สรุปประเด็นประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชนประจำปี2558
“สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ครั้งที่ 10เรื่อง “ปฎิวัติคนข่าว ทุน อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล”
ผู้เรียบเรียง เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป
หัวข้อ: ทุน-อุดมการณ์ สื่อยุคดิจิตอล
ผู้บรรยาย :ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
ประเด็นสำคัญได้แก่ปัญหาอุดมการณ์ที่หายไปคือ ปัญหาสากล ภายใต้ยุคทุนนิยมที่หลายคนต่างยอมรับว่าสื่อเองก็เป็นธุรกิจหรือทุนแบบหนึ่ง เมื่อสื่อกลายเป็นทุนรูปแบบหนึ่งความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือในการเสนอข่าวสารย่อมลดลงไปหรือแม้กระทั่งการเข้าที่สื่อถูกทุนแทรกแซงในรูปแบบต่างๆจนสูญเสียความเป็นอิสระในการเสนอประเด็นต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆประเทศที่เจริญแล้วทางตะวันตก ฉะนั้นปัญหาเรื่องที่สื่อถูกทุนกลืน เป็นปัญหาสากล หมายความว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเมืองของหากแต่เกิดขึ้นกับในหลายๆประเทศที่เจริญแล้วทางตะวันตก การแก้กฎหมายไม่ได้ช่วยอะไร คำถามคือแล้วจะแก้ปัญหาแบบนี้อย่างไร ทุกคนย่อมมุ่งเน้นไปที่การปฎิรูปสื่อหรือการสร้างความเข้มแข็งด้วยแนวทางต่างๆ รวมไปถึง การออกกฎหมายหรือแม้กระทั่งปรับแก้หรือจะเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ ทว่าในความจริงแล้วมันกลับเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
การแก้ปัญหาต้องใช้หลักการพื้นฐานของสื่อมวลชนงานวิจัยที่ฮาวาร์ด ชิ้นหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจะแก้ปัญหาหรือปฏิรูปสื่อฯ จริงๆแล้วต้องมุ่งเน้นไปที่การหลักการพื้นฐานของสื่อฯ เพื่อฟื้นหลักการเหล่านี้ซึ่งเป็นหลักการที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือกลับคืนมา อาทิ สื่อต้องภักดีต่อประชาชน มีอิสระในการทำงาน ตรวจตราเฝ้าระวังผู้มีอำนาจ สร้างเวทีสาธารณทำให้ข่าวสารน่าสนใจด้วยเหตุผล ครบถ้วนทุกแง่มุม อย่าทิ้งสื่อใหม่ พลเมืองมีสิทธิในการนำเสนอข่าว หากฟื้นหลักการพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นมา ความน่าเชื่อถือของสื่อในสังคมทุนก็จะกลับคืนมา
หัวข้อ: เส้นแบ่ง เนื้อหาและการตลาด
ผู้บรรยาย :คุณภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ประเด็นสำคัญเส้นแบ่งไม่ชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เกิดจากการเส้นแบ่งระหว่างอุดมการณ์และทุน หรือเส้นแบ่งของความเป็นเจ้าของและกองบรรณาธิการยังไม่ชัดเจน ในขณะที่การพัฒนามาอย่างรวดเร็ว แต่หลายคนยังไม่สามารถแยกสื่อออกจากทุนเนื่องจากเจ้าของเงินหรือนายทุนมองอุดมการณ์และธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกันสิ่งเหล่านี้สะท้อนได้จากการทำงาน เช่น สื่อหลายแห่งเจ้าของกับบรรณาธิการยังเป็นคนเดียว เรียกว่าเล่นทีเดียว 2 บทบาท ทำให้อุดมการณ์และทุนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน
การสร้างกำแพงศักดิ์สิทธิ์ สำหรับผมถือว่าสิ่งนี้สำคัญมากผมเรียกเส้นแบ่งนี้ว่ากำแพงศักดิ์สิทธิ์หรือ Holly Wall หมายความว่าเส้นแบ่งนี้จะแยกบทบาทของเราออกจากกันระหว่างความเป็นเจ้าของเงินหรือนายทุนกับกองบรรณาธิการ เพื่อให้การทำงานในแต่ละด้านมีความชัดเจนและน่าเชื่อถือ ที่สำคัญมันส่งผลต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ การรวมตัวกันเพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตนเอง ในญี่ปุ่นเขาแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน จนสามารถจัดตั้งเป็นสมาคมได้เช่น สมาคมเจ้าของธุรกิจสื่อ, สมาคมผู้ส่งหนังสือพิมพ์, สมาคมกองบรรณาธิการ แต่ละสมาคมชัดเจนมาก และความชัดเจนนี้แหละที่ทำให้จรรยาบรรณวิชาชีพเข้มแข็ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สื่ออังกฤษใช้หลักการและความชัดเจนตรงนี้ในการทำงาน ทำให้เขาสามารถยืนหยัดต่อเสรีภาพของสื่อมานานกว่า 300 ปี สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราควรตระหนักถ้าต้องการเสรีภาพหรืออิสรภาพก็คือ องค์กรสื่อต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น สามารถยืนหยัดได้ด้วยขาของตนเอง ตราบใดที่คุณยังต้องของบประมาณหรือเงินสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ โอกาสที่คุณจะเสนอข่าวต่างๆได้อย่างเสรีย่อมเป็นเรื่องยาก
หัวข้อเสวนา: การตลาดสื่อปะทะอุดมการณ์สื่อยุคดิจิตอล
ผู้บรรยาย: คุณศิวัฒน์ เชาวรียวงศ์นายกสมาคมโฆษณาดิจิตอลไทย
ประเด็นสำคัญได้แก่การเติบโตของสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ในหลายๆประเทศทั่วโลกเติบโตค่อนข้างสูง เช่น จีน 20-30%, ยุโรป 30-50% ,เกาหลีใต้และญี่ปุ่น 30-50% ทว่าประเทศไทยกลับโตเพียง 5% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ แต่นี่คือโอกาสที่ทุกคนจะสามารถเข้าไปแชร์ตลาดเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดช่องว่างโอกาสที่ต้องช่วงชิงประเด็นคือ วันนี้ไม่เหมือนเดิม สื่อที่เล็กหรือเวบไซต์ต่างๆที่มีบุคลากรเพียงไม่กี่คนหรือใช้งบประมาณไม่เท่าไหร่สามารถ สร้างเม็ดเงินหรือสร้างกระแสสังคมได้ไม่น้อยกว่าสื่อใหญ่ ที่สำคัญสื่อในลักษณะแบบนี้นับวันยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการสารารถเลือกได้ว่าต้องการที่จะลงโฆษณาที่สื่อไหน ที่เหมาะกับ Target ของตนเองการเปลี่ยนแปลง Content ในสื่อดิจิตอล สิ่งสำคัญในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของ Content ในการนำเสนอที่โดนใจคน เพราะในโลกออนไลน์ค่อนข้างจะเป็นการรบนอกเครื่องแบบ คือไม่ต้องมีหลักการวิชาการ 5 W 1 H มาถึงก็พาดหัว คุณเชื่อไหมว่า ,แบบนี้ก็มีในโลก ฯลฯ Content ในยุคนี้จึงเป็นการผสมกันระหว่างข้อเท็จจริงหรือข้อมูลกับข้อคิดข้อเห็น ทำให้การนำเสนอค่อนข้างที่จะแปลกและแหวกแนวการตลาดสื่อปะทะอุดมการณ์สื่อยุคดิจิตอล
