ปาฐกถาเรื่อง “นอกกรอบประชานิยม”

 

ปาฐกถาเรื่อง “นอกกรอบประชานิยม”

โดย ศ.ดร.อัมมาร  สยามวาลา

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2547 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

สวัสดีครับ ท่านขาประจำที่แท้จริงทั้งหลาย ผมเป็นขาจร วันนี้มาพูดเรื่องนอกกรอบประชานิยม ต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่ง การพูดครั้งนี้จะเป็นการค้านไม่เห็นด้วยกับประชานิยมไม่ว่าจะเป็นตรายี่ห้อไหนก็ตาม เพราะความเห็นของผมคือ เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง 2544 เป็นต้นมา กติกาการเมืองเปลี่ยนกลายเป็นว่าประชานิยมนั้นเป็นเกมที่ทุกคนต้องเล่น

เป็นความอัจฉริยะของพรรคไทยรักไทยที่ได้เปลี่ยนเกมให้เป็นเกมประชานิยม เพราะปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ก็ประชานิยมกับเขาเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่ไทยรักไทยทำนั้นเป็นการใช้วิธีการตลาดทางการเมืองที่เก่งกาจมาก ในการที่สัญญากับประชาชนว่าจะทำ 1 ,2, 3, 4  เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้ 3 ปี หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ประโยคเดียวติดป้ายเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

เพื่อให้แฟร์กับไทยรักไทย สัญญาเกือบทั้งหมดที่ไทยรักไทยรับปาก แล้วไทยรักไทยมีสิทธิที่จะรักษาเพราะว่าไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น คะแนนเสียงก็ได้ดี  อาจจะไม่ดีมากเหมือนจำนวนที่นั่งที่ไทยรักไทยได้  เพราะว่าระบบการเลือกตั้งภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญใหม่นั้นให้ความลำเอียงแก่พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาก

สมัยก่อนพรรคที่ได้คะแนนเสียง 37 % จะไม่ได้ที่นั่ง 49 % เหมือนอย่างที่ไทยรักไทยได้ จะได้ประมาณ 38-39 %  มองดูตัวเลขแล้วทำให้ไทยรักไทยสามารถรักษาสัญญาได้  เพราะฉะนั้นเกมการเมืองเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

เมื่อสักครู่ได้บอกไปแล้วว่าไทยรักไทยรักษาสัญญาได้เกือบทุกสัญญา จะเห็นว่ามีข้อบกพร่องอยู่ 2 สัญญา  คือ จะมีการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งไม่ได้ให้คำขวัญที่ชัดเจนทีเดียว และปฏิรูปการศึกษาฟังแล้วไม่ใช่ประชานิยมเท่าไหร่

สิ่งที่ผม หรืออาจารย์เจิมศักดิ์(นายเจิมศักดิ์  ปิ่นทอง) หรือหมอประเวศ (นพ.ประเวศ  วะสี)บอกว่าต้องมีการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะไม่จับใจเท่า

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะจับใจเท่าแต่ว่าไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะรักษาสัญญาได้ คือการปราบ

คอร์รัปชั่น นั่นเป็นอีกสัญญาหนึ่งที่ไทยรักไทยไม่ได้รักษาไว้ แต่ได้ข่าวว่าเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมารัฐบาลสัญญาแล้วว่าจะปราบคอร์รัปชั่น แต่ที่ผ่านมาขอเวลา 4 ปีที่จะหากินก่อน พยายามจะปราบคนอื่นที่เข้ามาหากิน

อย่างไรก็ตาม ที่อยากจะพูดเรื่องนอกกรอบประชานิยม เพราะว่าปัจจุบันนี้ การขับเคี้ยวกันทางการเมืองบนเวทีทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องประชานิยม ผมไม่ได้บอกว่าประชานิยมเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ผิด แต่ที่แน่นอนที่สุดคือไม่ใช่ทั้งหมด

