ปาฐกถาเรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน”

ปาฐกถาเรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน”

โดย       ดร. วิชัย  ตุรงคพันธ์

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันจัทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องกองทุนหมู่บ้านมีลักษณะเป็นdynamic พอสมควร มีการเคลื่อนไหว(dynamic)ในลักษณะที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียสลับกันไปเรื่อยๆ หลายคนอาจจะเห็นข้อเสียได้ชัดกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการตั้งข้อสังเกต(comment)ที่เป็นทางลบ(negative)จะง่ายกว่า

เมื่อครั้งที่สัมมนาที่นิด้า ได้ให้หัวเรื่องว่า “Is Thailand’s Grass-Root Program Passe? A Closer Look at the Village Fund and Urban Communities Program “

ถ้าจะพูดเรื่องนโยบายรากหญ้านั้นเยอะมาก จะขอโฟกัส เฉพาะแค่กองทุนหมู่บ้าน ได้จากการทำวิจัยในช่วงที่ผ่านมา จะเล่าให้ฟังว่าในเฟสแรกๆได้ทำอะไรไปบ้าง แล้วกำลังจะทำอะไร สุดท้ายรายงานสรุปสามารถบอกอะไรได้บ้าง

ขอตั้งชื่องานสัมมนา ครั้งนี้ว่า  Is Thailand’s Grass-Root Program Passe? เป็นเรื่องของแฟชั่นหรือเปล่า  หลายๆ คนพูดกันเหลือเกินเกือบทุกเวที แต่วันนี้ไม่มีรากหญ้า มีแต่รากแก้ว ต้องบอกว่าโครงการรากแก้วนั้นประสบความสำเร็จหรือเปล่า

ก่อนที่จะเข้าไปถึงเนื้อหาหลักของการวิจัยเรื่องกองทุนหมู่บ้าน อยากจะจุดประกายคำถามสัก 2-3 คำถามเพื่อใช้ในการพูดคุยกันในวันนี้

คำถามแรก นโยบายรากหญ้าก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าจริงหรือเปล่า คำว่าเกิด

ความเคลื่อนไหวในที่นี้คือ จากตาสีตาสา จากคนซึ่งทำมาหากินในปัจจุบันต้องมาเป็นวิทยากรชุมชน เพื่อที่จะสอนเรื่องของบัญชี เรื่องอะไรที่ทันสมัยขึ้น

ตรงนี้แหละที่คิดว่าเป็นการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า และการเคลื่อนไหวแบบนี้จริงๆ แล้วมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรในปัจจุบัน

คำถามที่ 2 คือว่าอะไรทำให้เรามั่นใจได้ว่านโยบายรากหญ้า ช่วยลดปัญหาความยากจนได้จริง

คำถามที่ 3 ที่อาจจะมีอยู่ในใจของพวกเราทุกคนคือว่า มีหนทางใดบ้างในการพัฒนานโยบายรากหญ้า ให้ดีขึ้น ผมคิดว่าทุกคนในที่นี้คงเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ อาจารย์ที่สอนอาจจะบอกว่าไม่มีนโยยายที่ไหนที่จะสมบูรณ์แบบ ต้องมีจุดบกพร่องต่างๆ เกิดขึ้นบ้าง

 

แต่ทำอย่างไรให้นโยบายรากหญ้ามีจุดบกพร่องน้อยที่สุด จะมีหนทางอย่างไร หากนำลักษณะคำถามทั้ง 3 คำถามมาผนวกเข้าด้วยกัน จริงๆ แล้ว เราต้องการตอบปัญหาอะไรกันแน่ จริงๆแล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานโครงการและบริบทของการแก้ไขปัญหาความยากจนมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน

เวลาพรีเซ้นท์เรื่องความยากจนครั้งใด ผมจะรู้สึกหดหู่เล็ก ๆ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่พูดถึงเรื่องความยากจน รู้สึกว่าเราได้เห็นคนซึ่งยากลำบาก เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วถ้าแปลความรู้สึกนั้นมาเป็นความตั้งใจในการทำงาน ผมคิดว่าอยากจะใส่ความคิดตรงนี้เข้าไปในใจของคนทำงานทุกคน ว่าจริงๆ แล้วคนจนเขาลำบากจริง ๆ

นิยามความยากจน ขออธิบายสั้นๆ ง่ายๆ หลายคนพูดว่าคนนั้นไม่มีเงิน คนนี้เล่นการพนันเยอะ มีเมีย 5 คน มีลูก 13 คน ฉันจนหรือเปล่า? อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นจึงให้นิยามง่ายๆ ความยากจนคือ ไร้เงิน หมดปัญญา ขาดใจ

ไร้เงินคือจนไม่มีสตางค์ ภาษาจีนเรียกว่าบ่อจี้

หมดปัญญา เนื่องจากฉันไม่มีความรู้ ฉันไม่มีโอกาส ฉันไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ฉันก็หมดปัญญา

ขาดใจคือ ตายดีกว่าอยู่ ลักษณะเช่นนี้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงอาจจะไม่รู้สึกตรงนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าได้เข้าไปสัมผัสกับคนที่อยู่กับรากหญ้าจริงๆ แล้วจะรู้สึกว่าคำว่า ไร้เงิน หมดปัญญา ขาดใจ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวจากพวกเขาเลย

คราวนี้หัวใจของรัฐบาล หรือในฟอรั่มของนักวิชาการ ในการที่จะพูดว่าคนนี้จน หรือไม่จน ง่ายที่สุดคือการวัด

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ท่านตรัสถามว่าเราทำเรื่องอะไร ผมบอกว่า ผมทำเกี่ยวกับเรื่องความยากจน ท่านถามต่อว่าเป็นอย่างไร ผมตอบไปว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวัดว่า คนจนมีมากน้อยแค่ไหน ท่านตรัสตอบว่าคนไทยวัดเก่งจริงๆ วัดแต่ว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จได้สักที

ตรงนั้นเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดประกายความคิดว่า อย่ามองแต่ลักษณะการวัดความยากจนเพียงอย่างเดียว ต่างคน ต่างวัด อาจจะวัดให้เยอะก็ได้ จะวัดให้น้อยก็ได้ เพราะฉะนั้น”จนเงิน”จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจการคิดของรัฐบาล

ทำอย่างไรให้คนมีสตางค์เยอะขึ้น ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ตกยุคต้องบอกว่าเรามีเส้นความยากจน หากเป็นสภาพัฒน์ เส้นความยากจนจะอยู่ที่ 920 บาท/คน/เดือน หารเฉลี่ยด้วย 30 เหลือหัวละ 32 หรือ 33 บาท/วัน หลายๆ คนเห็นตัวเลขนี้แล้วหัวเราะ  จะเป็นไปได้อย่างไร

30 บาท/วัน/คนจะอยู่ได้อย่างไร ผมบอกว่าถ้าคิดดีๆ สมมติผมมีภรรยา 5 คนมีลูก 12 คน รวมแล้ว 17 คน รวมผมเข้าไปด้วย 18 คน ผมทำงานได้วันละ 200 บาท เอา 18 หาร ผมมีแค่ 10 บาทเท่านั้นเองโดยเฉลี่ย ครอบครัวก็จน

 

แต่หากยึดเส้นความยากจนของTDRI จะอยู่ที่ประมาณ 1,400 บาท/เดือน/คน ผมจึงเขียนเป็นเกณฑ์ 900-1,400 บาท/คน/เดือน ใช้เป็นเส้นแบ่งว่าจนหรือไม่จน

เพราะฉะนั้นจากตัวเลขของสภาพัฒน์ 920 บาท จะมีคนจนอยู่ประมาณ 6 ล้านจาก60 กว่าล้านคน คือตกประมาณ 10 % แต่ถ้าใช้เส้นความยากจนที่สูงขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง 1,400 บาท  คนจนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2.8 ล้านคน ดูแล้วน่าตกใจ แต่ผมคิดว่าไม่น่าตกใจ เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า 6 ล้านคน หรือ 8.8  ล้านคน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่านโยบายรากหญ้าจะช่วยลดปัญหานี้ตรงจุดหรือเปล่า

พอพูดถึงเรื่องนโยบายรากหญ้ามีหลายๆ คน ที่เคยให้ข้อมูลไว้ มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน อยากจะหยิบยกรายงานของ คุณบุญธรรม อาจหาญ  ที่ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างเผ็ดร้อน และกำลังได้รับความนิยมอยู่ใน 2-3 อันดับแรก ที่ว่าเผ็ดร้อนนั้นเพราะว่าได้เขียนถึงการดำเนินงานของรัฐบาลในมุมลบเสียเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่”เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง”ได้รวมขุนพลมือดีในการที่จะรู้ทันท่านนายกทักษิณฯ เพื่อเปิดอีกมุมมองหนึ่ง แทนที่จะมองแล้วเชื่อตามรัฐบาลพูดว่าทุกอย่างว่าดี นโยบายต่างๆ ดูสวยงาม เป็นอีกมุมมองหนึ่งให้สังคมได้คิดในลักษณะที่แตกต่าง

ความคิดในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเป็นมุมที่กว้างออกไปอีก คือมุมของธนาคารโลก ให้ความสำคัญในเรื่องของโอกาส ความมั่นคงและการมีส่วนร่วมในสังคม จะเห็นได้ว่านโยบายของแบงก์ชาติตอนนี้คือขยายขึ้นไปอีก ใหญ่กว่าลักษณะของพร็อพเพอร์ตี้ไลน์ปกติ สูงกว่าลักษณะที่ว่ามีสตางค์หรือไม่มีสตางค์ แต่ก้าวไปถึงว่ามีโอกาสหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น หากได้ศึกษาอ่านเรื่องของรากหญ้า  แล้วอยากที่จะให้รายงานออกมาดูดีต้องใส่คำว่ามีโอกาส มีความหยั่งยืน มีความมั่นคง คีย์เวิร์ดทั้งหมดเหล่านี้ เป็นอีกมุมหนึ่งของธนาคารโลกที่นำเสนอ

การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงไม่ใช่แค่เพียงการเพิ่มเงิน แต่เป็นการเพิ่มทุกความเป็นไปได้ให้กับคนจน

ผมจึงตั้งหัวข้อว่า ภาครัฐคิดอย่างไร? ถ้าได้มีโอกาสได้ดูมายแม็ปของรัฐบาล ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจน จะมีอยู่ 3 ส่วน คือ ลดปัญหารายจ่าย ทำอย่างไรให้คนจ่ายเงินน้อยลง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เอื้ออาทร  ล้วนขยายความคล่องตัวของเงิน  คือ เงินคล่อง เงินผ่านมือเยอะ มีเงินให้ใช้สอยเยอะ พักหนี้เกษตรกร คือเกษตรกรไม่ต้องไปจ่ายหนี้ แปลงทรัพย์สินเป็นทุน ธนาคารประชาชน รวมถึงกองทุนหมู่บ้าน ถือว่าเป็นตัวทำให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในชุมชนทั้งสิ้น  สุดท้ายคือการเพิ่มรายได้ สินค้า

โอท็อป

คำถามคือว่า 7 นโยบายที่ยกตัวอย่างมานี้เวิร์คหรือเปล่า ผมเลือกแค่กองทุนหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว

ในช่วงหลังๆ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่คอมเม้นท์ผลงานของรัฐบาลพอสมควร และเห็นว่า ในส่วนของ 4 นโยบายแรก  คือ 30 บาทรักษาทุกโรค  พักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน รวมถึงกองทุนหมู่บ้าน จะมาดู poor กับ not poor คือจริงๆ แล้วคนจนได้รับอานิสงฆ์มากน้อยขนาดไหน และคนไม่จนได้รับอานิสงฆ์มากน้อยขนาดไหน

ถ้าวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ โฟกัสไปที่กองทุนหมู่บ้าน จะอยู่ที่ประมาณ 7 %  คนจนได้รับอานิสงฆ์จากโครงการนี้ประมาณ 400,000 คน ส่วนคนที่ไม่จนอยู่ที่ประมาณ 7.6 % ซึ่งจริงๆแล้วดูเปอร์เซ็นต์เหมือนเท่านั้น แต่เนื่องจากคนไม่จนมีเยอะกว่าคนจน เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่ไม่จนได้รับอานิสงฆ์จึงมีสูงกว่าคือ 4.4 ล้านคน

เมื่อหันไปดูโปรเจ็กต์อื่นๆ ของรัฐบาลจะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไม่ว่าอะไรก็ตาม คนจนก็ได้ คนไม่จนก็ได้ แต่ทำอย่างไรให้คนจนได้รับมากกว่า คือทำอย่างไรที่จะโฟกัสไปที่คนที่จนจริงๆให้ได้รับอานิสงฆ์จากนโยบายรากหญ้านั้นๆ

จากตัวเลขนี้จึงเกิดคำถามว่า คนจนได้รับอานิสงฆ์นี้จริงหรือเปล่า

ย้อนกลับไปอีกคำถามหนึ่งที่ตั้งไว้ ภาครัฐคิดอย่างไร?

กลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งว่าทำไมจึงเลือกทำวิจัยเรื่องกองทุนหมู่บ้าน เพราะเงินจำนวนมากกว่า 76,000 ล้านบาทที่ถูกถ่ายโอนสู่ภาคประชาชนโดยตรงคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร

ประเด็นคือว่าจริงๆแล้วโครงการนี้ดีจริงหรือเปล่า?เพื่อคนจนหรือเปล่า? ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในใจของพวกเรา

ผมมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร? เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ 3 รัฐบาลที่ได้มีการทำเรื่องกองทุนหมู่บ้านมาระยะหนึ่งแล้ว เงินหมุนไป 2-3 รอบแล้ว มันดีจริงหรือเปล่า หลายๆ คนก็คอมเม้นท์ ส่วนใหญ่ที่ได้ยินมา จะคอมเม้นท์ว่า เอาไปใช้ถูกวิธีหรือเปล่า เช่น กู้ไปแล้วเอาไปซื้อมือถือ ก็ด่าท่านนายกฯกันไป หรือว่ากู้ไปเพื่อที่จะเอาไปซื้อเสื้อผ้าบ้าง ไปซื้อรถอีแต๋นบ้าง ไปซื้อรถมอเตอร์ไซด์บ้าง จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

แล้วถ้าทำด้วยวิธีนั้นแล้ว รายได้ของคนมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าเป็นคำถามที่หลายๆ คนได้พูดคุยกับผมอยู่ตลอดเวลา ผมจึงบอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลองมาดูสัก 4 แง่มุม 4 ขั้นตอนในการวิเคราะห์  ลองดูว่ากองทุนหมู่บ้านนั้นดีหรือไม่ดีกันแน่

ขั้นตอนที่ 1  ใช้วิธีการศึกษาเชิงสถิติ ง่ายๆ สำหรับคนที่มีความรู้เบสิค สามารถทำงานวิจัยชิ้นนี้ได้ วงเล็บจะต้องมีเงินทุนในการทำเพราะว่าต้องลงพื้นที่ ผมคิดว่าทำทั่วประเทศไม่ได้ ก็เอาเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็แล้วกัน ภาคอีสาน 19 จังหวัด ถ้าเราเคยชินกับภาคอีสานจะเห็นว่ามีอีสานตอนบนกับอีสานตอนล่าง ตอนบนจะมีกาฬสิน ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคายและเลย

อีสานตอนล่างจะใหญ่หน่อย มีนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคราม ในแต่ละจังหวัดก็ยังมีคนจนอยู่ และจนจริงๆ ติดอันดับท็อปไฟท์ของประเทศ

จึงมีความคิดว่าพื้นที่ตรงนี้น่าสนใจควรที่จะไปศึกษาในจุดที่เขาเรียกว่า จนที่สุด น่าจะมีคำตอบให้ได้ศึกษาหรือติดตามต่อไป

ผมเลือกดูเชิงสถิติง่ายๆ จากลักษณะของรายได้ก่อนและหลังของการเกิดโครงการ  เป็นการทดสอบอย่างง่ายๆ จะไม่พูดลักษณะที่เป็นหลายๆโมเดลในโครงการเดียว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในโครงการของผมก็ตาม

คือดูว่าก่อนและหลังมีการเปลี่ยนแปลงของรายได้แบบมีนัยสำคัญหรือเปล่า คราวนี้ไม่ได้มองเฉพาะแค่รายได้แต่ดูเรื่องหนี้ด้วย รายได้ก่อน-หลัง หนี้ก่อน-หลังเป็นอย่างไร

ปรากฏว่าสิ่งที่พบคือ จากสมมติฐานของผมคือไม่มีความแตกต่าง  รายได้ก่อน-หลังไม่แตกต่าง พอถึงเรื่องหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน มีการแสดงว่าหนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

เพราะฉะนั้นจากการศึกษาง่ายๆ แบบนี้ สิ่งที่พบคือว่า รายได้มิได้มีความแตกต่างนัก จริง ๆอาจจะเห็นตัวเลขแตกต่าง แต่ในเชิงสถิติแล้วไม่แตกต่าง หนี้สินไม่ได้แตกต่างในภาพรวม เพราะโดยรวมของทางอีสานมีหนี้สินอยู่แล้ว จะมีแค่ในส่วนของตอนบนที่มีหนี้เพิ่มขึ้น

บทสรุปจากการทดลองเล็กๆ ข้อที่ 1 บอกว่ากองทุนไม่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ที่แท้จริง แต่หนี้สินมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจริง  นั่นคือการพิสูจน์ขั้นแรก

การทดสอบขั้นที่ 1 ยังไม่เพียงพอต้องมาดูขั้นที่ 2  คือว่าอยากจะรู้ว่าการกระจายตัวของรายได้และรายจ่ายของประชากร หรือประชาชนในชุมชนนั้นเป็นอย่างไร ผมมีความคิดว่าหากนำรายได้ลบรายจ่ายเลย  ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ศูนย์

ประเด็นคือว่ามีแนวโน้มหรือเปล่าว่าตัวรายจ่ายจะมากกว่ารายได้  เป็นคำถามที่คิดขึ้นมา แล้วลองไปเช็คดูว่าหนี้สินของครัวเรือนทั้งหลายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า และต้องอย่าลืมว่าหนี้สินค่าใช้จ่ายต่างๆขยับไปด้านหน้าหนี้สิน หนี้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท ในปี 2000 ก่อนที่จะมีกองทุนหมู่บ้าน แต่ 2 ปีให้หลังในปี 2002 กลายเป็น 80,000 กว่าบาท หรือประมาณ 1 ปีหลังมีกองทุนหมู่บ้าน หนี้สินเพิ่มไปเป็น 6.1 เท่าของรายได้ครัวเรือน

อย่าเพิ่งแปลกใจ คำว่าหนี้สินครัวเรือน อย่าเพิ่งพุ่งเป้าไปที่กองทุนหมู่บ้านเท่านั้น เพราะมีหลายโครงการในระดับรากหญ้า ซึ่งทำให้เกิดลักษณะที่เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น เกือบ 15,000 บาท/คน/ครัวเรือน แต่ว่าภาพหนี้ที่เกิดขึ้นกำลังบอกว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกได้

มาถึงขั้นตอนที่ 3 ให้ชื่อว่า Village Fund Index เป็นหัวข้อหนึ่งของรายงานที่กำลังทำอยู่ หากติดตามเรื่องกองทุนหมู่บ้าน จะเห็นว่ามีการจัดเกรดคล้ายๆกับแบงค์ คือ มี AAA,AA และ A

A แปลว่าแย่สุด AA แปลว่าโอเค  AAA แปลว่าดีเยี่ยม นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกซึ่งตั้งอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลได้ทำดัชนีนี้ออกมา

คำถามที่ตามมาคือว่า A, AA,AAA มีเส้นแบ่งขนาดไหน ตอนที่เริ่มทำงานวิจัยตัวนี้ได้เข้าไปศึกษา ไปค้นข้อมูล ปรากฏว่า A, AA,AAA เกิดขึ้นจากค่าเฉลี่ยของการศึกษา คือก่อนที่จะมาเป็นงานวิจัยในชุดปัจจุบัน มีงานวิจัยของอาจารย์จากหลายสถาบัน นักปราชญ์ในชุมชน จากประชารัฐ  จากหลายๆ องค์กรที่ยพยายามจะมอนิเตอร์ พยายามที่จะตรวจสอบว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านใช้ได้หรือเปล่า

คำตอบที่ออกมาค่อนข้างแตกต่างกัน  คณะกรรมการกองทุนก็ปวดหัว แต่เพื่อให้ได้ดัชนีตัวหนึ่งมาเพื่อทำงานต่อ จึงทำเป็นค่าเฉลี่ยออกมา

 

ผมไม่พูดว่าคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านทำผิดหรือถูก แต่ขอตั้งเป็นคำถามไว้ว่าค่าเฉลี่ยตรงนี้ถูกหรือเปล่า สมมติว่าใช้ได้ แล้วเริ่มทำงานกัน A, AA,AAA ผมบอกทีมงานว่าเราเอาตรงนี้เป็นตัวตั้งก็แล้วกัน เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะทำงานอะไรไม่ได้เลย คือจะต่อยอดงานไม่ได้เลย ผมใช้ลักษณะตัวแปรที่จะเป็น 0 กับ 1

0 คือว่าอะไรที่มันห่วย คือ A ส่วน AAA ดีที่สุดให้เป็น 1 คราวนี้ AA เป็นลูกเมียน้อยทำอย่างไรดี ก็ให้ A รวมกับ AA กลายเป็นศูนย์ คือสิ่งที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านบอกว่าใช้ได้ ผมบอกว่าใช้ไม่ได้

เนื่องจากว่าโครงการวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ต่อยอดจากโครงการประชารัฐ ดัชนีชี้วัดจึงมีทั้งหมด 18  อินดิเคเตอร์  เช่น ความถี่ของการประชุมของคณะกรรมการต่อปีมีกี่ครั้ง ต่อเดือนกี่ครั้ง ประชุมสามัญ มีการส่งคืนเงินกู้ที่กู้ไปกี่เปอร์เซ็นต์มากน้อยแค่ไหน มีความเสี่ยงสูงขนาดไหน

คราวนี้ต้องการดูรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนที่มีคะแนนเป็นศูนย์กระโดดขึ้นมีคะแนนเป็น 1 ได้ นั่นคือทำอย่างไรให้มีการจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นนั่นเอง ตัวแปรอะไรใน 18 ดัชนีที่บ่งบอก หรือมีเพาเวอร์เพียงพอที่จะทำให้เกิดลักษณะกระโดดจาก 0 ไป 1 ได้

จาก18 ดัชนี พบว่ามีเพียงแค่ 6 ตัวเท่านั้นที่โชว์ในการที่จะขยับจำนวนหมู่บ้านจาก 0 ไป 1 ในการที่จะช่วยพัฒนาจากกองทุนที่ห่วยให้กลายเป็นดี

หลังจากได้ดัชนีทั้ง 6 ตัวมาแล้ว จุดประสงค์ของทีมวิจัยคืออยากได้ดัชนีกองทุนหมู่บ้าน ใจจริงอยากจะเข้าไปเทียบนั้นเอง ว่า A ,AA ,AAA  นั้นมีความถูกต้องมากน้อยแต่ไหน จึงไปดูว่าจริงๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ทาง UNDP ใช้นั้นเขามีไอเดียในการคิดอย่างไร แล้วเราใช้ไอเดียที่ใกล้เคียงกับเขา

เมื่อทำการแบ่งกลุ่มการจัดดัชนี จาก 18 ดัชนี ย่อยเป็น 4 กรุ๊ปใหญ่ โดยดูในเรื่องของประสิทธิภาพในการจัดการกองทุน ประสิทธิภาพในการออม ประสิทธิภาพการจ่ายคืน และเจริญเติบโตของกองทุนใส่เพิ่มเข้าไป เช่น พวก  GDP ของจังหวัดหรืออะไรก็ตาม รวมแล้วทั้งหมด 18 ดัชนี บวก 1  เรื่องเกี่ยวกับการเจริญเติบโต รวมแล้ว 19 ดัชนี  แล้วนำมาจัดกรุ๊ปแบบ VFUC

การจัดกรุ๊ป แบบ VFUC ก็มาคิดว่าที่รูปแบบที่มีความสำคัญ 6 ตัวที่ไปหามานั้นนำมาใช้ทำอะไรได้ น่าจะให้ความสำคัญกับตรงจุดนั้นมากขึ้น  ให้น้ำหนักเท่ากันหมด นี่คือ VFUC ระดับนานาชาติเขาทำ ผมก็ทำบ้าง แต่ไม่หารเฉลี่ยเท่า มีการพัฒนารูปแบบก่อน

หากดูจากข้อมูลที่มีอยู่ AAA จะมีอยู่ 63.6 % AA  อยู่ที่ 63.7 % และ A อยู่ที่ 22.7 % หรือโดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 2,000 สิ่งที่น่าสนใจที่สุด  ผมไม่ค่อยสนใจว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือเท่าไหร่ ตัวเลขแถวล่างคือสิ่งที่หาได้จากดัชนีกองทุนหมู่บ้าน

37.9 คือกองทุนที่ดีอยู่แล้วไม่เป็นไหร่ 33.6 คือกองทุนที่อยู่ระดับปานกลาง ต่างกันติดหน่อยไม่เป็นไหร่ ผมไม่สนใจ สนใจเฉพาะที่ต้องปรับปรุงซึ่งมีอยู่ประมาณ 12 %  จาก 73,000 ตัวเลขจะอยู่ที่ 8,000 กองทุนโดยเฉลี่ย

 

จะเห็นว่าตัวเลขต่างกันอยู่ 6,000 กว่ากองทุน นั่นหมายความว่าหมู่บ้านที่รัฐบาลเชื่อว่าดี แต่จริงๆ แล้วไม่ดี ถ้าศึกษาลงลึกจะเห็นว่าปีแรกรัฐบาลนำเงิน 1 ล้านบาทลงไปในหมู่บ้าน

ปีที่ 2 หมู่บ้านไหนที่บริหารจัดการดี จัดให้อยู่ระดับ AAA เพิ่มเงินให้อีก 1 แสนบาทต่อหมู่บ้าน  ส่วนกองทุนที่ได้เกรดต่ำๆ ก็ต้องปรับปรุงกันไป ประเด็นคือว่า ทำไมไม่นำเงินก้อนที่เพิ่มให้กับกองทุนที่บริหารจัดการดีไปปรับปรุง 6,000 กว่ากองทุน ที่รัฐบาลคิดว่าดีแต่จริงๆ แล้วไม่ดี ทำไมไม่นำไปพัฒนาตรงนั้น ยกระดับกองทุนในกลุ่มที่ควรปรับปรุงให้ขึ้นอยู่ระดับ AAA ก่อนที่จะคิดต่อในเรื่องของการพัฒนากองทุนหมู่บ้านให้เป็นนิติบุคคลดีหรือเปล่า

ประเด็นคือว่า จากการลงพื้นที่ สอบถามป้าคนหนึ่งว่า “ป้าๆ รู้หรือเปล่าว่านิติบุคคลแปลว่าอะไร” ป้าบอกว่า”มันคือะไรไอ้หนู”ผมบอกป้าว่า”เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน นิติบุคคลคือเอาป้าขึ้นศาลได้ เอาหรือเปล่า” ป้ารีบตอบเลยว่า”ไม่เอาซิไอ้หนู เอาทำไมล่ะ”

นี่คือข้อเท็จจริงในพื้นที่ ประชาชนยังไม่ทราบว่านิติบุคคลคืออะไร นิติบุคคลเป็นการคิดในระดับ

ฝ่ายบริหารว่าสุดท้ายแล้วทุกกองทุนต้องแปรสภาพตัวเองเป็นเสมือนห้างร้าน มีอำนาจหน้าที่ในเชิงกฏหมาย สามารถฟ้องร้องได้ สามารถบริหารจัดการได้ และที่สำคัญต้องเสียภาษีให้รัฐด้วย

อาจจะไม่จำเป็นว่าใน 1 หมู่บ้านจะต้องมี 1 ธนาคาร หมู่บ้านไหนที่มีความพร้อมก่อน หรือมีการรวมกลุ่มกัน สามารถที่จะสร้างธนาคารเล็กๆ ในชุมชนนั้นขึ้นมาได้ ธนาคารเล็กๆ อาจจะเกิดจากการรวมกลุ่มกันของหมู่บ้านประมาณ 100 หมู่บ้านหรือ 50 หมู่บ้านก็ได้  แต่ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้นทุกหมู่บ้านต้องเป็นห้างร้านก่อน

ฉะนั้นโครงสร้างของการบริหารจัดการกองทุนจะเปลี่ยนแปลงไป จากปัจจุบันที่ใช้สทบ.ต่อไปจะมีองค์กรซึ่งเป็นรูปเป็นร่างในการที่จะช่วยดูแลตรงนี้

จากการทำวิจัยพบว่า มีประเด็นหลายๆ อย่างที่น่าเป็นห่วงหากจัดให้มีธนาคารชุมชน ใครจะเป็นคนควบคุมดูและ ความโปร่งใสในการบริหารงานใครจะเป็นคนตรวจสอบ เพราะขนาดแบงค์ใหญ่ ๆยังไม่มีค่อยจะมีความโปร่งใส แล้วแบงค์ชุมชนจะเป็นอย่างไร  ซึ่งตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านได้กำหนดระยะเวลาของการพัฒนากองทุนหมู่บ้านให้เป็นธนาคารชุมชนไว้ 3 ปี

ที่น่ากลัวมากอีกเรื่องหนึ่ง คือช่วงเวลาที่ทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่ามีความยากลำบากมากพอสมควร เพราะเมื่อเม็ดเงินลงไปที่ชุมชนแล้วส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านจะไม่ค่อยอยากเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วมีอะไรอยู่ในกอไผ่บ้าง บางกองทุนทำงานได้ดี  บางกองทุน ถ้าพูดภาษาชาวบ้านเรียกว่าหมกเม็ดเยอะ

แล้วอันหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของกองทุนหมู่บ้าน คือว่า ยอดการคืนเงินกู้ที่โชว์ว่าคืนเกือบ 100 % หรือ 80-90 % นั้น มีคำถามอยู่ว่าคิดเปอร์เซ็นต์นั้นจากไหน

พวกเรามักจะเห็นตารางสุดท้ายออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์สวยงาม เข้าใจง่าย แต่เปอร์เซ็นต์ตรงนั้นคืออะไร คือจำนวนคนที่เดินเข้ามาคืนแล้วกู้ต่อหรือเปล่า คือจำนวนคนที่เดินเข้ามาที่กองทุนหมู่บ้าน หรือคิดเปอร์เซ็นต์จากจำนวนคนที่กู้เงินไป หรือคิดจากเม็ดเงินที่กู้เงินออกไป ตรงนี้เป็นจุดที่ต้องศึกษากันต่อไป

และเพื่อให้แน่ใจว่าผลวิจัยที่ได้มานั้นไม่หลงทิศหลงทาง จึงได้มีการลงภาคสนามไปคลุกคลี่กับความเป็นจริงทั้ง 4  ภาครวมพื้นที่กรุงเทพฯมหานครด้วย โดยโฟกัสไปที่ 4 กลุ่มหลัก คือ คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามประเมินผลจังหวัด และอำเภอ กลุ่มนี้เป็นหน่วยที่รับคำสั่งโดยตรงจากส่วนกลาง

คณะกรรมการเครือข่ายระดับตำบล คือเครือข่ายที่ทำงานด้วยกัน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กรุ๊ปนี้แหละที่สำคัญเป็นคนที่จะบอกว่าจะให้กู้หรือไม่ให้กู้ เป็นคนกำหนดว่าต้องชาร์ดในเรื่องดอกเบี้ยเท่าไหร่ 1  % 2 % 5 %  10 % ซึ่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2-6 %โดยเฉลี่ย

กลุ่มสุดท้ายคือสมาชิกกองทุน แต่ละกลุ่มที่เข้าไปนั่งพูดคุยด้วยจะมองใน 4 แง่มุม เช่น มองในเรื่องข้อมูลว่ามีการเก็บที่ดีขนาดไหน และการตอบสนองต่อนโยบายการทำงานในเรื่องกองทุนหมู่บ้านได้ถูกต้องหรือมีประสิทธิภาพขนาดไหน

ประเด็นต่อมาดูว่าคนเหล่านี้มีการพูดคุยกันมากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายคืนคนหล่านี้มีระบบตรวจสอบตัวเองและส่งให้กับส่วนกลางเพื่อการพัฒนาในรอบการกู้เงินต่อไปอย่างไร

ปรากฏว่าในส่วนกลุ่มที่ 3 และ 4 ที่เรียกได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการทำงาน คือคณะกรรมการกองทุนและสมาชิกกองทุน เมื่อถูกถามข้อมูลลึกๆ จริง ๆ กลับไม่มีข้อมูล  มีข้อมูลเฉพาะวันนี้ แต่หากถามย้อนหลักไปสัก 2 ปี กลับไม่มีฉะนั้นข้อมูลที่ว่าสมาชิกทำอะไรไปบ้างกับเงินก้อนนี้ยิ่งหายาก

สิ่งที่สำคัญจริงๆที่อยากจะสรุป คือว่าสาระสำคัญของการเชื่อมโยงต่างๆ และการลงภาคสนามทั้งหมด เป็นเรื่องที่ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งเก็บข้อมูลก็ได้ เพราะปัญหาของกองทุนหมู่บ้านนั้น ไม่ได้หนีไปที่ไหนเลย

ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของบัญชีและการจัดการความรู้ จากจุดนี้นี่เองทำให้รู้สึกแปลกใจมากๆ ว่าทำไมเมื่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านรู้ว่าปัญหาสำคัญคือรูปแบบของบัญชีนั้นมีความหลากหลาย ไม่มีรูปแบบที่ชัด ทำไมจัดการ

คำถามที่ตามมาคือ ในช่วงแรกที่บอกว่ามีการเทรนให้กับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านในระดับหมู่บ้านทำอะไรกันบ้าง  ก่อนที่จะเป็นนิติบุคคลต้องมีรูปแบบของการทำบัญชีเบื้องต้น ผู้ตรวจสอบบัญชีสามารถเข้าไปตรวจสอบได้

นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการขาดข้อมูล ขาดผู้ประสานงานหลักระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล ขาดความชัดเจนในเรื่องรูปแบบของการเก็บข้อมูล ขาดการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริหารงานล่าช้าและไม่ประสานกันได้ และปัญหาที่สำคัญคือขาดการประสานงานอาชีพและการพัฒนาการสินค้าที่เหมาะสม

หลังจากทำวิจัยเสร็จได้ส่งรายงานไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บอกว่า”ทำไมเบสิคจังเลย เขียนอะไรไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว” ผมจึงบอกว่า”ต้องเหมือนปีที่แล้วถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข”

ฉะนั้นคนที่ทำวิจัยในปีที่แล้วนั้นใช้ได้ เพราะผลวิจัยที่ออกมาเหมือนกับที่ทำในปีนี้ คำตอบเหมือนกัน

นี่คือแฟ็กซ์ คือความจริง คืองานวิจัยที่ได้มา ซึ่งผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้เห็นแต่ไม่แน่ใจว่าได้ดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน

สุดท้าย อย่าลืมว่านโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านมารวมถึงกองทุนหมู่บ้านด้วย เงินไปก่อนตัว คือเงินไปก่อนถึงค่อยเตรียมตัว เงินมาจี้ถึงหน้าบ้านแล้ว ใครไม่เอาก็โง่ เงินตั้งล้านบาทไถ่นาตั้งเป็นปี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสำหรับกองทุนที่มีความเข้มแข็ง บริหารดี ใช้ได้ก็มี ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่มีความรู้ในเรื่องการบริหารอยู่แล้ว

บทสรุปคือว่า ตัวอย่างนโยบายนี้มีจุดอ่อนอยู่มาก แต่ว่าอยู่ในวิศัยที่พัฒนาได้ จากการทำวิจัยเห็นประเด็นความอ่อนแอของโครงการนี้ทั้งหมด 5-6 ประเด็น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยครั้งในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นว่า เงินที่รัฐบาลคิดว่าจะช่วยคนจนได้นั้น ไม่จำเป็นต้องไปก่อนปัจจัยอื่น แต่ควรจะเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนก่อน

นี่คือภาพทั้งหมดที่อยากจะนำเสนอ

 

 

.............………