สถานการณ์สื่อในช่วงเดือนมกราคม 2553
โดย ศูนย์เฝ้าระวังการคุมคามสื่อ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สถานการณ์สื่อในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2553 ไม่มีเหตุการณ์คุกคามสื่อถึงขั้นรุนแรง แต่กลับมีพฤติกรรมส่อไปในทางคุกคามหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในระดับมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นยังมีความเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายสื่อของรัฐ การดำเนินคดีทางกฎหมายกับสื่อที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การยุติบทบาทและความคืบหน้าในกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อ
เริ่มจากการปรับนโยบายของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.11) หรือช่อง11 ซึ่งเป็นสื่อในการกับดูแลของรัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารงานของสทท.11 กลับไปใช้ระบบเช่าเวลาแทนการร่วมผลิตกับเอกชน เพราะระบบร่วมผลิตทำให้ราชการได้ประโยชน์น้อยกว่าระบบเช่าเวลา
ส่วนประเด็นความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ....ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้พิจารณาตัวกฎหมายเสร็จสิ้นแล้วทั้งสิ้น 88 มาตรา จากนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันพิจารณาวาระ 2-3 ในสมัยประชุมนี้ ที่เริ่มเปิดปลายเดือนมกราคม 2553 หากผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยคาดว่า กลางปี 2553 กฎหมายน่าจะมีผลบังคับใช้
สำหรับสถานการณ์การคุกคามสื่อ ไม่ได้เกิดขึ้นกับสื่อกระแสหลัก แต่เกิดขึ้นหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัตของนักศึกษา วิชาเอกนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในนสพ.ฝึกปฏิบัติที่ส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลพิราบน้อย และรางวัลริต้า ปาติยะเสวีของหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ รางวัลข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติดีเด่น ข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น และรางวัลสารคดีเชิงข่าวดีเด่นในสถาบันอุดมศึกษา ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
โดยตัวแทนกองบรรณาธิการนสพ.ลานมะพร้าว ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา, กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอความเป็นธรรมหลังจากถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคน สั่งเรียกเก็บหนังสือพิมพ์ พร้อมกับขู่จะยื่นเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัยเพื่อสั่งปิดนสพ.ลานมะพร้าวต่อไป
ขณะที่อธิการบดีม.บูรพาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารม.บูรพามีมติว่า นสพ.ลานมะพร้าว เป็นการฝึกปฏิบัติทางวิชาการของนิสิต มิใช่หนังสือพิมพ์ที่ขอหัวและจดแจ้งการทำสื่อสิ่งพิมพ์ ตามพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งบทความต่างๆต้องไม่กระทบกับบุคคลที่สาม ดังนั้นผู้รับผิดชอบหลัก คือ ภาควิชานิเทศศาสตร์ ภายใต้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งสามารถดำเนินการเปิด – ปิดหรือปรับปรุงต่าง ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร
ส่วนกรณีที่มีการดำเนินคดีกับสื่อที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรได้แจ้งความดำเนินคดีกับบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ กรณีตีพิมพ์และวางจำหน่ายโดยไม่ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนการพิมพ์ตามมาตรา 11 ของ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 และยังกระทำความผิดในมาตรา 9 ที่กำหนดให้ผู้พิมพ์ ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา 8 จำนวน 2 ฉบับ ให้กับหอสมุดแห่งชาติ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เผยแพร่
และประเด็นสุดท้ายเป็นการหยุดผลิต หยุดจำหน่าย และให้พนักงานลาออกจำนวนมากของหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์รายวัน ซึ่งเป็นนสพ.ที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 รวมแล้วมีการวางจำหน่าย 581 ฉบับ ซึ่งฉบับสุดท้ายคือฉบับวันที่ 15 ม.ค. 2553