อภิปราย “รัฐกับอาณาจักรแห่งความกลัว”

อภิปราย “รัฐกับอาณาจักรแห่งความกลัว”

โดย

ดร.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง

ผศ.ดร.ธเนศ  อาภรณ์สุวรรณ

นางสาวนารี  เจริญผลพิริยะ

อ.พิจิตรา  ศุภสวัสดิ์กุล

อ.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล

ดำเนินรายการโดย อ.ประจักษ์  ก้องกรีติ

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2547 ณ  ห้อง 103  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ผศ.ดร.ธเนศ  อาภรณ์สุวรรณ

อยากจะพูดถึงอาณาจักรแห่งความกลัว อาณาจักรแห่งความกลัวของภาครัฐมีความรุนแรงขึ้นแน่นอน เพราะถ้าไม่รุนแรงเราก็คงไม่กลัว ถ้าจะถามว่าต่างกันอย่างไร คำตอบง่ายๆ คือความรุนแรงจากรัฐหรือในรัฐนั้น เป็นลักษณะเฉพาะที่มีเป้าหมายแน่นอนหรือเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น  ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน พอคาดการณ์ได้

หมายความว่าหากเราไม่อยู่ในพื้นที่นั้น ในเวลานั้นเราก็หลีกเลี่ยงความรุนแรงนั้นได้ แต่ว่าความกลัวที่เกิดจากรัฐที่กำลังจะพูดถึงนั้น เกิดทุกที่ เกิดขึ้นกับทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่เว้น ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนกลุ่มน้อย คนชายแดน 3 จังหวัด 4 จังหวัด

แต่เกิดได้กับทุกคน ทุกคนมีโอกาสได้รับผลเฉลี่ยของความรุนแรงของรัฐนั้นได้ ความรุนแรงมีอยู่แน่ๆ ในระบบการปกครอง แต่สิ่งที่น่ากลัว คือความกลัวที่แพร่ซ่านไปโดยที่เราไม่รู้ว่ามีความกลัวเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ช่วงไหนที่รัฐพยายามจะสร้างอาณาจักรความกลัวให้เกิดขึ้นบ้าง รัฐที่จะพูดถึงคืออะไร รัฐที่จะพูดถึงหมายถึงชุมชนมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในการผูกขาดการใช้กำลังอย่างชอบธรรม

ภายในอาณาจักรที่กำหนด พูดง่ายๆว่า เป็นวิธีอธิบายอย่างหนึ่ง รัฐคือชุมชน แต่ที่แตกต่างจากสังคมอื่นๆ คือว่า เจ้าชุมชนอันนี้สามารถที่จะมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด ตัวอย่างที่เรียกว่ารัฐ คนอื่นทำไม่ได้ หากทำแล้วจะถูกสิ่งที่เรียกว่ากฏหมายเล่นงาน จึงมีปัญหาอยู่ว่าแล้วสิ่งที่ชุมชนที่เรียกว่ารัฐทำ นั้นถูกกฏหมายหรือไม่

ลักษณะของรัฐเป็นองค์กรที่เป็นนามธรรม เช่น มีกองทัพ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีรูปธรรมไปกระทำการสร้างความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ว่าความกลัวที่เกิดจากรัฐนั้นจะมาจากรัฐในแง่นามอธรรม คือเป็นสถาบันใหญ่ที่ครอบงำลงมา เหมือนเงามืดที่คลุมไปทั่วทั้งอาณาเขต ตรงนั้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นฝีมือของหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานใดเท่านั้น แต่มาจากหน่วยงานซึ่งไม่มีใครรู้

ผมคิดว่าความกลัวของรัฐที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่ตกเป็นเหยื่อ และประชาชนที่เป็นผู้กระทำเองก็ไม่รู้ว่าตนเองอยู่ตรงไหนของสถาบันอันนี้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดกรณีที่ดังที่มีการรายงานกัน คนที่กระทำการให้เกิดความกลัวกับสิ่งเหล่านั้นคิดว่าตัวเองกระทำสิ่งที่ชอบธรรม ถูกต้อง เป็นนโยบาย หรือเป็นสิ่งที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐต้องการ บางทีพูดแล้วไม่ต้องบอก แต่ว่าเดา ส่วนใหญ่ผู้กระทำการเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันตัวนั้นจะดำเนินการโดยเข้าใจว่าเป็นเป้าหมายของรัฐบาล

ขอยกประเด็นเรื่องรัฐในแง่ที่เป็นสถาบันเพราะอยากจะให้เห็นว่าการที่จะไปแก้ปัญหา หรือการจะไปจัดการกับผู้กระทำการรุนแรงหรือสร้างความกลัวนั้นมันไม่ง่าย รัฐเป็นนามธรรม เป็นมโนธรรมที่เลื่อนไหล บทบาทของรัฐถูกขยายแล้วถูกใช้ไปในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ การพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์  การป้องกันประเทศ ไปจนถึงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เป็นจิตนาการที่เกิดขึ้น

ชาติตัวนี้หากไม่มีเครื่องมือรักษาปกป้อง ชาติตัวนี้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นชาติต้องแต่งงานกับรัฐเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของประเทศชาติของตัวเองเอาไว้

ทุกคนคิดว่าจะต้องมีศัตรูภายนอก เราจะสร้างจิตนาการของชาติว่าชาติตั้งแต่มีอารยธรรม มีความดีงาม ทุกคนรักชาติของตัวเอง รักจนหลงเลย ถือเป็นเรื่องปกติที่สุด แล้วพร้อมที่จะทำลายชาติอื่น ภายใต้คำว่าพิทักษ์ทรัพย์ตัวเอง เพราะฉะนั้นสงครามหลายแห่งที่เกิดในทศวรรษที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบันและต่อไปด้วย จำเป็นต้องอาศัยอุดมการณ์ของรัฐชาติ หรือชาตินิยม

ถ้าจะเปรียบรัฐในแง่ที่เป็นสถาบันเราอาจจะเปรียบเทียบได้กับสถาบันอื่น เป็นศาสนจักร มหาวิทยลัย อาณาจักรใหญ่ๆ ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจะพบว่ารัฐชาติของไทย พอเราลุกจากระบบเผด็จการ อำนาจนิยมต่างๆ เข้าสู่ระบบบริหารแบบใหม่ สังเกตุไหมว่าผู้นำที่เป็นซีอีโอสามารถจะทำการปกครองรัฐไทยอันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

หากเราเปรียบเทียบรัฐบาลในปัจจุบันกับรัฐบาลเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้มองอย่างลึกซึ้ง จะรู้สึกแปลกใจมากว่ารัฐบาลในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการบริหารมาก ทั้งนี้เพราะว่าลักษณะโดยธรรมชาติของสถาบันแห่งรัฐกับอาณาจักรนั้นมีส่วนใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นรัฐก็มีการสร้างบุคคลากรของตัวเอง แล้วขจัดส่วนที่ไม่ต้องการออกไป  แล้วออกกฏเกณฑ์ต่างๆที่จะรักษาเสถียรภาพต่าง ๆ รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐขึ้นมา

เรื่องผลประโยชน์ก็น่าสนใจ เพราะว่าโดยทั่วไป เราจะแบ่งผลประโยชน์ของรัฐชาติออกเป็น 2 เรื่อง คือ 1.ประโยชน์ที่เป็นของรัฐซึ่งแสดงออกซึ่งการเป็นตัวแทน  2.ประโยชน์ที่เป็นของชาติ ซึ่งแสดงออกในนโยบายซึ่งมีการมีส่วนร่วม

ฉะนั้นความเป็นไปได้ที่รัฐชาติจะทำการปกครองและบริหารประเทศอย่างเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย คือการผสมนโยบายทั้ง 2 ด้านนี้เข้าด้วยกัน

ตรงนี้คือหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้รัฐชาติเป็นตัวแทนแล้วมีการมีส่วนร่วมของประชาชนต่างๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ โอกาสที่จะสร้างความกลัวก็จะถูกคานมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ ยังมีโอกาสอยู่

ในแง่ประวัติศาสตร์ ประเทศอาคเนย์ตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ตั้งแต่เกิดรัฐชาติที่เป็นเอกราชขึ้นมาแล้ว มีความพยายามที่จะเป็นประชาธิปไตย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดหมายในการตั้งรัฐชาติจะคล้ายๆกันคือ ต้องการเป็นระบอบประชาธิปไตย

ของประเทศไทยคือประชาธิปไตยอยู่ภายใต้ระบอบพระมหากษัตริย์ รัฐชาติเหล่านี้จะดำเนินนโยบายที่วุ่นวายอยู่กับผลประโยชน์ของรัฐ และพัฒนาการที่กลุ่มการเมืองเลวลงเรื่อยๆ หลังจากที่มีการเปิดระบอบใหม่แทนที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับกลุ่มการเมือง

กลับจะพบว่าตั้งแต่ปี 1975-1990 หนทางการเข้าร่วมของกลุ่มประชาชนจะหดแคบลงไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นรัฐที่พัฒนามาจะเหมือนกันหมด ตั้งแต่ประเทศไทยลงไปถึงประเทศอินโดนีเซีย

สิ่งที่รัฐบอกว่าเป็นประโยชน์ของชุมชน จริงๆ แล้วเป็นผลประโยชน์เฉพาะของพรรคพวก เฉพาะฝ่ายเป็นส่วนใหญ่

ฉะนั้นนโยบายการเป็นตัวแทนของภาคสังคมจึงถูกบิดเบือน จึงไม่ประสบความสำเร็จ นี่คือความเป็นจริงที่ยังไม่ได้บรรลุเป้าหมาย

ประเด็นต่อไป คือ หลังจากที่รัฐชาติพัฒนามาในรูปแบบนี้แล้ว ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการมีตัวแทน สิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นมา คือเงื่อนไขของการสร้างความรุนแรง ภายใต้การสร้างความรุนแรงจะต้องอาศัยเครื่องมือ คือระบบกฏหมายกระบวนการยุติธรรม

การตรวจสอบสถาบันต่างๆที่เกี่ยวกับกลไกของรัฐ จะพบว่าจะมุ่งเน้นไปที่นโยบายการสร้างความมั่นคง เพราะว่าทันทีที่รัฐตระหนักว่าตัวเองมีฐานที่แน่น แล้วมีคู่ต่อสู้เป็นฝ่ายตรงกันข้าม ก็เริ่มที่จะมีมาตรการรุนแรง กำจัดฝ่ายตรงข้าม แน่นอนฝ่ายตรงข้ามต้องหาทางล้ม จึงเป็นที่มาของรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลไทย

กลไกทั้งหลายจึงเป็นเพียงเครื่องมือของการสร้างความหวาดกลัวและความรุนแรงที่ค่อยๆ ต่อยอดเข้ามาสู่โครงสร้างของระบบการเมือง การปกครองของรัฐประชาชาติเป็นส่วนใหญ่

ก้าวมาสู่ประเด็นสุดท้าย โดยทั่วไปธรรมชาติมนุษย์ ความกลัวเป็นเรื่องที่มีเงื่อนไข มีเวลา มีสถานที่ต่างกัน แต่เมื่อเริ่มมีการปกครองขึ้น แน่นอนว่ารัฐทุกแห่งจำเป็นต้องมีอำนาจมิฉะนั้นจะปกครองประเทศไม่ได้ แต่ว่าเมื่อไหร่ที่รัฐทำให้ประชาชน พลเมืองของตนเองไม่กล้าที่จะพูดความจริง ไม่กล้าที่จะแสวงหา ไม่กล้าที่จะต่อสู้เพื่อความจริง เพราะว่ากลัวผลสะท้อนกลับ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม คุมขัง หรือทำให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ตรงนี้คืออาณาจักรแห่งความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นภายใน

นั่นหมายถึงรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความกลัว พูดง่ายๆว่าทำให้ประชาชนของตัวเองเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยที่รัฐไม่ต้องใช้อำนาจใดๆ เป็นความสำเร็จของรัฐอย่างสูง

อีกประการหนึ่งระบบการเลือกตั้งที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ ถูกอิทธิพลของทุนนิยม ทำให้โอกาสที่การเลือกตั้งจะบริสุทธิยุติธรรมจริงๆมีแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่อาณาแห่งความกลัวเกิดขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะถูกเซ็นเซอร์โดยตัวเอง ประชาชนไม่กล้าร่วม ประชาชนจะค่อย ๆลดบทบาทของตัวเองลง ตรงนี้แหละที่เป็นปัจจัย การที่จะไปแก้จุดเดียว เปลี่ยนคนมีอำนาจคนหนึ่ง แล้วคิดว่าจะทำลายอาณาจักรแห่งความกลัวไปได้นั้น ถูกครึ่งหนึ่งเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่กลุ่มประชาชน พูดง่ายๆว่าอำนาจนอกเหนือจากรัฐที่จะต้องเข้าไปคานรัฐเอาไว้

ธรรมชาติของรัฐทุกแห่ง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล คนที่ขึ้นมายึดกุมอำนาจรัฐจะต้องใช้อำนาจเพื่อที่จะรักษาความชอบธรรมในการใช้กฏหมาย ในการใช้กำลังของรัฐฝ่าฟันการรักษาความสงบ ในการที่จะสร้างสิ่งที่รัฐเชื่อว่าทำให้ระบบปกครองของรัฐอยู่ได้  ซึ่งแน่นอนรวมถึงวิธีการใช้อำนาจและวิธีการอื่นที่อยู่เหนือกฏหมายและอยู่ใต้ดิน

ฉะนั้นการหวังว่าความรุนแรงทุกอย่างจะยุติลงด้วยการโปรยนกออกไป  นั้นไม่มีทางเพราะว่าเป็นธรรมชาติของรัฐ  รัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอำนาจ และถ้าไม่มีการควบคุมก็มีการใช้อำนาจที่หมิ่นเหม่ เป็นอำนาจของอธรรม เพราะว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพันอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำเพื่อตัวเอง ก็ทำเพื่อลูก ไม่ทำเพื่อลูกก็ทำเพื่อภรรยา หรือทำเพื่อคนใช้ เพื่อคนขับรถ เพราะฉะนั้นภาคสังคมจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าภาคประชาชนไม่ขับเคลื่อน ไม่มีสถาบันไหนที่ทำให้รัฐกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ได้

ประเด็นเรื่องของอาณาจักรความกลัวกับรัฐ สิ่งที่ไม่ได้พูดถึง คือความกลัวเกิดกับตัวเราเอง เกิดกับทุกคน ขณะที่ทุกคนกำลังพูดถึงคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าตกอยู่ในความกลัว ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ สิ่งที่น่ากลัวคือ ตัวเราต่างหากที่ไม่อาจจะรู้ความจริง พูดความจริงได้ แล้วเอาความเข้าใจที่ผิดกลายเป็นความหวาดระแวงเพื่อที่จะไปเล่นงานคน

ปรากฏการณ์ที่เห็น คือการสาดโคลน การแช่งชักกันทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น คือความกลัวที่ทุกคนสร้างขึ้นมาจากความกลัว รัฐไม่ได้บอกให้เรากลัว รัฐเพียงแต่สร้างความรุนแรง รัฐเพียงแต่บอกว่า นี่ไงคือตัวอย่างของการสร้างความสงบ ที่เหลือเราต่างหากที่ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ขึ้น ประเด็นคือหากว่าเราทุกคนยอมอยู่ในความกลัวนี้เมื่อไหร่ นั่นคือจุดจบ เพราะจะไม่มีรัฐไม่มีผู้นำคนไหน ที่จะก้าวหลุดไปจากอาณาจักรนี้ได้

 

ดร.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง

 

อยากขยายความอาณาจักรแห่งความกลัวว่าแสดงออกมาอย่างไร แล้วถูกสร้างมาอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ในแง่มุมของชาวบ้าน แล้วจะพูดถึงว่าเราจะออกจากอาณาจักรแห่งความกลัวนั้นได้อย่างไรบ้าง

มีเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกันไปหมด ตอนที่มีการล่ารายชื่ออาจารย์ จำนวน 144 รายชื่อ แล้วขยายเป็น 160 คน ปรากฏว่าเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ภาควิชาทางปกครองชื่อ”กนกรัตน์   เลิศชูสกุล”เป็นชื่อแรกในบัญชีที่ส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ได้รับจดหมายที่เขียนด้วยภาษาแย่มากๆเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่จดหมายเท่านั้น ยังมีโทรศัพท์มาข่มขู่ตลอดเวลา

“กนกรัตน์”เป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ทำงานกับสมัชชาคนจน ผมจึงมีความคิดว่าอาณาจักรแห่งความกลัวนั้นไม่ถูกสร้างจากรัฐเพียงอย่างเดียวแต่ว่ามีอะไรก็ไม่รู้ที่หล่อเลี้ยงอาณาจักรนี้ และอาจจะป็นประเด็นที่สำคัญมากด้วย

อาณาจักรแห่งความกลัวถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร อยากยกคำพูดของคนๆหนึ่งเป็นนักปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ”การเป็นที่หวาดกลัวนั้น ปลอดภัยกว่าการเป็นที่รัก”นี่คือพื้นฐานที่สำคัญมากที่จะทำความเข้าใจกับสภาพรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

จากคำกล่าวนี้ มีประเด็นที่ทำให้ต้องคิดต่อ คือ ทำไมคนหรือผู้ปครองไม่พยายามทำให้คนรัก ถ้าลองมาดูบ้านเราทุกวันนี้ การทำให้คนรักนั้นต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นเยอะ จะต้องให้พื้นที่กับคนอื่น ต้องให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ เข้าใจเหตุ เข้าใจผล ความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี่แหละที่ทำให้มันยาก

ความรักต้องใช้ปัญญาเยอะ แต่ว่าความกลัว การที่ทำให้ผู้คนตกอยู่ในสภาวะสพึงกลัวนั้นใช้ปัญญาน้อย คือใช้ปัญญาเฉพาะที่ทำให้คนนั้น หรือผู้คนในสังคมนั้นตกอยู่ในภาวะที่ตัวเองตระหนก เหมือนกับที่มีนักปรัชญาคนหนึ่ง เคยกล่าวไว้ว่า”การเมืองจริงๆแล้วทำงานอย่างไร” เหมือนกับเวลาที่ผู้คนทำให้ถูกตระหนกมาก

เมื่อไหร่ที่มีความตื่นตระหนกเกิดขึ้นกับตัวเองจะรู้สึกว่าต้องการผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขึ้นมาทันที แล้วยอมมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองที่จะมาช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตให้กับตัวเอง

นี่คือตรรกะที่เวลานี้เราดูเหมือนว่าเราตกอยู่ในตรรกะที่ผู้ปกครองใช้ปัญญาระดับนี้ ทำให้คนรู้สึกว่านั้นพวกเขากำลังมารุกรานพวกเรา เราจะไม่ยอมเสียสักตารางนิ้วหนึ่ง อันนี้คือภาพความสะพึงกลัวที่ขยายทั่วไปหมด

และน่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่  เอาเข้าจริงผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองเยอะเหมือนกัน การที่จอร์จ ดัลเบิ้ลยู บูช ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งก็คิดว่าเขาขายประเด็นแบบนี้ คือเราอยู่ในสภาวะที่สพึงกลัว คุณต้องมอบอำนาจเด็ดขาดให้กับผู้นำที่เด็ดขาด แล้วสิ่งที่เราเผชิญกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ผมยังมีความคิดว่าในการหาเสียงครั้งนี้ประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาขยายแล้วไปสู่การรณรงค์หาเสียงแบบอเมริกาด้วยซ้ำ

ในกรณีของสภาวะที่เป็นอยู่ ผมคิดว่าสภาวะแบบนี้น่ากลัวมากในแง่ของการสอดคล้องกับธรรมชาติของคนในสังคม ของสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์รัฐชาตินิยม  คือมีที่มาที่ไปของการสร้างสภาวะความกลัวอันนี้ แล้วมีพื้นฐานทางสังคมที่รองรับอย่างดีเหลือเกิน ตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้สภาพที่เราเรียกว่าอาณาจักรแห่งความกลัวถูกสถาปนาขึ้นมาได้ในยุคปัจจุบันนี้

ในแง่ส่วนตัวที่เข้าไปเกี่ยวกับข้องกับผู้คนที่อยู่ในแวดวงการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง คิดว่าอาณาจักรแห่งความกลัวทำงานตามเงื่อนไขอย่างน้อยที่สุดเท่าที่พอนึกได้มี 3 เงื่อนไข 1.สภาวะสพึงกลัวที่นำมาสู่การพึ่งพา ผู้คนที่อยู่ในแวดวงของความเคลื่อนไหวตระหนักอย่างมากว่าปัจจุบันกระบวนการเคลื่อนไหวนั้นอ่อนแอ เป็นเพราะว่ารัฐบาลนี้สร้างสภาวะของการพึ่งพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกกันว่าประชานิยมต่างๆ

มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เอาเข้าจริงสิ่งที่เรียกกันว่าประชาก็เหมือนกับผ้าห่อศพของรัฐบาลทุนนิยมไว้ ผมถามอาจารย์ว่าใครไปทอผ้าห่อศพ อาจารย์บอกว่าไม่ใช่ ผมอาจารย์ต่อว่าคณะผู้ที่คิดในเรื่องของประชานิยมหรือเปล่าที่เป็นการทอผ้าห่อศพ อาจารย์บอกผ้ามีไว้ให้ห่มให้อยู่ในศีลในธรรม แต่ว่าคนเอาไปห่อศพ แล้วถูกจำแลงไปในแง่ของเจตนารมณ์ของประชานิยมมากมาย

