เสวนาเรื่อง “สายสนกลโกง โยงทุจริต”

เสวนาเรื่อง สายสนกลโกง โยงทุจริต

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2547 ห้องประชุมเล็ก  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


นายสุริยะใส  กตศิลา

เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

ผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันที่เรียกกันว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นมีความหมายที่ชัดเจนและมีน้ำหนักมากกว่าการคอร์รัปชั่นแบบเดิม เพราะว่าเป็นการหากินกับนโยบาย แต่ในเบื้องต้นต้องยอมรับว่ามีความสลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ  ฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจต้นกำเนิดของคอร์รัปชั่นทางนโยบายก่อน

หากจับจุดนี้ได้การอธิบายปรากฏการณ์หรือการวิพากวิจารณ์ทางสาธารณะ ที่สื่อมวลชน นักวิชาการหรือองค์กรเอกชนตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า?  เป็นการคอร์รัปชั่นทางนโยบายหรือเปล่า? จะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์นั้นง่ายขึ้น

เมื่อพูดถึงต้นกำเนิดของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายคงจะต้องยอมรับความจริงกันว่า สายสนมาจากระบบธุรกิจทางการเมือง

โครงสร้างทางการเมืองชนิดหนึ่งที่อาจจะเรียกกันโดยทั่วไปว่าระบอบทักษิณ ขณะนี้เบียดบังการทำงานองค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 สถาปนาขึ้นจำนวน 7-8 องค์กร

วันนี้เราแทบไม่เห็นบทบาทของภาคประชาสังคม เราแทบไม่เห็นบทบาทของสื่อมวลชนว่าอยู่ส่วนไหนของระบอบทักษิณ แต่จะเห็นบทบาทอันโดดเด่นของ 3 หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา  คือกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งอยากจะเรียกว่ากลุ่มทุนขาประจำ เป็นกลุ่มทุนหน้าเดิมๆที่ ประมูลงานที่ไหนก็ชนะหมด ล่าสุดแอร์พอร์ตลิ้ง สถานีรถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสาร มูลค่าโครงการกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท บริษัทของผู้ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันชนะการประมูลไปเรียบร้อย

กลุ่มทุนขาประจำกลุ่มนี้  ไม่ว่าจะเป็นชินวัตร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือจุฬางกูร จิรวนนท์ สิมะโรจน์ วงษ์สวัสดิ์ เทพกาญจนา  มาลีนนท์ มหากิจศิริ ชาญวีระกุล จริงๆ มีมากกว่านี้ แต่ที่ยกกลุ่มเหล่านี้มา เพราะกลุ่มตระกูลเหล่านี้มีตัวแทนดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เริ่มตั้งแต่กลุ่มใหญ่ชินวัตร มีพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มโพธารามิก คือนายอดิศัย  โพธารามิก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มมาลีนนท์ คือนายประชา กลุ่มมหากิจศิริ เป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งดูเหมือนจะมีบทบาทมากกว่าคนในรัฐบาลหลายคนด้วยซ้ำไป กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจคือนายสุริยะ

 

กลุ่มเจียรวนนท์ คือวัฒนา  เมืองสุข ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหลานเขยของกลุ่มซีพี

กลุ่มทุนเหล่านี้ผมจะไม่พูดว่าเขารวมตัวกันเข้ามาอย่างไร แต่ถึงขณะนี้เป็นที่น่าสังเกตุคือว่ายังผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกันอย่างแนบแน่น และมีแนวโน้มที่สมัครสมานกันมากขึ้น ตอนนี้ผมยังนึกไม่ออกว่าภาคประชาชนจะต้องไปกวาดต้อนกลุ่มทุนกลุ่มไหนขึ้นมารวมกลุ่มกันแบบนี้เพื่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วต่อรองกับพรรคไทยรักไทยเพราะไม่มีเหลือแล้ว

เหลียวหลัง แลหน้าก็เห็นเฉพาะกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ว่ากันว่าเฉพาะกลุ่มทุนในเครือของชินวัตร ก็มีสินทรัพย์โดยรวมเกือบ 2 แสนล้านบาทแล้ว บวก 10 ตระกูลเข้าไปอีก คาดว่าจะถึงกึ่งหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ด้วยซ้ำไป

ลองนึกดูว่าส่วนแบ่งในตลาดเกือบครึ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไปได้ว่ากลุ่มทุนกลุ่มนี้ไม่ใช่เพียงใช้อำนาจรัฐสนองผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเอง สามารถชี้นำตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ การออกมเปิดเผยข้อมูลของ”เอกยุทธ   อัญชันบุตร”ในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจน และไม่ใช่เฉพาะที่”เอกยุทธ  อัญชันบุตรเท่านั้นที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ยังมีงานวิจัยของ”ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิช”ที่ชี้ชัดว่าหุ้นบางกลุ่ม หรือหุ้นทักษิณก็ได้ประโยชน์มหาศาลจากตลาดหลักทรัพย์

ถ้าจะพูดตรงๆ ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ถูกแทรกแซงและคุกคามมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไม่เคยมีมาก่อน กลุ่มทุน 10 ตระกูลเป็นกลุ่มทุนขาประจำ เมื่อเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองแล้วได้ ส่งตัวแทน บุตรหลาน เครือญาติมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล แน่นอนกระบวนการตรากฏหมาย หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆก็ไปเอื้อประโยชน์ให้กับพวกกลุ่มทุนโดยปริยาย

“คอร์รัปชั่น”ในความหมายของผม เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีลักษณะจัดตั้ง ไม่ง่าย ไม่ใช่อยากได้เงินแล้วเรียกผู้ประมูลมาคุย เรียกนักธุรกิจมาคุย รับใต้โต๊ะก็จบไป ไม่หมูอย่างนั้น แต่เป็นกระบวนการที่ถูกผลักดันภายใต้การจัดตั้งของกลุ่มทุนธุรกิจการเมือง แล้วมีลักษณะเป็นกระบวนการ เป็นเครือข่าย ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจสื่อ อำนาจทุน บงการกำกับเรื่องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง แล้วยังมีความสลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนยากที่จะเข้าใจได้ง่าย นี่คือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย

คอร์รัปชั่นทางนโยบายแตกต่างจากคอร์รัปชั่นในอดีตอย่างไร หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า” บุฟเฟ่ต์คาบิเนต”ในรัฐบาลเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สมัยพลเอกชาติชาย ถูกวิพากวิจารณ์ว่ามีการคอร์รัปชั่นกันมากมายมหาศาล แต่ตอนนี้คงต้องเปลี่ยนใหม่ อาจจะเรียกว่าเป็นแกรนด์ดินเนอร์คาบิเนต เพราะว่าผลกระทบต่อสังคมนั้นมากมายมหาศาล เงินงบประมาณที่สูญหายไปจากการคอร์รัปชั่นแบบเดิมอาจจะอยู่ในระดับ 10 ล้าน 100 ล้าน หรือไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เท่าที่ได้ยินตัวเลขมา  จิบจ้อยมาก แต่แกรนด์ดินเนอร์คาร์บิเนตอาจจะมากกว่า 1,000 ล้าน จนถึงระดับ 100,000 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ

ประเด็นที่ 2 ผลกระทบต่อสังคม ถ้าเป็นบุฟเฟ่เนอร์คาร์บิเนตแบบดั้งเดิม ผลกระทบจะอยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ เฉพาะจังหวัดๆ หนึ่ง เฉพาะอำเภอ ๆ หนึ่ง เฉพาะสาขาอาชีพหนึ่ง แต่ว่าการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย กระทบกับคนทั้งประเทศ ทุกกลุ่มทุกชนชั้นกระทบหมด แล้วระยะเวลาในการส่งผลกระทบ คอร์รัปชั่นแบบเดิมส่งผลกระทบช่วงสั้น ๆ  อาจจะเป็นการหาประโยชน์จากความพิกล พิการของระบบราชการ หรือว่าความไม่เอาไหนของเจ้าหน้าที่บางคน แต่ไม่มีลักษณะผูกพันเหมือนกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่มักจะอยู่ในรูปของการสัมปทาน หมายความว่ามีอำนาจรัฐคุ้มครอง บางโครงการ 20 ปี บางโครงการ 30 ปี  จนเรียกกันว่าเป็นการคอร์รัปชั่นในอนาคต ถึงลูก ถึงหลานด้วย

อาจารย์หมอประเวศ บอกว่าเป็นการปล้นขนาดใหญ่ น่าจะเป็นความหมายที่ตรงที่สุด ความผิดทางกฏหมาย การคอร์รัปชั่นแบบเดิมเอาผิดง่าย ตัวละครไม่เยอะ ไม่ซับซ้อน แต่ว่าการคอร์รัปชั่นแบบใหม่ทางนโยบายนั้นเอาผิดยาก

และที่สำคัญกฏหมายที่มีอยู่ใช้การไม่ ผมไม่แน่ใจว่าหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ชุดนี้มีอิสระทั้ง 9 คน จะเอาผิดการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายได้หรือเปล่า ไม่แน่ใจว่ากฏหมายหรือกลไกที่อยู่ในมือของปปช.จะจับผิดการคอร์รัปชั่นลักษณะนี้ได้

สุดท้าย โอกาสในการตรวจสอบยิ่งยากเข้าไปอีก แบบเดิมอาจจะตรวจสอบได้ง่ายตัวละครไม่เยอะ แต่ว่าการคอร์รัปชั่นทางนโยบายต้องยอมรับว่าตรวจสอบยาก และที่สำคัญบางคนพลอยหลงเชื่อไปด้วยว่าเป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวมเพราะมีการโฆษณาอวดสรรพคุณ มีการลงทุนสร้างพิธีกรรมต่างๆ นา ๆ แม้กระทั่งพิธีกรรมที่จะปราบปรามทำสงครามกับการคอร์รัปชั่นก็ยังมีการสร้างพิธีกรรมที่สำนักงานบริเวณถนนราชดำเนิน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

หันไปดูกระบวนการการทำงานทางนโยบายที่บอกว่ามีลักษณะจัดตั้งว่าทำงานกันอย่างไร ถ้าสังเกตุดูบางเรื่อง บางโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ เช่น แผนการขนส่งมวลชนที่จะมีการทำรถไฟฟ้ารางคู่ กรุงเทพฯกับปริมณฑล แล้วก็ขยายรถไฟใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ทั้ง 2 เมกะโปรเจ็กต์เข้าใจว่าตกประมาณ 2 ล้านล้านบาท ผมคิดว่าเป็นการขายฝัน

ที่รัฐบาลบอกว่าจะต้องแก้ปัญหาจราจร  ผมถามว่าคนชั้นกลางค้านไหม ผมเองก็ไม่ค้าน เพราะต้องการแก้ปัญหารถติด ผมอาจจะเห็นด้วยด้วยซ้ำไป ที่ว่าขายฝันเพราะว่าคนอาจจะคล้อยตาม แต่ว่ามุมหนึ่งคือการแสดงวิศัยทัศน์ของผู้นำว่า รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาระบบจราจรอย่างไรโดยยกเหตุผลร้อยแปด ความจำเป็นต่างๆ นาๆข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นบริวารหว่านเครือก็เห็นดี เห็นงามด้วย แม้กระทั่งสภาหอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ไม่มีการตั้งข้อสังเกตุหรือวิพากวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลชุดนี้แม้แต่เรื่องเดียวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ต่างจากสมัยรัฐบาลชวน หากย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆ จะเห็นว่าทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมเข้าพบนายกรัฐมนตรีบ่อยมาก แต่ช่วงหลังๆเข้าพบเหมือนกันแต่ให้ดอกไม้ ด้านเอกชนก็ขานรับกับนโยบายรัฐบาล จากนั้นมีการบีบสื่อหรือใช้สื่อที่อยู่ในมืออยู่แล้วโฆษณาอวดสรรพคุณว่าโครงการที่นำเสนอนั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ ที่สำคัญลงทุนหว่านเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล เฉพาะสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ใช้งบโฆษณาสูงถึง 800 ล้านบาท  โครงการโอท็อป การจัดงานรากหญ้าสู่รากแก้วล้วนแต่ใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น

หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่อาจจะอยู่ในสังกัดหรือเป็นคนที่ภาครัฐบาลให้การสนับสนุนออกมาอธิบายในลักษณะสนับสนุนโครงการของรัฐบาลว่าเป็นโครงการที่ดี สุดท้ายเมื่อทุกอย่างลงตัวเสียงคัดค้านต่างๆก็หายไป ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยหมด ก็ออกมาเป็นกฏหมาย เป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นนโยบาย นี่เป็นวิธีการทำงานที่ไม่หมู ไม่ง่ายเหมือนเดิม มีพิธีกรรม มีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน และไม่ได้เริ่มต้นในวันเดียว

หากย้อนไปดูวิศัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันซึ่งอาจจะดูเหมือนว่าเป็นคนที่พูดวันนี้ แล้วลงมือทำทันทีในวันพรุ่งนี้ แต่ถ้าเกาะติดคำพูดของนายกรัฐมนตรีจะเห็นว่าหลายเรื่องนายกฯพูดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำไป หลายเรื่องพูดตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง  แล้วมีกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างเป็นยุทธศาสตร์ เป็นกระบวนการ

ยกตัวอย่าง เรื่องการแปรสัญญาโทรคมนาคม ซึ่งคิดว่าเป็นตัวอย่างที่คลาสสิคมากหากจะพูดถึงการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย  เพราะว่ารัฐบาลซึ่งมาจากตัวแทนของกลุ่มทุนสื่อสารก็เห็นดีด้วยที่จะให้มีการแปรสัญญาณโทรคมนาคม จึงผลักดันทุกวิถีทาง ซึ่งหากดูกันจริงๆ แล้วกลุ่มทุนกลุ่มนี้พยายามผลักดันตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วไม่ได้มีตัวแทนของกลุ่มทุนสื่อสารมานั่งในคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจนเหมือนรัฐบาลนี้ทำให้กระบวนการแปรสัญญาโทรคมนาคมนั้นทำได้ยากขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ทำได้ง่ายนิดเดียว

