“กวี จงกิจถาวร” วิเคราะห์คุณภาพสื่อไทยเข้าสู่ยุคท้าทาย องค์ความรู้นักข่าวสำคัญสุด

กวี จงกิจถาวร” วิเคราะห์คุณภาพสื่อไทยเข้าสู่ยุคท้าทาย  องค์ความรู้นักข่าวสำคัญสุด

(ฟังเสียงการปาฐกถา)

นักข่าวคือร่างแรกของประวัติศาสตร์ แนะฝึกนักข่าวใหม่ อย่าเน้นรายงายข่าวรุนแรงสร้างความขัดแย้ง ชี้วิทยุชุมชนจะถูกยิงตายมากขึ้น

 

วันที่ 18 มิถุนายน 2554 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ระดับชาติประจำปี 2554 “อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี” ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2554 ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนและสะท้อนมุมมองเชิงวิชาชีพและเชิงวิชาการต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ทั้งในแง่วิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี พร้อมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2554 โดยมีนายกวี จงกิจถาวร ประธานเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายพิเศษหัวข้อ “สื่อไทยในกระแสโลกาภิวัตน์”

นายกวี กล่าวว่า ในเวทีระดับภูมิภาคและนานาชาติเวลาพูดถึงสื่อไทย เหมือนสื่อไทยถูกรังแกและสื่อไทยยังไม่มีฝีมือ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าสื่อไทยไม่ใช่สื่อสารมวลชน หรือเห็นว่าสื่อไทยไม่มีเสรีภาพ จากดรรชนีสื่อสากลประจำปี ค.ศ.2000 ของฟรีดอมเฮาส์ จัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยอยู่ที่ 29 จาก 30 อันดับสูงสุดสำหรับเสรีภาพสื่ออาเซียน แต่ปัจจุบันอันดับเสรีสื่อไทยตกไปอยู่อันดับที่ 120 กว่าๆ

ลำดับที่ลดลงมาเช่นนี้ หากเปรียบสื่อเป็นเด็กหนุ่มที่ตกจากที่สูง ก็คงยังไม่ตายแค่แขนขาหักเท่านั้น ขณะเดียวกันหากเปรียบสื่อไทยเหมือนกระดาษเปล่า จะพบว่า สื่อมีเสรีภาพ แต่จะมีจุดด่างอยู่บ้างตรงที่กรณีหมิ่นพระบรมเดชนุภาพและการปิดเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาไท

 

นายกวี กล่าวต่อว่า ภาพของสื่อไทย ไม่ได้หมายถึงเว็บไซต์แต่อย่างเดียว หากต้องมองแบบบูรณาการ ทั้งเคเบิลทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ต ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค อีกทั้งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา สื่อต้องทำงานในภาวะวิกฤตทางการเมืองที่ไม่นิ่ง จึงอาจไม่ได้ใช้จรรยาบรรณที่สะสมมาจากห้องเรียนมากนัก ส่งผลให้ข่าวที่ส่งออกไม่รอบด้านและมีคุณภาพที่ดีพอ ซึ่งยุคทองของสื่อไทยคือช่วงปี ค.ศ.1995-1997 เป็นช่วงร่าง รัฐธรรมนูญ 2540  สื่อมีความดีเด่นในการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การหาประชามติ แต่ในปัจจุบันสื่อมีแต่สร้างความขัดแย้ง ซึ่งแน่นอนว่า แตกต่างจากบทบาทการสร้างความมีส่วนรวมในยุคก่อน

 

“ช่วงเวลาดังกล่าวสื่อทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมด้านข่าวสาร แต่ด้วยสภาพปัจจุบัน สื่อแข่งขันกันมาก เพราะมีลักษณะการส่งข้อมูลเป็นเครือข่าย หลายมัลติแชลนอล ทำให้นักข่าวต้องส่งข่าวอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า นักข่าวในยุคนี้จะรายงานจากสถานที่จริงอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากในสมัยนี้มีการสร้างข่าว จัดการข่าวมากขึ้น ดังนั้น หากนักข่าวไม่ได้รับการฝึกฝน หรือไม่เข้าใจภาพที่แท้จริง การรายงานข่าวจะเป็นเพียงการรายงานคำพูดมากกว่าสิ่งที่คนได้กระทำ ทั้งนี้ อาจเพราะคำพูดที่รุนแรงขายได้ ทำให้ข่าวมัน มีสีสัน”

