ปาฐกถาพิเศษ “ภาพจริง-ภาพลวง : สังคมแห่งนิติรัฐ”

 

ปาฐกถาพิเศษ “ภาพจริง-ภาพลวง : สังคมแห่งนิติรัฐ”

โดย      ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์   อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2547  ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

.........................................................................................................................................

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ผมได้รับมอบหมายให้มาพูดเรื่อง “สังคมแห่งนิติรัฐ” ขยายเอาไว้ข้างต้นว่าเป็น “ภาพจริง-ภาพลวง” ไม่ทราบว่าคนจัดตั้งใจจะให้มีลักษณะเป็นคำคู่คล้าย ๆ กับเรื่อง “รากหญ้า รากแก้ว” หรือไม่ ดูล้าย ๆ กัน ในฐานะนักกฎหมาย ขออนุญาตเรียนว่าหัวข้อที่ตั้งใจอยากจะนำเสนอคือเรื่อง “สังคมแห่งนิติรัฐ” ส่วนจะเป็นภาพจริงหรือภาพลวงอย่างไร คงแล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละท่าน

ถ้าดูประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางการเมืองในระยะหลายร้อยปีที่ผ่านมา การเริ่มสถาปนาความเป็นสถาบันของรัฐในยุคสมัยใหม่ ที่เข้าใจว่ามีขึ้นเมื่อประมาณไม่กี่ร้อยปีมานี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์ ความมั่นคงของมนุษย์เป็นสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่น และทำให้กลไกทางการเมืองการปกครองมีความต่อเนื่อง กลายเป็นสถาบันโดยไม่ได้ผูกพันอยู่กับตัวบุคคลของคนที่เป็นประมุขอีกต่อไป

ถ้าการสถาปนารัฐในแนวความคิดสมัยใหม่เป็นพัฒนาการที่เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติและทำให้เกิดความก้าวหน้า ทำให้มีพัฒนาการของศิลปวิทยาการทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ภายใต้แนวคิดในเรื่องเขตแดน แนวคิดในเรื่องอำนาจของรัฐ ถ้าตรงนั่นเป็นพัฒนาการที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ผมมีความเชื่อว่ามีการพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง คือการพัฒนาจากรัฐไปสู่รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย หรือที่เรียกเป็นภาษาปัจุบันว่า“นิติรัฐ” ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในทางการเมือง การปกครองและกฎหมาย นับตั้งแต่มีการสถาปนาระบบรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา เพราะเป็นการทำให้รัฐที่เคยถูกปกครองอยู่ภายใต้การตัดสินใจโดยเด็ดขาด ภายใต้ดุลยพินิจ ภายใต้การตัดสินของผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว

กลายเป็นรัฐที่ปกครองภายใต้กฎเกณฑ์ ภายใต้กติกาที่มีลักษณะทั่วไป และไม่อาจเลือกปฏิบัติได้ ทั้งเป็นรัฐที่วางอยู่บนพื้นฐานของการรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกัน

นิติรัฐ หรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายจึงเป็นนวัตกรรมขั้นสูงสุดของนิติรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในโลก ในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปีมานี้ ที่เกี่ยวกับรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายของนิติรัฐที่จริงแล้วเป็นผลิตผลทางการเมืองการปกครอง

ถ้าหากว่าคนนำเสนอองค์ประกอบ นำเสนอลักษณะที่ทำให้รัฐได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับหลักการพื้นฐานที่เป็นรากฐานสำคัญของหลักการนิติรัฐ เพราะรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายไม่ได้มีความหมายแค่รัฐมีกฎหมายใช้ในการปกครองเท่านั้น รัฐทุกรัฐบนพื้นฐานของการเป็นบริหารจัดการชีวิตของคนจำเป็นต้องมีกฎหมายสำหรับเป็นกฎเกณฑ์ในการปกครองในระบบนิติรัฐ

รัฐที่มีกฎหมายกับรัฐที่เป็นนิติรัฐนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานหลายประการ อยู่บนการที่รัฐนั้นๆ มีสิ่งซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของนิติรัฐทั้ง 3 ประการนี้โดยครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

พื้นฐานทั้ง 3 ประการนี้ได้แก่ประการที่ 1 กฏหมายเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐ และเป็นแบบแผนของชีวิตสาธารณะภายในรัฐจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ภายใต้ระบบและหลักการว่าด้วยลำดับชั้นของกฎหมายสูงสุดป้องกันและรับประกันสิทธิเสรีภาพ มีระบบการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอันมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นด้วย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานประการแรก

ประการที่ 2 ที่ขาดเสียมิได้ของการเป็นนิติรัฐ คือ จะต้องมีการแบ่งแยกองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจากกันมิให้

ใครคนใด คนหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และมิให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

นอกจากนั้นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่างๆของรัฐนั้นจะต้องมีอยู่อย่างจำกัดตามที่กำหนดไว้ในกฏหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

นี่คือพื้นฐานของหลักที่ว่าด้วยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฏหมายปกครองในทุกประเทศ

ประการที่ 3 หลักการพื้นฐานของนิติรัฐคือ รัฐที่เรียกที่ตัวเองว่าเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายนั้นจะต้องมีระบบองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระคอยควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

องค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี่แหละ เป็นหลักการพื้นฐานที่ชี้ว่ารัฐใดรัฐหนึ่งมีลักษณะเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายหรือไม่เพียงใด

หลักการพื้นฐานทั้ง 3 ประการนี้ อาจจะมีความเป็นนามธรรม และมีขอบเขตที่กว้างขวางพอสมควร อาจจะคิดแล้วอธิบายได้แตกต่างกันออกไป ขออธิบายในรายละเอียดที่คิดว่าจำเป็น

