แถลงการณ์ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่อง หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนเสรีภาพสื่อ

แถลงการณ์ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ

เรื่อง หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนเสรีภาพสื่อ

การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อ้างเหตุการชุมนุมที่เกินขอบเขต ก่อความรุนแรงโดยกลุ่มผู้ที่ไม่ประสงค์ดี จนประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อีกทั้งการเสนอข้อมูล ข่าวสารในสื่อต่างๆ ในทางที่ยุยง บิดเบือน สร้างความแตกแยก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นับเป็นการส่งสัญญาณที่รัฐบาลอาจออกข้อกำหนด ในลักษณะที่เป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น การห้ามนำเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้ออ้างว่าสื่อมีเจตนาบิดเบือนข้อมูล ข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 4 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีความเห็นร่วมกันว่า การใช้อำนาจเช่นนี้ ยิ่งจะสร้างความขัดแย้งให้สังคมมากขึ้น และอาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

เมื่อเหตุที่รัฐบาลอ้างในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีข้อโต้แย้ง ยังมีข้อสงสัยว่า เป็น “สถานการณ์ที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง” หรือไม่ ข้ออ้างดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะอาศัยเป็นข้อยกเว้น ในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้การรับรองว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้”   ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พึงต้องระมัดระวังมิให้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน แต่ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องระมัดระวังในการใช้เสรีภาพภายในขอบเขตความรับผิดชอบด้วย

รัฐบาลอ้างเหตุการทำหน้าที่ของสื่อ ที่อาจสร้างความแตกแยก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายความถึงความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อำนาจแบบครอบจักรวาลเช่นนี้ หากผู้ใช้อำนาจไม่มีความเที่ยงธรรม หรือใช้อำนาจโดยไม่สุจริต ใช้อำนาจโดยเลือกปฏิบัติแล้ว ก็จะก่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารแต่เพียงด้านเดียว เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน โดยอาศัยกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือจัดการสื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติเท่านั้น โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ที่รัฐบาลได้ใช้เป็นสื่อในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง พูดข้างเดียวโดยไม่เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับฝ่ายอื่นๆ ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือเอกชน ประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ในท่ามกลางสถานการณ์อันเปราะบางของบ้านเมือง ความอ่อนไหวในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของประชาชนทุกฝ่ายในขณะนี้ คือการถ่ายทอดวาทกรรม การกระทำซ้ำที่สร้างและสั่งสมความเกลียดชัง หรือ hate speech ที่แม้มิได้ส่งผลกระทบในทันที แต่ในระยะเวลาหนึ่งจะนำมาสู่ความโกรธแค้นและลงมือกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งด้วยความรุนแรงในที่สุด

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ใช้ความละเอียด รอบคอบในการตราข้อกำหนดใดๆ ในลักษณะที่จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน รัฐบาลพึงต้องตระหนักว่าเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงมิอาจแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทุกกรณี  ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องใส่ใจในบทบาท การแถลงหรือเผยแพร่ข้อมูลใดๆ จากรัฐบาลหรือหน่วยงานในกำกับ จะต้องไม่บิดเบือน ยั่วยุ สร้างความโกรธแค้น ไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชน ผู้ชุมนุมก็ไม่ควรกระทำการยั่วยุหรือสุ่มเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า เช่นเดียวกับสื่อมวลชนทุกแขนงก็ต้องระวังไม่รายงานข่าวที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง ต้องรับผิดชอบและช่วยสร้างสังคมให้มีสติ ร่วมกันหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

22 มกราคม 2557