วันดี คืนดี ผู้บริหารของบริษัทสื่อสารแห่งหนึ่งก็เสนองานวิจัยต่อวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรซึ่งตัวเองเรียนอยู่ว่าทางออกของเรื่องการแปรสัญญาณโทรคมนาคมที่เถียงกันมานานให้ใช้วิธีเปลี่ยนการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ระหว่าเอกชนและรัฐเป็นจ่ายในรูปแบบของภาษีสรรพสามิตรแทน

รัฐบาลรับเรื่องทันที กระทรวงไอซีที กระทรวงการคลังก็เสนอเข้าครม.ออกเป็นพระราชกำหนด หลายฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน ทั้งสมาชิกวุฒิสภา ต่างเข้าชื่อคัดค้าน ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 384 คนที่เห็นว่าทำไม่ได้เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

ภาษีโทรคมนาคมจะไปอยู่ในส่วนหนึ่งของภาษีสรรพสามิตรไม่ได้ในทางเศรษฐศาสตร์  มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นมากมาย มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำได้

เมื่อพระราชกำหนดฉบับนี้ผ่านไปถึงมือสมาชิกวุฒิสภา ก็มีการโหวต คัดค้านกันอยู่พักหนึ่งสุดท้ายก็ผ่าน ส่วนส.ส.ไม่ต้องพูดถึงเพราะรัฐบาลถือเสียงข้างมาก สุดท้ายความฝันของเอกชนก็เป็นจริง โครงการนี้มีมูลค่ามากมายหลายแสนล้านบาท เป็นผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมหาศาลที่สูญหายไปกับพระราชกำหนดฉบับนี้ นี่เป็นตัวอย่างการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่คลาสสิคที่สุด มีการทำงานเชื่อมโยงกันไม่ใช่นายกฯคิดคนเดียว แต่มีลูกหาบ มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญหนุนด้วยจึงสามารถทำได้ เพราะสุดท้ายต้องมีความชอบธรรม  วันนี้ค้านไม่ได้เพราะพระราชกำหนดผ่านสภาแล้ว มีผลบังคับใช้แล้ว ทุกอย่างจบ

 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย ที่เข้าข่ายการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่มีความสลับซับซ้อนอยู่มาก เช่น โครงการคลองด่าน โครงการค่าโง่ทางด่วน ทุจริตยา เรื่องดาวเทียม ค่าโง่ไอทีวี แม้กระทั่งเรื่องไข้หวัดนกก็มีคนได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูล  เรื่องท่าเรือแหลมฉบัง ตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมาเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ เป็นการใช้อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์กับเอกชน

ภาพรวมของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าเป็นการคอร์รัปชั่นที่ทำงานกันค่อนข้างเป็นระบบและเป็นกระบวนการที่คาดหวัง กลไกใด กลไกหนึ่ง องค์กรใด องค์กรหนึ่ง ตรวจสอบปราบปรามอย่างเดียวคงไม่พอ คงต้องคาดหวังให้รัฐบาลนี้ทำสงครามกับคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง

บัญญัติ 10 ประการที่รัฐบาลนี้แถลงไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2577 1.แก้กฏกติการมารยาท เพื่อตัดโอกาสคนคดโกงทั้งหมด 2.เพิ่มเคี้ยวเล็บให้กรรมการปปช.  3.เพิ่มตัวช่วยหน่วยบริหารจัดการระดับล่าง ปมบ้านเมืองเรื่องไม่ใหญ่  ฯลฯ ท่านรองวิษณุเป็นคนเขียนเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง อ่านแล้วก็ดูดี มีฝีมือมาก นอกจากท่านจะเก่งด้านกฏหมาย แล้วท่านยังแต่งกลอนเก่ง

ทั้ง 10 ข้อที่รัฐบาลประกาศจะเห็นว่ามีเจตนาชัดเจนที่จะลดรูป ลดทอน บิดเบือนการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย และยังอยู่ในวิศัยทัศน์เก่า มุ่งเอาผิดข้าราชการประจำ ซึ่งในกระบวนการที่เกิดขึ้น กลไกรัฐหรือหน่วยราชการเป็นแค่ส่วนเดียว และเป็นแค่ผู้ร้ายปลายแถวด้วยซ้ำไป  ซึ่งไม่มีข้าราชการคนไหนกล้าทักท้วงหากเป็นความมุ่งหมายของฝ่ายการเมือง  ซึ่งชัดเจนว่าละเลยที่จะพูดถึงการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย

และที่สำคัญ ผลประกอบการของกลุ่มทุนขาประจำพอกพูนขึ้นอย่างมหาศาล เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า แนวโน้มการทุจริตคอร์รัปชั่นทางนโยบายในรัฐบาลทักษิณสมัยหน้าจะรุนแรง มีระดับความรุนแรงมากพอๆ กับผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจขาประจำที่มีกำไรเพิ่มเติม

บริษัทเอกชนบางแห่งบอกว่าผลประกอบการสมัยหน้าอาจจะมีมูลค่าเพิ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตุว่าการคอร์รัปชั่นสมัยหน้าอาจจะเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน เพราะ 1.ผลประกอบการของธุรกิจถ้านับเฉพาะในกลุ่มธุรกิจชินวัตร มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท นี่แค่ตระกูลเดียว หากนับรวมทั้ง 10 ตระกูลจะสูงเท่าไหร่

2.เชื่อว่ากลุ่มทุนผูกขาด 10 ตระกูล จะจัดสรรผลประโยชน์ทางธุรกิจและผลประโยชน์ทางการเมืองได้ลงตัว เพราะยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่ากลุ่มทุนกลุ่มนี้ทะเลาะกัน นับเป็นข่าวร้ายสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นข่าวดีสำหรับสมาชิกของพรรคไทยรักไทย เพราะว่าคนกลุ่มนี้พร้อมจะลงขันให้กับพรรคไทยรักไทยต่อไป

3 .พรรคไทยรักไทยมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลในสมัยหน้าอีกอย่างแน่นอน 4. กลไกตรวจสอบอย่างปปช. สื่อสารมวลชน ภาคประชาสังคม ก็ยังคงจะถูกแทรกแซงจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง เมื่อกลไกถ่วงดุลในระบบไม่ทำงาน เราก็คิดว่าจะคาดหวังกลไกถ่วงดุลจากภาคประชาชน แต่เท่าที่ทำงานกับภาคประชาชนมานานยอมรับว่ายุคนี้กลไกภาคประชาชนอ่อนแอกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วด้วยซ้ำ

 

สุดท้าย จะทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร ตอนนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดที่แสดงวิศัยทัศน์ หรือเสนอแนวนโยบายที่จะปราบปรามคอร์รัปชั่นทางนโยบายอย่างจริงจัง  ทั้งๆ ที่ผ่านทุกคนยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วรัฐบาลนี้ถ้าจะประเมินผลงานกันในเรื่องของการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ต้องบอกว่ารัฐบาลนี้สอบตก

และไม่ใช่สอบตกธรรมดาด้วย แต่รัฐบาลนี้ไม่มีสิทธิสอบด้วยซ้ำ  เพราะถูกกล่าวหาจากสังคมว่าเป็นคนคอร์รัปชั่นเสียเอง การเล่นเกมผู้ร้ายไล่จับโจร จึงไม่มีใครเชื่อแล้ว ฉะนั้นจึงคาดหวังว่าพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ หากพรรคไทยรักไทยไม่กลับใจ ขอเสนอมาตรการและแนวนโยบายเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบ 10 ข้อ  คือ 1.เป็นไปได้ไหม นอกจากรัฐมนตรีจะต้องแจ้งทรัพย์สินกับปปช.แล้ว ต้องนำข้อมูลทั้งหมดขึ้นเว็บไซด์ของทำเนียบรัฐบาลเป็นการพิเศษ หากทุกคนโปร่งใสจริง ตาสี ตาสา ก็สามารถเข้าเว็บไซด์ไปตรวจสอบได้ หรือพิมพ์เป็นรายงานประจำปี ตรงนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องที่ดีที่บริการประชาชน

2.แก้ไขพระราชบัญญัติจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2543  แต่ก็ยังไม่เห็นนักการเมืองคนใด โอนหุ้นให้กับนิติบุคคล ตามกฏหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เห็นรัฐมนตรีแม้แต่คนเดียว ส่วนใหญ่ก็ยังคงหุ้นไว้เช่นเดิม

3.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ห้าม ส.ส.และคนที่มาเป็นรัฐมนตรี คงไว้ซึ่งสัมปทาน หมายความว่าหากคนใดที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากสัมปทานไปเลย หรือลาออกจากธุรกิจนั้นๆ ไปเลย

4.เวลารัฐมนตรีเดินทางไปเจรจางานระหว่างประเทศ มักจะมีเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ติดตามไปด้วย บางคนไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาด้วยซ้ำแต่ไปนั่งโต๊ะเจรจาด้วย บางคนก็หอบลูก หอบหลานไปด้วย ตรงนี้เป็นไปได้ไหมว่า ทุกครั้งที่รัฐมนตรีเดินทางต่างประเทศให้แถลงวัตถุประสงค์ของงานว่าเดินทางไปทำอะไร โดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน  เพราะไม่ไว้วางใจ บางครั้งอาจจะมีการเจรจาด้านธุรกิจ

5.ตรากฏหมายบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียภาษีในแต่ละปี

6.ผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ แบงค์ชาติ เป็นองค์กรอิสระ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หลายพรรคอาจจะเห็นว่าเป็นการหนีเสือปะจระเข้ ผิดหวังกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมาแล้ว ยังจะให้เป็นองค์กรอิสระอีก แต่ถ้าให้ผู้ว่าการแบงค์ชาติหรือเลขาฯตลาดหลักทรัพย์มาจากการสรรหาของรัฐสภา เชื่อว่าน่าจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า คือเปิดโอกาสให้คนที่อาจจะอยู่นอกเหนือสายสน กลในของวงการธุรกิจการเมืองกล้าสมัครเข้ามาทำงานมากขึ้น

7.การจัดทำงบประมาณประจำปีทำแบบมีส่วนร่วมได้ไหม ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ บางเรื่องแม้จะมีพลังตรวจสอบอย่างไรก็ตาม แต่เรื่องถูกชงตั้งแต่วันที่กรรมาธิการพิจารณางบประมาณแผ่นดินเรียกหน่วยงานราชการเข้ามาเสนอพิมพ์เขียวเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งตรงนี้จะทำให้งบประมาณแผ่นดินถึงมือชาวบ้านได้มากขึ้น

 

8.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรเปิดเผย วาระและวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปปฏิบัติภาระกิจในต่างประเทศ  9.ปรับปรุงกระบวนการนโยบายสาธารณะ โดยจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

10. เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้องค์กรอิสระมีความเป็นอิสระมากขึ้น  เช่นเรื่องของจัดสัดส่วนกรรมการสรรหาจากโควต้าของพรรคการเมือง

สุดท้าย เราจะต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายปราบปรามเรื่องนี้อย่างจริงจังได้อย่างไร

 

กรณีศึกษา 1:ท่าเรือแหลมฉบัง

โดย   ดร.นพนันท์ วรรณเทพสกุล

นักวิชาการ จากศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย

 

เรื่องของท่าเรือแหลมฉบับเป็นเรื่องที่เราทราบข้อมูลกันน้อยในช่วงที่ผ่านมา บางคนบอกว่าจบไปหรือเปล่า โครงการนี้คืออะไร ดร.สังศิตบอกไว้ตอนต้นว่า รัฐบาลปัจจุบันบริหารประเทศมา 4 ปีมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นมาก แต่คงไม่ได้รวมเรื่องคอร์รัปชั่นในท่าเรือแหลมฉบัง 6 ท่านี้ไปรวมด้วย มิเช่นนั้นจะต้องบอกว่าปีสุดท้ายเงินมากเป็นพิเศษ เพราะว่ามูลค่าเฉพาะโครงการนี้โครงการ เดียวสูงถึง 270,000 ล้านบาท ถ้าเปรียบเทียบกับโครงการใหญ่ๆ ที่ข่าวมาในอดีต เช่น โครงการสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งแยกย่อยเป็นโครงการเล็ก ๆ ประมาณ 40 กว่าโครงการ มูลค่าโครงการยังแค่เพียง 120,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง

แต่โครงการนี้ 270,000 ล้านบาท รัฐบาลใช้เวลา 5  เดือนในการเซ็นต์สัญญา ผมชอบประโยคหนึ่งของคุณสุริยะใส(สุริยะใส  กตศิลา) คือโครงการบางโครงการมีลักษณะขายฝัน อ้างผลประโยชน์ส่วนรวมทำให้คัดค้านลำบาก บางทีเราก็เคลิบเคลิ้ม คล้อยตาม เห็นด้วยว่าน่าจะทำ น่าสนับสนุน ยกตัวอย่าง เช่น ระบบขนส่งมวลชน 400,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจะเร่งทำภายใน 6 ปีเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรให้กับคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ฟังดูก็เป็นเรื่องที่ดี

หรือแม้กระทั่งโครงการท่าเรือแหลมฉบังก็เช่นเดียวกัน เพราะท่าเรือเป็นประตูสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริม ขยายความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยรวมเป็นเรื่องที่ดี หากสามารถทำให้ต้นทุนในการประกอบการของนักธุรกิจลดลง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแน่นอน ผู้นำเข้าก็มีความคล่องตัว พอต้นทุนต่ำก็สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ที่ผ่านมานั้นสภาพปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง มีกว่า 3.5 ล้านตู้แล้ว ในขณะที่ขีดความสามารถรองรับได้เพียง 3 ล้านตู้เท่านั้นเอง ต้นปีที่ผ่านมา จึงได้มีการเปิดท่าเรืออีกท่าหนึ่ง คือท่าเรือซี 3 ทำสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านตู้ คาดกันว่าอีกประมาณ 3 ปีจะเต็มอีกแล้ว เพราะฉะนั้นโครงการอย่างนี้จึงเร่งออกมาเพื่อที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นเหตุผลที่ไม่น่าคัดค้านเลย

ถ้าผมไม่ได้ไปพบเอกสารชิ้นสำคัญ ผมก็คิดว่าโครงการนี้น่าสนับสนุน แต่บังเอิญไปเห็นเอกสารชิ้นนั้นเข้าจึงได้นำมาเปิดเผยในที่ประชุมแห่งนี้

ในอดีตที่ผ่านมา เรื่องของคอร์รัปชั่นมักจะพูดถึงบุฟเฟ่ คาร์บิเนต พอเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น จึงมีการออกกฏหมายใหม่ขึ้นมาฉบับหนึ่งคือพรบ.ร่วมทุน ปี 2535

จุดประสงค์สำคัญในการออกพระราชบัญญัติฉบับนั้นคือ ต้องการสร้างความโปร่งใส สกัดกั้นการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นจากการประมูลงานต่างๆ เพราะฉะนั้นสาระสำคัญจึงเน้นไปที่การจัดให้มีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการพิจารณาในการประมูลงานต่างๆ ทำให้เกิดการคานอำนาจกัน ไม่ให้หน่วยงานต้นสังกัดออกโครงการประมูลโดยลำพัง แต่เพียงหน่วยงานเดียว

ประการที่ 2 จะต้องมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ ความเหมาะสมทางการเงินของโครงการ จะต้องคุ้มทุน จะต้องมีผลประโยชน์ จะต้องทำตามที่ทางสภาพัฒน์กำหนดเป็นข้อปฏิบัติต่างๆ เอาไว้

เมื่อกฏหมายฉบับนี้บังคับใช้ไประยะหนึ่ง 2-3 ปีแรกได้ผลบ้างพอสมควร โครงการขนาดใหญ่หยุดชะงัก จะทำอะไรก็ต้องติดกฏหมายฉบับนี้ จะทำอะไรก็มีหน่วยงานอื่นทักท้วง ไม่ให้มีการคอร์รัปชั่นได้โดยง่ายเหมือนเมื่อก่อน

ต่อมาเกิดการเรียนรู้ นักคอร์รัปชั่นเริ่มปรับตัว ในปี 2538 บางโครงการที่เกิดขึ้นพยายามที่จะหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติร่วมทุน ตอนหลังมาถูกจับได้ทำให้โครงการต้องเลื่อนไป

ปี 2539 ขบวนการประมูลงานอะไรต่าง ๆ จำเป็นต้องผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้เปลี่ยนวิธีการ บางโครงการใช้เรื่องของเกณฑ์ในการคัดเลือกซับซ้อนขึ้น จากที่พิจารณารวดเดียวจบ อาจจะต้องมีเกณฑ์คุณสมบัติทางเทคนิค คุณสมบัติเบื้องต้นเข้ามาประกอบ กว่าจะถึงขั้นตอนการเปิดซองราคาได้จะต้องมีการพิจารณาหลายรอบ

บทเรียนจากการคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา เช่น โครงการหนองงูเห่า มีโครงการหนึ่งมีการปรับให้ผู้ที่ยื่นเสนอราคาตกรอบคุณสมบัติเบื้องต้นไป 10 กว่าราย ตอนหลังจึงมีการฟ้องร้อง คืนเงินประกวดราคา

บทเรียนในเรื่องการกีดกั้นผู้เสนอราคาให้ตกรอบคุณสมบัติเบื้องต้นโจ่งแจ้งไป ก็หันมาใช้วิธีการตั้งเกณฑ์คะแนนเทคนิคแทน ทำให้ตกรอบไปอย่างสมเหตุสมผล แต่บางโครงการก็เกิดช่องโหว่ ตั้งเกณฑ์คุณสมบัติเอาไว้แต่พอถึงเวลามีคนผ่านหลุดเข้ามามากกว่ากลุ่มคนที่ถูกกำหนดว่าจะสมยอมกัน ในที่สุดแล้วก็กลัวว่าคนที่ไม่ใช่คนที่ตัวเองจะเลือกได้จะได้ชนะการประมูล ก็จะใช้วิธีการเปลี่ยนคะแนน ปรับลดเกณฑ์ลงทำให้ผู้ที่ต้องการให้ผ่านการคัดเลือกได้เข้ามา แล้วชนะไป

แต่ในที่สุดก็เกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีก วิธีการกีดกันการแข่งขันในการประมูลงานในลักษณะนี้ไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน แต่จะมีลักษณะโครงการที่มีความฉ้อฉลแบบบูรณาการ

หากจะนิยามการคอร์รัปชั่นในการประมูลในสมัยปัจจุบัน ที่พัฒนาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งแล้ว อาจจะเรียกว่าได้ว่าเป็นลักษณะของการคอร์รัปชั่นที่ไร้ตะเข็บ คือวิธีการทำแนบเนียนมาก ทุกอย่างทำถูกต้องตามที่กฏหมายอนุญาติไว้ทั้งหมด เพียงแต่ว่า แต่ละขั้นตอนมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน

 

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบังนั้น มีการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแล ปกติจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ โดยที่ภาครัฐเป็นแค่ผู้ควบคุมดูแลด้านนโยบายอย่างเดียว ซึ่งต่างจากท่าเรือกรุงเทพที่การท่าเรือเป็นผู้ดำเนินการเอง

ที่ผ่านมาเวลามีปริมาณความต้องการขนส่งสินค้ามากขึ้นจนกระทั่งความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือเต็ม จะมีการขยายเพิ่มเติมทีละท่า ๆ แล้วเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐ

แต่การประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 6 ท่าในคราวนี้มีการรวมเอาท่าเรือที่เรียกว่าเป็นท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 2 จำนวน 5 ท่าเรือ บวกกับส่วนที่เหลือของท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 1 อีก 1 ท่า รวมเป็น 6 ท่าเทียบเรือนำมาประมูลพร้อมกันในคราวเดียวกันหมด แล้วให้ระยะเวลาสัมปทานแก่เอกชนนานถึง 30 ปี นั่นหมายถึงผู้ที่ชนะการประมูลจะสามารถบริหาร ประกอบการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือที่ประมูลได้นานถึง 30 ปีนับตั้งแต่ปีที่ชนะแล้วได้มีการเซ็นต์สัญญากัน

เรื่องของมูลค่าโครงการมีปัญหาถกเถียงกันค่อนข้างมากว่าจะประเมินมูลค่าของโครงการจากอะไรดี ถ้าเป็นภาครัฐจะพยายามอ้างต้นทุนในการลงทุน แต่ถ้ามองในแง่ของต้นทุนการก่อสร้าง จะเห็นว่าท่าเรือแหลมฉบังแห่งนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ลงทุนเกี่ยวปรับสภาพพื้นดินทำเขื่อนกั้นน้ำ พัฒนาพื้นที่ไประดับหนึ่งประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทแล้วแต่ว่ายังไม่เสร็จ ฉะนั้นเอกชนที่มารับสัมปทานจะต้องลงทุนก่อสร้างเพิ่มเติมอีกประมาณ 28,000 ล้านบาท สำหรับ 6 ท่าเรือ เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่ของต้นทุนก่อสร้างจะรวมกันประมาณ 30,000 ล้านบาท

แต่จากต้นทุนการก่อสร้าง 30,000 ล้านบาท เอกชนที่ประมูลได้ยังได้สิทธิในการบริหารจัดการ จัดเก็บรายได้จากการขนถ่ายสินค้าของผู้ประกอบการอีกเป็นเวลา 30 ปี ฉะนั้นถ้าพูดถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้น สำหรับอายุสัมปทานจะอยู่ที่ประมาณ 270,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเอกชนต้องจ่ายคืนให้กับภาครัฐที่ลงทุนไปกับสาธารณูปโภคต่างๆ ก่อนหน้านี้ และอีกส่วนเป็นค่าตอบแทนในการเข้ามามีสิทธิในการใช้ท่าเรือต่างๆตรงนี้

เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นค่าสัมปทานแก่รัฐนั้น ภาครัฐควรที่จะได้เท่าไหร่ ถ้าพูดถึงตัวเลข ในรายงานการศึกษาวิเคราะห์ของบริษัทที่เป็นที่ปรึกษาที่การท่าเรือว่าจ้างได้วิเคราะห์ไว้ว่าจะอยู่ราวๆ  80,000 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าเอกชนได้สิทธิลงทุนไป 30 ปี ได้เงินไป 270,000 ล้านบาท จะต้องจ่ายให้กับรัฐ 80,000 ล้านบาทเป็นค่าสิทธิในการได้สัมปทานบวกกับจ่ายคืนให้กับการลงทุนที่ภาครัฐลงทุนให้ก่อนแล้ว

นั่นคือเรื่องราวโดยรวมๆ

คราวนี้มาดูการประกวดราคา เงื่อนไขในการลงทุน กำหนดไว้ว่า ผู้รับสัมปทานจะต้อง เริ่มประกอบการท่าเทียบเรือเอ 3 คือท่าสุดท้ายที่เหลือในโครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 1 จะต้องก่อสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง และจะต้องเปิดบริการให้กับผู้นำเข้าและส่งออกเพื่อที่จะใช้ผ่านตู้สินค้าของตัวเอง

 

จากนั้นอีก 2 ท่าจะเปิดภายใน 3  ปี  นั่นคือท่าเรือ ซี 1 กับ ซี 2 อีก 3 ท่าที่เหลือ คือ ท่าเรือบี 1 บี 2 และ บี 3 ให้เวลาอีก 7 ปีเพื่อให้เปิดดำเนินการ รวมทั้งหมด 6 ท่าแต่ทยอยเปิด

แต่ในการประมูลมีเงื่อนไขบังคับไว้ว่า เอกชนที่จะเข้ามาประกวดราคาจะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ เช่น จะต้องปั่นจั่นที่สามารถบรรทุกขนถ่ายสินค้าลงจากเรือได้ไม่น้อยกว่า 35 ตู้ต่อชั่วโมงต่อปั่นจั่น 1 คัน

ผู้ให้สัมปทานไม่อนุญาตให้เริ่มประกอบการท่าเรือแหลมขั้นที่ 3 ได้จนกว่าปริมาณตู้สินค้าฝั่งท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 2 จะมีปริมาณมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของขีดความสามารถ ตรงนี้หมายความว่าเมื่อให้สัมปทานแก่เอกชนที่ประมูลคราวนี้แล้วรัฐบอกว่าจะไม่ขยายเพิ่มเติมอีกจนกว่าจะปริมาณตู้สินค้าจะสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของขีดความสามารถที่มีอยู่ นี่คือเงื่อนไขที่บังคับไว้

การกำหนดค่าภาระอะไรต่างๆ การท่าเรือจะเป็นผู้กำหนด เอกชนจะไปขึ้นตามอำเภอใจไม่ได้ ตรงนี้หมายความว่าผู้นำเข้าและส่งออกจะไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป ถ้าให้เอกชนผูกขาด

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขต่างๆ อีก เช่น ให้เอกชนไปเขียนโครงการมาว่าจะมีแผนการทำงานต่าง ๆอย่างไร แผนการก่อสร้าง แผนการตลาด แผนระยะยาวในการบริการ ในการซ่อมบำรุงรักษา แผนฝึกอบรมบุคลากร พนักงานต่างๆ อย่างไร เมื่อเสนอครบจึงจะพิจารณาคัดเลือก

คราวนี้มาดูข้อกำหนดทางเทคนิคที่สำคัญๆ ในการประมูลคราวนี้จะต้องดูเรื่องของประสบการณ์เป็นสำคัญเพราะว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าเกือบ 300,000 ล้านบาทฉะนั้นจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ทำ

ภาครัฐที่เขียนโครงการจึงเสนอไว้ว่าบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ทีมงานจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน มีอุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย มีจำนวนเรือที่ให้บริการที่ท่าเรือ สิ่งเหล่านี้คือเกณฑ์ที่สำคัญ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของแผนความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เช่น แผนการตลาด แผนการก่อสร้าง แผนการเงินและการลงทุนที่จะต้องเสนอให้กับภาครัฐ

จากเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ข้างต้น ขั้นตอนในการคัดเลือกผู้ที่ประมูลโครงการได้กำหนดไว้ 4 ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นตอนแรกคือ ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเสนอความจำนงค์ว่าจะเข้ามาแข่งขันโดยจะพิจารณาจากคุณสมบัติเบื้องต้น เมื่อพิจารณาแล้วว่ามีคุณสมบัติพอที่จะแข่งขันกันได้แล้วจึงพิจารณาในขั้นตอนที่ 2 คือพิจารณาคัดเลือกทางด้านเทคนิค ดูความสามารถในการบริหาร มีแผนดำเนินการทางธุรกิจที่ดี จากนั้นจะต้องมาพิจารณาถึงข้อเสนอผลประโยชน์ของแผนทางการเงิน แล้วจึงจะมาดูเรื่องราคาว่าราคาที่จัดให้รัฐนั้นเป็นเท่าไหร่

แต่โครงการนี้ตรงกันข้ามกับโครงการประกวดราคาก่อสร้างปกติ โดยทั่วไปถ้าเอกชนรายใดเสนอราคาต่ำจะเป็นผู้ชนะการประมูล แต่โครงการนี้ใครจ่ายค่าสัมปทานสูงสุดจะได้เป็นผู้ชนะ และในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณา เมื่อเอกชนรายสุดท้ายที่ผ่านมาการคัดเลือกข้ามาเพียงรายเดียวจะถูกเชิญมาเจรจาต่อรอง แล้วจึงจะเซ็นสัญญา นี่คือขั้นตอนที่กำหนดไว้