องค์ประกอบประการที่ 1 เวลาพูดถึงว่ากฎหมายจะต้องเป็นหัวใจของรัฐ รัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายจะต้องยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ มีความหมายในรายละเอียดหลายประการที่พึงจะต้องได้รับการพิจารณา

รายละเอียดประการแรกในกรอบความคิดเรื่องกฎหมายเป็นใหญ่ในรัฐนั้น หมายความว่ารัฐมีหน้าที่ต้องเคารพกฏหมาย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ แม้ว่ากฎหมายไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเครื่องหมายเครื่องมือที่รัฐหรือองค์กรของรัฐกำหนดขึ้นมาเพื่อบังคับการ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐ แม้ว่ากฎหมายจะมาจากการที่องค์กรของรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นก็ตาม เมื่อมีฐานะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแล้วผ่านกระบวนการที่ชอบรัฐและองค์กรของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเคารพกฎหมายเหล่านั้นเมื่อยังไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

กฎหมายที่ตราขึ้นแล้วโดยกระบวนการที่ชอบย่อมมีชีวิตที่แตกต่างแยกต่างหากจากองค์กรที่ตรากฎหมายจนกว่าจะได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายนั้นโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยชอบ  เป็นรายละเอียดประการแรกที่อยากจะขยายความในส่วนที่บอกว่ากฎหมายเป็นหัวใจหรือเป็นพื้นฐานของนิติรัฐ

รายละเอียดอีกประการหนึ่งที่พึงจะต้องให้ความสำคัญคือ ภายใต้คอนเซ็ปต์เรื่องกฎหมายเป็นหัวใจของนิติรัฐนั้น รัฐธรรมนูญย่อมเป็นกฎหมายสูงสุดที่รับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญเป็นที่มาของกฎหมายอื่นๆ ทั้งหมดในรัฐที่กฎหมายอื่นต้องให้ความเคารพและไม่อาจล่วงละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

กฎหมายกล่าวโดยเฉพาะคือกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องมือในการบริหารจัดการ หรือเป็นวิธีการในการนำไปสู่ประโยชน์สุขของประชาชนเท่านั้น หากแต่การที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และวางหลักเกณฑ์ในการรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมีเนื้อหาและมีคุณค่าในตัวของมันเอง และไม่อาจถูกล่วงละเมิดได้

ขอบเขตและสาระของสิทธิเสรีภาพที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นคุณค่า เป็นจุดมุ่งหมายบางประการโดยตัวของมันเองที่ไม่อาจจะถูกละเลยได้ และไม่อาจจะถูกถือได้ว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการนำไปสู่ประโยชน์สาธารณะบางประการที่อาจจะใช้หรือไม่ใช้ในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้เท่านั้น

ประการต่อมาที่อยากจะลงไปในรายละเอียดว่าด้วยหลักการของกฎหมายว่าด้วยหลักพื้นฐาน เป็นหัวใจของนิติรัฐก็คือ นิติรัฐจำเป็นต้องมีหลักที่ว่าด้วยลำดับชั้นของกฎหมาย ที่ใช้บังคับในรัฐที่มีความสำคัญแตกต่างกัน ไปตามความใกล้ไกลจากรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด

เพื่อให้หลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นความจริงและสามารถใช้บังคับได้จึงจำเป็นต้องมีระบบควบคุมตรวจสอบมิให้กฎหมายลำดับต่ำกว่าไปทำลายหลักการของกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า และมีการควบคุมระบบกฎหมายไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ และปกป้องหลักการต่างๆตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถมีความศักดิ์สิทธิ และให้มีผลใช้บังคับอย่างแท้จริง

องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมิให้กฏหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ย่อมต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วผูกพันธ์ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ด้วย ภาระสำคัญขององค์กรเหล่านี้คือการปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้มีผลใช้บังคับได้ มิใช่การใช้อำนาจหน้าที่ที่เหนือกว่าหรือเปลี่ยนแปลงสาระของรัฐธรรมนูญโดยเหตุที่ตนเป็นผู้มีอำนาจปกป้องวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ

นั่นเป็นสิ่งที่อยากจะอธิบายในกรอบความคิดแรกเรื่องของกฏหมาย หลักการพื้นฐานเป็นหัวใจสำคัญของนิติรัฐ รัฐที่จะเป็นนิติรัฐต้องเป็นรัฐที่เคารพกฏหมาย

ในประเด็นที่ 2 คือ จะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจและมีการกำหนดองค์กรที่ใช้อำนาจในรัฐ มีขอบเขตอำนาจหน้าที่จำกัดตามที่กำหนดในกฏหมาย ประเด็นนี้มีข้อที่จะต้องคำนึงประกอบการพิจารณาความเป็นนิติรัฐหรือความไม่เป็นนิติรัฐของสังคมต่างๆ หลายประการ ขอขยายความ 2-3 ประการต่อไปนี้

เวลาที่พูดถึงหลักเกณฑ์ว่าด้วยการแบ่งแยกเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจและการมีอำนาจหน้าที่ที่จำกัด ประเด็นแรกที่อยากเสนอคือ นิติรัฐปฏิเสธอำนาจเด็ดขาดและอำนาจรวมศูนย์ หากแต่แนวความคิดของรัฐที่ปกครองโดยกฏหมายนั้นต้องให้อำนาจ มีการแบ่งแยกออกจากกันเพื่อการถ่วงดุลหรือยับยั้งอำนาจด้วยกันเอง มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

ดังนั้นในรัฐที่ปกครองโดยกฏหมายจึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่ปกครองโดยกฏหมาย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรของรัฐร่วมกันตัดสินใจและรับผิดชอบในภาระกิจสาธารณะ

การมีอำนาจรวมศูนย์หรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดกับหลักการของนิติรัฐอย่างชัดแจ้ง ประเด็นต่อมาที่ควรคำนึงภายในกรอบความคิดนี้ก็คือ องค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฏหมาย มีหน้าที่ต้องเคารพกฏหมาย กฏหมายเป็นที่มาของอำนาจ หากไม่มีที่มาของกฏหมายก็ไม่มีอำนาจของเจ้าหน้าที่และไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้บุคคลอื่นที่จะต้องเชื่อฟังหรือปฏิบัติตามการตัดสินใจ การสั่งการของเจ้าหน้าที่

เมื่อใดก็ตามที่องค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิด ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายย่อมยากที่จะทำให้บุคคลอื่นเชื่อถือยอมรับฐานะความเหนือกว่าของเจ้าหน้าที่และยอมปฏิบัติตามคำสั่งการของเจ้าหน้าที่เพราะการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดหลักการของกฏหมายก็ย่อมหมายความว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธกฏหมาย ซึ่งมีฐานะเป็นฐานที่มาและเป็นสิ่งซึ่งรับรองที่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายให้เข้ามามีอำนาจปฏิบัติงานหรือสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดได้

เพราะฉะนั้นถ้าหากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธกฏหมายก็เท่ากับเจ้าหน้าที่ปฏิเสธฐานที่มาแห่งความชอบธรรม ฐานที่มาของการเข้าสู่อำนาจของตัวเอง และเจ้าหน้าที่ก็ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่อีกต่อไป ประชาชนทั้งหลายก็ไม่มีหน้าที่ที่ต้องเคารพเชื่อฟังการสั่งการของเจ้าหน้าที่ เพราะกฏหมายซึ่งเป็นฐานที่มาของเจ้าหน้าที่นั้นถูกเจ้าหน้าที่ผู้นั้นปฏิเสธหรือละเลยเสียเองตั้งแต่ทีแรกแล้ว

ประการสุดท้ายในกรอบความคิดนี้ คือ ในขบวนการใช้อำนาจของรัฐแต่ละระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องถูกควบคุมตรวจสอบตามลำดับชั้นของการบังคับบัญชาเพื่อให้การกระทำต่างๆ เป็นไปตามกฏหมาย องค์กรที่อยู่สูงสุดในสายบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องควบคุมตรวจสอบและลงโทษการละเมิดกฏหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้เป็นแบบอย่างและเพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นๆ เอาอย่างจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ของการไม่เคารพกฏหมาย จนกระทั่งกฏหมายไม่ศักดิ์สิทธิแล้วนำไปสู่การล่มสลายของโครงสร้างอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในที่สุด

หลักการประการที่ 3 ของนิติรัฐ คือ ระบบตุลาการที่เป็นอิสระและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามกฏหมายนั้นมีข้อที่ควรจะคำนึงอยู่อีกหลายประการ

ประการแรก รัฐที่ปกครองโดยกฏหมายนั้นจะต้องมีศาลที่มีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพตามกฏหมายและปกป้องนิติรัฐ องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระเหล่านี้อาจจะมีได้หลากหลายแตกต่างกันไป ศาลยุติธรรมอาจจะทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน จากการละเมิดของบุคคลอื่นๆ ศาลปกครองทำหน้าที่ปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจหน้าที่ที่เกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ดูแลมิให้หลักการพื้นฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ถูกละเมิด ศาลเหล่านี้ไม่เพียงแต่ต้องมีผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการทางกฏหมายและนิติรัฐเท่านั้น หากแต่จะต้องมีอิสระอย่างแท้จริงในการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

นอกจากนั้นรัฐจะต้องจัดระบบการบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่มีประสิทธิภาพ ระบบการบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่มีประสิทธิภาพ มีกลไกและมีเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการให้การบังคับตามคำพิพากษาเป็นผลอย่างรวดเร็ว เพื่อทำลายกระบวนการหรือทำลายการปฏิบัติที่มิชอบให้เห็น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำที่ละเมิดกฏหมายขึ้น

นอกจากนั้นรัฐยังมีความจำเป็นจะต้องจัดระบบและกลไกรับรองความเป็นอิสระ ปราศจากความแทรกแซงจากทุกฝ่ายให้แก่องค์กรที่ทำหน้าที่ตุลาการ หรืออาจจะเป็นเรื่องระบบที่จะให้ได้มาซึ่งตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้พิพากษา ระบบหรือกระบวนการบริหารงานบุคคล งบประมาณ ค่าตอบแทน ตลอดจนระบบการปฏิบัติงานหรือองค์กรเหล่านี้จะสามารถปฏิบัติงานได้เป็นอิสระแยกออกจากองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายอื่นๆได้อย่างแท้จริง นั้นคือหลักการสำคัญขององค์ประกอบ 3 ประการว่าด้วยการปกครองตามกฏหมายในสังคม เป็นประเด็นแรก

ประเด็นที่ 2 คือปัจจัยที่สำคัญในการสถาปนาและปกป้องนิติรัฐ เพื่อให้หลักการปกครองโดยกฏหมายและปกป้องนิติรัฐเป็นไปตามกฏหมายอย่างแท้จริง

รัฐใดรัฐหนึ่ง สังคมใดสังคมหนึ่งที่ปกครองโดยกฏหมายเป็นสังคมที่เป็นนิติรัฐ หลักการปกครองโดย

กฏหมายมีความสำคัญเป็นที่ยอมรับมากน้อยเพียงใด จนถึงขนาดที่ว่าหลักการดังกล่าวจะสามารถปกป้องรักษาสังคมนั้นๆ ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ขึ้นอยู่กับความรับรู้ ความเข้าใจของประชาชนในแนวความคิดของประชาชนในเรื่องการปกครองโดยกฏหมายดังกล่าว

ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของการปกครองโดยกฏหมายในสังคมใด สังคมหนึ่งนั้น มีความเห็นว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆ 5 ประการดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 ในสังคมนั้นๆ มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของสิทธิส่วนบุคคล และวางหลักเกณฑ์ในเรื่องความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาสังคมของคนไทย จะพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มีหลักการดังกล่าวนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองนับตั้งแต่มีการสถาปนารัฐธรรมนูญการปกครองขึ้นมาในประเทศ

ประการที่ 2 มีหลักเกณฑ์ในเรื่ององค์กรตุลาการที่เป็นอิสระที่จะใช้อำนาจในการควบคุมตรวจสอบเฉพาะด้านกำหนดเอาไว้ในกฏหมายสูงสุด ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยจะพบหลักเกณฑ์ในเรื่ององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆที่มีอยู่อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องทัศนคติ ความเข้าใจ เรื่องขององค์กรอิสระบางองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาคือทัศนคติขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้มักจะมีความคิดหรือมีความเชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่มีชีวิต หากแต่ขึ้นอยู่กับการตีความ การกำหนดขององค์กรอิสระว่ารัฐธรรมนูญควรจะมีความมุ่งหมาย มีเจตนาอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏชัดเจนที่สุดในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องสุดท้าย องค์ประกอบในประการที่ 3 ที่จะทำให้นิติรัฐดำรงอยู่ในสังคมใด สังคมหนึ่งได้หรือไม่ ก็คือ ทัศนคติและความเข้าใจต่อหลักการปกครองโดยกฏหมายขององค์กรที่มีอำนาจรัฐ จะต้องมีความเข้าใจเห็นคุณค่าและตระหนักว่านิติรัฐเป็นหลักการที่จำเป็นและทรงคุณค่าและไม่อาจขาดได้ของรัฐสมัยใหม่ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด เรื่อยไปจนถึงการปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพยึดมั่นในความศักดิ์สิทธิของกฏหมาย

ซึ่งหากพิจารณาจากบริบทของสังคมไทยแล้วจะพบว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่มีปัญหามากที่สุดประการหนึ่งในระบบการเมืองการปกครองของไทย ที่มักจะให้ความสนใจกับผู้นำและภาวะการนำมากยิ่งกว่าหลักเกณฑ์และหลักการทางกฏหมาย

องค์ประกอบประการที่ 4 ที่จะปกป้องการสถาปนานิติรัฐให้มั่นคงได้ในสังคมใดสังคมหนึ่งคือสำนึกและความหวงแหนในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการตระหนักรู้ว่ามีหลักประกันสิทธิเสรีภาพโดยกฏหมายซึ่งเป็นกลไกที่ขาดเสียมิได้ในรัฐสมัยใหม่ของประชาชนของรัฐในวงกว้าง

การตระหนักรู้และสำนึกของประชาชนในวงกว้างจะเป็นเกราะให้การปกครองโดยกฏหมายไม่ให้ถูกล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งคนใด หรือโดยผู้ปกครองของรัฐได้ สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันมีความรู้สึกว่าประชาชนส่วนใหญ่ถูกทำให้เห็นว่าประโยชน์หรือเป้าหมายเฉพาะหน้าเท่านั้นที่มีความสำคัญและอาจจะจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เรื่อยไปจนถึงแนวคิดในเรื่องการยึดมั่นในตัวบุคคลหรือบุคคลิกภาพของตัวผู้นำคนใดคนหนึ่ง จนกระทั่งละเลยหลักการและกฏเกณฑ์ต่างๆ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาและสถาปนาแนวคิดในเรื่องหลักการปกครองโดยกฏหมายขึ้นในสังคม

องค์ประกอบประการสุดท้ายที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสถาปนาและปกป้องหลักการสำคัญในการปกครอง

โดยกฏหมาย คือการที่รัฐในยุคสมัยปัจจุบันนั้นได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีความเข้าใจในเรื่องบทบาทและการตระหนักรู้ของสื่อสารมวลชนสาขาต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างทัศนคติและแนวคิดที่ยึดมั่นในหลักเกณฑ์ของกฏหมาย หลักการปกครองโดยกฏหมายและการมองไปถึงอนาคตข้างหน้าโดยไม่ยึดติดหรือเห็นแค่เพียงประโยชน์ของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น

การตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างสำคัญในโลกยุคปัจจุบันนั้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดสำนึกร่วมของประชาชนทั้งหลายในรัฐให้เข้าใจถึงคุณค่า และความสำคัญของหลักการสำคัญในการปกครองของกฏหมายในสังคมไทย เพราะแนวคิดในเรื่องหลักการปกครองโดยกฏหมายและการหวงแหนสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนการปกป้องความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องมีการบ่มเพาะเป็นเวลานานในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้างจึงจะสามารถขยายตัวขึ้นเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไปได้ นั้นคือปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่คิดว่ามีความจำเป็นและความสำคัญในการปกป้องนิติรัฐ

ประเด็นสุดท้ายนี่เองที่อาจจะนำไปสู่การตอบคำถามว่าสังคมนิติรัฐนั้นได้มีอยู่  ได้เป็นจริงอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันหรือไม่ คือประเด็นที่ว่าด้วยกรณีเฉพาะต่างๆ ที่อาจจะมีลักษณะเป็นการคุกคามแนวคิดว่าด้วยการปกครองโดยกฏหมายหรือแนวคิดว่านิติรัฐที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยในระยะเวลาไม่นานมานี้

มีกรณี 4-5 กรณีที่อาจจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อที่จะอธิบายว่ากรณีเฉพาะที่อาจจะเกิดขึ้นเหล่านี้จะมีผลคุกคามต่อพัฒนา ต่อแนวคิดและต่อการดำรงอยู่ของนิติรัฐในสังคมไทยอย่างรุนแรง

กรณีแรก คือการที่ผู้ปกครองของไทยมักจะปฏิเสธความสำคัญของกฏหมายและกฏเกณฑ์ต่างๆ หากแต่มักมุ่งไปที่ประโยชน์เฉพาะหน้าหรือประโยชน์เฉพาะเรื่องในระยะสั้นแทน ความคิดในเรื่องที่กฏหมายไม่มีความสำคัญ กฏหมายเป็นเพียงเครื่องมือบางอย่างในการนำไปสู่ประโยชน์บางประการของสังคม ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของสังคมในระยะยาวอย่างถาวรหรือไม่ เป็นแนวคิดซึ่งสังคมไทยได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ โดยผ่านสื่อต่างๆ

แนวคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบองค์กรของรัฐ แนวคิดในเรื่องการจัดกลไกการปกครอง แนวคิดในเรื่องการวางกฏเกณฑ์ทางกฏหมายใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะขัดแย้งหรือสอดคล้อง หรือไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยลำดับชั้นของกฏหมาย

การมีกฏหมายใหม่ๆ ซึ่งอาจจะอธิบายไม่ได้ ในเชิงความคิดเกี่ยวกับระบบกฏหมายและหลักว่าด้วยกฏหมายลำดับต่ำกว่าว่าจะต้องไม่ขัดแย้งกับกฏหมายลำดับที่สูงกว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ปรากฏอยู่เป็นปกติในสังคมไทยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้

ปรากฏการณ์อย่างนี้คุกคามการดำรงอยู่ของนิติรัฐ และคุกคามหลักการปกครองโดยกฏหมายอย่างชัดเจน เพราะในระยะยาวแนวคิดเช่นนี้จะทำให้ประชาชนทั่วไป จะทำให้คนในสังคมจำนวนมากมีความรู้สึกว่ากฏหมายไม่ได้มีความหมาย หรือไม่ได้มีคุณค่าในตัวของมันเอง หากแต่เพียงเป็นเครื่องมือหากจะปรับเปลี่ยนเสียเมื่อไหร่ อย่างไร ตามความเห็นของผู้ปกครองก็ทำได้ทั้งสิ้น โดยการอ้างแต่เพียงประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์สุขของประชาชนในระยะสั้นเท่านั้น

แนวคิดอย่างนี้จะมีผลคุกคามต่อหลักการปกครองโดยกฏหมายอย่างชัดแจ้ง จะทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของระบบการปกครองโดยกฏหมาย ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงมีกฏหมายเป็นหลักเกณฑ์ที่สูงสุดในรัฐเท่านั้น แต่หมายถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ปรากฏอยู่ในกฏหมายเหล่านี้ ซึ่งได้มีการตราขึ้นโดยกระบวนการที่ชอบ แล้วถักทอเป็นโครงข่ายที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กรณีเฉพาะกรณีที่ 2 อาจจะเป็นกรณีที่คุกคามต่อการดำรงอยู่ของหลักการปกครองโดยกฏหมายในสังคมไทย คือการถูกแทรกแซงจากภายนอก และทัศนะคติที่ผิดพลาดขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบ หรือองค์กรตุลาการบางองค์กรที่น่าจะขัดต่อหลักการการปกครองโดยกฏหมาย

การถูกแทรกแซงจากองค์กรภายนอกนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไปในสื่อ และเป็นปรากฏการณ์ที่มักจะได้รับความเข้าใจที่ตรงกันในหมู่ของประชาชนว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าไม่อาจจะพิสูจน์ ไม่อาจจะมีหลักฐาน ไม่อาจจะมีขบวนการชัดเจนที่จะยืนยันในเรื่องเหล่านั้น ฉะนั้นจะข้ามประเด็นเรื่องการถูกแทรกแซงจากองค์กรภายนอกไป

ในเรื่องทัศนคติที่ผิดพลาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรที่อาจจะมีผลกระทบต่อหลักการปกครองโดยกฏหมายแบบชัดแจ้ง จะเป็นกรณีที่น่าจะสามารถตรวจสอบพิสูจน์ ยืนยัน ได้ด้วยลายลักษณ์อักษร จากคำวินิจฉัยชี้ขาด จากการตัดสินหรือจากการสั่งการขององค์กรต่างๆ เหล่านี้

ทัศนคติที่ผิดพลาดที่ต้องการนำเสนอให้เห็น คือทัศนคติที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร เห็นว่าตนเองมีอำนาจมากกกว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ด้วยเจตนาร้าย แต่เป็นทัศนคติที่เห็นว่าตัวเองมีอำนาจตีความ มีอำนาจวินิจฉัย มีอำนาจปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แนวทางที่อาจจจะแตกต่างไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็เพียงเพื่อประสงค์จะปกป้องประโยชน์สาธารณะ หรือประสงค์จะให้การดำเนินการต่างๆ ของรัฐเป็นไปภายใต้การชี้ขาดขององค์กรใด องค์กรหนึ่ง

