ปลุกผีวารสารวิชาการนิเทศศาสตร์ แนะสร้างกระแสนักอ่านออนไลน์


(ฟังเสียงการเสวนา)

 

ปลุกผีวารสารวิชาการนิเทศศาสตร์ แนะสร้างกระแสนักอ่านออนไลน์

‘อานันท์ กาญจนพันธ์’ – ‘ไชยันต์ ไชยพร’ นักวิชาการชื่อดังชี้งานวิจัยด้านสื่อด้อยคุณภาพ  เสนอทำอีบุ๊ค กระตุ้นกระแสนักอ่านออนไลน์ ซื้อผ่านบัตรเครดิต

วันที่ 18 มิถุนายน 2554 ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัด ประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติประจำปี 2554 ‘อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี’

เวลา 15.00 น.วันที่ 18 มิถุนายน ช่วงเวที วิสัชนา “ปลุกผีวารสารวิชาการ (?)” ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงอุปสรรคของวารสารทางวิชาการไม่ว่าแขนงใดคือที่มาของบทความ ซึ่งทำในลักษณะนั่งรองานวิจัยหรือบทความ การทำแบบนั้นวารสารวิชาการต้องตายแน่นอน อาจต้องอาศัยเวทีสัมมนาเป็นช่องทางค้นหาผลงาน ปัญหาต่อมาคือขั้นตอนตรวจทานชิ้นงานโดยผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) ที่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น เมืองไทยยังให้ค่าตอบแทนด้านวิชาการต่ำ เมื่อกระบวนการจัดทำมีปัญหาค่าใช้จ่าย สุดท้ายการเผยแพร่ก็จำกัดอยู่ในวงแคบ

“งานวิชาการที่มีการตอบโต้ทางความคิด จะทำให้คุณภาพสูงขึ้น แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมของการปรับแก้ จึงไม่ค่อยเกิดการพัฒนา อยากฝากถึงนักวิชาการว่าไม่ใช่แค่เขียนได้ แต่ต้องยอมรับคำวิพากษ์ไปแล้วแก้ไขให้ดีขึ้น ที่สำคัญต้องทำให้น่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นพัฒนาไปไม่ได้  วันนี้วารสารวิชาการหลายแห่งล้มเหลว ที่มีอยู่บางเล่มก็เป็นแบบผิวเผิน ไม่เจาะลึก ไม่เห็นถึงรากเหง้าเพื่อต่อยอดผู้อ่าน”

 

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาของวารสารทางวิชาการว่า  มีงานวิชาการส่งเข้ามามาก แต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของนักวิชาการที่เป็นผลพวงของการแข่งขันในสถานศึกษา มีการเปิดสอนเฉพาะสาขาวิชาที่รองรับด้านการตลาด

“งานวิชาการในความหมายของคนทั่วไปเป็นเรื่องอ่านยาก คนอ่านอยู่ในวงจำกัด อีกทั้งคนรุ่นเก่าก็ยังอ่านกระดาษ ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่อ่านแล้ว อาจต้องพัฒนางานเหล่านี้ไปยังอีบุ๊ค หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย อาจตั้งคณะทำงานพัฒนาเนื้อหาให้เป็นสากลมากขึ้น แปลเป็นภาษาอังกฤษส่งลิงค์ไปยังต่างประเทศแล้วซื้อผ่านบัตรเครดิต ของแบบนี้ฝรั่งอ่านหมด วันนี้ถึงจุดที่ควรพัฒนาไม่เช่นนั้นวารสารเหล่านี้จะเต็มห้องเก็บของ ”

ทั้งนี้ ในช่วงเปิดตัว “วารสารอิศราปริทัศน์” โดย นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการวารสารอิศราปริทัศน์ กล่าวว่า วารสารวิชาการด้านนิเทศศาสตร์กลายเป็นผีดิบไปแล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่เล่มในประเทศไทย การปลุกผีขึ้นมาครั้งนี้ไม่เพียงแต่มีมุมของวิชาการเท่านั้น แต่ยังผูกเรื่องของสื่อมวลชนทุกแขนงไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ และความเป็นวิชาชีพสื่อไว้ด้วย

ทั้งนี้ วารสารดังกล่าวต่อยอดมาจาก “สื่อมวลชนปริทัศน์” ที่เคยทำในปี 2528 แต่หยุดไป และเกิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2553 ให้บริการทางวิชาการได้ 2 ปี และหยุดอีกครั้งหนึ่งด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ ภายหลังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ที่มี รศ.จุมพล รอดคำดี กรรมการสภาฯ ได้จัดทำขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ “อิศราปริทัศน์” (Isra Media Review Journal) เน้นเป็นสื่อกลางแห่งวิชาการและวิชาชีพนิเทศศาสตร์