ถอดบทเรียนการรายงานข่าวชุมนุมทางการเมือง
“สงคราม” หรือ “สันติภาพ”
: ศึกษาจากนักข่าว กองบรรณาธิการ และเนื้อหาข่าว
ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จากหนังสือพิมพ์มติชนและไทยรัฐ
โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ
มีเดียมอนิเตอร์
และ เมสิริณ ขวัญใจ
มหาวิทยาลัยนเรศวร
ที่มาของการศึกษา
ปัญหาสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานการทำ หน้าที่ของสื่อมวลชน ว่าสร้างสงครามหรือสันติภาพ
มติชนและไทยรัฐถือเป็น 2 หนังสือพิมพ์สำคัญของประเทศไทยและมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวแทนสื่อ หนังสือพิมพ์ในภาพรวม และมีความเหมาะสมที่จะศึกษาถึง กระบวนการรายงานข่าว ณ เบื้องหลังนั้น มีวัฒนธรรม วิถีปฏิบัติ จรรยาบรรณวิชาชีพ ที่เป็นปัจจัยทำให้การสื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เป็นเช่นปัจจุบัน ทั้งจากตัวผู้สื่อข่าว นักข่าว และบรรณาธิการข่าว
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาสภาพ
1) กรอบความคิดของบรรณาธิการข่าว
2) แนวปฏิบัติของนักข่าว/ผู้สื่อข่าวภาคสนาม และ
3) ลักษณะเนื้อหาข่าวชุมนุม ของหนังสือพิมพ์มติชน และ ไทยรัฐ ว่ามีลักษณะที่เป็นไปในลักษณะของแนวคิดการสื่อข่าวเชิงสงครามหรือสันติภาพ
แนวคิดและทฤษฏี:
1. แนวคิดเกี่ยวกับการสื่อข่าว/การผลิต ข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง – ศึกษากรณีการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม – 30 เมษายน 2553 (แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเชิงสงคราม/ สันติภาพ) – เอกสารอ้างอิง คู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง
“เมื่อสังคมถูกคุกคามจากสถานการณ์ ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง วิชาชีพผู้สื่อข่าวก็เผชิญกับความยากลำบาก ในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากฝ่ายที่ขัดแย้งกันพยายามที่จะควบคุมสื่อ ข้อมูลข่าวสารจึงอาจเชื่อถือไม่ได้ หรืออาจถูกกลั่นกรองตัดตอนและเลือกนำเสนอ ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว แต่ทว่าในสภาวการณ์เช่นนี้การสื่อข่าวที่ดีและมีคุณภาพก็ยิ่งมีความจำเป็น มากที่สุดต่อสังคม”
รอส โฮเวิร์ด เจ้าของหนังสือชื่อ Conflict Sensitive Journalism ได้ขึ้นต้นบทนำหนังสือของเขาได้ตรงกับสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นบ้านเรา ณ เวลานี้เหลือเกิน ในเวลาที่สังคมไทยต้องการ “การสื่อ ข่าวที่ดีและมีคุณภาพ” มิใช่เพียงการสื่อข่าวที่ฉายภาพบางด้าน ที่สอดคล้อง และจะเอื้อประโยชน์กับความเชื่อและรสนิยมทางการเมืองของผู้มีส่วนตัดสินใจใน กองบรรณาการข่าว หรือมิใช่เพียงการ นำเสนอแบบยุให้รำตำให้รั่ว โดยใช้สำนวนภาษาหรือถ้อยคำบรรยายบุคคล เหตุการณ์ และอารมณ์เช่นในแวดวงของภาพยนตร์ สงครามล้างโลก
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ก็คือ สังคมไม่ได้คาดหวังว่าผู้สื่อข่าวต้องเข้ามาเป็นผู้ลดความขัดแย้ง แต่เขาหวังให้สื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน (มากเท่าที่จะหาได้) และไม่ลำเอียงเข้าข้างใคร (รู้เท่าทันอคติในใจในฐานะปุถุชนของตน) ซึ่งเราเชื่อว่า การสื่อข่าวที่ดีเช่นนี้ช่วยทำให้ความขัดแย้งลดลง
สมควรอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องได้รับการบริการที่ ดีดังกล่าวจากผู้สื่อข่าว เช่นเดียวกับการสมควรได้รับการบริการที่ดีจากโรงพยาบาล โรงเรียน หรือโรงพัก เพราะต่างก็ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ที่พึงจะปฏิบัติต่อสังคม เพื่อให้สังคมซึ่งเปรียบเสมือนร่างกายสามารถดำรงอยู่ ได้อย่างมีสุขภาวะทางกาย จิตใจที่สมดุลและสันติ
เพื่อที่จะให้การบริการที่ดีเช่นนั้นแก่สังคมได้ ผู้สื่อข่าวจึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องเป็นผู้มองเห็นสถานการณ์อย่างพินิจ พิเคราะห์ มากกว่าผู้ที่เป็นตัวแสดงในสถานการณ์ เราไม่ได้ต้องการเจ้าของบริษัทผู้ผลิตสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ หรือผู้ประกาศข่าว มาทำหน้าที่เป็น ผู้กำกับ ผู้แสดง หรือผู้จัดการในฉากแห่งสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่เราไม่ต้องการให้ผู้สื่อข่าวที่ยึดมั่นถือมั่นต่ออคติส่วนตน และ จงรักภักดีต่อผลประโยชน์ของผู้ครอบครององค์กรสื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อ ตอบสนองที่มาเช่นนั้นต่อสังคม
แน่นอนว่าไม่มีผู้สื่อข่าวคนใดสามารถเป็นกลางได้ อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากผู้สื่อข่าวก็เป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่งที่มีค่านิยม ความเชื่อ และศรัทธาเฉพาะของตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องมีมาตรฐานด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณใน ด้าน ความถูกถ้วน เที่ยงธรรม และความรับผิดชอบของวิชาชีพผู้สื่อข่าว เพื่อที่จะขจัดหรืออย่างน้อยควบคุมไม่ให้ค่านิยมและอคติส่วนบุคคล เข้ามาเป็นส่วนผสมหลักในการรายงานข่าว ด้วยเหตุ (ตามหลักการ) เช่นนี้จึงเกิดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหรือสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
บทบาทที่สามารถเป็นทางออกสำหรับการปฏิบัติ หน้าที่ของผู้สื่อข่าวเพื่อนำไปสู่การสื่อข่าวที่มีคุณภาพ นั้น นอกจากบทบาท พื้นฐานในการเป็นช่องทางการสื่อสาร การให้การศึกษา หรือการเชื่อมโยงวิเคราะห์เหตุการณ์ให้สังคมเข้าใจที่มาที่ไปได้มากยิ่งขึ้น แล้ว รอส โฮเวิร์ด ยังได้เสนอบทบาทอื่น ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังเช่น บทบาทในการเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ความรู้สึก (ของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ในความขัดแย้งมิใช่ของตัวผู้สื่อข่าวเอง) ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้งจำเป็นจะต้องมีช่องทางในการระบายความรู้สึกคับแค้น โศกเศร้า ความคิด ความเชื่อ การเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ผ่านสื่อจะทำให้ช่วยลดการถกเถียงซึ่งหน้าหรือการ ต่อสู้บนท้องถนน
นอกจากนี้ การยึดเอาสันติภาพเป็นเป้าหมายในการทำงานของผู้สื่อข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวจะต้องมีบทบาทในการกำหนด กรอบของการสื่อสารความขัดแย้งเสียใหม่ กล่าวคือจำเป็นต้องอธิบายและนำเสนอความขัดแย้งในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในประเด็นเดิม ๆ ของสถานการณ์ (แทนที่จะรายงานภาพการปะทะกันของกลุ่มตรงข้ามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็นำเสนอปัญหาสุขภาพของผู้ชุมนุมและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของสถานที่ชุมนุม เพื่อให้เห็นปัญหาร้ายแรงอีกด้าน อันเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการเร่งแก้ไขความขัดแย้ง)
บทบาทในการเป็นผู้รักษาหน้าและสร้างความเห็นชอบ ร่วมกัน ยังเป็นอีกบทบาทที่มีความจำเป็นในการรายงานข่าวสถานการณ์ ความขัดแย้ง สื่อต้องช่วยเป็นบันไดให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งก้าวลงมาโดยไม่ถูกกระทืบซ้ำ (แม้บทตอบแทนในเชิงกฎหมายและ เชิงศีลธรรมก็ยังคงต้องดำเนินไป แต่ต้องด้วยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่สื่อมวลชน) เพราะนั่นหมายถึงว่าผู้สื่อข่าวได้ทำหน้าที่ในฐานะมนุษยชาติ และได้ปฏิบัติต่อฝ่ายความขัดแย้งแต่ละฝ่ายอย่างมนุษยชาติเช่นเดียวกัน
อีกแง่มุมที่สำคัญของการสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อ ความขัดแย้ง หรือ Conflict Sensitive Journalism ก็คือ ความพยายามของผู้สื่อข่าว ที่จะให้ข้อมูลในด้านที่จะพยายามลดความขัดแย้งลง นั่นหมายถึงว่าผู้สื่อข่าวมิได้เป็นแค่ผู้เฝ้ามองเหตุการณ์แล้วรายงานที่ เกิดขึ้น ให้สังคมทราบเท่านั้น แต่ผู้สื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้งและมีสันติภาพเป็นเป้าหมายในการทำงาน ยังจะต้องเรียนรู้และศึกษาที่จะ “วิเคราะห์ความขัดแย้ง” และค้นหาความจริง ความคิดเห็น และมุมมองใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รายงานความเคลื่อนไหว ของบุคคลที่พยายามจะแก้ไขความขัดแย้ง สังเกตการณ์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และรายงานว่าความขัดแย้งที่คล้ายคลึงกันนี้ที่ผ่านมา มีการแก้ปัญหากันอย่างไร
รอส โฮเวิร์ด ให้ความสรุปในตอนหนึ่งของหนังสือว่า ผู้สื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้งและมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพจะ รายงานข่าวโดยให้ความสนใจกับการค้นหาทางออก และที่สำคัญผู้สื่อข่าวประเภทนี้จะเลือกใช้ถ้อยคำในการรายงานข่าวอย่างระมัด ระวัง
ในสภาวการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ ความรุนแรงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ภาคใต้ หรือเหตุการณ์กลางเมืองหลวง หรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ล้วนจำเป็นต้องมีสื่อที่ “ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง” เพื่อช่วยนำพาสภาวการณ์ความขัดแย้งไปสู่ การคลี่คลาย และไม่ตกเป็นต้นตอหลักของความรุนแรงเสียเองเช่นที่เป็นอยู่
แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ[1]
จากข้อเขียนของ Ross Howard นักวิชาชีพและนักวิชาการด้านการสื่อสารข่าวเพื่อสันติภาพ เจ้าของหนังสือ Conflict sensitive Journalism เขียนเตือนใจแก่ผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งว่า
การทำงานผู้สื่อข่าวมืออาชีพไม่ได้มุ่งหวังที่จะลดปัญหาความขัดแย้ง แต่การรายงานข่าวที่ดี ถูกถ้วน ไม่เอียงเอนนั้น บ่อยครั้งก็นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง
Howard ย้ำว่า สังคมถูกคุกคามจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งมากขึ้นทุกขณะ ก็ส่งผลให้วิชาชีพวารสารศาสตร์เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปฎิบัติหน้าที่ เพราะฝ่ายที่ขัดแย้งกันต่างก็พยายามเข้ามาควบคุมสื่อ ข้อมูลข่าวสารจึงเชื่อถือไม่ได้ หรืออาจถูกกลั่นกรอง ตัดทอน ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงในความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ซึ่งการสื่อข่าวที่ดีและมีคุณภาพก็ยิ่งมีความจำเป็นมากที่สุดต่อสังคม
การสื่อข่าวที่น่าเชื่อถือแก่สาธารณะในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงนั้น จำเป็นต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพมากเป็นพิเศษไปมากกว่าการรายงานในภาวะปกติ ซึ่งผู้สื่อข่าวต้องมีความเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรคือต้นตอของความขัดแย้ง และความขัดแย้งนั้นจะดำเนินไปหรือจะมีจุดจบลงอย่างไร ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องรู้ว่าจะไปหาข้อมูลถึงสาเหตุและทางออกของความขัดแย้งได้จากที่ไหน การที่ผู้สื่อข่าวให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้แก่สาธารณะจะทำให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจมากยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้
รายงานการวิจัยโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ เรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา โดยนางวลักษณ์กมล จ่างกมล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมีการใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ.1970 โดยศาสตราจารย์ Johan Galtung นักวิชาการชาวนอร์เวย์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ TRANSCEND Peace and Development Network ซึ่งเป็นองค์การที่เผยแพร่และรณรงค์แนวคิดเรื่องสื่อเพื่อสันติภาพ หวังที่จะกระตุ้นและสนับสนุนให้สื่อมวลชนเห็นความสำคัญของสันติภาพ ซึ่ง Galtung กังวลว่าสงครามการรายงานข่าวความขัดแย้งของสื่อมวลชนคล้ายคลึงกับการรายงานข่าวกีฬา ที่มุ่งหาผู้แพ้ผู้ชนะ เขาจึงเสนอว่าการรายงานในสถานการณ์เช่นนี้ควรเหมือนกันการรายงานข่าวสุขภาพที่ผู้สื่อข่าวจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่ากำลังเผชิญกับโรคอะไร และสาเหตุของโรคคืออะไร ขณะเดียวกันก็ก็ต้องนำเสนอด้วยว่า จะมีทางเลือกอะไรบ้างที่จะป้องกันและรักษาโรคร้ายนี้ ดังนั้นการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพต้องคำนึงถึงความครอบคลุม เป็นธรรม และถูกต้องให้มากขึ้น เพื่อนำเสนอเหตุการณ์และมองลึกไปถึงการวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงหาหนทางที่จะก้าวพ้นไปจากความขัดแย้งนั้น
ผศ.วลักษณ์กมล นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี เห็นว่า การรายงานข่าวเพื่อสันติภาพต้องก้าวพ้นไปจากการตอบคำถาม 5W1H (What, Where, Who, When, Why, How) ตามหลักวารสารศาสตร์แบบเดิม แต่ต้องเพิ่มเติม “S” Solution หรือ การแก้ปัญหา และ “C” Common Ground หรือ การนำเสนเบื้องลึกของความขัดแย้ง ผนวกเข้าไปด้วย
ในงานวิจัยของผศ.วลักษณ์กมล ยังพบว่า งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเสนอข่าวความขัดแย้งในต่างประเทศ ซึ่งใช้วิธีการศึกษาเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ จำนวน 10 ฉบับในเอเชีย 4 ประเทศ ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ คือ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และอินโดนีเซีย โดยกำหนดประเด็นข่าวความขัดแย้งที่ใช้ในการศึกษา 4 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ความขัดแย้งในแคชเมียร์ระหว่างปากีสถานและอินเดีย เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมกับรัฐบาลศรีลังกา เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์และมาลุกุกับรัฐบาลอินโดนีเซีย และเหตุการณ์ในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปินส์
ผลการศึกษาพบว่า การนำเสนอข่าวเหล่านี้โน้มเอียงไปในทางการสื่อข่าวเพื่อขยายความขัดแย้ง หรือ War Journalism มากกว่า โดยเฉพาะเหตุการณ์ในแคชเมียร์ ที่หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวในทาง War Journalism อย่างเข้มข้น คือ นำเสนอแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ขาดการสืบค้นหาที่มาที่ไปของเรื่อง ไม่นำเสนอหนทางการแก้ปัญหาในระยะยาว และให้ความสำคัญกับผู้นำทางการเมืองและการทหาร ซึ่งจัดเป็นคุณลักษณะของ War Journalism อย่างชัดเจน
“หนังสือพิมพ์ละเลยที่จะนำเสนอข้อมูลของกองกำลังที่ต้องบาดเจ็บในสนามรบ หรือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสังคม ขณะเดียวกันก็มักนำเสนอข่าวโดยแสดงการแบ่งแยก และชี้ชัดฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงอคติส่วนตัวในการด่วนตัดสินว่าใครเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น” งานวิจัยในต่างประ เทศ ระบุ