นายกวี แนะต่อว่า สื่อไทยจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตต่อไป ขณะที่นักข่าว องค์กรข่าวที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นตัวนักข่าวเอง ที่จะต้องมีองค์ความรู้ ความรอบรู้ว่า มีความกระจ่างในข้อเท็จจริงแค่ไหน ตัวอย่างในช่วงเกิดเหตุการณ์สึนามิทางภาคใต้ของไทย มีนักข่าวคนหนึ่งรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตร้อยกว่าคน ทำให้อเมริกาประกาศให้ความช่วยเหลือทันที 19 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่ากระจอกมาก สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนว่า นักข่าวจะต้องเก่งตามทัน ต้องมีการฝึกฝนใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจสภาพแวดล้อมและข้อมูลมากขึ้น เพราะความรู้ของนักข่าวสำคัญกว่าสิ่งใด

“ขณะนี้การสอนในมหาวิทยาลัย เน้นเรื่องจรรยาบรรณมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันต้องมีความรู้เรื่องสังคม วัฒนธรรม ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เพราะข่าวมีความเกี่ยวโยงกับสังคม เช่น ข่าวในพม่ามีผลกระทบกับไทย ฝนไม่ตกที่บราซิลก็กระทบกับเมืองไทยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้นักข่าวต้องรู้ลึก เพราะนักข่าวเป็นร่างแรกของประวัติศาสตร์ ข่าวจึงต้องมีคุณภาพสูง ดังนั้น หากไม่แน่ใจอย่าส่งข่าว เพราะส่งไปแล้วเรียกกลับคืนไม่ได้ ขณะเดียวกันหากใครนำข่าวไปใช้และพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง นักข่าวจะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องไม่ได้ ขณะนี้ยูเนสโก้ มีการเสนอให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิชาระหว่างต่างประเทศเพิ่มขึ้น”

 

สำหรับสังคมข่าวปัจจุบันนั้น นายกวีชี้ว่ามีการเสนอแบบเล่าข่าวมากขึ้น ทำให้คนเขียนถูกลดทอนความสำคัญ ดังนั้น ต้องส่งเสริมนักข่าวให้เขียนข่าวอย่างรัดกุม รู้จักวิเคราะห์แบบเจาะลึก ไม่ใช่เขียนแบบสำนวนดี อ่านมันส์ แต่ข้อมูลเอาไว้ที่หลัง ขณะเดียวกันนักข่าวจะต้องภูมิใจในงานเขียน เพราะเปรียบเสมือนเป็นพยานในเหตุการณ์ต่างๆ สังคมข่าวที่มีการแข่งขันกันมาก จะยิ่งทำให้มีการ “กุข่าว” เกิดขึ้น อย่างเช่นในญี่ปุ่นพบว่า ขณะนี้มีการกุข่าวใส่ไข่กันมาก ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะมีสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นกัน กระทั่งอาจทำให้คนทำวิทยุชุมชนถูกยิงตายมากขึ้น เนื่องจากวิทยุชุมชนเป็นสื่อเสรีใช้คำพูดรุนแรงมาก ฉะนั้น อยากเน้นที่ตัวนักข่าวว่าจะต้องมีความสามารถ มีไหวพริบ เพราะไม่เช่นนั้นเมืองไทยตาย

 

รายงานสรุปโดยทีมงานสำนักข่าวอิศรา ฯ 18 มิ.ย. 2554

 

 

-------------------

 

 

บทความ “สื่อไทยในกระแสโลกาภิวัตน์

เขียนโดย “กวี จงกิจถาวร”

(*บทย่อบรรยายพิเศษ วันเสาร์ที่ ๑๘  มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ วิทยาลัยนวัตกรรม   ม.ธรรมศาสตร์  ศูนย์พัทยา  ชลบุรี)

 

 

ในเวทีระดับภูมิภาคและนานาชาติ เวลาพูดถึงสื่อไทย คนฟังจะส่ายหัว มีความรู้สึกดิบๆอยู่สองอย่าง คือสื่อไทยถูกรังแกเสมอ  และสื่อไทยยังมีระดับความเป็นวิชาชีพไม่สูงนัก

ชุมชนสื่อไทยรวมทั้งนักวิชาการทางด้านนี้ น่าจะรู้ดีว่า ความรู้สึกดิบๆนี้สะท้อนให้เห็นสภานภาพสื่อไทยแท้ๆได้หรือเปล่า? มีมาตรฐานอะไรมาวัด? พูดในฐานะนักข่าวมาเกือบสามสิบปี ขอตอบเลยว่าไม่ได้เด็ดขาด  ลึกๆประเทศไทยเป็นสนามจำลองภูมิทัศน์สื่อและเสรีภาพสื่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งในฐานะเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน หรือสุนัขรับใช้ หรือตัวการสร้างกระแสวาระข่าว ทั่วโลกให้ความสนใจสื่อใจแบบเฉพาะเจาะจงมาก ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าสื่อไทยมีลักษณะแท้จริงอย่างไร? เหมือนกับทานต้มยำ รสชาติแซบอีหลีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคนปรุงทั้งในครัวและที่โต๊ะนั่งทาน จึงไม่แปลกนัก ดรรชนีเกี่ยวกับเสรีสื่อทำกันในทั้งในและต่างประเทศยังฉายภาพยังไม่ชัดเจนครบถ้วนแบบบูรณการ

สื่อไทยมีหลายมิติ มีความเป็นพหุนิยมและเสรีภาพมากที่สุด เกินขอบเขตความคิดเห็นแบบรวบยอดอย่างที่เห็นๆและชอบนำมาวิจารณ์กัน ในสมัยก่อนเวลาพูดถึงเสรีสื่อไทยในบริบทอาเซียน เราอยู่ในอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ ดรรชนีสื่อสากลประจำปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ของฟรีดอมเฮาส์จัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยอยู่ที่ ๒๙ สูงสุดสำหรับเสรีสื่ออาเซียน ในปัจจุบันอันดับเสรีสื่อไทยตกไปอยู่อันดับร้อยยี่สิบกว่า ตามสายตาฝรั่งยังถือว่าพอมีเสรีภาพบ้าง

สมัยก่อนเวลาพูดถึงสื่อ มันหมายถึงสื่อแบบดั้งเดิมคือ สิ่งตีพิมพ์เป็นหลัก เวลาสื่อถูกข่มขู่ ถูกปิด มันคือหนังสือพิมพ์แบบที่อ่านกันทุกวันไม่มีอย่างอื่น ปัจจุบันสื่อสมัยใหม่มีความหมายแบบบูรณการ รวมสื่อทุกชนิดที่สามารถส่งเสริมการส่งผ่านข้อมูลและความคิดเห็น การโต้ตอบ เพิ่มสาระสองทางระหว่างผู้ส่งและผู้รับในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ (รวมทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม) อินเตอร์เน็ต ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค มือถือ พูดได้ว่าสื่อใหม่ที่ใช้เพรดฟอร์มข่าวรูปแบบต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสื่อกระแสหลักในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้ามีคุณภาพและความน่าเชื่อถือมากกว่าในปัจจุบัน

ในช่วงห้า-หกปีนี้ เวลาพูดถึงหรือวิเคราะห์เสรีสื่อไทย ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับสื่อใหม่โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เคเบิลทีวีและวิทยุชุมชน ทั้งเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชน ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มสื่อดั้งเดิม แต่การนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะการปลุกเร้าอารมณ์ในวงกว้างถือว่าเป็นปรากฏใหม่ ส่วนเรื่องการโน้มน้าวจิตใจยิ่งมีมากขึ้นและเพิ่มความเข้มข้น สภาพสังคมไทยในช่วงดังกล่าวจนถึงปัจจุบันยังถือว่าเป็นภาวะวิกฤต มีการแบ่งขั้วต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชนได้ คนทำสื่อต้องมีการกรองข้อมูลที่รัดกุม รวดเร็ว ทั้งในสื่อดั้งเดิมและโซเชียลมีเดีย

มีคำถามมากพอสมควรในสังคมไทยว่า สื่อไทยถูกรังแกอย่างที่ตั้งข้อสังเกตข้างต้นหรือเปล่า? สื่อไทยทุกรูปแบบมีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องก่อกระแสและสร้างวาระข่าว ประเด็นเล่าสู่กันฟังทางจอแก้วหรือคลื่นวิทยุ มุ่งที่ความคิดเห็น เกี่ยวกับตัวบุคคลกับผลงาน ที่เล่นทีจริง ไม่ได้พิสูจน์ด้วยการกระทำ อีกคำถามหนึ่งคือ ในช่วงที่ผ่าน สื่อไทยมีส่วนเพิ่มหรือลดความเสียดทานในสังคมไทยได้มากน้อยแค่ไหน?

 

บทบาทสื่อไทยในภาวะวิกฤต

สื่อไทยมีความเป็นเฉพาะกิจสูง เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงรวดเร็วและยังมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องสภาพการเมืองไม่นิ่งมาตลอด บางครั้งนักข่าวต้องมีการติดตามสถานการณ์แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง ห้ามกระพริบตา กลายเป็น “สมรภูมิข่าว” นักข่าวในพื้นที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้ พฤติกรรมรวมทั้งวิจารณญาณในยามปกติของนักข่าวและกลไกข่าวเกี่ยวข้องจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้เต็มที่ ไหวพริบและความสามารถเฉพาะตัวของนักข่าวจึงมีค่ามากกว่า มีความสำคัญยิ่งยวด เพราะถ้าพลาดท่า นั่นอาจหมายถึงชีวิต

