แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2557
“เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ”
ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย ซึ่งในปี พ.ศ.2557 ทางยูเนสโกให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนาสื่อ ความปลอดภัยของสื่อและหลักนิติธรรม และความอยู่รอดและเกียรติภูมิของสื่อ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวล้วนมีความสำคัญต่อการส่งเสริม และปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อทั้งสิ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนหลักการดังกล่าว และต้องการเห็นสื่อทุกประเภทตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและยึดมั่นในหลักการ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”
สำหรับสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในรอบปีที่ผ่านมา องค์กรสื่อมวลชนยังตกเป็นเป้าหมายของการถูกปิดล้อมและกดดันโดยมวลชนของแต่ละฝ่าย รวมทั้งนักข่าวจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการเข้าไปทำข่าวในพื้นที่การชุมนุมทางการเมือง
ที่สำคัญในยุคที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีได้หลากหลายช่องทางและรายการที่ตัวเองสนใจ ทั้งจากวิทยุ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอีก 24 ช่อง นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ “รับสาร” อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังเป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสาร ภาพข่าว หรือเผยแพร่คลิปออกไปอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายสื่อต่างๆ
แต่อีกด้านหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังพบว่ามีการนำเสนอข้อความ หรือการสร้างวาทกรรม หรือภาพตัดต่อในรูปแบบต่างๆ ที่อาจสร้างความเกลียดชังจนนำไปสู่ความรุนแรงและขยายความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังสามารถส่งต่อความเกลียดชังหรือความขัดแย้งได้ง่าย โดยการกดไลค์ กดแชร์ หรือนำลิงค์ข้อความส่งต่อให้กับผู้อื่น รวมทั้งสื่อประเภทต่างๆ มีการนำเสนอและผลิตซ้ำภาพเหตุการณ์ความรุนแรงอันจะนำไปสู่ความเคยชินของประชาชนผู้รับข้อมูลจนคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ร่วมกันตระหนักถึงการส่งต่อข้อความ หรือการเผยแพร่ภาพที่จะนำไปสู่การ “สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง และเพิ่มความขัดแย้ง” ดังต่อไปนี้
1.เรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกแขนงตระหนักในการใช้ ”เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลและสังคมโดยรวม ควรงดเว้นการนำเสนอและผลิตซ้ำ ด้วยการใช้ภาษา ข้อความ หรือภาพข่าวที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ซึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรงที่จะตามมา
2.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งในสังคม” หยุดสร้าง หยุดใช้ “วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง ผ่านช่องทางสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของแต่ละฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อสังคมโดยรวม
3.เรียกร้องให้ประชาชนและผู้ใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารด้วยการกลั่นกรองอย่างรอบด้าน และระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังและความขัดแย้งในวงกว้าง
4.เรียกร้องให้ภาครัฐ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์กรวิชาชีพสื่อ ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติในการเฝ้าระวังและกำกับดูแลสื่อทุกประเภท ให้อยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพและบทบัญญัติของกฎหมาย
สมาคมนักข่าวทั้งสอง ขอย้ำเตือนว่ารัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนเพราะเสรีภาพสื่อมวลชนมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดความโปร่งใสและเกิดธรรมาภิบาลเพื่อเป็นหลักประกันว่า สังคมจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
2 พฤษภาคม 2557
//////////////////////////////////////////////////
Statement on the World Press Freedom Day, May 3, 2014
“Stop Hate Speech”
May 3 of every year, as announced by the United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization, is a date which celebrates the principles of press freedom; to emphasize the fundamental right of freedom of expression which allows the media to expose the truth to the public freely and safely. In 2014, UNESCO focuses on three inter-related themes: media’s importance in development; safety of journalists and the rule of law; and the sustainability and integrity of journalism.
The Thai Journalists Association (TJA) and the Thai Broadcast Journalists Association (TBJA) support the principle and would like to see all the media appreciate such freedom and enjoy it on the principle of responsibility.
Amid the years of political turmoil, Thai media agencies in the past year are still the targets of surrounding and pressuring by supporters of the groups with different political opinions. Besides, many journalists were injured during their coverage of the political gathering.
Meanwhile in the digital age, the Thai audience have the various choices of the media to consume. At the same time, they can turn themselves in to the sources or disseminators of information.
Hereby, some people present the messages, discourse or doctored pictures that might lead to violence and worsen the conflicts. More importantly, social media users can easily spread hate speech at their fingertips by clicking the "Like" or "Share" buttons. Reproduction of violent messages and pictures can lead to people's familiarity with violence.
On the occasion the World Press Freedom Day, the TJA and the TBJA call on all groups of people to realize and beware of their roles in invoking hatred and violence as well as worsening violence. All should avoid such conducts.
1. We call on all the media to keep in mind freedom should be enjoyed responsibly. The media should be considerate as their work would have an impact on individuals and society. They should avoid using or reproducing hate speech, messages or pictures that can lead to hatred or violence.
2. We call on the conflicting parties to stop using or spreading hate speeches through variety of media.
3. We call on the people and media users to carefully consider the information they receive, as well as to contemplate sharing the information which might lead to hatred and conflicts in society.
4. We call on the government sector, the National Broadcasting and Telecommunications Commission as well as all the media agencies to unselectively play their roles and make sure that all the media agencies perform their duties under the professional code of conducts and the laws.
The TJA and the TBJA assert freedom of the press as an important part to promote transparency and good governance, and at the same time ensure justice for all in society.
The Thai Journalists Association,
The Thai Broadcast Journalists Association
May 2, 2014