แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง แนวปฏิบัติในการทำข่าว ช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556

 

แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

เรื่อง แนวปฏิบัติในการทำข่าว ช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556

ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 ในพื้นที่ 3 เขตของกทม. คือ เขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

สององค์กรวิชาชีพสื่อ โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอยืนยันถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะสามารถเข้าทุกพื้นที่ของการชุมนุมทางการเมืองเพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ แต่จากเหตุการณ์ การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนหลายคนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวทั้งสอง จึงประชุมร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อวางแนวปฏิบัติร่วมกันดังนี้                  
1. กรณี "ปลอกแขน" สำหรับนักข่าวนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสังเกตเห็นนักข่าวได้จากระยะไกล หรือในสภาวะชุลมุน แต่ปลอกแขนไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ระบุถึงการลงทะเบียนว่านักข่าวคนใดที่สามารถทำข่าวในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ตามกรอบสิทธิเสรีภาพของวิชาชีพสื่อสารมวลชนแล้ว นักข่าวย่อมได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ในสนามข่าว โดยทางสมาคมนักข่าวฯ ได้เน้นย้ำกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ให้ใช้ดุลยพินิจตามกรอบกฎหมายพื้นฐาน โดยอาศัยเจตนา และ พฤติกรรม ของนักข่าวและสื่อสารมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ หากนักข่าวมิได้แสดงเจตนา หรือ พฤติกรรม ในการยั่วยุ หรือ ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ นักข่าวที่อยู่ในสถานการณ์การชุมนุมไม่ถือว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุม และ จะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ ไม่ว่านักข่าวผู้นั้นจะสวมปลอกแขนหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ สมาคมนักข่าวฯ ขอให้นักข่าวติดปลอกแขนของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และพกบัตรนักข่าวของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดสามารถขอปลอกแขนดังกล่าวได้ที่สมาคมนักข่าวฯ โดยให้ทำจดหมาย ถึง นายกสมาคมฯ เพื่อระบุจำนวนปลอกแขนที่ต้องการ ส่วนการออกหมายเลขที่จะเขียนบนปลอกแขนนั้นให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการเอง

สมาคมนักข่าวฯ สนับสนุนให้หน่วยงานต้นสังกัด ทำหนังสือถึงนายกสมาคมนักข่าวฯ เพื่อประสานงานขอปลอกแขนดังกล่าว ส่วนสำนักข่าว และ นักข่าวที่ไม่ได้สังกัดกับทางสมาคมนักข่าวฯ เช่น นักข่าวอิสระ นักข่าวภูมิภาค และ นักข่าวต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการขอปลอกแขนดังกล่าวจากสมาคมนักข่าวฯ ได้ โดยนำหลักฐานจากต้นสังกัด หรือ สำนักข่าวที่ตนเองทำข่าวมายืนยัน

2. "การจัดพื้นที่ปลอดภัย" และ "การให้เวลาเพียงพอ" ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับปากและยืนยันว่า ในกรณีที่จะมีการสลายการชุมนุม หรือ ระงับเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประกาศเตือนอย่างเป็นระบบ และ ให้เวลาเพียงพอ แก่สื่อมวลชนในพื้นที่ในการเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ ที่อาจมีความรุนแรง แต่ในกรณีที่สื่อมวลชนเลือกที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อ ในขณะที่เกิดเหตุรุนแรง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะจัดพื้นที่ปลอดภัยให้กับสื่อมวลชน ในกรณีที่มีการใช้ แก๊สน้ำตา หรือ เครื่องมือปราบจลาจลรูปแบบต่าง ๆ โดยสื่อมวลชนต้องแสดงปลอกแขนที่มีรหัสตัวเลขร่วมกับบัตรสื่อมวลชนจากหน่วยงานต้นสังกัดในการเข้าพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว

3. ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกลาง เพื่อทำหน้าที่ประสานความเข้าใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน ในกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น โดยสื่อมวลชนสามารถสอบถามชื่อของผู้ทำหน้าที่ประสานงานกลางได้จากองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอสนับสนุน ให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่ในการเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มแข็ง  เพื่อประโยชน์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง และเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเคารพสิทธิเสรีภาพ และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน


สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

3  สิงหาคม 2556