“ปฏิวัติคนข่าว ทุน-อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล”

“ปฏิวัติคนข่าว ทุน-อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล

รวบรวมและเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.บุปผา  บุญสมสุข เปี่ยมศักดิ์   คุณากรประทีป ประกายดาว แบ่งสันเทียะ.

ในการประชุมใหญ่ระหว่างวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 ในประเด็น “สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ครั้งที่ 10 เรื่อง “ปฏิวัติคนข่าว ทุน-อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ ห้องออดิทรอเรียม อาคารดิจิตอล มัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งในการประชุมสัมมนาได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ “การครอบงำ ครอบครองธุรกิจสื่อ ?” กับ “การตลาดสื่อปะทะอุดมการณ์สื่อยุคดิจิทัล” ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ประกอบด้วย นักวิชาการ นักวิชาชีพ นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ จำนวน 194 คน  เนื้อหาการประชุมสัมมนาโดยสรุป มีดังนี้

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทุน-อุดมการณ์สื่อยุคดิจิทัล” ว่า ปัญหาอุดมการณ์ที่หายไปคือ ปัญหาสากลภายใต้ยุคทุนนิยมที่หลายคนต่างยอมรับว่าสื่อเองก็เป็นธุรกิจหรือทุนแบบหนึ่ง เมื่อสื่อกลายเป็นทุนรูปแบบหนึ่งความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือในการเสนอข่าวสารย่อมลดลงไป หรือแม้กระทั่งการที่สื่อถูกทุนแทรกแซงในรูปแบบต่างๆ จนสูญเสียความเป็นอิสระในการเสนอประเด็นต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศที่เจริญแล้วทางตะวันตก  ฉะนั้นปัญหาเรื่องที่สื่อถูกทุนกลืนเป็นปัญหาสากล หมายความว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเมืองของเราเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นกับในหลายๆประเทศที่เจริญแล้วทางตะวันตก การแก้กฎหมายไม่ได้ช่วยอะไร  คำถามคือแล้วจะแก้ปัญหาแบบนี้อย่างไร  ทุกคนย่อมมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปสื่อหรือการสร้างความเข้มแข็งด้วยแนวทางต่างๆ รวมไปถึง การออกกฎหมายหรือแม้กระทั่งการปรับแก้ เพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ ทว่าในความจริงแล้วมันกลับเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

การแก้ปัญหาต้องใช้หลักการพื้นฐานของสื่อมวลชนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์
วาร์ดชิ้นหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจะแก้ปัญหาหรือปฏิรูปสื่อมวลชน จริงๆแล้วต้องมุ่งเน้นไปที่การหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน เพื่อฟื้นหลักการเหล่านี้ซึ่งเป็นหลักการที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือกลับคืนมา อาทิ สื่อมวลชนต้องภักดีต่อประชาชน  มีอิสระในการทำงาน  ตรวจตราเฝ้าระวังผู้มีอำนาจ  สร้างเวทีสาธารณทำให้ข่าวสารน่าสนใจด้วยเหตุผลครบถ้วนทุกแง่มุม พลเมืองมีสิทธิในการนำเสนอข่าว  หากฟื้นหลักการพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นมา ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนในสังคมทุนนิยมก็จะกลับคืนมา

ภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้กล่าวถึง “เส้นแบ่ง เนื้อหา และการตลาด” ว่า เส้นแบ่งดังกล่าวไม่มีดเจน  ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เกิดจากการเส้นแบ่งระหว่างอุดมการณ์และทุน หรือเส้นแบ่งของความเป็นเจ้าของและกองบรรณาธิการยังไม่ชัดเจน ในขณะที่การพัฒนามาอย่างรวดเร็ว แต่หลายคนยังไม่สามารถแยกสื่อออกจากทุนเนื่องจากเจ้าของเงินหรือนายทุนมองอุดมการณ์และธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกันสิ่งเหล่านี้สะท้อนได้จากการทำงาน เช่น สื่อหลายแห่งเจ้าของกับบรรณาธิการยังเป็นคนเดียวกัน เรียกว่าควบ2 ตำแหน่ง ควบ 2 บทบาท ทำให้อุดมการณ์และทุนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

การสร้างกำแพงศักดิ์สิทธิ์  สำหรับผมถือว่าสิ่งนี้สำคัญมาก ผมเรียกเส้นแบ่งนี้ว่ากำแพงศักดิ์สิทธิ์ (Holly Wall)  ที่จะเส้นแบ่งแยกบทบาทของเราออกจากกันระหว่างความเป็นเจ้าของเงินหรือนายทุนกับกองบรรณาธิการ เพื่อให้การทำงานในแต่ละด้านมีความชัดเจนและน่าเชื่อถือ ที่สำคัญจะส่งผลต่อจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ    การรวมตัวกันเพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตนเอง  ในญี่ปุ่นเขาแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน จนสามารถจัดตั้งเป็นสมาคมได้เช่น สมาคมเจ้าของธุรกิจสื่อ, สมาคมผู้ส่งหนังสือพิมพ์, สมาคมกองบรรณาธิการ แต่ละสมาคมชัดเจนมาก และความชัดเจนของแต่ละบทบาทที่ทำให้จรรยาบรรณวิชาชีพเข้มแข็ง  ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สื่ออังกฤษใช้หลักการและความชัดเจนของบทบาทหน้าที่ในการทำงาน ทำให้เขาสามารถยืนหยัดต่อเสรีภาพของสื่อมานานกว่า 300 ปี    สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราควรตระหนักถ้าต้องการเสรีภาพหรืออิสรภาพ ก็คือ องค์กรสื่อต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น สามารถยืนหยัดได้ด้วยขาของตนเอง ตราบใดที่สื่อยังต้องของบประมาณหรือเงินสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ โอกาสที่สื่อจะเสนอข่าวต่างๆได้อย่างเสรีย่อมเป็นเรื่องยาก

