ผลวิจัยชี้ สถานการณ์สื่อไทยน่าห่วงหวั่น “บิ๊กบาเธอร์”แทรกซึม

ผลวิจัยชี้ สถานการณ์สื่อไทยน่าห่วงหวั่น “บิ๊กบาเธอร์”แทรกซึม

 


(ฟังเสียงการนำเสนอและการวิพากษ์)

 

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ระดับชาติประจำปี 2554 “อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี” ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2554 ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จังหวัดชลบุรี

ช่างบ่ายของวันที่18 มิถุนายน 2554 ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้วอดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ” และ ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะจันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เสนอผลวิจัยเรื่อง “อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้ทุน เทคโนโลยี

ผศ.ดร.อัศวิน กล่าวถึงภาพรวมผลวิจัยเป็นการมองในมิติการเมืองเป็นหลัก พบว่าปัจจุบันอำนาจรัฐไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงสื่ออย่างโจ่งแจ้งแต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้  ทั้งนี้ การศึกษาแบ่งออกเป็น 3ส่วนด้วยกัน คือ 1บทบาทและสถานภาพของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน ศึกษาวิเคราะห์โดยใช้บทบรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์6 ฉบับคือ มติชน ไทยรัฐ ไทยโพสต์ แนวหน้า เดลินิวส์ และ คมชัดลึก ตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2553เพื่อศึกษาว่าสื่อมวลชนสะท้อนภาพของภาครัฐออกมาอย่างไร

“ผลการศึกษาพบว่า มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล แต่โดยสรุปสื่อยังมีความกังวลต่อภาครัฐในการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองขณะเดียวกันสื่อเองยังเป็นความหวังและทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับสังคมได้”

ส่วนที่ 2 เกี่ยวข้องกับ “วาทกรรมวิพากษ์การปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ” ใช้วิธีเก็บข้อมูลการวิพากษ์วิจารณ์จากอินเทอร์เน็ตและสื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สื่อหลัก เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทการพัฒนาของสื่อหากต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ พบว่าส่วนใหญ่อยากให้สื่อเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูปประเทศ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อมากกว่าเน้นเรื่องการปฏิรูปสื่อส่วนที่ 3  ศึกษาเกี่ยวกับ “บทบาทและแนวทางการพัฒนาสื่อวิทยุชุมชนภายใต้กำกับของรัฐ” พบว่า นักวิทยุชุมชนไม่รังเกียจหรือมีปัญหาในการให้รัฐเข้ามาดูแลวิทยุชุมชน แต่จะต้องมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างความร่วมมือและขยายเครือข่ายไปพร้อมๆกัน

ผศ.ดร.อัศวินสรุปผลงานวิจัยส่วนนี้ว่า อำนาจรัฐที่แทรกแซงสื่อไม่ดิบ ไม่เถื่อนเหมือนสมัยก่อน แต่จะมีการแทรกแซงผ่านงบประมาณที่ภาครัฐมีส่วนในการอนุมัติ สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจมากนัก เพราะบิ๊กบาเธอร์อาจหาช่องทางแทรกซึมได้ทุกเมื่อดังนั้น คงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

จากนั้น ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะนำเสนอผลวิจัยเกี่ยวกับ “ความท้าทายภายใต้ทุน เทคโนโลยี”เพื่อศึกษาผลกระทบของทุนและเทคโนโลยีที่มีต่อการบริหารจัดการงานข่าวหนังสือพิมพ์ โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เชิงลึก เนื่องจากงานวิจัยยังไม่เสร็จสมบูรณ์จึงอยากเสนอเฉพาะข้อสรุปเบื้องต้นว่า สื่อบางกลุ่มไม่กังวลผลกระทบจากเทคโนโลยีมากนัก ขณะสื่อบางกลุ่มยังมีความกังวลอยู่บ้าง

“พบว่าผลกระทบด้านรายได้ค่าโฆษณาค่อนข้างนิ่ง อาจไม่ลดลง แต่ก็ไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบจากผู้รับสื่อพบคนรุ่นเก่าอายุมากกว่า 40 ปี ยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของหนังสือพิมพ์ ขณะที่กลุ่มเด็กๆ ไม่เน้นพึ่งสื่อกระดาษ และสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ คือสถานการณ์บ้านเมือง หากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ยอดขายหนังสือพิมพ์ก็ลดลง เช่น โรงแรมซื้อหนังสือพิมพ์น้อยลง”

การศึกษาวิจัยด้านการขยายตลาดนั้น ปัจจุบันองค์กรสื่อวิเคราะห์กลุ่มผู้รับสารอย่างเป็นระบบรวมทั้งวิเคราะห์การลงทุนด้านโฆษณาด้วยว่า แหล่งไหนคุ้มทุนหรือไม่ มีการเก็บตกลูกค้าเดิมที่เคยหลุดออกไป พร้อมสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วย บางองค์กรถึงขั้นเพิ่มคอลัมน์เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่โดยเฉพาะนอกจากนี้ยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม เช่น ด้านเซิร์ฟเวอร์ สร้างเว็บไซต์ รวมถึงให้นักข่าวเช่าซื้อสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยทำข่าวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาห้องข่าวดิจิตอลการปรับเปลี่ยนกำลังคนใหม่เพื่อดูแลด้านเทคโนโลยี

