จากโต๊ะเวทีสนทนา “อนาคตสื่อไทย : รัฐ ทุน และ เทคโนโลยี”
‘เทพชัย’ ชี้สมช.สอบผ่านพ้นอำนาจรัฐ ระบุทุน-เทคโนโลยีเป็นความท้าทายใหม่ หวั่นหลังเลือกตั้งสื่อกลับสู่ยุคตกต่ำ กก.ผจก.มติชนระบุนิวมีเดียเป็นดาบสองคม เตือนสื่อเป็นเครื่องมือ นักวิชาการแนะสร้างจิตวิญาณสำคัญที่สุด
วันที่ 18 มิ.ย. 54 ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดวงสนทนา“อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี” ในงานประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติประจำปี 2554
“เทพชัย หย่อง” ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตสื่อมวลชนสอบผ่านความท้าทายภายใต้อำนาจรัฐอย่างสวยหรู หรืออาจเรียกว่าได้คะแนนเอบวกด้วยซ้ำ เพราะบทบาทและจุดยืนในการต่อสู้มีความชัดเจนมั่นคงมาก และไม่ได้สู้เพื่อเสรีภาพในการเสนอข่าวเท่านั้น แต่ยังสู้เพื่อเสรีภาพของคนในสังคมด้วย ข้อกังวลจริงๆ ที่ทำให้สั่นคลอนความมั่นใจคือ ความท้าทายจากทุนในรูปของเงินที่ทำให้เกิดคำถามว่าวันนี้สื่อไทยยังมีจุดยืนตามที่สังคมคาดหวังแค่ไหน
“บทพิสูจน์เรื่องนี้เห็นได้จากเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารปี 2549 ที่นักการเมืองเข้าไปมีบทบาทต่อสื่ออย่างแฝงเล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ช่วงนั้นอำนาจทางการเมืองล้นหลาม ประชาชนชื่นชมในผู้นำการเมืองอย่างสุดโต่ง องค์กรสื่อส่วนใหญ่ยังเดือดร้อนตกค้างจากวิกฤติเศรษฐกิจ กลายเป็นเครื่องมือทุนโดยไม่รู้ตัว ทำหน้าที่ตรวจสอบสอดส่องความจริงไม่ได้อย่างที่สังคมคาดหวัง ซึ่งสื่อเองก็คงได้บทเรียนหลายอย่างจากเหตุการณ์นี้”
การมีทุนเข้ามาไม่ได้หมายความว่า จะต้องประนีประนอมจุดยืนของตน โดยเฉพาะความท้าทายใหม่ในสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่าสื่อต่างๆ คงเริ่มเริ่มได้กลิ่นแปลกๆ ถึงความไม่แน่ใจ หากเป็นเช่นนั้นจริงสื่อจะเข้าสู่จุดตกต่ำมากกว่าเดิม เพราะครั้งก่อนผู้มีอำนาจยังคุมสื่อไม่ได้ 100% แต่เชื่อว่าคราวนี้ใครก็ตามที่มีอำนาจสูงสุดแบบนั้นจะไม่เปิดโอกาสอีก
“แต่ยังมีแสงสว่างจากบทบาทของสื่อใหม่ เทคโนโลยีทำให้เกิดการแทรกแซงยากขึ้น เป็นพลวัตรของสื่อโดยรวม แต่ทั้งนี้ต้องระมัดระวังเพราะสื่อใหม่จำนวนไม่น้อยมีหลักคิดดี แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ถ้าปล่อยไปโดยที่คนใช้ยังไม่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊คจะเป็นแค่หนึ่งข้อความธรรมดา เหมือนกับคนที่แค่ร้องเพลงได้แต่ไม่ดี”
ความท้าทายของสื่อมวลชนจริงๆ จึงเป็นเรื่องสื่อมวลชนต้องมีบทบาทในการทำให้สังคมกลับมาในภาวะปกติ ทุกวันนี้สื่อยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ผู้เฝ้าดูอย่างเดียว ต้องย้อนมาดูตัวว่ามาได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้ประชาชนได้เพียงพอหรือยังผ่านเนื้อหาสาระที่ออกมาสู่คนรับสาร ต่อไปข้างหน้าประเทศไทยมองเรื่องการปรองดองเป็นสำคัญ ขณะที่สื่อมวลชนยังไม่ได้ตั้งคำถามต่อตัวเองเลยว่าอนาคตจะเดินอย่างไร แน่นอนอาจไม่ได้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายแต่อย่างน้อยๆ ต้องทำให้เกิดการอภิปราย แสดงความคิดเห็น ดึงคนกลุ่มต่างๆ ของสังคมเข้ามา อย่างไรก็ตามวันนี้ยังไม่สาย หากสื่อจะรับมือกับภาวะการเมือง ซึ่งจะเป็นสึนามิลูกที่สอง
“จะทำอย่างไรเมื่อทักษิณกลับมาเมืองไทย ขณะที่สื่อกระแสหลักซึ่งเคยเป็นปากเป็นเสียงทำให้สังคมเชื่อถือ แล้ววันหนึ่งถูกสื่อเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาแทน คงเป็นเรื่องต้องตั้งคำถาม ต้องทำให้เข้าใจและเชื่อว่าคุณเป็นกลาง ถ้าประกาศชัดว่าเลือกข้างก็ต้องเอาความจริงที่รอบด้าน ซื่อตรงที่สุดไม่บิดเบือนที่สุดมาเสนอ ที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนดู คนฟัง คนอ่านพิจารณาเอง”