ในการประชุมสัมมนา เรื่อง “การครอบงำ ครอบครองธุรกิจสื่อ ?” ซึ่งมีวิทยา 3 ท่าน ได้แก่ อดิศักดิ์ ลิมป์ปรุงพัฒนกิจ    กรรมการผู้อำนวยการ เครือเนชั่น  พัชระ  สารพิมพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  สำนักข่าวสปริงนิวส์ดร.สิขเรศ  ศิรากานต์ นักวิชาการวิจัยเรื่องโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทย  ดำเนินรายการโดย ดร.มานะ  ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สาระสำคัญของการประชุมสัมมนามีดังนี้

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการวิจัยเรื่องโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทย กล่าวเกี่ยวกับการครอบงำสื่อว่า ในยุคที่มีแนวโน้มการควบรวมกิจการมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ รวมถึงธุรกิจสื่อก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏในเมืองไทยได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ เช่นกรณีที่สื่อธุรกิจสหรัฐอเมริกาพยายามเข้าไปซื้อกิจการสื่อในประเทศอังกฤษ รวมถึงสื่อสหรัฐอเมริกา ก็มีสื่อยักษ์ใหญ่เพียงประมาณ 6 รายสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจสื่ออยู่ภายใต้กลุ่มทุน แต่เนื่องจากระบบการป้องกันการซื้อกิจการทั้งเป็นมิตรและไม่เป็นมิตรมีกระบวนการที่ชัดเจนในการเข้าซื้อกิจการ ที่ใช้เวลาในการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงในทุกๆ ด้านจากทุกฝ่ายภายใน 180   วัน เป็นกระบวนการปกป้องการเข้าครอบครองกิจการธุรกิจสื่อให้สังคมได้รับทราบก่อนจะเกิดการเข้าซื้อกิจการ เพื่อป้องกันการครอบงำธุรกิจ

ทั้งนี้มีหลายกรณีศึกษาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่มีการวางมาตรฐานกระบวนการด้านการครอบงำสื่อไว้อย่างชัดเจน เพราะการควบรวมกิจการในธุรกิจสื่อนั้นส่งผลร้ายมากกว่าผลดีทางด้านประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากส่งผลทำให้เจ้ากลุ่มทุนธุรกิจเป็นเจ้าของทุนทั้งหมดย่อมส่งผลต่อการผลิตเนื้อหาที่ขาดความหลากหลาย

สำหรับการกำกับดูแลการครอบงำกิจการในไทย พบว่า การเข้าซื้อกิจการ หรือการเป็นเจ้าของขาดกระบวนการที่ชัดเจน การพึ่งพาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (
National Broadcasting and Telecommunication Commission) หรือ กสทช. เพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอกับการพิจารณาอำนาจที่ค่อนข้างมาก แต่การดูแลรูปแบบกิจการสื่อมวลชนนั้นมีความซับซ้อน ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานอื่นเข้ามาถ่วงดุลหน่วยงานที่กำกับดูแลจนสามารถยับยั้ง ตอบโต้ กลไกการเข้าซื้อกิจการสื่อได้  สำหรับการตัดสินของกสทช.ในวันนี้(20 พ.ค.58) เกี่ยวกับการเลื่อนชำระเงินค่าสัมปทานโดยข้อกำหนดการชำระค่าธรรมเนียมรายปีของทีวีดิจิตอล จะครบกำหนดในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

สำหรับกลุ่มทุนธุรกิจทีวีดิจิทัลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน 10  บริษัท  และอีก 7 บริษัทจำกัด ภาพที่ชัดเจนคือมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่ราย  ดังนั้น กสทช. ควรยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกเข้าสู่ดิจิทัลต้องอาศัยระยะเวลาอย่างเช่นเดียวกันโมเดลในต่างประเทศไม่สามารถเร่งรัดให้เกิดขึ้นได้ภายใน 3 ปีอย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี การที่คาดการว่าโฆษณาจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าอาจจะเป็นเพียงแค่ฟองสบู่ที่เข้ามาลงทุนแต่ท้ายที่สุดก็เกิดการแข่งขันจนต้องหายไปจากตลาด “จะเห็นว่าหลายช่อง เลือดอาบ คาดผิดขนาดไหนหากไม่เลื่อนการจ่ายเงิน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่แท้จริงมากขึ้น ไม่มองในโลกมายาพบว่า มีข้อมูลหลายอย่างที่ยังเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลนั้นเติบโตจริงหรือไม่รวมถึงเรตติ้งที่แท้จริงหรือเทียม”