นอกจากผศ.วลักษณ์กมล ยังได้ศึกษาทิศทางการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย จำนวน 3 ฉบับ คือ กรุงเทพธุรกิจ ไทยรัฐ และมติชน ในการรายงานข่าวเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่จ.นราธิวาส เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่จ.ปัตตานี และเหตุการณ์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จำนวน 232 ชิ้นข่าว พบว่า มีเพียง 43 ชิ้นข่าว หรือร้อยละ 18.53 จัดอยู่ในการายงานข่าวเพื่อสันติภาพ ขณะที่อีก 169 ชิ้นข่าว หรือร้อยละ 72.85 จัดอยู่ในการรายงานข่าวเพื่อขยายความขัดแย้ง และจำนวน 20 ชิ้นข่าวหรือร้อยละ 8.62 จัดอยู่ในประเภทของเนื้อหาที่เป็นกลาง แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในระยะหลังพบว่า หนังสือพิมพ์ดังกล่าวมีแนวโน้มรายงานการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพเพิ่มขึ้น
“หนังสือพิมพ์มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวเชิง Peace Journalism มากที่สุด ร้อยละ 30 รายงานข่าวแบบ War Journalism ร้อยละ 60 รองลงมาเป็นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข่าวแบบ Peace Journalism ร้อยละ 17.65 และนำเสนอข่าวแบบ War Journalism ร้อยละ 74.11 ส่วนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำเสนอข่าวแบบ Peace Journalism น้อยที่สุด เพียงร้อยละ 5.97 นำเสนอข่าวแบบ War Journalism มากที่สุด 86.57”
ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพมีความจำเป็นกับนักวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนและเราพบว่าเนื้อหาในสื่อมวลชนมีแนวโน้มการแบ่งฝ่ายเขาฝ่ายเรามากขึ้น ขณะที่แนวคิดเรื่องคุณค่าข่าวในทางวารสารศาสตร์ หรือ บัญญัติ 10 ประการ มีโอกาสที่จะเอื้อให้สื่อมวลชนละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และที่สำคัญขาดการผนวกประเด็นเรื่องความเข้าอกเข้าใจกัน ความสมานฉันท์ เป็นส่วนหนึ่งคุณค่าข่าว
“โลกเราเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสื่อมวลชนต้องปรับตัว และนำแนวคิด Peace Journalism ไปประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ แม้ Peace Journalism จะไม่ใช่ความหวังเดียว แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ” ดร.พิรงรอง กล่าว และเสริมว่า
ต่อข้อถามที่ว่า ถ้ามี Peace Journalism แล้วจะเกิดผลดีอย่างไร ดร.พิรงรอง มองว่า แนวคิดนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพทางวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เดิมนั้นมุ่งเน้นการผลิตเนื้อหาบันเทิง ที่เกี่ยวพันกับ Rating Culture เพียงอย่างเดียว แต่ไม่นำไปสู่ความสมานฉันท์ แนวคิด Peace Journalism เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนค่านิยมสื่อมวลชนให้เห็นความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม และจริยธรรม และเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มคนต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันในพื้นที่สื่อมวลชน รวมถึงเป็นการเปิดกรอบความคิดทางวิชาการ และวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะแนวคิด Peace Journalism เป็นแนวคิดใหม่ที่ต้องร่วมกันศึกษา ปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทย และผลักดันไปสู่การปฎิบัติให้เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า แนวคิดนี้จะเป็นรูปธรรมได้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะสื่อมวลชนเป็นลักษณะอุตสาหกรรมภายใต้ลัทธิโลกาภิวัฒน์ เป็นธุรกิจผูกขาด มุ่งเน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ขณะเดียวกันสื่อส่วนใหญ่มีรัฐเป็นเจ้าของ และบรรทัดฐานสื่อมวลชนยังให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจ นี่เป็นปัญหาทั้งระดับโครงสร้าง และกรอบคิดของนักวิชาชีพ ที่ต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า ถ้าเราจะมีสื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ เราควรจะมีสื่อทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่เราควรร่วมกันแสวงหาทางออกร่วมกัน
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งของนักวิชาชีพสื่อมวลชนที่นำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่จะรายงานข่าวเพื่อจรรโลงสันติภาพให้เกิดแก่สังคม มองว่า การมีสถาบันสื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ คงไม่ได้หมายถึงการมีองค์กรสื่อมวลชนขึ้นมาเพียงลำพัง แต่จะต้องเกิดจากการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกันกับสื่อกระแสหลัก สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาศูนย์ข่าวอิศราได้ทำหน้าที่ในการแบ่งเบาความรู้คับข้องใจในสถานการณ์ชายแดนใต้
ศูนย์ข่าวอิศราเป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เป็นสื่อกลางแห่งการเรียนรู้ของคนต่างกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา ให้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากชีวิตจริง และเป็นสื่อแนวราบและแนวดิ่ง คือ การปฎิบัติหน้าที่มีการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนกระแสหลัก
“โจทย์สำคัญ คือ สื่อสันติภาพจะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนของภาคประชาชน เป็นโต๊ะข่าวที่อธิบายปรากฎการณ์ในเชิงลึก ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาสื่อเดิมที่มีอยู่ด้วยจะดีหรือไม่” อดีตบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา กล่าว
ส่วนนายมันโซร์ สาและ เจ้าหน้าที่จากโครงการสื่อเพื่อความยุติธรรม กลับยังไม่เห็นความหวังว่า สื่อมวลชนในปัจจุบันจะให้ความสนใจกับการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพอย่างเพียงพอกับระดับความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสื่อมวลชนกระแสหลักไม่สามารถข้ามพ้นปัญหาทางโครงสร้างของสื่อมวลชนได้ และเสนอว่า สถาบันการศึกษาอาจเริ่มสร้างสื่อเพื่อสันติภาพเป็นต้นแบบเล็กๆ เพื่อบ่มเพาะนักวิชาชีพรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจสันติภาพและเข้าหาพื้นที่มากขึ้น เป็นพลังของการสร้างสื่อชุมชน
ที่มาของข้อมูล วลักษณ์กมล จ่างกมล 2550 รายงานวิจัย เรื่อง สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
งานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เรื่อง การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ จัดโดยคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2550 ณ จ.สงขลา
ตัวบ่งชี้ War Journalism และ Peace Journalism
War Journalism |
แนวความคิด เกี่ยวกับ….. |
Peace Journalism |
|
ชี้ความเป็นฝ่ายดี ฝ่ายร้าย หรือฝ่ายกระทำกับเหยื่อ |
การกล่าวถึงแหล่งข่าว |
หลีกเลี่ยงการตราหน้าว่าเป็นคนดีหรือผู้ร้าย |
|
เน้นรายงานเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน |
เนื้อหาที่รายงาน |
รายงานทั้งสาเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น |
|
ให้ความสำคัญกับผู้นำ |
การให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวบุคคล |
คำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ |
|
เสนอข่าวเชิงรับ เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น |
แนวทางการรายงานข่าว |
เสนอข่าวเชิงลึก ริเริ่ม และนำเสนอมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น |
|
แสดงอคติ เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน |
การเลือกข้าง |
ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน |
|
ใช้ภาษาแสดงอารมณ์/ความรู้สึกเกินจริง |
ภาษาข่าว |
หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อ ทำให้รู้สึกเวทนา |
|
รายงานเฉพาะผลกระทบที่ชัดเจน เช่น ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย |
การรายงานผลกระทบ |
รายงานข้อมูลผลกระทบรอบด้านทั้งกายภาพ จิตใจ สังคมและวัฒนธรรม |
|
ใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นผู้ร้าย เช่น โจรใจโฉด ทมิฬ หรือโจรใต้ |
ภาษาข่าว |
หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นผู้ร้าย |
|
เน้นเป้าหมายเดียวคือหาทางชนะ |
เป้าหมายของการรายงาน |
เน้นแนวทางประนีประนอมทั้ง 2 ฝ่าย |
|
เน้นผู้ที่เกี่ยวข้องเพียง 2 ฝ่าย คือฝ่ายแพ้กับผู้ชนะ |
การให้ความสำคัญ |
ให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนทั่วไป ทั้งในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์และการเป็นแหล่งข่าว |
|
หยุดรายงานเมื่อเหตุการณ์สงบ |
การเกาะติดการรายงานข่าว |
เกาะติดและรายงานอย่างต่อเนื่องแม้เหตุการณ์สงบลงแล้ว |
|
War Journalism |
วิธีการสื่อข่าว (Approach) |
Peace Journalism |
|
รายงานข่าวเชิงรับ (Reactive) รอให้เกิดเหตุรุนแรง หรือ เกือบจะเกิดเหตุแล้วจึงรายงาน |
|
รายงานข่าวเชิงรุก (proactive) รายงานเพื่อเตรียมการป้องกันก่อนจะเกิดเหตุรุนแรง |
|
รายงานเฉพาะผลกระทบที่มองเห็น เช่น การบาดเจ็บ/เสียชีวิต ความเสียหายต่อทรัพย์สิน |
|
รายงานผลกระทบที่มองไม่เห็น เช่น ความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความเสียหายต่อสังคมและวัฒนธรรม |
|
เน้นการเสนอคนในในข่าวที่เป็นชนชั้นนำ (Elited-oriented) |
|
เน้นการนำเสนอคนในข่าวที่เป็นประชาชนทั่วไป (People-Oriented) |
|
เน้นการนำเสนอความแตกต่างที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง |
|
รายงานข้อตกลงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง |
|
เน้นเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน (Here and Now) |
|
รายงานสาเหตุและผลกระทบของความขัดแย้ง |
|
แยกแยะออกเป็นฝ่ายดี ฝ่ายร้าย หรือฝ่ายผู้กระทำกับฝ่ายเหยื่อ |
|
หลีกเลี่ยงการตราหน้าว่าใครเป็นฝ่ายดี ฝ่ายเลว |
|
เน้นการนำเสนอเพียงคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งฝ่ายชนะ อีกกลุ่มเป็นฝ่ายแพ้ |
|
คำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และให้พื้นที่กับทุกฝ่าย |
|
เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (partisan) |
|
ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-partisan) |
|
เน้นเป้าหมายทางเดียวคือต้องชนะเท่านั้น (zero-sum orientation) |
|
มีเป้าหมาย ประเด็น และทางออกที่หลากหลายมากกว่าหนทางเดียว เน้นการประนีประนอม (win-win orientation) |
|
หยุดรายงานเมื่อการสู้รบสิ้นสุด มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ หรือหยุดยิงแล้วผละไปยังที่อื่นต่อ |
|
เกาะติดสถานการณ์และรายงานผลที่เกิดขึ้นจากสงครามแม้การสู้รบจะสงบลงแล้ว เช่น การฟื้นฟูการก่อสร้างใหม่ การใช้ข้อตกลงสันติภาพ |
|
ใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นการตกเป็นเหยื่อ ที่บอกเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนเช่น ยากจน เศร้า ไม่มีทางต่อสู้ น่าสงสาร โศกนาฏกรรม ไม่มีคุณธรรม |
|
เลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นการตกเป็นเหยื่อ (victimizing language) ผู้สื่อข่าวสามารถรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบได้ แต่ก็ควรระบุด้วยว่าประชาชนรับมืออย่างไรหรือแก้ปัญหาอย่างไร |
|
ใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นความเป็นผู้ร้าย เช่น ร้ายกาจ โหดเหี้ยม ป่าเถื่อน บ้าคลั่ง ผู้ก่อการร้าย หัวรุนแรง |
|
เลี่ยงการใช้ภาษาแสดงความเป็นผู้ร้าย (demonizing language) ใช้การอธิบายตำแหน่งชื่อที่ชัดเจน |
|
ใช้คำเร้าอารมณ์ (emotive words) เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ลอบสังหาร |
|
ใช้คำที่เป็นภววิสัยและอยู่ในระดับพอดี (objective and moderate) จะใช้ภาษาที่แสดงความรุนแรงเฉพาะในสถานการณ์รุนแรงจริงๆ เท่านั้น |
นอกจากวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอและรายงานข่าว 5w 1h ตามหลักสารสารแลว ยังต้องเพิ่ม “s” (solutions) หรือทางออกของปัญหา และ “c” (common ground) หรือจุดร่วมทางความคิดใส่เข้าไปในข้อมูลที่รายงานด้วย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไปสู่สันติภาพ ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้สื่อข่าวมีเป้าหมายที่จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลเพื่อขยายประเด็นต่อไปนี้
1. หาคำตอบว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นใครบ้าง และแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายอะไร
2. โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ คือสาเหตุที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกของความขัดแย้งนี้หรือไม่
3. มีทางออกที่หลากหลายและสร้างสรรค์ใดบ้าง ที่จะก้าวผ่านความขัดแย้งนี้ และจะสามารถป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น
4. ถ้าความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบที่มองไม่เห็นที่อาจจะเกิดขึ้น มีอะไรบ้าง เช่น ความเจ็บปวด ความสูญเสียทางจิตใจและวัฒนธรรมอันอาจนำไปสู่ความเคียดแค้นชิงชัย
5. องค์กรใด หรือใครบ้างที่ทำหน้าที่ในการป้องกันความรุนแรง และมีแนวทางอย่างไร สังคมและสื่อมวลชนควรจะมีหนทางใดในการสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ได้บ้าง
6. ใครเป็นผู้เยียวยา บูรณะ และซ่อมแซมความสูญเสีย และสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้บ้าง
17 วิธีที่สื่อมวลชนเพื่อสันติภาพพึงปฎิบัติ
1. หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพความขัดแย้งที่เป็นการเอาชนะคะคานกันของ 2 ฝ่าย ไม่ด่วนสรุปและแบ่งฝักฝ่าย แตต้องเปิดใจเพื่อหาบทสรุปที่หลากหลาย
2. หลีกเลี่ยงการยึดติดกับความแตกต่างระหว่างตัวเรากับผู้อื่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
3. หลีกเลี่ยงกับการเข้าไปจัดการกับความขัดแย้ง แต่ต้องพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์และผลที่ตามมาทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
4. หลีกเลี่ยงการประเมินค่าความรุนแรงเพียงผลกระทบที่เป็นรูปธรรม แต่ต้องรายงานผลกระทบที่มองไม่เห็นด้วย เช่น ผลกระทบในอนาคต หรือ ความเจ็บปวดทางใจ
5. หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอาศัยแค่คำกล่าวของผู้นำ แต่จะต้องสืบสวนหาเป้าหมายที่ลงลึกลงไป เช่น คนระดับล่างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
6. หลีกเลี่ยงการตอกย้ำเกี่ยวกับสิ่งที่จะสร้างความแตกแยกของคนสองกลุ่ม แต่ต้องพยายามที่จะถามสิ่งที่จะนำไปสู่การผสมกลมกลืน ซึ่งจะทำให้การรายงานข่าวสามารถให้คำตอบกับเป้าหมายหรือหนทางร่วมกันได้ในที่สุด
7. หลีกเลี่ยงการรายงานเพียงแค่พฤติกรรมความรุนแรงและอธิบายแต่ความน่ากลัว แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าผู้คนถูกปิดกั้นและหมดความหวังขนาดไหนที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง
8. หลีกเลี่ยงการเน้นความเจ็บปวด ความกลัว และความเศร้าโศกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องนำเสนอข่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวด เศร้าโศก และความกลัวของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
