่ 29 เมษายน 2553

[22] มาลี บุญศิริพันธ์. (2550) วารสารศาสตร์เบื้องต้น: ปรัชญาและแนวคิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[23] จากงานเสวนา “สื่อเสรีสร้างสันติภาพอย่างไร” ในงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก วันที่ 3 พฤษภาคม 2553 จัดโดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

[24] แท็งก์ความคิด โดยนฤตย์ เสกธีระ ในอาทิตย์สุขสรรค์ หน้า 17 วันที่ 14 มีนาคม 2553

[25] ข่าวหน้า 2 วันที่ 18 มีนาคม 2553

[26] โดยสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม วันที่ 4 เมษายน 2553

[27] โดยสุขุม เฉลยทรัพย์ กระแสทรรศน์ วันที่ 5 เมษายน 2553

[28] ข่าวหน้าภูมิภาค วันที่ 12 เมษายน 2553

[29] หน้าเศรษฐกิจ วันที่ 12 เมษายน 2553

[30] โดยมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด กระแสทรรศน์ วันที่ 19 เมษายน 2553

[31] ข่าวหน้า 2 วันที่ 26 เมษายน 2553

[32] อ้างถึงใน อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. (2550) สื่อสารมวลชนเบื้องต้น: สื่อมวลชน สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย