ปาฐกถาพิเศษ “รัฐกับอาณาจักรแห่งความกลัว”

 

ปาฐกถาพิเศษ “รัฐกับอาณาจักรแห่งความกลัว”

โดย   ไกรศักดิ์  ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2547 ณ หอประชุม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ก่อนหน้านี้ มีน้องคนหนึ่งเดินมาบอกว่าตอนนี้คนแห่เข้าไปในพื้นที่ตามชายแดน บริเวณจังหวัดสระแก้วค่อนข้างจะมาก เป็นเขตที่อันตรายมีเขมรแดงอยู่แล้ววางระเบิดกันไว้เยอะ ผมมีมูลนิธิต่อต้านการรุนแรง ชื่อมูลนิธิพล.อ.ชาติชาย เป็นมูลนิธิที่มีภาระกิจในการเก็บกู้ระเบิด คล้ายๆกับการตามล้างความรุนแรงที่พล.อ.ชาติชายได้เคยใช้มา เราค่อนข้างภูมิใจว่าที่ผ่านมามูลนิธิแห่งนี้เก็บกู้ระเบิดได้มากที่สุด มากกว่าหน่วยงานของรัฐบาลเสียอีก กู้ได้ทั้งหมดเกือบ 40,000 กว่าชิ้นแล้ว

ผมจึงคิดว่าวันนี้จะต้องมาพูดเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงของรัฐหวนคิดกลับไปถึงการรุนแรงในอดีตว่าตอนนี้ก็ยังอยู่กับเรา ตามชายแดน 22 จังหวัดยังมีกับระเบิดอยู่เยอะมาก แล้วเฉลี่ยแล้วคนที่ไปเหยียบกับระเบิดแล้วขาขาดปีหนึ่งมีประมาณ 500 กว่าคน ฉะนั้นนโยบายที่จะใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์ก็ยังอยู่

เมื่อเช้านี้ได้รับโทรศัพท์จากคุณหมอคนหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับเรื่องชันสูตรศพบอกว่าข้อมูลที่ออกมานั้นคาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมากว่ามีราวๆ 10 ศพที่ดูเหมือนว่าโดยตีจนตาย โดนยิงหัว บางคนคอหัก

ที่บอกว่า 78 คนที่ตากใบตายเพราะว่าขาดแคลนอากาศ หรือไตหวายตายเพราะว่าเลือดไม่เดินไม่ถูกต้องทั้งหมด อยากให้วุฒิสมาชิกพิจารณาโดยใช้หลักฐานตรงนี้ด้วย

ผมคาดไม่ถึงว่าชีวิตผมจะต้องมานั่งดูรูปศพ  ศพจริงก็ไปดูมาแล้ว แทบจะดูไม่ไหว แล้วแทบจะดูไม่ออก เพราะบวมไปหมด รู้สึกติดในตา หลับไปแล้วบางทียังฝันเห็น รูปเยอะเหลือเกินที่น่าจะเป็นหน้าที่ของวุฒิสมาชิกที่ต้องไปตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อขุดคุ้ยความเป็นจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการตายของประชาชนที่ตากใบ แล้วนำมาสู่การสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

และในระหว่างที่ผมพูดอยู่มีเพื่อนวุฒิสมาชิกคนหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่า มีวุฒิสมาชิกบางคนที่ขึ้นชื่อว่าเคร่งศาสนาพุทธ สนับสนุนให้มีกระทรวงพุทธศาสนา แต่กลับพูดด้วยถ้อยคำที่รุนแรงในที่ประชุมว่า”ไอ้พวกมุสลิมจะต้องฆ่ามันให้หมด”

ตรงนี้ทำให้ผมกลับมาคิดว่า ความรุนแรงอันนี้ในใจของวุฒิสมาชิก ในใจของหลายๆคนที่เคารพกฏหมาย เป็นผู้ร่างกฏหมาย ยังสนับสนุนให้รัฐทำในสิ่งที่ผิดกฏหมาย สนับสนุนให้รัฐใช้อำนาจนอกเหนือกฏหมาย นอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง

วัฒนธรรมของเรายังสนับสนุนการใช้ความรุนแรงนอกเหนือกฏหมายอยู่อีกหรือ? ซึ่งผมแปลกใจมาก

เหตุการณ์ในช่วง  2-3 วันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่หลุดออกจากวัฏจักรของการใช้ความรุนแรง แล้วสิ่งที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมว่าด้วยกระบวนการเคารพกฏหมาย ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่เริ่มจะมีการปั้นทอนมากขึ้น ๆ แต่การบั้นทอนตรงนี้ไม่ใช่เพิ่งเริ่มเสื่อม แต่มันอยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว แต่เมื่อมีการกระตุ้นตรงนี้ขึ้นมาโดยคนที่มีอำนาจรัฐ ตรงนี้จึงขัดแย้งกับตัวเองอย่างสิ้นเชิง

จากจุดนี้จึงทำให้มีความเป็นห่วงมาก เมื่อเดือนที่แล้วได้รับเชิญให้ไปพูดที่สยามสมาคม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน ผมก็ดอไม่ได้เพราะบางทีวัฒนธรรมไทย คืออุดมการณ์ของรัฐไทยที่เป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ทางการคิดว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีส่วนสนับสนุนการรุนแรง และเป็นวิธีคิด วิธีมองรากเหง้าของการเป็นคนไทยอย่างไม่ถูกต้องด้วยในสายตาของผม ในเวลาเดียวกันผมคิดว่าเป็นความขัดแย้งโดยตรงกับวัฒนธรรมการเป็นประชาธิปไตย

การไม่ยอมรับในความหลากหลายที่ประเทศไทยมีชนอื่นๆ อยู่ด้วย ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนในโลกนี้ที่พอเข้ามาบริหารประเทศแล้วมีมาตรการสำคัญที่สุด คือว่าปลด การเป็นคนไทยของชาวเขาเป็น 1,000 คน บางคนเป็นนายตำรวจแล้ว อยู่ดีๆ กลายเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่เคยมีประเทศไหนยกเว้นประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

วิธีการรักชาติแบบบ้าระห่ำเช่นนี้ยังดำรงอยู่ในประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ หรือวิธีการมองประวัติศาสตร์ไทยแบบสายเดี๋ยว คือมาทางเดียว เช่น จะต้องมาจากสุโขทัยหรืออยุธยา โดยไม่มองถึงความขัดแย้งภายในของรัฐไทยกันเอง บางทีคนที่เผาสุโขทัยก็มาจากอยุธยา หรือระหว่างคนไทยกับคนไทย ก็รบฆ่ากันไม่รู้เท่าไหร่จะไม่มองตรงนี้บ้างเลยหรือ

ผมรู้สึกว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จของการปฏิวัติในระดับหนึ่งของชนชั้นกลางที่ไม่สามารถจะทนทานได้อีกแล้วในการฆ่าฟันกันในท้องถนน ไม่สามารถที่จะทนเห็นสภาพพฤษภาทมิฏได้อีกแล้ว แต่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมยังไม่ได้เกิดขึ้นเลยในประเทศไทย

เรายังต้องมองว่าใน 3 สถาบัน ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิเลยว่าเราไปท้าทายอุดมการณ์แห่งรัฐอันนี้ไม่ได้ แต่กรณีค่ายทหารยังดี ลงไปภาคใต้ก็เห็น ประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน

แต่อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ตรงนี้ บางทีก็ขัดแย้งกับตรรกะของการเป็นประชาธิปไตย ความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เพราะในบางเรื่องไม่เป็นจริง แต่มีการบังคับให้คิดอย่างเป็นจริง และต้องคิดอยู่แนวเดียว

บางเรื่องไม่เป็นจริง แต่เขาบังคับให้เป็นจริง ต้องคิดแนวเดียว อย่างอื่นไม่มี เมื่อวานนี้ผมเข้าวัง พบบุคคลท่านหนึ่งเข้ามาทำหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อพระนเรศวร ผมถามเขาว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังประเภทไหน

ผมบอกคนๆนั้นไปว่า พม่าเขียนรายละเอียดเรื่องนี้คนละแนวกับของไทย เขาเขียนว่ามีคนไปแอบยิงจนคนของเขาล่วงลงมาจากหลังช้าง

มิติความสัมพันธ์ความเป็นจริงที่อยู่บนพื้นฐานตรรกะของประชาธิปไตย และเสรีภาพ สิทธิต่างๆ เมื่อภาพยนต์เรื่องนี้สร้างเสร็จและนำออกมาฉาย ทุกคนก็ต้องเชื่อว่านั่นคือความจริง ซึ่งจริงๆแล้วผู้สร้างควรที่จะบอกกับผู้ดูว่าเป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของความจริง ใครจะเชื่อว่าผู้ที่สร้างหนังเวอร์ชั่นฮอลิวู้ดดูแล้วดี แต่คนไทยรับไม่ได้ เพราะไปดูแล้วนี่คือความจริง ขัดแย้งกับระบบที่กำลังจะฝั่งราก ระบบที่กำลังจะทำให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล บนพื้นฐานของการปกครองที่มีหลัก มีเกณฑ์ เพราะฉะนั้นผมยังไม่สามารถที่จะปรับตัวได้เลย

ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ความจริงที่ผมไปเจอที่อำเภอสะบ้าย้อย สภาพของการตายของนักฟุตบอลชาวมุสลิม 19 คน ในสมองผมคิดว่าทำไม? กล้าขนาดนี้ นำนักกีฬาทั้ง 19 คนไปมัดแล้วยิงหัวทั้งหมดเลย ทำให้แปลกใจมากว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นทำอย่างนั้นทำไม ทำไมถึงทำ ด้วยเหตุผลอะไรถึงต้องทำกันถึงขนาดนี้ ในช่วงที่ลงไปเก็บรายละเอียดเพื่อตรวจสอบเรื่องเหตุการณ์ที่อำเภอสะบ้าย้อย คณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งนั้นสอบสวนเฉพาะกรณีของกรือแซะเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปดูที่อื่นเลย

เหตุการณ์ที่อำเภอตากใบเกิดขึ้น จาก 108  ศพที่สร้างกังวลอยู่ในใจผมมาตลอด เพิ่มขึ้นมาอีก 78 ศพ ภายใต้การตายอย่างทรมาน ท่ามกลางการควบคุมของรัฐไทยด้วย โดนจับ โดนมัด โดนซ้อมไปในรถจนตาย คิดว่ามีความตั้งใจทำให้ตายด้วย เพราะว่าการเดินทางควรจะใช้เวลาแค่ชั่วโมงกว่าจากบริเวณที่เกิดเหตุอำเภอตากใบ ถึงค่ายที่ปัตตานี แต่กลับใช้เวลานานถึง 4-6 ชั่วโมง จึงคิดว่าการตายครั้งมีส่วนทำให้ตายด้วย

เพราะฉะนั้นคิดว่ารัฐไทยตราบใดยังไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมวิธีคิด  มีการท้าทายทางความคิดจากแนว

นโยบายของรัฐที่อยากให้เราคิด สังคมไทยจะเจอเหตุการณ์อย่างนี้ เหตุการณ์ที่นอกเหนือจากความเป็นจริง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผมไปสัมภาษณ์แม่ทัพคนหนึ่ง เขาบอกว่าที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงเพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมด ผมถามกลับไปว่ามีกี่ร้อยคน เขาบอกว่าที่เห็นมี 100  กว่าคนเป็นผู้ก่อการร้ายแน่ แล้วพวกนี้ไม่พูดภาษาไทยแล้ว พูดภาษาอาหรับอย่างเดียว แล้วผมรู้ว่าพวกนี้ติดอาวุธหมดเลย