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ผู้รับผิดชอบในส่วนวิพากษ์งานวิจัยข้างต้น  แสดงความเห็นว่า เป็นงานวิจัยที่ดีแต่น่าเสียดายที่ยังไม่เห็นโครงสร้างว่า อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวโยงอย่างไร และสื่อที่รัฐเข้ามาแทรกแซงมากที่สุดอย่างฟรีทีวี ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและเข้าถึงชาวบ้านมาก แต่จุดดังกล่าวกลับไม่ได้มีการศึกษา จึงไม่เห็นภาพว่ามีการแทรกแซงจากภาครัฐหรือไม่


(นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (ซ้าย) ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์(ขวา)

 

สำหรับส่วนของหนังสือพิมพ์นั้น ดูเหมือนผู้วิจัยศึกษาพบว่าในบทบรรณาธิการแบ่งเป็น 2ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นด้วยกับภาครัฐ ได้แก่ แนวหน้า ไทยโพสต์ คมชัดลึก ส่วนฉบับที่เหลือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนั้น หากวิเคราะห์จากเฉพาะบทบรรณาธิการอาจเข้าใจผิดได้ เนื่องจาก บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นนโยบายหรือเป็นสิ่งที่สะท้อนวิธีคิดของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น บางครั้งผู้เขียนก็คือคนที่อาวุโสเท่านั้นเอง  ดังนั้นการหยิบยกบทบรรณาธิการเพื่อวิเคราะห์ท่าทีหนังสือพิมพ์จึงอาจไม่ตอบโจทย์ได้หมด อีกทั้งสมัยนี้รัฐบาลไม่ได้กลัวความเห็นของบทบรรณาธิการเหมือนในอดีต สิ่งที่รัฐบาลกลัวคือการขุดเจาะเบื้องหลัง หลักฐานการทุจริตขึ้นมาแฉ

สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อนั้น เป็นเพียงวาทกรรมของผู้มีอำนาจ นักธุรกิจ และ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อบางส่วนเท่านั้น มีเพียงคำพูดแต่ไม่ได้มีการกระทำส่วนการวิจัยเรื่องวิทยุชุมชน ซึ่งมีผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชนกว่า 1,000ราย แต่กลับไม่มีกติกาที่ชัดเจน พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฯก็ยังไม่ได้ใช้ เนื่องจากยังไม่มีองค์กรกำกับ ดังนั้น ใครจะด่าพ่อด่าแม่ใครก็ได้

นายประสงค์กล่าวสรุปว่า “วิทยุชุมชนส่วนใหญ่ที่ถูกปิด ไม่ได้เกิดจากการไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เป็นเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112เช่นเดียวกับการปิดเว็บไซต์ต่างๆ ตอนนี้มียอดทะลุถึงกว่า 5 หมื่นเว็บไซต์แล้วแต่ไม่มีใครหรือเว็บไซต์ไหนต่อสู้คดีในทางกฎหมายเลย พอโดนปิดก็หนีไปตั้งโดเมนชื่อใหม่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะต้องการเอาตัวเลขจำนวนเว็บไซต์ที่ถูกปิดไปอ้างกับต่างชาติว่า ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้เป็นเกมที่คนหนึ่งเล่น คนหนึ่งก็ตามกันไป”

จากนั้น ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้วิพากษ์งานวิจัยเรื่อง “อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้ทุน เทคโนโลยี”  โดยชี้ว่า แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่แสดงให้เห็นถึงการดิ้นเอาตัวรอดของหนังสือพิมพ์ในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคที่หนังสือพิมพ์ไม่ถึงขั้นตายแต่ต้องปรับตัว  แต่ควรนำสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์เข้ามาศึกษาด้วย เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ

ส่วนเรื่องอำนาจรัฐนั้น ในปัจจุบันรัฐไม่ใช้อำนาจโดยตรง แต่เปลี่ยนเป็นการให้งบประมาณอุดหนุนสื่อจำนวนมาก ทั้งโฆษณาและการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ จนเกิดคำถามว่า การปฏิบัติงานข่าวจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และสื่อเองจะดิ้นรนเพราะอยากรับเงินจากภาครัฐมากน้อยเพียงใด เนื้อหาส่วนใดเป็นพื้นที่โฆษณาบ้างที่น่าส่งเกตคือ นอกจากการการเขียนเชียร์รัฐแล้ว ยังมีการขยายต่อไปถึงการเชียร์นักการเมืองมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะสื่อถูกแทรกแซง หรืออยากถูกแทรกแซง

ดร.มานะ กล่าวถึงด้านเทคโนโลยีว่า มีการลงทุนสูงขึ้นในสื่อกระแสหลัก  เทคโนโลยีช่วยเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยใช้สื่อที่มีต้นทุนต่ำ ปัจจุบันเห็นภาพสื่อใหญ่แข่งกับนักข่าวพลเมืองมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้มีการนำเสนอข้อมูลในมิติที่ลึกมากขึ้น ไม่ได้เสนอแค่ว่า ใครทำอะไรที่ไหน อย่างไร เป็นการเปิดโอกาสให้คนอ่านมีส่วนร่วมมากขึ้น และคนในพื้นที่ก็มีส่วนร่วมถ่ายทอดข้อเท็จจริงของตนเองด้วย สิ่งเหล่านี้นับเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสื่อจากยุคกระดาษสู่ยุคดิจิตอล