ภายในอ๊อฟฟิศของแต่ละโรงพิมพ์ บรรณาธิการข่าวและหัวหน้าข่าวมีความลำบากใจพอๆกัน บางครั้งข้อมูลจากภาคสนามขัดกับทางอ๊อฟฟิศได้รับรู้มา มักทำให้เกิดความสับสนในการประเมินและวิเคราะห์ข่าว มีผลกระทบกระเทือนทันตาเห็นต่อการสั่งงานและเล่นข่าวประจำชั่วโมง ทางสื่อใหม่ หรือการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น

ในการเสนอข่าวยุคนี้ สื่อไทยทุกรูปแบบมีการแข่งขันสูง ความรวดเร็วเป็นปัจจัยหลัก ทำให้คุณภาพและข้อมูลข่าวตกหล่นหย่อนไป จรรยาบรรณสื่อที่ได้เรียนรู้และอบรมมาเป็นพื้นฐานและมาตรฐานปฏิบัติกันเป็นประจำก็พลอยหดหายไปด้วย  นักข่าวส่งข่าวล่าสุดให้หัวหน้าข่าว เชื่อว่าทางกองบรรณาธิการต้องรู้ดี หรือไม่ก็เช็คข่าวเพิ่มเติมได้ข้างใน เห็นภาพในมุมกว้าง พูดง่ายๆให้ทางผู้ใหญ่ในอ๊อฟฟิศตัดสินใจกันเอง

ข้อมูลดิบในภาคสนามนักข่าวได้สัมผัสโดยตรงหรือได้จากแหล่งข่าวนั้นมีความหลากหลายและสำคัญมาก หลังจากนักข่าวรายงานเหตุการณ์หรือข้อมูลเบื้องต้นไปยังโรงพิพม์หรือเฟรดฟอร์มข่าวที่ตนใช้ มันจะกลายเป็นข่าวในวงกว้างทันที เวลาปกติโอกาสเช็คข่าวมากกว่าสองแหล่งข่าวยอมทำได้ การรายงานข่าวให้มีความละเอียดและข้อมูลถูกต้อง ย่อมทำได้ดีกว่า แต่ในสภาพการณ์วิกฤตหลายครั้งหลายครา นักข่าวต้องทำข่าวและส่งข่าวด้วยข้อจำกัดนานาประการ แถมยังต้องแข่งกับเวลาและสื่ออื่นๆ ยิ่งตอนนี้ มีกลุ่มนักข่าวประชาชนหรือนักข่าวเฉพาะกิจทั้งหลายที่บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์ สามารถใช้เครื่องมือสารสนเทศรายงานสิ่งที่พบเห็นได้ทันที มีบ่อยครั้งที่ได้กลายเป็นลักษณะของพยานชี้เห็น ถ้ามีการรายงานแบบเดรยวกัน มีข้อมูลลักษณะเดียวกันซ้ำๆกันย่อมมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

คุณภาพและเสรีสื่อไทยเป็นลูกแฝด ต้องดูแลให้ดีและมีความต่อเนื่อง ในอนาคตเสรีสื่อไทยต้องกลับมาติดอันดับดรรชนีเสรีภาพสื่อสากลในระดับต้นๆ (ท๊อปสามสิบ) อีกครั้ง ถ้านักข่าวสื่อไทยทั้งหลายทั้งปวง มีขีดความสามารถกลั่นกรองข้อมูลดิบในพื้นที่ในยามปกติหรือวิกฤตรอบคอบและรวดเร็ว มันทำให้ข้อเท็จจริงมีความกระจ่างขึ้นทันที ถ้าไม่แน่ใจต้องเช็คข้อมูลให้ดี พอส่งข่าวเข้าโรงพิมพ์แล้วแก้ไขยากมาก มีผลกระทบกระเทือนทันที

นักข่าวทั้งพันธ์แท้หรือพันธ์ทาง สื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ นักข่าวประชาชนหรือเฉพาะกิจ รวมทั้งผู้เสพต้องมีองค์ความรู้และความเข้าใจ “สภาพแวดล้อมของข้อมูล” ที่ได้มาและเหตุการณ์ตัวเองส่งผ่านให้คนอื่นๆ รายงานเหล่านี้ไม่ว่าจะสั้นแค่ ๑๔๐ ตัวอักษร หรือยาวแบบสืบสวนหลายสิบหน้า ทั้งหมดถือว่าเป็นร่างแรกของประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น อย่าลืมเป็นอันขาดว่า อะไรก็ตามที่หลุดจากปลายนิ้วหรือปากของตัวเรา เวลาได้ถูกถ่ายทอดหรือตีพิมพ์ออกสู่สาธารณชนแล้ว เป็นความรับผิดชอบของตัวเราโดยบริบูรณ์