วิจัยชี้ “ทวิตเตอร์ข่าว” เสี่ยงผิดจริยธรรม 6 ด้าน

(นางสาวอศินา พรวศิน (ซ้าย)นางสาวณัฐฐ์นรี  กระกรกุล(ขวา)

วิจัยชี้ “ทวิตเตอร์ข่าว” เสี่ยงผิดจริยธรรม 6 ด้าน

ผลวิจัยชี้ข่าวทวิตเตอร์ผิดพลาดสูง เหตุความเร็ว-จำกัดตัวอักษร  แนะสื่อออนไลน์มีจริยธรรม หวังแก้ด้วยจิตสำนึก

 

วันที่ 19 มิถุนายน 2554 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยจัดประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติประจำปี 2554 ‘อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี’

นางสาวณัฐฐ์นรี กระกรกุล นักศึกษาปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอจุลนิพนธ์ “ปัญหาเชิงจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนบนทวิตเตอร์” โดยเก็บข้อมูลจากนักข่าวสายการเมืองประจำรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล จำนวน 15 คน เป็นกลุ่มที่ส่งข่าวผ่านทวิตเตอร์ควบคู่กับรายงานข่าวปกติ ใช้เวลาจัดเก็บข้อมูล 1 เดือนระหว่างวันที่ 23 กันยายน -23 ตุลาคม 2553  เพื่อศึกษาการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนบนทวิตเตอร์ในเชิงจริยธรรม

ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลที่ส่งผ่านทวิตเตอร์จากนักข่าวบางข้อความนั้น มีปัญหาเชิงจริยธรรม 6 ด้าน คือ  1. เสนอข้อมูลผิดพลาด 2. ไม่ได้แยกเนื้อข่าวออกจากความคิดเห็นส่วนตัว 3. เนื้อข่าวย่อความจนบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ตัวเลข  4.ใช้ภาษาไม่สุภาพหรือไม่เหมาะสม 5.ไม่บอกที่มาของแหล่งข่าว 6. เป็นข้อความละเมิดสิทธิส่วนตัว สิทธิเด็ก สิทธิสตรีและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อนำเนื้อหาทวิตเตอร์ของนักข่าวกลุ่มตัวอย่างไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อสารมวลชนวิเคราะห์ ส่วนใหญ่แสดงความเห็นตรงกันว่า ในสังคมทวิตเตอร์ยังมีปัญหาเรื่องจริยธรรมการนำเสนอข้อความข่าวสาร แต่วิเคราะห์ในด้านการใช้ภาษาแล้ว พบว่าภาษาที่ใช้เขียนจำเป็นต้องเร้าอารมณ์และดึงดูดให้ผู้อ่านสนใจไม่ใช่เรื่องผิด

ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า แม้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจะมีข้อปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ออกมาแล้ว แต่ยังไม่สำคัญเท่ามโนธรรมและจิตสำนึกของตัวนักข่าวเอง จุดเด่นของทวิตเตอร์ที่เน้นความเร็วและสั้นเพียง 140 ตัวอักษร ถือเป็นเรื่องท้าทายผู้สื่อข่าวที่ต้องเลือกระหว่างความถูกต้องและเวลา ประเด็นสำคัญที่สุดคือการแยกความเห็นส่วนตัวกับเนื้อข่าว โดยองค์กรสื่อควรมีบทบาทว่าจะควบคุมเรื่องนี้อย่างไร

นางสาวอศินา พรวศิน ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าววิพากษ์งานวิจัยข้างต้นว่า ในแต่ละวันมีผู้สื่อข่าวใช้ทวิตเตอร์ส่งข่าวกว่าล้านข้อความ ประเด็นการนำเสนอข่าวที่ผิดจริยธรรมนี้อาจต้องมองในเชิงลึกหรือโฟกัสกลุ่มตัวอย่างให้แคบลงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับปัญหาการเขียนข้อมูลผิดพลาดนั้น อาจเป็นเพราะต้องการส่งข่าวอย่างรวดเร็วจึงผิดพลาดสูง ประกอบกับเงื่อนไขที่ต้องใช้แค่ตัวอักษรแค่ 140  ตัว เชื่อว่ามีนักข่าวมืออาชีพจำนวนน้อยมากที่ตั้งใจจะบิดเบือนข้อมูล

ส่วนประเด็นการไม่บอกที่มาของแหล่งข่าวนั้น เนื่องจากนักข่าวภาคสนามต้องทำงานแข่งกับเวลาจึงเกิดความผิดพลาดในจุดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วเห็นว่าทวิตเตอร์ยังเป็นสังคมออนไลน์ที่เสี่ยงต่อการผิดจริยธรรม ดังนั้นนักข่าวทวิตเตอร์ควรคำนึงถึงจิตสำนึกและจิตวิญญาณความเป็นวิชาชีพไม่แตกต่างจากนักข่าวปกติ

//////////////////////////