9. หลีกเลี่ยงการกล่าวหาคนใดคนหนึ่งว่าเป็นผู้เริ่มต้นความรุนแรง แต่ต้องพยายามมองว่าแต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมกับปัญหาและประเด็นต่างๆ อย่างไร
10. หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อ แต่จะต้องรายงานเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น และถามด้วยว่าเขาจะจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร หรือคิดเห็นอย่างไร
11. หลีกเลี่ยงการใช้คำแสดงอารมณ์ที่คลุมเครือ เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคล เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ การลอบสังหาร แต่ต้องอธิบายอย่างตรงไปตรงมา และสะท้อนเหตุการณ์จริง
12. หลีกเลี่ยงการใช้คำขยาย เช่น เลวทราม ทารุณ โหดร้าย ป่าเถื่อน คำแบบนี้สะท้อนความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องรายงานการกระทำที่ไม่เหมาะสมโดยอธิบายข้อมูลให้ชัดเจน
13. หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ตีตรา เช่น ผู้ก่อการร้าย พวกหัวรุนแรง พวกบ้าคลั่ง ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีใครยินดีให้เรียกชื่อของตนเอง แต่ผู้สื่อข่าวจะต้องพยายามเรียกขานชื่อพวกเขาด้วยชื่อที่พวกเราเรียกตนเอง หรืออธิบายด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา
14. หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำไปที่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้กระทำความผิด หรือพฤติกรรมที่ผิดพลาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องพยายามที่จะแสดงให้เห็นชื่อของผู้กระทำความผิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
15. หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นหรือการกล่าวอ้างที่ดูคล้ายเป็นความจริง แต่ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นความเห็นของใคร หรือใครกล่าวหาใคร
16. หลีกเลี่ยงการรับรองเอกสารที่เป็นของผู้นำ ที่จะนำไปสู่ชัยชนะของการใช้กำลัง แต่จะต้องถามถึงสิ่งที่จะแก้ไข หรือรับมือกับความขัดแย้งอย่างสันติ
17. หลีกเลี่ยงการรอคอยให้ผู้นำเสนอแนะทางออก แต่ต้องพยายามหาแนสทางสร้างสันติจากทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
2. แนวคิดเกี่ยวกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติการสื่อข่าวการชุมนุม จลาจล
หลักการนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาการเมืองและนโยบายสาธารณะ
สี่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องเป็นหน่วยงานที่ปลอดจากการเมือง เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รายงานข่าว พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง อย่างสมดุล ให้พื้นที่แก่กลุ่มความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง เสนอข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนรับรู้ และ ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีโอกาสแสดงทัศนะวาระและสัดส่วนที่สมน้ำสมเนื้อ
แนวทางปฏิบัติ
- รายงานเรื่องเกี่ยวกับการเมือง นโยบายสาธารณะ การโต้เถียงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยความซื่อตรงต่อข้อเท็จจริง ไม่โอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
- ผู้สื่อข่าวและผู้เสนอรายการต้องไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง
- ผู้ปฏิบัติงานต้องไม่ไปทำการรณรงค์ หรือ ยอมให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ทางการเมือง ของกลุ่ม การเมือง กลุ่มอุดมการณ์ หรือ กลุ่มกดดันใด ๆ
● การสัมภาษณ์ทางการเมือง
เมื่อยื่นคำขอสัมภาษณ์ประเด็นการเมืองโดยเฉพาะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง หรือระหว่างที่มีกรณีอื้อฉ าวทางการเมืองเกิดขึ้น ข้อปฏิบัติสำหรับนักข่าวและผู้ผลิตรายการ คือ
แนวทางปฏิบัติ
- ต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าต้องการข้อมูลหรือประเด็นอะไรบ้าง
- ต้องชัดเจนว่ารูปแบบของรายการจะดำเนินไปแนวใด ภายใต้บริบททางการเมืองอย่างใด
- การกำหนดรูปแบบรายการ และ ประเด็นคำถาม ต้องหนักแน่น ชัดเจน ไม่ละเว้นหรือละเลยคำถามที่ผู้ชมผู้ฟังต้องการรู้คำตอบ ต้องไม่จัดรายการหรือตั้งคำถามที่ทำให้ผู้ชมผู้ฟังรู้สึกว่าส่อไปในทางเกรงอกเกรงใจผู้มีอำนาจ (ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ)
- ถ้ามีการหลบเลี่ยงไม่ตอบคำถามตรงๆ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ต้องดึงกลับประเด็น แล้วถามซ้ำจนได้คำตอบที่ตรงกับคำถาม
- นักข่าวและผู้เสนอรายการต้องให้ความยุติธรรมเสมอหน้าแก่ผู้ร่วมรายการ ไม่ว่าเป็นนักการเมือง ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน โดยตั้งคำถามหนักแน่นและรุกไล่แบบเดียวกัน ต้องไม่ละเว้นที่จะแสดงให้เห็นว่ามีความคงเส้นคงวากับนักการเมืองทุกกลุ่ม ทุกพรรค
- ต้องระมัดระวังการเชิญนักการเมืองเข้าร่วมรายการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อย่างเช่นรายการทำอาหาร ทำสวน รายการทางศิลปะ รายการบันเทิง รวมถึงการปรากฏตัวนอกสถานที่ หรือการถ่ายทอดสดการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนของนักการเมือง เพราะอาจเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ผู้ปฏิบัติงานต้องคำนึงถึงแนวปฏิบัตินี้อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะในช่วงเวลา การหาเสียงเลือกตั้ง
รายงานข่าวการชุมนุม ประท้วง จลาจล
หลักสำคัญ ต้องรายงาน อย่างรอบด้าน ครบถ้วน เป็นกลาง สะท้อนภาพใหญ่ได้ทั้งหมด
แนวทางปฏิบัติ
- ต้องระมัดระวังการรายงานแบบคาดคะเนสถานการณ์ล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพราะอาจจะเป็นการหนุนส่งให้เกิดเหตุร้าย
- หากการทำข่าว หรือ รายงาน ในบริเวณที่มีการชุมนุม ไปมีส่วนทำให้ผู้ชุมนุมเกิดอาการฮึกเหิมต้องการแสดงออก ผู้ปฏิบัติงาน ต้องถอนตัวออกจากบริเวณนั้นทันที
- ต้องระมัดระวังการรายงานจำนวนหรือตัวเลขของผู้ร่วมชุมนุม เพราะยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถคำนวณจำนวนผูชุมนุมได้อย่างแม่นยำ
- ต้องอ้างชื่อของแหล่งข่าวที่ให้ตัวเลขหรือจำนวนผู้ชุมนุม และถ้ามีหลายแหล่งข่าว และให้ตัวเลขที่แตกต่างกัน ให้รายงานตัวเลขมากสุดและน้อยสุด พร้อมอ้างแหล่งข้อมูลของตัวเลขนั้นๆ
- ในการชุมนุมขนาดใหญ่ เป็นการยากที่ นักข่าวซึ่งอยู่มุมหนึ่งของการชุมนุมจะสามารถรายงานสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน จึงควรหาข้อมูลอีกด้านหนึ่ง และพยายามให้ภาพกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ควรหานักวิชาการ หรือ นักวิเคราะห์อิสระ มาให้ภาพรวมและบริบทของเหตุการณ์ ประกอบการรายงาน
- การรายงานเหตุหายนะและภาวะฉุกเฉิน
เป็นการทำข่าวหรือรายงานเหตุหายนะ ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุขนาดใหญ่ ภาวะฉุกเฉิน ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ
แนวทางปฏิบัติ
- แหล่งที่มา และ ความถูกต้องของข้อมูล โดยเฉพาะตัวเลข ของผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต รวมทั้ง ความเสียหาย ถ้ามีแหล่งข่าวมากกว่าหนึ่ง และตัวเลขที่ส่งเข้ามาไม่ตรงกัน ต้องบอกตัวเลขที่ประเมินต่ำสุดและสูงสุด ควบคู่กันไป
- การรายงานชื่อผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือสูญหาย ต้องตรวจสอบก่อนว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งญาติพี่น้องของพวกเขาแล้ว เพราะถือเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่ญาติพี่น้องของผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหายจะรับรู้เหตุร้ายนี้เป็นครั้งแรก จากวิทยุหรือโทรทัศน์
- เมื่อเกิดเหตุหายนะ และ ภาวะฉุกเฉิน ควรรีบรายงานข้อมูลเฉพาะที่สำคัญ แต่หลังยืนยันความถูกต้องแล้ว เพื่อลดความวิตกกังวลในหมู่ญาติมิตร และ คนจำนวนมากในสังคม เช่น เมื่อมีเหตุเครื่องบินตก ข้อมูลเฉพาะที่สำคัญ คือ ชื่อ สายการบิน หมายเลขเที่ยวบิน ออกจากสนามบินใด เวลาใด ไปยังจุดหมายปลายทางใด
- การทำงานในภาวะเช่นนี้ ต้องตระหนักว่า มิใช่เพียงทำหน้าที่รายงานข่าวหรือเหตุการณ์ แต่ต้องช่วยส่งสัญญาณเตือน หรือ ขอความช่วยเหลือ เพื่อผู้ประสบเหตุในพื้นที่หายนะหรือพื้นที่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน การช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารคำเตือนอาจช่วยลดความสูญเสีย ความเสียหาย แต่ ต้องพินิจพิเคราะห์ และระมัดระวัง ในความถูกต้องเที่ยงตรงตามข้อเท็จจริง และเอกสิทธิในการรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนวิพากษ์บทบาทของสื่อในบทความชื่อ “สื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง”[2]
สื่อมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขความขัดแย้ง เช่นที่เราเผชิญอยู่เวลานี้ น่าเสียดายที่สื่อไทยไม่ได้ทำ ร้ายไปกว่านั้น ยังช่วยทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่อย่างสืบเนื่อง และรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ข่าวของโทรทัศน์สาธารณะไทยในวันหนึ่งรายงานว่า ชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปร่วมรายการ "ความจริงวันนี้" ในกรุงเทพฯ ได้รับค่าจ้างเป็นเงินหลายพันบาทต่อคน แหล่งข่าวของรายงานนี้คือ นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม
นี่เป็นข่าวที่รายงานข้อเท็จจริง การตรวจสอบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทางโทรทัศน์ไทยได้ตรวจสอบข้อมูลนี้อย่างไร จึงกล้านำออกอากาศ แหล่งข่าวน่าเชื่อถือเพียงใด ในฐานะผู้ทำข่าวก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า การเมืองท้องถิ่นในเชียงใหม่นั้นแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แข่งขันชิงตำแหน่งใน อปท.เกือบทุกระดับ ต่างกลุ่มก็สังกัดหรือเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองระดับชาติ ที่กำลังต่อสู้กันนอกรัฐสภาอย่างถึงพริกถึงขิงอยู่เวลานี้ นักการเมืองท้องถิ่นจึงไม่ใช่แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในกรณีนี้อย่างแน่นอน หากโทรทัศน์ไทยไม่พร้อมจะเปิดเผยแหล่งข่าว ข่าวชิ้นนี้ไม่ใช่ข่าว
ในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างที่เราเผชิญอยู่ ไม่แปลกที่ในวันรุ่งขึ้นมีฝูงชนไปปิดล้อมสำนักงานของโทรทัศน์ในเชียงใหม่ ใช้กำลังข่มขู่แทรกแซงการทำงานของสื่อ ด้วยการปิดกั้นมิให้พนักงานได้ปฏิบัติงานตามปกติ แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง และเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่ออย่างปฏิเสธไม่ได้
ผู้บริหารสำนักงานโทรทัศน์แถลง (ทำนองเดียวกับคำแถลงของคณะกรรมการในภายหลัง) ว่า ทางโทรทัศน์ไทยได้ให้ความสมดุลของข่าวแล้ว โดยรายงานคำกล่าวของคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ว่า ผู้ซึ่งเดินทางมาร่วมรายการล้วนมาโดยสมัครใจทั้งสิ้น
แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นรายงานข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความเห็น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ตรวจสอบ ไม่ใช่สร้างสมดุลและที่จริงแล้วการสร้างสมดุลในรายงานความเห็นและรายงานข้อเท็จจริงนั้นไม่เหมือนกัน
คุณจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นแหล่งข่าวที่ใช้ไม่ได้เลยในกรณีนี้ เพราะคุณจตุพรเป็นผู้ร่วมจัดรายการความจริงวันนี้ ไม่มีทางจะพูดเป็นอื่นไปได้ (เป็นหมากัดคนฉบับคลาสสิค) ฉะนั้นจึงไม่เกิดสมดุลแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากได้เจาะไปถึงผู้ที่น่าจะรู้เรื่องนี้ดี แต่เป็นกลาง เช่นกำนันผู้ใหญ่บ้านบางคน หรือ "หัวคะแนน" ที่ไม่ได้รับการจ้างวานในครั้งนี้ คำสัมภาษณ์ของเขาจึงเป็นการให้ข้อเท็จจริงที่มีการถ่วงดุลได้
ผมนำเรื่องนี้มากล่าวเพื่อจะบอกว่า บทบาทอย่างแรกของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง คือทำหน้าที่ของตัวตามปกตินั่นแหละ แต่ทำให้ดีจริงๆ อย่าสุกเอาเผากิน โดยเฉพาะอย่ามักง่ายเพียงทำข่าวปิงปอง เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แก่การรับรู้ของสาธารณชนแล้ว ยังทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้น
เมื่อพูดถึงข่าวปิงปองก็ควรกล่าวด้วยว่า ในความขัดแย้งนั้นมีความสลับซับซ้อนอยู่ภายใน มากกว่าความขัดแย้งของสองฝ่าย แม้ในแต่ละฝ่ายของคู่ขัดแย้งก็หาได้เป็นเนื้อเดียวกันไม่ ความคิดเห็นของผู้นำมีสีและเงาที่เหลื่อมกันอยู่ไม่น้อย ยิ่งกว่านี้ยังมีฝ่ายที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่ได้รับผลกระทบของความขัดแย้งในด้านต่างๆ อีกมากมาย ถึงเขาเหล่านั้นไม่ได้ร่วมอยู่ในคู่ความขัดแย้ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ประเด็นที่ขัดแย้งกัน ก็หาใช่สาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งไม่ มีสาเหตุในเชิงลึกอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง ไม่เฉพาะแต่มือที่สามมือที่สี่ซึ่งชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นสาเหตุเชิงโครงสร้างและประวัติศาสตร์ (ซึ่งแปลว่าความเปลี่ยนแปลงอันเกิดในเงื่อนไขของเวลา) อยู่ด้วย
สื่อไทยไม่สนใจจะเจาะหาสาเหตุเชิงลึกของความขัดแย้ง
สื่อไทยส่งนักข่าวไปประจำ "ม็อบ" เพื่อรายงานข่าววาทะของผู้นำไม่กี่คน ซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นวิวาทะระดับชาติที่มีตัวละครอยู่ไม่กี่ตัว และด่าทอกันด้วยประเด็นเดิมๆ อย่างเจ็บแสบ ไม่ต่างจากละครน้ำเน่าทางทีวี จะหวังให้ความขัดแย้งคลี่คลายไปทางใดได้ เพราะประเด็นก็วนเวียนซ้ำเก่าอยู่อย่างนั้น นับวันมิติของความขัดแย้งก็ยิ่งแคบลง จนเหลือแต่ฝ่ายใดจะแพ้ และฝ่ายใดจะชนะ
หลักการพื้นฐานของการสื่อข่าวก็คือ อย่าปล่อยให้ใครพูดฝ่ายเดียว ไม่แต่เพียงรอให้อีกฝ่ายตีปิงปองกลับมาเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบคำพูดของทุกฝ่าย ตรงกับที่เขาเคยพูดมาก่อนหรือไม่ และสิ่งที่เขาพูดนั้นมีพยานหลักฐานรับรองมากน้อยแค่ไหน
สื่อไทยทำการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ ตรงตามวิชาชีพของตนแล้วหรือ
ในความขัดแย้งทั้งหลาย ตราบเท่าที่เรามองความขัดแย้งบนฐานคิดเดิม ก็ไม่มีวันพบทางออกจากความขัดแย้งไปได้ แต่เพราะความขัดแย้งมีความสลับซับซ้อน และดึงเอาทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งดังกล่าว จึงเป็นไปได้ที่จะมีคนมองความขัดแย้งจากฐานคิดอื่น เช่นมองความขัดแย้งให้พ้นออกไปจากสองฝ่าย แต่เป็นเรื่องที่สังคมไทยทั้งหมดต้องเข้ามาร่วมตัดสินใจ มองความขัดแย้งจากแง่มุมทางวัฒนธรรม จากแง่มุมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ประเด็นจะเปลี่ยนจากใครจะแพ้ใครจะชนะมาเป็นปัญหาร่วมของทุกคนซึ่งต้องหาทางออกร่วมกัน
สื่อไทยสนใจที่จะเจาะหา ความเห็นจากผู้คนเพื่อทำให้ข่าวความขัดแย้งมีความหลากหลาย มากกว่าวิวาทะของผู้นำไม่กี่คนหรือไม่?
