สื่อ : จากฐานันดร 4 กลายเป็นปัจจัยที่ 5
วิพากษ์ ภาพและข่าวหน้าหนึ่ง
คุณค่าของการเป็นสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดย สุรชัย ทิพย์สุมณฑา
หัวหน้าสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
เมื่อการรายงานข่าว...มิได้หมายถึงเพียงการรายงานข้อเท็จจริงของสิ่งที่สายตาเราประจักษ์ชัด หรือรายงานเฉพาะข้อเท็จจริงที่ผู้สื่อข่าวเผชิญหน้า แต่ผู้สื่อข่าวที่ดี จะต้องเชื่อมโยงสิ่งที่พวกเขามองเห็นกับบริบทอื่นๆของสังคมในมิติเชิงซ้อน ข้อเท็จจริงที่นำเสนอจึงต้องมีมิติลึกทางสังคมอยู่ด้วยในตัวของมันเอง มิฉะนั้น สิ่งที่ถูกนำเสนอ ก็เป็นเพียงกองของข้อเท็จจริงที่ขาดการสังเคราะห์และท้ายที่สุด มันจะเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่สะท้อนมุมของสังคมเพียงบางด้าน จากฐานคิดของความเป็นคนชั้นกลางเท่านั้น (นรินทร์ นำเจริญ, 2549 หน้า คำนำ)
อดีตที่ผ่านมา สื่อ หนังสือพิมพ์ เคยถูกชี้ว่าเป็นฐานันดร 4 ด้วยในยุคนั้น ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษ แบ่งคนออกเป็น 3 ระดับ ฐานันดรที่หนึ่ง ขัตติยะ ฐานันดรที่สอง นักบวช ฐานันดรที่สาม พ่อค้าหรือเกษตรกร และรัฐสภาอังกฤษมีสมาชิกที่มาจากทั้งสามฐานันดร พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนอธิบายที่มาของการเรียกขาน “สื่อ” เป็นฐานันดร 4 ไว้ในหนังสื่อเรื่อง “ฝรั่งศักดินา” ว่า ในการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาอังกฤษ มร. เอ็ดมั่นด์ เบิร์ก สมาชิกรัฐสภาได้ลุกขึ้นอภิปราย ในตอนหนึ่งของคำอภิปราย ได้พูดว่า ...ขณะที่เราทั้งหลายผู้เป็นฐานันดรทั้งสามกำลังประชุมอยู่นี้ ขอให้เราพึงคำนึงด้วยว่าบัดนี้มีฐานันดร 4 เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังนั่งฟังการประชุมของเราอยู่ด้วย...เมื่อกล่าวจบได้ชี้มือไปทางคนหนังสือพิมพ์ที่เข้ามานั่งฟังการประชุมเพื่อนำข้อมูลไปเขียนข่าว (สุมิตร เหมสถล, 2548 หน้า 227-228)
ปัจจุบัน สื่อ ไม่ยอมรับคำเรียกขาน ดังกล่าว แม้มีคำเรียกขานอื่นๆ ตามมา เช่น กระจก ตะเกียง สุนัขเฝ้าบ้าน ยามเฝ้าประตู เป็นต้น ทั้งนี้นั้น ชี้ให้เห็นฐานะและบทบาททางสังคมที่สื่อ ได้รับการยอมรับ หรือน้อยที่สุด รู้สึกถึงในความเคลื่อนไหว ตามบทบาทหน้าที่ที่พึงกระทำ ตัวอย่างที่ยกเป็นกรณีกล่าวอ้าง ย้อนกลับไปยัง ปี คศ. 1820 เมื่อพระเจ้ายอร์ชที่ 4 ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ พระองค์ทรงมีราชประสงค์จะมีพระราชินีใหม่ ได้นำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้สมาชิกลงมติว่าการสมรสก่อนหน้ากับมเหสีเดิมเป็นโมฆะ เวลานั้นสภาไม่คัดค้านเนื่องจากเกรงกลัวพระราชอำนาจ แต่ หนังสือพิมพ์ The Times โดย บรรณาธิการ มร. โทมัส บาร์น ได้พาดหัวหนังสือพิมพ์ และเขียนบทบรรณาธิการคัดค้านอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่เห็นด้วย และรวมกลุ่มคัดค้าน เป็นเหตุให้รัฐสภาไม่กล้าขัดมติมหาชน ทำให้มองเห็นอย่างชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์คือ ปากเสียงที่แท้จริงของประชาชน และหนังสือพิมพ์มีบทบาทต่อสังคมมาก... (สมหมาย ปาริจฉัตต์, 2543 หน้า 209-210)
วันนี้ หากสื่อไม่ประสงค์จะคงความเป็นฐานันดร 4 แล้วสื่อจะเป็นอะไร ที่ยังดำรงบทบาทหน้าที่ในความสำคัญเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน
นอกเหนือจาก อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค อันเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต เป็นที่ตระหนักว่าปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่อย่างปกติสุขของคนเวลานี้ ยังต้องการข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจ จึงน่าจะกล่าวว่า ข่าวสาร กลายเป็นปัจจัย ที่ 5 ที่จำเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่รวดเร็วถูกต้องเข้าถึงได้ ช่วยให้คนมีข้อมูลเพื่อการพิจารณาตัดสินใจที่จะทำการใดๆเพื่อการดำรงอยู่ได้อย่างถูกต้อง เคยมีคำกล่าวว่า ใครผู้ใดเป็นผู้ครอบครองสื่อ(ช่องทางการสื่อสาร)ผู้นั้นจะมีอำนาจ แต่ในยุคของสังคมข่าวสาร อาจต้องกล่าวว่า ผู้ใดเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงได้อย่างรวดเร็ว เพียงพอ จะเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจและก้าวไปได้ไกลกว่าผู้ที่ขาดข้อมูลข่าวสารหรือได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จและไม่ทันต่อสถานการณ์
บทความนี้สะท้อนมุมมองผู้เขียน จากการได้เข้าศึกษาฝึกอบรมประสบการณ์วิชาชีพสื่อมวลชนกับหนังสือพิมพ์ ภายใต้โครงการการศึกษาดูงานด้านสื่อมวลชนของอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา ระหว่างวันที่ 19 เมษายน ถึง 8 พฤษภาคม 2553 รวมเวลา 3 สัปดาห์ โดยผู้เขียนตั้งประเด็นปัญหาเรื่อง คุณค่าของข่าวและภาพข่าวหน้าหนึ่ง กรณีศึกษา การได้มา การคัดกรองและการจัดวาระข่าวสารนำเสนอต่อผู้อ่านในเป้าหมายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการบริโภคข่าวสารที่เป็นจริงรวดเร็วและครอบคลุม เป็นการศึกษาโดยการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักวิชาการและนักวิชาชีพ เพื่อประจักษ์ข้อเท็จจริงของกระบวนการการผลิตสื่อ การสร้างคุณค่าของการเป็นสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในกรอบศึกษาที่เชื่อว่า สื่อยังคงเป็นที่พึงพิงของประชาชน และยังคงความสำคัญตามบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี
การนำเสนอข้อวิพากษ์นี้ เป็นมุมมองจากประสบการณ์เดิม ร่วมกับการที่ได้สัมผัสในระหว่างการศึกษา กระบวนการแสวงหาข่าว การผลิต และเผยแพร่สู่สาธารณะ บนสมมติฐานเชิงอุดมคติของนักวิชาการ ที่ต้องการเห็นสื่อทำหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม และทรงคุณประโยชน์สูง ที่จะเป็นเครื่องมือในการยกระดับพัฒนาสังคม พบว่า สื่อ โดยสำนึกของผู้ทำหน้าที่รายงานความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันต่อประชาชนนั้น ยังคงคุณค่า ให้ประโยชน์ แม้มีบางส่วนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขด้วยข้ออ้างในข้อจำกัดบางประการ ที่ทำให้สื่อต้อง ละเลย หรือแสดงบทบาทหน้าที่ขาดเกิน ไม่เที่ยงธรรม ภายใต้ปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร อาทิเช่นข้อจำกัดด้านนโยบาย อำนาจอิทธิพลมืด แหล่งทุน และผลประโยชน์แฝง ซึ่งทำให้ภาพและข่าวบนหน้าหนึ่งถูกนำเสนออย่างมีแง่มุมหรือนัยยะซ่อนเร้นที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆต่อการรับรู้ ที่จะสามารถนำข้อมูลข่าวสารนั้นไปใช้เพื่อการตัดสินใจได้อย่างก่อประโยชน์เชิงพัฒนายกระดับสังคมให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ทำสื่อเองได้อ้างข้อแก้ตัว ต่อการละเลย และหย่อนความจริงใจ ที่จะตั่งมั่น ต่อสู่เพื่อดำรงความเที่ยงธรรมในบทบาทหน้าที่ ที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ
รศ. สดศรี เผ่าอินทร์ อาจารย์ประจำ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สมภาษณ์แสดงทัศนะเกี่ยวกับการทำบทบาทหน้าที่ของผู้ทำสื่อ ลงตีพิมพ์ในจดหมายข่าว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 เก็บความโดยสรุป เป็นเสียงติติงว่า ปัจจุบัน เห็นว่า สื่อหนังสือพิมพ์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในประการที่หนึ่ง และประการที่สองฝีมือความเป็นนักวิชาชีพลดลง (สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 หน้า 3-4) และในจดหมายข่าวสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เดือนเมษายน 2553 ได้นำเสนอการรายงานข่าว ข้อสรุปผลการวิจัย “ภาพข่าว : ละเมิดจริยธรรม” โดยนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง เป็นผู้ให้ข้อมูล มีใจความสรุป ถึงประเด็นปัจจัยปัญหา ภาพข่าวหวาดเสียว อนาจาร เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ฉบับเดือน เมษายน 2553 หน้า 1 ต่อหน้า 9) ซึ่งจากประเด็นทั้งสองนั้น จึงนำไปสู่การตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ ภาพ และข่าวหน้าหนึ่ง ยังคงดำรงค์คุณค่าความเป็นสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในขณะที่บางส่วน ถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบ ในการนำเสนออย่างมีเงื่อนงำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ ทำให้เกิดคำถามให้ต้องขบคิดถึงความถูกต้องต่อการหน้าที่บทบาทสื่อมวลชนที่ดี ทั้งที่เลงเห็นผลที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้รับสาร และโดยอ้อมต่อสังคมเช่นนั้น
การคาดเดาคำตอบต่อปัญหาคำถามข้างต้นถึงปัจจัยที่กำหนดให้สื่อต้องเอนเอียงในความเป็นจริง หรือตั้งมั่นได้ในความเป็นจริง ผู้ศึกษาได้ประมวลเป็นสมมติฐานเชิงสังเคราะห์ในมุมมองที่คาดว่าน่าจะเป็น ของภาพและข่าวหน้าหนึ่ง ที่สร้างคุณค่าความเป็นสื่อ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้ 5 ปัจจัย ประกอบด้วย หนึ่งปัจจัยที่ตัวผู้เป็นแหล่งข่าว สองปัจจัยที่ตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพ สามปัจจัยในช่องทางการส่งสาร สี่ปัจจัยที่ตัวผู้คัดกรอง ซึ่งประกอบด้วยตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพ หัวหน้าข่าว ผู้เรียบเรียงข่าว บรรณาธิการหรือหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง และในปัจจัยที่ห้า ปัจจัยจากนโยบายและการบริหารจัดการ จากผู้เป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งในที่นี้ละเว้นที่จะพาดพิงถึงปัจจัยจากผู้บริโภคสื่อซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ทำสื่อมักอ้างว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สื่อต้องกระทำหรือไม่กระทำ ทั้งนี้เพราะอยู่นอกกรอบการศึกษาในขณะศึกษา
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหา หัวข้อที่ศึกษาครั้งนี้ ซึ่งจะได้นำมาประกอบคำอธิบายในสมมติฐานที่ตั้ง ประกอบด้วย