สภาพความความกลัวเป็นเรื่องที่เหนือจริง เหนือธรรมชาติ  เอาเข้าจริงสิ่งที่เราพบเห็นในเรื่องของประชานิยมอะไรต่างๆ คิดว่ามีสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ หรือระบอบนี้ทำ ที่เห็นได้ชัดมาก มีความจริงปลอม ๆ ในสภาพเหนือจริงเกิดขึ้นเยอะ ดูเหมือนจะสำเร็จ

ยกตัวอย่างประชานิยมที่มีการโฆษณากันเยอะ ในปัจจุบัน ตัวเลขโอท็อป 245 ล้านบาท จากปี 45 ขึ้นเป็น 40,000 ล้านบาทในปี 2546 มีผู้ได้ประโยชน์ 26,000 ชุมชน  ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านมีคนใช้หนี้ได้ 97.5 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลได้ทำตามเวลา รัฐบาลขายสิ่งที่สำคัญคือเขาทำอะไรได้ตามเวลา

บนสภาพเหนือจริงที่ว่านี้มีความกลัวอยู่เยอะถ้าลองไปตรวจสอบดู โอท็อปที่ว่าผมทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งกับบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตัวเลขที่น่าสนใจสภาวะความกลัวที่ว่านี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้วห่อด้วยผ้าห่อศพที่ว่านี้

ยกตัวอย่างโอท็อป 245 ล้านบาท แล้วเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาทนั้น คือตัวเลขที่มีการจดทะเบียนสินค้าโอท็อปเข้ามา แล้วเกือบทั้งหมด 80-90 เปอร์เซ็นต์ คือ เอสเอ็มอีทั้งนั้น ผ้าไหมชินวัตรของคุณนายแดงก็รวมอยู่ในสินค้าโอท็อปตรงนี้ด้วย ไม่รู้กี่พันล้าน

หากเป็นเช่นนี้จะเอาตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ 200,000 ล้านบาทก็ได้ ฉะนั้นสิ่งพวกนี้ที่นำมาขายกันเป็นความสำเร็จ อันนี้คือการห่อหุ้มประชานิยม ผมคิดว่าสภาวะสพึงกลัว ภาพที่เห็นมีความกวงอยู่เยอะ

ประเด็นสำคัญในสภาวะสพึงกลัวที่อาณาจักรแห่งความกลัวได้สร้างไว้ การบริหารความกวง บริหารความเหนือจริงด้วยอะไรเป็นเรื่องที่มีลักษณะหลอกๆ อยู่เยอะมาก เมื่อตรรกะเป็นแบบนี้ก็พอที่จะมีทางออกว่าเราจะออกจากสภาวะความสพึงกลัวได้อย่างไร

อยากจะพูดถึงวิธีคิดที่เกี่ยวกับการสร้างการพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขายตรงต่างๆ เรื่องพวกนี้มีคนพูดไว้มากว่าทำให้เกิดการพึ่งพาแบบปัจเจกกับรัฐชัด ข้ามหัว บายพาส มาแบบแม่ไฮจึงจะได้รับการช่วยเหลือ

แม่ไฮอยู่กับสมัชชาคนจนมาตั้งแต่ปี 42 มีลูกชื่อไอ้เพชร เคยปีนรั้วทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว ต้องติดคุกอยู่หลายวัน ตรงนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ลูกสาวของแม่ไฮถึงกับร้องไห้ในวันที่รัฐบาลอุ้มแม่ไฮมาออกข่าวที่ทำเนียบรัฐเป็นลักษณะพึ่งพา ต่างตอบแทนด้วยการเอาแม่ไฮมาเป็นสินค้าขายของรัฐบาลชุดนี้ ออกมาบอกกับประชาชนว่ารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาให้กับคนจนแล้วนะ แต่ลูกสาวแม่ไฮไม่เห็นด้วยเพราะเขาสู้กันมาในเชิงหลักการนานแล้ว แต่พอแม่ไฮได้ออกทีวี แม่ไฮ้ไม่เคยพูดถึงสมัชชาคนจนเลยสักคำเดียว

ตรงนี้เป็นความฉลาดของแม่ไฮ ที่รู้ว่าคนชั้นกลางจะเสพอะไร รัฐจะเสพอะไร นี่คือตัวอย่างความพึ่งพาอันนี้เกิดขึ้นแล้วมีผลที่ทำให้กระบวนการส่วนหนึ่งต้องหันไปสู่ตรงนั้น

ผลอีกทางหนึ่งคือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวกระบวนการ ด้วยวิธีการที่ไร้ความรุนแรง   การชุมนุมประท้วง  การสร้างมติสาธารณะโดยผ่านการเวทีชุมชน วิธีการต่างๆ เหล่านี้ในรัฐชุดนี้ไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้วิธีการเหล่านี้อีกต่อไป

กระบวนการที่เกิดขึ้นเบี่ยงไป 2 ทาง คือเมื่อเดือดร้อนให้ไปพึ่งพารัฐ จากแม่ไฮจนถึงขึ้นทะเบียนคนจน มาแบบปัจเจกบุคคลเดี๋ยวรัฐจะแก้ให้ อีกแนวทางหนึ่งคือถ้าขบวนการไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการพึ่งพาแบบนี้ได้ ก็ต้องเผชิญหน้า อย่างอ.จะนะ หรือที่อื่นๆ อีกมากมาย

รูปธรรมอันหนึ่งที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นนอกจากการสร้างความคิดในแง่ของการพึ่งพา ในแง่ของการฝ่าอะไรต่างๆ มีตัวเลขหนึ่งที่อยากจะพูด เพราะว่าผู้คนในสังคมปัจจุบันไม่ค่อยรู้ว่า กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ถูกจัดการด้วยอะไรบ้าง ด้วยกระบวนการการฝ่าฟัน ด้วยกฏหมาย

ตั้งแต่ก่อตั้งสมัชชาคนจนมาจนถึงวันนี้มีชาวบ้านที่เป็นคดีความจำนวน 220 ราย กรณีที่ดินที่จังหวัดลำพูน มีคนถูกจับ 70 คน มี 1,100กว่าคดี   กรณีท่อแก๊สถูกจับ 35 คน ถูกจับ ถูกดำเนินคดี 2 คดี กรณีที่ดินที่ภาคใต้ มีราว 20 คดี คนถูกจับประมาณ 10 คน ชาวบ้านที่ปานแดง ชาวเขา ชาวเผ่าต่างๆที่ถูกจับมีมากมาย

มีการสังหารชีวิตมีการพูดกันเยอะ 16-17 ราย กรณีของนายเจริญ  วัดอักษรไม่ใช่รายสุดท้าย ผู้ใหญ่สุพล ที่ต่อสู้เกี่ยวกับพรบ.ป่าชุมชนเป็นอีกรายหนึ่ง เป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่

กระบวนการการเคลื่อนไหวของชาวบ้านภาคต่างๆ ขณะนี้อยู่ในสภาวะที่รัฐให้พื้นที่ 2 อย่างเท่านั้น คือ ไปอยู่ในภาวะการพึ่งพา กับถ้าคุณยังเคลื่อนไหวจะถูกปราบด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งจะเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงซึ่งจะนำไปสู่การจับกุม

นี่คือทิศทางที่ 4 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างไร

ส่วนสุดท้ายที่อยากจะพูดถึง คือเราจะออกไปจากอาณาจักรแห่งความกลัวได้อย่างไร

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่าเราจะเอาชนะความกลัวได้ด้วย 2 อย่างคือ 1.การหัวเราะ 2.ความรู้

ฟังดูเหมือนตลก แต่หากลองนึกดูอะไรที่รัฐบาลนี้กลัว เหตุใดภาพยนต์เรื่องยอดชายนายโอ้กอ้าก จึงฉายไม่ได้ เพราะว่าถ้าคนหัวเราะแล้วคนจะเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี นายโอ้กหรืออะไรก็แล้วแต่จะถูกดึงมาให้เสมอหน้ากัน เพราะฉะนั้นหนังทำนองนี้จึงต้องเปลี่ยนเป็นนายโว้กวาก ถูกแก้ไข แก้บท

มิติพวกนี้บางทีพวกเราไม่ค่อยได้คิดกัน ในแง่ของการออกไปสู่อาณาจักรแห่งความกลัว ในเรื่องของการหัวเราะ เราทำอะไรได้ตั้งเยอะในสังคมนี้ บางทีการนินทา การปั้นนิยายวงเหล้าอะไรต่างๆ

อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของความรู้ ค่อนข้างสำคัญที่ทำให้เราออกจากอาณาจักรแห่งความกลัวได้ ทำไมรัฐบาลชุดนี้มักจะออกมาวิพากวิจารณ์นักวิชาการว่าเป็นขาประจำ จะอะไรก็แล้วแต่ มีนัยยะคือว่าสถาบันวิชาการมีหน้าที่หลักที่สำคัญในเรื่องของการผลิตความรู้ ฉะนั้นรัฐจึงกลัวสถาบันเหล่านี้ก็ทำให้เป็นเรื่องตลกไป

สิ่งที่เราควรจะทำคือการเปิดผ้าห่อศพ ในแง่ของการสร้างความรู้เรื่องประชานิยม  วันนี้คนในสังคมยังมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้น้อย ปล่อยให้รัฐบาลตีกินกับตัวเองโฆษณาแต่ความสำเร็จ โชว์ตัวเลขหนี้ที่ชาวบ้านไปคืน 97 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมมีงานวิจัยที่ทำอย่างน้อยที่สุดในกลุ่มของสมัชชาคนจนที่ช่วยตัวเอง 3-4 หมู่บ้าน ชาวบ้านผัดผ้าข้าวม้า คือ เมื่อถึงเวลาคืนเงินก็ไปกู้นอกระบบมาคืน เพราะกู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือความรู้ ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการความรู้แบบนี้ แต่รัฐต้องการความรู้แบบสำนักสถิติแห่งชาติไปสำรวจประชานิยมต่างๆ ชาวบ้านชอบหรือไม่ ชาวบ้านก็ต้องบอกว่าชอบทั้งนั้น เพราะมีคนเอาเงินมาให้

เราจะต้องสู้กับสถิติหมอผีแบบสำนักสถิติ ที่ไปห่อศพประชานิยมไว้ เพื่อที่จะทำให้สภาพเหนือจริงในเรื่องของการพึ่งพาหรือความสำเร็จของรัฐเหล่านี้ ซึ่งมีความกวงอยู่มากมายนั้นกระจ่างขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งทำอย่างไร จะหาความรู้กันอย่างไร สังคมจึงจะมีทางออกที่มากไปกว่าประชานิยมแบบผ้าห่อศพ จะมีอะไรที่มากไปกว่าที่แจกบวกแถมเข้าไป

 

 

นางสาวนารี  เจริญผลพิริยะ

 

ก่อนอื่นขอถามก่อนว่ากลัวหรือเปล่า? หลายคนบอกว่าตอนนี้เรากำลังตกอยู่ในอาณาจักของความกลัว ที่ไม่รู้ว่ากลัวมากแค่ไหน ตอนที่ทีมงานส่งหัวข้อไปให้ว่าจะให้มาพูดเรื่องการใช้ความรุนแรงของรัฐในมุมของเหยื่อและนักสันติวิธี

ในฐานะที่ทำงานด้านสันติวิธีมานาน  เราพบว่าที่ๆเราไปนั้นมีความกลัวเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะเหยื่อเท่านั้นที่กลัว ขอยกตัวอย่างกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ทุกคนกลัวไปด้วย ตอนแรกคิดว่าชาวบ้านกลัวเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว พอไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่ากลัวชาวบ้านเหมือนกัน

ถ้าลงไป 3 จังหวัดชายแดนเวลานี้จะพบว่ามีเจ้าหน้าที่เต็มพื้นที่ไปหมด เดินไปตลาด เดินไปไหนก็จะเจอคนถือปืนใหญ่ๆ แล้วใส่แว่นตาดำ เราเห็นก็ถามเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำไมต้องใส่แว่นตาดำ 6 โมงเย็นแล้วก็ยังไม่ยอมถอด คุยไปคุยมา จริงๆ เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้เกิดความกลัว เขาบอกว่าเขารู้สึกว่าเขาเป็นเป้า เพราะมีการยิงรายวัน แล้วก็ยิงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก

เขาบอกต่ออีกว่าถ้าสงสัยใคร เราต้องเป็นฝ่ายลงมือก่อน เพราะว่าถ้าช้า อาจจะเป็นฝ่ายตายได้ เพราะฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างเมื่อเร็วๆนี้มีการยิงนักศึกษา 2 คน นอกจากนั้นยังมีกรณีอื่นๆ เกิดขึ้นอีกในพื้นที่ไม่เป็นข่าว

ดังนั้นกลไกที่เป็นเครื่องของมือของรัฐเป็นการใช้ความรุนแรงในอีกแง่หนึ่ง เพราะตัวเขาเองก็เป็นเหยื่อของความกลัวเช่นเดียวกัน

จากการไปสัมภาษณ์รอบแรก ชาวบ้านบอกว่าไม่ได้กลัวโจร แต่เขาบอกว่ากลัวเจ้าหน้าที่รัฐเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเป้าของผู้ก่อการร้าย มีช่วงหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปคุมกันนักเรียน แล้วจะยืนบริเวณประตูรถด้านหน้า และด้านหลัง ครูต้องออกปากกับเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นว่า การคุ้มกันนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กรุณานั่งรถคันอื่นได้ไหม อย่ามานั่งคันเดียวกันเลย เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยเวลามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาอยู่ใกล้ๆ

อีกประเด็นหนึ่ง การนำคนลงไปเยอะมาก เข้าใจได้ว่าเกิดจากความกลัว แต่พอเจ้าหน้าที่ลงไปมากๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเป็นหน่วยที่เคยรู้จักคุ้นเคยกันก็ไม่กลัว แต่ว่าตอนนี้ลงไปไม่รู้ถึง 10,000 คนแล้วหรือยัง ส่วนใหญ่เป็นตำรวจใหม่ๆ หน้าตาแปลก แต่งตัวไม่เหมือนกัน ชาวบ้านจึงรู้สึกว่าพวกนี้ต่างจากพวกเดิมที่เคยคุ้น บางครั้งตำรวจพวกนี้มาที่บ้านตีสอง ตีสาม ชาวบ้านก็จะกลัว

และการที่ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ ก็ไม่ใช่เป็นเพราะว่ากลัวโจร แต่ชาวบ้านบอกว่าถ้าต้องออกจากบ้านตอนเช้ามือเพื่อไปกรีดยาง แล้วเห็นเจ้าหน้าที่แต่งชุดดำๆเดินขึ้นเขาไป เขาจะไม่ขึ้นเลย เพราะมีข่าวเรื่องการข่มขืน เพราะภาคใต้ผู้หญิงไปกรีดยางกันเยอะ ที่บอกว่าไปทำมาหากินไม่ได้เพราะว่ามีเจ้าหน้าที่เยอะ

ซึ่งเข้าใจว่ามาตรการทั้งหลายเหล่านี้คงเริ่มต้นจากความกลัว คือกลัวผู้ก่อการ เลยใช้กฏอัยการศึก แล้วมีมาตรการพวกนี้ลงไป นอกจากนี้ยังมีการไปตั้งกลุ่มให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มป้องกันตนเอง โดยการให้ปืนแล้วมีการฝึกซ้อมกัน

การให้ปืน ถามว่าชาวบ้านรู้สึกอย่างไร ชาวบ้านบอกว่ายิ่งให้ปืนมากขึ้น เท่ากับว่ามีอาวุธในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และไม่รู้ว่าอาวุธเหล่านี้อาจจะมีการเอาไปใช้ส่วนตัวได้ รัฐไม่สามารถควบคุมคนได้ เพราะฉะนั้นอาวุธที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ และมีการเพิ่มกำลังในพื้นที่ ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่ปลอดภัยแล้วกลัวมากขึ้น

แล้วการฝึกซ้อมก็อยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านซึ่งมีศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งพวกเขากลัวเสียงปืนที่ฝึกซ้อมกันทุกวัน ที่นั้นจึงเป็นอาณาจักของความกลัวอย่างแท้จริง แต่เป็นความกลัวชนิดที่เป็นความกลัวทางตรง คือชาวบ้านก็กลัวทุกอย่าง กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็กลัวชาวบ้าน

ดิฉันไปเจอกับคุณหมอ เขามาสอนวิชาคลายความเครียดให้กับตำรวจ ตอนนั้นไปที่โรงพยาบาล เห็นผู้ชายคนหนึ่งถูกตัดขากรณีตากใบ ก็ถามนางพยาบาลว่าผู้ชายคนนี้ในระยะยาวเขาจะอยู่อย่างไร พยาบาลถามกลับมาว่า คุณเป็นใคร เป็นญาติหรือเปล่า ดิฉันบอกว่าไม่ใช่ แต่เป็นคนที่ห่วงใย

ประเด็นคือว่า คำถามที่ถามไปนั้นเป็นคำถามธรรมดาที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย แต่ว่าพยาบาลหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบ เพราะเขากลัวอะไรบางอย่าง วันนี้ถามไปหลายคำถาม ในที่สุดก็ไม่ได้คำถามกลับมาเลย จึงไปถามคุณหมอว่าทำไมพยาบาลจึงได้กลัวไปด้วย

คุณหมอบอกว่าตอนนี้ทุกคนกลัวไปหมด ตำรวจก็ไม่ไว้ใจทหาร ทหารก็ไม่ไว้ใจตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ไว้ใจชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ คือไม่ใช่แค่คู่กรณีเท่านั้น แต่ตอนนี้ความกลัวระบาดไปทั่ว

กรณีรองผู้ว่าราชการจังหวัดถูกยิงเป็นอีกตัวอย่างที่บอกได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความหวาดระแวงกันเองอยู่ด้วยเหมือนกัน อยากให้ภาพนี้เพื่อที่จะบอกว่าความกลัวเป็นวิบากของการใช้ความรุนแรง คือการที่รัฐเลือกใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดความกลัวเกิดขึ้น รัฐอาจจะคิดว่าจะใช้ความกลัวข่มขู่คู่กรณีให้ยุติการกระทำบางอย่าง แต่จริงๆ แล้วกลับส่งผลใน 2 ทาง คือ ประชาชนก็กลัว ในขณะเดียวกันเครื่องมือหรือกลไกของตัวเองก็ตกอยู่ในความกลัวเช่นเดียวกัน แต่คู่กรณีจะกลัวหรือเปล่านั้นไม่รู้

ในกรณีที่ใช้ความรุนแรงในภาคใต้ ถ้าส่งผลอย่างอ่อน เช่นเดียวกับที่ส่งผลกับคนที่ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง เช่น ชาวบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกว่าไม่ไว้วางใจรัฐ เพราะเวลารัฐไปควานหาตัวผู้ก่อการร้ายจะไปควานหาตัวในหมู่ของชาวบ้าน ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงแต่ก็มีสิทธิถูกจับได้ด้วย ชาวบ้านจึงไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ความร่วมมือในทุกๆ เรื่อง เพราะตัวเองอาจจะกลายเป็นเหยื่อด้วย

อีกพวกหนึ่งเรียกว่ายอม มีครอบครัวหนึ่งสามีถูกจับมาขังคุกที่กรุงเทพฯ7 เดือนแล้วยังไม่ฟ้อง แต่เขาก็ยอม ปัญหาของคนที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงแล้วยอมมีมากในสังคม เท่าที่พบจะมีลักษณะที่เรียกว่าเก็บกด ถ้ายอมหลายๆ ครั้งสะสมนานเข้าเวลาที่แสดงออกจะไม่แสดงออกแบบปกติ แต่จะแสดงออกแบบผิดปกติ คือระเบิดออกมา

การที่เราเห็นผู้ชายคนหนึ่งจับเด็กมาล็อคคอแล้วขู่จะปาดคอ เพียงเพราะต้องการกลับ สังคมจะรู้สึกว่าการกระทำกับสิ่งที่เขาต้องการนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน ลักษณะที่ผิดปกติอย่างนี้ต้องกลับไปดูว่ามีอะไรที่สะสมอยู่ในตัวเขาบ้าง ทำให้เขาทำได้ถึงขั้นนี้ เพราะความต้องการแค่เงินกลับบ้านนั้นเดินไปขอใครสักคนหนึ่งก็น่าจะกลับบ้านได้ นั่นแสดงว่าเขาไปขอแล้สไม่ได้ เขาจึงมีความคิดว่าน้ำใจของคนมีน้อย วิธีการนั้นใช้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีอื่น

กรณีภาคใต้ก็เช่นเดียวกันมีแววว่าจะเป็นเช่นนี้ ถ้าลงไปในพื้นที่จะพบว่าหาดใหญ่เหมือนกรุงเทพฯเลย แต่ว่า 3 จังหวัดในภาคใต้ชาวบ้านคนจนมาก โรงเรียนปอเนาะเหมือนสลัมเลย อาคารเก่าๆปะๆ บ้านชาวบ้านที่เป็นกลุ่มปฏิบัติการในวันที่ 28 เมษายนนั้นยากจนมาก มีอะไรไม่เคยไปถึง อย่างเช่นงบคนแก่อายุเกิน 60 ปีที่รัฐบาลอนมุติให้คนละ 300 บาทต่อเดือน ไปไม่ถึงคนที่อายุ 65 ที่อยู่ใกล้ชิดกับอบต.

ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สะสมนาน เวลาที่เกิดบางทีสิ่งที่อยากทำนั้นเล็กน้อย ดูการกระทำไม่มีเหตุผล แต่จริงๆ แล้วมีเหตุผลเพราะสะสมมานาน แล้วอีกพวกหนึ่งคือพวกที่ความกลัวไปถึงระดับหนึ่งแล้วมัจะตอบโต้กับความกลัวนั้นด้วยความรุนแรง นั่นคือความกลัวที่กลายเป็นความเกลียดชัง

รัฐบาลมีกองทัพ มีเครื่องมือที่จะใช้จัดการกับความรุนแรงคือหลักสูตรปราบจราจล แล้วนิยามคนที่อยู่ในฝูงชนว่าเป็นม็อบ คือฝูงชนที่บ้าคลั่ง คราวนี้วิธีการจัดการคือจัดการกับฝูงชนที่บ้าคลั่ง ไม่ได้เป็นวิธีที่จัดการกับประชาชน

วิชาที่เรียนคือวิธีการใช้กำลัง เป็นอาชีพ เวลามีคำสั่งให้ไปดำเนินการทหารเหล่านั้นคิดอย่างอื่นไม่เป็นเพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้กำลัง ดังนั้นคำสั่งที่ว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ก็กลายเป็นการใช้กำลัง ทันทีทันใด ฉะนั้นในเวลานั้นไม่ได้ใช้วิธีคิดอย่างอื่นว่าจะทำอย่างไร

ตรงนี้คือเรื่องหนึ่งที่กลไกของรัฐถูกสร้างขึ้นมาแล้ว คำสั่งของรัฐ แม้ว่าจะไม่ได้สั่งให้ใช้กำลัง สั่งให้เขาปฏิบัติหน้าที่แต่มันก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ

อีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่มาก คือ ยีนส์อันอุดมสมบูรณ์ของประชาชนส่วนหนึ่งที่นิยมชมชอบความรุนแรงมาก สนับสนุนให้รัฐใช้ความรุนแรง อย่างกรณีตากใบ รัฐผิดเต็มประตูเพราะประชาชนใช้สันติวิธีในการชุมนุม แต่รัฐปฏิบัติการด้วยความรุนแรง และเกิดมีกระแสยอมรับได้ขึ้นมา ตรงนี้หนักหนาสาหัสกับอนาคตของประเทศไทย

หากไปถามคนในพื้นที่ในกรณีตากใบว่าจะฟ้องร้องไหม ปรากฏว่าไม่มีคนฟ้อง ทั้งๆ ที่ฟ้องอย่างไรก็ชนะ

ขณะนี้อาณาจักรที่นั้นเต็มไปด้วยความกลัว แล้วก็ขยายตัวไปสู่ภายนอกด้วย คนที่จะเข้าไปช่วยก็ไม่ค่อยกล้าเข้าไปช่วยเท่าไหร่ ดิฉันลงไปในพื้นที่ ชาวบ้านถามว่ามาจากไหน ดิฉันบอกว่ามาจากกรุงเทพฯ คำถามแรกที่ชาวบ้านถาม คือไม่กลัวหรือ?  ดิฉันบอกว่ากลัวซิ เขาถามต่อว่าแล้วทำไมมา ดิฉันตอบกลับไปว่า ก็เพราะว่ากลัวจึงต้องมาก

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าถ้าเรายินยอมที่จะตกอยู่ภายใต้ความกลัว ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย คือเราจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างที่เราต้องการจะมีได้ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราอยู่ภายใต้ความกลัว คือ ถูกจำกัดด้วยสิ่งใด สิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

ถ้าชีวิตต้องตกอยู่ในสถานภาพแบบนั้น ชีวิตที่เหลืออยู่จะเป็นแบบไหน จึงจำเป็นต้องหาวิธีเอาชนะความกลัว

สำหรับตัวดิฉันเอง ทุกครั้งที่รู้สึกกลัวจะรีบไปตรงนั้น แล้วยืนอยู่เฉยๆ  คืออย่าหนี อย่าถอยหลังให้ เพราะดิฉันเชื่อว่าถ้าถอยหลังให้มันๆจะกินเรา การอยู่เฉยๆ จะทำให้มันวิ่งหนีเราไปได้

หากกลัวเมื่อไหร่  ก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน คือดูมัน ทำความเข้าใจกับมัน อยู่กับมัน ที่สำคัญอย่าหนี วิธีการเอาชนะความกลัวเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

ในความคิดของดิฉันเชื่อว่าสิ่งที่จะจัดการกับความกลัวได้ไม่ใช่รัฐ ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอำนาจรวมศูนย์ ถ้ารัฐเปลี่ยนมาใช้สันติวิธีปัญหาทั้งหมดจะคลี่คลาย

รัฐบาลมาแล้วก็ไป ประชาชนคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างมหาศาล ทำไมเราไม่สนับสนุนรัฐชาติ เพราะว่ารัฐชาติมาแล้วก็ไป  ถ้าประชาชนเชียร์ให้รัฐใช้ความรุนแรง แล้วรัฐม่ทำรัฐก็อาจจะยืนอยู่ตรงนั้นไม่ได้ แล้ววิธีที่รัฐจะรักษาตัวเองไว้ได้ คือการใช้ความรุนแรงอาจจะเป็นเพราะว่าแรงเชียร์ทำให้เป็นแบบนี้

ดังนั้นคนที่ไม่เชื่อในความรุนแรงต้องแสดงตัว ต้องมีการแย่งชิงพื้นที่กันในหมู่ประชาชนว่าเราไม่นิยมความรุนแรง เพราะถ้าไม่แสดงตัว แล้วปล่ยอให้คนซึ่งนิยมความรุนแรงแสดงตัวจะกลายเป็นตัวแทนของคนทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าคนที่แอคทีฟเวลานี้คือพวกที่นิยมความรุนแรงทั้งนั้น

คนที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่ไม่ปรากฏตัว ก็จะไม่มีนัยะทางสังคมทั้งๆที่ไม่ชอบความรุนแรง

การพับนกเป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง  เป็นการบ่งบอกว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง

ช่วงที่ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมกันที่สนามหลวง 20,000 คนดิฉันก็ตกใจนิดหน่อย  มีความรู้สึกว่าคณะลูกเสือเป็นตัวแทนของประชาชน ถ้าปล่อยให้ลูกเสือชาวบ้านแสดงพลังอยู่ฝ่ายเดียว คนจะเข้าใจว่าคนทั้งหมดคิดแบบเดียวกับที่ลูกเสือชาวบ้านคิด

การที่คนส่วนใหญ่ลงมาพับนก ทำให้ลูกเสือชาวบ้านลงมาพับนกด้วย ฉะนั้นเราต้องทำอะไรบางอย่างที่จะออกจากความกลัว โดยเริ่มจากเรา ลงไปที่ชาวบ้าน

ดิฉันไปพบครอบครัวหนึ่ง สามีตาย มีลูกด้วยกัน 5 คน คนเล็กยังไม่ทิ้งนม  ตอนเช้าแม่ต้องไปกรีดยาง  ลูกก็ไม่มีนมกิน กรมประชาสงเคราะห์บอกว่าคุณแม่มีสิทธิมารับนมได้ที่จังหวัด แต่ครอบครัวนี้พักอยู่อยู่ห้วยกระทิงซึ่งไกลจากตัวจังหวัดมาก พอไปเจอก็ต้องหานมให้เขา ก็คิดว่าจะทำอย่างไรจะส่งนมให้ได้ในระยะยาว เลยคิดว่าจะทำโพสแมน เพราะในช่วงที่สถานการณ์แย่มากต้องการอาสาสมัครไปเป็นไปรษณีย์ หาผู้กล้าไปส่งนมในพื้นที่

 

อ.พิจิตรา  ศุภสวัสดิ์กุล

 

เรื่องที่จะมาพูดจะโยงทั้งเรื่องความรุนแรง ความกลัว และสื่อ ทั้ง 3 ตัวนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร

จะเห็นได้ว่าในเชิงรัฐศาสตร์ การที่รัฐจะขึ้นมามีอำนาจได้นั้น จะมีอำนาจหลายๆ ส่วน เช่น อำนาจทางการทหาร อำนาจปกติ อำนาจทางการเงิน และอำนาจหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้รัฐมีอำนาจแล้วดำรงอยู่ได้ คือ อำนาจทางความรู้ในการครอบงำ หรือควบคุมองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม

ความรู้ตรงนี้จะเป็นตัวที่ช่วยชี้และบอกทรรศนคติ ความคิดเห็นและอุณหภูมิทางอารมณ์ของคนและในยุคสมัยใหม่นี้สื่อมีส่วนในการที่จะเป็นตัวชี้ตรงนี้อย่างมาก

สื่อตรงนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น ส่วนแรกคือเป็นช่องทางในการส่งสารออกไป เช่น ถ้าหากใครควบคุมช่องทางได้ก็ถือเป็นผู้มีอำนาจในสังคมนั้น ๆ

ในประเด็นที่ 2 คือเนื้อหาที่อยู่บนสื่อนั้นจะมีประเด็นต่างๆที่สามารถชี้นำและสามารถเบี่ยงเบนทัศนคติของคนในสังคมได้ด้วย

ทั้ง 2 ส่วนหากใครควบคุมได้ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจในสังคมหรือในรัฐหนึ่ง นี่เป็นเชิงทฤษฏี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าตามประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยในสังคมโลกจะถูกครอบงำ หรือถูกครอบครองด้วยคน 2 กลุ่มเพราะว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สื่อถือว่าเป็นสินค้าสาธารณะที่มีการลงทุนสูง ผู้ที่ครอบครองสื่อจะมีลักษณะเป็นการผูกขาดเทอมที่เป็นทางธรรมชาติ

เพราะฉะนั้นผู้ที่ครอบครองสื่อจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ  กลุ่มแรกคือรัฐบาลที่มองว่าสื่อคือพื้นที่สาธารณะ รัฐจึงมีความพยายามที่จะครอบครองพื้นที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นการที่รัฐเข้ามาครอบครองตรงนี้ถือเป็นตัวแทน ใช้สื่อในการส่งสารออกไปยังพื้นที่สาธารณะต่างๆ

นอกจากรัฐบาลแล้วยังมีอีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มทุน ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มในการพยายามให้สื่อของภาครัฐไปสู่มือของภาคเอกชนมากขึ้น  เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่

จะเห็นว่าหากเราสามารถครอบครองช่องทางในการสื่อสารได้ ก็อาจจะมีสิทธิ มีส่วนที่จะครอบงำในส่วนของเนื้อหาต่างๆ นั้นได้ด้วย

ตามทฤษฏีนั้นไม่จำเป็น หากเราสามารถครอบครองสื่อตรงนั้นได้ สมมติว่าเราเป็นผู้ประกอบการ บางทีเราอาจจะปล่อยให้ผู้ผลิตรายการดำเนินธุรกิจของเขาไป ตรงไหนที่ทำกำไรได้ ตรงไหนมีเสียงตอบรับมีเรตติ้งที่ดีก็ปล่อยให้เขาทำต่อไป ถ้าตามหลักตลาดน่าจะทำให้เนื้อหาของสื่อมีความหลากหลายตรงตามความต้องการของแต่ละกลุ่มในสังคม