หลักการพื้นฐานอีกอย่างหนึ่ง (ซึ่งสื่อไทยเคยล้มเหลวในกรณีความรุนแรงในภาคใต้มาแล้ว) นั่นคือ ข่าวสารที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดไม่ได้มาจากชนชั้นนำเพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าชนชั้นนำนั้นจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล สื่อสนใจจะหาข่าวจากคนเล็กคนน้อยที่ร่วมในความขัดแย้ง หรือได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งหรือไม่ มีใครเคยยื่นเทปอัดเสียงไปให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งสองฝ่ายอย่างกว้างขวาง (คือไม่ใช่แค่คนสองคน) บ้าง มีใครอยากคุยกับตำรวจที่ร่วมปฏิบัติการในวันที่ 7 ต.ค.บ้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจที่ถูกด้ามธงแทงทะลุอกเท่านั้น แต่เพื่อนๆ ของเขาที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ก็มีอีกไม่น้อย ที่คงพร้อมจะให้ข้อมูล หรือตำรวจที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน เขาถูกสั่งให้ทำ เขาทำเอง เขารู้หรือไม่ว่าแก๊สน้ำตาที่เขาใช้นั้นมีผลอย่างไร เขาเคยได้รับการฝึกให้รับมือกับฝูงชนมามากน้อยแค่ไหน ฯลฯ
และเพราะสื่อไทยไม่ได้ทำตามหลักการพื้นฐานดังกล่าว ความขัดแย้งที่เกิดในสังคมไทยขณะนี้ จึงเป็นที่รับรู้แก่สาธารณชนตามแต่ผู้นำเพียงไม่กี่คนจะวาดภาพให้เป็นไป หากเขาสั่งว่าถึงทางตัน ทุกอย่างก็ตันไปหมด นอกจากออกตามเส้นทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวางไว้ให้ หรือมิฉะนั้นก็นองเลือด
สื่อไทยไม่พยายามจะเจาะลึกหาความจริงของข้อกล่าวหาที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน รวมทั้งไม่พยายามเจาะลึกว่าข้อเสนอของแต่ละฝ่ายนั้นมีเงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างไร ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องเทพและมาร (แล้วแต่ใครจะเชื่อว่าฝ่ายใดเป็นเทพ และฝ่ายใดเป็นมาร) เพิ่มความระแวงสงสัยต่อกันและกันมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากสื่อเสนอข่าวการตรวจสอบข้อกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อกัน รวมทั้งพยายามชี้ให้เห็นว่า แต่ละฝ่ายล้วนมีเงื่อนไขและข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ความขัดแย้งก็จะเป็นเรื่องของมนุษย์ ไม่ใช่ถูก-ผิด ขาว-ดำ ชนิดที่ต่างฝ่ายต่างเสนอ ซึ่งเป็นทางเลือกที่แคบคือ ไม่นำไปทางไหนนอกจากสงคราม ระหว่างธรรมและอธรรม
คงไม่มีครั้งใดที่สื่อต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่าครั้งนี้ ถึงไม่เจตนายั่วยุให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้าสื่อไม่ปฏิบัติตนในอาชีวปฏิญาณให้ถึงที่สุด ก็เท่ากับบีบให้สังคมไทยไม่มีทางจะเดินไปที่อื่นใดได้ นอกจากการใช้ความรุนแรงเพื่อระงับความขัดแย้ง
หน่วยการศึกษา และวิธีการศึกษา :
1) กรอบความคิดของบรรณาธิการข่าว คือ การกำหนดประเด็นข่าว - ทิศทางข่าว หรือแนวนโยบายในการทำข่าวชุมนุม
วิธีการศึกษา : สังเกตการในการ ประชุมโต๊ะข่าว และการพุดคุยสัมภาษณ์เพิ่มเติม
โดยใช้โครงสร้างคำถามเพื่อสืบรู้ เข้าใจในวิธีคิด กระบวนการทำงาน แนวปฏิบัติภาคสนามของนักข่าวในการรายงานข่าว ว่ามีลักษณะเป็นข่าวเชิงสงครามหรือสันติภาพ
2) แนวปฏิบัติของนักข่าว/ผู้สื่อข่าวภาคสนาม
วิธีการศึกษา : สังเกตการในการ ประชุมโต๊ะข่าว และการพุดคุยสัมภาษณ์เพิ่มเติม
โดยใช้โครงสร้างคำถามเพื่อสืบรู้ เข้าใจในวิธีคิด กระบวนการทำงาน แนวปฏิบัติภาคสนามของนักข่าวในการรายงานข่าว ว่ามีลักษณะเป็นข่าวเชิงสงครามหรือสันติภาพ
3) ลักษณะเนื้อหาข่าวชุมนุม
วิธีการศึกษา : วิเคราะห์เนื้อหาข่าวการชุมนุมบนหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง จาก 2 กลุ่มคือ
3.1) ข่าวเหตุการณ์ชุมนุมที่มีความสำคัญ
- 17 มีนาคม 2553 – เหตุการณ์วันสาดเลือดที่รัฐสภาและบ้านพักนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- 10 เมษายน 2553 – เหตุการณ์สลายการชุมนุม ณ พื้นที่ สี่แยกคอกวัว
- 22 เมษายน 2553 – เหตุการณ์กลุ่มเสื้อแดงปะทะม็อบสีลมที่แยกศาลาแดง
- 28 เมษายน 2553 – เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับทหารที่ถนนวิภาวดีรังสิตกรณีล้อมจับขวัญชัย ไพรพนา
3.2) เนื้อหาข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทั่วไป ที่น่าสนใจและมีลักษณะการสื่อข่าวเชิงสงคราม หรือสันติภาพ ระหว่างช่วงเวลาของเหตุการณ์ชุมนุม
[1] ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา, Peace Journalism: ความหวังสู่สันติภาพ, ใน คู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง
[2] - เว็บไซต์มติชน (Th) Monday, November 17, 2008 (ความรู้ที่ใช้ในบทความนี้ได้จาก การสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้งของ รอน โฮเวิร์ด วลักษณ์กมล จ่างกมล แปล)
คำนิยามศัพท์
ข่าวชุมนุม หมายถึง ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ ต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง
ผลการศึกษา
แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 ความคิดของบรรณาธิการ
ด้วยวิธีการศึกษาแบบสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมในการประชุมโต๊ะข่าว การดูกระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการ การสัมภาษณ์พูดคุยเพิ่มเติมกับบรรณาธิการข่าว 2-3 คนในกอง เพื่อสืบถามถึงแนวคิด นโยบายการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ ที่อาจมีการใช้ในการรายงานข่าวการชุมนุม
ผลการศึกษาพบว่า
- หนังสือพิมพ์มติชน
1) บรรณาธิการข่าว, มติชน
ยอมรับว่าไม่มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังสำหรับแนวทางการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างทั้งเรื่องเวลา บุคลากรและนโยบายขององค์กร แต่จะมีการพูดคุยกันมากเรื่องความปลอดภัยของนักข่าวในการทำข่าว ซึ่งมีข้อเดียวคือให้หลบออกจากสถานการณ์ทันที ที่พิจารณาแล้วว่าไม่มีความปลอดภัย
การตั้งประเด็นข่าวการชุมนุมโดยมากกำหนดโดยที่ประชุมกองบรรณาธิการในแต่ละวัน จากส่วนกลาง จากนั้นหัวหน้าโต๊ะข่าวก็จะสื่อสารไปยังนักข่าวภาคสนามว่าประเด็นสำคัญๆ นั้นๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นข่าวส่วนใหญ่ในมุมมองของบรรณาธิการข่าวคือ 1) ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของม็อบ 2) ผลกระทบของม็อบในเชิงเศรษฐกิจ และ 3) ประเด็นทางออกของวิกฤติการเมือง
บรรณาธิการข่าวยอมรับว่าทิศทางข่าวม็อบของมติชนนั้นเข้มข้นและแข้มแข็งที่ประเด็นทางด้านการเมืองและทหาร (ความมั่นคง) ขณะที่ประเด็นข่าวม็อบด้านเศรษฐกิจก็เน้นไปที่ผลกระทบด้านตลาดหุ้น การส่งออก เศรษฐกิจ การต่างประเทศ (ประเด็นท่าทีสื่อต่างประเทศ) ขณะที่ประเด็นเรื่องทางออกของม็อบนั้นก็จะมาจากข่าวขององค์กรด้านนักวิชาการ การจัดสัมมนา เสวนาทางวิชาการตามพื้นที่ต่างๆ มากกว่า
บรรณาธิการข่าวคิดว่า พื้นที่คอลัมน์หน้า 6-7 (กระแสทรรศน์) เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิชาการ ประชาชน นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักการเมือง นักปราชญ์สังคมเข้ามาใช้พื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และในหลายๆ ครั้งพื้นที่ก็เป็นทั้งส่วนที่อาจสร้างความขัดแย้ง และสร้างความสมานฉันท์ไปพร้อมๆ กัน อันเนื่องมาจากคอลัมน์นิสต์บางคน
กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนแม้ ไม่มีแนวกำหนดเรื่องลีลาภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเชิงสันติภาพ แต่ก็จะยึดเอาหลักการข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์ และแนวทางปฏิบัติทั่วไปในการสื่อข่าว ภาพข่าวจะคัดเลือกที่ไม่รุนแรงมาก พาดหัวข่าวต้องตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ใช้ภาษาเร้าอารมณ์ (เพราะไม่ใช่แนวทาง/ลีลาของมติชน) โดยรีไรเตอร์จะมีบทบาทสำคัญในการคัดกรองภาษาข่าวให้ลดระดับความรุนแรงลง ขณะที่หัวหน้าโต๊ะข่าวหน้าหนึ่งประจำวันจะดูภาพรวมของหน้า ทั้งพาดหัวข่าว พาดหัวรอง ภาพข่าวจะเป็นคนคัดเลือกเอง
สำหรับความคิดเรื่องความขัดแย้งในทางการเมืองในปัจจุบัน กองบรรณาธิการมติชนไม่มีปัญหาถึงขั้นแตกหักสำหรับเรื่องนี้ เพราะคนคุมทิศทางข่าวประจำวัน จะมี รับผิดชอบกันไปในแต่ละวัน ซึ่งจะมีหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง 5 คนสลับกันไป บรรยากาศการพูดคุยถกเถียงประเด็นเป็นไปอย่างเปิดกว้าง และจุดยืนของหนังสือพิมพ์มติชนคือการนำเสนอทางออกของวิกฤติ เน้นนำเสนอทั้งสองด้าน ไม่เน้นความเป็นกลางแต่เน้นความสมดุลของข่าว
ส่วนพื้นที่บทความความคิดเห็น บรรณาธิการข่าวกล่าวว่ามักเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักจากผู้อ่านว่ามีส่วนทำให้หนังสือพิมพ์มติชนไม่เป็นกลาง และค่อนข้างเอียงไปทางฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง
2) บรรณาธิการบริหาร, มติชน
บรรณาธิการบริหารยืนยันว่า แนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเชิงสันติภาพเป็นสิ่งที่กองบรรณาธิการให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่มากนัก เพราะแนวทางการทำข่าวของหนังสือพิมพ์ค่อนข้างไปเน้นที่หลักการทางวารสารสนเทศ เช่นเรื่องคสามสมดุล ข้อท็จจริง ความเป็นวัตถุวิสัย และข้อกำหนดควบคุมเรื่องการใช้ภาษาข่าว ภาพข่าว ซึ่งมักจะมัความระมัดระวังเป็นพิเศษ ประกอบกับหนังสือพิมพ์มติชนไม่ได้เน้นข่าวประเภทอาชญากรรม
สำหรับการทำข่าวม็อบ ประเด็นข่าวจะถูกกำหนดมาจากการประชุมโต๊ะข่าวเป็นหลัก จากนั้นจะส่งมอบหมายให้หัวหน้าโต๊ะข่าวแต่ละโต๊ะดูแลต่อไป ประเด็นข่าวส่วนมากในช่วงการชุมนุมจะเน้นไปที่สถานการณ์การชุมนุม ความเคลื่อนไหวในแต่ละวัน เหตุการณ์สำคัญในรอบวัน
ความยากของการรายงานข่าวม็อบ และความขัดแย้งในปัจจุบันคือ หนังสือพิมพ์ถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง แต่โดยรวมถือว่ามติชนไม่เน้นขายข่าวที่รุนแรงเช่นอาชญากรรม อุบัติเหตุ
การใช้ผู้สื่อข่าวทำข่าวม็อบ จะใช้เฉพาะกิจ คือแต่ละโต๊ะส่งตัวแทนหมุนเวียนสัปเลปี่ยนลงเวรกัน วันละ 2 คน ซึ่งหัวหน้าโต๊ะก็จะเป็นผู้คัดเลือก รวมๆ ราว 18-20 คน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นนักข่าวรุ่นเด็ก 6-7 ปี อายุงานเฉลี่ย ซึ่งหากเนื้อหาข่าวที่ได้จะไม่มีคุณภาพแตกต่างกัน
ประเด็นข่าวม็อบจะถูกกำหนดโดยสถานการณ์ในแต่ละวัน แต่มติชนจะเน้นมากเรื่อง การนำเสนอข่าวทางออกของปัญหา เพราะเป็นจุดยืนและนโยบายของมติชน หากมีการแถลงข่าวจากวงสัมมนาวิชาการ แถลงการณ์เรียกร้องจากกลุ่มต่างๆ ก็จะนำเสนอทันที
ความขัดแย้งระหว่างความคิด จุดยืนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในมติชนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเข้าไปจัดการ เพราะวัฒนธรรมของที่นี่คือทุกคนสามารถคิดแตกต่างได้ มีเสรีภาพทางความคิด ไม่มีการไปกำหนดกรอบว่าต้องเลือกข้าง เพราะตอนที่ทำข่าวทุกคนก็จะรู้ว่าเป็นพื้นที่แห่งข้อเท็จจริง มีความขัดแย้งกันทุกวันในการประชุมโต๊ะข่าวแต่ไม่ถึงกับเป็นศัตรูกัน
สิ่งที่ยากที่สุดในการทำข่าวม็อบและความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือสามารถรู้ได้ว่าแหล่งข่าวคนไหนพูดจริงหรือไม่ แต่การพูดนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เราก็มีหน้าที่สื่อสารออกไป ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปตรวจสอบ เพราะต้องแข่งขันกันในธุรกิจสื่อ ในเวลาปกติอาจจะพอมีเวลาตรวจสอบข้อมูล แต่กับสถานการณ์ปัจจุบัน ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก การรายงานข่าวบางครั้งจึงเป็นการตรวจสอบความจริงในวันรุ่งขึ้น ในฉบับต่อไป ในชิ้นข่าวต่อไป จึงจะได้รู้ว่าที่รายงานออกไปมันไม่จริง
