งานวิจัยแนะ “นสพ.ท้องถิ่น” เสนอข่าวปากท้อง – อาชีพ – เกษตร

งานวิจัยแนะ “นสพ.ท้องถิ่น” เสนอข่าวปากท้อง – อาชีพ – เกษตร

วันที่ 19 มิถุนายน ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลันธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จังหวัดชลบุรี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ระดับชาติประจำปี 2554 “อนาคตสื่อไทย: ความท้าทายภายใต้รัฐ ทุน และเทคโนโลยี”

ผศ.เมตตา ดีเจริญ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาความต้องการผู้อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา” โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 400 คน และกลุ่มผู้อ่านแบบเฉพาะเจาะจงที่อ่าน นสพ.ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 1 ปี จำนวน 8 คน จากสาขาอาชีพต่าง ๆ  

ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนนครราชสีมาอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมากที่สุด คือความเก่าแก่ของ นสพ.ฉบับนั้น เพราะมีความเชื่อถือเป็นทุนเดิม ส่วนประเภทข่าวผู้อ่านต้องการให้มีใน นสพ. ท้องถิ่น 3 อันดับ  คือ 1 เรื่องเศรษฐกิจหรือปัญหาปากท้อง 2 การประกอบอาชีพ 3 ข่าวเกษตรกรท้องถิ่น แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ นสพ.ท้องถิ่นจะผลิตเพื่อโฆษณามากกว่า นอกจากนี้กลุ่มผู้อ่านยังต้องการให้ นสพ.ท้องถิ่นเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน เน้นเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เนื่องจาก นสพ.ท้องถิ่นเป็นสถาบันทางสังคม แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจ ยังไม่ทำหน้าที่การสื่อสารเพื่อความเป็นพลเมืองมากนัก เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจสูง เงินทุนน้อย เนื้อหาข่าวจึงไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร บางครั้งต้องทำตามผู้มีอำนาจหรือสปอนเซอร์ ดังนั้นควรสนใจทำข่าวสารท้องถิ่นตามความต้อการของผู้อ่านมากกว่านี้

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจิรยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ฯ วิพากษ์งานวิจัยข้างต้นว่า เป็นการปิดช่องว่างของงานวิจัยเกี่ยวกับ นสพ.ท้องถิ่น ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันผลวิจัยก็ตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แต่หากจะมีการทำวิจัยต่อไป ควรเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรับข่าวสาร และพฤติกรรมผู้อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

“สื่อท้องถิ่นย่อมรู้จักท้องถิ่นได้ดีกว่าส่วนกลาง มีพื้นที่และเวลาให้ท้องถิ่นมากกว่าสื่อส่วนกลาง นอกจากนี้ยังมีโอกาสทำหน้าที่ได้ดีมากกว่า สื่อท้องถิ่นจึงเป็นกลไกการพัฒนาประเทศ หากสื่อท้องถิ่นไม่พัฒนา ประเทศก็ยากที่จะเป็นประชาธิปไตย” นายบรรยงค์กล่าวทิ้งท้าย