แต่ปัจจุบันนั้นไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่อยู่ในสื่อนั้นนอกจากช่องทางหรือตัวสื่อเองจะถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนบางกลุ่มแล้ว ตัวเนื้อหาของสื่อยังถูกครอบงำด้วย มีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายทั้งในสังคมไทยและสังคมต่างประเทศที่ถูกครอบงำทั้งในส่วนของช่องทาง ในตัวสื่อเอง

คือหากตัวสื่อ ตัวช่องทางถูกครอบงำอาจจะส่งผลมาถึงตัวเนื้อหาด้วย ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายทางเนื้อหา ยกตัวอย่าง เช่น นายทุนคนหนึ่งลงทุนในส่วนของสื่อ เป็นเจ้าของช่องทางต่างๆ ที่มีหลายช่องก็จริง แต่รายการทีวีของเมืองไทยมีแต่เกมโชว์เต็มไปหมด อันไหนที่ขายได้ก็จะเฮกันเข้ามา แล้วนำเสนอเนื้อหาที่เหมือนๆ กัน

เปิดทีวีแต่ละช่องมีแต่เกมโชว์ มีโลโก้ของนายทุนที่สนับสนุนรายการขึ้นเต็มจอ นี่คือลักษณะของการควบคุมเนื้อหาตรงนี้ที่อาจจะเบี่ยงเบนไป เป็นลักษณะเนื้อหาที่ต้องการให้คนมีความสุข จนละเลยเนื้อหาที่เครียดๆ ไปได้ เป็นการนำเสนอในทางการตลาด แต่ถ้าให้รัฐเข้ามาคุม อาจจะเป็นไปในลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อ

ซึ่งประวัติศาสตร์ได้บอกมาตลอดว่า การที่ควบคุมสื่อในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีทิศทางในการนำเสนอเนื้อหาของสื่อนั้นต่างกันออกไป

มาถึงเรื่องเนื้อหาของสื่อ เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะว่าเนื้อหาของสื่อนั้นจะมีบางเนื้อหาที่รัฐสามารถควบคุมได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกคือเนื้อหาที่เขาจะเอามาลงนั้นเขาสามารถเลือกได้ อย่างเช่น ข่าวต่างๆ ทางภาคใต้ หรือฆ่าตัดตอน ข่าวต่างๆที่เกิดขึ้น ภาพที่เกิดขึ้นเป็นภาพที่เป็นจริงทั้งหมด การก่อการจราจล เป็นภาพที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงทั้งหมด เพียงแต่ว่าช่างภาพสามารถเลือกได้ว่าจะเอาภาพไหนมาลง จะมุมทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมาลง หรือเอามุมมองของผู้ประท้วงมาลง เพราะฉะนั้นเนื้อหาต่างๆ ของสื่อนั้นจะสามารถเลือกมาได้ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ นอกจากเลือกเนื้อหาของสื่อแล้ว ตัวเนื้อหาที่เลือกมาแล้วยังสามารถกำหนดทิศทางแนวโน้มอุณหภูมิทางอารมณ์ของคนแล้วสามารถชี้แนะ เป็นไกด์ไลน์ให้กับคนว่าคิดอย่างไรกับสถานการณ์ต่างๆ

ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ

คราวนี้จะโยงกับความกลัวอย่างไหร่ ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีศึกษา เพราะว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ถูกเชิดชูว่ามีประชาธิปไตยสูง เป็นเสมือนโมเดลของผู้ที่เรียนรัฐศาสตร์

จากผลการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์หวาด ได้สะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของข่าวต่างประเทศทางโทรทัศน์ในเครือของอเมริกากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในปี  1970-1995  และในช่วงพาร์มทามยังกำหนดไม่ให้มีการนำเสนอข่าวต่างประเทศเกิน 10 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

เมื่อหันมามองเมืองไทย การที่จะบอกว่าเราถูกจำกัดในเรื่องของเนื้อหาหรือว่าถูกกลุ่มทุนครอบงำนั้น ในอเมริกาก็ถูกโควต้าครอบงำเหมือนกัน ในเรื่องของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างประเทศ เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า บางทีคนอเมริกาไม่รู้เรื่องโลกภายนอก เท่ากับคนที่อยู่ข้างนอก

 

แม้กระทั่งผู้นำของอเมริกาก็ไม่ค่อยได้รู้เรื่องโลกภายนอกเท่าไหร่นัก แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หนังสือพิมพ์ในอเมริกาพาดหัวข่าวว่า Lost of innocent เป็นการสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ที่อยู่บนตึกเวิร์ลเทรด สะท้อนให้เห็นว่าแค่การพาดหัว สามารถบอกได้แล้วว่าคนไหนเป็นธรรมะ คนไหนเป็นอธรรม เป็นเนื้อหาที่บางครั้ง คนทำสื่อต้องคิดตรงนี้ด้วย

ถ้าพูดถึงนโยบายต่างประเทศของอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต้องศึกษาว่าใคร innocent หรือใครไม่ innocent อีกตัวอย่างพาดหัวข่าวหนึ่งคือ  amazing of more dangerous world เหมือนกับโลกตกอยู่ในภาวะที่เป็นวิกฤตแล้ว เป็นภาวะที่อันตรายอย่างสูง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แล้ว เนื้อหาในสื่อจะพยายามสร้างอุณหภูมิทางการเมืองหรืออุณหภูมิทัศนคติของคนในสังคมด้วย

ที่น่าสังเกตุอีกประการหนึ่งคือ หลังจากตึกเวิร์ดเทรดถล่ม เป็นรอยต่อที่รัฐบาลพยายามหาความชอบธรรมในการส่งทหารไปถล่มอิรัก ในช่วงนั้นมีข่าวต่างๆ ออกมามาก ขณะที่สถานีวิทยุโทรทัศน์พยายามตรวจสอบว่าการส่งทหารไปอิรักมีความชอบธรรมอย่างไรบ้าง ปรากฏว่ารัฐบาลอนุมัติให้ส่งทหารไปเรียบร้อยแล้ว เพราะรัฐบาลไม่เชื่อยูเอ็น ส่งทหารไปอิรัก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือภาพในสื่อต่าง ๆ สถานีโทรทัศน์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งเคเบิ้ลทีวีด้วย ภาพที่สื่อออกมาจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน นำเสนอเฉพะความจริงที่ไม่มีความคิดเห็นต่าง ๆมากมาย มีสกู๊ปหรือรายการย่อยๆ ที่พยายามบอกว่า การที่อเมริกันไปถล่มอิรักนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ภาพของอเมริกันยังคงยืนหยัดอยู่ เป็นลักษณะของชาตินิยม

อเมริกาฉลาดมาก การนำเสนอข่าวจะเจาะไปที่คนที่ไม่ใช่ทหารอเมริกันใครก็ได้  เช่น นายบราว แล้วให้เขาจะเล่าเรื่องว่าจบการศึกษาจากที่ไหน เป็นตัวชี้อุณหภูมิทางทัศนคติและความคิดของคนด้วย จะเป็นลักษณะของความจริงอีกด้านหนึ่ง

ในขณะเดียวกันจะมีมิวสิควีดีโอคลอตาม สร้างอารมณ์แล้วฉายวนซ้ำไปมาหลายๆ ครั้ง ทำให้คนสามารถดูตอนไหนก็ได้ การวนซ้ำเช่นนั้นทำให้คนตระหนัก กลายเป็นกระแสขึ้นมา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน เป็นการสร้างอุณหภูมิในการสร้างความชอบธรรมที่จะบุกอิรัก

ในช่วงนั้นอาจจะมีคำถามว่า ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเลย จริงๆ แล้ว มี แต่ว่าในกระแสหลักใหญ่ๆ ถูกครอบงำ สื่อและเนื้อหาถูกครอบงำจากรัฐบาล เพราะโดยธรรมชาติสื่ออเมริกานั้นก่อกำเนิดจากกลุ่มทุน เพราะฉะนั้นการนำเสนอข่าวสารต่างๆของกลุ่มทุนจึงพยายามที่จะไม่ให้กระทบกับบริษัทเขามากที่สุด มีการคำนวณก่อนแล้วว่า หากเขาเสนอกระแสชาตินิยมจะให้ผลดี ผลเสียอย่างไรกับบริษัทเขาอย่างไร รวมถึงกระแสความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย

ประเด็นต่อมาที่สำคัญมาก  คือการที่สื่อต่างๆ เป็นไปในลักษณะกระแสเดี๋ยวกันหมด ก็คือในช่วงที่รัฐบาลส่งทหารไปอิรักเรียบร้อยแล้ว มีองค์กรกลางในการพิจารณาสื่อ คือ FDT ในอเมริกา เป็นเสมือนผู้ที่ออกกฏต่างๆในสังคมสื่อมีความพยายามที่จะเปลี่ยนกฏระเบียบที่เรียกว่า ความเป็นเจ้าของสื่อในอเมริกาโดยพยายามจะจำกัด เจ้าของสื่อคนหนึ่งสามารถที่จะครอบครองสื่อชนิดใดได้บ้างทั้งวิทยุโทรทัศน์

หมายถึงไม่ให้เจ้าของสื่อคนหนึ่งครอบครองสื่อทั้งหมดตั้งแต่วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เพราะจะทำให้ไม่เกิดความหลากหลายในเนื้อหา

นอจากนั้นยังกำหนดอีกว่า ห้ามนายทุนสื่อคนหนึ่งครอบครองคนฟังกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเนื้อหาในสื่อจะเป็นแนวเดียวกัน และเมื่อสังคมไม่หลากหลาย สังคมมีลักษณะเป็นไปในแนวเดียวกัน ไม่มีการต้านกัน จะเป็นสังคมที่อ่อนแอ

เพราะฉะนั้นในช่วงนั้นจึงมีความพยายามที่จะผ่านกฏระเบียบตรงนี้ นายทุนต่างๆ พยายามไม่ขัดใจรัฐบาล ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเขาไม่ขัดใจทหาร พรรคลีพลับลีกันก็โหวต 3 ใน 2 อนุญาติให้สื่อหรือเครือข่ายของสื่อต่างๆ นอกจากที่จะเป็นเจ้าของสื่อตั้งแต่โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อนุญาติให้เกิดขึ้นได้ สื่อของเขาสามารถที่จะครอบงำผู้ฟังตั้งแต่ 35-45 เปอร์เซ็นต์ได้  โดยใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์ อ้างว่าถ้าไม่ได้ผู้ฟังที่มากพอเขาอาจจะขาดทุนได้

ช่วงเวลานั้น ก็มองว่าเป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่งที่จะไม่ให้สื่อต่าง ๆ ออกมาโวยในการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลถล่มอิรัก

จะเห็นได้ว่าในส่วนของอเมริกาจะมีลักษณะของกลุ่มทุนคุมสื่อ โดยลิ้งกับรัฐบาล ลิ้งกับหน่วยงานกลางที่ควบคุมสื่อเหมือนกัน แล้วมีผลกับเนื้อหาในสื่ออเมริกันด้วย

หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน อเมริกันจะมีกฏหมายที่ออกมาฉบับหนึ่งเรียกว่า Publicity on add เป็นกฏหมายที่เกิดมาจากหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นคงภายในประเทศ พยายามที่จะก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ คือรัฐบาลสามารถเข้าไปตรวจสอบคนที่ต้องสงสัยได้ รัฐบาลสามารถเข้าไปแทรกแซงตรวจสอบ จะเห็นว่าในสังคมอเมริกาก็ตกอยู่ในความน่าสะพึงกลัวเหมือนกัน

ในส่วนของสื่อ รัฐบาลอเมริกาก็ออกสารออกไป วันดีคืนดีจอร์จ ดับเบิ้ลยูบูช ก็บอกว่าไม่เป็นไหร่ ตอนนี้ประเทศอเมริกาอยู่ในความสงบ รัฐบาลดูแลทุกอย่าง ในขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งบอกว่าทุกคนต้องระมัดระวังตัว เพราะเราไม่รู้ว่าใครคือผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายอาจจะแทรกตัวมาในลักษณะที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นความเป็นสารที่ส่งออกไป จะมีทั้งความหวาดกลัวให้ระวังเพื่อนๆ ที่อยู่รอบข้าง หรือบางครั้งก็บอกว่าประเทศอเมริกาสงบ ความไม่รู้ทำให้คนกลัว  พอคนกลัวจะเกิดความหวาดระแวงขึ้น เพราะจริงๆ แล้วคนอเมริกันนั้นเป็นที่ค่อนข้างจะหวาดระแวงอยู่แล้ว ยิ่งเดินในย่านคนดังจะต้องพกทั้งที่เสปย์ ทั้งแก๊สน้ำตา

ตรงนี้เป็นตัวอย่างของสังคมอเมริกา มาถึงสังคมไทยบ้างจะเห็นได้ว่าสังคมไทยนั้นมีเซ็นเซอร์ รัฐเข้าไปควบคุมสื่อต่างๆ นาๆ นอกจากนี้ยังเห็นว่า คนที่ครอบครองสื่อก็เป็นกลุ่มทุน ยิ่งกว่าสังคมอเมริกา เพราะว่าคนที่ครอบครองสื่อเวลานี้เป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาล

รัฐบาลคุมทั้งสื่อของรัฐบาล  คุมทั้งสื่อของตัวเอง  เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างกรณีภาคใต้จะเห็นได้ว่า การเลือกเนื้อหาของสื่อในหน้าหนังสือพิมพ์มีการถูกครองงำ มีการถูกชี้นำ ด้วยกระแสชาตินิยม ด้วยคำว่าชาติไทย

ตรงนี้นำมาสู่การทบทวนว่าจริงๆ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่เหยียดเชื้อชาติ ศาสนาหรือเปล่า ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามตรงนี้แล้ว เนื้อหาในสื่อต่างๆ ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะสร้างพื้นที่ให้กับคนมุสลิมได้มีสิทธิมีเสียง แต่ในปัจจุบันกลับมองคนมุสลิมอีกแบบหนึ่ง

สื่อต่างๆ ก็เป็นตัวสร้างความหวาดระแวงในพื้นที่เช่นเดียวกัน  ซึ่งความหวาดระแวงตรงนี้มีจริงหรือเปล่า เราที่อยู่กรุงเทพฯไม่ได้เห็นอะไรเลย สื่อจะเป็นตัวหนึ่งที่บ่งบอกอุณหภูมิต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่อยากจะทิ้งไว้อีกอันหนึ่ง คือไม่อยากให้สังคมไทยสะท้อนอะไรผ่านสื่อแล้วสร้างวัฒนธรรมในระบบอุปทานทำให้เรากลัวขึ้นมาเองตรงนี้ต้องทบทวน

คำถามสุดท้าย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมานั่งทบทวนสิ่งที่เรียกว่า Multiculture ในสังคมไทยว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น เป็นความหลากหลายที่ให้ทุกคนเป็นคนไทยหมด ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน หรือจะเป็นอีกโมเดลหนึ่ง เปิดพื้นที่กับชนกลุ่มน้อยหรือชนที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย พื้นที่สำหรับคนที่มีความแตกต่างทางศาสนาได้อยู่ แล้วให้สิทธิเขาที่จะมีสิทธิเสรีภาพ มีเสียง เป็นโมเดลที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไขปัญหาตรงนี้

 

.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล

 

รัฐกับอาณาจักรแห่งความกลัว อยากจะตั้งคำถามก่อนว่ารัฐคืออะไร หากใช้ความรู้ทางกฏหมายมหาชนมาตอบ รัฐคือสิ่งสมมติในทางกฏหมายที่ประกอบด้วยประชากรในแต่ละเขตผนึกกันภายใต้การปกครอง

รัฐตามกฏหมายนั้นประกอบด้วยประชากร ดินแดน และอำนาจรัฐ ซึ่งในทางกฏหมายการมีองค์ประกอบเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญในทางกฏหมายระหว่างประเทศ ในการเป็นสมาชิกของยูเอ็น ในการที่จะไปเป็นภาคีในสนธิสัญญาต่างๆ การขึ้นศาลโลก การมีสถานทูต

แต่ในทางรัฐศาสตร์ การให้นิยามของคำว่ารัฐมีความหมายที่หลากหลายกว่านั้นเยอะ จะเลือกหยิบยกเฉพาะที่เป็นความหมายในทางปฏิบัติและเป็นความหมายที่พูดและเข้าใจกันทั่วไป

ความหมายของรัฐในทางทั่วไปนั้น เรามักเข้าใจว่ารัฐนั้นเท่ากับรัฐบาล  กับรัฐนั้นหมายถึงกลไกรัฐ

รัฐกับอาณาจักรของความกลัวในที่นี้ไม่ได้หมายถึง รัฐที่ประกอบด้วยประชากรในแต่ละอำนาจรัฐ แต่หมายถึงอะไรสักอย่างหนึ่งที่มีเจตจำนงค์ของมัน

รัฐซึ่งเป็นดินแดนของประชาชน รัฐจะเป็นกลางได้ขึ้นอยู่กับผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐนั้นจะมีเจตจำนงค์เช่นไหร่  นี่คือรัฐตามความหมายของกฏหมายมหาชน คือรัฐเป็นกลาง

ในความหมายแบบนี้ รัฐเท่ากับกลไกรัฐ ฉะนั้นคนที่มีอำนาจอยู่ในรัฐ หรือว่ารัฐบาลที่เติบโตมาจากระบบบริหารแบบธุรกิจ ซึ่งสามารถบริหารทุกจุด ทุกหมู่คนในองค์กรธุรกิจของเขาได้หมด เมื่อนำความเคยชิน และวิถีการบริหารเช่นนั้นมาใช้ในรัฐ เมื่อมีอำนาจรัฐขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจที่จะมีการเข้าไปแทรกแซงในส่วนต่างๆมากมาย โดยหาช่องว่างใช้ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่

 

ไม่น่าแปลกใจที่องค์กรอิสระก็จะไม่อิสระอีกต่อไปเมื่อใช้วิธีการเช่นนี้ และเมื่อนักกฏหมายที่อยู่แวดล้อมนายกรัฐมนตรีก็ให้การบริการที่จะหาช่องว่างต่างๆที่จะบริการนายกให้สามารถคุมกลไกรัฐได้ทั้งหมด สิ่งที่เป็นปัญหาคือว่า คำว่าอาณาจักรแห่งความกลัวจริงๆ แล้วคือเครื่องมือของระบอบเผด็จการในการปกครอง

ทุกคนที่เคยผ่านยุคสมัยที่มีเผด็จการมาแล้ว จะเข้าใจคำว่าอาณาจักรแห่งความกลัวเป็นอย่างดี แต่หลายๆ คนที่ยังเป็นนักศึกษาในปัจจุบันอาจจะไม่ชัดเจน เผด็จการครั้งสุดท้ายที่อยู่ในอาณาจักรของความกลัวนั้นคือในปี 2534-2535 คือเมื่อ 12-13 ปีที่แล้ว นักศึกษาในปัจจุบันอาจจะยังไม่สามารถสัมผัสได้ว่าบรรยากาศแห่งความกลัวนั้นเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ผมเองก็เคยแต่ได้ยินรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าสมัยเป็นนักศึกษายุค 14 ตุลา 16 ตุลาคม นั้นตกบรรยากาศแห่งความกลัว ถูกอำนาจบางอย่างมากดเอาไว้ทำให้พูดไม่ได้ กลัวจะถูกยิง กลัวถูกจับ กลัวถูกอุ้ม วันนั้นเราไม่เข้าใจว่าสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร จนกระทั่งเมื่อตอนเป็นนักศึกษาแล้วเกิดการยึดอำนาจขึ้นในปี 2534 จึงรู้ซึ้งถึงอำนาจของความกลัว และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายสำหรับคนไทย

วันนี้เรากลับมาพูดเรื่องอาณาจักรแห่งความกลัวภายใต้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด แต่กลับมีคนตายจากการถูกปราบปรามมากที่สุด กลับมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด เรียกได้ว่าจะมากกว่าปี 2534-2535 เสียอีก หากดูในแง่ของตัวเลข ตรงนี้เป็นเรื่องประหลาดในฐานะนักกฏหมายอย่างผม

อันนี้คือรัฐในความหมายที่คนเข้าใจ รัฐที่เป็นกลไกรัฐ ผมเชื่อว่านายกฯทักษิณเองก็เคยเชื่อเช่นนั้น แต่ผมคิดว่ารัฐนั้น ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราจะเห็นว่ารัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมิได้มีความหมายเช่นนั้น รัฐมิใช่สิ่งที่สมมติในทางกฏหมาย แล้วก็มิใช่กลไกรัฐที่ปราศจากชีวิต

รัฐตอนนี้มีชีวิต มีอุดมการณ์และมีเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง อุดมการณ์อันนั้นคือสิ่งที่สั่งสมตกผลึกมาของสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงพลวัตรน้อยมาก แล้วมีการผลิตซ้ำอยู่เสมอ ๆ อุดมการณ์อะไรบางอย่างซึ่งในแง่นี้เองคนที่มีผลหรือมีอิทธิพล หรือมีบทบาทในการควบคุมกลไกรัฐนั้นจึงไม่ได้มีเพียงแต่รัฐบาลเท่านั้น

รัฐบาลอาจจะมีกลไกบางอย่างที่จะใช้กลไกรัฐ แต่สิ่งที่เป็นรัฐในสิ่งที่พูดถึงอยู่ มีอะไรบางอย่างที่มีชีวิตของมันเองขึ้นมา

