สัมมนาเรื่อง“วัฒนธรรมกระแสทุน”

สัมมนาเรื่องวัฒนธรรมกระแสทุน

โดย รศ.ดร.สมเกียรติ  ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

และอาจารย์สมชาย  ปรีชาศิลปกุล ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2547 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

รศ.ดร.สมเกียรติ ตั้งนโน

สิ่งที่อยากพูดวันนี้ คือวัฒนธรรมทางสายตาในวัฒนธรรมกระแสทุน อยากชี้ให้เห็นว่าการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในวัฒนธรรมนั้นมีกระบวนการหรือวิธีการอย่างไรบ้าง

ขอเริ่มใน 2 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม บริบทของการบริโภคในปัจจุบัน ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องกระบวนการทำงานของวัฒนธรรมทางสายตา ภาษาอังกฤษขณะนี้นิยมกันมากใช้คำว่า Visual Culture

ส่วนแรกขบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมหรือในการบริโภคมีทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1.Production คือกระบวนการผลิต 2 . การกระจายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาสำเร็จแล้ว เรียกว่า Distribution  3 ผู้บริโภค คือ Consumption

ขบวนการที่เริ่มตั้งแต่ Production,Distribution,Consumption เป็นขบวนการที่ไม่ได้ผลิตเพียงแค่รอบเดียว เช่น กางเกงยีนส์ 1 ตัว เราไม่ได้ซื้อตัวเดียว แต่จะซื้อตัวที่ 2 ตัวที่ 3 และตัวที่ 4  ถ้าเป็นรถยนต์ พอมีเงินมากหน่อยก็ใช้คันที่ 2 คันที่ 3 ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะยังใช้ได้อยู่ก็ตาม แต่ว่ากลไกต่างๆจะทำให้เกิดการกระจาย หรือการบริโภคหลายๆ รอบ และจะเก่งมากจะปั่นกระบวนการ Production, Distribution และConsumption ให้เร็วขึ้น และเร็วขึ้น

คราวนี้หากเป็นห่วงว่าผู้ผลิตจะนำทรัพยากรมาจากไหน หากมีการผลิตใหม่อยู่เรื่อยๆจะพอเพียงหรือไม่  มีคนเคยบอกไว้ว่าหากเราจะบริโภคแบบอเมริกันสแตนดาร์ด โลกใบนี้ต้องการทรัพยากรแบบนี้อีก 4  เท่า หรือเราอาจจะต้องการดาวเคราะห์แบบโลกนี้อีก 4 ใบ จึงจะเข้าถึงอเมริกันสแตนดาร์ดได้

นี่คือผลของมันในวัฒนธรรมกระแสทุน

ส่วนที่ 2 วัฒนธรรมทางสายตาเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ หรือการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคนั้นเป็นวัฒนธรรมแบบ Text  เป็น Text Culture คือใช้ตัวหนังสือ เพราะคิดว่าสอดคล้องกับการเดินทาง

สมัยก่อนการเดินทางมักจะใช้รถจักรยาน ใช้รถมอเตอร์ไซด์และเดิน เพราะวัฒนธรรมแบบ Text Culture เหมาะสมกับการเคลื่อนที่แบบช้าๆ แบบนั้น

แต่เมื่อมีการผลิตรถยนต์ขึ้นมา ผลิตมอเตอร์ไซด์ที่มีความเร็วสูงขึ้นมา เป็นสังคมที่เรียกว่า Speed เป็นสังคมที่ใช้ความเร็ว การสื่อสารโดย Text Culture ไม่ได้แล้ว ไม่สามารถอ่านป้ายโฆษณาที่มีรายเอียดมากๆได้อีกต่อไป

ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปที่เป็นภาพๆเดียวที่มองเห็นแล้วสามารถตีความแล้วเข้าใจ เช่น โฆษณาแชมพู จะไม่บอกรายละเอียดอีกต่อไป แต่จะพรีเซ้นท์เป็นรูปของผู้หญิงซึ่งมีผมสลวย ดำและเงางาม แล้วอาจจะมีแบลคกาวอะไรอีกนิดหน่อย ทั้งหมดเพื่อที่จะสื่อกับผู้บริโภคให้ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีระหว่างที่ขับรถผ่าน

หรือหากผู้ผลิตจะโฆษณารถยนต์ รายละเอียดที่ว่าเครื่องยนต์มีแรงม้าขนาดไหน ไม่มีใครทำกันแล้วทำแค่รูปทรงของรถยนต์ แล้วผ่ารถยนต์ให้ดู พอผู้บริโภคขับรถผ่านไปแว็ปเดียวก็ประทับใจ เป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ ที่เปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของสังคม หรือบริบทของสังคมที่ค่อยๆเคลื่อนตัวไป กลายเป็นวัฒนธรรมที่เรียกว่าวัฒนธรรมทางสายตา

Visual Culture จริง ๆ แล้วถ้าผู้บริโภคจะรู้เท่าทันโฆษณา ทันเกมการโฆษณา หรืออยากจะวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ จำเป็นต้องรู้ว่าเงื่อนไขของการโฆษณา ว่าจะวิเคราะห์ได้อย่างไร

ปัจจุบันการโฆษณาเป็นศาสตร์หนึ่งเรียกว่า Visual literacy หมายถึงการอ่านรากให้ออก หรือเป็น Image reading ไม่ใช่แค่มองเห็นภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าแล้วก็ผ่านไป ต้องอ่านให้ออกด้วย แล้วสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญกับบริบททางวัฒนธรรม

มาถึงวิธีการอ่านโฆษณา ต้องใช้หลักการซึ่งประยุกต์มาจากนักภาษาศาสตร์ที่ชื่อว่า โซโซ นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส  ได้แบ่งการวิเคราะห์ทางด้านภาษาออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกเรียกว่า Signifier ซึ่งถ้าเป็นภาษาเท่ากับ Word หรือว่าคำ อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า Signified เท่ากับ Consist ของคำนั้น เช่น คำว่า ค้อน

คำว่า”ค้อน”จะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ว่าค้อนคือวัตถุที่มีน้ำหนัก มีด้ามจับ เอาไว้สำหรับตอกตะปู ค้อนคำเดียวไม่มีความหมายจนกว่าจะไปรวมกับConsist ของคำว่าค้อน จึงจะรู้ว่าใช้คำว่าอะไร มีความหมายว่าอะไร ตรงนี้แหละที่เรียกว่า Signifier กับ Signified

มาถึงนักทฤษฏีทางด้าน Visual Culture บ้าง ได้มีการประยุกต์คำว่า Signifier เข้ากับคำว่า Image คือภาพ ส่วน Signified นั้นเท่ากับ Meaning หรือว่าคอนเซ็ปต์ของภาพนั้น

คราวนี้ไม่ต้องนึกถึงคำแล้ว ไปนึกถึงรูปค้อนเลย พอเห็นค้อนจะรู้ทันทีว่าค้อนทำหน้าที่อะไร ภาพของค้อนในสมองกับความหมายของคำว่าค้อน

ทั้งหมดคือวิธีการตีความแบบคร่าวๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้วภาพแต่ละภาพที่ไม่สามารถตีความหมายได้ง่ายอย่างนี้ แต่ละภาพมีความหลายๆอย่าง บางครั้งทำหน้าที่เป็นดัชนีชี้ ที่เรียกกันว่า Index บางทีทำหน้าที่เป็น Icon  บางทีทำหน้าที่ Symbol

ยกตัวอย่างหากเราเห็นคนแก่ๆ ใส่แว่น หน้าตาใจดี ใส่ชุดสีขาวยืนอยู่หน้าร้าน  หรือกัปตันแซนเดอร์ ตัวนี้เป็นดัชนี ถ้าไปห้างสรรพสินค้าใดก็ตามเราไม่มีทางเห็นร้านเคเอฟซี แต่พอเห็นกัปตันแซนเดอร์ รู้ทันทีเลยว่าที่นี้ต้องมีไก่กินแน่ๆ ตรงนี้เรียกว่า Index หรือว่าดัชนี ไม่ต้องมีตัวหนังสือบรรยายอีกต่อไป แค่มีรูปคนแก่ หน้าตาใจดี ใส่ชุดขาวตั้งอยู่บริเวณไหนก็ได้ ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าที่นั้นมีไก่บริโภค

อันที่ 2 ถ้าทำหน้าที่เป็น Icon ธรรมดาไม่ค่อยมีความหมายอะไร เช่น ป้ายหน้าห้องน้ำผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งมักจะเห็นเป็นรูปผู้หญิง รูปผู้ชาย สื่อสารได้ง่ายหน่อย

ในความหมายที่ 3  ภาพทำหน้าที่เป็น Symbol ตรงนี้ยาก เช่น เวลาเห็นกุหลาบสีแดง อาจจะไม่ได้หมายถึงดอกไม้ที่สวยงามอีกต่อไป Meaning ของดอกกุหลายสีแดงคือความรัก หรือถ้าเกิดชูวิทย์ ถือค้อนไว้ในมือในการทำโปสเตอร์ ก็สามารถตีความหมายได้มากกว่าอย่างอื่นๆ

แต่ถ้าเป็นรูปคุณชูวิทย์กับผู้หญิงรู้เลยว่าเป็นการสร้างมายาภาพบางอย่าง แต่ถ้าคุณชูวิทย์ ถือค้อนแล้วตีเอาไว้บนมือ สามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องมีคำพูดก็ได้ นี่คือสัญลักษณ์

จะเห็นว่าความซับซ้อนของภาพ ไม่ใช่ภาพตรงๆ แต่เป็นภาพที่สื่อความหมายที่มากกว่านั้น

คราวนี้มาดูว่าโฆษณานั้นทำงานอย่างไง นักโฆษณานำภาพมาทำงานอย่างไรที่ทำให้ Distribution, Consumption เกิดขึ้น อยากจะใช้กระบวนวิเคราะห์การสื่อสารแบบ เดวิดส์ คอร์สเนอร์ ที่บอกไว้ว่าจริงๆ แล้วขบวนการของโฆษณานั้นเป็นตัวส่งผ่านพอสมควร อันดับแรก คือ message

message คือ Sender คือ ตัวผู้ส่งสาร

อันดับที่ 2 คือ  Channel  นักโฆษณาใช้สื่อชนิดไหน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ขนาดใหญ่ หรือใช้ภาพโฆษณาในทีวี Channel ไหน

อันดับที่ 3 คือ Receiver จะเห็นว่า กลไกของการโฆษณา จาก Sender ไปถึง Receiver ต้องผ่าน Channel คือ สื่อ แต่ที่สำคัญคือทุกอย่างไม่ง่ายอย่างนั้น message ของโฆษณาก่อนที่ Sender จะส่ง Sender จะทำหน้าที่ encode หรือว่าใส่รหัสบางอย่างที่มีความหมายเข้าไป ก่อนจะไปถึง Channel

ระหว่าง Sender กับ Channel นักการโฆษณาจะหยิบมาดูก่อนว่า message ตัวนั้นเขาอยากจะสร้าง ideal อะไรให้เกิดขึ้น หรืออยากจะสร้าง mythology อะไรให้เกิดขึ้น สร้างมายาคติบางอย่างเกิดขึ้น หลังจากที่ส่งไปถึง Channel แล้ว Receiver จะทำหน้าที่อ่านภาพนั้น เหมือนกับเป็นนักอ่าน เป็น Reader

ต่อมาดูในส่วนของ Receiver ต้องมีโค้ด หมายถึงถอดรหัสที่นักการโฆษณา Encode มา จะทำอย่างไร

ทงหมดคือภาพรวมของกระบวนการที่เรียกว่า Visual Culture ว่าทำงานอย่างไร หรือว่าขบวนการสื่อมีขั้นตอนในการนำเสนออย่างไรบ้าง

คราวนี้จะวิเคราะห์เข้าไปทีละส่วน ว่าตัว Sender จริงๆแล้วไม่ได้สารบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นบุคคลบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นอะไรในอุดมคติ  Senderเต็มไปด้วยBackground

อยากจะแยกให้เห็น สมมติว่าผมเป็นคนส่งสาร ต้องการส่งสารไปถึงปลายโต๊ะ ผมไม่ได้ส่งสารอะไรบริสุทธิ์หรอก เพราะ ผมมี Background ของตัวเองก่อนที่จะEncode เข้าไป ก่อนที่จะไปถึงผู้รับที่ปลายทาง

Sender คือคนๆ หนึ่งซึ่ง Background ที่คล้ายๆกันทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเขาอยู่ท่ามกลาง Politics แบบไหน ในการดำเนินชีวิต เขาอยู่ท่ามกลาง Economics แบบไหน เขามีฐานคิดทางด้านเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์แบบไหน

ต่อมา คือ Culture Society หรือว่า Contexts ของนักการโฆษณาในเชิงวัฒนธรรม เป็นแบบไหน นี่คือตัว Sender ในเชิง Background นอกจากนี้ในแง่ของความเชื่อทางจริยธรรมของนักการโฆษณาก็ยังมีอยู่

นี่คือภาพคร่าวๆ ก่อนที่จะมีการ Encode สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะถูกใส่เข้าไปโดยที่ผู้ผลิตงานโฆษณาอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้   ที่กล้าพูดแบบนี้เพราะว่าถ้าผู้บริโภคมีโอกาสได้สัมผัสสื่อในต่างประเทศซึ่งมีค่านิยม หรือ Value ที่ต่างจากประเทศไทย มี Philosophy ต่างจากประเทศไทย มี Politics ต่างจากประเทศไทย หรือมีความคิดทางวัฒนธรรมซึ่งต่างจากประเทศไทย สื่ออย่างเดียวกันอาจจะถูกแปลงไปเป็นอีกอย่างหนึ่งได้

ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของความพยายามสื่อเรื่องใบมีดโกนชนิดนึ่งซึ่งใช้โกนขนรักแร้ บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ได้ว่าจ้างบริษัทโฆษณาอเมริกันที่เปิดกิจการอยู่ในประเทศญี่ปุ่นให้ทำโฆษณาเกี่ยวกับใบมีดโกนชนิดนี้ ปรากฏว่าบริษัทอเมริกันแห่งนั้นได้คิดโฆษณาชิ้นนี้ออกมาเป็นรูปแบบการ์ตูนที่น่ารัก เป็นรูปปลาหมึกใช้นวดโกนขนรักแร้ของตัวเอง แล้วไปนำเสนอให้กับผู้ผลิตใบมีดโกนซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นดู

ปรากฏว่าคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ผลิตใบมีดโกนนั้นตกใจมากกับภาพที่ผู้ผลิตโฆษณานำไปฉายให้ดูในวันนั้นเพราะว่าวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เรียกนวดปลาหมึกว่า Hand หรือว่าแขนแบบอเมริกัน แต่เรียกว่า Leg หรือว่าขา นั่นแสดงว่าโกนอะไร

วันนั้นคณะกรรมการตกใจมาก บอกว่าแบบนี้นี่หรือที่จะขายให้กับคนญี่ปุ่น ตรงนี้คือวัฒนธรรมที่ต่างกัน

เมื่อ Background ต่างกัน พอจะEncode อะไรลงไปก็Encode ผิดเพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศนั้น  นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า Sender สำคัญขนาดไหน ไม่ใช่คนบริสุทธิ์เปล่าๆ ไม่มี Background ไม่มีเงื่อนไข

ประเด็นต่อมาที่ที่ควรระมัดระวังกว่านั้นคือว่า ตัว Sender ไม่รู้ว่าเจตจำนงค์ของตัวเองที่นำเสนอไปนั้นพลาด  ตรงนี้เป็นศัพท์เทคนิคนิดหนึ่ง เรียกว่า intention propriety หมายถึงความผิดพลาดในเจตนารมณ์ เช่น Sender บางคนได้ค่านิยมจากสังคมในการละเมิดและกดขี่ผู้หญิงโฆษณาที่เสนอออกมาจะมีลักษณะที่ละเมิดและกดขี่ผู้หญิงโดยที่เขาไม่รู้ตัว  และลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยค่อนข้างเยอะมากแล้วจนคนไทยรู้สึกสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติโดยที่ไม่รู้ตัว แบบนี้เรียกว่า intention propriety หมายถึง เจตนาแบบหนึ่งแต่จริงๆ แล้วการนำเสนอนั้นผิดพลาดเนื่องจากว่ารับเอาค่านิยมหรือ Value บางอย่างไปใช้โดยที่ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิสตรี

ประเด็นต่อที่มาที่อยากจะกล่าวถึง คือวิธีการ Encode ส่วนใหญ่ของ Sender จะ Encode อะไร สิ่งที่ผู้ส่งสารอยากจะEncode มากๆ คือการสร้าง ideal I หมายความถึงการสร้างฉันในอุดมคติให้เกิดขึ้น

ลองตรวจสอบโฆษณาดู โฆษณาส่วนใหญ่จะชักชวนไปสู่ความเป็นฉันในอุดมคติ เช่น ฉันจะต้องมีผมดำสลวย เงางาม และตรง หรือฉันจะต้องมีรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งซึ่งขับแล้วรู้สึกว่าฐานะหรือ Status ของฉันดีขึ้น หรือฉันจะต้องมีเครื่องแต่งกายที่ดูแล้วสง่า เป็นอุดมคติ โฆษณาส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้

หากวิเคราะห์แบบลาคาน หมายถึงว่าเป็นภาพในอุดมคติ แต่ถ้าพูดแบบเดวิด ลอยด์ซึ่งเป็นสายศาสนา จะบอกว่าวิธีการ Encode ของข้อมูลเหล่านี้เขาใช้ความบกพร่อง หรือ Lack ของคนมาเสนอ หมายความว่าเรายังขาดสิ่งเหล่านั้นอยู่ ผมเรายังไม่ดำพอ รถยนต์ที่ใช้แรงม้ายังไม่สูงพอ หรือไม่เปรียวเท่า อะไรต่างๆ คือ ความพร่อง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน

ความพร่องคือความไม่มี ถ้าจะมีคือเป็นอุดมคติ โฆษณาสร้างสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำให้กระบวนการDistribution เกิดขึ้นโดยการสร้าง Ideal I ฉันในอุดมคติให้เกิดขึ้น แล้วพยายามให้คำเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องใหญ่ที่ใช้โฆษณานั้นมีไม่กี่เรื่อง

อันดับแรกคือ สร้าง Ideal I แบบคนที่มี Power คุณมี Power มากขึ้น อาจจะเป็นความเร็วหรือ ความแรงก็ได้ หรือความมีอำนาจตรงๆก็ได้

อันดับที่สองที่นักโฆษณาอยากจะสร้างคือ Wealth ความมั่งคั่ง คือ เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะดูร่ำรวย ดูมั่งคั่ง ดูมีฐานะ

อันดับที่ 3 ดู Status ดีขึ้น หมายความว่า คุณอาจจะเป็นคนธรรมดา หากใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะดูสถานภาพทางสังคมดีขึ้น

การมีสถานภาพดีในสังคมคืออะไร คือการได้รับบริการจากคนอื่นอย่างสุภาพ นอบน้อมมากขึ้น คนทุกคนจะไม่บริการคนข้ามถนนเหมือนกับคนที่ใส่สูตร คนทุกคนจะไม่บริการคนใส่กางเกนยีนขาดที่ไม่ใช่ลีวาย แต่ถ้าเป็นลีวายจะได้การบริการที่ดีแม้จะขาดก็ได้ เพราะกำลังอยู่ในความนิยม

อันดับที่ 4 คือ สร้าง Sex appeal ตัวนี้สำคัญเพราะสิ่งที่ทุกคนอยากจะไปถึงอย่างหนึ่ง หรืออุดมคติอย่างหนึ่งคือเป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม เป็นที่ดึงดูดใจอย่างยิ่ง ทุกคนฝันเพราะว่ามีความพร่อง

อันดับสุดท้าย  Good nature อยากจะสร้างภาพว่า เป็นคนที่มี Good nature เช่นชนชั้นกลางคนหนึ่งยอมควักเงินหมดกระเป๋าเพื่อช่วยช้างเร่ร่อนในกรุงเทพฯ

นี่คือสิ่งที่นักโฆษณาอยากจะ Encode จะมีไม่กี่อย่าง แล้วจะวนเวียนอยู่แถวนี้ ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่เห็นถ้าไม่ใช่เรื่อง Status จะเป็นเรื่อง Sex appeal โดยเฉพาะเรื่อง Sex appeal จากการที่เดินทางมาหลาย 10 ปี ประเทศที่คู่ขี่กันเรื่องความดึงดูดทางเพศในโฆษณา มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ อเมริกากับเมืองไทย มีลักษณะคล้ายๆกัน คือ เล่นกับเรื่อง Sex appeal เล่นกับเรื่องความต้องการทางเพศ

และประเทศที่ 3 ที่จะติดตามมาคือเวียดนาม เพราะเวียดนามนำโฆษณาของไทยไปใช้ เช่นโฆษณาแชมพูหน้าตาคนไทยหมด แต่พูดภาษาเวียดนาม ทั้งหมดคือสิ่งที่มีอยู่ในสังคมบริโภค

ตัวสุดท้ายที่อยากกล่าวถึง คือ Receiver ถ้าคุณเป็นคนรับธาตุเหล่านั้นมาทั้งหมด ideal I ทั้งหมดจะถูกฝังเข้าไปในตัวคุณ แล้วแต่ละคนจะมี ideal I ไม่ใช่อันเดียว คนหนึ่งมีหลายอัน ถ้าคนเดียวมี ideal I เพียงหนึ่งอัน คนๆนั้นจะบริโภคน้อย นักโฆษณาจึงพยายามสร้าง ideal I ในคนๆ หนึ่งหลายๆ ideal I แบบนี้แหละเฟรชเดอร์ลิก คิมสัน ซึ่งเป็นpost modern ของทุนนิยมตอนปลายวิเคราะห์ไว้ว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่าบุคลิกแตกแยก คือเป็นโรคจิตเพศชนิดหนึ่งของสังคมบริโภค

คนในยุคนี้เป็นโรคจิตเพศอย่างหนึ่ง คือว่ามีบุคลิกอยากเป็นหลายอย่าง เช่น มี Statusที่ดี มี Sex appeal มี Good nature มีอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นอุดมคติฝั่งอยู่ในตัวหมด

ideal I ของคนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงที่เป็นวัยรุ่น Sex appeal จะนำหน้า  พอเริ่มเข้าวัยกลางคนเริ่มสนใจ Status แล้ว ฉะนั้นจริงๆ ตัวเราที่บอกว่ามีอัตลักษณ์นั้น อัตลักษณ์ของแต่ละคนไม่แน่นอน เปลี่ยนไปตามวัย เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เปลี่ยนไปตามหน้าจอโฆษณาที่เห็น สิ่งนี้”คิมสัน”เรียกว่าเป็นอาการจิตเพศที่เกิดกับทุกคน  ที่เกิดกับบริบทของสังคมบริโภค นักโฆษณาจำเป็นต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่สร้างสิ่งเหล่านี้ distribution กับ Consumption จะหยุด

อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ถ้าเรามีกางเกงยีนตัวหนึ่งที่มันไม่ขาดแต่มันเป็นลีวาย แต่ถ้าอยากจะให้มันเปรี้ยวกว่านั้นเอาขาดนิดหน่อย แล้วตอนนี้สไตล์ออกแนวหลวม ๆ ซึ่งจริงๆแล้วสไตล์หลวมเป็นสไตล์คนคุก คือคนผิวดำในอเมริกาใส่กางเกงยีนหลวมเพราะเขาติดคุก เขากินข้าวน้อย ท้องจึงยุบกางเกงก็เลยหย่อนลงมา แต่ว่าสไตล์คนคุกนี่แหละที่ทุกวันนี้กลายเป็นที่นิยมมากในกลุ่มฮิปพอป หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากางเกงหลุดตูด

ผมเพิ่งกลับมาจากสต๊อกโฮม ที่นั้นลีวายล่าสุดคือ Loose หรือหลวม ซึ่งมีที่มา แล้วสังคมไทยก็เลียนแบบ ideal ของวัยรุ่นตอนนี้คือเกเรหน่อยๆ มันเท่ดี ก้าวร้าวนิดๆ ไม่ใช่สุภาพ ฉะนั้นสไตล์ที่เห็นนั้นสร้างมายาคติคือกางเกงหลวม เลวนิด ๆ แต่ว่าเป็นคนดีนะ ประมาณนี้ คือบุคลิกแตกแยก ฉันไม่ใช่ไอ้ทึ่ม ฉันฉลาด แต่ฉันก็เลวหน่อยๆ มันน่ารักดี ประมาณนี้

ถ้าเป็นนักบริโภคแบบ Passive ก็จะเป็นแบบนี้มี ideal I เยอะแยะ แต่ถ้าเป็นนักบริโภคแบบ Active คือ อีกด้านหนึ่ง เราจะเริ่ม Decode ว่า What is the story behind the Image อะไรเป็นเรื่องราวที่อยู่ข้างหลังภาพนั้น จะเริ่มคิดว่าอะไรมันอยู่เบื้องหลังสิ่งที่นักการโฆษณาต้องการเนำเสนอ

วิธีการดูคือ ดูซิว่ามี Signifier ไหม แล้วดูซิมี Signified ไหม เรื่อง Image เป็นอย่างไร Meaning เป็นอย่างไร อย่าหยุดแค่นั้น ต้องดู mythology ของโฆษณาด้วยว่ามีเป้าหมายแฝง มีนัยยะที่เป็นเทพนิยาย ที่เล่าให้เราฟังหรือไม่  สิ่งที่จะต้องดูมากกว่า Signifier, Signified คือ mythology ของโฆษณาด้วยว่าสร้างมายาภาพอะไรเกิดขึ้น เล่าเรื่องอะไรให้ผู้บริโภคฟัง

ต่อมา คือว่า นอกจากจะวิเคราะห์โฆษณาด้วยวิธีการ Signifier, Signified และ mythologyแล้ว อยากจะให้สูตรอีกอย่างหนึ่งในการตรวจสอบ คือคำว่า Crash ตัวนี้เราจะใช้ในการตรวจดูว่าภาพที่เห็นนั้นมีเรื่องชนชั้นไหม

ตัว C คือ class มีเรื่องของชนชั้นอยู่ไหม  อันที่ 2 คือ R หมายถึง Relapse มีการดูหมิ่นเชื้อชาติไหม มีการแยกขาวแยกดำ แยกเหลืองไหม ตัวนี้อย่าไปตีความตายตัว

ตัวที่ 3 คือ a หมายถึง age อายุ เอาอายุมาเล่นไหม มีการละเมิดสิทธิคนแก่และเด็กไหม ตัวที่ 4 คือ S มาจาก Sex หรือว่า gender มีการนำเรื่องเพศหรือสิทธิทางเพศมาเล่นหรือไม่

ตัวสุดท้ายคือ H เป็นอะไรที่หลวม ๆ หมายถึง Handicapped นำเรื่องของผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ คนที่ไปไม่ถึงดวงดาวมาเล่นหรือไม่ ตัวนี้อาจจะเปรียบเป็น E ก็ได้ คือคำว่า Emveranan มาเล่นหรือไม่ ถ้าใช้หลักการนี้  นำ Crash เข้าไปตรวจสอบ จะเริ่มมองเห็นโฆษณาหลายชิ้นที่น่าสนใจ

พูดในเชิงวิชาการ ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ ผลิตรถแวนยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งกว้างมาก โฆษณาชิ้นนี้คิดว่าทุกคนเคยเห็นคือว่า มีคนมากกว่าที่จะนั่งในรถคันเล็กๆ จึงมีการเสี่ยงทายกันว่าใครจะได้นั่งบ้าง ปรากฏว่าคนที่อยู่บนหลังคารถ 2 คน คือคนแก่และเด็ก

คนแก่และเด็กคืออะไร คือคนที่ทำการผลิตได้น้อยในสังคมไทย คนที่ไร้ประโยชน์ ในความรู้สึกของผมโฆษณาชิ้นนี้หยาบคาย เด็กมีแต่บริโภค คนแก่ก็บริโภคอย่างเดียว ฉะนั้นคนเหล่านี้แม้จะเสี่ยงทายทำไมต้องไปตรงกับคนแก่และเด็ก

ที่พูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร  คือ 2 คนนั้นนั่งบนหลังคารถซึ่งในความเป็นจริงแล้วอันตรายมากแต่ Good nature ของเราบอกว่าจะต้องดูแลเด็กและคนแก่  แต่จริงๆ แล้ว Sender นั้นส่งอะไรมาให้เรา  ถ้าเอา Crash ไปจับจะเห็นอีกเรื่องหนึ่ง

มีโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ  เริ่มต้นด้วยการสร้างวาทกรรมที่น่าเชื่อถือ หมอเป็นคนพูด เล่าเรื่องให้ผู้บริโภคฟัง เป็นโฆษณาของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  หมอพูดว่า”ผู้หญิงคนหนึ่งต้องการคลอดก่อนกำหนด มาขอให้หมอทำคลอดให้ พอคลอดลูกเสร็จ ผู้หญิงคนนี้ก็หอบลูกหนีพยาบาลออกมาจากห้องพักแล้ววิ่งไปหาสามีที่นอนป่วยอยู่ในอาการกำลังจะตายอีกห้องหนึ่ง

จากนั้นสามีก็น้ำตาล่วงที่ได้จับมือลูกคนแรกที่ไม่สมบูรณ์เพราะว่าคลอดก่อนกำหนด แต่ตัวเองอยากเห็นเพราะว่ากำลังจะตายแล้ว ฉะนั้นผู้หญิงจะต้องพลีทุกอย่างเพื่อสิ่งสุดท้ายของผู้ชาย คือยอมคลอดก่อนกำหนดโดยไม่คำนึงถึงการกระทำเช่นนั้นจะเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน เด็กที่คลอดออกมาอาจจะพิการก็ได้

แต่สิ่งที่ถูกนำเสนอออกมา เพียงแค่ขอให้พ่อได้จับมือลูกเพราะเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนตาย เพราะว่าฉัน

เป็นผู้ชาย นี่คือคำถามใหญ่มาก แล้วคนที่เล่าเรื่องนี้น่าเชื่อถือมากเพราะเป็นหมอ มี Statusในสังคมที่สูงที่สุด

ถามว่า ทำไมไม่ใช้พยาบาลเล่าเรื่อง ทำไมไม่ใช้บุรุษพยาบาลซึ่งอยู่หางแถวเล่าเรื่องนี้  ทำไมต้องใช้หมอในการเล่าเรื่อง เพราะว่าหากเป็นบุคคลอื่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะหมดความน่าเชื่อถือ

ก่อนตายชายคนนั้นยังสั่งไว้ในโฆษณาชุดนี้อีกว่า”ลูกดูแลแม่ให้ดีๆ นะ”ตรงนี้แหละที่แสดงให้เห็นว่าย้อนกลับไป 200 ปีเลย คือ ผู้หญิงเป็นทาสตลดชีวิตของผู้ชาย โดยเฉพาะในสังคมอินเดียจะเห็นได้ชัด ผู้หญิงไม่มีโอกาสเป็นอิสระในชีวิต ตอนเด็กเป็นภาระต่อพ่อแม่ พอโตขึ้นเป็นภาระของสามี แก่ตัวไปเป็นภาระของลูกหลาน โฆษณาชิ้นนี้ดูแล้วซึ้งจริงๆ แต่มันแฝงการกดขี่เพศหญิง เพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอที่ต้องมีคนดูแลตลอดชีวิต นี่คือสิ่งที่บอกว่ามันมาแบบที่เราไม่รู้ตัว

ทั้งหมดคือภาพคร่าวๆ ที่พยายามจะให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางสายตานั้นไม่ใช่อะไรที่เราเห็นแล้วเราเข้าใจแบบ passive เมื่อไหร่ก็ตามที่ Decode จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนว่าสังคมแบบนี้กระตุ้นให้เราบริโภค สร้างค่านิยมบางอย่างโดยที่เราก็ไม่รู้ตัวว่าเราตกอยู่ในค่านิยมบางอย่างที่แฝงฝั่งมากับภาพโฆษณาแบบนั้นในวัฒนธรรมที่ไม่มีการตรวจสอบ

 

สมชาย  ปรีชาศิลปกุล

ผมจะลองเอาเครื่องมือส่วนหนึ่งมาอ่านนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล แล้วพยายามลองประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนสำหรับคนไทยในปัจจุบัน

ในช่วง 4 ปีของรัฐบาลที่นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ เราได้เห็นโครงการเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการโอท็อป 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ครัวโลก กระทั่งการจูงใจให้ข้าราชการออกจากงาน นโยบายต่างๆ เหล่านี้น่าจะตั้งคำถามอย่างมาก คือ ความคิดเบื้องหลังของโครงการต่างๆ คืออะไร ตรงนี้เป็นคำถามที่สำคัญ โครงการแบบนี้เกิดขึ้นมาบนเจตจำนงค์ เจตนาแบบไหน  ในความคิดของผมนั้นคิดว่าถ้าเราดูโครงการต่างๆ เหล่านี้จะเห็นว่าทั้งหมด คือโครงการที่พยายามจะเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นเถ้าแก่

ขณะเดียวกันก็พยายามจะแปรลูกจ้าง ข้าราชการให้เป็นพ่อค้า ความหมายคืออะไร นี่คือการสร้างความหมายหรือมุมมองของโลกในการดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างไปจากเดิม หมายความว่าวิถีการดำเนินชีวิตแบบเดิมไม่เพียงพอ ชาวบ้านจากเดิมที่เคยทำเกษตรกรรมแบบหยั่งชีพ เคยทำงานอีกแบบหนึ่งไม่เพียงพอแล้วในโลกสมัยใหม่ที่นำโดยคุณทักษิณ ตรงนี้ไม่ใช่ชีวิตที่น่าอภิรมย์เลย

ในทรรศนะของผมคิดว่า โครงการอะไรต่ออะไรเหล่านี้เป็นโครงการที่ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบเก่านั้นไม่น่าอภิรมย์แล้ว ชีวิตที่น่าอภิรมย์คือชีวิตที่ต้องสร้างความมั่งคั่งด้วยเงินตราขึ้น ซึ่งอาจจะรวมเรื่องการเสี่ยงจากหวย จากหุ้นด้วย ชีวิตแบบนี้ต่างหากที่มั่งคั่งและสมบูรณ์มากกว่า

นี่แหละคือการสื่อความหมายที่ซ่อนมากับโครงการนานาชนิดของรัฐบาล ถ้าประชาชนรับสื่อ ได้ยินโครงการนี้บ่อยๆ แล้วพูดถึงความสำเร็จของโครงการนี้อยู่เรื่อยๆ มันหมายถึงชีวิตที่ควรจะเป็น ชีวิตคนไทยควรจะเป็นแบบนี้แหละ ชีวิตแบบเดิมไม่ควรทำแล้ว

ผมเป็นข้าราชการ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีโครงการจูงใจให้ข้าราชการลาออกจากงาน ถ้าใครลาออกก่อนเกษียณอายุจะได้เงินเดือน 7 เท่า ของเงินเดือนสุดท้ายคูณเข้าไป พร้อมกับบำเหน็จ บำนาญตามปกติ แค่นี้ก็ดูชีวิตของข้าราชการก็ดูไม่น่าอภิรมย์เสียแล้ว คือ ความพยายามแปรข้าราชการให้เป็นพ่อค้าเช่นเดียวกันประชาชนคนอื่นๆ

นี่แหละคือชีวิตแบบใหม่ ที่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาถูกตีขึ้นมา ถูกทำให้มีความหมายขึ้น จะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น แต่ผมจะลองตั้งคำถามแบบนี้ เมื่อวานนี้(11 ธันวาคม 2547)มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไปแถลงข่าวที่ลานปรีดีย์ พนมยงค์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นที่สำคัญมาก คือ เราคิดว่าโลกในปัจจุบัน และในอนาคตจะเป็นโลกที่จนลง เป็นโลกที่คนไทยกำลังจะเผชิญ

หมายความอย่างไร หมายความว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ลดน้อยลง นอกจากนี้ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในมือของคนส่วนใหญ่มีปริมาณน้อยลงอยู่เรื่อย ๆ ตัวอย่างปัจจุบันมีการศึกษาบอกว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อวันหรือน้อยกว่า 40 บาทต่อวัน เพิ่มจาก 1,100 ล้านคนในปี 1985 เป็น 1,200 ล้านคนในปี 1998

ตัวเลขคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อวันเพิ่มมากขึ้นเป็น 100 ล้านคน และสหรัฐอเมริกาคิดว่าคนกลุ่มนี้จะมากขึ้นและอยู่แบบกระจาย ทั้งเอเชีย ละติลอเมริกา แอฟริกา คาลิเบียน ตะวันออก รวมถึงในสหรัฐอเมริกาเองด้วย

อเมริกาคิดว่ารายได้ที่แท้จริงของแรงงานปรับลดลงไปเท่ากับเมื่อปลาย ปี 1994 หลังจากมีการหักค่าเงินเฟ้ออะไรต่างๆ รายได้ปัจจุบันที่แรงงานได้รับหันไปเทียบเท่ากับปลายทศวรรษหนึ่ง 1990  ตัวเลขตรงนี้บอกอะไร จากรายงานการศึกษาชิ้นนี้สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ความยากจนกำลังแผ่กระจายไปทั่วโลก ความยากกำลังแผ่กระจายไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งหมดเกิดจากอะไร

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เราเห็นการกระจุกตัวของทรัพย์สมบัติ ที่ไปตกอยู่ในมือคนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ไปรวมอยู่ที่คนที่รวยที่สุดในโลก นั่นคือผลผลิตมวลรวมของโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้กระจายตัวออกไป มีคนกลุ่มหนึ่งเพียงหยิบมือซึ่งมีรายได้มาก ทรัพย์สมบัติจำนวนมากไปกระจุกอยู่ที่เขา ในขณะที่คนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนแบ่งที่น้อยลง

ประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ตรงนี้ มีผลผลิตมวลรวมของรายได้นั้นเพิ่มขึ้น แต่ความยากจนของประเทศไทยก็แผ่พระจายออก คนจนในสังคมไทยจนมากขึ้น ในขณะที่คนรวยนั้นรวยมากขึ้น ไม่ต้องพูดถึงตัวเลขหลายๆ ตัวเลขที่มีความเป็นมาว่า ความพอและญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องมีรายได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดเกือบ 50 % ของตลาดหุ้น