ผู้บรรยาย : คุณธาม เชื้อสถาปนศิริสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
หัวข้อสำคัญได้แก่ทุน 3 ด้านทุนในยุคนี้ 3 ด้าน คือ ทุนจากเอกชน ทุนจากรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ และ ทุนจากประชาชน ประเด็นที่ถูกมองว่าเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อคือ ทุนจากเอกชน ที่เข้ามากำกับการทำงานของสื่อโดยผ่านนโยบาย หรือ ทุนของรัฐบาลก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมาก
เหรียญ 2 ด้าน ในมุมมองของผมทุนนั้นเป็นทั้งมิตรและศัตรู ถ้าใกล้มากก็จะถูกครอบงำ หรือถ้าไกลมากก็จะทำให้เราไม่มีเงิน หากจะเปรียบทุนก็เหมือนกับเหรียญที่มีทั้งหัวและก้อย ด้านหนึ่งคืออุดมการณ์และอีกด้านคือผลประโยชน์ ส่วนขอบเหรียญคือระยะห่างระหว่างผลประโยชน์และอุดมการณ์ ยิ่งกว้างเสรีภาพก็ย่อมสูงมากขึ้น
แนะการทำองค์กรสื่อ ไม่หวังผลกำไร วันนี้สื่อถูกทุนครอบงำ และในไม่ช้าทุนเหล่านี้ก็จะต้องล้มหายตายจากเพราะทุนเองก็หวังกำไร เมื่อมีกำไรก็นำไปขยายธุรกิจ เมื่อธุรกิจขยายก็ต้องหากำไรเพิ่มเติม วงจรธุรกิจเป็นแบบนั้น ในมุมมองของผม ณ ขณะนี้คือ เราจำเป็นต้องสร้างองค์กรสื่อที่ไม่หวังกำไร อย่างเวบฯ ประชาไท หรือสำนักข่าวอิศรา ในอเมริกาองค์กรสื่อที่ไม่หวังผลกำไรเติบโตขึ้นมากเพราะได้รับทุนสนับสนุนจากประชาชน ผมเห็นว่าเราควรให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น การจัดตั้งองค์กรสื่อแบบนี้มีกระบวนต่างๆดังนี้ ทุนตั้งต้นมาจากหน่วยงานต่างๆเม็ดเงินของรายได้มาจากผู้อ่านรายย่อยทำข่าวโดยใช้นักข่าวพลเมืองทำข่าวเชิงสืบสวน ต้องจัดกิจกรรมต่างๆโดยขอการสนับสนุนหรือโฆษณาในชุมชน
ความร้ายกาจของทุนผ่านกฎหมาย ในมุมมองของผมหากทุนเป็นเรื่องที่ดีจริง ทำไมกฎหมายฉบับต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2540 ,2550 และ 2558 (ที่กำลังร่าง)ในมาตรา 48 ถึงมีคำเหล่านี้ เช่น แทรกแซง,ผูกขาด,ครอบงำ ,ปิดกั้น และควรแยกจากกันอย่างอิสระ คำเหล่านี้ถูกนำขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นทุน นั่นย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงความร้ายกาจของทุนที่จะเข้ามาแทรกแซงสื่อฯ
การตลาดสื่อปะทะอุดมการณ์สื่อยุคดิจิตอล
ผู้บรรยาย คุณ ณ กาฬ เลาหวิไลยรองบรรณาธิการบริหาร กลุ่มโพสท์
หัวข้อสำคัญได้แก่ จรรยาบรรณ และอุดมการณ์ ถึงวันนี้เราต้องตระหนักถึงสิ่งหนึ่ง และสิ่งนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอนนั่นคือเรื่องการจัดการพื้นที่สื่อซึ่งมีทั้งหมด 4 เรื่องด้วยกันคือ พื้นที่ของจรรยาบรรณ พื้นที่ของผู้อ่าน พื้นที่ของทุนและพื้นที่โฆษณา