สิ่งที่ “สื่อ” นำเสนอ คือข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และความจริง ผศ. สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ให้นิยามว่า ข้อเท็จจริง (Fact) หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นอยู่หรือเป็นไปแล้ว ในแง่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากแหล่งข่าว ซึ่งในความเป็นจริง ข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวสามารถเป็นได้ทั้งข้อจริงและข้อเท็จ นักข่าวจึงต้องประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าว ส่วนความคิดเห็น (Opinion) เป็นการแสดงออกทางด้านความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยการพูด การเขียน ทั้งนี้ ความคิดเห็นเป็นข้อมูลที่โยงกับความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล ซึ่งขึ้นกับพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อม สำหรับความจริง (Truth) ถือเป็นสิ่งสากล เป็นจริงตรงตามลักษณะที่เกิดขึ้น ไม่อาจบิดเบือนทำให้เป็นเท็จ (สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 หน้า 4-5) โดยหน้าที่คนทำหนังสือพิมพ์ จึงเป็นผู้ที่ต้องค้นหาความจริง ทั้งนี้ เพราะ ความจริง และข้อเท็จจริง มักถูกอ้างถึงถึงในการเสนอข่าว
วรรณกรรมถัดมา คุณภาพของข่าว (Quality of News) ขึ้นอยู่ที่ว่า ข่าวนั้นมีองค์ประกอบข่าว (News Element) มากน้อยเพียงใด เกณฑ์การพิจารณาคุณค่าของข่าว จึงประกอบด้วย ความถูกถ้วน (Accuracy) คือสามารถตอบคำถาม 5 Ws + H ประกอบด้วย ใคร (Who) ทำอะไร (what) ที่ไหน (Where) เมื่อไหร่ (When) ทำไม (Why) และอย่างไร (How) ในองค์ประกอบถัดมา ข่าวจะต้องมีความสมดุลย์และเป็นธรรม (Balance and Fairness) ข่าวต้องเป็นกลาง (Objective) และองค์ประกอบที่สำคญ ข่าวต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยองค์ประกอบนี้ ทำให้ผู้ผลิต ต้องไม่นำเสนอเฉพาะประเด็นปัญหาความขัดแย้ง แต่ต้องนำเสนอหาทางออกหรือวิธีแก้
การคัดกรองข่าวสาร (Gatekeeper) กระบวนการคัดเลือกให้เรื่องใด จะถูกรายงานไปยังหัวหน้าข่าว และถูกนำเสนอด้วยการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) สื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดประเด็นของข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ การกำหนดวาระข่าวสารอาจทำให้ประชาชนเกิดความคิดที่จะเชื่อหรือปฏิบัติตามประเด็นที่สื่อกำหนด (อ้างตาม อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, 2548 หน้า 159)
คำนิยามของคำว่า “ข่าว” คุณพงศักดิ์ พยัฆวิเชียร ให้คำนิยามว่า ข่าว คือ สิ่งที่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ปรากฎเป็นข่าว เรา(ผู้ทำข่าว)ทำได้โดยทำให้มันเกิดขึ้นมา เพราะข่าวนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเหตุการณ์แล้วจึงรายงาน...คุณไพศาล มังกรไชยา ให้คำนิยามว่า ข่าวคือรายงานเหตุการณืที่เกิดขึ้นจริง ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อปัญหาความมั่งคงของชาติ ข่าวที่ดีจะต้องเที่ยงตรง ไม่ปืดบังข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันไม่กุข่าวขึ้นมา ข่าวที่ดีนั้นไม่ใช่คิดถึงแต่ความเร็ว คิดแต่จะสร้างอารมณ์ ข่าวสยดสยอง ข่าวกามารมณ์ เพื่อคำนึงถึงแต่การค้า ข่าวที่ดีต้องมีประโยชน์ในการสร้างค่านิยมใหม่ เพราะหนังสือพิมพ์มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับสถาบันอื่น สร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่า สดใสกว่า สร้างความหวังใหม่ให้แก่คนยากคนจนบ้าง...