หนังสือพิมพ์มติชนอยากจะให้การรายงานข่าวออกมามีความสมดุล เป็นธรรม แต่ทิศทางข่าวก็มักถูกกำหนดโดยรัฐมาก เช่นหน่วยงานรัฐอย่างศอฉ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางข่าว
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
คุณสุชิน ติยะวัตร หัวหน้าข่าวหน้า 1 นสพ.ไทยรัฐ
จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับหัวหน้าข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เรื่องการรายงานข่าวความขัดแย้ง / ข่าวม๊อบ ผู้ให้สัมภาษณ์ชี้แจงใน 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือ การยึดตามนโยบายข่าว ไทยรัฐเน้นให้ข่าวมีความเป็นกลาง คือเสนอข่าวสองด้าน อย่างเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยเห็นว่าความเป็นกลางเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ประเด็นที่ 2 คือ นโยบายของบทความ เนื่องจากการเขียนบทความเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็น จึงเปิดกว้าง ไม่มีการชี้นำ และจำกัดความคิดเห็นของผู้เขียน แต่จะเน้นการนำเสนอทั้งสองด้าน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าแต่ละบทความเป็นเหมือนตลาดความคิด โดยจะให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสินใจเอง ไม่ชี้ผิดชี้ถูก
ทั้งนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ มองว่าสื่อหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน มี 2 แบบ คือ 1) สื่อฟันธง (ไม่ใช่พวกเราคือศัตรู) ระบุว่ามีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไทยโพสต์ แนวหน้า และหนังสือเฉพาะกิจของแดง 2) สื่อไม่เลือกข้าง (นำเสนอ 2 ด้าน ให้โอกาสทุกฝ่าย) ระบุว่ามีหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ถึงแม้ว่าจะมีการพาดหัวไปในอีกทิศทางก็ตาม อย่างไรก็ตาม มีการยอมรับว่าหนังสือพิมพ์มีการเลือกข้าง โดยสะท้อนออกมาจากเนื้อหา วิธีปฏิบัติ วิธีทำ และส่งผลต่อการทำข่าวให้เป็นกลาง
โดยวิธีการและขั้นตอนการทำงานโดยการกลั่นกรองจากหลายคน (ผู้สื่อข่าว รีไรท์เตอร์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 และกองบรรณาธิการ) เป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความสมดุลของเนื้อหาข่าวไว้ได้ แต่ก็มีการยอมรับแบบในทีว่าหากผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งรีไรท์เตอร์และหัวหน้าข่าวมีความนิยมชมชอบคู่ขัดแข้งฝ่ายเดียวกัน ก็จะส่งผลต่อเนื้อหาข่าวในภาพรวมเช่นกัน
ทั้งนี้ ไทยรัฐมีการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้อ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ หน่วยรับฟัง หรือประชาสัมพันธ์ โดยส่งผลสรุปของความคิดเห็นในแต่ละสัปดาห์ และผลสะท้อนจากเอเย่นต์ขายหนังสือพิมพ์ของไทยรัฐ ที่รับความรู้สึกจากคนอ่านมา (โดยจะรับฟังความเห็นดังกล่าวและใช้เหตุผลของตัวเองเป็นการตัดสิน พิจารณา
การพาดหัวข่าว ไทยรัฐยอมรับว่าที่ผ่านมามีการพาดหัวแบบสวิงสวาย แต่ปัจจุบันลงลง เนื่องมาจากไทยรัฐมีจุดยืนทางการตลาด (Brand Positioning) ว่าตนเองเป็นหนังสือพิมพ์อาชญากรรมมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้หากไม่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งหรือข่าวม๊อบเหมือนในครั้งนี้ ข่าวอาชญากรรมก็จะเป็นพระเอกหรือตัวชูโรงในหน้า 1 เสมอ หากในยามสถานการณ์ปกติ ข่าวหน้า 1 จะมีทั้งหมด 8 ข่าว ประกอบด้วย ข่าวอาชญากรรม 5 ข่าว เว้นให้ข่าวการเมือง 1 ข่าว ที่เหลือจะเป็นข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการศึกษา และเทคโนโลยี โดยหัวหน้าข่าวจะพิจารณาการคัดเลือกข่าวม๊อบจากประเด็นกับสถานการณ์ที่สำคัญในแต่ละวัน ส่วนการตั้งประเด็น หรือการจับเหตุการณ์ มาจากรีไรท์เตอร์กับหัวหน้าข่าว โดยไม่กำหนดประเด็นล่วงหน้า โดยเน้นว่าการพาดหัวของไทยรัฐขึ้นอยู่กับข้อมูลวันต่อวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามจะได้เป็นหัวหลัก ส่วนฝ่ายตรงข้ามจะได้หัวรองไป และอาจมีหัวข่าวที่เกี่ยวกับนักวิชาการ หรือองค์กรอิสระบ้าง โดยการพาดหัว หัวน้าข่าวหน้า จะเลือกประเด็นหรือเหตุการณ์ที่สำคัญจากประสบการณ์ และการพูดคุยร่วมกันของของหัวหน้าข่าวโต๊ะต่างๆ และหัวหน้าข่าวหน้า 1 โดยส่วนใหญ่การพาดหัวขาวของข่าวความขัดแย้งจะเป็นการดูทิศทาง เป็นการดูประเด็นความคืบหน้าของเหตุการณ์ตรงจุดที่สำคัญที่สุดในช่วงนั้น เช่น รัฐบาลเสนอโรดแม๊บหาทางออก ให้นปช. พิจารณา นปช.ว่าอย่างไร มีข้อเสนอหรือไม่ เป็นต้น
ภาพหน้าหนึ่ง ไทยรัฐกล่าวว่า การเลือกภาพลงหน้า 1 จะต้องเกี่ยวกับข่าว เพื่อให้ข้อความเกิดความสมดุลและชัดเจนมากขึ้น ภาพต้องมีแอคชั่น เพราะภาพข่าวไม่ใช้ภาพเข้าแถว แต่ในบางครั้งก็มีการผิดพลาด โดยการนำเสนอภาพที่ไม่เกี่ยวกับข่าว ภาพไม่สื่อความ ภาพที่สื่อความหมายผิด และภาพไม่มีคุณภาพ เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านเวลาในการตีพิมพ์ การจัดหน้า การวางดัมมี่ หรือความเสี่ยงหรือความเดือดร้อนต่อสำนักพิมพ์ จึงจำเป็นต้องดึงภาพเดิมออก และเปลี่ยนภาพใหม่เข้ามาแทน เป็นต้น
มุมมองการเซ็นเซอร์ภาพ ปัจจุบันไทยรัฐจะระมัดระวังกับภาพที่เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก (โดยที่ผ่านมามีคนไม่เชื่อ และทำนอกกรอบ) และมีการเซ็นเซอร์ภาพข่าวมากขึ้น โดยเฉพาะกับสถานการณ์ทางภาคใต้ สำหรับการนำเสนอภาพข่าวเหตุการณ์ความขัดแย้งในครั้งนี้ ไทยรัฐไม่มีการเซ็นเซอร์ แม้จะเป็นภาพผู้เสียชีวิต ภาพผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีเลือดนองของทั้งสองฝ่าย เนื่องมากจากไทยรัฐต้องการให้ประชาชนรับรู้ว่าเกิดความรุนแรงในประเทศไทย และไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก
การใช้ภาษาหน้าหนึ่ง ไทยรัฐมีการใช้คำที่เกินจริง แต่ไทยรัฐปฏิเสธว่าไม่ใช่คำที่รุนแรงและสามารถใช้เขียนได้ เช่น สังเวย เป็นต้น สำหรับกรณีการใช้คำที่เกินจริงไปจากภาพ มีการชี้แจงว่าเนื่องมากคนทำรูปกับคนเขียนข้อความเป็นคนละคน เมื่อมีการส่งเนื้อหาข่าวมาก่อน เพบว่าเนื้อหาข่าวมีความรุนแรงสูง จึงเป็นการผิดพลาดทางเทคนิคในบางครั้งที่แก้ไขไม่ทัน
ข่าวเชิงสันติภาพ ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจในเรื่องการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ แต่เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะมองว่าข่าวขัดแย้งมีตลอดในสังคม และพยายามทำ เพราะถือเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งนี้ มีความเชื่อว่าหน่วยงาน องค์กร หรือตัวบุคลที่มีบทบาทและหน้าที่เป็นตัวกลางไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง ไทยรัฐจึงไม่เชื่อถือ แต่ก็ให้ความสำคัญกับนักวิชาการอยู่บ้าง บางคน เช่น อาจารย์โคถม อาจารย์ปริญญา เป็นต้น โดยพื้นที่ของมุมมองนักวิชาการและนักกฏหมายในข่าวม๊อบจะแทรกอยู่ในเนื้อหาข่าว แต่จะไม่ได้หยิบขึ้นมาพาดหัว
คุณอนุสรณ์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 ประจำวัน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
กระบวนการคัดเลือก คัดกรองข่าว ประเด็นของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหน้าที่หรือสิทธิของหัวหน้าข่าวและ rewriter โดยมีหัวหน้ากองดูแลอีกทอดหนึ่ง โดย rewriter จะทำหน้าที่กรองให้หัวหน้าข่าวก่อน ประชุม 2 รอบ ตามประเด็นพิเศษ ในรอบ 5 โมงเย็น แต่กลุ่มเล็กกว่าตอนเช้า มีแต่หลักๆ ผู้ที่ปฏิบัติจริงๆ หัวหน้าข่าว rewriter
หลักการคัดเลือกประเด็นข่าวลงหน้า 1 ไทยรัฐมีนโยบายที่ผ่านมา คือนำเสนอข่าวที่หลากหลาย ไม่จำกัดว่าเป็นข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวบันเทิง ทุกประเด็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่จะคัดมาอยู่หน้า 1 ได้ตลอด จะดูว่าอะไรเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นน้ำมันขึ้นเยอะมาก ต้องเล่น หรือดาราคนนี้มีเรื่องฉาวโฉ่ คนให้ความสนใจ ก็เล่น
ใช้วิธีการตรวจสอบ กรณีพาดหัว เพราะเราเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ เป็นเหมือนการขับเคลื่อน อาจไปเสริมจุดความรุนแรงได้ ต้องระมัดระวัง
กรณีการทำข่าวที่มีความขัดแย้ง เช่น ม๊อบ มีการพูดคุยกันภายใน ทั้งผู้สื่อข่าวภาคสนาม หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง จุดต่างๆ แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ให้เสนอหลากหลายแง่มุมให้มากที่สุดเท่าที่ประชาชนอยากจะบริโภคเนื้อหาข่าวสารสนใจ ประเด็นความขัดแย้งต้องนำเสนอ เพื่อสะท้อนมุมมองช่วงวิกฤตของตอนนั้นๆ หนังสือพิมพ์ต้องบันทึกไว้เลยแต่เราจะไม่เพิ่มความขัดแย้งในสังคม เราเสนอความหลากหลายทั้งสองฝ่าย เรามีบทวิเคราะห์การเมืองเพื่อเสริมมุมมองหน้า 1 แต่ข่าวหน้า 1 หลัก ๆ เรานำเสนอทุกฝ่ายให้ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพข่าว เนื้อหา ประเด็นข่าว พยายามจัดสมดุล คนอ่านจะเข้าใจเอง สำหรับคู่กรณีที่ขัดแย้งกันก็จะได้มองว่าสื่อเรายืนอยู่แบบไม่ได้เข้าข้างใครจริงๆ
เมื่อเกิดวิกฤติเสื้อแดงตอนแรก ไทยรัฐจะมีนโยบายจากหัวหน้ากองถึงหัวหน้าข่าวทุกกคนว่า จะไม่พาดหัวข่าวยั่วยุ ถึงแม้ว่าบางเราจะพาดหัวข่าวเข้าข้างสีแดง ซึ่งมันเป็นประเด็นที่คล้อยตามไปเอง หรือบางวันพาดหัวข่าวเข้าข้างรัฐบาล แดงไม่ชอบ แต่ให้เนื้อหาข่าวมันสมดุล มีการพาดหัวละมุนละม่อม ดูสถานการณ์และใช้คำพูดไม่ยั่วยุ ใช้คำสุภาพ เป็นคำพื้นฐาน ไม่แดกดัน ไม่เสี้ยม เป็นนโยบายเราว่าไม่ยั่วยุ
กรณีภาพข่าว สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้น ตอนวันที่ 10 เมษายน พี่อยู่ มุมมองของหัวหน้าข่าวสำคัญมาก เราจะภาพข่าวทั้งสองด้านมานำเสนอ เพราะเจ็บและตายทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งจากภาพเราเอง ภาพจากต่างประเทศที่เราเป็นสมาชิกอยู่ AP AFP REUTERS ต้องคัดภาพให้สมดุล ให้คนอ่านพิจารณาเอาเอง
ส่วนข่าวเนื้อใน หัวหน้าข่าวหน้า 1 ต้องตรวจเนื้อหาข่าว ตรวจทุกคำ (สำคัญกว่าพาดหัวอีก) โดยต้องไม่ส่อแอบแฟง ภาษาถูกต้อง หลีกเลี่ยงสำนวนที่จะไปกระทบกับคนอื่น เขียนตรงประโยค ข้อเท็จจริง ไม่เพิ่มสีสัน ถ้ามีประเด็นที่คลางแคลงใจจะเรียกนักข่าวที่ทำมาสอบถามเพิ่มเติม หรืออะไรที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบัน ชาติ ก็ต้องระวัง โดยต้องตรวจ แก้จากหัวหน้าข่าวและหัวหน้ากองด้วย
การรายงานข่าวม๊อบ สื่อต้องทำคู่ขนาน ทั้งข่าวทั้งเชิงรับและเชิงรุก ไทยรัฐก็ทำสองด้าน กรณีเกิดเหตุขึ้นแล้วก็รายงานข้อเท็จจริงไปถือเป็นเชิงรับ นักข่าวต้องรายงานอยู่แล้ว ด้านเชิงรุกเป็นการวิเคราะห์ ข่าววิเคราะห์ส่วยใหญ่ก็ให้ความสำคัญส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่แทรกอยู่ในเนื้อหา ไม่ใช่เป็นประเด็นเปิดที่เอามาเล่นในสกู๊ป เช่นการหาทองออก