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ กล่าวต่อว่า การเป็นเจ้าของสื่อของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่รายที่มีอำนาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่นในอังกฤษได้สร้างมาตรฐานป้องกันสื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาซื้อกิจการสื่อในประเทศอังกฤษ เพราะนั่นหมายถึงการครอบงำวัฒนธรรม เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นเจ้าของเดียวกันก็ส่งผลทำให้ข่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันขาดความหลากหลายของเนื้อหา

ด้านอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกำลังตกอยู่ในภาวะแข่งขันสูง เนื่องมาจากการกำกับดูแลของ กสทช. มีการควบคุมการดูแลและขาดการส่งเสริมกิจการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำเงินที่ได้จากการประมูลควรนำมาพัฒนาการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกเข้าสู่ดิจิทัล ขณะเดียวกันยังปล่อยให้มีการเข้าซื้อกิจการโดยขาดการกำกับดูแลที่ชัดเจน จึงทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำกิจการทีวีดิจิทัลมีทั้งผลดำเนินงานดีเกินคาดและต่ำกว่าที่คาดไว้  สำหรับผู้ประกอบการสูงเกินคาด ได้แก่ อาร์เอส ไทยรัฐ ทรู โมโนและเวิร์คพอยท์ แต่ที่ต่ำเกินคาดก็มีหลายรายที่ไม่สามารถแย่งชิงเรตติ้งได้ ทำให้ผลประกอบการตกต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะไม่สามารถดึงเม็ดเงินโฆษณามาได้  สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างลำบากในการต้องจ่ายค่าสัมปทานและการแข่งขันจากรายได้เข้ามาต่ำกว่าความเป็นจริง

กลุ่มผู้ผลิตสื่อที่เข้ามาทำทีวีดิจิทัล คาดหวังว่าจะมีโอกาสเปลี่ยนผ่านสภาวการณ์การผูกขาด และเปิดทางเลือกในการแข่งขัน จากผู้ประกอบการเจ้าของรายการโทรทัศน์เพียงไม่กี่ราย มาสู่การสร้างความหลากหลายช่องทางเข้าถึงผู้ชม แต่ปรากฏว่าการกำกับดูแลของกสทช.ไม่เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ธุรกิจสื่อที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 10  บริษัท ที่มีวาทกรรมเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการได้อย่างอิสรเสรี แต่ก็ควรมีหลักเกณฑ์เฉพาะไม่เช่นนั้นก็เกิดการผูกขาดในกลุ่มธุรกิจ อย่างเช่น ผู้ได้รับสัมปทานสร้างทางด่วนก็สามารถเข้าซื้อกิจการทางด่วนบริษัทอื่นได้หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจธนาคารก็สามารถซื้อกลุ่มธนาคารด้วยกันได้ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อเป็นกลุ่มธุรกิจเฉพาะ

“ผลประกอบการไตรมาสแรกส่วนใหญ่ทีวีดิจิทัลมีผลประกอบการติดลบไม่เพียงแต่ผู้เข้าประมูลแต่รวมถึงคนทำสื่อที่ประมูลไม่ได้แต่ต้องการผลิตสื่อป้อนตลาดก็เช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้จึงไม่เติบโตอย่างที่คาดหมาย ตกต่ำที่สุดเกินคาดมากกว่าร้อยละ 50  อุตสาหกรรมนี้แม้แต่ธนาคารที่ทำผลศึกษาก็ยังไม่มีธนาคารค้ำประกันในการประกอบธุรกิจ แต่ที่เข้ามาแข่งขันในทีวีดิจิทัลนั้นดีกว่าเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนรายการจากผังเช่นเดียวกันกับในยุคอนาล็อก”

ดังนั้นจึงมองเห็นว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการคืนกลับสู่การเป็นเจ้าของทุนเพียงไม่กี่ราย มีลักษณะการผูกขาดเช่นเดิม โดยเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี เริ่มทยอยแบ่งเวลาและเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการ สุดท้ายกลุ่มธุรกิจสื่อก็กลับอยู่ในรูปแบบการผูกขาดความเป็นเจ้าของกิจการเพียงไม่กี่ราย โดยอาจจะ1รายมีสื่อในเครือประมาณ 4-5 ช่อง

“หากผู้บริหารสื่อไม่รีบตัดสินใจแก้ปัญหาเช่นนี้ ภายใต้ระบบการกำกับดูแล และปล่อยให้เกิดการพัฒนาไม่เป็นธรรมเช่นนี้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ กสทช. ขาดความรับผิดชอบ อาศัยเฉพาะดุลพินิจ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ต้องช่วยเหลือตัวเอง แม้แต่หวังพึ่งศาลปกครองก็ไม่ได้ อุตสาหกรรมนี้ผูกขาดมานานกว่า 50 ปี ผู้เข้ามาผลิตสื่อเพื่อหวังว่าจะเปลี่ยนผ่านจากยุคผูกขาดไปสู่ยุคเปิดตลาดเสรี แต่หากเป็นเช่นนี้ไม่เปิดให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ก็อาจจะทำให้บางรายค่อยๆ หายไปจากตลาดเหลือเพียงไม่กี่ราย ส่งผลให้ประชาชนขาดทางเลือกจากเดิมที่หวังกันว่าทีวีดิจิทัลจะทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น”