ผมถามแม่ทัพต่อว่า ถามจริงๆ ว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าคนจำนวน 100 กว่าคนนี้ติดอาวุธ แม่ทัพบอกว่าเขาอยู่ภาคใต้มา 30 ปี เขาเข้าไปในม็อบ เข้าไปกอดคนในม็อป แล้ววิธีการกอดของเขานั้น สามารถคลำได้ว่าพวกนี้ติดอาวุธหมด ผมจึงถามต่อไปอีกว่าอาวุธที่ว่ามีอะไรบ้าง แม่ทัพบอกว่ามีปืนเอ็ม 16 จำนวน 4 กระบอก ปืนเอสเค 1 กระบอก ลูกระเบิด 4 และปืนสั้นอีกหลายกระบอก

ผมก็ถามต่ออีกว่าถ้าคนกลุ่มนี้ติดอาวุธจริงๆเขาก็สามารถชักปืนออกมายิงตอบโต้ได้ แต่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตายสักคน ที่โดนไปรองผู้ว่าราชการจังหวัด ยังไม่รู้ว่าใครยิง ไม่มีผู้ประท้วงสักคนที่นำอาวุธสงครามออกมายิงเจ้าหน้าที่ ซึ่งการโกหกซึ้งๆ หน้าแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่หลุดจากประเทศที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง

ประเทศไทยยังอยู่ในฐานะที่เจ้าหน้าที่เกือบทุกคนไม่เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาต่างๆที่ไทยไปเซ็นต์กับต่างชาติไว้ ไม่เข้าใจว่าขั้นตอนตามกฏหมายคืออะไร เข้าใจเพียงอย่างเดียวคือเขาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง

และคำสั่งนี้ไม่ใช่คำสั่งโดยตรง เป็นยุคที่แปลกออกไป เป็นยุคที่มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ค่อยเชื่อในระบบประชาธิปไตยเท่าไหร่ แต่เป็นนายกที่เชื่อว่าวิธีการบริหารบริษัทกับวิธีการบริหารประเทศนั้นไม่มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นกฏระเบียบไม่จำเป็นต้องมีมากมาย โดยมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศไทยแล้ว คิดว่าจะทำอะไรก็ได้

 

เป็นที่ทราบกันว่านายกฯลงไปอยู่ที่อำเภอตากใบตั้งแต่ในช่วงบ่าย 3 - 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น หากดูจากเทปวีดีโอที่มีการถ่ายไว้ช่วงบ่ายเป็นช่วงที่ประชาชนอ่อนแรงหมดแล้ว ไม่มีการปะทะ ไม่มีอะไรเลย

การสร้างสรรค์ที่เรียกกันว่ารัฐไทย กำลังเข้าสู่วิกฤตการณ์โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ตากใบ เพราะว่าส่วนอื่นๆ จะตามมาทั้งหมด การที่ประเทศไทยไปผูกมิตรในเชิงนโยบายในการทำสงครามที่อิรักกับสหรัฐอเมริกา การเป็นปากเป็นเสียงให้กับเผด็จการที่พม่า พูดแทนพม่าไปเกือบทุกเรื่อง เมื่อโดนสังคมโลกกล่าวหา การใช้กำลัง ก็ออกมาโกหกประชาชนแบบซึ้งๆ หน้าว่าจำเป็น ผู้ประท้วงนั้นเป็นผู้ก่อการร้าย ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมคิดว่าประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่เริ่มต้องการการปฏิวัติทางความคิด ต้องการการปฏิวัติการเคลื่อนไหวของประชาชนอีกยุคหนึ่งแล้ว

การเป็นคนไทย แล้วยอมรับตรงนี้ จะเริ่มเปลี่ยนไปแล้วจะอนุญาติให้วิธีคิดแบบคลั่งชาติโผล่ขึ้นมาในทุกจุด โผล่ขึ้นมาในสภาฯ ผมพูดเรื่องสะบ้าย้อย ยังไม่ทันจบ มีคนลุกขึ้นมาด่า หยาบๆ คายๆ ไม่ให้พูด การข่มขู่กันถึงพื้นที่ การข่มขู่กันถึงส่วนตัว เกิดขึ้นทุกวัน คนที่แสวงหาความจริง คนที่สอบสวน คนที่ปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่าไม่เคยตกอยู่ในสภาพอย่างนี้มาก่อนเลย