สถานการณ์การทำข่าวม๊อบ ในภาคสนามในปัจจุบัน ยากขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ แต่ก็มีข้อจำกัดในการนำเสนอ คือสื่อพยายามเป็นตัวกลาง เป็นตัวไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะมันมีการเลือกข้าง คนทำงานสื่อต้องเปิดใจคุย สื่อปัจจุบันเลือกข้าง ถ้าเรานำเสนออะไรหมิ่มเหม่ ล่อแหลมปุ๊บ สื่อก็จะถูกผลักไปเลยว่าเป็นสีแดง สีเหลือง คิดว่าสื่อไม่เป็นกลางแต่ต้องมีความรับผิดชอบ มีความสมดุล จริงๆ สื่อเลือกข้างได้ แต่ไม่ใช่เลือกสี ถ้าเลือกสีประเด็นเพี้ยน เลือกข้างหมายถึงเลือกยืนอยู่ข้างคนที่ถูกต้องส่วนใหญ่ สีนี้ทำอะไรถูกต้องเราหนุนเขา อันนี้เราเลือกข้าง แต่ถ้าสีนี้ทำผิดแล้วเราต้องไม่หนุน ไม่เชียร์เขา เช่น สื่อไม่มีเป็นกลางในโลกนี้ สื่อในอุดมคติมันจับต้องไม่ได้ เพราะบางทีสื่อต้องอิงกับการค้าบ้าง การค้าไม่ใช่ขายของหมายถึงสื่อเป็นธุรกิจ ไทยรัฐดีที่สุดในแง่นี้เพราะเราไม่ต้องผูกพันกับใคร เราขายได้จึงทำให้งานข่าวเราสะอาดกว่า คิดได้ อะไรได้ มุมมอง ทำงานด้วยความสบายใจ ไม่มีใครมายุ่ง ผู้ใหญ่มาบีบ เรารับผิดชอบตัวเองให้ดี อะไรควรนำเสนอ หรือระงับ สื่อควรนำเสนอ 2 ด้าน ไม่ใช่ บางคนพูดแบบไม่รับผิดชอบ เพราะถ้าอีกด้านเป็นดำ เราควรเสนอไหม มันเป็นเรื่องผิด แต่จะเสนอ 2 ด้านที่เป็นประโยชน์กับคนอ่าน ประเทศชาติ ส่วนรวม
สื่อประกาศตัวว่าอยู่ข้างไหน เหมือนต่างชาติ บ้านเราก็มี แต่เป็นอีแอบอยู่ สาเหตุก็คือ ระหว่างสื่อกับการรับใช้ผลประโยชน์มันใกล้นิดเดียว สื่อบ้านเราไม่เน้นให้ข้อมูล เน้นให้จินตนาการ ชี้นำ 6 ตุลา สื่อทำร้ายประเทศตอนนั้น ชัดๆ (off record) โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ยัดเยียด มีข้อมูลด้านเดียว คนก็เกลียดชัง เป็นสงครามกลางเมือง ระมัดระวังเกี่ยวกับสถาบัน คำว่าล้มเจ้า เราระวัง ไทยรัฐไม่กล้าพาดหัวข่าวนะ แม้จะพูดกันก็ตาม
การทำข่าวของช่วงความขัดแย้ง ไทยรัฐมีการทำข่าวเชิงสันติภาพหรือไม่ เราละเลยบ้างเหมือนกัน เรารีบๆ ด่วน มองไม่รอบด้าน เราคาดไม่ถึง แต่มันมีน้อย ไม่ค่อยมี จากประสบการณ์คิดว่าเพราะพวกนี้เขาไม่ฟัง (พวกได้ผลกระทบ ตัวก่อปัญหา) แต่พอมีองค์กรต่างๆ ออกมาพูดแต่ก็ไม่ฟัง เราก็ยังนำเสนออยู่ แต่ประเด็นโดยตรงของเรามันน้อย เพราะ 1) ในแง่พื้นที่ 2) ความเร่งด่วน 3) นักข่าวมองว่าปมความขัดแย้งมันจะคลี่คลายกันได้ แต่ตอนนี้ ปัจจุบันนี้ถึงเวลา ข้าวหน้า 1 เป็นประเด็นวันต่อวัน คอลัมนิสต์ ก็มีอิทธิพลเหมือนกัน ให้เกิดสันติ เชิงสันติภาพ เป็นการแสดงความคิดเห็นของใครของมัน (ทำงานเฉพาะ)
ผู้บริหาร และเจ้าของไทยรัฐไม่มีการมายุ่ง แต่ดูแลกันวันต่อวัน ในแง่ให้รอบคอบนะ ให้ระวัง อย่าไปเพิ่มความขัดแย้ง มีนโยบายกว้างๆ ไม่มีการตั้งธง เป็นไปตามเหตุการณ์ ตรงนี้ทำให้เราต้องอดทนอดกลั้น จากการยั่วยุของสื่อด้วยกันเอง
จากผู้เสียผลประโยชน์ เราไม่เสียเวลา เรามองไปข้างหน้า ปัญหาที่เจอบ่อย คือ ปัญหาหมิ่น เราจึงต้องเขียนให้นุ่มลง ไม่ไปทำให้คนอื่นเสียหาย หรือประเด็นที่หมิ่นเหม่ เช็คกลับไปที่นักข่าว ถ้าไม่ชัวร์ เราก็ไม่ดั้นด้นเล่น ยกออก เราก็กลัวตกข่าว แต่ถ้าแหล่งข่าวไม่ชัวร์ ข้อมูลคลุมเครือ เราจะไม่เล่น ละไว้ดีกว่า ผลกระทบกว้าง ไม่มีใครรับผิดชอบ เช่น มีแผนผังของขบวนการล้มเจ้า แต่ศอฉ. มาแฉ ชั่งใจพี่ตัดสินใจเล่น หัวหน้ากองโอเค แต่ถ้านาย … .ใครก็ไม่รู้ ไม่เล่น ศอฉ.ต้องรับผิดชอบ มีคนรับผิดชอบ เราได้ เป็นระดับสูงของรัฐบาล
มีผู้สื่อข่าวโทรมาปรึกษา ถ้าน้ำหนักน้อย ก็ให้ไปเจาะประเด็นมา มีการปรึกษาหารือกัน
ประเด็นการเลือกข้าง หัวหน้าข่าวก็มีความนิยมชมชอบในจุดของตัวเอง ถ้าหนักก็เป็นเบา แต่ไม่มีบิดเบือน ใช้ภาษาให้เบาลง เพราะสื่อถูกตรวจสอบได้ บางคนชอบพรรคประชาธิปไตย บางคนชอบแนวคิดทักษิณ สมมติพี่รักอภิสิทธิ ถ้าต้องกัด ก็จะหลีกเลี่ยงโดยไม่เอามาพาดหัว เลือกประเด็นอื่นมาขาย ถ้าจำเป็นต้องพาดๆๆ ก็ต้องพาด ไม่งั้นก็ไม่เหมือนหัวอื่น
ประเด็นที่ 2 แนวปฏิบัติและการนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าว
- หนังสือพิมพ์มติชน
ปาล์ม, ช่างภาพม็อบ
การถ่ายภาพม็อบก็เหมือนกับถ่ายภาพเหตุการณ์ทั่วไป ไม่แตกต่างมากนัก แต่เฉพาะช่วงที่มีเหตุการณ์รุนแรง ก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น ยอมรับว่ากองบรรณาธิการไม่ได้มีแนวนโยบายหรือแนวทางในการกำหนดทิศทางภาพข่าวแต่อย่างใด ก็จะเน้นถ่ายภาพบรรยากาศประจำวัน ภาพการแถลงข่าวของแกนนำ ภาพเหตุการณ์ที่มีความน่าสนใจ จากนั้นก็จะส่งภาพให้โต๊ะภาพซึ่งจะมีหัวหน้าช่างภาพคอยดูแล
ภาพข่าวของมติชนมักถูกใช้เป็นภาพประกอบเรื่องข่าว ความสำคัญรองจากประเด็นข่าว และผู้ที่มักคัดเลือกภาพข่าวคือหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่ง
การปรับแก้ภาพจะทำเฉพาะค่าแสง ความสว่าง และตัดกรอบครอบภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่เลือกภาพที่อาจเข้าข่ายลักษณะหมิ่นประมาทหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในกรณีภาพม็อบเช่น ภาพที่แสดงให้เห็นทัศนอุจาด ความยากลำบาก การอยู่การกิน การนอนของผู้ชุมนุม เพราะจะทำให้ดูออกมาไม่ดีสำหรับม็อบ
ในบางครั้งภาพข่าวม็อบหรือเหตุการณ์ปะทะที่ลงหน้าหนึ่งอาจไม่ถูกต้องตรงกับความคิดของช่างภาพ ก็คิดว่าหลักการคัดเลือกภาพถ่ายของบรรณาธิการแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน และที่มติชนก็ไม่มีการนำเอาภาพข่าวเข้ามาคุยมาประชุมโต๊ะข่าว จึงน่าจะทำให้ภาพข่าวมติชนไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร
ช่างภาพจึงค่อนข้างทำงานอิสระ อยากถ่ายอะไรก็ตามที่ช่างภาพแต่ละคนจะคิดประเด็นเอา แล้วจึงส่งไปที่กองบรรณาธิการเป็นผู้คัดเลือก ส่วนแนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเชิงสันิภาพนั้น ไม่เคยมีการพูดถึงในกองบรรณาธิการ เป็นเรื่องที่อยากจะเรียนรู้หากมีโอกาส และคิดว่าองค์กรควรสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เช, นักข่าวม็อบ
29 ปี โต๊ะข่าวการเมือง ประสบการณ์ข่าว 6 ปี
ที่มติชนมีนักข่าวส่วนกลางมาทำข่าวม็อบ และหมุนเวียนกันไปในแต่ละโต๊ะ ประเด็นหลักที่ได้รับมอบหมายคือ ความเคลื่อนไหวทั่วๆ ไป เหตุการณ์ที่น่าสนใจ การเคลื่อนม็อบ การปะทะ แถลงการณ์ของแกนนำ หรือบรรยากาศทั่วไป โดยจะส่งข่าววันละประมาณ 3-4 ชิ้น ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์
การตั้งประเด็นข่าวจะถูกกำหนดมาจากโต๊ะข่าวเป็นหลัก และจะได้มาจากคววามสนใจส่วนตัว ซึ่งจะโทรศัพท์หารือแจ้งกับหัวหน้าโต๊ะข่าวว่ามีความน่าสนใจไหม
ส่วนตัวยอมรับว่าเคยได้ยินแนวคิดเรื่องการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ แต่ไม่รู้รายละเอียด และไม่รู้ว่าเช่นในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ จะใช้วิธีการสื่อข่าวอย่างไร เพราะที่ทำข่าวอยู่ปัจจุบันคือ การสังเกตการณ์มากกว่า และการทำข่าวก็มักจะสื่อสารกับนักข่าวอีกคนที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบประเด็นข่าวว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
แหล่งข่าวม็อบที่มักใช้ก็คือบุคคลแกนนำของกลุ่มผู้ชมุนมหรือไม่ก็เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐ มีนักวิชาการบ้างแต่ไม่มาก และยอมรับว่าตัวเขาเองไม่รับข่าวหรือเช็คข่าวจากสำนักข่าวอื่นๆ เพราะรู้สึกว่ารำคาญในปริมาณข่าวสารที่มากเกินไปอีกทั้งยังอาจเป็นการรบกวนความตั้งใจในการทำข่าวของตนเองได้
แขก, นักข่าวม็อบ
25 ปี โต๊ะข่าวการศึกษา ประสบการณ์ข่าว 3 ปี
เข้ามาทำข่าวม็อบเพราะเต็มใจและสมัครใจ ประกอบกับโต๊ะข่าวต้องการผู้ชายที่สามารถลุยสนามข่าวได้ปลอดภัย และอยากเรียนรู้ประสบการณ์ทำข่าวและมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะฝึกฝนทักษะด้านข่าว
ประเด็นข่าวส่วนมากถูกกำหนดมาจากโต๊ะข่าวหรือที่ประชุมบรรณาธิการ ซึ่งจะได้เข้าประชุมเฉพาะวันที่ต้องเข้าเวรเท่านั้น การกำหนดประเด็นอื่นๆ ในการทำข่าวเป็นเรื่องเพิ่มขึ้นมาจากความสนใจส่วนตัวของเรา ซึ่งจะไปเสนอให้โต๊ะข่าวของตนเองอีกชิ้น
ประเด็นข่าวม็อบโดยมากเน้นบรรยากาศทั่วไป ความเคลื่อนไหวในแต่ละวัน การแถลงข่าวของแกนนำ หรือคำโต้ตอบจากรัฐบาล หรือแม้กระทั่งคำพูด แถลงของกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องง่าย เพราะเพียงแต่รอเวลาตามหมายข่าวว่าจะมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ส่วนที่ยากที่สุดในการทำข่าวม็อบคือความปลอดภัย บางครั้งการแสดงตัวว่าเป็นนักข่าวก็มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้เช่นกัน
การทำข่าวม็อบมักทำข้อมูลล้อมกรอบเสนอควบคู่ไปด้วยเสมอ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น เรื่องอาชีพมอเตอร์ไซต์รับจ้างในม็อบ ที่สามารถหารายได้พิเศษที่น่าสนใจ หรือก็มีความพยายามที่จะทำข่าวเรื่องม็อบรับจ้าง แต่ก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย สุดท้ายก็ไม่ได้ทำต่อ
ส่วนที่น่าเป็นห่วงในการทำข่าวม็อบคือ นักข่าวส่วนมากนั่งรอประเด็นข่าวในพื้นที่ รออยู่หลังเวทีของแกนนำ ซึ่งมองว่าเป็นการทำงานที่ง่ายและเฝ้ารอสถานการณ์มากเกินไป ประเด็นข่าวม็อบหลักๆ จึงไม่มีอะไรเด่นมากนอกจากความเคลื่อนไหว บรรยากาศ แถลงการณ์ การวางกองกำลังทหาร ตำรวจ หรือจำนวนผู้ชุมนุม ขณะที่การปล่อยข่าวลือ ข่าวหลอก ก็มีมากในสนามข่าว นักข่าวจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้อง ที่มา อย่างน้อย 2-3 แหล่ง
ส่วนปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เห็นว่าปัญหาคือสื่อมักรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในพื้นที่ โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และปัญหาเรื่องความเป็นกลางของนักข่าว ซึ่งส่วนตัวมองว่าก็คือการรายงานสิ่งที่ “ตาเห็น” คุณค่าข่าวม็อบที่ควรรายงานหรือนำเสนอคือทางออกของปัญหาวิกฤตินี้ แต่ก็มีเนื้อหาส่วนนี้น้อยมาก ซึ่งก็ยอมรับว่าอาจเป็นเพราะกองบรรณาธิการและตัวนักข่าวมองประเด็นไม่ชัดเจนเพราะเน้นแข่งขันและความรวดเร็วมากเกินไป
ยิ้ม, นักข่าวม็อบ
29 ปี โต๊ะข่าวเฉพาะกิจ ประสบการณ์ข่าว 6 ปี
เข้ามาทำข่าวม็อบได้นานแล้ว แต่ยังไม่เคยอยู่ในสถานการณ์อันตรายจริงๆ สักครั้งเพราะส่วนตัวคือกลัวเลือด และจริงๆ ก็ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์แต่เรียนด้านอักษรศาสตร์มาแต่ก็มีความชอบในการทำข่าว
การทำข่าวม็อบต้องคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ประเด็นข่าวที่รับมอบหมายมาทำคือความเคลื่อนไหว บรรยากาศ สิ่งที่แกนนำพูด หรือสีสันม็อบก็อาจนำเสนอเป็นสกู๊ปข่าวที่น่าสนใจได้ ซึ่งจะตั้งประเด็นข่าวแล้วเสนอกับหัวหน้าโต๊ะข่าวเอง
ยอมรับว่าไม่รู้ว่าอะไรคือการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ เพราะไม่มีความรู้และไม่ได้เรียนมาด้านนนี้โดยตรง แต่มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องแนวคิดดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร หากองค์กรจัดอบรมก็ยินดีและอยากเข้าร่วม เพราะส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นและคิดเสมอว่าการรายงานข่าว หรือบทความหรือสกู๊ปข่าวหนึ่งชิ้นก็ต้องส่งสารให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งสูงๆ ในการทำข่าว สิ่งแรกที่ทำคือการเอาตัวเองออกจากเหตุการณ์ และเฝ้ารอดูสถานการณ์ แต่โดยรวมๆ แล้วการทำข่าวม็อบก็มีลักษณะการทำงานคล้ายๆ ข่าวอย่างอื่นๆ เพียงแต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยและเรื่องความเป็นกลางมากกว่า
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
คุณวารุธ เหลาโชติ (พี่โก่ง) อายุ 42 ปี ประสบการณ์ทำงาน 17 ปี ผู้สื่อข่าว
การทำงานท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน และองค์กร?
จะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตัดเอาความขัดแย้งออกไป โดยทำข่าวตามข้อเท็จจริงที่พบเจอ และนำเสนอด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ไทยรัฐส่วนใหญ่ใช้การรายงานข่าวทางโทรศัพท์ และการพิมพ์ข่าวส่ง
เนื้อหาข่าวไทยรัฐรุนแรงไหม ? รุนแรงกว่าเหตุการณ์จริง และมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับม๊อบประมาณ 90% ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ด้วย
ทำไมหน้าบันเทิงไทยรัฐจึงมีอิทธิพลมาก ? เพราะหัวหน้ากองบรรณาธิการมีความชื่นชอบเรื่องบันเทิง เป็นการส่วนตัว โดยบันเทิงไทยรัฐแตกต่างจากข่าวบันเทิงอื่นๆ เหมือนจะบอกว่านักข่าวบันเทิงไทยรัฐทำข่าวประชาสัมพันธ์ เพราะมีคนส่งข่าวมาให้เป็นจำนวนมาก การจะไปตามเจาะหาประเด็นด้านอื่นๆ อย่างดาราสะเดาะเคราะห์ ก็จะตกเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนักข่าวส่วนกลาง
การทำข่าวเชิงรุก ?ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอข่างเชิงรับ เพราะอุปสรรคของการนำเสนอข่าวเชิงรุก คือไม่มีแหล่งข่าวที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกได้ /ผู้สื่อข่าวไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้
สิ่งที่ควรปรับปรุงในการทำข่าวม๊อบ กรณีนักข่าวมองนักข่าว? เรื่องอคติ กรณีการแบ่งสี บางคนเคยทำสีเหลืองก็จะมีอารมณ์ร่วมไปกับมัน (involve) ทำแดงก็เช่นกัน ซึ่งมีผลต่อเนื้อหาข่าว ว่าประเด็นไหนเลือก หรือไม่เลือก ตัดทิ้งออกไป
ความยากในการทำข่าวม๊อบ ? เมื่อมีการปะทะ จะทำให้ผู้สื่อข่าวดูเหตุการณ์ลำบาก เพราะมีความวุ่นวาย กรณีการยืนของผู้สื่อข่าวและช่างภาพ จะอยู่หลังผู้ชุมนุมหรือทหาร จะไม่ส่งผลต่อเนื้อหาข่าว
การทำข่าวม๊อบ คือการดูความเคลื่อนไหว ความขัดแย้ง
ประเด็นการทำข่าวม๊อบ รู้มาก่อนล่วงหน้าจากแหล่งข่าว บางครั้งหากมีประเด็นจากการประชุมโต๊ะข่าว ในช่วงเช้า ก็จะมีการโทรศัพท์มาแจ้งให้ติดตามประเด็นเพิ่มเติม
ความปลอดภัยของนักข่าวม๊อบ ผู้สื่อข่าวภาคสนามได้รับชุดเกราะ หมวกกันน๊อค อุปกรณ์ป้องกันตัวต่างๆ จากไทยรัฐ แต่เลือกที่จะไม่ใช้ (เก็บไว้ที่รถ 555) หากเกิดการปะทะ ช่างภาพจะไปเลย นักข่าวจะยืนดูเชิง หากมีโอกาสก็จะออกไปลุยกับช่างภาพ
เปรียบเทียบการทำข่าวของนักข่าวและช่างภาพต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวแสดงความเห็นว่ามีคล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันในเรื่องเทคนิคและอุปกรณ์
สรุปการรายงานข่าวม๊อบ วันแรกหลังจากเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวจะรายงานสถานการณ์เบื้องต้นก่อน มีคนเจ็บ คนตายไหม และเป็นชาวต่างชาติเท่าไหร่ วันรุ่งขึ้นเมื่อมีการคลี่คลายสถานการณ์ ผู้สื่อข่าวจะรายงานรายละเอียดอีกครั้ง และคอยติดตามผลกระทบจากผู้คนรอบข้าง เช่น พ่อค้าแม่ค้า เศรษฐกิจ การมีทหารยืน ความเห็นของคนที่ชอบและไม่ชอบ หากม๊อบจบลง อาจตามดูเรื่องการค้าขาย นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเที่ยว โดยมองว่าประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญในการรายงานข่าวม๊อบ
การตั้งข้อสังเกต (ไหวพริบของผู้สื่อข่าวภาคสนาม) กรณีมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น อย่างกรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่มีสัณญานจากการที่ผู้ชุมนุมเดินทางไปกองทัพ โดยผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์รายงานเข้าไปที่หัวหน้าข่าวหรือรีไรท์เตอร์เพื่อรายงานสิ่งที่พบหรือเกิดขึ้น
ม๊อบปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อน เนื่องจากผู้ชุมนุมมีการรับทราบข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามทุกเหตุการณ์ มีสายกระจายตัวอยู่
หลักการรายงานข่าวม๊อบ กรณีฉุกละหุก ผู้สื่อข่าวจะโทรศัพท์ เหมือนเล่าข่าว เล่าเหตุการณ์ โดยวิธีการนี้อาจเกิดความเพี้ยนได้ จึงจะใช้เมื่อเหตุจำเป็น โดยเห็นว่าการพิมพ์ข่าวส่งมีความเหมาะสมและดีกว่า
บางประเด็นที่หยิบมานำเสนอในข่าวม๊อบ มีการนำเสนอเรื่องการทำนายจากหมอดู ทำนายอนาคตจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง ดูดวงผู้นำและอดีตผู้นำ หรือการหาคู่ คู่รักในม๊อบ เป็นต้น เพราะคิดว่าเป็นจุดขาย เนื่องจากไทยรัฐเป็นแนวชาวบ้าน เพราะพวกชุมนุมก็เล่นของเหมือนกัน มีการดูฮวงจุ้ย ทิศทางลม การตั้งเวที เป็นต้น
เป้าหมายในการรายงานข่าวม๊อบ รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ประชาชนรับรู้ ไม่อยากให้ได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จ เพราะปัจจุบันมีการรับข้อมูลด้านเดียว คนในม๊อบเชื่อในสิ่งที่ม๊อบรายงาน ประชาชนข้างนอกก็จะเชื่อรัฐบาล ถือเป็นการรายงานโดยที่ใจอนุญาต แม้จะมีความชอบส่วนตัว ก็ต้องรายงานตามหน้าที่ แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวม แต่เรื่องสถาบัน แม้จะเป็นเรื่องจริงก็ตาม ผู้สื่อข่าวจะเล่าและรายงานเข้าไป แต่ไม่สามารถรายงานเป็นข่าวได้ เพราะว่ามีกรอบบังคับว่าหนังสือพิมพ์เขียนเรื่องดังกล่าวไม่ได้ และยังกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังอีกด้วย
การใช้ภาษาในการพิมพ์ข่าวกับการโทรศัพท์เล่าข่าว ภาษาพูดกับเขียน เช่นโทรศัพท์รายงานว่ายิงกันปั้งๆๆๆๆ เลย ภาษาเขียนว่า ขณะนี้มีการปะทะกันเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย…. ทำให้บริเวณร้านค้าได้ผลกระทบ…เขียนตามจริง โดยใช้ภาษาแบบมีอารมณ์ร่วม เช่น แดงสุดเถื่อน แสดงพฤติกรรมถ่อย ใช้ในกรณีที่ผู้ชุมนุมแดงไปใช้รองเท้าตบคนนั่งรถเมล์ ซึ่งมีภาพถ่ายด้วย กรณีไทยรัฐนำเสนอข่าวดังกล่าว แต่ไม่มีการนำเสนอภาพข่าวแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ แต่ รีไรท์เตอร์ ไม่ชอบใจ แบบว่าเหวง อิอิ
ในกระบวนการทำข่าวบางครั้งพบว่ารีไรท์เตอร์มีการแสดงความไม่พอใจ ไม่สบอารมณ์เกี่ยวกับเนื้อหาข่าว ที่ผู้สื่อข่าวรายยงานเข้ามา (บางครั้งถึงขั้นโทรศัพท์มาสอบถามกึ่งต่อว่า ) เช่น โวยวายว่ามีแต่สีแดงทำผิด อย่างเหตุการณ์ปิดถนนวิภาวดี มีกินหล้า เต้น ส่งเสียงดัง ส่งผลกระทบให้การจราจรบนถนนวิภาวดีติดขัดอย่างหนาแน่น
คุณเอกสิทธิ์ วิริยะศักดิ์ ประสบการณ์ 6 ปี อายุไม่ถึง 30 ปี ผู้สื่อข่าว
ผู้สื่อข่าวกล่าวว่าไม่มีเวลาทำรายงานผลกระทบความเสียหายจากกรณีการขัดแย้งนี้ อาจมีทำบ้างในรูปแบบสกู๊ป แต่ก็เคยทำสัมภาษณ์ ถามความเห็นของนักวิชาการ เช่น อาจารย์ปริญญา เกี่ยวกับการหาทางออก เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ก่อนที่ม๊อบจะเข้ามา หรือตามข่าวที่กรมสุขภาพจิตจากเหตุการณ์ปะทะที่สีลม ว่าจะมีการฟื้นฟูอย่างไร สำหรับคนที่ได้รับบาดเจ็บ และผลกระทบ รวมถึง ตามกทม. เรื่องคนตกงาน
การจัดการอารมณ์ตัวเองในการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวจะมองคนที่เสพข่าวว่าเขาถูกล้างสมอง เราฉลาดกว่า ไม่ควรเถียงเขา อาจมีหลอกด่าบ้างบางครั้ง พยายามอดกลั้นไว้ ทั้งที่ในใจอยากด่า
การรายงานข่าวม๊อบ รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเน้นย้ำว่าไม่ได้เป็นประชาสัมพันธ์ให้สีแดง
มีการใช้ภาษาแบบบรรยาย เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ แต่ไม่ได้รายงานเกินความเป็นจริง และไม่ฟันธง ชี้ชัดหรือระบุว่าใครเป็นคนผิดหรือถูก เป็นผู้ร้าย โดยให้คนอ่านตัดสินใจเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ประเด็นที่ 3 การสังเกตและการทำข่าวม็อบในสนามข่าวและการประชุใโต๊ะข่าว/กองบรรณาธิการ
จากการลงพื้นที่สังเกตการทำข่าวม็อบของผู้สื่อข่าวมติชนเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ (เฉพาะพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์) พบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
- หนังสือพิมพ์มติชน
ข้อสังเกตจากพื้นที่สนามข่าว
1. ประเด็นข่าว - การทำข่าวของผู้สื่อข่าวทุกคนจากมติชน จะได้รับการมอบหมายประเด็นข่าวหลักจากที่ประชุมกองบรรณาธิการ และจะสื่อสารโดยตรงกับหัวหน้าโต๊ะข่าวของตน หรือหัวหน้าโต๊ะข่าวหน้าหนึ่ง ประเด็นข่าวเชิงลึกเป็นสิ่งที่นักข่าวมติชนไม่ค่อยได้คำนึงถึง สาเหตุเนื่องจาก
1) ไม่ได้รับการมอบหมายประเด็นเป็นพิเศษจากกองบรรณาธิการ อีกทั้งประเด็นข่าวหลักๆ ที่ถูกมอบหมายให้ติดตามคือ
(1) ความเคลื่อนไหวของการชุมนุม เช่น การเคลื่อนขบวน การออกไปเรียกร้องยังสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ การต่อรองระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ การวางกองกำลังความปลอดภัย ฯลฯ
(2) แถลงข่าว/แถลงการ/คำปราศรัยที่สำคัญๆ ของแกนนำ การโต้ตอบ โต้เถียงกันระหว่างแหล่งข่าว
(3) เหตุการณ์ความไม่สงบเล็กๆ น้อยๆ หรือความตึงเครียดในพื้นที่การชุมนุม ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ซึ่งประเด็นข่าวดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนเนื้อหาข่าวหลักๆ ที่ต้องติดตามในแต่ละวัน ซึ่งนักข่าวยอมรับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่ได้
2) ไม่ได้ตระหนัก/หรือคิดว่าจำเป็นต้องทำ เพราะจำนวนชิ้นข่าวที่ต้องส่งกองบรรณาธิการในแต่ละวันนั้นมีมากอยู่แล้ว ราว 4-5 ชิ้น และ คิดประเด็นข่าวเชิงลึกไม่ได้ เพราะประสบการณ์ข่าวยังน้อย ประกอบกับไม่มีความรู้ด้านการสื่อข่าวเชิงลึก/การสื่อข่าวเชิงสันติภาพ
3) อันเนื่องมาจากการสับเวียนหมุนเปลี่ยนนักข่าวจากโต๊ะต่างๆ ในกองบรรณาธิการ เช่น โต๊ะข่าวการศึกษา โต๊ะข่าวสังคม โต๊ะข่าวการเมือง โต๊ะข่าวเฉพาะกิจ ฯลฯ เข้ามาทำข่าวม็อบ ทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการสืบข่าว, ไม่มีเวลาเพียงพอในการเก็บข้อมูล
2. การสื่อข่าว - การทำข่าวม็อบ นักข่าวจะเดินตระเวณ สำรวจบริเวณพื้นที่และฝังตัวอยู่ที่ศูนย์ข่าว (press center) ที่บริเวณพื้นที่หลังเวทีปราศรัย ซึ่งจะมีสถานที่และอุปกรณ์การสื่อสารเตรียมเอาไว้สำหรับการนั่งเขียนข่าว ส่งข่าว นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่รับประทานอาหาร พูดคุย พบปะ นัดหมายกันของนักข่าว ช่างภาพ และแหล่งข่าว
แหล่งข่าวสำคัญในข่าวม็อบ คือข่าวบุคคล โดยมีความคิดว่าแกนนำม็อบคือแหล่งข่าวที่มีความสำคัญสูงสุด ในกรณีที่นักข่าวประจำที่หน่วยงานรัฐ/รัฐบาล ก็จะเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล
3. ความรับรู้ต่อแนวคิดการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ - นักข่าวมติชนทุกคนแทบไม่รับรู้ รับทราบว่ามีแนวทางการสื่อข่าวเชิงสันติภาพอยู่ ไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไร โดยหลักแล้วทำข่าวตามวิธีการปกติเหมือนข่าวอื่นๆ ทั้งหลักการสืบข่าว การเขียนข่าว การใช้ภาษาข่าว ซึ่งก็เป็นหลักกาทั่วไป ซึ่งทางรีไรเตอร์กับกองบรรณาธิการจะเป็นผู้ดูแลส่วนนี้
4. ข้อปฏิบัติเมื่อเจอเหตุการณ์ปะทะ - นักข่าวมติชนทุกคนรับรู้ว่าควรเอาตัวออกจากพื้นที่ข่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะการคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำข่าว และทางองค์กรยังไม่มีนโยบายสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันภัยที่ชัดเจน เช่นหมวกกันกระแทก สามารถซื้อและเอาไปเบิกเงินคืนได้ แต่เสื้อเกราะ หน้ากาก แว่นตา ยังไม่มีข้อตกลงว่าเป็นเช่นไร และตอนนี้ก็มีค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษเพิ่มขึ้นมาในการทำข่าว ส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์สื่อสารอื่นๆ ที่มีความสามารถพิเศษ เช่นโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี่ ไอโฟน นั้นไม่ใช้ เพราะเพียงแต่ใช้โทรศัพท์โทรส่งข่าวหรืออีเมล์ก็เพียงพอแล้ว