ทัศนคติที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรที่พยายามจะทำให้เห็นว่าตนเป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ ตนเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดต่อการวินิจฉัยชี้ขาดหลักการกระทำต่างๆ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นปรากฏชัดเจนที่สุดในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีทัศนคติดในลักษณะที่เห็นว่าเรื่องราวต่างๆ ในรัฐกระบวนการในการใช้อำนาจต่างๆ ในรัฐนั้น จำเป็นที่จะต้องถูกควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรบางองค์กร และองค์กรที่เชื่อว่าได้รับความไว้วางใจมากที่สุดจากรัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่นี้คือ องค์กรศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นภายใต้เจตนาที่ดีที่ต้องการให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐทุกปัญหามีข้อยุติที่สามารถดำเนินการต่อไปได้

หรือมีทางออกที่ถูกต้องในกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งจากหลายฝ่ายนั้นจึงมักจะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยเจตนาที่ดีเช่นว่านี้ให้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

อย่างน้อยที่สุดศาลรัฐธรรมนูญเคยกระทำความผิดพลาดมาแล้ว 25 กรณี โดยอาศัยอำนาจของการตีความด้วยเจตนาที่ดี คือการตีความว่ากระบวนการในการสรรหาคณะกรรมการในการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

และขยายความการตีความของตัวเองต่อไปอีกว่าเมื่อตนมีอำนาจตีความเช่นนั้น ผลของการตีความต้องได้รับการยอมรับบังคับให้เป็นไปตามนั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจเช่นว่านั้นกับศาลรัฐธรรมนูญเลย

กับกรณีที่ 2 คือการวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องกระบวนการสรรหา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนใดเลยที่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยชี้ขาดให้มีผลไปถึงการดำรงตำแหน่งของผู้ที่ได้รับการสนับสนุนชื่อให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย ทั้ง 2 กรณีนี้เป็นไปโดยเจตนาดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้กระบวนการหรือความขัดแย้งต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการใช้อำนาจรัฐสามารถมีจุดจบบางประการ

แล้วสามารถดำเนินกลไกของการใช้อำนาจรัฐต่อไปได้ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งลุกลามต่อไปอีก หรือจนกระทั่งทำให้เกิดความชะงักงันในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ แนวคิดเช่นว่านี้ของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับหลักพื้นฐานของนิติรัฐอย่างสำคัญ โดยเฉพาะขัดแย้งกับหลักการว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจขององค์กรที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในนิติรัฐ ขัดแย้งกับหลักการที่กำหนดให้องค์กรอื่นทำหน้าที่ในกระบวนการสรรหาการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้โดยชัดแจ้งให้อำนาจของวุฒิสภาไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ทัศนคติและความเข้าใจขององค์กรที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้วถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญเหล่านี้มิได้ปรากฏอยู่เฉพาะกรณีของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ปรากฏอยู่ในกรณีขององค์กรอิสระอีกหลายองค์กร

กรณีเฉพาะที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนถึงภาวะคุกคามการดำรงอยู่ของหลักการปกครองโดยกฏหมายและหลักนิติรัฐอย่างชัดแจ้ง

กรณีที่ 3 ที่คิดว่าจะมีผลคุกคามต่อการดำรงอยู่ของนิติรัฐในสังคมไทยคือความอ่อนแอของวงการวิชาการ และการขาดความกล้าหาญในทางจริยธรรมของนักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการกฏหมายและการเมือง การปกครองที่เกี่ยวข้องอยู่กับหลักการปกครองโดยกฏหมาย และหลักนิติรัฐ

วงการวิชาการในมหาวิทยาลัยปัจจุบันอาจจะมีความอ่อนแอทางจริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องหลักการปกครองโดยกฏหมาย การแสดงให้ปรากฏถึงการกระทำที่ละเมิดหลักการต่อสาธารณะหรือการทำให้สังคมเห็นว่าสิ่งใดที่ควรจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การกระทำใดที่น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการปกครองโดยกฏหมาย วงการวิชาการในปัจจุบันอาจจะใส่ใจลงไปแต่ในเรื่องเฉพาะหน้าที่เป็นประโยชน์ของตัวเองโดยตรง หรืออาจจะให้ความสนใจเฉพาะแต่ในเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเพียงภาระกิจหนึ่งของวงการวิชาการเท่านั้น

ความอ่อนด้อยในทางวิชาการโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการปกครองโดยกฏหมาย เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในสังคมไทยในปัจจุบัน และนอกเหนือไปจากนั้นทัศนคติของนักกฏหมายโดยทั่วไปมักจะเห็นว่าการบังคับใช้กฏหมายคือการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายเครื่องมือหรือวิธีการบางประการเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย

เพราะฉะนั้นจึงสามารถทำได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น โดยไม่ต้องมีหลักการพื้นฐานอย่างไรที่จะต้องให้ความเคารพ นับเป็นทัศนคติที่เป็นอันตรายและคุกคามต่อการดำรงอยู่ของนิติรัฐเป็นอย่างยิ่ง เพราะการบิดเบือนหรือการนำเสนอทัศนะทางกฏหมายที่แตกต่างไปจากหลักการนี้หากว่าได้นำเสนอโดยนักกฏหมายที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ ก็จะทำให้สังคมหรือสาธารณะมีความเข้าใจไขว้เขว และทำให้ความเชื่อในเรื่องหลักความสำคัญของนิติรัฐ อาจจะถูกบิดเบือนให้แตกต่างไปจากที่ควรจะเป็นได้

