สนทนาวิชาชีพสรุป 4 คีย์เวิร์ดท้าทายอนาคตสื่อ

(ฟังเสียงการสนทนาสรุปการประชุมและการปิดการประชุม)

ประชุมใหญ่วิชาการวิชาชีพสื่อถอดบทสรุป สานต่อ 4 เรื่องสำคัญ คุณภาพนักข่าว-สวัสดิการสตริงเกอร์-วิกฤติทุนเทคโนโลยี-บทบาทสถาบันการศึกษา

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนจากเวทีประชุมใหญ่ทั้ง 2 วัน มีคีย์เวิร์ดสำคัญที่ฝ่ายวิชาการและวิชาชีพกังวล 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ คุณภาพของนักข่าว ต่อมาคือสวัสดิการและสวัสดิภาพของนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวภูมิภาคหรือ สตริงเกอร์ ซึ่งเข้าใจว่าสภาการหนังสือพิมพ์ได้ดำเนินการหารือกันหลายครั้ง อาจต้องไปมองไปถึงการทำวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวถึงผลกระทบจากการทำงานแบบไม่มีเงินเดือนประจำ การส่งข่าวรายชิ้นโดยนักข่าวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง เมื่ออยู่ในสภาพแบบนี้จะมีปัญหาคุณภาพของข่าวหรือคาบเกี่ยวเรื่องจริยธรรมด้วยหรือไม่

“คีเวิร์ดที่ 3 คือสื่อในภาวะวิกฤติบ้านเมืองซึ่งแตกแยกชัดเจนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงสื่อจะไปในทิศทางใด และสุดท้ายคือสถาบันการศึกษาจะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางความท้าทายเช่นนี้ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกองค์กรสื่อต้องมาคิดร่วมกัน”

นายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอประเด็นเพิ่มเติมว่าท่ามกลางความท้าทายของทุนและเทคโนโลยีกับสถานการณ์สื่อหนังสือพิมพ์อาจดูน่าเป็นห่วง แต่เชื่อว่าอย่างไรก็ตายไม่ง่ายๆ และถ้าจะตายจริง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ยังอยู่ได้ แต่อยู่ภายใต้บริบทของการจัดทำอย่างมีฝีมือ มีสาระ น่าอ่าน และคุณภาพ เพราะคนท้องถิ่นอย่างไรก็ยินดีจ่ายและสนใจเรื่องท้องถิ่น

“ส่วนความท้าทายในระยะใกล้ที่จะมาถึงคือการเลือกตั้งซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อสื่อโดยรวมอย่างแน่นอน อยากให้ใช้บทเรียนจากอดีตที่มีนักการเมืองบางคนที่รับปากจะช่วยเหลือสื่ออย่างโน้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเป็นหลักคิด อย่าเชื่อนักการเมืองมาก”

นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงการเล่าข่าวว่า เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับหลักจริยธรรม อีกทั้งเป็นความท้าทายของสภาวิชาชีพฯ ที่จะทำให้ผู้บริโภคเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร เพราะขณะนี้พบว่า ผู้เล่าข่าวมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก ดังนั้น ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตน ขณะเดียวกันสื่อมวลชนจะต้องลุกขึ้นมาควบคุมดูแลคุมจริยธรรมของสื่อด้วยกันเอง แต่คำถามคือ สื่อจะยอมฟังกันเองหรือไม่ เมื่อรายการเล่าข่าวยึดติดอยู่กับเรตติ้ง

นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า สิ่งที่หนึ่งที่พูดกันมากขณะนี้คือ หนังสือพิมพ์จะตายหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ตายแน่นอน เช่นเดียวกับสื่อวิทยุที่หากจับกลุ่มผู้ฟัง เน้นคุณภาพที่แทรกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีการเชื่อมโยงกับสื่ออื่น จะสามารถอยู่รอดได้

ส่วนเรื่องรายการเล่าข่าวนั้น เป็นกระแสของการแสดงอย่างหนึ่ง แต่จะห้ามคงไม่ได้ ดังนั้น น่าจะมีตัววิ่งให้ผู้ชมใช้วิจารณญาณในการรับชม แต่คิดว่าไม่นานกระแสการเล่าข่าวจะหมดไป และมีรูปแบบอื่นขึ้นมาแทน สิ่งเหล่านี้แวดวงวิชาการ วิชาชีพ จะต้องคิดต่อว่าจะมีแนวทางรับมืออย่างไร ขณะเดียวกันผู้บริโภคต้องรู้ว่า สามารถตรวจสอบผู้เล่าข่าวที่กระทำไม่ถูกต้องได้ และหากจะให้มีพลังผู้บริโภคทุกคนจะต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่าย

ทั้งนี้ ยังมีความคิดเห็นจากเวทีที่สำคัญๆ ได้แก่ การร่วมกำหนดทิศทางและท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองที่มาถึง ข้อดีข้อด้อยระหว่างการเลือกข้าง ภายใต้บริบทการนำเสนอข้อเท็จจริง, ผลกระทบจากทุนและเทคโนโลยีที่เข้ามากำหนดอนาคตสื่อไทย รวมถึงการกำหนดกรอบของผู้สื่อข่าวให้ชัด และแนวทางการขับเคลื่อนขององค์กรสื่อต่างๆ ต่อประเด็นท้าทายใหม่ด้วย