หากถามผมว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นของดีหรือเปล่า ต้องบอกว่าผมเชียร์เต็มที่เลย เป็นของที่ดี เป็นของที่ควรจะทำ หลักการหรือแม้แต่วิธีการปฏิบัติ ส่วนใหญ่ที่ทำไปควรแก่การชื่นชมและสรรเสริญ

หากถามต่อว่าแล้วกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านเป็นของดีหรือเปล่า เวลานี้ยังไม่มีคำตอบ แต่ผมยังนึกว่ามีทางที่จะตอบในทางที่จะบอกว่าเป็นทางที่ควรแก่การสรรเสริญ ที่ไม่พยายามตอบในเวลานี้ก็เพราะว่าการประเมินอะไรต่างๆ ในโครงการนี้ยังบกพร่องอยู่มาก ทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่ได้มีการประเมินอย่างเป็นระบบ อย่างเช่น การที่จะให้ได้ข้อมูลมาอย่างชัดเจน

ถามรัฐบาลว่าประเมินออกมาอย่างไร รัฐบาลจะบอกว่าดี  แต่พอดูในรายละเอียดก็รู้สึกว่ากระท่อนกระแท่นอย่างไรพิกล เช่นเดียวกัน ทุกอย่างมีเหตุผล แล้วมีข้อที่เถียงกันได้ว่าดีหรือไม่ดี แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ข้อวินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นของที่เขาอยากได้ แล้วเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยซึ่งทำให้ประชาชนเทคะแนนเสียงให้กับพรรคไทยรักไทย ทั้งในระยะก่อนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และในระยะต่อมาด้วย

เดี๋ยวนี้ประชานิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางการเมือง การขับเคี่ยวในแนวของประชานิยมนั้นเป็นเกมของการเมืองไปแล้ว เป็นกติกาอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นแล้วพวกเราที่ไม่ใช่นักการเมือง คิดว่าจะไปสอดแทรกเกมตรงนี้จะยาก ไทยรักไทยอ้างได้ ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเราคงเถียงลำบาก เพราะตรงนี้อยู่ที่ตลาดการเมืองแล้ว ถ้าไทยรักไทยบิดอย่างหนึ่ง ประชาธิปัตย์บิดอย่างหนึ่งก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกอะไร

อย่างที่บอกไปแล้ว ประชานิยมไม่ใช่ทั้งหมดของการบริหารบ้านเมือง ของวิธีการที่สังคมจะทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าไปได้ มีอีกหลายๆ อย่างตามมา มีสิ่งที่จะต้องตรวจสอบ สิ่งที่จะต้องตามดู สิ่งที่จะต้องเช็ค สิ่งที่จะต้องดูแล และผมคิดว่าตรงนั้นเป็นบทบาทที่นักวิชาการอย่างผมควรจะเริ่มดำเนินการ ส่วนหนึ่งเป็นการติดตามประเมินผลแนวนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองต่างๆ

แต่อีกส่วนหนึ่งต้องบวกเลขดูว่ามีต้นทุน มีอะไรต่ออะไรอย่างไร มีผลกระทบมากอย่างไร แล้วอีกส่วนหนึ่งคือมีวาระของสังคมอะไรอีกหรือเปล่าที่ควรแก่การติดตาม การพิจารณา

ดูจากหัวข้อต่างๆที่สมาคมนักข่าวได้ร่วมกับ 9 องค์กรในการจัดการ คิดว่าเป็นที่น่าชื่นชมว่าวาระที่ตกกรอบของประชานิยมนั้นได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและควรที่จะสนับสนุน ควรแก่การตีฆ้องร้องเปล่า

ผมไม่ทราบว่ายุทธวิธีในการที่จะทำให้วาระเหล่านี้ถูกบรรจุเป็นการวาระการเมืองในการเลือกตั้งในรัฐสภา ภายหลังมีการเลือกตั้งแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลายที่อยู่นอกวงการเมือง วงการตะลุมบอน ที่อาจจะมองปัญหาที่ตกจากการพิจารณาของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา

วันนี้ส่วนใหญ่ที่อยากจะพูดนั้น ไม่ใช่เรื่องของปัญหาสิทธิมนุษยชนที่คิดว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มาก และควรแก่การพิจารณอย่างยิ่ง แต่เห็นว่ามีหลายคนในที่นี้จะมาพูดเรื่องนี้ แล้วพูดได้ดีกว่าผมเยอะ  ผมจะไม่ขอพูดเรื่องนี้ แต่คงจะบอกว่าอันนี้เป็นปัญหาหลัก นับตั้งแต่การฆ่าตัดตอน เรื่องค้ายาเสพติด เป็นต้นมา รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงเป็นสรณะมาโดยตลอด  และเป็นเรื่องที่คิดว่าควรที่จะให้มีการเผยแพร่  และที่สำคัญกว่านั้นมีการเสนอทางออกที่ดีไปกว่านั้น

ส่วนที่จะพูดต่อไปนี้ หากเปรียบเทียบแล้วเล็กมาก แต่เป็นเรื่องที่จะสามารถพูดได้อย่างเต็มที่และละเอียดถี่ถ้วนกว่า คือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องมีการพิจารณา

เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ มองโจทย์ว่าในด้านเศรษฐกิจนั้น ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาของกำลังผลิตที่มีมากเกินไป และกำลังซื้อมีไม่พอ ถ้าใช้ศัพท์เศรษฐศาสตร์คืออุปสงค์มีไม่เพียงพอ เป็นปัญหาที่ทางเศรษฐศาสตร์ก็มีแนวทางกันมานานแล้วในการแก้ไข

ถ้าพูดให้ยุติธรรมแล้ว เป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการในช่วง 6 เดือนหลังจากที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะว่าช่วง 6 เดือนแรกที่ IMF ยังหลงทางพยายามที่จะจำกัดอุปสงค์ด้วยการปรับนโยบายการคลัง หลังจากนั้นมารัฐบาลได้มีการผลักดันที่จะปั้มอุปสงค์ให้เพิ่มขึ้น แล้วพรรคไทยรักไทยก็ยึดแนวนั้นเป็นแนวปฏิบัติ เพราะฉะนั้นประชานิยมที่เกิดขึ้นมาก็สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจตอนนั้น พรรคไทยรักไทยจึงสามารถใช้เงินอย่างไม่อั้นในการดำเนินการต่างๆ

ความจริงแล้วพรรคไทยรักไทยก็ฉลาดพอที่จะไม่ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินทำการตลาด แต่ปัญหาที่ไทยรักไทยทำนั้นก็คือ ไปฝากปัญหาไว้กับองค์กรต่างๆ โครงการพักชำระหนี้รัฐบาลควักกระเป๋าปีละหมื่นล้านบาทเป็นค่าดอกเบี้ย แต่ตัวที่ค้างห้อยต๋องแต่งอยู่นั้น ไปห้อยต๋องแต้งอยู่ในงบดุลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)

ด้านหมู่บ้านละล้านใช้เงินเยอะมากประมาณ  75,000 ล้านบาท หากไปตรวจสอบในงบประมาณแผ่นดินปีนั้นถามว่าจะพบหรือเปล่า ไม่พบ เพราะไปกู้เงินจากธนาคารออมสินมา กว่าจะพบก็เมื่อรัฐสภาต้องอนุมัติให้จ่ายคืนกับธนาคารออมสินเป็นรายปี ๆละหมื่นกว่าล้านบาท ตอนนั้นถามว่ารัฐสภาปฏิเสธได้ไหม ไม่ได้เพราะว่าเป็นหนี้แล้ว เป็นวิธีการเลี่ยงกติกาทางการคลัง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่รัฐบาลทำด้วยจุดประสงค์ที่จะปั้มอุปสงค์ขึ้นแล้วทำในหลายๆ ด้าน

ด้าน 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโนบายที่ค่อนข้างนอกคอกนิดหน่อยแต่ได้เสียง แล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวที่ช่วยให้อุปสงค์ของคนไทยที่ต้องการซื้อข้าวของเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นนโยบายที่เหมาะสมในช่วงต้น ๆ