 

ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกทางเทคนิคนั้นกำหนดคะแนนไว้ว่าคนที่จะผ่านการคัดเลือกทางเทคนิคจะต้องมีประสบการณ์ และแผนทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 70 % ของคะแนนเต็มที่กำหนดไว้แต่ละข้อ หรืออาจจะนำคะแนนรวมของ 2 ข้อนั้นมารวมกันแล้วต้องได้ไม่น้อยกว่า 80 %

คนที่ไม่ผ่านเทคนิคก็จะได้รับซองการเสนอราคากลับคืนโดยที่จะไม่ได้มีการเปิดซองเลย เมื่อมาถึงขั้นข้อเสนอผลประโยชน์ตอนแทนทางการเงินจะยึดเอาผลตอบแทนที่ผู้เสนอราคาเสนอให้แก่รัฐมาเปรียบเทียบกัน โดยคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิในอัตราส่วนลด 20 % ของแต่ละรายเปรียบเทียบกัน แล้วกำหนดคะแนนไว้ว่า คะแนนทางด้านประสบการณ์ ฐานะทางการเงิน ผลประกอบการในอดีต 40 คะแนน ด้านแผนการดำเนินธุรกิจอีก 40 คะแนน

สุดท้ายบวกด้วยคะแนนเต็มทางด้านผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านการเงินอีก 20 คะแนน รวม 100 คะแนน น้ำหนักของการให้คะแนนจึงเอียงไปทางด้านประสบการณ์กับแผนธุรกิจ แต่รายได้ที่เอกชนจะต้องจ่ายให้กับรัฐกลับไม่ค่อยให้สำคัญเท่าไหร่ โดยให้เห็นผลว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นผลประโยชน์กับส่วนรวม ไม่จำเป็นต้องได้ค่าสัมปทานสูงๆ ก็ได้

ผลการคัดเลือกหลังเชิญชวนให้เอกชนมาเสนอราคา ปรากฏว่ามีคนซื้อซองทั้งหมด 11 ราย แต่พอถึงเวลายื่นจริงๆ มีเอกชนมายื่นเพียง 4 ราย อีก 7  รายไม่ยอมมายื่น

จาก 4 รายตกรอบในการพิจารณาทางเทคนิคไป 1 เหลือ 3 ที่ผ่านการคัดเลือก มีคุณสมบัติครบทั้งด้านประสบการณ์และแผนการดำเนินธุรกิจ สุดท้าย ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดคือกลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มฮัจจิสัน

กลุ่มฮัจจิสันประเมินรายได้ที่เขาจะได้รับตลอดอายุสัมปทาน 30 ปีในโครงการนี้ไว้จำนวน 271,146 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิตลอด 30 ปี 40,825 ล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่หักทุกอย่างแล้ว หักค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน หักค่าสัมปทานให้แก่รัฐ หักค่าดอกเบี้ยเรียบร้อยแล้ว จะได้ผลกำไรสุทธิ 40,825 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุน 11.9 เปอร์เซ็นต์

ตรงนี้คือประเด็นความไม่โปร่งใส หากสังเกตุลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ จะเห็นว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2547 นี่เอง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นขอเล่าย้อนหลังไปอีกนิด

ก่อนหน้าที่จะมีการประมูลโครงการประมูลท่าเทียบเรือแหลมฉบังขั้นที่ 2 จำนวน 6 ท่าเทียบเรือ ประมูลพร้อมกันให้กับผู้ประกอบการรายเดียว การท่าเรือได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 รายให้ทำการศึกษาเรื่องนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ท่าเทียบเรือมีอยู่ทั้งหมด 6 ท่า ท่าเทียบเรือเอ 3 ศึกษาและวิเคราะห์โครงการโดยบริษัท เออีซี ท่าเทียบเรือซี 1 ซี 2 ศึกษาโดยบริษัท โชติจินดา มีเชล คอนเซ้าท์แทน... กับเอสซีเอ็มดี ...

ส่วนอีก 3 ท่าคือท่าเทียบเรือ บี 1 บี 2 และบี 3 ศึกษาโดยบริษัทโชติจินดากับเอสซีเอ็มดี โดยศึกษาแยกกันทั้ง 3 โครงการ

เดือนธันวาคม 2546 ผลการศึกษาถูกนำเสนอต่อผู้ว่าจ้างคือการท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีการประชุมบอร์ดการท่าเรือพิจารณาเรื่องนี้ แล้วมีมติอนุมัติโครงการ สนับสนุนให้มีการประกวดราคาคัดเลือกผู้ที่เข้ามารับสัมปทานทั้ง 6 ท่าไปพร้อมกันเลยในคราวเดียวกัน จาดนั้นนำเสนอครม. เพราะโครงการนี้เข้าข่ายพรบ.ร่วมทุน ปี 2535

โครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพราะว่ารัฐลงทุนไปแล้ว 12,000 ล้านบาท เอกชนต้องลงทุนเพิ่มอีก 1,800 ล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องมาผ่านการคัดเลือกตามที่พรบ.ร่วมทุนกำหนดไว้ นั่นคือต้องเสนอผ่านครม.

19 เม.ย.2547 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)มีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการ

27 เม.ย.2547 ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้โครงการนี้ทำการคัดเลือกในคราวเดียวกัน หลังจาก

นั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อที่จะมาคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามารับสัมปทาน ซึ่งจะมีตัวแทนจากสภาพัฒน์ ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ มาเป็นคณะกรรมการคัดเลือก แล้วจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ

ฉะนั้นพอมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเสร็จ คณะกรรมการจึงให้บริษัทที่ปรึกษาซึ่งเคยวิเคราะห์โครงการนี้เอาไว้เป็นผู้ร่างทีโออาร์ แล้วจึงประกาศชวนชวนให้เอกชนร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2547

เดือนกรกฏาคม 2547 เปิดให้เอกชนมารับฟังการชี้แจงเรื่องของข้อกำหนด เงื่อนไขบังคับ เงื่อนไขประกอบ ข้อกำหนดเทคนิค เกณฑ์คัดเลือกจะต้องทำอย่างไรบ้าง

เดือนกันยายน 2547 ได้มีการเปิดซองเทคนิค เปิดซองราคาจนกระทั่งได้ตัวผู้ชนะการคัดเลือกแล้วเจรจาต่อรอง ทำเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน จากนั้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบผลคัดเลือก

28 กันยายน 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล

หากนับช่วงเวลาที่ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการประมูลพร้อมกันในคราวเดียวใน จนถึงการอนุมัติเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลแล้ว รัฐบาลชุดนี้ใช้เวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น

ประเด็นของความไม่โปร่งใสมีทั้งหมด 5 ประเด็นใหญ่ 1.เมื่อศึกษาดีๆ แล้วจะพบว่าการรวมการประมูลท่าเทียบเรือ 6 ท่าในคราวเดียวกันนั้นไม่มีหลักการรองรับเลย ผิดหลักการทางวิชาการอย่างยิ่งยวด

2.มีความไม่สมเหตุสมผลในการกำหนดเงื่อนไขในข้อกำหนดโครงการของราชการ เงื่อนไขที่กำหนดให้เอกชนมาประมูลงานไม่มีเหตุผล ขัดแย้งกันเอง

3.เกณฑ์ในการให้คะแนนการคัดเลือกไม่เป็นธรรม 4.เปิดโอกาสให้เอกชนผูกขาดการประกอบการท่าเทียบเรือไม่ต่ำกว่า 13 ปี อย่างน้อยคือ 13 ปี อย่างมากคือผูกขาด 30 ปี โดยห้ามเอกชนรายอื่นเข้ามาทำกิจการท่าเรือเพิ่มเติมอีกในอนาคต  5.รัฐสูญเสียผลประโยชน์รวมมากกว่า 22,800 ล้านบาท

อยากขยายความประเด็นแรกที่บอกว่าขาดหลักการในการรวมประมูลค่าเทียบเรือในครั้งเดียว เนื่องมาจากว่าผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังเคยระบุถึงสาเหตุที่จำเป็นให้เอกชนมาลงทุนบริหารประกอบการท่าเรือระยะที่ 2 จำนวน 6 ท่าเพียงรายเดียวมาจากผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา

ผลการศึกษาชิ้นนั้นระบุว่าจำเป็นจะต้องมีการประมูลรวมกันทั้ง 6 ท่า เมื่อผู้อำนวยการการท่าเรือได้นำเสนอที่ประชุม บอร์ดอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำเสนอครม. จากนั้นครม.อนุมัติให้ประมูลพร้อมกันโดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว

แต่หากกลับไปดูรายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการของบริษัทที่ปรึกษาที่ได้ทำไว้นั้น ปรากฏว่ามีการศึกษาไว้ว่า การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการรวมท่าเทียบเรือย่อย ซี 1 กับ ซี 2 เข้าด้วยกัน ตรงนี้เรียกว่าท่าเทียบเรือชุดซี

ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาท่าเทียบเรือ 3 ท่า คือบี 1 บี  2 และบี 3  ผลการศึกษาบอกว่าให้นำ 3 ท่าที่ติดกันมาต่อกันแล้วให้ผู้ประกอบการเจ้าเดียวเป็นผู้ดำเนินการไป จะทำให้เกิดการประหยัดขึ้นมาได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

แต่ในรายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้วิเคราะห์ถึงการรวมท่าเทียบเรือชุดซีกับชุดบีเข้าด้วยกันเลย นั่นก็หมายความว่าไม่ต้องให้มีการประมูลพร้อมกัน มิหน่ำซ้ำไม่เคยเอ่ยถึงเลยว่าจะต้องมีการรวมท่าเรือ เอ 3 ที่อยู่เฟส 1 เข้ามาด้วย

การทำอย่างนี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ได้อย่างไรเพราะท่าเทียบเรือไม่ได้ต่อกัน จะให้ผู้ประกอบการรายเดียวกับเหมาทำทั้ง 6 ท่าไปในคราวเดียวกันทำไม นี่? คือเหตุผลที่มีการบิดเบือนผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาเพื่อนำข้อมูลไปใช้เป็นข้อสรุปนำเสนอให้แก่คณะรัฐมนตรี  ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ก็ตาม แต่มีมติเห็นชอบในหลักการนี้ไปแล้ว

ประเด็นต่อมาเรื่องของความไม่โปร่งใส คือขาดหลักการในการรวมการประมูลท่าเรือในคราวเดียวกัน ทำไมถึงต้องประมูลพร้อมกันในเมื่อผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ไว้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนท่าเทียบเรือที่ศึกษาไว้ คือ ถ้ารวมท่าเทียบเรือซี 1 กับ ซี 2 เข้าด้วยกันจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน 21.8 เปอร์เซอร์ แค่ 2 ท่า และถ้ารวมท่าเทียบเรือ บี 1 บี 2 บี 3 จะให้ผลตอบแทน 26.35 เปอร์เซ็นต์

 

ท่าเรือในแต่ละชุดมีความสามารถเกินพอในการรองรับเรือขนาดใหญ่ๆ ที่กินน้ำลึก 15 เมตรจากระดับน้ำทะเลไปได้ ท่าเรือทั้ง 2 ชุดมีความน่าดึงดูดใจในการลงทุนในตัวเอง  ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องรวมท่าเทียบเรือชุดซีกับชุดบี ในคราวเดียวกัน เพราะฉะนั้นบทสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการนั้นขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในเนื้อหา และผู้บริหารการท่าเรือต้องรับผิดชอบจากการกระทำของตัวเองแล้ว เงื่อนไขในข้อกำหนดในการดำเนินงานไม่สมเหตุผล มีการอ้างเหตุความจำเป็นเรื่องโครงการขายฝัน ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นี่คือความจำเป็นในการเปิดประมูลท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่าในคราวเดียวกัน บอกว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ถ้าไม่ขยายตอนนี้อีก 3 ปีท่าเรือแหลมฉบังจะรองรับตู้สินค้าไม่ได้ ฉะนั้นต้องรีบทำ

 

แต่พอมาดูข้อกำหนดโครงการปรากฏว่าข้อกำหนดโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบับให้เวลาแก่ผู้รับสัมปทานก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุดบี แล้วค่อยเปิดดำเนินการตอนนั้น ทั้งๆ ที่ท่าเทียบเรือชุดนี้สามารถสร้างเสร็จได้ภายในเวลา 3 ปี ทำไมไม่รอให้มีการเปิดอย่างรอบครอบถึงต้องนำมารวมประมูลไว้ในคราวเดียวกัน

 

ถ้าอ้างว่าจำเป็น ทำไมไม่บังคับให้เขารีบเร่งสร้างให้เสร็จภายในเวลา 3 ปี เปิดโอกาสให้เขาถึง 7 ปีทำไม ตรงนี้ไม่มีเหตุผลขัดแย้งในตัวเอง เป็นเรื่องที่ผู้เสนอโครงการนี้ออกมาอาจจะรีบเร่ง รีบด่วนจนกระทั่งสิ่งที่เป็นประเด็นหลักของโครงการเกิดช่องโหว่

 

สุดท้าย ผู้เสนอโครงการที่เสนอแผนการก่อสร้างได้เสร็จเร็วกว่ากลับได้คะแนนแพ้ผู้ที่ชนะการประมูล มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกคะแนนทางเทคนิคเพียง 3 ราย จากผู้เสนอซอง 4 ราย ใน 3 รายนั้นมีผู้เสนอแผนว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 ปี แต่ขณะที่กลุ่มผู้ชนะคืออัชจิสันบอกว่า 7 ปีค่อยสร้าง ทำไมเป็นเช่นนั้น