คุณเกียรติชัย พงษ์พานิชย์ กล่าวว่า ข่าวนั้นถูกนิยามขึ้นจากแหล่งของผู้กำหนด “ข่าว” นั้นเอง และยังเกิดจากเนื้อหาของข่าวที่เกิดขึ้นอีกด้วย จุดรวมที่น่าสนใจก็คือ การตัดสินว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ถูกตัดสินว่าเป็น “ข่าว” ก็เพราะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสภาพปกติที่เป็นอยุ่ในสังคม เป็นสิ่งที่สังคมน่าจะได้รับรู้ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสาธารณชนโดยทั่วไป จึงถือว่าเป็น “ข่าว” ที่น่าส่งออกไปสื่อออกไป...(พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช, 2543 หน้า 2-3)
ภาพข่าวและคำบรรยายภาพ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ปรากฎบนหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวดึงดูดผู้อ่านให้เข้าหาประเด็นข่าวที่ถูกรายงานเป็นรายละเอียดภายใน ซึ่งบางครั้ง บนหน้าหนึ่ง อาจนำเสนอเพียงภาพข่าว ที่มีแต่คำบรรยายใต้ภาพเท่านั้น โดยไม่มีเนื้อหาข่าวเลย แต่ก็คงคุณค่าของความเป็นข่าวที่น่าสนใจ ภาพข่าวจึงเป็นส่วนสำคัญที่เข้าถึงคนอ่านได้ก่อนเนื้อข่าว การถ่ายภาพขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ จะต้องอาศัยการนำศาสตร์หรือความรู้ 2 อย่างมาผสมผสานกัน ประกอบด้วย ความรู้ด้านการถ่ายภาพ (Photography) และความรู้ด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) จุดมุ่งหมายของภาพเน้นที่คุณค่าข่าวและเรื่องราวมากกว่าความสวยงามของภาพโดยเฉพาะเท่านั้น การถ่ายภาพข่าว ช่างภาพต้องรู้จักสรุปเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ออกมาเป็นภาพเดียว ช่างภาพต้องรู้ว่าคุณค่าของข่าวอยู่ตรงไหน และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพได้อย่างไร...ภาพข่าวจึงมีความสำคัญมาก เพราะทุกครั้งที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความนิยมของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต่อข่าวและคอลัมน์ต่างๆ ผลการวิจัยมักจะปรากฎว่าคนอ่านหนังสือพิมพ์จะนิยมดภาพมากที่สุด อย่างไรก็ดี ความสำคัญของภาพข่าวไม่ได้อยู่เพียงที่คนอ่านชอบดูหรือเพราะมันขายได้ด้วยตัวเอง แต่ความสำคัญของภาพข่าวยังอยู่ที่การเป็นตัวแทนของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นการบอกให้เรา(ผู้อ่าน)รับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก การต่อสู้ ความหิวโหย ความสิ้นหวัง ความรัก ความเศร้า และพลังทั้งหมดของเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาอีกด้วย
ประเภทของภาพข่าว แยกเป็น ภาพเป็นข่าว คือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวโดยตัวเอง และภาพประกอบข่าว คือภาพที่ใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของข่าว โดยมากจะเป็นภาพของบุคคลที่ปรากฎเป็นข่าว