พัชระ สารพิมพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักข่าวสปริงนิวส์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดกันว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาแสนล้านแต่ในความเป็นจริงบางรายได้รับค่าโฆษณาต่ำมากเพียงหลักพันล้านบาท เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูงผู้ประกอบการทุกรายจึงอยู่ในภาวะลำบาก

โดยเฉพาะหลังการประมูลที่บริหารจัดการโดย กสทช. แล้วผลสุดท้ายยังต้องจ่ายเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลที่มีอำนาจในการจัดเรียงช่องเข้าถึงกลุ่มคนดู เนื่องจากกลุ่มผู้ประมูลถูกจัดลำดับให้อยู่ท้ายต่อจาก 10   ช่องแรกของเคเบิ้ลและกล้องดาวเทียม  กลุ่มผู้ประมูลจึงมีตัวเลขไม่ตรงกับที่ประมูลได้ส่งผลต่อความเสียเปรียบในการวัดเรตติ้ง เพราะผู้ชมมักเลือกชมเพียง 10   ช่องแรกที่ค้นหาได้ง่ายกว่า

สำหรับการครอบงำกิจการมี 2 ด้านคือ ด้านโครงสร้างและเนื้อหา แต่ที่กังวลใจ คือ การครอบงำด้านเนื้อหา เนื่องจากทำให้โอกาสการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนขาดความหลากหลาย ซึ่งนิยามการครอบงำกิจการแตกต่างไปในแต่ละยุค เช่น บางยุคห้ามเป็นเจ้าของกิจการข้ามสื่อ ฉะนั้นต้องพิจารณาด้านโอกาสการรับข้อมูลข่าวสาร ส่วนด้านโครงสร้าง มีผลต่อเนื้อหาเช่นกัน แต่หากมีการแบ่งกำแพงระหว่างความเป็นเจ้าของกับกองบรรณาธิการชัดเจนฝ่ายการตลาดไม่สามารถครอบงำได้ก็จะเกิดประโยชน์ในการนำเสนอข่าวสารแก่ประชาชน

สำหรับเนื้อหาการประชุมสัมมนา เรื่อง “การตลาดสื่อปะทะอุดมการณ์สื่อยุคดิจิทัล” ซึ่งมีวิทยา จำนวน 4 ท่าน ได้แก่  คุณศิวัฒน์ เชาวรียวงษ์    นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย คุณณ กาฬ  เลาหวิไลย รองบรรณาธิการบริหาร กลุ่มโพสต์ คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ   สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  ดร.จิรัชฌา วิเชียรปัญญาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  และดำเนินรายการโดย ผศ.สมเกียรติ  รุ่งเรืองวิริยะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยรังสิต เนื้อหาการสัมมนาโดยสรุป มีดังนี้

ศิวัฒน์ เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย : ผมทำงานในสื่อโฆษณาดิจิทัล ภาพใหญ่สุด คือ ในโลกทุกวันนี้การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นมาก ผมขอแบ่งปันข้อมูลอันหนึ่ง คือ อายุงานโดยเฉลี่ยของ CEO ของบริษัทชั้นนำในโลกนี้สั้นลง หมายถึงว่าผู้บริหารสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ดูองค์กรทั้งหมดหรือฝ่ายการเงิน จะทำงานกับบริษัทต่าง ๆ ด้วยเวลาที่น้อยลง เมื่อ CEO อายุงานสั้นลง แปลว่าเขาจะต้องเร่งสร้างผลงานในช่วงที่เขายังนั่งในตำแหน่งให้มากที่สุด  ดังนั้น ผู้บริหารจะมองภาพระยะสั้นมากกว่าภาพระยะยาว ภาพระยะสั้น หมายถึง เงิน รายได้ ผลกำไร ก็คือ ผลงานของผู้บริหาร ความสำคัญของภาพลักษณ์น้อยลง ทำให้ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็จะให้น้ำหนักกับตัวเลข เงิน มากขึ้น จากเป้าหมายดังกล่าวได้ส่งแรงกดดันไปยังฝ่ายต่าง ๆ ในองค์กร

ภาพของเมืองไทยในปัจจุบันโฆษณาดิจิทัลใช้เงินอยู่ประมาณร้อยละ 5 ของเงินโฆษณาทั้งหมด เงินโฆษณาประมาณ 1 แสนล้านใช้ในสื่อดิจิทัลประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อยู่ที่ร้อยละ 7.4  จีน อยู่ระหว่างร้อยละ 20-30 ออสเตรเลียเท่า ๆ กับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ร้อยละ 70 ส่วนประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา ประมาณร้อยละ 30-50  ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าอนาคตสื่อดิจิทัลในบ้านเราเงินจะไหลเข้ามามากขึ้น แรงกดดันจากทุนก็จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว  ทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด สื่อเล็กหรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีบุคลากรเพียงไม่กี่คนหรือใช้งบประมาณไม่เท่าไรก็สามารถสร้างเม็ดเงินหรือสร้างกระแสสังคมได้ไม่น้อยกว่าสื่อใหญ่ ที่สำคัญสื่อในลักษณะแบบนี้นับวันยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าต้องการที่จะลงโฆษณาที่สื่อไหน ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของตนเอง การเปลี่ยนแปลง เนื้อหาในสื่อดิจิตอลต้องโดนใจคน เพราะในโลกออนไลน์ค่อนข้างจะเป็นการรบนอกเครื่องแบบ คือไม่ต้องมีหลักวิชาการ 5 W  1 H มาถึงก็พาดหัว “คุณเชื่อไหมว่า...  แบบนี้ก็มีในโลก...” เนื้อหาในยุคนี้จึงเป็นการผสมกันระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น เรื่องของทุนและโฆษณาจึงเข้ามาทำงานในลักษณะ “บทความแฝงโฆษณา” (Advertorial) ได้สูงมาก และประกอบกับประเทศไทยทุกวันนี้ยังไม่ได้มีการกำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การนำเสนอข่าวสารค่อนข้างที่จะแปลกและแหวกแนว เกิดเป็นสภาวะการตลาดปะทะอุดมการณ์สื่อยุคดิจิตอล