คราวนี้รัฐบาลก็ได้ใช้แนวทางลักษณะนี้ค่อนข้างเพลิน ประชานิยมจึงกลายเป็นกระแสหลักตั้งแต่นั้นมา แต่เศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากอุปสงค์อย่างเดียว ความจริงแล้วส่วนที่จะทำให้คนใช้เงินมากจริงๆ นั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ทำให้คนผลิตของมาได้มากขึ้นอันนั้นเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร

ถามว่าตรงนั้นรัฐบาลทำหรือเปล่า ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลทำ อาจจะบอกได้ส่วนหนึ่ง แต่ว่าส่วนที่รัฐบาลทำแล้วรัฐบาลมักจะบอกว่าความจริงแล้วเขาทำดีกว่ารัฐบาลอื่น ส่วนการผลิตนั้นเขาไม่ได้ให้นายทุนผลิต ส่วนการผลิตนั้นรัฐบาลให้ชาวบ้านทำ เช่น โครงการโอท็อป แม้กระทั่งหมู่บ้านละล้าน ก็เพื่อให้คนไปเป็นผู้ผลิต หรือ จะสร้างทักษิณออกมา 60 ล้านคนคือให้เป็นคนคิดริเริ่มให้สร้างเอสเอ็มอี ให้ดำเนินการต่างๆในระดับรากหญ้า ให้เป็นผู้ผลิตไม่ใช่นายทุนใหญ่

นี่คือสิ่งที่ไทยรักไทยใช้ในการหาเสียง

แต่ปัญหาที่สังคมจะต้องตั้งคำถาม คือ ต้องคิดนอกกรอบจากที่รัฐบาลคิด เช่น วิธีการลักษณะนี้ดีหรือเปล่า ได้ผลหรือเปล่า มีข้อเสี่ยงอะไรบ้าง ตรงนี้ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า การที่จะให้รากหญ้ามาเป็นผู้ผลิต มาเป็นเอสเอ็มอีเป็นเรื่องที่น่ารัก เป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่หากมองในมุมกว้าง  เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า 1.ของที่ชาวบ้านทำกันอยู่แล้วและประสบความสำเร็จด้วยตัวของเขาเอง รัฐบาลไม่ต้องไปกระตุ้น ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่รู้กี่ร้อยรัฐบาลทำมาแล้ว

เวลาพูดถึงเอสเอ็มอี ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เคยเห็นรายงานของผู้เชี่ยวชาญหลายคน มีงานวิจัยออกมาเป็นตั้งๆ ว่า SME ปัญหามีอะไรบ้าง พบว่าปัญหามีหลากหลาย ทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านการตลาด แล้วยังมีเรื่องสินเชื่อ  แต่ทุกรัฐบาลเวลาจะทำนโนบายเกี่ยวกับ SME มีปัญญาทำได้เรื่องเดียวคือแจกสตางค์ นั่นคือ เรื่องสินเชื่ออย่างเดียว

แล้วปัญหาเรื่องสินเชื่อ SME นั้นเป็นปัญหาที่ต้องเข้าใจ โดยเฉพาะรายใหม่ ๆ นั้นมีความเสี่ยงสูง  ยกตัวอย่างที่บ้านผมมีคนรับใช้บ้าง คนขับรถบ้าง อยากจะไปเปิดร้านค้าเล็กๆ อยากไปเปิดร้านอาหารขอยืมเงินของผมไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว อัตราส่วนของความสำเร็จที่เห็นกับคนที่ผมให้กู้ไปนั้น ตัวเลขสวยมาก ศูนย์เปอร์เซ็นต์