คุณสมบัติของภาพข่าวที่ดี จะต้องสื่อความหมาย มีความน่าเชื่อถือ ภาพที่ดีและสื่อความหมาย ไม่ควรเกิดขึ้นจากการจัดฉาก เพราะภาพข่าวก็คือข่าวประเภทหนึ่ง ความน่าเชื่อถือจะต้องมาก่อน (นรินทร์ นำเจริญ, 2549 หน้า 254-263)
จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ข่าวและภาพ ตามเอกสารที่อ้างอิงแล้ว อีกส่วนหนึ่ง ผู้ศึกษาได้สัมภาษณ์บุคลากรฝ่ายการผลิต บรรณาธิการ หัวหน้าข่าว เข้าร่วมฟังการประชุมโต๊ะข่าว และลงภาคสนามตามสังเกตุการการปฏิบัติงานของนักข่าวและช่างภาพในการเก็บข้อมูลเพื่อนำมารายงานเป็นข่าวหน้าหนึ่ง
ในช่วงเวลาของการศึกษา ทำให้ได้เห็นแนวทางการดำเนินการ และกระบวนการการตัดสินใจของผู้ผลิตสื่อในความเป็นจริงที่นอกเหนือจากทฤษฎี ได้พบว่า จากปัจจัยดังได้กล่าวข้างต้นนั้น สามารถอธิบายถึงสิ่งที่ทำให้ ภาพและข่าวหน้าหนึ่ง ของหนังสือพิมพ์ มีคุณค่าทำให้ สื่อกลายเป็นปัจจัยที่ 5 มากน้อยโดยขึ้นอยู่กับความเป็นมืออาชีพของผู้ปฏิบัติงานข่าวเป็นสำคัญ ด้วยเพราะสถานการณ์ของเหตุการที่เป็นข่าว จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้หยุด ฉะนั้นคุณค่าของข่าวที่ผู้บริโภคข่าวสารจะได้รับจึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่จะมีความจริงจังต่อบทบาทหน้าที่อย่างเข็มแข็งเพียงใด ประกอบกับการสั่งสมประสบการณ์ในการแสวงหาข่าวของผู้สื่อข่าว การเลือกจุดถ่ายภาพ เลื่อกภาพที่มีคุณค่าทางข่าว การคัดกรองข่าวและภาพนำเสนอต่อหัวหน้าส่วนงาน และผ่านการคัดกรองจากที่ประชุมหัวหน้าข่าว การตัดสินใจในการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นข่าว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคข่าวควรจะได้รับ
ในส่วนของการแสวงหาข่าว ผู้สื่อข่าวหลังการได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ให้ติดตามประเด็นจะต้องเฝ้าแหล่งข่าว เข้าถึงและเก็ยข้อมูล ในการศึกษาพบว่า ตัวแหล่งข่าว เป็นปัจจัยหลักอันดับแรกสุดของการให้ข้อมูล ที่จะนำมาเรียบเรียงรายงานเป็นข่าว จากการสังเกตุ การปฏิบัติการของนักข่าวกับแหล่งข่าว ในกรณีการตามประเด็นข่าวรายวัน ผู้สื่อข่าวจะต้องศึกษาปูมหลังของเหตุการณ์เดิมที่เกิดขึ้น และต่อยอดผูกประเด็นต่อเนื่อง โดยการสัมภาษณ์ หาคำตอบคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นและที่จะเกิดขึ้น ผู้ศึกษาพบว่า แหล่งข่าวโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล ในกรณีข่าวการเมือง เป็นตัวอย่าง ยังขาดความจริงใจในการให้ข้อมูลต่อผู้สื่อข่าวที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในความต่อเนื่องของสถานการณ์สำคัญๆ เพราะแทนที่ตัวแหล่งข่าว ผู้ให้ข่าวจะเต็มใจให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ชัดเจนถูกต้อง แต่กลับเป็นการให้สัมภาษณ์ หรือตอบคำถามระหว่างทางที่เดินทางไปยังที่ต่างๆ จากการสังเกตุการณ์การปฏิบัติงานภาคสนาม จะพบว่า ผู้เป็นแหล่งข่าวจะไม่ให้ข่าวอย่างเป็นระบบระเบียบด้วยความตั้งใจ โดยการจัดที่แถลงข่าว หรือสถานที่ที่ให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถามประเด็นปัญหาอย่างเป็นทางการ แต่กลับเป็นการให้สัมภาษณ์หรือตอบคำถาม ในขณะลงจากพาหนะ หน้าอาคาร ระหว่างทางเดิน โดยที่ผู้สื่อข่าวจะต้องแย่งชิงเบียดเสียดเข้าประชิดตัว ทำให้ยากต่อการซักถามประเด็นคำถามได้ครบถ้วน ในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมนำไปสู่การตกหล่น ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงไม่ตรงประเด็นปัญหา ในความชุลมุนแย้งชิงที่จะซักถามตัวแหล่งข่าวอย่างเบียดเสียดนั้น ก่อให้เกิดอุปสรรคของการทำข่าวของผู้สื่อข่าวและช่างภาพ เป็นอย่างยิ่ง
ปัจจัยตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลดทอนคุณภาพของการทำข่าวอย่างสร้างสรรค์ โดยสืบเนื่องจากปัญหาที่ตัวแหล่งข่าวไม่เต็มใจให้ข้อมูล จากการสังเกตุพบว่า ผู้สื่อข่าวที่ไม่สามารถเข้าถึงตัวแหล่งข่าวได้ จึงต้องใช้วิธีการฝาก การแลกเปลี่ยข้อมูล การช่วยกันเรียบเรียงข้อมูล ซึ่งหากไม่อาศัยวิธีการนี้ ก็จะกลายเป็นตกประเด็นข่าว จะพบว่า ปัจจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดเป็นการสำเนาเนื้อหาข่าว และภาพ ทำให้หนังสือพิมพ์ต่างฉบับกันกลับมีภาพและเนื้อหาเดียวกัน
นอกเหนือจากอุปสรรค์ของการได้มาของข้อมูลข่าวที่ควรจะได้ด้วยความตั้งใจทั้งสองฝ่าย จะพบว่าอัตวิสัยของตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพก็เป็นปัจจัยตัวแปรแทรกที่ทำให้ การแสวงหาข้อมูลข่าวและภาพ การคัดเลือกประเด็นข่าวและภาพ รวมไปถึงการส่งข้อมูล มีโอกาสที่จะไม่ตรงตามข้อเท็จจริงได้ง่ายขึ้น
ดังปรากฎการณ์ที่กล่าว จะพบว่าการได้มาของประเด็นข่าวขาดความลึก เนื่องด้วยกระบวนเข้าหาแหล่งข่าวเพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงเชิงลึกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความใส่ใจ แหล่งข่าวเองก็ไม่พร้อม หรือเต็มใจที่จะให้ข่าว ตัวผู้แสวงหาข้อมูลข่าวก็ไม่กระตือรือร้นที่จะขุดคุ้ยข้อมูล ที่สังเกต การได้มาของข้อมูลที่นำไปเรียบเรียงเป็นประเด็นข่าว จึงเสมือนถูกจัดตั้ง เจตนา ตั้งใจที่จะให้เนื้อข่าวในสถานการณ์ต่างๆดูคลุมเคลือ ไม่กระจ่างแจ้ง และคล้ายกับว่า เป็นการให้ข่าวรายวัน เพื่อซื้อพื้นที่หน้าสื่อ สิ่งนี้จึงทำให้น่าจะประเมินได้ว่า ผู้ให้ข่าวอาจตั้งใจที่จะทำให้ปรากฎการณ์การให้ข่าวมีสถาพการณ์เช่นนั้น โดยมีนัยยะแฝง
ช่องทางการนำเสนอเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสังเกต โดยพบว่าเทคโนโลยีระบบส่งข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลได้เคลื่อนไปใช้การเชื่อต่อและส่งข้อมูลในระบบดิจิตัล ทั้งเนื่อข่าวและภาพ การบิดเบือนข้อมูล หรือการสร้างข้อมูลเท็จ จึงอาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย ขาดการตรวจสอบ มีการไหลบ่าของข้อมูลผ่านทางระบบสังคมเครือข่าย (Social Network) ผู้สื่อข่าว หลายสำนักใช้ระบบนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลที่มีระหว่างกัน พบว่าหากมีการป้อนข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ กว่าจะมีการตรวจสอบ พบว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ก็สายเกินไป เนื่องด้วย ข้อมูลได้ถูกเผยแพร่กระจายออกไปสู่ประชาชนผู้บริโภคข่าวสารเกินกว่าการควบคุมแก้ไข
ปัจจัยตัวผู้คัดกรอง ตั้งแต่ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ไปจนถึงผู้เรียบเรียง และบรรณาธิการ เหล่านี้หากขาดความเที่ยงธรรม เป็นผู้มีจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง การคัดกรองข้อมูล การจัดวาระตั้งประเด็นข่าว ย่อมมีข้อสงสัยได้ทั้งสิ้น