 

ธาม  เชื้อสถาปนศิริ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้พูดถึงว่า ทุนมีหลายรูปแบบ ทุนก้อนที่หนึ่งมาจากฝ่ายธุรกิจเอกชน ทุนก้อนที่สองมาจากหน่วยงานโฆษณาของภาครัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทุนจากรัฐบาล ในแต่ละปี มีหลายร้อยล้านบาท ส่วนทุนก้อนที่สาม มาจากประชาชน  ซึ่งแรงของแต่ละทุนจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าทุนทั้งหมดมีผลต่ออุดมการณ์สื่อ  สื่อเกิดมาเพื่อเป็นฐานันดรที่ 4 เพื่อนำเสนอข่าวเพื่อผลประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะฉะนั้นอุดมการณ์สื่อที่กำลังพูดถึง หมายถึง  อุดมการณ์สื่อมวลรวมวิชาชีพ  ที่แรงแต่ละทุนส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของอุดมการณ์สื่อ ถ้าอุดมการณ์สื่อเข้าใกล้แรงทุนมากเกินไปก็มีสิทธิเสี่ยงที่จะโดนเบี่ยงเบนอคติ นำเสนอข่าวสารตามความต้องการของทุน  เพราะฉะนั้น ทุนกับอุดมการณ์ ต้องรักษาระยะห่างให้สมดุล

เหรียญ  2 ด้าน  ในมุมมองของผมนั้นทุนเป็นทั้งมิตรและศัตรู ถ้าใกล้มากก็จะถูกครอบงำ หรือถ้าไกลมากก็จะทำให้เราไม่มีเงิน หากจะเปรียบทุนก็เหมือนกับเหรียญที่มีทั้งหัวและก้อย ด้านหนึ่งคืออุดมการณ์และอีกด้านคือผลประโยชน์ ส่วนขอบเหรียญคือระยะห่างระหว่างผลประโยชน์และอุดมการณ์ ยิ่งกว้างเสรีภาพก็ย่อมสูงมากขึ้น

ข้อแนะนำสำหรับองค์กรสื่อที่ไม่หวังผลกำไร วันนี้สื่อถูกทุนครอบงำ และในไม่ช้าทุนเหล่านี้ก็จะต้องล้มหายตายจากเพราะทุนเองก็หวังกำไร เมื่อมีกำไรก็นำไปขยายธุรกิจ เมื่อธุรกิจขยายก็ต้องหากำไรเพิ่ม วงจรธุรกิจเป็นแบบนั้น ในมุมมองของผม ณ ขณะนี้คือ เราจำเป็นต้องสร้างองค์กรสื่อที่ไม่หวังผลกำไร อย่างเว็บประชาไท หรือสำนักข่าวอิศรา   ในอเมริกาองค์กรสื่อที่ไม่หวังผลกำไรเติบโตขึ้นมากเพราะได้รับทุนสนับสนุนจากประชาชน ผมเห็นว่าเราควรให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น การจัดตั้งองค์กรสื่อแบบนี้มีกระบวนการบริหารจัดการ ดังนี้ ทุนตั้งต้นมาจากหน่วยงานต่างๆ เม็ดเงินของรายได้มาจากผู้อ่าน ทำข่าวโดยใช้นักข่าวพลเมืองทำข่าวเชิงสืบสวน ต้องจัดกิจกรรมต่างๆโดยขอการสนับสนุนหรือโฆษณาในชุมชน

 

ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผมมีอีก 2 ประเด็น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาไม่ได้เรียน นั่นก็คือ การบริหารจัดการสื่อโดยใช้ทุน  อันดับแรกคุณต้องรู้ว่าคุณในฐานะผู้ผลิตสื่อ กำลังถูกบริหารจัดการโดยบริษัททุน ซึ่งประเด็นข่าวมีทั้งเชิงบวก และเชิงลบ ต้องมีการทำงานเป็นทีม ผูกมิตรสัมพันธ์อันดีกับสายสื่อมวลชน ประเด็นที่ 2  แหล่งข่าวที่ถูกอ้างอิงในการรายงานข่าว การถูกสอดส่อง สอดแนม เฝ้าดูพฤติกรรมตั้งเรียนจบ ดูทัศนคติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นบริษัทเอกชนจึงมีการรับจ้างทำเรื่องการสอดแนมนักวิชาการ มีงบสนับสนุนพิเศษ องค์กรสื่อมวลชนมีการซื้อตัวนักข่าว ลบกระทู้ เติมความเห็นเชิงบวก สร้างข่าวดีกลบข่าวเสีย มีวิธีการหลายอย่างที่ใช้เงินทุนปิดข่าว นี่คือ 4 ปี ที่นักศึกษาไม่ได้เรียน ต้องไปเจอเวลาทำงานจริง