 

ในประเด็นถัดมา เกณฑ์การคัดเลือกไม่เป็นธรรมที่การท่าเรือกำหนดเอาไว้ คนที่ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนนี้มาแล้วจะต้องได้คะแนนประสบการณ์กับแผนการดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของคะแนนรวมในข้อบางข้ออาจจะต่ำกว่าก็ได้ แต่ว่าเอา 2 ข้อมารวมกันจะต้องไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ถึงจะผ่านการคัดเลือกทางด้านเทคนิค

 

ส่วนรอบการคัดเลือกด้านราคา ได้นำเอาคะแนนการคัดเลือกเทคนิคมาพิจารณาใหม่บอกว่า เอาคะแนนเทคนิค ข้อประสบการณ์ 40 คะแนน ด้านแผนธุรกิจอีก 40 คะแนน คะแนนด้านราคาแค่ 20 เท่านั้นเอง ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความพิศดารจึงเกิดขึ้น คะแนนผลตอบแทนทางการเงินคะแนนเต็มแค่ 20 คะแนน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นค่าเช่ารายปี จ่ายบังคับไว้ในเอกสารเชิญประกวดราคาว่าต้องจ่ายเท่านี้ พอคิดเป็นมูลค่าจำนวนเงินในปี 47 แล้ว เป็นจำนวนเงิน 6 ,600 ล้านบาท  เอามาจากผลการวิเคราะห์โครงการที่บริษัทที่ปรึกษาเคยวิเคราะห์ไว้นั่นเอง เพราะฉะนั้นส่วนตรงนี้ได้แน่ๆ อีกส่วนหนึ่งเอกชนเสนอมา

 

หมายความไม่ว่าใครก็ตามที่เสนอประกวดราคาจะต้องจ่ายช่องนี้ กับอีกช่องหนึ่งว่างไว้ให้เติม นั้นก็คือ add international free ให้คะแนน 6 คะแนน จาก 400  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีกลุ่มหนึ่งที่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิค คุณสมบัติเพียบพร้อม เสนอราคาที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน 7,000 ล้านบาท ไม่ผ่านการคัดเลือก คนที่ชนะการประมูลเสนอ 1,300 ล้านบาทได้รับการคัดเลือก เพราะคะแนนรวมด้านอื่นดีกว่า ประสบการณ์เคยบริหารท่าเทียบเรือใหญ่ ๆ ระดับโลก 130 กว่าท่าเทียบเรือใน 36 ประเทศ แต่อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมีประสบการณ์ในการบริหารท่าเทียบเรือระดับโลกเช่นเดียวกัน แต่จำนวนที่บริหารท่าเทียบเรือน้อยกว่าก็ได้คะแนนน้อยกว่า อย่างนี้จะประกวดราคาไปทำไมในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าคนที่เป็นผู้ผูกขาดท่าเทียบเรือรายใหญ่ของโลกจะได้ชนะการประมูล

 

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ ตอนที่ซื้อซองมีคนมาซื้อถึง 11 ราย แต่พอเวลายื่นซอง ยื่นแค่ 4 ราย เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าใครจะชนะ เพราะเกณฑ์ในการให้คะแนนกำหนดไว้อย่างนั้น ผิดกฏหมายไหม ผิดขั้นตอนไหม ไม่เลย

 

วิธีการคัดเลือกที่พิศดาร ยิ่งพิศดารเข้าไปใหญ่ ปรากฏว่าในข้อเสนอเทคนิคนั้นได้กำหนดว่าผู้ที่เสนอซองจะต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับรัฐ ซึ่งกำหนดเป็นค่าคงที่ ตรงนี้จะเป็นต้นทุนของภาคเอกชนที่จะเข้ารับสัมปทาน ฉะนั้นใครก็ตามที่ไปซื้อซอง จะเห็นราคาที่อยู่ในซองราคาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเปิดซองราคาด้านเทคนิค

 

สรุปว่าวิธีการคัดเลือกที่พิศดารเป็นวิธีที่ลึกซึ้งไปอีกชั้นหนึ่ง ทำให้พรบ.ร่วมทุนและระเบียบที่ตามมาอีก 2 ฉบับของกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์กำหนดให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่สามารถที่จะสกัดกั้นการคอร์รัปชั่นในลักษณะนี้ได้อีกต่อไปแล้ว

 

ประเด็นที่คิดว่าสำคัญ 2 ประเด็นต่อเนื่องกัน ตรงนี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ คือเปิดให้เอกชนผูกขาดอย่างน้อย 13 ปี เงื่อนไขที่แทรกเข้ามาในวาระท้ายๆ ของการประชุมไม่เคยมีการพิจารณาประเด็นนี้มาก่อน ในรายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ

 

ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่อนุญาติให้มีการเริ่มประกอบการท่าเรือขั้นที่ 3 จนกว่าปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าจะมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของขีดความสามารถของท่าเรือขั้นที่ 2

 

เมื่อหันมาดูขีดความสามารถของเขาเป็นเท่าไหร่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็คือ 6.8 ล้านตู้ 75 เปอร์เซ็นต์ คือ 5.1 ล้านตู้

กว่ากลุ่มอัชจิสันจะทำปริมาณตู้สินค้าได้ถึงระดับนั้น ก็ย่างเข้าไปปี 2560 หรือ 43 ปีเป็นอย่างน้อย ฉะนั้นคิดวิเคราะห์โดยเข้าข้างเอกชนทุกอย่างแล้ว ว่าปริมาณการเพิ่มขึ้นของสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทุกท่ามีการแข่งขันกันเต็มที่ ดึงตู้สินค้าเข้าประเทศไทยได้ 43 ปี แต่ถ้ามีบางคนไม่ขยันพอได้สัมปทานมาไม่พยายามทำตลาด ไม่ยอมลดราคาเพื่อแข่งขัน ปริมาณสินค้าก็เพิ่มขึ้นน้อย ไม่มีวันที่จะไปถึงจุด 75 เปอร์เซ็นต์ ของขีดความสามารถของขั้นที่ 2 กำไรมหาศาลที่จะเกิดขึ้นตอนนั้น

 

สรุปจากการวิเคราะห์ทั้งหมด รัฐสูญเสียผลประโยชน์ไปเท่าไหร่ ในรายงานการศึกษาของที่ปรึกษาโครงการ เขาวิเคราะห์อย่างคอนเซอร์เวย์ทีฟแล้ว กลุ่มฮัชจิสันประเมินรายได้ต่ำเกินไป นับเป็นเหตุให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่แสดงมานั้นไม่ถึง 12 เปอร์เซ็นต์  แต่ทั้งๆที่ผลการศึกษาที่มีการศึกษาเอาไว้ก่อนหน้า 26 เปอร์เซ็นต์ ต่างกันเยอะ จ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐในอัตราคงที่คิดเป็นร้อยละ 22 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ต่ำกว่าการประเมิน หรือราคากลาง 22,822 ล้านบาท เงินที่ประหยัดได้จากการจ่ายให้รัฐนั้น ซึ่งอาจจะไปจ่ายให้กับใครก็ได้ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 4,500 ล้านบาท เงินตัวนี้หายไปไหน เป็นเงินที่เอกชนประหยัดได้จากการประมูลโครงการ ทั้งๆที่เอกชนที่แข่งขันบางคนก็เสนอสูงกว่า เขายินดีจ่ายให้กับรัฐสูงกว่า 4,500 ล้านบาทด้วยซ้ำไป แต่การท่าเรือแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ อนุมัติผลการคัดเลือกให้เอกชนที่เสนอราคาตาม 4,500 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูล มันน่าอัปยศมากแค่ไหน

กรณีศึกษา 2:ไอ.พี.สตาร์

โดย  ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวาณิชย์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

ผมอยากเริ่มต้นการคอร์รัปชั่นทางนโยบายด้วยแนวคิดอย่างนี้ วันหนึ่งคงจำกันได้ มีประชาชนจังหวัดหนองคายไปนำหนังสือรู้ทันทักษิณไม่ทราบว่าเล่ม 1 หรือเล่ม 2 ไปให้ท่านนายกทักษิณเซ็น แล้วท่านนายกทักษิณก็บอกว่า”ไอ้พวกนี้โง่ไม่ทันผมหรอก”

ผมมาพิจารณาดูแล้วก็รู้สึกว่าจะเป็นความจริง ประการแรกผมเป็นคนเขียนหนังสือรู้ทันทักษิณ เล่ม 1 และเล่ม 2 เพียงคนเดียว เพราะฉะนั้นผมจึงมีความโง่เป็น 2 เท่า

ผมเองก็เป็นคนที่เรียนหนังสืออยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ แต่ยังพบว่ามีเพื่อนๆ ที่เก่งกว่าอีกหลายคน แต่พอมาอ่านประวัติท่านนายกทักษิณในหนังสือ”ทักษิณ  ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน”ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน มีบทหนึ่งบอกว่าเมื่อตอนที่ท่านอายุ 3 ขวบ เพื่อให้ได้อรรถรส ขออ่านให้ฟัง

“ทักษิณไหนลองหาร 124 ด้วย 8 ซิ เป็นหญิงวัยชรา เคี้ยวหมากหยับๆ มือขวาหยิบช็อก เขียนตัวเลขบนแผ่นกระดานที่วางบนหน้าตัก แล้วเด็กชายวัย 3 ขวบรูปร่างเก้งก้าง ใบหน้าแป้น ผิวขาวอย่างคนเหนือรีบวิ่งมาทันทีเมื่อได้ยินชื่อของตัวเอง คลานอย่างมั่นใจออกมา แล้วต่อไปก็บอกว่าหารเลขได้ถูก ก่อนที่ครูจะตี”

ประเด็นที่เน้นคือว่า อายุ 3 ขวบหารเลข 124 ด้วย 8 ได้ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นมหรรศจรรย์ของโลก ถ้าไปอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งของมติชน ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข เป็นเรื่องของนักคณิตศาสตร์ระดับโลก ชื่อพอล แอร์ดิช เข้าใจว่าเป็นชาวอังกาเรียน อายุ 4 ขวบยกกำลัง 2 ของเลข 4 หลักคิดในใจได้

ขณะที่นายกทักษิณฯตอนอายุ 3 ขวบหารเลขในใจได้ เลข 3 หลัก หารแล้วมีเศษด้วย คิดได้อย่างนี้ไม่ธรรมดา ผมเองมาตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ก็คิดว่าเราเรียนหนังสือมาพอสมควรก็จริง ผลการศึกษาก็ไม่ได้ขี้ริ้ว ขี้เร่ แต่ถ้าเทียบกับท่านนายกทักษิณแล้ว ตอน 3 ขวบผมเพิ่งจะนับเลขเป็น แต่ท่านถึงขั้นหารเลขแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านบอกว่าเราไม่ทันท่านนั้นคงจะเป็นเรื่องจริง

ผมคิดว่านอกจากท่านจะสามารถพูดกับเราอย่างนี้ได้แล้วนั้น ท่านยังสามารถพูดกับบรรดาผู้นำเผด็จการคอร์รัปชั่นทั่วโลก ด้วยคำพูดเดียวกันได้ว่า”ไอ้พวกนี้โง่”

สาเหตุที่ท่านสามารถพูดเช่นนั้นได้คืออะไร ยกตัวอย่าง ซูฮาโต้ ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียอยู่ในตำแหน่งเกือบ 30 ปี คาดกันว่าได้เงินจากการยักยอกไป 15-35 บิลเลียนยูเอส(1 บิลเลียนเท่ากับ 40,000 ล้าน)

ถ้าดูรายได้ประชาชาติต่อหัวของคนอินโดนีเซีย ในปี 2544 อยู่ที่ไม่ถึง 700 ดอลลาร์ ฉะนั้นคิดดูว่าคอร์รัปชั่นต้นทุนสูงขนาดไหน ซูฮาโต้ ประกอบอาชีพทหารมาก่อนที่จะมาเล่นการเมือง การศึกษาคิดว่าไม่ได้สูงอะไรมากมาย

อีกคนหนึ่ง มาร์ก็อต เป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ อยู่ในตำแหน่ง 14 ปีตั้งแต่ 1972-1986 คาดกันว่าได้เงินไป 10 บิลเลียน คือ 400,000 แสนล้านถ้าเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันในขณะที่คนฟิลิปปินส์นั้นมีรายได้เพีบง 900 ดอลลาร์เท่านั้นเองในปี 2544

ซูจิมูริ ประธานาธิบดีประเทศเปรู ประวัติการศึกษาพอใช้ได้ เป็นนักวิชาการเก่า จบปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริติส เค้าซิล แล้วยังเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมเกษตร  อยู่ในตำแหน่ง 10 ได้ไปเพียง 600 บิลเลียน

มาดูประเทศไทย มีผู้นำประเทศจบปริญญาเอก อายุ 3 ขวบ หารเลขมีเศษได้ แล้วจบอาชญาวิทยา  แปลว่าต้องรู้วิธีเกี่ยวกับอาชญากรรม แล้วเป็นนักธุรกิจร่ำรวยมหาศาลมาก่อน เพราะฉะนั้นจะต้องรู้เรื่องธุรกิจ ลองคิดดูในสภาพเช่นนี้จะเป็นเช่นไหร่ ขนาดนั้นผู้นำกระจอกๆ ยังเอาไปเงินไป 40,000-400,000 ล้านบาท ในขณะที่ผู้นำประเทศของเรามีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศที่กล่าวมาทั้งสิ้น และน่าจะฉลาดกว่าผู้นำคนอื่น เป็นผู้นำระดับโลกได้ เพราะฉะนั้นคิดว่า สิ่งที่บอกว่าท่านบอกว่า”ไม่รู้ทันท่าน” ยิ่งคิด ยิ่งศึกษาเท่าไหร่ ยิ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่จริง

