แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3พฤษภาคม 2567 “เสรีภาพสื่อกับความยั่งยืนในยุค AI”

แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2567

“เสรีภาพสื่อกับความยั่งยืนในยุค AI”

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประกาศให้วันที่ 3พฤษภาคม ของทุกปี เป็น“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และกระตุ้นให้สังคมได้คำนึงถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชนทำให้เกิดการรณรงค์ในประเด็น “เสรีภาพสื่อกับความยั่งยืนในยุค AI”การนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านต่าง ๆ ตามสถานการณ์ของสังคมยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็น การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องแสวงหาข้อมูลและนำมาเผยแพร่ให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนได้ รับรู้และมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในสถานการณ์นั้นๆ

ทั้งนี้การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ยังมีอุปสรรคอยู่มากในหลายสถานการณ์นับเป็นความท้าทายของสื่อมวลชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มีการพัฒนาและส่งต่อเพื่อการประยุกต์ใช้อย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง สิ่งสำคัญการนำเสนอข้อมูลข่าวสารยังต้องมีความโปรงใส่ ถูกต้อง ครบถ้วน เหมาะสม เป็นกลาง จะช่วยให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์นำมาประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะทิศทางที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ 

3 พฤษภาคม 2567 ครบรอบวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกอีกครั้ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและองค์กรสื่อมวลชน ดังนี้ 

1.เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพความเป็นอิสระของสื่อมวลชน และสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อ ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐอย่างสะดวก รวดเร็ว  โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบโครงการของรัฐบาลที่ใช้เงินภาษีประชาชน

2.เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนให้สื่อเกิดความเข้มแข็ง มีหลักประกันในการทำงาน ขณะที่สื่อยังต้องเผชิญปัญหาท้าทายหลายด้าน ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ การเลิกจ้าง ความอยู่รอดในวิชาชีพ 

3.เรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อ การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ  รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่คุกคามสื่อและประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการดำเนินคดี การคุกคามต่อร่างกายและทรัพย์สิน

4. เรียกร้องต่อองค์กรสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบตามกรอบจริยธรรม นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความ “โปร่งใส ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม” กับทุกฝ่าย ควบคู่กับความรับผิดชอบ

ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องเพื่อนร่วมวิชาชีพต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคในสถานการณ์ที่ยากลำบากและท้าทายในยุคนี้   เสรีภาพสื่อมวลชนถือได้ว่าเป็นหลักการสำคัญของสังคมในระบอบประชาธิปไตย การเคารพปกป้องเสรีภาพจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชน เพื่อให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

3 พฤษภาคม 2567