ตัวแทนของประชาชนที่ออกมาปกป้องความอ่อนแอของประชาชนคนยากคนจน โดนฆ่าตายเกือบทั้งหมด เราเรียกยุคนี้ว่ายุคอะไร

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าใครจะมาว่าเราว่า รักพวกมุสลิม ปกป้องมุสลิม แล้วดูซิ พระโดนฟันหัว พระโดนฆ่าตาย สังคมไทยต้องคำถามว่า เพราะฉะนั้นความรุนแรงจะต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรงหรือ แล้วตรงนี้จะนำไปสู่จุดที่แรงที่สุดแล้ว ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนเลยในประเทศไทย

ก่อนมาที่นี้ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ตาลิกาลี เป็นของนักเขียนชื่อตาลิกาลี เขียนถึงการประทะกันระหว่างพวกสุดโต่ง โดยมองว่าถ้าคุณคิดแบบสุดโต่งแล้วจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เห็น ถ้าเราไม่ประนามการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของผู้ก่อการร้าย หรือรัฐก็ดี ต้องโดนประนามทั้ง 2 ฝ่าย

อยากจะตั้งคำถามกับสังคมไทยเหมือนกันว่า การตอบโต้รัฐไทยโดยการฟันพระ ยิงครู นำเจ้าหน้าที่รถไฟไปตัดคอ แล้วให้รถไฟทับเล่น เป็นพฤติกรรมทางการเมือง หรือเป็นการวางกับดักให้รัฐไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงจะไปติดกับดักตรงนี้ รัฐกระโดดลงไปลงโทษชุมชน เพราะว่าจับคนร้ายไม่ได้ ไม่สามารถที่จะเจาะเข้าไปได้ ไปประทุษร้ายต่อชุมชน ต่อสังคมทั้งหมด จนกระทั่งกลุ่มคนเหล่านี้กลายไปเป็นผู้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายกันไปหมดหรือเปล่า

รัฐไทยตั้งใจที่จะตกกับระเบิดนี้ เพราะว่ายังนิยมพฤติกรรมเก่าๆ ของตนเองอยู่หรือเปล่า หรือว่าทำอะไรไปโดยไม่มีจิตสำนึกแล้วพยายามจะกลบเกลือน วิธีการกลบเกลือนคือต้องชี้นกให้เป็นนก ชี้ลิงให้เป็นลิง หรือที่เรียกกันว่า เข้าสู่ลัทธิ มาร์กซิกมากขึ้นๆ

 

วันนี้หากมองไปรอบตัววิถีชีวิตของคนไทยได้ยังตกค้างอยู่ในอดีตมาก สังคมไทยยังเป็นสังคมที่นิยมความรุนแรงเหลือเกิน ถึงแม้ว่าเราจะโฆษณาว่าคนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับคนต่างชาติเข้ามา แต่วัฒนธรรมของไทย ประวัติศาสตร์ของไทยเต็มไปด้วยเลือด แล้วนิยมเล่าด้วยเลือด เล่าว่าฆ่ากันจริงหรือไม่จริงอย่างไรให้เชื่อไว้ก่อน รุ่นเด็กก็นิยมความรุนแรงอีกแบบหนึ่ง

ตอนนี้คนไทยเกือบทุกหนทุกแห่งไม่เคยตั้งคำถามกับสังคมไทยเลยว่าภาพที่เห็น คนที่ตกต่ำจริงๆ แในสังคมไทย ทำไมถึงข่มขู่เด็ก ข่มขู่ผู้หญิง ก็เพราะว่าเขาถูกข่มขู่มา สังคมใช้ความรุนแรงกับเขา กดขี่เขาทางออกของเขาคือความรุนแรง เพราะว่าสังคมไทยยังนิยมความรุนแรงกันอยู่ โดยวัฒนธรรมของไทย ก็ขอสันติ

 

........................