ที่เหนือกว่าสิ่งใด คงเป็นนโยบายของเจ้าของสื่อที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซ้อนเร้น อย่างมีเป้าหมายหรือเป้าประสงค์อย่างชัดเจน หากเป็นเช่นนั้น ความถูกต้องก็จะเป็นความถูกต้องบนฐานของผลประโยชน์ ที่มีนัยยะอันสำคัญ ผู้บริโภคสารก็จะตกอยู่ภายใต้ความไม่โปรงใส การบริโภคข่าวสารที่กำกับการบริหารที่ไร้ความถูกต้อง ไม่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวม การไม่เปิดรับข้อมูลย่อมดีกว่าที่จะไปเปิดรับความบิดเบือนข้อเท็จริงอย่างรู้ไม่เท่าทันนั้น
สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงข้อสังเกต ในความเคลือบแคลงของคุณค่าข่าวสาร ซึ่งพลิกผันกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นอย่างยิ่งของประชาชนต่อการใช้ดำรงชีวิตในยุคสมัยที่การตัดสินใจที่ถูกต้องต้องพึ่งพิงข่าวสารเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม
หากจะให้ได้คำตอบที่แท้จริง คงจะต้องใช้กระบวนการศึกษามากกว่าการลงไปสังเกตการณ์ นั่นหมายความถึงการดำเนินการศึกษาด้วยระบบระเบียบวิธีการวิจัยอย่างจริงจัง ผู้ศึกษาเสนอว่า อาจใช้วิธีตรวจสอบโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และภาพข่าว ที่ตีพิมพ์บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ โดยการเปรียบเทียบประเด็นข่าวในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของแต่ละฉบับในบริบทของเครื่องแวดล้อมสถานการณ์อันเดียวกัน ดูความเหมือนและแตกต่างในการจับประเด็น การพาดหัวข่าว การวางตำแหน่งข่าว ภาพ และการจัดวาระความสำคัญของข่าว
ที่สุดของปัญหา หากถามว่า ประชาชนพึ่งพิงสื่อได้หรือไม่ สื่อมีคุณค่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตอย่างไร คำตอบคงต้องฝากไว้ที่การตระหนักรู้เท่าทันสื่อ โดยประชาชนเอง ซึ่งประชาชนผู้บริโภคข่าวสารจะต้องรอบรู้ มีการศึกษาเพียงพอ และสื่อเองต้องจริงใจที่จะทำหน้าที่อย่างสมค่ากับการที่ได้พลิกผันกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในวันนี้
บรรณานุกรม
หนังสือ
นรินทร์ นำเจริญ. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการทำข่าว. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ , 2549 |
พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช. การรายงานข่าวชั้นสูง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2543 |
สนิทสุดา และคณะ. แกะดำทำข่าว. กรุงเทพ : สำนักข่าวประชาธรรม, 2548 |
สมหมาย ปาริจฉัตต์.ข่าวเจาะเจาะข่าว. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สายธาร, 2543 |
สุทธิชัย หยุ่น. ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา. กรุงเทพ : เนชั่นบุ๊คส์, 2551 |
สุมิตร เหมสถล. ปฏิวัตแมวงวัน. กรุงเทพ : ศูนย์การพิมพ์ประกรกิจ, 2548 |
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์. ปิดหู ปิดตา ปิดปาก. กรุงเทพ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ,2548 |
Kobre Kenneth. Photo Journalism. Boston : Focol Press, 2008 |
วารสาร
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ. กุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 |
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ. เมษายน 2553 |