“ฐากูร บุนปาน” กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า สิ่งที่ไม่น่าห่วงเลยคือรัฐ เพราะเลยยุคของการใช้อำนาจผ่านปากกระบอกปืน ล่ามโซ่แท่นพิมพ์มาแล้ว ขณะที่กฎหมายซึ่งเคยเป็นเครื่องมือของอำนาจก็เปลี่ยนไป บริบทการใช้แม้ยังมีการดึงกฎหมายอื่นๆมาควบคุมบ้าง แต่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ต่อไปรัฐจะเล็กลงเรื่อยๆ อำนาจในการควบคุมน้อยลง หากมองเป็นกราฟรัฐจะลดลง สื่อจะเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไม่ยอมให้รัฐทำแบบเดิม
ส่วนสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ทุนและเทคโนโลยี เพราะประเทศไทยมีข้อด้อยผลิตเองไม่ได้ การลงทุนสำหรับผู้ประกอบการสื่อแพงขึ้นบวกกับการสื่อสารที่ไปอย่างรวดเร็วเป็นปรากฏการณ์ใหม่ซ้ำใหม่เรื่อยๆ หากมีความเป็นไปได้ที่จะกระตุ้นให้สังคมทำได้เอง จะไม่ใช่แค่สื่อที่ได้ประโยชน์แต่เป็นรากฐานของอื่นๆ ด้วย
เมื่อถามว่าจำนวนทุนในการขยับจากสื่อกระแสหลักไปสู่การเป็นสื่อใหม่ (New Media) นายฐากูร กล่าวว่า การเตรียมคนให้พร้อมเป็นปัจจัยหลัก เพราะสื่อมวลชนบางกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี และช่องทางต่างๆ ที่เพิ่มมานี้ยังไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ ซึ่งเป็นทุนส่วนตัวที่ควรมีไว้สู้กับทุนข้างนอก สำคัญที่สุดอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ จุดยืนที่ถูกต้อง คุณภาพในงาน และความสม่ำเสมอ หากคิดว่าวันนี้ดีแล้วพรุ่งนี้อย่างน้อยต้องดีเท่ากันหรือดีกว่า ไม่ใช่วันนี้ดีแล้วเอาไว้กินวันหน้าไม่ได้ อิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ไม่มีใครคุมใครได้ เหมือนเซลล์ที่กระจายแต่ไม่ได้จัดตั้ง อาจกลายเป็นดาบสองคม
“รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์” อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐเป็นความท้าทายซ้ำซากจากอดีตถึงปัจจุบัน และระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หัวใจสำคัญอยู่ที่คนทำสื่อ หากด้อยคุณภาพ ขาดความรู้ ไม่มีคุณธรรมเชิงจริยธรรม อย่างไรก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐที่มีทั้งอำนาจโดยตัวเองและอำนาจทุนแฝงอยู่ หากคนทำสื่อไม่เข้มแข็ง องค์กรสื่อไม่ผนึกกำลังสร้างคนในองค์กรให้เข้มแข็งจะเป็นปัญหา
“ยุคทองของการปฏิรูปสื่อจริงๆ คือรัฐธรรมนูญ 2550 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมีมากขึ้น กฎหมายไดโนเสาร์ถูกยกเลิก นี่คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น เพียงแต่อุปสรรคจากทุนที่แฝงมาในอำนาจ เป็นตัวทำให้บทบาทบิดเบือนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในรูปงบประมาณประชาสัมพันธ์หรือคณะกรรมการสรรหา”
ยุคนี้เป็นยุคที่ทุนกำหนดชะตากรรมประเทศ อนาคตจะมีเทคโนโลยีมากมาย คนชอบข่าวสารแบบรวดเร็วคืออะไรที่สั้นๆ บรรทัดเดียว เน้นความเร็ว สุดท้ายสื่อกระดาษจะลดความนิยมลงทั้งกระแสหลักและท้องถิ่นแต่ไม่ถึงกับตาย หากไม่มีสายป่านยาวพอสื่อมวลชนอาจต้องลดจิตวิญญาณ ดีเอ็นเอในวิชาชีพจะค่อยๆ เลือนไป โซเชี่ยลมีเดียแม้มีประโยชน์แต่ก็มีอันตรายด้วย หากคนติดตามอ่านอย่างเดียวโดยไม่ได้ตามสื่ออื่นๆ เรียกได้ว่าอนาคตอาจหนักหนาสาหัส
“ทางออกอยู่ที่ “คน” สำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น ความคิดและเนื้อหาของคนที่เกิดมาเป็นสื่อมวลชน จะเป็นตัวทำความจริงให้ปรากฏ ทำความถูกต้องให้เกิดในสังคม สถาบันการศึกษาคือจุดเริ่มต้นที่จะสร้างจิตวิญญาณความเป็นสื่อ”
แต่สถาบันการศึกษากลับไปเน้นการแข่งขัน หลักสูตรยังขาดความเชื่อมต่อกับสังคม ขาดความรู้เชิงลึก มีแต่วิชาที่สอนผลิตเนื้อหา แต่ไม่สนับสนุนความเป็นสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพต่างๆ อาจมีบทบาทในการเป็นเทรนเนอร์ ดึงคนที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญมาฝึกตั้งแต่ต้นทาง ก่อนออกไปสู่สนามจริง