สิ่งที่จะยกมาพูดในวันนี้อยากจะดูกรณีศึกษา 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมไอพีสตาร์

ก่อนที่จะไปถึงรายละเอียด ขอให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อน ดาวเทียมดวงนี้ก็เหมือนกับดาวเทียมอีกหลายดวง การทำธุรกิจดาวเทียมถือเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ ในหลายประเทศ มีความเกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐเซียยิงดาวเทียมขึ้นฟ้าไป คือ ดาวเทียมสกู้ดนิก ตรงนี้ถือว่ารัฐเซียแซงหน้าอเมริกา ถึงแม้ว่าด้านเศรษฐกิจจะดูว่ายังไปไม่ทัน แต่ว่าเมื่อมีดาวเทียมสกู้ดนิก รัฐเซียก็ถือว่าไปได้ไกลกว่าสหรัฐอเมริกา

เช่นกันเมื่อไทยได้ยิงดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็เป็นความภูมิใจว่าของคนไทยว่าประเทศไทยก็เป็นผู้นำด้านการสื่อสาร  ด้านการคมนาคม แล้วยิ่งดาวเทียมไทยคมไปให้บริการกับลูกค้าต่าง ๆ ในต่างประเทศ คนไทยก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าบริษัทของไทยมีความก้าวหน้ามั่นคง ก้าวไปเป็นบริษัทข้ามชาติ

ยิ่งมีดาวเทียมดวงใหม่ คือ ไอพีสตาร์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ดาวเทียมสามารถให้ความเร็วสูงในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้เป็นบอร์ดแบรนด์แซทเทอร์ไลน์ดวงแรกของโลก และเป็นดาวเทียมที่ผู้ประกอบการของไทยไปซื้อเทคโนโลยีของฝรั่งมา

ดาวเทียมดวงนี้มีการลงทุนไปประมาณ 390 ล้านเหรียญอเมริกา เป็นดาวเทียมที่ให้บริการหลายอย่าง ใช้เทคโนโลยีพิเศษ เป็นเทคโนโลยีแบบกระจายคลื่น กับดักฟังคลื่น ถ้านึกไม่ออก ให้นึกถึงโทรศัพท์มือถือสมัยก่อนที่เสียงไม่ชัด คลื่นก็ซ่า ๆ คลื่นไม่มีประสิทธิภาพเป็นการกระจายคลื่นแบบเก่า ซึ่งก็เหมือนกับดาวเทียมแบบเก่าที่อยู่บนท้องฟ้าในปัจจุบัน แต่พอมีเทคโนโลยีแบบไอพีสตาร์กระจายคลื่น เหมือนกับโทรศัพท์ดิจิตอลในปัจจุบันซึ่งกระจายเป็นรังผึ้งแบบเซลลูลาร์ แบ่งคลื่นกันใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากทำให้สามารถส่งข้อมูลได้มากกว่า 40 จิกะบิตต์ต่อวินาที ซึ่งเป็นความจุ ความสามารถที่เยอะกว่าดาวเทียมในปัจจุบันเกินกว่า 20 เท่าขึ้นไป เพราะว่าดาวเทียมปัจจุบันทำได้เพียง 3 จิกะบิตต์ต่อวินาที เพราะฉะนั้นดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามาก สามารถบริหารกำลังส่งได้ตามสภาพอากาศ เช่น ที่ไหนอากาศดี คลื่นไปได้ง่ายจะไม่ต้องใช้กำลังส่งเยอะ เปลี่ยนกำลังส่งไปใช้กับที่ที่อากาศไม่ดี มีฝนตก อย่างนี้เป็นต้น เพื่อให้สัญญาณชัดเจนได้หมด

ดาวเทียมดวงนี้ให้บริการได้สารพัด ตั้งแต่บอร์ดแบรนด์ บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

บริษัท ชินแซทเทอร์ไลน์ประกอบการแบบมืออาชีพ มีวิธีการกระจายความเสี่ยง เช่น ถ้าเห็นว่าดาวเทียมจะล้าสมัย มีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาแข่งก็วิจัยพัฒนา ถ้าเห็นว่าดาวเทียมมีอายุการใช้งานจำกัด ก็คำนวณว่าจะต้องยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปแทนหรือเปล่า อย่างที่มีข่าวว่าบริษัทมีแผนจะยิงดวงที่ 5 ยิงดวงที่ 4 ขึ้นไปแทนดวงที่ 3

หากเกิดความเสียหายใดๆ จากสิ่งที่นอกเหนือจากการคาดการณ์ เช่น ดาวเคราะห์น้อยโคจรมาชน เกิดจากอะไรต่างๆ สิ่งที่บริษัท ชินแซทเทอร์ไรท์ทำคือไปซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย ดาวเทียมไทยคมทุกดวงประกันภัย เป็นวิธีปฏิบัติอย่างมืออาชีพ

อย่างไรก็ตามต่อให้มีวิธีการดำเนินอาชีพแบบมืออาชีพ ต่อให้ประกันภัย ถึงที่สุดแล้วก็ยังมีความเสี่ยงอยู่  ประกันภัยเองก็ไม่สามารถคุ้มครองได้ทั้งหมด ตัวอย่างสิ่งที่ประกันภัยคุ้มครองไม่ได้คืออะไร 1.ถ้าเกิดสงคราม เกิดจราจล อย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา แล้วมีการเผา ทำลายสถานที่ ทรัพย์สิน ตรงนี้เกิดความเสียหายได้ แล้วประกันภัยไม่คุ้มครอง หรือเกิดระเบิดปรมนูญ หรือมีคนยิงอุปกรณ์ต่อต้านดาวเทียม แล้วดาวเทียมตกลงมา เกิดการก่อกบฏ การยึดทรัพย์ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนา อย่างที่เห็นกันว่าพม่าเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีการไล่นายกรัฐมนตรีออกไป

เรื่องพวกนี้มีความเสี่ยงจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถจัดการได้เองโดยผู้ประกอบแล้วบางเรื่องรัฐบาลพึงมีหน้าที่ที่จะต้องไปช่วยผู้ประกอบการของตัวเองที่ประกอบการในต่างประเทศ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในกัมพูชา จะเห็นว่ากรณีที่ฝ่ายไทยเรียกร้องค่าเสียหาย 500,000 เหรียญจากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาไม่มีเงินให้ รัฐบาลไทยก็มีวิธีนำค่าเสียหายไปหักออกจากค่าภาษีที่ต้องจ่าย ไปหักจากค่าส่วนแบ่งรายได้ต่างๆ

ประเด็นสำคัญก็คือ การที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บางทีรัฐต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยวิธีแบบไหนจึงจะเหมาะสม เป็นประเด็นนโยบายสาธารณะ นอกจากรัฐจะต้องเข้าไปประกันความเสี่ยงเองแล้ว เรื่องของความเสี่ยงบางครั้งก็เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากภาครัฐเองด้วย เช่น รัฐบาลในประเทศอาจจะมีนโยบาย มีกฏระเบียบใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสัมปทานต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง เมื่อมีการแปรสัญญาสัมปทานรอบใหม่

ความเสี่ยงแบบนี้อาจจะเป็นความเสี่ยงที่เป็น down size ซึ่งอาจจะทำให้ธุรกิจเสียประโยชน์ก็ได้ หรือเป็น Up size หรือธุรกิจได้ประโยชน์ก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองระหว่างเอกชนกับรัฐหรือเกิดความเสี่ยงจากกฏระเบียบของรัฐในต่างประเทศ เช่น หากประเทศลาวคุมราคาไม่ให้ขึ้นค่าโทรศัพท์ ผู้ประกอบการโทรศัพท์ในลาว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการซึ่งบริษัทชินแซทเทอร์ไรท์ไปลงหุ้นอยู่ด้วย คือบริษัท ลาวเทเลคอม ก็คงจะประกอบธุรกิจได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นในมุมแบบนี้จะเห็นว่าเรื่องแต่ละเรื่องในการทำธุรกิจยุคปัจจุบันจะเกี่ยวข้องกับกฏระเบียบ เกี่ยวข้องกับรัฐทั้งในและนอกประเทศ

หรือถ้าเกิดมีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยให้ดาวเทียมดวงใหม่เข้ามาแข่งได้ ผลกระทบก็เกิดขึ้นโดยตรงกับบริษัทผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นรัฐเองจะเป็นผู้มีบทบาทชี้ว่าการเปิดเสรีจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ตรงนี้คือสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องจับตาดูด้วย

นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีข่าวพอบาทแข็ง บริษัทอย่างชินแซ็ทเทอร์ไรท์ซึ่งมีรายได้ประมาณ 94 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินดอลล่าร์นั้น ก็เรียกได้ว่ามีผลกระทบอยู่พอสม

โดยสรุปคือมีความเสี่ยงสารพัด และก็ชื่นชมที่ผู้ประกอบไทยสามารถไปประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยง และคิดว่าบางบทบาทรัฐก็เข้าไปช่วยเอกชนเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงในประเทศและต่างประเทศด้วย

 

แต่อย่างไรก็ตามมีบางบทบาทของรัฐอีกเช่นกัน ซึ่งไปไกลเกินกว่าบทบาทที่ควรจะเป็น คือบทบาทที่รัฐโดยเฉพาะรัฐบาลของประเทศไทย อาจจะไปเอื้อบทบาทให้กับเอกชนรายใด รายหนึ่ง โดยเฉพาะเอกชนที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ วันนี้จะขอยกตัวอย่าง 3 กรณี

บริษัท ชินแซทเทอร์ไรท์เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ไอพีสตาร์เป็นบริษัทลูก รายได้บริษัทมาจากลูกค้าในประเทศและลูกค้าต่างประเทศ แต่จะมีสัดส่วนลูกค้าในต่างประเทศในจำนวนที่สูงกว่า

หากถามว่ารายได้มาแล้วไปไหน ส่วนหนึ่งในโครงการสัญญาสัมปทาน รายได้จะต้องแบ่งให้กับรัฐบาลไทยตามสัญญาบริษัท ชินแซทเทอร์ไรท์ เป็นคู่สัญญากับกระทรวงไอซีที เพราะฉะนั้นรายได้ก็ต้องแบ่งให้กระทรวงไอซีที และต้องเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย

ส่วนแบ่งรายได้ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 15.5 เปอร์เซ็นต์ หากเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ส่วนแบ่งรายได้นี่จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดปลายๆ สัญญาจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 22.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 และปี 2564 หากถามต่อว่าถ้าหักส่วนแบ่งรายได้แล้ว รายได้ที่เหลือจากส่วนแบ่งรายได้ไปไหน

เมื่อหากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการตลาด ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่จะเหลือกำไร กำไรที่ได้ต้องไปชำระภาษีเงินได้ให้กับกระทรวงการคลัง อัตราภาษีเงินได้โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 30 % สำหรับนิติบุคคล หลังจากนั้นจึงจะเป็นรายได้เข้าสู่ผู้ถือหุ้น คือเจ้าของบริษัท

เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาถ้าเกิดผู้ถือหุ้นของกิจการใดๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นกิจการสัมปทานโทรคมนาคม ต้องการเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้นก็จะต้องมานั่งคิดดูว่ามีวิธีใดบ้างที่จะเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งคิดว่าทำได้หลายวิธี นี่เป็นทฤษฏีทั่วไป  1.ไปเล่นที่ตัวกำไร ทำอย่างไรให้กำไรเพิ่ม วิธีการคือได้กำไรเพิ่มขอไม่เสียภาษี 2.ทำอย่างไรให้รายรับเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้รายจ่ายลดลง ทำอย่างไรลดความเสี่ยงของธุรกิจ  3.ลดวิธีที่จะจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาล หากทำวิธีนี้จะเป็นวิธีที่สามารถทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นขึ้นสูงสุดได้

ขอยกตัวอย่าง 2-3 กรณีที่เกิดขึ้น หรือบางกรณีอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กรณีแรกคือการไปเล่นที่ภาษี หากหักภาษีน้อย กำไรก็จะเข้าสู่ผู้ถือหุ้นได้เยอะ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นไปแล้วคือมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการไอพีสตาร์ ถ้ามีกำไรสุทธิจากส่วนรายได้ของรายได้จากต่างประเทศจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ 8 ปี มีคีย์เวิร์ดอยู่ 2-3 ตัว คือยกเว้นภาษี สำหรับกำไรสุทธิที่มาจากรายได้ต่างประเทศ คีย์เวิร์ดก็คือเป็นกำไรสุทธิ์ คือต้องมาหักกันทั้งหมด โดยทั่วไปเป็นเรื่องที่ยากที่จะไปบอกว่ากำไรสุทธิส่วนไหนมาจากรายได้ในประเทศ กำไรสุทธิส่วนไหนมาจากรายได้ต่างประเทศ

แต่ว่าบีโอไอให้การยกเว้นภาษีนิติบุคคลเฉพาะส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นบริษัทก็จะต้องเกลี่ยกันดูว่ากำไรที่ได้มาทั้งหมดเท่าไหร่ๆ จะต้องไปแบ่งเป็นกำไรสำหรับต่างประเทศเท่าไหร่ กำไรสำหรับในประเทศเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่มีเทคนิคได้มาก เป็นเรื่องที่ต้องมีการดูกันทางบัญชี

ประเด็นสำคัญที่คิดว่าอยากหยิบยกขึ้นมาพูด แล้วมีความชัดเจนคือที่ผ่านมารัฐบาล หมายถึงบีโอไอ ซึ่งประธานโดยตำแหน่งคือนายกรัฐมนตรี  ได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ แล้วหนังสือพิมพ์รายงานว่ามีส่วนที่รัฐสูญเสียรายได้ไป 16,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ในส่วนนี้ผมให้เหตุผลว่าไม่ว่าไม่สมควรให้มีการส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างน้อย 3-4 เหตุผล