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นความร้ายกาจของทุนผ่านกฎหมาย  ในมุมมองของผมหากทุนเป็นเรื่องที่ดีจริง ทำไมกฎหมายฉบับต่างๆ โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2540 , 2550  และ 2558 (ที่กำลังร่าง)ในมาตรา 48  ถึงมีคำเหล่านี้ แทรกแซง,ผูกขาด, ครอบงำ ,ปิดกั้น และควรแยกจากกันอย่างอิสระ คำเหล่านี้ถูกนำขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นทุน  นั่นย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงความร้ายกาจของทุนที่จะเข้ามาแทรกแซงสื่อ

ณ กาฬ เลาหวิไลย รองบรรณาธิการบริหาร กลุ่มโพสต์ กล่าวถึงสื่อในปัจจุบันว่า เราจะจัดการกับสื่ออย่างไรให้มีความเป็นมืออาชีพ หรือนักวิชาชีพ และสามารถอยู่รอดได้ แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานมา ทำให้รู้ว่า การบริหารจัดการสื่อ เป็นวิชาที่สำคัญมาก แต่บางมหาวิทยาลัยไม่ได้สอน   การบริหารจัดการสื่ออันดับแรก คือ จรรยาบรรณ อุดมการณ์  ถ้าสื่อไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีจรรยาบรรณ สื่อก็จะอยู่ในวงการไม่ได้  เราต้องยอมรับว่าจรรยาบรรณและอุดมการณ์คือสิ่งสำคัญมาก หากละทิ้งเราจะกลายเป็นปลาเน่าของวงการ อย่าลืมว่าวงการนี้ไม่ได้ใหญ่โตหรือกว้างขนาดลืมหน้าลืมตากัน แน่นอนวันนี้คุณอาจจะอยู่กับเล่มหนึ่ง วันหน้าอาจไปเติบโตอยู่อีกค่ายหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คุณทำได้เพราะคุณมีจรรยาบรรณและอุดมการณ์ คนเขายอมรับในความรู้ ความสามารถและจรรยาบรรณกับอุดมการณ์ของคุณ แต่ถ้าคุณขาดสิ่งเหล่านี้อย่าว่าแต่โอกาสเติบโต แม้กระทั่งการยอมรับจากสังคมยังยาก

ความสำคัญอันดับสอง  ในมุมมองของผมกลุ่มผู้อ่านมีแค่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้อ่านที่เสียเงินซื้อ  และกลุ่มผู้บริโภคสื่อฟรี  คนทำสื่อจะต้องเข้าใจคนอ่าน ทราบถึงความต้องการของตลาด เราทำสื่อแต่ไม่เคยสนใจเรื่องตลาด นี่คือ จุดอ่อน สิ่งสำคัญคือต้องโฟกัสให้ชัดว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือใคร การจะซื้อ Post to Day  สักเล่มเขาย่อมคิดว่าคุ้มค่ากับเงินหรือไม่ นั่นหมายความว่าเนื้อหาของเราต้องดี น่าดึงดูด ลูกค้าถึงยอมซื้อ  นี่คือประเด็นที่ทุกคนต้องใคร่ครวญและตระหนักให้ดี

อันดับสาม คือ ทุน  ทุนในที่นี้ไม่ใช่ทุนโฆษณา แต่เป็นทุนของเจ้าขอสื่อ เพื่อผลิตสื่อ ก่อนปี 2540  ใครที่มีเงินก็จะเข้ามาทำธุรกิจสื่อฯ แต่หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงทุกวันนี้ เราแทบไม่เห็นสื่อหนังสือพิมพ์เกิดใหม่ เท่าที่ผมผ่านตาก็มีแค่ 3 ฉบับ คือ คมชัดลึก ที่เกิดในปี 2544  ตามด้วย Post to Day ในปี 2546 และ M2F ในปี 2554  การลงทุนทุกครั้งนายทุนหรือเจ้าของหนังสือก็ต้องหวังคืนทุน หวังกำไร การดันสื่อของตนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นมหาชน คือ ความฝัน แต่การจะบรรลุความฝัน เจ้าของกับกองบรรณาธิการต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร สำคัญมากคือการผ่อนหนักผ่อนเบา เพราะต่างคนต่างมีจุดยืนที่แบ่งแยกการทำงานที่ชัดเจน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราคือองค์กรเดียวกัน  ฉะนั้นความสำคัญคือ “การพูดคุย” การผ่อนหนักผ่อนเบา การยอมรับในเหตุผลของแต่ละฝ่าย