ในที่สุดแล้วมีปัญหาทุกราย แต่เขาคงมองเห็นว่าผมเป็นคนใจดีหรืออย่างไรไม่ทราบ อาจเป็นเพราะว่าผมไม่ค่อยพิถีพิถันเท่าที่ควร แต่จากกรณีนี้เห็นได้ชัดว่าอัตราความเสี่ยงของธุรกิจใหม่นั้นสูงมาก การที่จะให้คนในระดับรากหญ้าเข้าไปเสี่ยงอย่างนั้นโดยการกู้เงินเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ในต่างประเทศการขอจัดตั้งธุรกิจใหม่ จะมีสิ่งที่เรียกว่า  เวนเจอร์แคปปิตัล(Vangercappiton) คือว่ามีเงินทุน หมายความว่าไม่ได้คิดว่าจะเอาคืน แต่คิดที่จะลงทุนแล้วลงทุนถาวร หากประชาชนได้กำไรก็ได้ไป แต่หากขาดทุนก็ Token เพราะการกู้เงินไม่ได้ต้องจ่ายคืน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลตั้งใจจะเอาคืน หรือไม่เอาคืนอย่างไร หรือว่าธนาคารเป็นอย่างไร แต่ว่าจุดนี้เป็นเรื่องที่คิดว่าอาจสร้างความทุกข์ให้ชาวบ้านไม่น้อย

โครงการหมู่บ้านละล้านปัญหา คือ ยังไม่มีการประเมินที่สมบูรณ์ และถี่ถ้วน มีกลุ่มตัวอย่างที่กว้างเพียงพอ ครอบคลุมทุกกรณีได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายกรณีที่กลายเป็นหนี้อมตะ

คนในธกส.หลายคนเห็นด้วยกับนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลเนื่องจากว่ามีการอ้างว่าหนี้ของธกส.จำนวนมากนั้นถือว่าเป็นหนี้เอ็นพีแอล คือ เกษตรกรไม่มีวันจ่ายคืน ทุกปีมีการผลัดผ้าข้าวมาจ่าย เพราะธกส.ต้องการให้มาจ่าย เสร็จแล้วก็นำเงินก้อนนั้นไปคืนให้นายทุน จ่ายให้นายทุนไป 10 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นถึงจำเป็นที่จะต้องพักชำระหนี้

ซึ่งตรงนั้นไม่รู้ว่าส่วนที่จำเป็นจริงๆนั้นกี่เปอร์เซ็นต์ของหนี้ธกส.แต่ยกให้ว่าเป็นจริง เสร็จแล้วรัฐบาลก็ไปปล่อยหนี้กันใหม่ ทั้งๆ ที่บอกว่าชาวบ้านมีหนี้มาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องนอกกรอบประชานิยมที่ต้องพูด คือ หนี้ที่ก่อขึ้นนั้นเจ้าหนี้คือใคร แล้วเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้คือใคร จะเห็นได้ว่าบทบาทของธนาคารรัฐนั้นได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย  โดยเฉพาะธนาคารออมสิน กับธกส.

บทบาทธนาคารของรัฐที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540

คราวนี้มาพูดถึงอีกรางหนึ่ง รางคู่ของรัฐบาล เรียกว่าส่วนบน ปัญหาของนายทุนไทย ปัญหาของระบบทุนของเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้เรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจได้ฟื้นขึ้นในแง่ของจีดีพี หรือในแง่ของอะไรก็ตาม ที่ท่านนายกฯชอบพูด นั่นคือระบบการเงินของไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

สมัยก่อนระบบทุนนิยมไม่ว่าประเทศไหนก็ตามมักถูกกำหนดให้ตอบคำถามๆหนึ่ง ว่า ใครเป็นผู้จัดสรรทุน ระบบทุนนิยมของไทยก่อนปี 2540 นั้นคือนายธนาคาร จะมีบทบาทสูงมาก แต่ช่วงฟองสบู่นั้นนายธนาคารทำลายตนเอง ทำลายบทบาทของตนเองโดยการไปกู้เงินจากต่างประเทศแล้วมาแย่งกันปล่อยกู้จนทั้งระบบพังทลายรวมถึงตัวเองก็พังด้วย

ปัญหาของฟองสบู่ก็คือปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่พอเพียง ทุกคนลงทุนเกินตัว ทุกคนใช้จ่ายเงินเกินตัว ระบบธนาคารที่สนับสนุนทุนตรงนั้นไม่ใช่ด้วยเงินของประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาปล่อยกู้ต่อ ทำให้สามารถลงทุนในอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับเงินออมของประเทศ

เมื่อเกิดวิกฤตแล้วตัวที่เคยเชื่อมระหว่างเงินออมของคนในสังคมทั้งหลาย กับการลงทุนที่นายทุนทั้งหลายลงได้หายไป เนื่องจากว่านายทุนเมืองไทยไม่โง่ที่จะใช้เงินของตัวเอง หรือใช้เงินของตัวเองก็ใช้ไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้เงินของคนอื่นทั้งนั้น แล้วก็มีระบบที่จะรวบรวมเงินออมของประชาชนคนไทยเข้าไปให้พวกเหล่านี้ลงทุน เมื่อระบบเชื่อมต่อขาดสะบั้นลงหลังปี 2540 จึงเป็นโจทย์นอกกรอบประชานิยมซึ่งประชานิยมไม่ได้พูดถึง เพราะรัฐบาลที่อ้างตัวเองว่าเป็นประชานิยม ตั้งหน้าตั้งตาที่จะใช้ระบบที่หลงเหลืออยู่นั้นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง นั่นคือหันไปพึ่งธนาคารของรัฐ ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในธนาคารกรุงไทยจึงต้องยอมรับว่าไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ ธนาคารกรุงไทย เป็นถังขยะของหนี้สินทั้งหลายในประเทศมาแต่ไหนแต่ไหร่แล้ว เป็นธนาคารที่สั่งได้มาแต่ไหนแต่ไหร่แล้ว

รัฐวิสาหกิจที่กู้เงินกับสถาบันการเงินอื่นไม่ได้ เช่น ขสมก.จะกู้ธนาคารกรุงไทยได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะไปกู้กับธนาคารกรุงไทย แล้วนายทุนหลายคนก็จะเป็นแบบเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ตั้งหน้าตั้งตาใช้ธนาคารของรัฐในการกระตุ้นอุปสงค์ทางด้านการลงทุน

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาของการเล่นแร่แปรธาตุกับกระบวนการทางการเงินเพื่อที่จะกระตุ้น จะเรียกว่ากระตุ้นทางการเงินก็ไม่ได้อีก เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วการใช้เงินของธนาคารของรัฐนั้นไม่ได้ใช้ไปเพื่อการสร้างกำลังการผลิตที่แท้จริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ส่วนสำคัญประการหนึ่งคือว่าอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นตกไปอยู่ในมือของต่างชาติจำนวนมาก

รัฐบาลนี้ก็อ้างตัวเองไปว่าเป็นรัฐบาลชาตินิยมที่พยายามจะให้คนไทยทำไอ้โน้น ทำไอ้นี้

ใช้สำเนียงว่าจะพยายามกีดกันชาวต่างชาติ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้ทำอะไรเป็นกอบเป็นกำที่จะให้นายทุนไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นายทุนไทยที่ไม่ได้เป็นพรรคพวกของตัวเอง และส่วนที่เป็นพรรคพวกของตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วมีศักยภาพทางด้านการตลาด ทางด้านการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน
แต่ถ้ามองถึงเทคโนโลยีการผลิตในด้านขีดความสามารถในการผลิตแล้วจะเห็นว่ามีน้อย

ผมอ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้าในหน้าธุรกิจของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น จะมีข่าวเกี่ยวกับคนหนุ่มๆ สาวๆ จะสังเกตุได้ว่านอกจากลูกชายของนายสุริยะ(สุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ)ที่เข้ามารับช่วงธุรกิจของพ่อ รุ่นหนุ่มๆ สาวๆ ที่เข้ามาในธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจการตลาด ธุรกิจการโฆษณา ธุรกิจบริการ ธุรกิจสนุก ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นของที่ควรแก่การสนับสนุน เป็นวิธีทำเงินอันหนึ่ง อะไรที่เป็นเรื่องสนุกแล้ว คนไทยมีความถนัดนี้เป็นพิเศษ  ประเทศไทยถึงสามารถหากินกับธุรกิจการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งๆ ที่ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นไม่ได้ดีเด่นไปกว่าประเทศอื่นๆ แต่รู้จักวิธีการที่จะทำเงินขึ้นมาได้

แต่เมื่อหันมาดูด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจที่จะสร้างขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันด้านผลผลิต หากยังจำกันได้ คำที่นายกรักนักรักหนา คือ GMP (gove national product) คือ ต้องมีโปรดักส์ที่ดี  แต่หากถามว่าโปรดักส์ที่พรั่งพรู่ออกมาจากท่านนายกฯ ได้ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นเยอะไหม เยอะ  แต่ถ้าถามต่อว่าใครเป็นผู้ส่งออกจะเห็นว่าบทบาทของบริษัทข้ามชาติได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ขีดความสามารถในด้านการส่งออกนั้นมาจากบริษัทข้ามชาติ และแรงงานไทย

และนี่เป็นการคิดนอกกรอบประชานิยม เพราะจะไม่มีใครพูดถึง ยกเว้นนักธุรกิจเท่านั้นที่จะพูดถึงเรื่องขีดความสามารถ ในการแข่งขัน แต่จะไปหาเสียงในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันกับประชาชน ขายไม่ออก เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนที่คิดถึงพวกนี้

ถามต่อว่า ระบบการศึกษาของไทยได้รับการเหยียวยาและแก้ไขแค่ไหน  ผมคิดว่าเวลานี้มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาหลายด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่การศึกษาไทยไม่ได้ทำ คือทำให้คนไทยรวมทั้งคนที่จะเป็นแรงงานคิด อ่านออกเป็นในเรื่องต่างๆ แม้กระทั่ง เจ้าของโรงงานก็ไม่ต้องการแรงงานที่คิดและอ่านออกไม่เป็น เพราะระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่นั้นคนที่จะนั่งอยู่กับเครื่องจักรกลได้นั้น จะต้องมีความสามารถในการดำเนินการ ต้องคิดแก้ปัญหาในระดับหนึ่งได้

อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมอะไรต่างๆ แบบดั้งเดิมนั้น ใช้เครื่องจักรทำงานเกือบทั้งหมด แม้กระทั่งเครื่องทอผ้าสมัยใหม่ยังต้องอาศัยเทคโนโลยี อาศัยอะไรต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ขีดความสามารถของแรงงานที่สูงกว่าที่เป็นอยู่เดิม สิ่งต่างๆ นั้นต้องได้รับการดูแล และจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่ได้ทำ ขีดความสามารถด้านนี้จึงยังบกพร่องอยู่

รัฐบาลกำลังจะบอกว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของการรักษาโรค จะเชื้อเชิญคนไข้ทั่วโลกมารักษาที่ประเทศไทย ขณะที่เวลานี้หมอที่มีอยู่ในประเทศนั้นมีจำนวนจำกัด จำเกลี่ยเหลือเกิน มีแทบไม่พอ คนไทยจำนวนมากที่ดั้นด้นไปหาหมอด้วยอาการทุรนทุราย ฝ่าคิวไปได้จะมีโอกาสได้คุยกับคุณหมอประมาณครึ่งนาทีหรือสองนาทีต่อครั้ง หลังจากนั่งรอมาเป็นชั่วโมง

ตรงนี้ไม่ทราบว่ารัฐบาลชาตินิยมมองอย่างไรจึงคิดที่จะทำอย่างนี้ ผลประโยชน์ของไทยอยู่ที่ใด ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบชาตินิยมพูดกันจริงๆ แล้วเกลียดชาตินิยมด้วยซ้ำ แต่ผมรู้สึกว่ามีความอิรักอิเหรื่อในวิธีการที่รัฐบาลมองโลกภายนอก คือชอบหาเสียงโดยการด่าต่างชาติ  แต่ขณะเดียวกันก็หากิน แล้วก็หาผลประโยชน์จากต่างประชาติ และที่หนักที่สุดคือร่วมกับต่างชาติหากินจากคนไทย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่ากำลังการผลิตของไทย ซึ่งหมายรวมไปถึงขีดความสามารถของคนไทยจะต้องได้รับการปรับปรุง มีการพูดกันมากถึงเทคโนโลยีสมัยก่อน รัฐบาลนี้พูดน้อยหน่อย แต่ก็พูด เพราะว่านายกรัฐมนตรีท่านนี้ ชอบของใหม่ ๆชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ  ชอบของเล่นใหม่ๆ แล้วเป็นคนมองอนาคต มีวิศัยทัศน์อะไรต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่จะต้องเริ่มต้นตรงจุดนี้  คือการที่จะให้คนไทยเข้าไปเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นผู้ตามเทคโนโลยี หมายความว่าต้องเข้าใจและดำเนินการสร้างเทคโนโลยี หรือว่าซื้อมา ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าเราไม่สามารถซื้อได้ แต่ต้องซื้อด้วยความเข้าใจ

ที่ใช้คำว่าเป็นเจ้าของเทคโนโลยีคือว่า ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี เป็นความเข้าใจที่มาจากส่วนจริงว่าตรงนี้สามารถนำมาใช้ได้ ตรงนั้นสามารถนำมาดัดแปลงได้

คนไทยต้องเริ่มต้นอย่างนั้นก่อน ในที่สุดจะสามารถเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีของตนเองได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้มีการคิด การอ่านอย่างเข้าใจ เพราะรัฐบาลมัวแต่ไปกระตุ้นอุปสงค์ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาในการที่จะต้องสร้างอุปทาน

เป็นการสร้างซัพพลายให้เกิดขึ้น สร้างกำลังการผลิตให้เกิดขึ้น สร้างขีดความสามารถของคนไทย เพราะว่านายกรัฐมนตรีอยากให้คนไทยรวย ความรวยนั้นไม่ได้มาจากการใช้เงินเยอะ ๆ ความรวยนั้นได้จากการหาเงินมาด้วยน้ำพัก น้ำแรง และด้วยขีดความสามารถ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ รู้สึกว่ารัฐบาลไม่อยากที่จะสนับสนุน

วิธีการตรงนี้เป็นเรื่องที่คิดนอกกรอบประชานิยม คิดต่อไปให้เลยไปกว่าประชานิยม ผมยืนยันได้เลยว่าจะไม่เป็นวาระในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ควรจะเป็นวาระของคนในสังคมที่จะต้องตั้งคำถามกับคนที่เขาตะลุมบอนกันอยู่ในเวทีการเมือง และขอเน้นว่าเวทีการเมืองอันนี้ คนที่เป็นประชานิยมอยู่ขณะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พรรคไทยรักไทยเท่านั้นแล้ว แต่เป็นเชื้อโรค ที่แพร่ติดไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค

พรรคไทยรักไทยพบสูตรสำเร็จที่สำคัญมากอันหนึ่ง ซึ่งต้องให้เครดิตเขา เพราะว่าอย่างน้อยก็มีคนตามกันเยอะ เป็นความสำเร็จ แต่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะตามเพราะว่าเราไม่ได้เป็นนักการเมือง เราไม่ได้หาเสียง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่สื่อจะต้องทำ คือ ให้ความรู้กับประชาชน ถ้าจะซื้อประชานิยมของพรรค X มากกว่าพรรค Y ก็ขอให้ซื้อโดยการดูคุณภาพ ดูหลายๆองค์ประกอบ อย่าดูแต่วงเงินที่แต่ละพรรคจะให้  ต้องดูด้วยว่า มีต้นทุนอะไรบ้าง ดูด้วยว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรอยู่บ้าง

และอะไรที่นักการเมืองไม่ขายแต่เป็นเรื่องที่กระทบกับคนไทยไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่กำลังขายอยู่ อย่าให้โจทย์นั้นถูกกำหนดโดยวาระของพรรคการเมือง

................