(ฟังเสียงการนำเสนอผลงานวิจัยและวิพากษ์-เรื่อง ทวิตเตอร์ และเรื่องวัยรุ่นไทยขายบริการผ่านเน็ต)
วิจัยเผย วัยรุ่นไทยขายบริการผ่านเน็ตฯ ร้อยละ 50 ชี้สิทธิส่วนบุคคล แนะเร่งแก้หวั่นสังคมเสื่อม
นักวิชาการชี้วัยรุ่นไทยขายบริการทางเพศผ่านเฟสบุ๊ค-ทวิตเตอร์ มากขึ้น ระบุกว่าร้อยละ 30 กินดีอยู่ดีขึ้น บก.ข่าวอาชญากรรมขอตัวเลขให้หน่วยงานแก้ไข หวั่นความเร็วของกระแสออนไลน์ทำสังคมเสื่อม
วันที่ 19 มิถุนายน 2554 ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัด ประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติประจำปี 2554 ‘อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี’ (วันสุดท้าย) โดยมีการนำเสนองานวิจัยและงานวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘อนาคตสื่อไทยภายใต้ทุนและเทคโนโลยี’
ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา นำเสนองานวิจัย “วัยรุ่นไทยกับการขายบริการทางเพศบนสื่ออินเทอร์เน็ต” ว่า จากการศึกษากลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 14 - 21 ปี ที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาจำนวน 600 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง 6 กลุ่มจำนวน 48 คน พบว่าสาเหตุผลที่ทำให้วัยรุ่นเปิดรับสื่อลามกทางอินเทอร์เน็ตสูงสุดร้อยละ 75.5 มาจากการอยากรู้อยากลอง, หมกหมุ่นเรื่องเพศร้อยละ 39.8, และต้องการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ ร้อยละ 36.6
โดยการซื้อขายบริการทางเพศผ่านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 100 ของการซื้อขายบริการเป็นวัยรุ่นชาย ร้อยละ 20 เคยซื้อและใช้บริการทางเพศผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต สาเหตุหลักจากปัญหาทางการเงิน ต้องการใช้สินค้าแบรนด์เนม การชักจูงจากเพื่อน และแรงจูงใจอยากมีเงินใช้จ่าย ช่องทางที่ใช้ติดต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่น่าสนใจ นอกเหนือจากเว็บไซต์ลามกหรือบล๊อกเฉพาะกลุ่มแล้ว ยังพบว่า เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์กลายมาเป็นช่องทางติดต่อซื้อขายเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีโพสต์รูปและโฆษณาตัวเอง พร้อมระบุอีเมล์และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไว้เรียบร้อย ค่าบริการจะเริ่มต้นตั้งแต่ 500 ถึง 7,000 บาท ส่วนความพึงพอใจของรายได้ปรากฏว่าร้อยละ 64.6 ตอบว่าพออยู่ได้ และมากถึงร้อยละ 30.06 พึงพอใจและทำให้ตัวเองมีอันจะกิน
ทั้งนี้ พบว่าวัยรุ่นไทยยุคใหม่ร้อยละ 50.80 เห็นว่าการขายบริการทางเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคล, ร้อยละ 50.50 คิดว่าการขายบริการทางเพศบนอินเทอร์เน็ตเป็นความพอใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ควรจะต้องถูกประณามเพราะไม่ใช่อาชญากรรม, ร้อยละ 45.50 เห็นว่าการขายบริการทางเพศเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ขายพอใจ, ร้อยละ 44.70 เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ถ้าพอใจ และร้อยละ 34.40 เห็นว่าพฤติกรรมการมีคู่หลายคนหรือสวิงกิ้งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น
นายปรีชา สะอาดสอน บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม เครือเนชั่น วิพากษ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ยังไม่เอาจริงเอาจังกับเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีมากขึ้น การเข้าไปสัมผัสกับปัญหานี้ยังน้อยอยู่มาก ยังไม่มีการป้องปรามอย่างเป็นรูปธรรม ข้อมูลที่ได้ควรนำไปสานต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์ แต่หมายถึงความเสื่อมถอยที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากสื่อออนไลน์รวดเร็ว ขยายวงกว้าง และติดตามแก้ไขยาก