3พค50- แถลงการณ์ร่วมเรื่อง การลาออกจากคณะกรรมการร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์


แถลงการณ์ร่วม

เรื่อง การลาออกจากคณะกรรมการร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

 

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการที่จะเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ และได้มอบหมายให้นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาประสานงานกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไปนั้น

 

ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๓๔/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งแต่งตั้งให้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน ๔ คน เข้าร่วมด้วย โดยผู้แทนดังกล่าวได้เข้าร่วมการพิจารณากฎหมายดังกล่าว รวม ๘ ครั้ง พบว่าการพิจารณาและความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ ต่อการยกร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้หารือในเบื้องต้นกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ทำหนังสือแจ้งการ ลาออกจากการเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ต่อนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๖ เมษายนที่ผ่านมา

ในการประชุมคณะทำงานร่วมของผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ๖ องค์กรได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยในวันนี้ (๓ พ.ค.) ได้ประชุมร่วมกันและมีมติให้ออกแถลงการณ์เพื่อความเข้าใจและประโยชน์ของประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนดังนี้

1. การพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยก่อนจะมีการแต่งตั้งผู้แทนขององค์กร วิชาชีพสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

2. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลาย ยังยืนยันให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ทั้งฉบับ และไม่ให้นำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มาใช้เป็นแบบหรือร่างของพระราชบัญญัติฉบับใหม่

3.  หลักการและเหตุผลรวมทั้งบทมาตราที่สำคัญในร่างพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มีเนื้อหาที่ขัดกับมาตรา ๑๙ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาตรา ๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ รับรองไว้

4.   ผู้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นส่วนใหญ่ มีความเห็นแตกต่างกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่มักมีการตรวจสอบจริยธรรมและ กฎหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นหน้าที่หลักของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงเห็นว่าการใช้มาตรการที่มีลักษณะควบคุมประกอบกับการจดแจ้งการพิมพ์ย่อม ขัดกันอย่างชัดเจน

5.  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลาย  เห็นว่าร่างกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ที่ฝ่ายวิชาชีพได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาก่อน หน้านี้ มีเนื้อหาหลักการดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้วดำเนินการอยู่


องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงขอยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนทั้งหลายว่า จะดำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และสนับสนุนการถอนตัวของผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกจากคณะกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ เพื่อยืนยันถึงหลักการความเป็นอิสระของวิชาชีพหนังสือพิมพ์

 

๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