เหตุผลแรกคือการลงทุนของโครงการนี้ เอกชนตัดสินใจลงทุนไปแล้ว การส่งเสริมการลงทุนเจตนาก็เพื่อที่จะจูงใจให้ลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เอกชนลงไปแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปการส่งเสริม ถึงจะส่งเสริมก็ลงทุนเพิ่มไม่ได้ เพราะตัดสินใจลงทุนไปแล้ว กู้เงินก็กู้ไปแล้ว แผนยิงดาวเทียมก็ยิงไปแล้ว จะเพิ่มความถี่ดาวเทียมก็เพิ่มไม่ได้เพราะความถี่ของดาวเทียมก็มีความจำกัดอยู่

เพราะฉะนั้นมุมแรกคือการส่งเสริมการลงทุนนั้นเป็นการเสียเปล่าเพราะว่าไม่ได้สามารถทำให้เอกชนลงทุนได้เพิ่มขึ้น

เราเชื่อว่าลงทุนช่วยสร้างงาน ลงทุนทำให้เกิดการบริการที่ดีขึ้น แต่ถ้าส่งเสริมโดยที่รัฐเป็นผู้ควักสตางค์ให้ ก็ไม่สามารถทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะส่งเสริม

ประการที่ 2 ธุรกิจของบริษัทนี้ แค่เทคโนโลยีก็มีประสิทธิภาพเหนือกว่าบริษัทคู่แข่งซึ่งเป็นดาวเทียมธรรมดา อย่างน้อย 20-30 เท่า เพราะฉะนั้นไม่ต้องช่วยเหลือก็แข่งได้อยู่แล้ว

การไปช่วยเหลือเกิดผลอะไร คือ ช่วยคนที่ชนะอยู่แล้วได้ชนะยิ่งขึ้น ทำให้สภาพตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลย เพราะว่ามีคนที่มีเทคโนโลยีดีกว่า ต้นทุนถูกกว่าและได้แต้มต่อจากรัฐเข้าไปอีก การแข่งขันกับธุรกิจในประเทศย่อมแข่งขันได้อย่างสบายมาก

ประการสุดท้ายคือการส่งเสริมการลงทุนแบบนี้บอกว่า ถ้าเกิดรายได้จากต่างประเทศยิ่งเยอะเท่าไหร่ ยิ่งได้ส่วนลดภาษีมากขึ้น คือการจูงใจที่ไปอุดหนุนคนใช้ต่างประเทศ โดยใช้เงินของคนไทย

นี่คือวิธีการเล่นกับตัวภาษีที่ไปผูกโยงกับตัวกำไร

กรณีที่ 2 ที่จะยกมาคือกรณีที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไทย หรือว่าเอ็กซิมแบงค์ได้ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ตามข่าวที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์รายงานว่า เอ็กซิมแบงค์ ปล่อยเงินกู้ 12 ปีมูลค่า 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 600 ล้านบาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ไม่ปรากฏ เงินกู้นี้รัฐบาลไทยโดยเอ็กซิมแบงค์ปล่อยให้กับกระทรวงคมนาคมของพม่าเพื่อนำไปทำโครงการโทรศัพท์ทางไกลในชนบทและนำไปทำอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศพม่า

ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจ ขออนุญาติอธิบายสั้นๆถึงการทำธุรกิจในพม่า โดยเฉพาะการทำธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคม คำถามที่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นคือว่าทำไมถึงได้มีการกู้เงินกันเกิดขึ้น

เรื่องแรกคือผมได้ศึกษากฏหมายของพม่ามา พบว่ากฏหมายการลงทุนของพม่านั้น ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดิน ห้ามมิให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศพม่าได้

พอกำหนดอย่างนี้เกิดอะไรขึ้น แปลว่าผู้ประกอบการโครงข่ายโทรคมนาคมจะเป็นชาวต่างชาติไม่ได้ต้องเป็นชาวพม่าเท่านั้น เหตุผลดังกล่าวจะมีที่มาที่ไปอย่างไรก็แล้วแต่ ข้อกำหนดนี้ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญก็คือ พม่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน ฉะนั้นการที่จะระดมทุนในโครงการโทรคมนาคมด้วยตัวเองก็ทำไม่ได้ พอระดมทุนด้วยตัวเองทำไม่ได้ ทำอย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้าง

ถามว่าระดมทุนด้วยการกู้เงินในพม่าทำได้หรือไม่ คำตอบคือว่าทำไม่ได้ เพราะว่าธนาคารในประเทศพม่ามีความอ่อนแอมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าธนาคารในพม่าส่วนหนึ่งเป็นธนาคารที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหว้าแดง และเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนอกกฏหมายเช่นยาเสพติด

เมื่อมีการปราบปรามยาเสพติดธนาคารหลายแห่งในพม่าก็อ่อนแอลง ไม่มีความสามารถในการปล่อยเงินกู้ได้

ประการต่อมา ถามว่าจะไปกู้เงินต่างประเทศได้หรือไม่ เช่น ไปกู้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ไปกู้กับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกา คำตอบคือทำไม่ได้ เพราะว่ากฏหมายลงทุนในพม่าห้ามไม่ให้ คนต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมไม่ได้ คือการจะไปกู้เงินโดยทั่วไปก็ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน

สมมติบริษัทโทรคมนาคมในพม่าไปกู้เงินธนาคารต่างประเทศแล้วนำเอาโครงข่ายโทรคมนาคมไปจำนอง หรือเอาที่ดินไปจำนองไว้ ถ้าเกิดใช้หนี้ได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากใช้หนี้ไม่ได้ สถาบันการเงินในต่างประเทศก็ต้องมายึด เพราะฉะนั้นกู้เงินจากต่างประเทศไม่ได้เพราะอาจจะถูกยึดได้  และขัดต่อกฏหมายของพม่า

ถามต่อว่าไประดมทุนในตลาดหุ้นได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้เพราะพม่าไม่มีตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นวิธีระดมทุนในพม่าเหลือเพียง 2 วิธี วิธีที่ 1 คือไประดมทุนกับนักลงทุน คือไปชวนคนรู้จักมาลงขันด้วยกัน ไม่ใช่วิธีที่จะไประดมทุนในตลาดหุ้นเป็นการทั่วไปได้

แต่วิธีการลงทุนแบบเฉพาะแบบนี้มีต้นทุนสูงมาก และทำได้ยากเนื่องจากคนพม่าที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจริงๆ มีไม่มาก เพราะฉะนั้นเงินทุนส่วนนี้ก็ไม่เพียงพอ จึงเหลือวิธีระดมทุนวิธีเดียวที่เหลืออยู่ คือวิธีการขอเครดิต หรือขอสินเชื่อจากซัพพลายเออร์ที่ขายบริการให้กับธุรกิจโทรคมนาคมในพม่า เช่น บริษัททำโทรศัพท์ในพม่า ถ้าไปซื้ออุปกรณ์จากใคร ไปซื้อวงจรสื่อสารจากใครก็สามารถของสินค้าที่เรียกว่าซัพพลายเออร์เครดิตจากคนที่เป็นคนขายอุปกรณ์ ขายวงจรสื่อสารได้  ผมจะไม่แปลกใจถ้าเกิดซัพพลายเออร์ของไทย ซึ่งในกรณีนี้ก็คือบริษัทชินแซทฯไปให้ซัพพลายเออร์เครดิตกับพม่าด้วย

ถามต่ออีกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อัตราดอกเบี้ยสำหรับการปล่อยซัพพลายเออร์เครดิต และความเสี่ยงจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือถ้าเป็นอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในอัตราที่เรียกว่า เป็นอัตราที่ต้องสูงกว่าอัตราที่ปล่อยกู้กันโดยทั่วไปในประเทศไทย ถ้าเป็นธุรกิจในไทยชั้นดีก็เรียกว่าปล่อยกู้ในระดับ MLR ถ้าดีมาก็ลดลงมาดอกเบี้ยต่ำๆ แต่ถ้าเป็นของพม่าต้องมีการบวกขึ้นไปแน่ๆ เพราะที่ทราบกันเศรษฐกิจของพม่าเป็นเศรษฐกิจที่ยังไม่มีการพัฒนามาก ฉะนั้นความเสี่ยงโดยทั่วไปจึงสูง

ผมเคยถามคนในวงการธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาให้คำตอบว่าการปล่อยสินเชื่อซัพพลายเออร์เครดิตในพม่านั้นไม่น่าจะต่ำกว่า MLR +6 ขึ้นไป เพราะฉะนั้นถ้าบวกขึ้นปีอัตราดอกเบี้จะต้องอยู่ที่ 7-8 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเป็นอย่างน้อย

คำถามก็คือต่อให้ปล่อยสินเชื่อในอัตรา 7-8 เปอร์เซ็นต์ ซัพพลายเออร์เต็มใจจะปล่อยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะความเสี่ยงสูงมาก เพราะถ้าเกิดผู้ใช้บริการในพม่าไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ เงินกู้ต่างๆ ส่วนใหญ่จะทำกันเป็นสกุลดอลล่าร์ และเงินของพม่ามีการอ่อนตัวเร็วมาก ค่าเงินจัสของพม่านั้นจะมีอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเปลี่ยนไปได้รวดเร็วมาก

อัตราในตลาดมืดกับอัตราที่มีการแลกเปลี่ยนกันจริงต่างกัน บางครั้งเป็น 10 เท่าเพราะฉะนั้นความเสี่ยง ของคนที่ปล่อยกู้นั้นก็ไม่แน่ใจว่า ปล่อยไปแล้วพม่าจะมีความสามารถใช้คืนได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่บอกคือซัพพลายออร์ซึ่งเป็นคนขายอุปกรณ์ คนขายวงจรสื่อสารจะต้องรับความเสี่ยงเข้ามาหาตัวเองถ้าจะต้องปล่อยสินเชี่อที่เป็นซัพพลายออร์เครดิตให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในพม่า

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ถือหุ้นบริษัทอะไรก็ตามจะต้องหาวิธีโอนย้ายความเสี่ยงของตัวนี้ จากเอกชนไปสู่กลไกอื่น เราจะเข้าใจกลไกนี้ได้ถ้าดูกลไกของเอ็กซิมแบงค์ของประเทศไทยที่ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับรัฐบาลพม่าคือกระทรวงคมนาคมของพม่า

สิ่งที่เอ็กซิมแบงค์ทำ เรื่องแรกคือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งไม่มีรายงานข่าวว่าต่ำกี่เปอร์เซ็นต์ กับสิ่งที่เอกชนต้องปล่อยกู้อยู่แล้วซึ่งอยู่ที่เอ็มแอลอาร์บวก  7-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ากู้จากรัฐบาลก็โอนความเสี่ยงออกเอกชนไปสู่รัฐ ถามว่าความเสี่ยงอยู่กับใคร อยู่กับเอ็กซิมแบงค์หรือไม่

เอ็กซิมแบงค์บอกว่าความเสี่ยงไม่ได้อยู่กับตัวเอง เพราะว่ากฏหมายเอ็กซิมแบงค์มาตรา 23 เขียนไว้ว่า ในกรณีที่เอ็กซิมแบงค์ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการธุรกิจตามนโยบายของรัฐหรือมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีชดเชยค่าเสียหาย แล้วเรื่องนี้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้วว่าให้ค้ำประกันให้กับเอ็กซิมแบงค์  เพราะฉะนั้นเอ็กซิมแบงค์ไม่มีความเสี่ยงเหลือ ความเสี่ยงหายไป ความเสี่ยงตกไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง ถ้าเอ็กซิมแบงค์ไม่สามารถได้เงินกู้คืนจากประเทศพม่า คนที่จะต้องเสียคือกระทรวงการคลัง ต้องเอาเงินมาใส่เอ็กซิมแบงค์ แล้วกระทรวงการคลังจะนำเงินมาจากที่ไหน ก็คงต้องล้วงเอาจากกระเป๋าประชาชนทุกคน

เรื่องที่ 2 เป็นประเด็นสำคัญถ้าพม่าจะกู้เองโดยไม่มีเงินกู้จากเอ็กซิมแบงค์ อัตราเงินกู้จะอยู่ที่เท่าไหร่ รัฐบาลไทยเองเวลาออกพันธบัตรอายุยาวๆ อายุ 20 ปี 30 ปี อัตราของไทยจะอยูที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพม่าจะกู้แบบเดียวกัน อัตราจะต้อง 2-3 เท่าขึ้นไปคือประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามีส่วนต่างเกิดขึ้นมา 15 เปอร์เซ็นต์

แค่ส่วนต่าง 15 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเงิน 600 ล้าน 15 ปี 12 ปี ก็มหาศาล แล้วเงินก้อนนี้เป็นผลประโยชน์โอนไปหาใคร มีข้อกล่าวหากันว่าจะมีการล็อกสเป็กกันเกิดขึ้นในโครงการนี้

เอกสารที่ออกมาตอนแรกโดยหนังสือพิมพ์มติชนบอกว่า ล็อกสเปกให้ซับพลายเออร์เฉพาะของไทย  แล้วระบุชื่อไปเลยว่าเป็นบริษัท ชินแซทเทอร์ไลน์ ต่อมาธนาคารเอ็กซิมแบงค์ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการล็อกสเป็กให้กับบริษัทแห่งนี้

แต่ข่าวระบุว่ามีการกำหนดเทคโนโลยีไว้ว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีความเร็วสูง เพราะฉะนั้นความหมายก็คือต่อให้ไม่มีการล็อกสเปกให้ซัพพลายเออร์รายใด รายหนึ่งเป็นการเจาะจง แต่มีการล็อกเทคโนโลยี คำถามก็คือมีเทคโนโลยีอื่นที่ทำได้หรือไม่ มีสารพัดที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันได้