เราอย่าคิดว่าโลกนี้เป็นโลกที่รวยขึ้น ถ้าเรามองไปจริงๆ แล้วโลกนี้เป็นโลกที่จนลง

โลกที่จนลงมาจากอะไร หากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่ามีหลายสาเหตุ แต่อยากยกตัวอย่างให้เห็นว่าความยากจนของคนในโลกนั้นมีที่มาที่ไป มีคนไปคำนวณ มีคนไปดูการส่งสินค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่าประเทศอเมริกาส่งสินค้าออกปัจจุบันมีน้ำหนักเท่ากับที่อเมริกาเคยส่งออกเมื่อ 100 ปีที่แล้ว นั่น หมายความว่าอเมริกากำลังประสบภาวะล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่

แต่อเมริกาเปลี่ยนการส่งออกจากเดิมที่เคยส่งออกรถฟอร์ด  เคยส่งสินค้าที่เป็นก้อนใหญ่ ๆ ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว อเมริกาส่งออกสินค้าประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งไมโครซอฟ ภาพยนต์ แผ่นดีวีดีไม่กี่แผ่นก็เต็มทั่วโลกทำรายได้เป็น 1,000 ล้าน 10,000 ล้านบาท นี่คือความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งหันมาแสวงหาประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าความรู้

ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า ถ้าเรามองดูจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอเมริกาถึงได้พยายามผลักดันให้กฏหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าอเมริกาปรารถนาที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อเมริกาสามารถหาประโยชน์จากการจัดการด้านนี้มากขึ้น แต่ก็มีปัญหาเพราะบางทีการผลักดันด้านกฏหมายอย่างเดียวก็ไม่เป็นผล

เวลาพูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คิดว่าในปัจจุบันโดยเฉพาะแวดวงนักกฏหมายนั้น สิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นสิ่งที่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมอยู่ในตัวเอง แต่สิ่งที่น่าอันตรายกว่านั้นในทรรศนะของผมคิดว่า เวลาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นปัจจุบันถูกทำให้มีนัยยะทางศีลธรรมมากขึ้น เช่น การปั้มแผ่นซีดี การค้าของเถื่อน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการลักทรัพย์ ซึ่งแต่เดิมใช้กฏหมายอย่างเดียว แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้ว สิ่งที่ถูกผลักดันคือจะต้องทำให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดที่มีนัยยะหรือศีลธรรมด้วย

เช่น การพูดปด ถ้าทุกคนรู้ว่าการพูดปดเป็นสิ่งที่ผิด ความรู้สึกในระดับศีลธรรมทุกคนจะไม่พูด  แต่ในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติพยายามผลักดันว่าเรื่องนี้เป็นความผิดทางด้านศีลธรรม หากใครดูโฆษณาเมื่อ 3 ปีที่แล้วจะเห็นชัด มีหนังโฆษณาเรื่องหนึ่งที่มีเด็กใส่แว่นตาหน้าตาเหมือนผู้มีความรู้ออกมายืนพูดว่า”คนไทยเราก็มีความสามารถ  คนไทยสามารถผลิตนวกรรมทางปัญญา ผลิตทรัพย์สินที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญาได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นหากเราผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วไม่อยากให้คนอื่นลอกเลียนแบบ เราก็อย่าไปลอกเลียนแบบเขา”ตรงนี้นี้แหละที่คิดว่าเป็นการสร้างนัยยะที่สำคัญที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา

คำถามง่ายๆ คือจริงหรือ?สำหรับประเทศไทย ผมไม่รู้ว่าคนไทยเอาหนังไปฉายในอเมริกาได้มากน้อยขนาดไหน แต่สิ่งที่เห็นคือความสามารถในการผลิตภาพยนต์ซึ่งเป็นสินค้าแบบหนึ่ง ลองนึกดูว่าในแต่ละปีคนไทยได้ดูหนังฝรั่งหลายเรื่อง แล้วคนต่างชาติได้ดูหนังไทยกี่เรื่อง

ถ้าเราคิดว่านี่คือความเท่าเทียม ต่างชาติก็มีทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยก็มีทรัพย์สินทางปัญญา เพราะฉะนั้นต่างคนก็ต่างมีปัญญา ผลิตมาสู้กัน ซึ่งหนังไทยเป็นตัวหนึ่งที่มีการประกาศว่าจะไปตีตลาดอเมริกาจนราบคราบ เช่น หนังเรื่องสุริโยทัย จนบัดนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าจัดทัพกันเสร็จหรือยัง ตรงนี้เป็นสิ่งที่เป็นนัยยะทางศีลธรรมซึ่งถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับเศรษฐกิจโลกใหม่

มีนักฟิสิกส์คนหนึ่งชื่อ วันนาชีวะ เป็นชาวอินเดีย เป็นคนหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก เขาพยายามพูดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้รับความคุ้มครอง เพราะเอาเข้าจริงเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาคือการปล้นสะดมแบบหนึ่ง

หนังสือไบโอไพเวซี่ มีความพยายามพูดถึงการที่ตะวันออกเข้ามาเอาความรู้ของท้องถิ่นหรือชุมชนไปจดสิทธิบัตร แล้วเอาไปขาย ซึ่งประเทศไทยก็กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่เหมือนกัน

การผลักสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นคิดว่ามีความสำคัญ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการสร้างความชอบธรรม ท่ามกลางระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ นอกจากการสร้างความรู้ หรือมาตรฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ยังมีกลไกต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอีกมากมาย เช่น  องค์กรระหว่างประเทศถูกผลักให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

หากกวาดสายตามองไปรอบๆจะเห็นว่าองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเกี่ยวกับทางด้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ถูกย้ำอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น WTO หรือ IMF ได้รับความสำคัญอย่างมาก เป็นองค์กรที่จะมากำกับให้ความสัมพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้นดำรงอยู่ได้ ซึ่งตรงนี้ที่คิดว่าเป็นระเบียบโลกแบบใหม่ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนระบบการค้าขายแบบใหม่

ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ผมคิดว่ามีคำถามที่สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายเรื่อง ยกตัวอย่างสิ่งที่เรียกว่าการเลือกตั้งยังจะมีความหมายอะไรอยู่หรือไม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในเมื่อถ้าเลือกตั้งไปแล้ว นักการเมืองยังสามารถปรับหรือเปลี่ยนนโยบายที่ตนเองเซ็นต์สัญญาไว้กับองค์กรระหว่างประเทศ หรือ WTO ได้จริงหรือ?

โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการเซ็นสัญญาเอฟทีเอ ทำข้อตกลงการค้าเสรีในประเทศต่างๆ ถามว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยอำนาจของการเลือกตั้งจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจตรงนี้ได้หรือไม่

นัยยะสำคัญอันหนึ่ง ที่จะต้องคำถามคือจริงๆแล้วการเลือกตั้งของประเทศไทยมีอำนาจในการควบคุมรัฐมากขนาดไหน การเลือกตั้งทำให้สามารถกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน เอาเข้าจริงการเลือกตั้งอาจจะแค่สามารถเลือกนโยบายทางการเมืองได้ แต่ว่านโยบายในทางเศรษฐกิจเลือกไม่ได้อยู่แล้วเป็นนโยบายที่ต้องยอมรับว่าไม่ว่านักการเมืองไหนเข้ามา นโยบายเศรษฐกิจแทบจะไม่แตกต่างกัน

ที่พยายามพูดถึงปัญหาของนโยบายรัฐบาลทักษิณ โดยพูดถึงโลกที่ยากจนลงและระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่ควรให้ความสำคัญ เพราะผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกัน รัฐบาลทักษิณกำลังโปรโมตให้ประเทศไทยก้าวออกไปเผชิญกับโลกที่ความยากจนกำลังแผ่ขยาย ให้คนไทยก้าวไปเผชิญกับโลกที่มีความเท่าเทียมกันน้อยมาก ให้คนไทยก้าวเดินไปเผชิญกับสหรัฐอเมริกา ไปเผชิญกับประเทศจีน

รัฐบาลทักษิณเสนอโครงการต่างๆ ออกมา โอท็อป ครัวโลก ทำให้ดูราวกับว่ามีเงินทอง กองอยู่ทุกที่ หากประชาชนไทยพัฒนาตัวเองก็จะสามารถไปเอื้อมมือไปหยิบกองเงินกองทองที่มีอยู่ทั้งหมดได้

คำถามคือจริงหรือ? โลกกำลังยากจนลง คนไทยจะทำอะไรไปขายให้เขา หากคนไทยขายสินค้าเกษตรขั้นปฐมก็ถูกขนาบด้วยจีน พูดแค่ประเทศเดียวก็จบแล้ว

มีเรื่องเล่าอันหนึ่ง เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาภาคเหนือของประเทศไทยมีปัญาหาเรื่องพืชผลการเกษตรจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาด ก่อนหน้าที่จะเปิดสรีก็มีการขนของข้ามแดนกันอย่างผิดกฏหมาย พอ ไทยทำสัญญากับจีน เปิดเสรีให้ส่งผลไม้ข้ามแดนได้ ผลปรากฏว่าคนปลูกหอม ปลูกกระเทียมแทบจะผูกคอตาย เนื่องจากราคาของหอมกระเทียมจากประเทศจีนนั้นถูกกว่าที่คนในทางภาคเหนือปลูก

เจอแบบนี้เข้าไปชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในอดีตชาวบ้านเวลาเจอปัญหาจะรวมตัวกันแล้วประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐเข้ามาผยุงราคา รัฐก็เข้ามาผยุงราคาบ้าง ไม่เข้ามาบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอชุมนุมเสร็จ รัฐมนตรีก็ลงไปเจรจา นำเงินไปให้ก้อนหนึ่งอุดหนุนทางด้านการเกษตร ส่วนระยะยาวเป็นอย่างไรไม่พูดถึง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ชาวบ้านก็พอใจ

ผ่านไป 2 เดือน ตำรวจกลับมาใหม่ คราวนี้ตำรวจถ่ายวีดีโอไว้หมด ใครมาชุมนุมบ้าง ถามว่าการชุมนุมปิดถนนผิดกฏหมายไหม ผิด ตรงนี้นี่แหละคือสิ่งที่รัฐบอกว่า เราออกไปเผชิญกับโลกภายนอกเถิด โลกซึ่งมีเงินทองกองอยู่มากมายขอให้คนไทยมีความสามารถ ถามว่ามีเกษตรกรรายใดออกไปเก็บเงิน เก็บทองจากทั่วโลกได้บ้าง

การเซ็นต์สัญญาเอฟทีเอไม่ได้ทำให้คนไทยเสียหมด หรือว่าได้หมด กรณีที่ไทยไปทำสัญญากับประเทศออสเตรเลีย เกษตรกรส่วนหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับเกษตรกรชาวออสเตรเลียซึ่งมีความสามารถและทักษะในการผลิตและในการขายวัวดีกว่าคนไทย ในขณะที่ประเทศไทยสามารถเข้าไปตีตลาดชิ้นส่วนรถปิ๊กอัพได้ ใครถือหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมรถปิ๊กอัพของเมืองไทยก็เป็นที่ทราบกันดี

ไปทำสัญญาเอฟทีเอกับประเทศจีน  เปิดโอกาสให้กับกลุ่มทุนไทยในด้านการเกษตรเข้าไปปลูกพืชผลในประเทศจีนได้ ใครเสียเปรียบ เกษตรกรตัวเล็กๆ ส่วนมากจะล้มละลาย

ถ้าอธิบายแบบแนวความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์กระแสหนึ่งบอกว่า นี่แหละการค้าเสรีมีข้อดี ทำให้คนที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการผลิตนั้นอยู่ ส่วนที่ไม่มีความสามารถก็ตายไป อันนี้เป็นกฏเกณฑ์ ทุนนิยมก็เป็นแบบนี้แหละ

เราจะเห็นได้ว่า ท่ามกลางรัฐไทยที่บอกให้คนไทยออกไปสู่โลกภายนอก ไปเผชิญกับโลกภายนอก โดยที่รัฐไม่มีการจัดเตรียมหรือป้องกันกลุ่มคนตัวเล็ก ๆในสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องได้เห็นแน่ๆ ในสังคมไทยคือ เกษตรกร หรือคนตัวเล็กๆ ในสังคมล้มละลาย

นี่คือภาพที่อยากประมวลให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมาคนไทยถูกกระตุ้น ถูกทำให้รู้สึกว่า วัฒนธรรมกระแสทุนเป็นสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์กับคนทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม

นโยบายของรัฐอย่างหนึ่งคือการเปิดไปสู่โลกที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงล้น การสร้างความเชื่อว่าคนไทยก็มีความสามารถ เพราะฉะนั้นจึงออกไปสู้กับประเทศอื่นเถิด ทั้งหมดคือสิ่งที่เป็นความจริง

 

...............................