5. การทำสกู๊ปพิเศษ รายงาน หรือสารคดีข่าว สีสันม็อบหรือประเด็นข่าวเบาๆ - เป็นความสนใจส่วนตัวหรือภาระพิเศษจากโต๊ะข่าวแต่ละกอง เนื้อหาส่วนนี้นักข่าวมักจะคิดประเด็นกันเอง ขณะที่การรายงานข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน หรือเชิงเจาะลึกนั้น ยอมรับว่าทำได้ยากเพราะข้อจำกัดของเวลา สถานการณ์
ข้อสังเกตจากที่ประชุมโต๊ะข่าวมติชน
1. เนื้อหาของการประชุมของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน มี 4 อย่างคือ
a. การสรุปประเด็นข่าวที่ผ่านมา ว่ามีอะไรที่ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของเมื่อวาน
b. การตั้งประเด็นข่าวหน้าหนึ่งที่จะนำเสนอในวันนี้ โดยมีหัวหน้าข่าวหน้า 1 เป็นผู้นำเสนอซึ่งอาจจะสรุปจากหัวหน้าโต๊ะข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ การวิเคราะห์สถานการณ์ คาดเดาทิศทางข่าวสารประจำวัน และการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ภูมิหลังความรู้ เบื้องหน้าเบื้องหลัง ประสบการณ์ข่าว ความคิด ตลอดจนแสดงทัศนคติส่วนตัวทางการเมือง
c. การพูดคุยถึงทิศทางข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์คู่แข่ง
d. การพูดคุยกำหนดหัวเรื่องของบทนำ (บทบรรณาธิการ) กำหนดทิศทาง เนื้อหา จุดยืนของหนังสือพิมพ์และมอบหมาย
สัดส่วนเนื้อหาของการพูดคุยส่วนมากจะเน้นประเด็นที่ 2 เป็นหลัก และเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยถกเถียงมากที่สุด
2. บรรยากาศของการประชุมโต๊ะข่าว มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่อนข้างมาก ทั้งจากบรรณาธิการข่าว บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการบริหาร ขณะที่หัวหน้าข่าวโต๊ะต่างๆ ก็มีส่วนร่วมในระดับลองลงมา นักข่าวอาวุโส และผู้สื่อข่าว การพูดคุยเป็นไปในลักษณะของการวิวาทะอย่างฉันท์มิตร
3. มีข้อสังเกตว่า ไม่มีการนำเอาหัวหน้าช่างภาพเข้ามาประชุมข่าว, ไม่มีการนำเอาหน้าข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ มาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์ กำหนดทิศทางข่าว
4. มีการตักเตือน ตำหนิ เรื่องกระบวนการทำข่าวอื่นๆ ที่อาจเป็นปัญหา ความไม่ได้มาตรฐานของข่าวฝากไปยังนักข่าวภาคสนามบ้าง
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข้อสังเกตจากพื้นที่สนามข่าวไทยรัฐ
1. การทำข่าวของนักข่าวส่วนกลางจากไทยรัฐ จะเป็นไปในลักษณะการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของสถานการณ์เข้าไป ทั้งนี้อาจมีการมอบหมายประเด็นข่าวพิเศษในแต่ละวันให้ติดตามเพิ่มเติมจากที่ประชุมโต๊ะข่าวกองบรรณาธิการ หรือในบางครั้งนักข่าวก็สามารถตั้งประเด็นและเสนอเข้าไป โดยจะสื่อสารกับหัวหน้าข่าวส่วนกลาง หรือรีไรเตอร์
2. การทำข่าวม็อบ จะมีนักข่าวจากโต๊ะส่วนกลาง จำนวน 10 คน เป็นนักข่าว 6 คน และช่างภาพ 4 คน จัดสลับหมุนเวียนกันไป โดยแบ่งเป็นนักข่าวชุดแกนนำจำนวน 4 คน ซึ่งจัดเวรกันเองดูแล 24 ชั่วโมง และเดินตระเวน สำรวจบริเวณพื้นที่ และฝังตัวอยู่ที่ศูนย์ข่าว (press center) ที่บริเวณพื้นที่หลังเวทีปราศรัย บริเวณแยกราชประสงค์ และมีนักข่าวรวมทั้งช่างภาพอีก 6 คน ประจำถนนสีลม โรงพยาบาลจุฬา และสวนลุม โดยแบ่งการเข้าเวรเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 2 คน ได้แก่ ช่วงเวลา 01.00-08.00 น. 08.00-17.00 น. และ17.00-01.00 น. โดยนั่งพัก พูดคุยกับเพื่อนนักข่าวด้วยกัน และพิมพ์ข่าวส่ง ที่ร้านแมคโดนัล ของห้างโรบินสัน สีลม ทั้งนี้หากมีประเด็นพิเศษที่ต้องไปติดตามก็จะใช้นักข่าวชุดนี้ เรียกกันว่านักข่าวชุดดักหน้า (คือเดินทางไปล่วงหน้า ไปรอที่จุดจะเกิดเหตุ) อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุปะทะที่รุนแรงจะมีการเรียกกำลังเสริมจากหน่วยลาดตระเวนซึ่งเป็นนักข่าวอาชญากรรม นักข่าวชุดนี้เรียกว่านักข่าวชุดเสริม ให้มาเสริมกำลังกับนักข่าวชุดนี้
3. นักข่าวไทยรัฐมีความเข้าใจแนวทางการสื่อข่าวเชิงสันติภาพอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของเวลา สถานการณ์ และกระบวนการคัดเลือกและกลั่นกรองเนื้อหาจากรีไรเตอร์ รวมถึงปัจจัยจากความต้องการของบริษัทหรือโรงพิมพ์
4. นักข่าวไทยรัฐทุกคนรู้จักการเอาตัวออกจากพื้นที่ข่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะส่วนใหญ่มีประสบการณ์ผ่านการชุมนุมมาหลายครั้ง จึงพอรู้สัญญาณที่กำลังจะก่อตัวความรุนแรงได้ โดยทางองค์กรมีนโยบายสนับสนุนและแจกอุปกรณ์ป้องกันภัยที่ชัดเจน เช่น หมวกกันกระแทก เสื้อเกราะ หน้ากาก แว่นตา แต่นักข่าวไม่ได้ใช้ โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ยังไม่มีอะไรรุนแรง และอุปกรณ์ดังกล่าวมีน้ำหนัก จะทำให้เป็นอุปสรรคะเกิดความไม่สะดวกในการเดินลาดตระเวน และสำรวจพื้นที่
5. การทำสกู๊ปพิเศษ รายงาน หรือสารคดีข่าวของไทยรัฐ มีกลุ่มบุคคลรับผิดชอบดูแลเฉพาะ จากสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ จะเป็นมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของชาวบ้าน หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อของคนในสังคมบางกลุ่ม เช่น การทำนายดวงชะตา หมอดู หรืออาจเป็นเรื่องที่ทำให้คลายความเครียด เช่น ความรักในผู้ชุมนุม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาส่วนนี้นักข่าวมักจะคิดประเด็นกันเอง ขณะที่การรายงานข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน หรือเชิงเจาะลึกนั้น ยอมรับว่าไม่ค่อยได้ทำ เพราะข้อจำกัดของเวลา และสถานการณ์
ข้อสังเกตจากที่ประชุมโต๊ะข่าวไทยรัฐ
1. เนื้อหาของการประชุมของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในช่วงเช้า เวลา 11.00 น. เน้นหนักไปที่การสรุปประเด็นข่าวที่สำคัญประจำวันของแต่ละโต๊ะข่าวให้ที่ประชุมฟัง ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่ได้รับมาใหม่ หากมีประเด็นใดที่น่าสนใจ หัวหน้าข่าวประจำวันหน้าหนึ่งก็จะสั่งให้ติดตามและหาข้อมูลเพิ่ม และบางครั้งอาจมีการแสดงความคิดเห็น และถกเถียงกันในบางประเด็น โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที
2. สำหรับการประชุมโต๊ะข่าวหน้าหนึ่ง เริ่มเวลา 17.00 น. ของทุกวัน โดยมีหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งเสนอประเด็นซึ่งอาจจะสรุปจากหัวหน้าโต๊ะข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ การวิเคราะห์สถานการณ์ คาดเดาทิศทางข่าวสารประจำวัน และการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ภูมิหลังความรู้ เบื้องหน้าเบื้องหลัง ประสบการณ์ข่าว ความคิด ตลอดจนแสดงทัศนคติส่วนตัวทางการเมือง
3. บรรยากาศของการประชุมโต๊ะข่าวค่อนข้างเป็นทางการ ไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่จะเกิดขึ้นบ้างในกรณีที่มี บรรณาธิการข่าวเป็นคนเปิดประเด็นซักถามก่อน ในขณะที่บรรณาธิการบริหาร หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์จะมีส่วนร่วมในระดับลองลงมา ส่วนหัวหน้าโต๊ะข่าว จะทำหน้าที่รายงานประเด็นที่น่าสนใจให้ที่ประชุมทราบเท่านั้น โดยนักข่าว ช่างภาพจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุม และไม่มีการนำเอาหน้าข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ มาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์ กำหนดทิศทางข่าว
4. มีการหาทางออกของปัญหาและอุปสรรคในการรายงานข่าวของนักข่าวและช่างภาพภาคสนาม เช่น การส่งภาพช่วงเกิดเหตุปะทะกันเกิดความล่าช้า เป็นต้น รวมถึงการสอบถามความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม เป็นต้น
ประเด็นที่ 4 การวิเคราะห์เนื้อหาข่าว
ในส่วนนี้จะเป็นผลการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวการชุมนุมที่นำเสนอใน 4 เหตุการณ์ชุมนุมหลักๆ ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นจาก
1) ข่าวเหตุการณ์ชุมนุมที่มีความสำคัญ ที่มีการปะทะบาดเจ็บเสียหาย
- 17 มีนาคม 2553 – เหตุการณ์วันสาดเลือดที่รัฐสภาและบ้านพักนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- 10 เมษายน 2553 – เหตุการณ์สลายการชุมนุม ณ พื้นที่ สี่แยกคอกวัว
- 22 เมษายน 2553 – เหตุการณ์กลุ่มเสื้อแดงปะทะม็อบสีลมที่แยกศาลาแดง
- 28 เมษายน 2553 – เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับทหารที่ถนนวิภาวดีรังสิตกรณีล้อมจับขวัญชัย ไพรพนา
2) เนื้อหาข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทั่วไป ที่น่าสนใจและมีลักษณะการสื่อข่าวเชิงสงคราม หรือสันติภาพ ระหว่างช่วงเวลาของเหตุการณ์ชุมนุม
แนวคิดเรื่องกระบวนการสื่อข่าวเชิงสันติภาพ (peace journalism) ค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับภาษาข่าว (news language) ทั้งภาพข่าว พาดหัว ความนำ พาดหัวรอง เนื้อหาข่าวหรือแม้แต่คำบรรยายใต้ภาพ ที่จะต้อง[1]
1. ไม่ใช้ภาษาที่แสดงให้เห็นการตกเป็นเหยื่อ เช่น ยากจน เศร้า ไม่มีทางต่อสู้ น่าสงสาร โศกนาฏกรรม ไม่มีคุณธรรม
2. ไม่ใช้ภาษาที่แสดงความเป็นผู้ร้าย เช่น ร้ายกาจ โหดเหี้ยม ป่าเถื่อน บ้าคลั่ง ผู้ก่อการร้าย หัวรุนแรง
3. และไม่ใช้ภาษาคำเร้าอารมณ์ (emotive words) เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ การลอบสังหาร
ผลการศึกษาพบว่า
ภาพข่าวหน้าหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2553 เหตุการณ์สำคัญ “สาดเลือดประท้วงที่ทำเนียบโดยกลุ่มคนเสื้อแดง” |
พาดหัวข่าวหลัก “เทเลือดทำเนียบ-ปชป.” ภาพข่าวหลัก/ประกอบ อริสมันต์ (แกนนำ) นำเลือดสาดหน้าประตูทำเนียบ (มุมต่ำ) มองเห็นแนวเลือดสาดสีแดงฉานเลอะพื้น สีหน้าโกรธขึ้ง ดุดัน ใช้ภาพข่าวขนาดใหญ่เกินปกติ และมีภาพชุดเรียงประกอบนักการเมืองแต่ละฝ่าย ที่เป็นคู่ความขัดแย้งวางประกบด้านข้าง
พาดหัวรอง “แฉวินาศกรรมอาคารสูง 2 จุด”
ข้อสังเกต คำว่า “เทเลือด” มีตัวอักษรขนาดใหญ่ |
เหตุการณ์สำคัญ “กลุ่มเสื้อแดงปะทะเจ้าหน้าที่ทหารที่สี่แยกคอกวัว” ภาพข่าวหน้าหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 เมษายน 2553 |
“ตาย 9ศพ – เจ็บร่วม 500 มิคสัญญี” ภาพข่าวหลัก/ประกอบ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปะทะกับทหารที่บริเวณสี่แยกคอกวัวจนเกิดจลาจล มีการใช้ภาพที่ไร้คุณภาพ และไม่สื่อความหมายกับพาดหัวข่าวที่ว่า “มิคสัญญี” และมีภาพชุดเรียงประกอบภาพคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะ โดยปราศจากการเซ็นเซอร์ และยังใช้คำบรรยายใต้ภาพอย่างยั่วยุ ปลุกเร้า ซึ่งเป็นคำที่แสดงอารมณ์มากเกินความเป็นจริง ได้แก่ แดงเซ่น สังเวย และขาฉีก นอกจากนี้ ยังใช้ภาพเจ้าหน้าที่ทหารที่ช่วยกันหามเพื่อนทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ โดยใช้คำบรรยายใต้ภาพผิดความหมาย เพราะคำว่า “ร่าง” จะใช้กับบุคคลที่เสียชีวิตเท่านั้นจะไม่ใช่กับบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ
พาดหัวรอง “เอกชนต้านรัฐปราบม๊อบ” |
เหตุการณ์สำคัญ “กลุ่มเสื้อแดงปะทะเจ้าหน้าที่ทหารที่สี่แยกคอกวัว” |