เอ็กซิมแบงค์กับรัฐบาลไทยก็ออกมาบอกว่าเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องของพม่า พม่าต้องไปคัดเลือกกันเอง ไม่ใช่รัฐบาลไทย ประเด็นที่คิดว่าสำคัญคือเป็นเงินที่มีการอุดหนุนและค้ำประกันโดยรัฐบาลไทย เพราะฉะนั้นกระบวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อไปจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีอะไรก็ตามต้องมีความโปร่งใส ไม่ใช่ปล่อยตามใจพม่า โดยที่บอกว่าเราเคารพการตัดสินใจของพม่า

มีตัวอย่างชัดเจนอย่างกรณีของธนาคารโลก จะปล่อยสินเชื่อจะต้องมีเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ฉะนั้นจะยกเลิกโครงการ ฉะนั้นเห็นว่าคำกล่าวอ้างของรัฐบาลไทยนั้นไม่ได้สมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นวิธีการที่ถูกต้องคือ ไม่ผิดที่จะให้ผู้ประกอบการไทยได้ โดยที่ห้ามชาติอื่นเข้ามาแข่ง แต่ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการไทยหลายราย ไม่ว่าจะเป็นใช้เทคโนโลยีเอบีเอสแอล หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ในการเข้ามาแข่งได้

สิ่งที่น่าสนใจและน่าสังเกตุอีกกรณีหนึ่งคือ ลำดับเวลา การอนุมัติเงินกู้ของเอ็กซิมแบงค์หลังจากที่พม่าเลือกซับพลายเออร์แล้ว ลองนึกดูว่าเป็นอย่างไร โดยทั่วไปต้องกู้ก่อน ถ้าเคารพพม่าจริง ๆต้องให้พม่าเลือกซับพลายเออร์มาก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลพม่าได้เลือกชินแซทเทอร์ไรท์ เป็นผู้ให้บริการในวันที่ 30 กรกฏาคม 2547

เรื่องจากรัฐบาลไทยจึงส่งไปหาเอ็กซิมแบงค์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2547 คือ 4-5 วันหลังจากนั้น และภายใน 4 วัน เอ็กซิมแบงค์ก็อนุมัติเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ถามว่าถ้าไม่ใช่เป็นการล็อกซับพลายเออร์ หรือเป็นการล็อกเทคโนโลยีก็ตาม ทำไมจึงมีการรออนุมัติเงินกู้หลังจากที่พม่าเลือกซับพลายเออร์แล้ว

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะทั้งสิ้น ทั้งมุมของพม่าและมุมของประเทศไทย ใช้เงินของคนไทย รัฐบาลไทยค้ำประกันความเสี่ยง และพม่าก็ใช้เงินนี้มากู้ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะของทั้ง 2 ประเทศ จึงไม่มีเหตุที่เอ็กซิมแบงค์จะอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เปิดเผยสัญญาเงินกู้ไม่ได้ เรื่องนี้มีความจำเป็นที่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส

กรณีสุดท้าย คือ วิธีการลดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ ปัจจุบันที่บอกไว้จ่ายอยู่ที่ 15.5 เปอร์เซ็นต์ ใน ปี 2546 บริษัท ชินแซทฯ จ่ายให้รัฐ 580 ล้านบาท เป็นการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆทั้งสิ้น ซึ่งอัตราการแบ่งรายได้จะขึ้นไปถึง 22.5 % ในปี 2560-2564 เพราะฉะนั้นถ้าท่านเป็นผู้ประกอบการเอกชนจะเห็นว่าส่วนที่จะต้องจ่ายให้รัฐจะเพิ่มขึ้นใน 2 สาเหตุ 1.ตัวเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น 2.ฐานรายได้จะใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ทุกคนคงอยากจะทำก็คือลดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ และวิธีลดคงมีหลายวิธี เชื่อแน่ๆว่าวิธีการแปลงสัญญาสัมปทานคงเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง แต่วิธีหนึ่งซึ่งอาจจะดำเนินไปแล้วหรือไม่ผมไม่แน่ใจ คือวิธีที่อาจจะมีการตั้งบริษัทขึ้นมา เป็นบริษัทขายส่ง เรียกว่าเป็นบริษัท เนชั่นแนลเซอร์วิส ออฟโอเปอร์เรเตอร์ คือบริษัทที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายวงจรสื่อสารดาวเทียม สำหรับประเทศที่เป็นลูกค้าใหญ่ ของไทยจะมีลูกค้าใหญ่ 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย

ในกรณีของออสเตรเลีย มีการตั้งบริษัท ไอพีสตาร์ ออสเตรเลีย พีจีวาย และในของนิวซีแลนด์ มีบริษัท ชื่อ ไอพีสตาร์ นิวซีแลนด์ ทั้ง 2 บริษัทนั้นบริษัท ชินแซทฯถือหุ้นโดยผ่านไอพีสตาร์เกือบ 100 % พูดง่ายๆโดยหยาบ ๆคือ เป็นเจ้าของเดียวกัน

ประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตุ คือ ถ้ามีการตั้งบริษัทเหล่านี้มา มีความเป็นไปได้หรือไม่ 1.ปัจจุบันบริษัทพวกนี้มีการจำหน่ายวงจรไปล่วงหน้าแล้วอย่างน้อยประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่มีอยู่ ฉะนั้นรายได้ส่วนหนึ่งอาจจะเข้ามาแล้ว ถ้ารายได้ส่วนหนึ่งเข้ามาแล้ว รายได้เข้าไปที่ไหน เข้าไปที่บริษัท ชินแซท ฯหรือไอพีสตาร์ หรือเข้าไปที่บริษัทที่เป็นNHO คือบริษัทไอพีสตาร์ออสเตรเลีย และไอพีสตาร์นิวซีแลนด์ ถ้าเข้าไปตรงนั้นมีการคิดค่าการตลาดเพื่อตัวเอง หรือพูดง่ายๆ หาวิธีส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องส่งเงินให้รัฐหรือเปล่า

คือถ้าส่งเงินในอัตราขายส่งย่อมถูกกว่าอัตราขายปลีก บริษัทชินแซทฯเท่านั้นที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ เพราะฉะนั้นสัญญาที่บอกว่าส่วนเป็นแบ่งรายได้นั้นหักจากรายได้ก่อนที่จะหักค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ถ้าเกิดรายได้ที่บริษัทขายส่งคือพวกNHO ทั้งหลายที่ส่งให้กับบริษัท ชินแซทฯ ไม่เท่ากับส่วนที่ตัวเองได้มาจากลูกค้า ก็แปลว่าเงินที่จะส่งให้รัฐอาจจะมีส่วนหนึ่งหายไป  ส่วนตรงนี้บางทีอาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่บริษัทขายส่งต้องมีค่าการตลาดอยู่แล้ว เพราะต้องไปขายปลีกให้ลูกค้าต่อ เพราะฉะนั้นอาจมีหักค่าการตลาดหรือเปล่า ถ้ามีการหักค่าการตลาด ก็แปลว่ามีการเลี่ยงสัญญาหรือไม่ที่บอกว่าจะต้องส่งรายได้ให้รัฐก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ถึงแม้ว่าโดยตัวหนังสือบริษัทชินแซทฯเองไม่ได้หัก  ไปหักในขั้นตอนก่อนที่ก่อนจะมาถึงชินแซท หรือ  2.เป็นไปได้หรือไม่  เป็นเรื่องที่ทราบดีในวงการวิชาการว่า เมื่อมีบริษัทข้ามชาติตั้งอยู่ในหลายประเทศ จะมีลักษณะหนึ่งเกิดขึ้น คือ เงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขของบริษัทข้ามชาติบริษัทเดียวกันจะโอนกันไป โอนกันมา มีการหักค่าใช้จ่ายเกินจริงบ้าง น้อยเกินจริงบ้าง แล้วแต่ภาษีของแต่ละประเทศเพื่อหลบเลี่ยงภาษี

กรณีแบบนี้เรื่องภาษีไม่ได้เป็นประเด็นอีกต่อไป เพราะถ้าส่วนรายได้จากต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้วจากผลของบีโอไอ แต่ผลก็คือมีการโอนเงินกันไปมา เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐหรือไม่ แล้วรัฐจะยอมหรือไม่หากมีปรากฏการณ์เช่นนั้นอยู่จริง เพราะฉะนั้นในฐานะที่รัฐเป็นสเต็กโฮลเดอร์สำคัญของบริษัท รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างออกมา

ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นแบบไหน คิดว่าบริษัททำด้วยความชอบทำ แต่สิ่งที่รัฐต้องทำคือต้องตรวจสอบดูแล ต้องบังคับใช้ดูว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสัญญาหรือไม่ เพราะฉะนั้นโดยสรุปอยากจะยกคำพูดของท่านนายกทักษิณ

ท่านนายกทักษิณตอนที่ท่านไปประมูลโครงการโฟนริ้ง ในปี 2533 ท่านคิดว่าโครงการนี้ต้องประมูลอย่างน้อย 500 ล้านบาทขึ้นไป แต่ท่านประมูลไป 1,300 ล้านบาท ในขณะที่แพคลิ้งแชมป์เก่าให้เพียง 300 ล้านบาท ท่านจ่ายไป 1,300 ล้านบาท แล้วท่านบอกว่า”ความจริงผมเสนอไปแค่ 500 ล้านบาทก็ชนะขาดแล้ว แต่ผมมองว่าศักยภาพของเพจจิ้งสูงพอที่จะเสนอให้รัฐได้ถึง 1,300 ล้านบาท ดังนั้นหากยื่นแค่พอผ่านทั้งๆ ที่รู้ศักยภาพของธุรกิจนี้ดี ก็เท่ากับว่าผมเอาเปรียบรัฐ และผมคงจะไม่สบายใจเช่นนั้นต่อไป”

ผมก็คิดว่าอยากให้ท่านสบายใจ อยากให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่านไม่มีการเอาเปรียบรัฐ โดยที่ท่านจะต้องตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด

 

กล้านรงค์  จันทิก

อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ

 

ผมของต่อยอดในการขยายพลังการต่อต้านทุจริต เพื่อพิชิตหายนะ ประเด็นที่สำคัญในที่นี้ อยากสรุปสั้น ๆ คือ 1.การคอร์รัปชั่นทางนโยบายนั้น กฏหมายควบคุมถึง ในประมวลกฏหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งคุมทุกเรื่อง แต่ประเด็นที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่กฏหมาย แต่อยู่ที่ว่าเราจะสอบสวนถึงหรือเปล่า

ความสำคัญอยู่ที่ว่าทำอย่างไรถึงจะให้มีการชี้ข้อเท็จจริงออกมาให้ชัดเจนว่า หากมีกรณีของการกำหนดนโยบาย ที่มีเจตนาเพื่อทุจริตมาตั้งแต่ต้นนั้นถือว่าผิด เพราะหลักของกฏหมายอาญานั้นอยู่ที่การคิด

เมื่อคิดแล้วมีการตกลงใจ ตัดสินใจ ยังไม่ผิด แต่ถ้าเมื่อใดที่มีการตัดสินใจแล้วมีการตระเตรียม มีการลงมือกระทำผิด  ฉะนั้นถ้าพอร์ตเป็นจุดออกมาจะให้เห็นชัดเจนได้ว่าสิ่งที่คิดเป็นนโยบายนั้น คนที่คิด มีเจตนาทุจริต แสวงหาผลประโยชน์อย่างไร แล้วมีการกระทำเป็นขั้นตอนอย่างไร

สุดท้ายแล้วได้รับประโยชน์อย่างไรในทางเอกชน โดยที่ไม่ชอบก็ผิด ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นความสำคัญของนักวิชาการ

ผมมาในวันนี้เห็นหัวข้อ 2 เรื่อง และเป็นเรื่องของงานวิจัยในลักษณะของผลประโยชน์ซับซ้อน ซึ่งผิดกับการวิจัยอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องการทุจริตของกรมต่างๆ จึงอยากจะให้ผลของการวิจัย 2 ชิ้นนี้ ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องนี้ หรือไม่ได้อยู่เฉพาะที่ออกไปตามสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ หรือศึกษากันเฉพาะคนที่มีการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ผลการวิจัยตรงนี้ลงไปสู่ท้องถิ่น ลงไปสู่ประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรในระดับรากหญ้าได้มีโอกาสที่จะศึกษา ได้มีโอกาสที่จะมาวิเคราะห์ ได้มีโอกาสที่จะมาวิจารณ์และคุยกันเรื่องผลการวิจัยที่สำคัญๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ ให้ประชาชนได้รับทราบ ให้ประชาชนได้คิดในที่สุดประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจเองว่า ในชีวิตและอนาคตของเขานั้นจะเลือกทางเดินอย่างไร

ผมไม่อยากให้หยุดอยู่ตรงนี้ ถึงแม้ว่าจะมีหนังสือพิมพ์ ถึงแม้ว่าจะมีสื่อมวลชนทางโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าจะมีวิทยุก็ตามแต่ ประชาชนอาจจะอ่าน ฟังข่าว แต่ไม่มีสิ่งที่ทำให้ประชาชนมารวมกลุ่มแล้วนั่งวิเคราะห์กัน คุยกัน แล้วสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นในเรื่องของการทุจริตที่ซับซ้อนเช่นนี้เขาคิดอย่างไร สะท้อนออกมาเป็นความรู้สึกของคนทั่วประเทศ

ผมจึงอยากจะฝากเครือข่ายของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งมีอยู่มากมาย ไม่ใช่ดูเรื่องคอร์รัปชั่น หรือตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชั่น หรือเป็นหูเป็นตาอย่างเดียว แต่อยากจะใช้เครือข่ายที่มีอยู่ตรงนี้ลงไปสู่ประชาชนระดับรากหญ้า เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ได้มีการวิจารณ์ของประชาชนสะท้อนขึ้นมา และตรงนี้แหละคือการขยายพลังสุจริต พิชิตหายนะชาติอย่างแท้จริง

............................................