ผมคิดว่าคุณทักษิณเองก็เพิ่งจะตระหนักว่าตัวเองได้ปลุกอะไรขึ้นมา ตรงนี้เป็นคำตอบ ผมเองก็เพิ่งกระจ่างหลังจากที่ได้เข้าพบนายก ผมเข้าใจกระจ่างในช่วง 2-3 วันนั้น ว่าทำไมนายกถึงเชิญอาจารย์เข้าพบ แล้วผมก็เข้าใจกระจ่างในวันนั้นว่าทำไมนายกถึงให้ประชาชนทั้งประเทศพับนก อาณาจักรแห่งความกลัวได้เกิดขึ้นมาแล้วตอนนั้น แล้วยังไม่จบ ยังมีอยู่ เป็นอาณาจักรที่เกิดจากการปลุกชีพของรัฐบาล จากนโยบายของรัฐบาลเองที่ใช้ความรุนแรง

หากมองย้อนไป 4 ปีก่อนเกิดเรื่องที่ภาคใต้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลนั้นใช้นโยบายใช้กำลังในการแก้ปัญหาต่างๆมาตลอด กรณีของการแก้ปัญหายาเสพติด หรือยาบ้านั้นเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัด ใน 3,000 ศพนั้นมีตัวเลขของคนบริสุทธิ์อยู่มาก มีคนดีๆ เกี่ยวข้องอยู่มาก แล้วตอนนี้มาใช้ที่ภาคใต้อีก

ภาคใต้นั้นถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องความรุนแรง และความคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ความรุนแรงถึงขนาดที่เกิดขึ้น เพิ่งจะมีสัก 1 ปีที่ผ่านมานี่เอง

หลังจากที่การปล้นปืนที่อำเภอจะนะ เมื่อวันที่ 24 มกราคม รัฐบาลได้ใช้นโยบายบางอย่าง รัฐบาลได้ให้สัญญาณบางอย่างกับกลไกรัฐ ซึ่งเป็นที่มาของเหตุการณ์ที่กรือแซะ มีคนที่ไม่เกี่ยวข้องตายเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลจัดให้มีการตั้งกรรมการสอบ แต่ก็เป็นการสอบเฉพาะที่มิสยิดกรือแซะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การตายที่อื่นๆ อีก 10 จุดไม่ได้มีการสอบ แล้วจุดหนึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมคือ กรณีทีมนักเรียน นักฟุตบอลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต้องตายทั้งทีม มีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้ นี่คือตัวอย่าง

กรณีที่ตากใบก็เช่นเดียวกัน เรื่องของการอุ้มฆ่าก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้สัญญาณบางอย่าง จากนโยบายเหล่านี้ทำให้รัฐไทยซึ่งมีขบวนการบางอย่าง มีอุดมการณ์บางอย่างที่นิยมความรุนแรงยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนได้ตื่นขึ้นมา แล้วมีชีวิตเป็นของตัวเองขึ้นมา

คุณทักษิณได้ตระหนักรู้ในข้อนี้ แล้วเห็นว่ากำลังจะควบคุมรัฐไม่ได้ คุณทักษิณเคยเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะคุมกลไกรัฐได้ จึงได้ตระหนักว่าทำไมวันนี้จึงคุมไม่ได้ แล้วสังคมไทยนั้นมีพลังอำนาจอะไรบางอย่าง ซึ่งคุณทักษิณเองนั้นควบคุมไม่ได้ ผมคิดว่าอาณาจักรแห่งความกลัวที่เกิดขึ้นนั้น คุณทักษิณเวลานี้ก็ตกอยู่ภายใต้ความกลัวอันนั้นด้วย

การพับนก มีคนต่อว่าต่อขานเยอะเหลือเกิน มีคนถามผมว่าใครเอานกไปให้นายก จริงๆ แล้วเราไม่ได้เจตนาจะให้มีการพับนก เพียงแต่คิดว่าจะต้องมีสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ จึงพับนกไปให้ 1 นก โดยสิ่งที่เกิดขึ้นการพับนก ยังไม่พูดถึงการโปรยนกที่มีหน่วยงานบางแห่งที่ให้ประชาชนนำนกมาแลกนม แลกไข่ มาชิงโชค เป็นเรื่องที่ทำลายคุณค่าทางจิตใจในการพับนกไปทั้งหมด

แต่สิ่งที่ประโยชน์มากในการพับนก คือทำให้รัฐไทยได้ตื่นขึ้นมา ถ้ามองย้อนกลับไป ประมาณวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547  ความรู้สึกของคนไทยหลายๆคนจะคล้ายๆกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ยิงกันที่ถนนราชดำเนิน  สิ่งเหล่านี้มันมาเองอธิบายไม่ได้ แล้วคิดว่าคนที่เคยเหตุการณ์เหล่านี้มาจะรู้สึกคล้ายๆ กัน

สิ่งที่เป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด คือ ขณะนี้เกิดขั้วขึ้นมาในประเทศไทย แต่ก่อนเรื่องของภาคใต้เป็นเรื่องของผู้ก่อการร้าย คนที่ก่อความรุนแรงไม่กี่คนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนนี้ลุกลามเป็นเรื่องของสังคม คน 2 ศาสนาที่ไม่เข้าใจกันมากขึ้นและกำลังจะทำร้ายกันเอง

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นอาณาจักรแห่งความกลัวที่ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา ทุกครั้งอาณาจักรแห่งความกลัวที่รัฐบาลสร้างขึ้นมามีเจตนาเพื่อเป็นเครื่องมือในการปกครอง แต่ตอนนี้อาณาจักรแห่งความกลัวเกิดขึ้นมาจากหลายๆ ฝ่าย แล้วเกิดขึ้นมาจากฝ่ายที่รุนแรงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เกิดจาก

กลไกรัฐด้วย เกิดมาจากประชาชนจำนวนมากด้วย ฉะนั้นการหยุดนั้นจึงไม่ใช่ง่ายเหมือนกับเรือขนาดใหญ่วิ่งมาตามแม่น้ำ พอจะหยุดไม่ง่ายเพราะจะมีแรงเฉื่อย ต้องอดทนกับผลที่จะตามมา

ถามว่าทำอย่างไร 1. จากการวิเคราะห์เรื่องราวทั้งหมด เหตุการณ์ หวังว่าคุณทักษิณจะสรุปบทเรียนได้ แล้วไม่ใช้เครื่องมือแบบนี้อีก ความกลัว กับความรุนแรงเป็นเรื่องที่อันตราย แล้วหวังว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นเพราะว่าใกล้เลือกตั้ง

2.นักกฏหมายรอบๆ ตัวคุณทักษิณ ซึ่งเก่งกาจทั้งสิ้น ที่เคยให้บริการในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ต่อไปนี้ในเรื่องที่ทำไม่ได้ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้ อย่าเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แล้วหาช่องทางให้ไปถึงเป้าหมาย ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

3.สังคมไทยเป็นสังคมของอารมณ์ สังคมของความเชื่อ สังคมของความเห็น ไม่ใช่สังคมของความรู้ และไม่ใช่สังคมความจริง ข้อเท็จจริงตรงนี้ผมเพิ่งมาตระหนัก  เดิมผมคิดว่าสังคมไทยได้พัฒนามาสู่สังคมความรู้ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ แท้จริงแล้วสังคมไทยเป็นสังคมของความเชื่อและความเห็นอยู่เป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีเรื่องนี้ขึ้นมา ความจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีพระภิกษุที่ถูกฟันคอขาดเชื่อหรือไม่ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เกิดขึ้นมาก่อนบวช ไม่เกี่ยวกับโจรใต้และหลายๆ กรณีเป็นการตายธรรมดาที่มีการฆ่ากัน ไม่ได้เกี่ยวกับโจรใต้ อยากให้ชาวพุทธใช้หลักปรมาสูตร จงไตร่ตรองใคร่ครวญให้ดีก่อนจึงจะเชื่อ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ภาพข่าวที่ปรากฏออกมาหลังการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ มีประดาน้ำไปงมได้ปืน ได้ระเบิดขึ้นมา ผมไม่ได้บอกว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรม แต่ขอให้ทุกคนไตร่ตรองใคร่ครวญให้ดีเสียก่อนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของที่ผู้มาชุมนุมจริงๆ หรือ อาจจะจริงก็ได้ หรืออาจจะไม่จริงก็ได้

นี่คือเรื่องที่สังคมไทยจำเป็นต้องมี จำเป็นต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมของความรู้ สังคมของความจริง ไม่ใช่เป็นสังคมของอารมณ์และความเห็นอย่างที่ผ่านมา ใช้ความรู้เอาชนะความกลัว แล้วต้องเชื่อมั่นในสันติวิธี

ศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความรัก ความเมตตา ความกรุณา ศาสนาแห่งปัญญา มีหลักปรมาสูตรซึ่งไม่เหมือนใคร แล้วบอกให้ไตร่ตรองใคร่ควรก่อนแล้วค่อยเชื่อ ในขณะที่ศาสนาคริสต์เน้นในเรื่องของความรัก ถ้าทุกศาสนาทำตามหลักศาสนาโลกนี้จะมีสันติภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากพวกหัวรุนแรง ไม่เข้าใจ และค่อนข้างคลั่งทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา เราต้องยอมรับในความหลากหลาย ความแตกต่าง และคิดว่าชาวพุทธส่วนมากฟังแต่ไม่ได้เข้าใจ ไปมองภาพของความรุนแรง แล้วเหมารวมว่านั่นคือทั้งหมด ซึ่งทำเช่นนั้นไม่ได้

สื่อมวลชน จะเป็นผู้ที่บทบาทมากในการที่จะทำให้คนรักกันหรือเกลียดกัน ในสถานการณ์เช่นนี้จะใช้วิธีการทำข่าว ลงข่าว หรือว่าขายข่าวอย่างเช่นที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว สังคมไทยมีบทเรียนกับ 6 ตุลาคม ทหารเข้ามาฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์เพราะอะไร เพราะสื่อมวลชน ตรงนี้มีผลเยอะ ก่อนจะลงข่าวอะไร มีใครตายนั้นต้องตรวจสอบให้ดีก่อน

คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 1.7 ล้านคน ทุกคนล้วนแต่เป็นคนไทย และงานวิจัยทุกชิ้นมีข้อสรุปตรงกันหมดว่าคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่เรากำลังผลักดันเขาออกไปสู่อีกข้างหนึ่ง

ทุกครั้งที่ฟุตบอลไทยแข่งกับมาเลเซีย คน 3 จังหวัดชายแดนก็เชียร์ทีมไทย ไม่ได้เชียร์ทีมมาเลเซีย นี่คือสิ่งที่คนไทยพุทธจำนวนมากไม่เข้าใจ เราต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย แล้วสุดท้ายคิดว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องใหญ่มาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนทั้งสังคมต้องช่วยกัน แล้วอาณาจักรแห่งความกลัวตรงนี้ต้องใช้ความรู้ ความจริง ให้สังคมไทยกลับมาเป็นสังคมที่มีความหมายอีกครั้งหนึ่ง

 

...................................................