อันดับสี่ คือ เงินโฆษณา  โฆษณาเป็นปัจจัยสำคัญของการทำสื่อ หนังสือพิมพ์วันนี้ต้นทุน 15 บาท ขาย 10 บาท คงไม่ต้องบอกว่าขาดทุนเท่าไร แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะโฆษณา ผมยกตัวอย่างที่ Post to day ปกติ CEO ก็จะต้องคุยกับบรรณาธิการ มีการเจรจาหารือกัน เพราะเราต่างก็มีเส้นแบ่งแยกที่ชัดเจน  ตรงไหนคุณลงโฆษณาได้ ตรงไหนเป็น CSR  บางอย่างกองบรรณาธิการก็ต้องให้ความร่วมมือกับโฆษณา เช่น ในช่วงสร้าง M2F ผมเองก็ต้องไปนำเสนอหนังสือเล่มนี้ต่อหน้าลูกค้าเพื่อสร้างความสนใจ เพราะเราเป็นบรรณาธิการ ความน่าเชื่อถืออยู่กับเรา หากเขาเชื่อเรา การที่พนักงานขายโฆษณาจะเข้าไปขายโฆษณาก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผมสำคัญมากที่จะต้องเข้าใจหลักการบริหารจัดการสื่อใน 4 พื้นที่ที่กล่าวมา

ข่าวที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หามาได้ ปรากฏว่ารายการโทรทัศน์เหล่านั้นยังไปเก็บค่าโฆษณาลูกค้าอีกนาทีละแพง ๆ เรียกว่า จับเสือมือเปล่า ในสิ่งที่เราสร้าง วันนี้สถานการณ์ดูจะคลี่คลาย หลายรายการไม่ค่อยได้ทำแล้ว รวมทั้งมีทีมงานเป็นของตนเอง แต่ปัญหาที่ตามมา คือ สื่อสังคม ประชาชนพลเมืองเต็มไปหมด เอาข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปแชร์ต่ออย่างมหาศาล โดยที่หนังสือพิมพ์ไม่มีส่วนได้ประโยชน์อะไรเลย ลิขสิทธิ์   ใด ๆ ก็ไม่ได้   แต่เราต้องแบกต้นทุนเพียงคนเดียว  ข่าวเชิงลึก ข่าวสืบสวนสอบสวน ข่าวเจาะ หรือข่าวที่โชว์บทบาทในฐานะข่าวกรอง ต้องทำใจ ข่าวเชิงลึกกำลังจะตาย  ผมเคยทำข่าวเจาะชิ้นหนึ่ง คือ ข่าวสึนามิ ที่ภาคใต้ ปรากฏว่าข่าวนี้ไม่มีผลต่อโฆษณา ยอดขายไม่เพิ่ม  ข่าวชิ้นนั้นมีหลายตอน ใช้เงินเป็นล้าน ถามว่าองค์กรสื่อมีทรัพยากรที่จะจ่ายเพียงพอไหม  มันจึงเป็นปัญหาระบบทุนกับสื่อ เป็นเสมือนพระอาทิตย์ถ้าอยู่ไกลไป ไม่มีทุนมันก็หนาว แต่ถ้าอยู่ใกล้มันก็ร้อนอย่างนี้  ใครเคยผ่านปี 2540 จะรู้เลยว่าตอนนั้นสื่อถูกปิดกั้นมาก ทุกคนไม่เคยพูดถึงเลยว่า ทุนมืด ทุนสว่าง ทุนสีเทา เขามีทุนจากไหนกัน และถ้าเราไม่มีเราจะอยู่รอดได้อย่างไร

คนที่ทำงานสื่อมวลชน  จากประสบการณ์ของผม ถ้าอยากจะอยู่ดี อยู่แล้วมีคุณค่าทางวิชาชีพ วิชาหนึ่งที่น่าเรียนมาก คือ วิชาการตลาด อันนี้มาจากประสบการณ์ ไม่ว่าคุณจะใช้หรือไม่ใช้ก็ตาม ถ้าคุณคิดว่าสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่มีอุดมการณ์ เป็นองค์กรที่ต้องมีทุนสนับสนุน อยู่ในสังคมที่มีรัฐบาล แวดล้อมไปด้วยธุรกิจ คุณต้องอยู่เหนือสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้  และต้องบริหารทั้ง 4 ส่วนนี้ให้ได้  และสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก คือ การเป็นสื่อมวลชนไม่ใช่การขายหนังสือพิมพ์  แต่ต้องขายตราสินค้า (Brand) ในอนาคต สิ่งที่จับต้องไม่ได้มีคุณค่ามากที่สุด Coke ไม่ได้ขายน้ำแต่ Coke ขายตราสินค้า  เหมือนกับโพสต์ทูเดย์ ในภาวะวิกฤติยอดขายไม่เคยตก เพราะว่าเราขายตราสินค้า ซึ่งในตำราอาจไม่มีสอนมันต้องหล่อหลอมกันมาและวัฒนธรรมองค์กรสำคัญที่สุด  ถ้าคุณประกาศคุณจะเป็นอย่างนี้ คุณจะสามารถยืนอยู่ในโลกวิชาชีพได้  ถ้าคุณมีหลักการ รุ่นน้องจะว่าคุณเองถ้าคุณไม่ทำ

 