ประเด็นแรก เราต้องยอมรับว่าจรรยาบรรณและอุดมการณ์คือสิ่งสำคัญมาก หากละทิ้งเราจะกลายเป็นปลาเน่าของวงการ อย่าลืมว่าวงการนี้ไม่ได้ใหญ่โตหรือกว้างขนาดลืมหน้าลืมตากัน แน่นอนวันนี้คุณอาจจะอยู่กับเล่มหนึ่ง วันหน้าอาจไปจะไปเติบโตอยู่อีกค่ายหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คุณทำได้เพราะคุณมีจรรยาบรรณและอุดมการณ์ คนเขายอมรับในความรู้ ความสามารถและจรรยาบรรณกับอุดมการณ์ของคุณ แต่ถ้าคุณขาดสิ่งเหล่านี้อย่าว่าแต่โอกาสเติบโต แม้กระทั่งการยอมรับจากสังคมยังยาก ผู้อ่านประเด็นต่อมาคือผู้อ่าน ในมุมมองของผมกลุ่มผู้อ่านมีแค่ 2 กลุ่ม คือ ผู้อ่านที่เสียเงินผู้อ่านฟรี เราทำสื่อแต่ไม่เคยสนใจเรื่องตลาดนี่คือจุดอ่อน สิ่งสำคัญคือต้องโฟกัสให้ชัดว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือใคร การจะซื้อ Post to Day สักเล่มเขาย่อมคิดว่าคุ้มค่ากับเงินหรือไม่ นั่นหมายความว่าเนื้อหาของเราต้องดี น่าดึงดูด ลูกค้าถึงยอมซื้อ นี่คือประเด็นที่ทุกคนต้องใคร่ครวญและตระหนักให้ดี ทุน (เจ้าของทุน)
ก่อนปี 2540 ใครที่มีเงินก็จะเข้ามาทำธุรกิจสื่อฯ แต่หลังจากวิกฤตต้มยำจนถึงทุกวันนี้ เราแทบไม่เห็นสื่อหนังสือพิมพ์เกิดใหม่ เท่าที่ผมผ่านตาก็มีแค่ 3 ฉบับ คือ คมชัดลึก ที่เกิดในปี 2544 ตามด้วย Post to Day ในปี 2546 และ M2F
ในปี 2554 การลงทุนทุกครั้งนายทุนหรือเจ้าของหนังสือก็ต้องหวังคืนทุน หวังกำไร การดันสื่อของตนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นมหาชนคือ ความฝัน แต่การจะบรรลุความฝัน เจ้าของกับกองบรรณาธิการต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร สำคัญมากคือการผ่อนหนักผ่อนเบา เพราะต่างคนต่างมีจุดยืนที่แบ่งแยกการทำงานที่ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราคือองค์กรเดียวกัน ฉะนั้นความสำคัญคือ “การพูดคุย” การผ่อนหนักผ่อนเบา การยอมรับในเหตุผลของแต่ละฝ่าย โฆษณา หนังสือพิมพ์วันนี้ต้นทุน 15 บาท ขาย 10 บาท คงไม่ต้องบอกว่าขาดทุนเท่าไหร่ แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะโฆษณา ผมยกตัวอย่างที่ Post to day ปกติ CEO ก็จะต้องคุยกับ บก. มีการเจรจาหารือกัน เพราะเราต่างก็มีเส้นแบ่งแยกที่ชัดเจน ตรงไหนคุณลงโฆษณาได้ ตรงไหนเป็นCSR บางอย่างกองบก.ก็ต้องให้ความร่วมมือกับโฆษณา เช่น ในช่วงสร้าง M2F ผมเองก็ต้องไปนำเสนอหนังสือเล่มนี้ต่อหน้าลูกค้าเพื่อสร้างความสนใจ เพราะเราเป็นบรรณาธิการ ความน่าเชื่อถืออยู่กับเรา หากเขาเชื่อเรา การที่พนักงานขายโฆษณาจะเข้าไปขายโฆษณาก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผมสำคัญมากที่จะต้องเข้าใจหลักการของ 4 พื้นที่นี้
ทั้งหมดนี้คือมุมมองต่างๆ จากทั้งฝ่ายวิชาชีพและวิชาการ ที่ได้เข้าร่วมงาน ประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 “สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ครั้งที่ 10 เรื่อง “ปฎิวัติคนข่าว ทุน อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล”