ปาฐกถาพิเศษ “เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด”
โดย ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์
โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”
วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ ชั้น 4
อาคารประชาธิปปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขออนุญาติอ่านรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา ที่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ต้องหยิบขึ้นมาอ่านในที่นี้อาจจะก่อให้เกิดสำนึกในเสรีภาพที่รับรองกันในฉบับปัจจุบัน
มาตรา 39 ความว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ
และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน
การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้
การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ ยกเว้นจะกระทำในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฏหมาย ซึ่งได้ตราตามในวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ตามที่กฏหมาบัญญัติ การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เพื่ออุดหนุนทรัพย์หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอย่างอื่นของรัฐ ของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้
มาตรา 40 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะให้องค์กรของรัฐมีอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ตามที่กฏหมายบัญญัติ
การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่นๆ รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรี อย่างเป็นธรรม
มาตรา 41 เป็นมาตราสุดท้ายที่เกี่ยวกับเรื่องของเสรีภาพสื่อ พนักงาน ลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น ภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของข้าราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสากิจ หรือเจ้าของกิจการนั้นๆ แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ
ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ที่เขียนไปแล้วผ่านดูทราบซึ้ง สะท้อนให้เห็นว่าเมืองไทยมีความเจริญก้าวหน้า มีสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพ รับรองกันเกือบจะทุกแง่ ทุกมุมไว้หมดแล้ว
ผมอยากจะเล่าเบื้องหลัง ผมเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คนหนึ่งที่มีส่วนในการยกร่าง 3 มาตรานี้ ท่านเป็นอาจารย์อยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เวลานี้ท่านไปอยู่ศาลปกครองแล้ว คือท่านอาจารย์วิษณุ วรัญญู
การยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นไม่กินไม่นอนอยู่ 3 วัน อยู่ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนปาร์ค ผมเป็นประธานอนุกรรมการยกร่าง หมวดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจารย์วิษณุเป็นผู้เขียนร่างนี้มาให้ผม ที่ผมเห็นเด่นมากที่สุด คือเรื่องของคลื่นวิทยุ และช่องโทรทัศน์
ในวันนั้นผมถามอาจารย์วิษณุว่า”อาจารย์เอากันอย่างนี้นะ เรียกคืนกันเลยนะ”อาจารย์วิษณุก็บอกว่า”เอาซิครับอาจารย์ แล้วอาจารย์เห็นด้วยไหม”
ผมบอกว่า”เห็นด้วยแต่กลัวอย่างเดียว กลัวว่าเป็นของรัฐ เพราะคลื่นวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์นั้นอย่าเข้าใจ อย่าใช้คำว่าเป็นของรัฐ รัฐเป็นนามธรรมซึ่งพูดกันได้ง่าย แต่ไม่มีเรี้ยวแรงอะไรมากมาย แต่ที่มีเรี้ยวแรงมากที่สุด คือ คลื่นวิทยุ และช่องโทรทัศน์ไม่ได้เป็นของรัฐในบ้านเรา แต่เป็นของหน่วยราชการ”
หน่วยราชการมีบารมีเหนือรัฐ อย่างกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก กองทัพเรือ 3 เหล่าทัพนั้นไม่ใช่เล่น เพราะเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุกระจายเสียงและช่องรับโทรทัศน์ทั้งนั้น
ผมยังบอกกับอาจารย์วิษณุอีกว่าเรื่องนี้ ถ้าอาจารย์จะเขียนไว้อย่างนี้ก็ใช้ได้ แล้วผมก็เห็นด้วย แล้วเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องมีการต่อต้านโดยคนที่เป็นเจ้าของคลื่นเก่าต่างๆ เหล่านี้มากทีเดียว
นี่เป็นคำพูดของผมเมื่อประมาณปี 2539 ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่นึกว่าจะต่อต้านยืดเยื้อกันถึงขนาดนี้ รัฐธรรมนูญประกาศใช้มา 7 ปีแล้ว เฉพาะมาตรา 41 เรื่องคลื่นวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์นั้น กสช.ยังตั้งไม่ได้ ยังวนๆ เวียนๆ อยู่แล้วทำท่าจะตั้งไม่ได้ กทช.ก็เพิ่งได้ พอเริ่มทำงานขั้นแรก
ก็กำหนดเงินเดือนของตัวเองเป็นเดือนละล้านเลย ไม่ได้ทำเรื่องอื่นเลย แต่จัดการเรื่องเงินเดือนของตัวเองก่อน ถึงขนาดนี้
แล้วเวลานี้การต่อต้านรุนแรง ผมเคยพูดกับอาจารย์วิษณุไว้ว่า หน่วยราชการเท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่เฉพาะหน่วยราชการ แต่ทว่าเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีกลุ่มธุรกิจต่างๆ ผ่านเข้ามาทางหน่วยราชการต่าง ๆ
ที่เห็นชัด เช่น การต่อต้านการแต่งตั้งกทช. ค่ายเพลงก็เข้ามา เพราะค่ายเพลงเข้ามายึดคลื่นวิทยุกระจายเสียงไว้หมดแล้ว ฉะนั้นเขาจึงต้องการที่จะต่อต้าน ธุรกิจทุนนิยมทุกชนิด ในด้านการสื่อสาร การบันเทิง เข้ามาต่อต้านตรงนี้เกือบทั้งนั้น
ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความเคลื่อนไหวทางวิทยุกระจายเสียง และคลื่นโทรทัศน์ กสช.ยังไม่ได้กระดุกกระดิก ยังวนเวียนอยู่กับการสรรหาที่ยังไม่จบ
แม้แต่วิทยุชุมชน ซึ่งมาตรา 40 วรรค 3 จะบอกว่าเป็นของท้องถิ่น ก็ยังโดนกรมประชาสัมพันธ์บิดเบือนอยู่ตลอดเวลา ครั้งแรกบอกว่าจะให้องค์การบริหารสภาตำบลบ้าง มาปัจจุบันบอกว่าจะต้องการมีการควบคุมอย่างเดียวกับเคเบิ้ลทีวี ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องเกี่ยวกับชุมชน และการรับรองชุมชนนั้นต้องการให้ชุมชนมีส่วนในการที่เผยแพร่ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวและการสร้างความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนนั้นโดยอิสระ
แต่ทว่ากรมประชาสัมพันธ์ก็พยายามที่จะครอบงำ เหมือนอย่างที่ผมเคยพูดกับอาจารย์วิษณุไว้ว่า สิ่งที่มีอำนาจที่สุดในบ้านเมืองไทยนั้นคือหน่วยราชการ รัฐไม่ได้มีความหมายอะไรเท่าใด แต่หน่วยราชการจะมีอำนาจเป็นที่สำคัญที่สุด
ในระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะเจอกับการต่อต้านในเรื่องของเกี่ยวกับคลื่นวิทยุ คลื่นกระจายเสียง แล้วเวลานี้มีปรากฏการณ์อันหนึ่งเกิดขึ้น คือ การใช้กฏหมายหมิ่นประมาทเพื่อที่จะครอบงำ คุกครามสื่อ ไม่ให้สื่อทำหน้าที่สื่อสารมวลชนได้เต็มที่
ยิ่งในช่วงหลังๆ นี้มีการฟ้องหมิ่นประมาทนักหนังสือพิมพ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสื่อจำนวนมาก แล้วศาลเริ่มที่จะลงโทษ แทนที่จะใช้การวิธีการรอลงอาญา ด้วยการจำคุกกันบ้าง และกรณีที่โด่งดังที่สุดในขณะนี้เป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่ คือกรณีของ”สุภิญญา กลางณรงค์”เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์การปฏิรูปสื่อ(คปส.) ซึ่งคุณสุภิญญาได้ออกมาพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น กับนายกรัฐมนตรี
ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้นำคำพูดของ”สุภิญญา”ไปพาดหัว บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ฟ้อง”สุภิญญา “และ”หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์”ในข้อหาหมิ่นประมาท ทั้งทางอาญาและแพ่ง
ทางแพ่งนั้นเรียกค่าเสียหายจากจำเลยถึง 400 ล้านบาท ซึ่งศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้คำนวณไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า ค่าเสียหายที่โจทย์เรียกร้องนั้นเท่ากับเงินเดือนของ”สุภิญญา” 2,777 ปีจึงจะใช้ครบ คือต้องตายกันอีกหลายสิบชาติ
นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ อีกที่มีการใช้กฏหมายหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากสื่อมวลชน ไม่ให้ออกไปทำบทบาทในการที่จะเปิดโปง หรือทำอะไรมากนัก เพื่อให้ดูเสมือนว่าสามารถคุกคามสื่อจนสื่ออยู่ในฐานะที่ถูกปิดกั้น ไม่กล้าที่จะเสนอหน้าขึ้นมาพูดในสิ่งที่เป็นความจริงได้อีกแล้ว
เสรีภาพของสื่อเองก็ถูกคุกคามด้วยโดยกฏหมายหมิ่นประมาทนี้ ขอยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีของ”สุภิญญา” เรียกว่า Investigative reporting ซึ่งในวงการวารสารศาสตร์ ถือกันว่าเป็นงานสำคัญที่สื่อจะต้องทำ คือสืบหาความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อจะต้องเป็นเครื่องมือในการปราบคอร์รัปชั่น จะต้องขุดคุ้ยแล้วหาข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกรณีต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนี้
กรณีของชินคอร์ปอเรชั่น ถ้าพูดไม่ได้แล้ว หนังสือพิมพ์ไม่มีทางที่จะได้ทำ Investigative reporting และบทบาทของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนในการต่อสู้ หรือปราบคอร์รัปชั่น ทำไม่ได้หมด
เพราะฉะนั้นการคุกคามสื่อนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณสุภิญญากับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ของการที่จะคุกคาม การที่จะปิดปากสื่อ โดยใช้กฏหมายหมิ่นประมาท
สภาการหนังสือพิมพ์ก็เคยตระหนักในเรื่องนี้ ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่องมโนธรรมและความเป็นธรรมในกฏหมายหมิ่นประมาทเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
การประชุมในวันนั้นมีข้อสรุปหลายเรื่อง ทุกคนตระหนักว่าจะต้องมีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องการใช้กฏหมายหมิ่นประมาท กฏหมายหมิ่นประมาทนั้นทางหนึ่งจะต้องรักษาสมดุล เพราะกฏหมายหมิ่นประมาทมีความจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล เพราะสื่อเองอาจจะก้าวล่วงไปในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นๆได้
แต่อีกทางหนึ่งจะต้องรักษาเปิดช่องไม่ให้ใช้กฏหมายหมิ่นประมาทปิดปากสื่อ หรือคุกคามสื่อ ครอบงำสื่อจนกระทั่งสื่อไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหน้าที่ต่างๆ ได้
ในงานสัมมนาที่จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์มีการเปิดเผยตัวเลข ค่าธรรมเนียมการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลไว้สูงถึง 200,000 บาท หากโจทย์ต้องการเรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้าน ฉะนั้นไหนๆ ต้องจ่าย 200,000 บาท ก็เรียกไป 400 ล้านบาทเลย
แต่สำหรับสื่อแล้วไม่ต้องถึง 400 ล้านบาทหรอกแค่ล้าน สองล้านสื่อก็ไม่ไหวแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องของกฏหมายหมิ่นประมาทกับสื่อต้องมี 2 ทาง ทางหนึ่งต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ให้เกียรติยศชื่อเสียงของเขาเสียจากสื่อ อีกทางหนึ่งอย่าใช้กฏหมายหมิ่นประมาทเข้าไปครอบงำสื่อ
กรณีของชินคอร์ปอเรชั่นนั้นมีผลสะท้อนกลับเหมือนกัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 18 พ.ย.47 ในคอลัมน์อินไซด์การเมือง ได้เขียนบอกว่า ซีอีโอของบริษัทชินคอร์ปเริ่มตระหนักแล้วว่า การฟ้องร้องสุภิญญาก็ดี ฟ้องไทยโพสต์ก็ดี ส่งผลร้ายต่อนายกรัฐมนตรี มีผลร้ายทางการเมือง ต่อตัวนายกรัฐมนตรีและครอบครัว กำลังหาทางประณีประนอมนอกศาล
แต่เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปยังไม่รู้ อยากจะสรุปตรงนี้ว่าตอนที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนตื่นเต้นกันมากเรียกกันว่าารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่พอใช้มา 7 ปี ก็เริ่มรู้ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐธรรมนูญริเริ่มนั้นยังไม่ได้บรรลุถึงเป้าที่รัฐธรรมนูญต้องการ
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่มองข้ามวัฒนธรรมทางการเมืองจริงๆ ของสังคมไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนตามลักษณะสากลนิยมมากเกินไป และเพราะฉะนั้นจึงมีลักษณะเป็นอุดมคติมากกว่า
3 มาตราที่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อนั้นเป็นเพียงภาพในอุดมคติที่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่พวกเราต้องใช้พลังที่จะร่วมกันสู้ให้เดินไปสู่อุดมคตินั้นให้ได้ อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่ต้องการมากมาย
เป็นเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2540 พอปี 2544 มีเลือกตั้งครั้งแรก ปรากฏการเมืองไทยตกอยู่ในลักษณะที่ถูกครอบงำโดยนักธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาครอบงำ
แล้วเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนก็ปรากฏชัดขึ้นมา มีสิ่งที่นักวิชาเรียกกันใหม่ คือคำว่า”คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ก็ชัดออกมาทันที เพราะฉะนั้น พลังของธุรกิจ พลังของผลประโยชน์ทับซ้อน และพลังของการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย การทุจริตเชิงนโยบาย ได้พยายามที่จะเบียด เข้าครอบงำ แล้วปฏิเสธที่จะให้เสรีภาพของสื่อตามอุดมคติของรัฐธรรมนูญ
ที่ผ่านมาวงการสื่อสารมวลชน วงการหนังสือพิมพ์ เคยต่อสู้กับเผด็จการทหาร แต่คราวนี้จะต้องต่อสู้กันใหม่ แต่ไม่ได้ต่อสู้กับเผด็จการทหารแล้ว เพราะเผด็จการทหารตกไปแล้ว ผ่านยุคสมัยของเผด็จการทหารไปแล้ว
ขณะนี้สื่อกำลังต่อสู้กับทุนใหญ่ ทุนผูกขาด ทุนสัมปทาน ซึ่งมีอำนาจผูกขาดทางการเมืองไว้ และมีผลประโยชน์ในเชิงทับซ้อน และมีคอร์รัปชั่นในทางนโยบาย
ตรงนี้เป็นศรัตรูใหม่ของเสรีภาพ ซึ่งจะต้องสู้กัน แล้วการสู้คงไม่ใช่ง่ายนัก และอย่าคิดว่าสังคมไทยได้บรรลุถึงจุดที่ต้องการแล้ว แต่สื่อกำลังต่อสู้ แล้วการต่อสู้นั้นต้องอาศัยหยาดเหงื่อและน้ำตาของคนทุกคน เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัว ในวงการสื่อนั้นต้องสู้เพื่อเสรีภาพกับศรัตรูหน้าใหม่ ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทเข้ามาครอบงำอยู่ในขณะนี้
.....................