เฉพาะกรณีที่ 4 ที่คิดว่าจะคุกคามต่อการดำรงอยู่ของหลักการปกครองโดยกฏหมายในสังคมไทย คือความไม่เป็นอิสระ หรือการถูกครอบงำจากอำนาจทางเศรษฐกิจของสื่อมวลชนทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากวงการวิชาการในมหาวิทยาลัยมากนัก ปัจจุบันสื่อเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกระแสหลักของถูกทำให้เชื่อว่าประโยชน์เฉพาะหน้าหรือสิ่งซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในทันทีคือสรณะ คือสิ่งซึ่งถูกต้อง คือสิ่งซึ่งเป็นเป้าหมายของการเมืองการปกครอง แทนที่จะคำนึงถึงหลักการหรือหลักเกณฑ์โดยกฏหมายซึ่งปกปักคุ้มครองให้รัฐอยู่รอดตลอดไปได้ในระยะยาว

ผมมีความเห็นว่าสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่นั้นทำงานตามกระแสหลักที่ครอบคลุมโดยอำนาจอิทธิพลในทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ได้ตระหนักถึงภาระกิจในการวางหลักปักฐาน โดยเฉพาะการวางหลักปักฐานหลักการปกครองโดยกฏหมายขึ้นในสังคมไทยในเวลาปัจจุบัน

กรณีเฉพาะ กรณี่ที่ 5 กรณีสุดท้าย ที่อาจจะทำให้เกิดการคุกคามต่อการดำรงอยู่ของหลักการปกครองของกฏหมายในสังคมไทย คือความเข้าใจที่สับสนของคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งมักจะถูกทำให้เชื่อโดยความอ่อนแอในทางวิชาการ และจริยธรรมตลอดจนทัศนคติของสื่อสารมวลชนในสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้เห็นหรือทำให้เชื่อในสิ่งที่เป็นรูปธรรม และปรากฏขึ้นเฉพาะหน้ามากขึ้นยิ่งกว่าการเข้าใจ ยอมรับในหลักเกณฑ์และแนวทางซึ่งเป็นนามธรรมสูงมากของหลักการปกครองทางกฏหมาย

เนื่องจากเป็นนามธรรมสูงมากและจะก่อให้เกิดผลระยะยาว จึงไม่มีอะไรที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเฉพาะหน้าทันทีในเรื่องที่เป็นความเสียหาย

สังคมไทยถูกทำให้เข้าใจว่า การยึดมั่นในประโยชน์เฉพาะหน้า การอธิบายถึงคำตอบที่มีให้ทันทีในปัญหาต่างๆ แล้วสามารถทำให้เกิดข้อยุติได้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่สนใจว่าจะกระทบต่อหลักการปกครองโดยกฏหมาย จะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานในสังคมไทยหรือไม่

อย่างน้อยที่สุดกรณี 2 กรณีที่แสดงลักษณะ หรือแสดงปรากฏการณ์ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่รับสื่อในสังคมไทย มีความเข้าใจที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการที่เป็นหลักการพื้นฐาน คือกรณีของการกวาดล้างผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่เรามีความรู้สึกว่าถ้าจะต้องมีใครตายบ้าง 2,000 หรือ 3,000 คน ถ้าจะทำให้สังคมไทยดีขึ้น ปลอดจากยาเสพติด แม้แต่กระบวนการนั้นอาจจะขัดกับหลักมนุษยธรรม อาจจะขัดต่อกฏหมายแต่เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดผลปฏิบัติโดยตรง

สังคมไทยโดยส่วนรวมมีความเชื่อเช่นนั้นว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ชอบแล้ว แม้ว่าจะกระทำโดยองค์กรของรัฐ ซึ่งเป็นทัศนคติที่ขัดแย้งและล่วงละเมิดหลักการพื้นฐานของหลักการปกครองโดยนิติรัฐ ล่วงละเมิดหลักเกณฑ์สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนอย่างชัดแจ้ง

ทัศนคติของสังคมที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนปรากฏการณ์นี้ชัดเจน คือทัศนคติต่อกรณีที่เกิดขึ้นที่ตากใบ คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของโจรตามความเข้าใจที่รัฐพยายามสร้างขึ้น  ในขณะที่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกทำร้าย ถูกฆ่าหรือถูกทารุณกรรม  ทัศนคติเหล่านี้เป็นทัศนคติที่ผิดพลาด แล้วนำไปสู่ความเข้าใจในวงกว้างต่อไปอีกว่า ใครก็ตามที่ปกป้องสนับสนุน ผู้ที่ถูกหาว่าเป็นผู้ที่ถูกกระทำความผิด เป็นโจรในคำที่รัฐเรียกขานนั้นเป็นคนซึ่งไม่เห็นใจ ผู้ที่ถูกกระทำ ผู้ที่ถูกลอบฆ่า ผู้ที่ถูกทำร้าย แท้ที่จริงแล้ว ทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนสภาพที่เป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกันในสังคมไทย

สภาพที่เป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน คือสภาพที่สังคมเชื่อว่าจุดมุ่งหมายเฉพาะหน้า การกระทำใด ๆ ก็ตามที่มีผลสัมฤทธิ์เห็นได้ทันทีนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แล้วไม่มีหลักการพื้นฐานอะไรที่จะปกป้องนอกเหนือไปจากประโยชน์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

คนที่เรียกร้องความถูกต้องและความเป็นธรรมในกรณีของการฆ่าตัดตอนกว่า 2,000 ศพ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา คนที่เรียกร้องให้ทำว่าจะต้องทำให้เกิดความกระจ่างในกรณีที่ตากใบ เป็นคนซึ่งเข้าใจ เป็นคนซึ่งเห็นว่าคนที่เกี่ยวข้องหรือถูกชักนำต้องได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย

ก็เห็นด้วยว่ายาเสพติดนั้นคุกคามสังคมไทยอย่างไร ไม่ได้มีใครเกี่ยวข้องกับผู้ค้ายาเสพติด หรือไม่ต้องการให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย แต่วิธีการในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ต่างหากเป็นวิธีการที่ละเมิด ต่อหลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ เป็นวิธีการที่ทำลายหลักการปกครองโดยกฏหมาย ซึ่งสุดท้ายก็จะทำลายการปกครองในระบอบที่เป็นอยู่ในระยะยาวได้ ถ้าเรายอมให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้อำนาจโดยวิธีการใดๆ ก็ได้โดยอ้างจุดมุ่งหมายเฉพาะหน้า โดยละเลยหลักการแยกอำนาจ และหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กรณีตากใบไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากนี้ คนที่เรียกร้องความเป็นธรรม ความถูกต้อง การปกป้องสิทธิเสรีภาพของคน ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย ทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจ ทุกคนมีความเข้าใจ คนที่ถูกกระทำในปัญหาภาคใต้ ไม่ได้เป็นคนมุสลิม ไม่ได้เป็นคนที่เข้าข้างคนมุสลิม ทุกคนเห็นอกเห็นใจและต้องการให้ปัญหาปักษ์ใต้สงบลงอย่างรวดเร็ว ต้องการให้ความสงบสุขกลับคืนมา

การนำเสนอปัญหาในเรื่องการทารุณกรรมต่อผู้ถูกจับกุมในวันนั้น เป็นการนำเสนอปัญหาที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักนิติรัฐ ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นต่อไป แต่ในสังคมไทยในเวลานี้ ทัศนคติทั้ง 2 เรื่องนี้มีความชัดเจนเพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่า ถ้าไม่เลือกทางที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองเสนอ ก็จะต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆที่การเลือกอีกแนวทางหนึ่งนั้นเป็นการเลือกที่สอดคล้องกับหลักการปกครองโดยกฏหมายและเป็นการเลือกที่จะยังประโยชน์ในระยะยาวให้กับสังคมไทยที่จะมีผู้ปกครองที่มีอำนาจจำกัด ไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะทำให้เกิดความสงบสุขในระยะยาวให้กับสังคมไทยในเวลาต่อไป

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือการที่คนจำนวนมากถูกสื่อสารมวลชน ความเข้าใจขององค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนการชี้นำจากบุคคลที่มีอำนาจที่จะทำให้เห็นว่าการกระทำเหล่านี้ เป็นการกระทำที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรงกันข้ามทั้ง ๆที่เป็นไปโดยเจตนาที่ดี และต้องการที่จะเห็นเหตุการณ์เหล่านี้สงบ

กรณีเฉพาะที่เห็นว่าจะคุกคามต่อการดำรงอยู่ และพัฒนาการของหลักการปกครองโดยกฏหมายในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นกรณีเฉพาะที่จะมีผลคุกคามมากยิ่งกว่ากรณีอื่นๆ เพราะลงไปถึงการสร้างความเข้าใจ สร้างความรู้ในวงกว้างว่าคนที่คิดต่างออกไปนั้น เป็นคนซึ่งไม่รักชาติ เป็นคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐนำเสนอเพื่อที่จะแก้ปัญหาหรือจัดการกับปัญหา

คนที่นำเสนอในแนวทางเหล่านี้กำลังจะถูกเบียดออกไปจากเวทีของสังคมไทย ออกไปเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในระยะยาวต่อไปจะนำไปสู่การคิดในแง่มุมเดียว การมองปัญหาทิศทางเดียว การไม่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ซึ่งเป็นความต้องการ เป็นปัจจัยทำให้ความเป็นนิติรัฐหรือรัฐที่ปกครองโดยกฏหมายดำรงอยู่

ในทัศนะของผมเฉพาะกรณีสุดท้ายเป็นกรณีที่มีความสำคัญที่สุดที่คุกคามความดำรงอยู่ของนิติรัฐในสังคมไทย

ขอสรุปสั้นๆ หลักการที่ว่าด้วยนิติรัฐนั้นเป็นแนวคิดที่เป็นหัวใจของการศึกษากฏหมาย เป็นศาสตร์ของกฏเกณฑ์ที่ไม่อาจสถาปนาและลงหลักปักฐานในสังคมใด สังคมหนึ่ง ภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้ หากแต่จะต้องใช้เวลายาวนานในการที่จะพัฒนาและสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รับรู้ของประชาชนในวงกว้าง

หลายปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ประกาศใช้ สังคมที่ปกครองโดยกฏหมาย มีแนวคิดว่านิติรัฐจะเติบโตและเข้มแข็งในสังคมนี้ได้ แต่หากดูจากองค์ประกอบหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ และกรณีที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คิดว่าประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นกับแนวความคิดเรื่องการปกครองโดยกฏหมาย และยังคงมีหนทางอีกยาวไกลและมีอุปสรรคอีกมากมายข้างหน้าในการที่จะทำให้แนวคิดในเรื่องการปกครองโดยกฏหมาย การปกครองโดยเป็นสังคมแห่งนิติรัฐสามารถที่จะเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่จะก้าวไปสู่อุดมคติทางกฏหมายที่ว่านี้อย่างสมบูรณ์

 

………………….