2พค.60-จดหมายเปิดผนึก-เรื่อง คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน-ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

 

จดหมายเปิดผนึก

๒  พฤษภาคม ๒๕๖๐

 

เรื่อง      คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

กราบเรียน          ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ตามที่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งแม้ว่าจะมีการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตฯลฯ ไปแล้วก็ตาม แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๓๐ องค์กร เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง ๓๐ องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเหตุผล ดังนี้

๑.นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อพิจารณานิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นมีความหมายกว้างขวางมาก กว้างขวางจนเข้าไปกินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชนทั่วไป จะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท นอกจากสื่อวิชาชีพแล้ว บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์  จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ในมาตรา ๓๔ และ ๓๕

๒. ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สปท. ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส

๓.การจัดทำกฎหมายใดๆที่เกี่ยวกับการทำหน้าของสื่อมวลชน จะต้องมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของของสื่อมวลชนในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ที่บัญญัติว่า"รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ

นอกจากนั้น มาตรา ๗๗ ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด

๔.  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันหลักการกำกับกันเองของสื่อมวลชน ทั้งการกำกับกันเองด้วยความสมัครใจหรือ การกำกับกันเองที่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพแต่ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อมวลชน  และต้องไม่เร่งรีบออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยขาดการรับฟังหรือความเข้าใจอย่างรอบด้าน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อสื่อมวลชนตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการกำกับกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจน มีกระบวนการสอบสวน และการวินิจฉัยการลงโทษที่ชัดเจน แต่เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับคนจำนวนมาก

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง ๓๐ องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  และเดินหน้าการปฏิรูปสื่อโดยการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

 

รายชื่อ 30 องค์กรสื่อมวลชน

1.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

2.สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

3.สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

5.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

6.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

7.สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

8.สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

9.สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

10.สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

11.สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย

12.สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

13.สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย

14.สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย

15.สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

16.สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)

17.สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย

18.สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

19.สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

20.สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

21.สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

22.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด

23.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน

24.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก

25.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้

26.ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

27.ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

28.ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

29.ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน

30.สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

 

ดาวโหลดจดหมายจดหมายแบบพีดีเอฟ