ดร.จิรัชฌา วิเชียรปัญญา   คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าด้วยพื้นฐานเป็นนักบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นไม่เคยปฏิเสธทุน ทุน คือ ปัจจัยการผลิต ที่เราจะทำอะไรก็ต้องอาศัยทุนเพื่อนำมาใช้ในการผลิต  ทุนสร้างกำไรให้เกิดขึ้นกับองค์กร หรือในการพัฒนาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนกำไรก็ขึ้นอยู่กับการนิยามว่าจะเป็นนิยามเชิงปริมาณ หรือนิยามเชิงคุณภาพ ดังนั้น จุดที่เรายืนอยู่เราจะทำกำไรเชิงปริมาณ หรือกำไรเชิงคุณภาพมากกว่ากัน  หรือในช่วงระยะเวลาหนึ่งเราอาจให้กำไรเชิงคุณภาพมากกว่ากำไรเชิงปริมาณ และอีกช่วงเวลาหนึ่งเราอาจให้กำไรเชิงปริมาณมากกว่ากำไรเชิงคุณภาพก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ เมื่อไรก็ตามที่เป็นจุดสำคัญของสังคม ชุมชน และเราทิ้งกระแสนั้น โอกาสก็จะเกิดขึ้นทันที มันเป็นการจัดการภายใต้ทุน  ยิ่งในวันนี้เมื่อมองผ่านไปในหลาย ๆ จุดแล้ว พบว่า ในเรื่องของการเปลี่ยนสภาพของผู้ประกอบการสื่อ  ทุนในอดีตเคยมุ่งในเรื่องพัฒนาคุณภาพของสื่อ เราส่งนักข่าวลงพื้นที่มหาศาล แต่เมื่อเทคโนโลยีระบบสารสนเทศเข้ามา เส้นทางการทำงานของเราก็เปลี่ยนไป

ครั้นเมื่อเรามองกลับมาดูบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชนแบบโลกสวย เสนอความจริง ยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง พร้อมจะเปิดพื้นที่สาธารณะทุกมิติ นั่นก็เป็นแค่ประเด็นเดียว  มองในมุมเดียว แต่ในความเป็นจริงมันต้องประกอบสร้างจากหลากหลายมิติ วิชาชีพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี ฯลฯ  ซึ่งผู้ผลิตสื่อ และองค์กรสื่อ จะต้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างสมดุล

 

ดร.จิรัชฌา วิเชียรปัญญา กล่าวต่อว่าโดยส่วนตัว ไม่ได้ปฏิเสธฝั่งทุนหรือฝั่งอุดมการณ์ ในมุมมองของนักวิชาการ หน้าที่ของเรา คือ ทั้ง 2 เรื่องเป็นโลกทัศน์ที่เราต้องเรียนรู้ และสอนให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยว่า สื่อจำเป็นจะต้องใช้ทุนในการขับเคลื่อน ทำให้คนรู้จักและตัดสินใจบริโภคสื่อเรา นั่นคือภาพหนึ่งที่จะต้องให้นักศึกษาได้รู้และเข้าใจ  ในขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้เขารู้ว่าหน้าที่สื่อต้องทำอะไร ส่งความจริงอย่างไรภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ดิฉันมองว่าในเชิงชุมชน  (Community Base) ที่ยังเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับสื่อยุคใหม่ Community Base มีหลายองค์ประกอบ และทุนก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะต้องนำมาใช้ในการดำเนินงาน และสร้างให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับชุมชน และเห็นว่านี่คืออีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ ในบ้านเราไม่ค่อยมีรูปแบบนี้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ดังนั้น ก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการว่าจะต้องไปหากรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการทำสื่อระดับชุมชนมาให้นักศึกษาได้เห็นถึงความเป็นไปได้ เห็นระบบการบริหารจัดการ เห็นเนื้อหาสาระที่เขานำเสนอกัน เห็นการมีส่วนร่วมของชุมชน ของประชาชนในการผลิตสื่อเพื่อผลประโยชน์ของเขา  ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบนี้จะเป็นการเปิดทางเลือกให้กับนักศึกษา ให้กับสื่อด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถที่จะเลือกอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ ระหว่างทุนกับอุดมการณ์

ในด้านการพัฒนานักศึกษาที่จะไปเป็นสื่อในอนาคต  ประการแรก อยากขอให้นักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก สักคนทำเรื่องของโมเดลรูปแบบการบริหารจัดการ ว่าจะมีตัวเชื่อมอย่างไรบ้าง ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน ระบบการทำงาน ภายใต้บริบทของสังคม วัฒนธรรมไทย จากนั้นก็นำโมเดลไปทดลองใช้ ประการที่ 2 ในฐานะเป็นอาจารย์ก็คงต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น ในการเปิดทางเลือกให้กับนักศึกษา ให้มีมุมมองที่หลากหลาย นอกจากคำว่าทุน เทคโนโลยี ก็ควรจะมีมิติด้านชุมชน ด้านอุดมการณ์ ด้านจริยธรรมด้วย ประการที่ 3 ในเรื่องของเนื้อหา (Content) วันนี้เนื้อหามันบิดเบี้ยวไปมากเหลือเกิน ด้วยพฤติกรรมความต้อง การรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้การจัดการกับเนื้อหาต้องมีความหลากหลาย เหมาะสมกับช่องทางในการสื่อสาร  ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ในการพัฒนานักศึกษาให้เข้าสู่โลกวิชาชีพอย่างมั่นใจ เข้าใจ และบริหารจัดการภายใต้บริบทของสังคมได้

 

และทั้งหมดนี้คือมุมมองต่างๆ จากทั้งฝ่ายวิชาการและวิชาชีพ ที่ได้เข้าร่วมงาน ประชุมใหญ่วิชาการแลวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 “สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์”  ครั้งที่ 10 เรื่อง “ปฎิวัติคนข่าว ทุน อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล”