นักข่าวไดรฟ์เอ ทันสมัย (แต่อาจไม่) พัฒนา

สุทธิชัย หยุ่น

…………….

หนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2548  เปิดประเด็นในวงการสื่อมวลชน อย่างท้าทาย  ด้วยการตั้งคำถามเรื่องปรากฏการณ์ นักข่าวไดรฟ์เอ  ทันสมัย (แต่อาจไม่) พัฒนา

นักข่าวไดรฟ์เอได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  ทั้งในสนามข่าวและโรงพิมพ์แต่ละแห่ง  บ้างก็ว่า การลอกคราบสื่อเป็นการทำลายเกียรติภูมิของนักข่าวที่ตกต่ำอยู่แล้วในยุคทักษิณครอบสื่อ...ให้แย่ลงไปอีก

บ้างก็ว่า ถ้าไม่ให้นักข่าวลอกข่าว แล้วจะให้ทำอย่างไร  เพื่อไม่ให้ตกข่าว  เพราะข่าวแต่ละวันมันเยอะจริงๆ

บ้างก็ว่า วัฒนธรรมการก๊อบปี้ ยุคไหน สมัยไหนก็มีด้วยกันทั้งนั้น ไม่เห็นจะต้องมาพูดให้เปลืองแรง

บ้างก็ว่า ต้นเหตุของการลอกข่าวมาจากความห่วยของผู้บริหารในกองบรรณาธิการ

ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือปฏิเสธ ปรากฏการณ์ ไดรฟ์เออย่างไร   แต่ในกองบรรณาธิการเครือ เดอะเนชั่น มีการเรียกประชุมด่วน  เพื่อถกปัญหาร่วมสมัย พร้อมกับหาทางออกจากวิกฤตความเสื่อมทางจริยธรรม  โดยมี “สุทธิชัย หยุ่น” หรือเจ้าของนามปากกา กาแฟดำ นั่งอยู่หัวโต๊ะ

อะไรทำให้  สุทธิชัย  หยุ่น  ยอมรับไม่ได้กับวัฒนธรรมไดรฟ์เอ อะไรทำให้  กาแฟดำ หงุดหงิดกับการลอกข่าวของนักข่าวในยุคดิจิทัล

บทสัมภาษณ์แบบคำต่อคำต่อไปนี้    คนทำข่าวและคนเสพข่าวไม่ควรพลาดแม้แต่วรรคเดียว

  • คุณสุทธิชัย หยุ่น ครับ ได้อ่านหนังสือวันนักข่าวเรื่องปรากฏการณ์ไดรฟ์เอแล้วหรือยัง ?

ก่อนอื่นต้องชื่นชมที่สมาคมนักข่าวฯกล้าวิจารณ์นักข่าวด้วยกันเอง ซึ่งนานๆ จะเห็นสักครั้ง เราเองก็เป็นห่วงในฐานะที่อยู่ในวิชาชีพนี้ ซึ่งก็ได้มีการประชุมกันเองข้างในว่า เรื่องนี้เราจะแก้ปัญหากันอย่างไร เพราะในเมื่อสมาคมนักข่าวฯเป็นผู้จุดประกายประเด็นนี้ขึ้นมา แล้วมันก็เป็นปัญหาจริงๆ ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดเราก็ต้องแก้ในโรงพิมพ์เราก่อน เพราะถ้าไปแก้ทั้งวงการ เราคงไปพูดอะไรมากไม่ได้

ดังนั้นในเครือเนชั่นจะมีการคุยกันว่า มีมาตรการอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้ เช่น เวลานักข่าวส่งข่าวเข้ามา เรารู้หรือเปล่าว่ามีการลอกกันมาหรือเปล่า ถ้าลอก ลอกกันอย่างไร เรารู้มั้ยว่าแหล่งข่าวจะรู้หรือเปล่าว่านักข่าวที่สัมภาษณ์เขาแล้วข่าวก็จะไปปรากฏในฉบับอื่นด้วย ซึ่งมันก็ไม่แฟร์กับเขา สมมุติว่ามีนักข่าวไปคนเดียว แล้วนักข่าวคนนี้ก็พิมพ์แจกเลย นักข่าวคนอื่นก็เอากลับไปในโรงพิมพ์  แล้วประหนึ่งว่าได้สัมภาษณ์เอง แหล่งข่าวเขาก็ต้องตกใจ เพราะเขาคุยกับคนคนเดียว แต่วันรุ่งขึ้นข่าวกลับไปปรากฏหมดทุกฉบับ  แล้วที่เลวร้ายกว่านั้นคือ พอมันผิดแล้วก็ผิดหมดเลย ซึ่งก็จะเสียชื่อวงการสื่อ ทางเราก็เป็นห่วง ก็เกิดการคุยโดยมีมาตรการของเราเองเกิดขึ้นมา

ส่วนที่เขียนผ่านสื่อไปก่อนหน้านี้ ก็เพราะว่าอยากจะให้คนทั่วไปรู้ว่า สื่อเองก็แคร์เรื่องคุณภาพของสื่อ ไม่ใช่ว่าเราจะไปห้ามสิทธิที่จะวิจารณ์คนอื่นอย่างเดียว เราก็ต้องวิจารณ์ตัวเองด้วย และก็ให้คนอ่านวิจารณ์เราด้วย เพื่อให้เห็นว่าวงการสื่อไม่ใช่ประเภทมือถือสากปากถือศีลนะ

·         ปรากฏการณ์ไดรฟ์เอ เราจะโทษใครดี ระหว่างนักข่าวใหม่ในสนามหรือกอง บ.ก.ข่าว

ผมว่าต้องโทษกันทั้งระบบตั้งแต่ตัว บ.ก.เอง ไปจนถึงหัวหน้าข่าวจนถึงตัวนักข่าวเอง ผมคิดว่าโดยพื้นฐานเราขาดการฝึกฝน เรารับคนมาเป็นนักข่าวส่วนใหญ่ก็จะให้เขาไปทำงานเลย โดยขาดการตั้งมาตรฐาน เช่น นักข่าวที่ไปอยู่ประจำที่ทำเนียบรัฐบาล หรือว่ารัฐสภา ควรจะผ่านงานพื้นฐานก่อน  ซึ่งเรามักจะบอกว่า นักข่าวคนนี้มาสมัครขอเป็นนักข่าวการเมือง นักข่าวสายสภา ทำเนียบรัฐบาล เราก็ให้ไปเลย

เมื่อออกไปสนามจริงจากพื้นฐานที่ไม่ได้ฝึกมาพอ ที่สำคัญคือไม่ทันนักการเมือง นักการเมืองจะหลอกล่อ จะพูดอย่างไร นักข่าวก็จะจดๆ ๆ ๆ แล้วก็ไม่กล้าถามให้มันลึกและให้เข้าประเด็นอย่างที่คนอ่านอยากจะรู้ เลยกลายเป็นเหมือนกับเครื่องอัดเทปเท่านั้นเอง แล้วก็เป็นเครื่องอัดเทปที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะเทปก็อัดตามเสียงและข้อความแต่ละคำ คือพูดอย่างไรก็ออกมาอย่างนั้น

และด้วยความที่จดอย่างเดียว แล้วถามคำตอบคำ ซึ่งทั้งระบบนี้หมายถึงวิธีการด้วยนะ ที่ทำเนียบก็ดี ที่สภาก็ดี  โดยเฉพาะที่ทำเนียบ เวลานายกฯลงมาปั๊บ นักข่าวก็จะแย่งกันถามคนละ 2-3 คำถาม นายกฯพูด 2 คำ เราก็จดแล้วก็ส่งกลับเข้าโรงพิมพ์ โดยที่ไม่ได้ถามต่อในประเด็นที่ตั้งไว้อย่างครบถ้วน นักข่าวทุกคนมีคำถามของตัวเองในแต่ละประเด็น ไม่สามารถจะให้เวลาไปเจาะในแต่ละประเด็นให้มันลึกพอที่จะเป็นข่าว นั่นคือปัญหา

สมมุติว่าวันนี้มี 2-3 ประเด็นที่น่าจะเป็นข่าวสำคัญ ก็น่าจะถามเจาะให้มันสิ้นกระบวนความ แต่นี่ไม่ แหล่งข่าวพูดคำสองคำก็เอาไปพาดหัวได้ ไปเขียนปะติดปะต่อได้ มันก็เลยออกมาเป็นนักข่าวไดรฟ์เออย่างที่พวกเราวิเคราะห์กันก็คือ เป็นนักข่าวประเภทที่ไม่มีความลึก ไม่มีความระมัดระวังเรื่องความถูกต้องของข่าวสาร หรือแม้กระทั่งการจับประเด็นของข่าวก็มักจะถูกนักการเมืองกำหนด ว่าจะพูดอะไร จะตอบอย่างไร แล้วสื่อก็จะถูกชี้นำว่าต้องการข่าวพาดหัวอย่างไร ซึ่งก็จะเป็นไปตามที่นักการเมืองต้องการ กลายเป็นว่าเราไม่ได้เป็นกระบอกเสียงจริงๆ ของประชาชน

  • มีการตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ไดรฟ์เอ บางทีอาจเกิดจากอง บ.ก.ที่ต้องการจะได้ข่าวนั้นข่าวนี้ ในสนามข่าว เช่น มี 10 ข่าวก็ต้องการได้ทั้ง 10 ข่าว แต่กลับไม่ได้คิดในแง่ว่าแยกมาทำข่าวเจาะ แทนที่จะทำข่าวเป็นพูล

ประเด็นนี้ผมว่าจริงๆ นักข่าวสามารถพูดคุยกับหัวหน้าข่าวได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่วันวันหนึ่งจะต้องการข่าวมากขนาดนั้น ฉะนั้นตัวนักข่าวเองต้องสามารถที่จะพูดกับหัวหน้าข่าวได้ว่า อย่าเรียกร้องมากเกินไป แล้วจริงๆ ปัจจุบันก็มีวิธีมากมายที่หัวหน้าข่าวไม่ตกข่าว เปิดทีวีวิทยุก็เจอว่าต้องการประเด็นอะไร นักข่าวของแต่ละกอง บ.ก.ที่ส่งไปก็จะเจาะข่าวที่คุณสนใจ ไม่งั้นข่าวของคุณก็จะมีมาตรฐานเท่ากับฉบับอื่นเหมือนกันหมด ฉะนั้นคุณต้องมีความแตกต่างไปจากฉบับอื่น คุณต้องเลือกว่าจะเล่นข่าวอะไรที่ลึกและละเอียดกว่าตามแนวทางของคุณ ไม่ต้องกลัวตกข่าวแล้ว เพราะทุกวันนี้ไม่มีการตกข่าว สื่อทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ตมีมากมาย ผู้บริโภคข่าวเขาก็สามารถอ่านข่าวนั้นได้ แต่ถ้าเขาจะอ่านจากคุณ แสดงว่าเขาต้องการอะไรที่พิเศษจากคุณ มุมมองของคุณ ประเด็นข่าวของคุณ วิธีการวิเคราะห์ข่าวของคุณ ตรงนั้นต่างหาก

  • หมายความว่า ผู้สื่อข่าวสามารถเจรจากับหัวหน้าได้ว่า วันนี้ต้องการนำเสนออะไร มากกว่าที่จะให้หัวหน้าข่าวกำหนดวาระข่าว

ถูกต้องครับ อย่างน้อยในการปรึกษากับหัวหน้าข่าว ว่าในฐานะที่เราเป็นนักข่าว ต้องบอกว่าวันนี้จะมีประเด็นอะไรบ้าง เราจะตามอย่างนี้ หัวหน้าข่าวก็บอกว่า อยากจะได้อย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ว่าเอาอย่างไหนกันแน่ ก็มาจัดเรียงลำดับ หัวหน้าข่าวต้องการอย่างนี้ นักข่าวคิดว่าควรจะเป็นอย่างนี้มากกว่า ก็พูดตกลงกันว่าจะทำอย่างไรดี  ถ้าตกลงว่าหัวหน้าข่าวต้องการอย่างนี้ก็จะทำให้ หรือเราคิดว่าอย่างนี้หัวหน้าบอกว่าก็ดีนะ มันก็จะเหลือแค่ประเด็นที่สำคัญ 3-4ข่าว เท่าที่มนุษย์จะพึงทำได้ในวันหนึ่ง เป็นไปไม่ได้หรอกวันหนึ่งต้องได้เป็น 10 ข่าวมา แล้ว 10 ข่าวนั้นก็มีแต่วรรคเดียว ประเด็นใหม่ก็ไม่มี ไปเล่นคำบ้าง เขียนสีสันบ้าง ต่างๆ นานา ซึ่งมันก็ทำให้คุณภาพของการรายงานข่าวมันมีปัญหาอย่างที่เราเป็นห่วงกันอยู่

ยิ่งทุกวันนี้วาระทางสังคมถูกกำหนดโดยนักการเมืองและแหล่งข่าวมากกว่าที่สื่อจะกำหนดเอง สมมุติว่าสื่อมีอยู่ 10 ฉบับ แล้ว 10 ฉบับนั้นเลือกที่จะเล่นในประเด็นที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ แล้วไปเจาะลึกของตัวเองมา คนอ่านได้ประโยชน์จากทั้ง 10 ฉบับ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าข่าวมักคล้ายกันมาก คนอ่าน 10 ฉบับ มันก็เหมือนกัน ฉะนั้นเขาก็ไม่ต้องอ่าน 10 ฉบับ อ่านแค่ 2 ฉบับก็พอแล้ว หรือถ้าไม่อ่านหนังสือพิมพ์ก็ไปเปิดดูทีวี วิทยุ ก็ได้

อย่างผมตอนเช้าก็จะฟังวิทยุ ดูทีวี ที่เขาก็จะเอาหนังสือพิมพ์มาอ่าน ผมฟังได้สัก 10 นาที พอเปิดอีกรายการก็จะซ้ำกันแล้ว เพราะว่าหนังสือพิมพ์เหมือนกัน ประเด็นก็เหมือนกันไม่เกิน 3 ข่าว 4 ข่าว เหมือนกันหมด ฉะนั้นคุณก็เบื่อแล้ว คุณก็ไปฟังเพลงดีกว่า แต่หากหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีประเด็นของตัวเอง แม้กระทั่งเรื่องเดียวกัน แต่เล่นมุมต่างกัน คนอ่านก็จะได้ประโยชน์ เออ! ใช่ เราต้องอ่านฉบับนี้  เนื่องจากมีมุมที่แปลกแตกต่างออกไป เรื่องเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน ฉบับนี้ก็จะเล่นอีกประเด็นหนึ่ง

แต่ข่าวที่เราเรียกกันว่าข่าวโหลนั้น คือข่าวแถลงที่ทุกคนมี สมมุติว่านายกรัฐมนตรีมายืนแถลง โอเคอันนั้นทุกคนได้ นั่นก็แล้วแต่ว่าใครจะนำไปเล่นประเด็นอะไร แต่ว่านักข่าวจะต้องไปเจาะมากกว่านั้น จะต้องไปถามหารายละเอียดที่มากกว่านั้น จะต้องไปถามปฏิกิริยาของคนที่เกี่ยวข้องมากกว่านั้น และจะต้องสามารถนำเสนอลักษณะที่ไม่ซ้ำกับฉบับอื่น

  • เกิดอะไรขึ้นจากนักข่าวรุ่นคุณ จากช่วงพิมพ์ดีดผ่านมาสู่ยุคคอมพิวเตอร์ ทำไมกระบวนการถึงได้มักง่ายและหยาบลงเรื่อยๆ คิดว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดตรงนี้

ผมว่าน่าจะเป็นคุณภาพของคนที่ไม่ได้รับการจ้ำจี้จ้ำไชเพียงพอ ก็เลยทำให้ความมักง่ายเกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีทั้งอินเทอร์เน็ต ส่งอะไรก็แป๊บเดียว อย่างก๊อปปี้ข่าวเดี๋ยวนี้ก็ง่าย ซึ่งแต่ก่อนต้องวิ่งหาเครื่องแฟกซ์ เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง ก๊อปปี้แป๊บเดียวก็ได้มาแล้ว หรือไม่ก็ลอกข่าวจากในอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวนี้ไม่รีไรต์ด้วย แต่ก่อนต้องรีไรต์ ก็เพราะว่าหัวหน้าข่าวต้องรับข่าวจากนักข่าวเอง นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป

สมัยก่อนคนน้อย หัวหน้าข่าวฟังกันจนหูชา ไม่มีเครื่องฟังด้วยนะ เหน็บหูเข้ากับโทรศัพท์ นักข่าวกับ บ.ก.ข่าวสัมผัสกันตลอดเวลา ฉะนั้นการเจรจาว่าอะไรก่อน อะไรหลัง จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะนักข่าวโทรศัพท์มาว่าอย่างนั้นอย่างนี้นะ หัวหน้าข่าวบอกว่าไม่เอา เรื่องนี้ใครๆ เขาก็รู้กันแล้ว เอาประเด็นนี้มาสิ ไปเจาะถามอธิบดีสิ รัฐมนตรีไม่รู้อะไรหรอก อธิบดีคนนี้น่าจะรู้ ก็จะกลายเป็นการสั่งงานไปในตัว นักข่าวก็จะวิ่งไปแล้วก็ส่งมา พอส่งมานักข่าวเองก็ต้องเรียบเรียงก่อนที่จะส่ง เพราะไม่งั้น บ.ก.ข่าวก็จะบอกว่าอะไรเนี่ย ไม่รู้เรื่องเลย คุณกลับไปเรียบเรียงใหม่ หรือไม่ก็จะบอกนักข่าวว่า คุณใจเย็นๆ คุณเพิ่งได้มา มันยังหยาบอยู่ คุณไปนั่งดื่มกาแฟก่อน แล้วตั้งสติไปเรียบเรียงมาใหม่

นักข่าวก็จะต้องกลับไปคิด แล้วต้องไปเรียบเรียงใหม่  สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องใช้วิธีเขียนด้วยลายมือ  ซึ่งการใช้ลายมือเป็นการช่วยให้คุณค่อยๆ ได้คิด เมื่อคุณมั่นใจก็โทร.กลับไปส่งข่าว กระบวนการนี้แหละ นักข่าวต้องคิดแล้วว่าหัวหน้าข่าวต้องด่าเราอีก หากเราไปเอาประเด็นนี้มา ฉะนั้นเมื่อหัวหน้าข่าวบอกประเด็น เราก็ต้องไปถามซ้ำ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ นี่คือคุณภาพที่มีขั้นมีตอน

แต่เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้น คุณส่งทางแฟกซ์ก็ดี ทางอินเทอร์เน็ตก็ดี พรวดเข้าไปถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์เลย คนที่อยู่หน้าจอเขาก็เลือกข่าวหน้าหนึ่งได้เลย ไม่ได้ผ่านกระบวนการหัวหน้าข่าวหรือผู้ช่วยหัวหน้าข่าว ดังนั้นแต่ก่อนการที่จะเป็นนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล นักข่าวสภาได้ คุณต้องทำงานสายอื่น หรืออยู่ในออฟฟิศมาหลายปีแล้ว หรืออยู่ในออฟฟิศรับข่าวก่อนเป็นปีๆ ไม่มีอะไรทำ วันๆ คุณนั่งรับข่าวอย่างเดียวจากรุ่นพี่ที่เขาส่งมา แล้วคุณก็เรียนรู้จากการนั่งพิมพ์ข่าวอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี มันกระโดดข้ามขั้นไป การที่เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มันทำให้สมองเราทำงานน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำไม่ได้นะ แต่มันอยู่ที่พื้นฐานจากการเลือกคน

ผมเคยพูดให้นักข่าวรุ่นใหม่ฟังจนเขาน้อยใจว่า คุณส่งข่าวมาอย่างนี้ ผมจ้างมอเตอร์ไซค์ ซื้อเทปให้เขาหนึ่งเครื่องอาจทำได้ดีกว่าคุณอีก นักข่าวถามว่าทำไมคะ ก็บอกว่า อย่างแรกมอเตอร์ไซค์เร็วด้วย  สองเขาเอาเทปไปวางจ่อหน้านายกฯ เสร็จแล้วกลับมามีคนถอดเทป ถอดเสร็จให้ บ.ก.ข่าว ได้ประเด็นแป๊บเดียวเอง ถ้าให้คุณไป คุณก็ต้องหาโทรศัพท์ ต้องหาแฟกซ์ แล้วยังไปลอกข่าวเขามาหน้าตาเฉย ตรวจก็ไม่ได้ว่าข่าวนี้ลอกหรือไม่ลอก แต่ถ้ามีเทปมา ผมรู้เลยว่าใครพูดอะไร อย่างไร นั่นเป็นการกระตุ้นให้นักข่าวได้รู้ว่าเขาไม่ใช่เทป เขาต้องมีสมอง เขาฟังแล้วเขาต้องกรอง ต้องกลั่น ต้องย่อความ ต้องสรุป ต้องตีความ เขาต้องเขียนให้สามารถอธิบายความได้ เพราะทุกวันนี้นักข่าวรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ตีความ ไม่ได้วิเคราะห์อะไรทั้งนั้น  ส่วนมากเป็นอย่างนั้น แปลความก็ไม่ได้ ย่อความก็ไม่เป็น

  • ถ้าเป็นอย่างนี้มันจะเกิดปัญหาเรื่องกระบวนการเรียนรู้หรือเปล่า อย่างสมัยก่อนมีการเรียนรู้จาก บ.ก.ข่าวสู่นักข่าวในการกำหนดวาระทางสังคม แต่วันนี้ขั้นตอนมันถูกตัดออกไป

ถูกต้อง ดังนั้นมันต้องกลับมาสู่พื้นฐานเดิม คือ บ.ก.ทุกแห่งจะต้องกลับไปสู่พื้นฐานกลาง คือเลือกคนที่มีคุณภาพ เมื่อเลือกเขาเข้ามาแล้วก็ต้องฝึกเขาก่อน แล้วกระบวนการฝึกก็คือ ต้องฝึกในออฟฟิศก่อน รับข่าวก่อน อ่านหนังสือพิมพ์ก่อน ย่อข่าวก่อน แล้วก็รีไรต์ข่าวให้เป็น ถึงจะออกไปทำข่าว คือฝึกจนเชี่ยวชาญ ซึ่งกระบวนการตรงนั้นต้องฝึก อาจจะ 2-3ปี ซึ่งของเราก็เป็นอย่างนั้น

จะไม่มีครับ อยู่ดีๆ แล้วส่งนักข่าวหน้าใหม่ออกนอกสนาม คือเราอายเขา เรามีความรู้สึกว่าเราไม่รับผิดชอบต่อคนอ่าน ถ้าเราส่งเขาไปแล้วเหนื่อยเราด้วย เหนื่อยที่ว่า บ.ก.ต้องรับข่าว แล้วก็ต้องรีไรต์ แล้วก็ต้องถามต่อไปอีกว่า ตกลงมันคืออะไรยังไง เฮ้ย! เปิดทีวีดูดีกว่า เราเริ่มไม่เชื่อแล้ว เราฟังวิทยุ เปิดทีวี อย่างน้อยก็ยังมีเสียงของแหล่งข่าว นี่ก็คือเสียทั้งเวลา คุณภาพก็ไม่ได้ แล้วก็ทำให้กระบวนการทั้งหมดมันเสีย  ลงท้ายมันก็เสียทั้งวงการอย่างที่สมาคมนักข่าววิเคราะห์เรื่องไดรฟ์เอ  แต่ยังดีที่สมาคมนักข่าวฯพูดตรงนี้ขึ้นมา มันก็จะได้ช่วยกันแก้ไข (หัวเราะ)

  • สมมุติว่าหากเราปล่อยปละละเลยกันทั้งหมด ไม่สนใจ ในสภาพของไดรฟ์เอก็ยังดำรงอยู่ คิดว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

อนาคตก็จะแย่ลง ความน่าเชื่อถือของสื่อก็จะหมดไป ประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะลดลง เพราะว่าคนรุ่นใหม่เขาดูทีวี ฟังวิทยุ เปิดอินเทอร์เน็ต ก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก เพราะว่าคนอ่านหนังสือพิมพ์จากนี้ไปต้องการเนื้อแล้ว ต้องการความลึก ต้องการการวิเคราะห์ เพราะสิ่งนี้เขาไม่ได้จากทีวี วิทยุ

หนังสือพิมพ์ที่ยังมีคนอ่านอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่ากล้าวิจารณ์ บทความลึกกว่า และวิเคราะห์มากกว่า ขณะที่สื่อทีวีถูกรัฐบาลคุมจนเกิดความไม่กล้า ดังนั้นสื่อหนังสือพิมพ์นี่แหละยังคงเป็นความหวังของคน คนยังอ่านก็เพราะตรงนี้ ไม่ใช่เพราะข่าวเร็วกว่าเขา และไม่ใช่เพราะมีข่าวมากกว่าเขา แต่ความลึกกว่าและวิเคราะห์มากกว่า มีความเห็นหลากหลายกว่าคือสื่อหนังสือพิมพ์

ดังนั้นความถูกต้องความแม่นยำต้องสำคัญ สมมุติว่านายกฯพูดคำหนึ่ง รัฐมนตรีพูดคำหนึ่ง ไม่ใช่ไปพาดหัวแล้วก็ตอบไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่  แต่เราต้องสามารถอธิบายได้ว่าประโยคที่พูดนั้นเพราะมันมาอย่างนั้น ตีความได้อย่างนี้ ก็ว่าไป คือต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในวงการ

  • ความที่สื่อหนังสือพิมพ์คุณภาพตกลงเป็นเฉพาะในเมืองไทยหรือเปล่า หรือเป็นกันทั่วโลก

ไม่นะ ผมก็ติดตามสื่อเมืองนอก ก็มีเรื่องอื้อฉาวบ้าง อย่างเช่นการขโมยข่าว ลอกข่าว แล้วก็สร้างแหล่งข่าวปลอมซึ่งก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นกระบวนการอย่างที่เราเห็นอยู่ อย่างเช่นที่ทำเนียบขาว ที่สภา ที่กระทรวงสำคัญๆ ของเขา นักข่าวของเขาต้องเป็นรุ่นเก๋าที่ส่งไป แล้วก็ต้องมีบายไลน์ ทุกข่าวต้องมีชื่อของคนเขียน คือคุณผิด คุณก็รับผิดชอบเอง แล้วใครที่รีไรต์ข่าวไหน เขาก็บายไลน์ด้วย คือรับผิดชอบร่วมกัน

ฉะนั้นระบบบายไลน์ไม่ใช่แค่ให้เพื่อความเท่ แต่มันหมายความว่า คุณต้องรับผิดชอบข่าว เช่น คุณไปอยู่ประจำทำเนียบ ข่าวของคุณก็จะต้องมีบายไลน์ วันรุ่งขึ้นคุณเขียนถูกเขียนผิดอย่างไร แหล่งข่าวก็จะรู้ บ.ก.ก็จะรู้ คนอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะรู้ว่าจะอ่านบายไลน์นี้บ่อยๆ เชื่อได้หรือไม่ได้ เช่นว่า เอ๊ะ ! นี่มั่ว ก็จะถูกปฏิเสธ แต่ถ้าบายไลน์นี่อ่านแล้วเจ๋งนะ คนอ่านจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้จากฉบับอื่น ถึงแม้จะนั่งสัมภาษณ์ร่วมกัน ทำข่าวเดียวกัน แต่เราอ่านคนนี้แล้วเราเข้าใจมากกว่า เพราะให้แง่มุมที่ละเอียดกว่า อย่างนี้มันก็จะได้ความน่าเชื่อถือ ฉะนั้นถ้ามันเป็นนักข่าวไดรฟ์เอไปเรื่อยๆ ความน่าเชื่อถือก็จะสึกกร่อนขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะไม่อ่านแล้ว  สถาบันหนังสือพิมพ์ก็จะมีอันเป็นไป (หัวเราะ)

  • บ่อยครั้งที่คุณมักสะท้อนว่าสิ่งที่ขาดไปคือข่าวสืบสวนสอบสวน คุณคิดว่าเกิดจากอะไร ต้นทุนสูง หรือไม่มีกระบวนการที่จะทำกันอย่างจริงจัง

ก็อาจจะเหตุผลเดียวกัน คือขาดการฝึกฝน แล้วก็ขาดความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ในการเจาะ โดยเฉพาะบรรยากาศการเมืองในช่วง 4-5 ปีหลัง ความกลัว ความเกรงใจ ยิ่งทำให้ข่าวประเภทนี้ลดน้อยลง สมัยก่อนก็อาจจะมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะสำนึกของคนทำสื่อ โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ก็คือการสามารถเป็นตัวแทนประชาชนไปเจาะไปคุ้ยในเรื่องที่เขาไม่อยากให้เราลงตีพิมพ์ ยิ่งรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไม่อยากให้เราลงข่าวไหน เรายิ่งต้องไปคุ้ยมากขึ้นเท่านั้น เพราะที่เขาไม่อยากให้เราลงเพราะเขารู้ว่ามันสำคัญ ส่วนที่เขาอยากให้เราลง เราต้องบอกว่าเฉยๆ เพราะการที่เขาต้องการให้เราลง เพราะเขามีสื่ออยู่แล้ว แต่ที่เขาพยายามปกปิด พยายามที่จะไม่ให้เราเอาลงนั่นแหละสำคัญ

ฉะนั้นคำจำกัดความของคำว่า  Investigative reporter” บางครั้งอาจหมายรวมถึงเราไปเจาะในสิ่งที่เขาไม่อยากให้เราเจาะ แต่ช่วงหลังที่มีน้อยลงก็เพราะบรรยากาศการเมือง และในแง่ของสื่อเองก็ขาดการกระตุ้นการรวมตัวกัน ขาดความสามัคคีที่จะมานั่งพูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่เจอ ว่าทำไมเราถึงขาดการทำข่าวลักษณะสืบสวนสอบสวน เพราะสมัยก่อนบรรดาหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ จะมานัดเจอกันอย่างเป็นทางการบ้าง ไม่เป็นทางการบ้าง กินกาแฟ กินเหล้าคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนั้นใครกดดันคุณ ใครกลั่นแกล้งคุณ หรือทำไมข้อมูลที่คุณได้มามันมาจากไหนอย่างไร เราก็ช่วยกัน มันเป็นการแข่งกันระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการปกป้องเสรีภาพของสื่อที่จะจับมือกันในหลายระดับด้วย

แต่ทุกวันนี้บรรยากาศตรงนั้นลดน้อยลง แต่กลับเป็นการแข่งขันทางธุรกิจกันมากเกินไป การแข่งขันในแง่การเป็นมืออาชีพของนักข่าวของสื่อมวลชน คุณแข่งในทางธุรกิจก็แข่งกันไปสิ นั่นคือเจ้าของของคุณ นั่นคือธุรกิจของคุณ แต่ บ.ก.ก็ต้องแข่งกันในแง่คุณภาพของข่าว แต่เป็นในแง่ของการรวมตัวกันเพื่อที่จะส่งเสริมให้มีการทำข่าวลักษณะนี้มันน้อยไป นักข่าวรุ่นใหม่ก็เลยไม่รู้สึก

นักข่าวรุ่นใหม่ เช้ารับข่าวเสร็จ สัมภาษณ์เสร็จก็กลับ หมดหน้าที่แล้ว พรุ่งนี้เช้าก็จดต่อ ไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นไปได้ยังไง นี่มันโกหกเรานี่หว่า เราไปทำทุกวัน ต้องไปถามให้ได้ว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกที่ต้องไปหาคำตอบให้ได้มันขาด เพราะเราไม่ได้สอนคนของเราตั้งแต่เข้ามา ว่าหน้าที่ของสื่อมวลชนไม่ใช่เป็นเพียงแค่เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์นะ นั่นเป็นหน้าที่หนึ่งนะ แต่หน้าที่สำคัญกว่านั้นนอกจากบันทึกแล้ว ยังจะต้องหาคำตอบว่าทำไมมันถึงเกิดเรื่องนี้ แล้วส่งผลต่อสังคมเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะต้องทำหน้าที่นี้ไปค้นหา สอบสวนสืบสวน บอกกับคนอ่านของเราด้วย ตรงนี้คือสิ่งที่ขาด

·         แสดงว่าสิ่งแวดล้อมของนักข่าวเองและสิ่งแวดล้อมของแหล่งข่าวที่มีภาวะอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทำให้กระบวนการเรียนรู้มันขาดโดยสิ้นเชิงอย่างนั้นหรือ

ไม่ถึงกับสิ้นเชิง ผมยังหวังว่ามันยังกลับมาได้ เพราะอย่างสมาคมนักข่าวฯที่พยายามจะทำมากขึ้น แล้วผมคิดว่าก็มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการในช่วงนี้ ว่าเราจะจับมือกันอย่างไรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการทำหน้าที่ของเรา เช่น การทำข่าวสืบสวนสอบสวนให้มากยิ่งขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิของการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เราจะเข้าไปหาทางปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อย่างให้กฎหมายข่าวสารทางราชการก็ทำอยู่พักหนึ่ง ตอนหลังก็ไม่ได้ใช้เท่าไหร่ แต่ประเด็นสำคัญก็คือนักข่าวรุ่นใหม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีกฎหมายนี้

ฉะนั้นคุณก็ต้องไปฝึกนักข่าวของคุณว่า เรามีสิทธิอะไร มีข้อมูลอะไร ทุกวันนี้หากคุณเดินไปสันติบาล เดินไปกรมประมวลข่าวกลาง เดินไปที่ทำเนียบ คุณมีสิทธิที่จะบอกว่าคุณต้องการเอกสารนั้นเอกสารนี้ ต้องการหมายข่าวชิ้นนั้นชิ้นนี้ ไปที่กระทรวงการต่างประเทศต้องการจดหมายฉบับนั้น ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเราเขียนไปถึงคนนั้นคนนี้ วันนั้นวันนี้ ถ้ากฎหมายบอกว่าเกิน 5 ปี เกิน 10 ปี มีสิทธิที่จะทำอย่างนี้แล้ว เราก็มีสิทธิ ทุกวันนี้นักข่าวยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ตรงนี้เราต้องบอกให้เขารู้ ถ้าเขารู้ ผมว่าเขาจะต้องตื่นเต้นมาก ว่าเออ ! เหรอ ! ขอได้จริงๆ เหรอ แต่ทุกวันนี้เขาไม่รู้ (หัวเราะ)

ดังนั้น เราต้องฝึกตรงนี้เลย ถ้าเขารู้ว่า เออ ! ตามกฎหมายเรามีสิทธิที่จะเอาข้อมูลนั้นข้อมูลนี้ หรือว่าเอฟทีเอที่เจรจากันอยู่ขณะนี้ เรามีสิทธิที่จะรู้ว่าตกลงประเด็นไหน อะไร หรือไม่อย่างไร ทางหน่วยราชการก็ต้องบอก แล้วเราก็บอกเลย ถึงแม้ไม่อาศัยกฎหมายก็ตาม

สมมุติว่าระหว่างการเจรจา ทุกอาทิตย์ก็ต้องออกมาบรีฟนักข่าว แล้วให้นักข่าวได้ซักถาม เพื่อที่จะตอบคำถามกับคนอ่านได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น วงการต่างๆ เขาอยากจะรู้ว่า มันมีส่วนกระทบอะไร อย่างไร นี่เป็นพื้นฐาน แต่นักข่าวมักขาดการต่อรอง ก็จะเหมือนกับไปขอข่าวเขา ท่านรัฐมนตรีกรุณาหน่อย มีเวลามั้ยคะ 5 นาทีก็ดี หน้าห้องน้ำก็ได้ อย่างนี้มันน่าสงสารมั้ย คือไม่มีศักดิ์ศรีเลย แต่ถ้าเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร แล้วสิทธิของประชาชนที่จะรู้ข่าว ไม่ใช่สิทธิของนักข่าวนะ นักข่าวเราไม่เข้าใจ นักข่าวบอก โอ๊ย ! จะไปมีสิทธิอะไรมากมายขนาดนั้น อันนั้นไม่ใช่

แต่เราเป็นนักข่าวก็คือ เรากำลังใช้สิทธิของประชาชนที่จะรู้ข่าวสาร ฉะนั้นคุณมีสิทธิที่จะถามรัฐมนตรี ข้าราชการทุกคนให้เขาตอบคำถามคุณ ตรงนี้ก็คือการไปจัดระบบ ทุกกระทรวงต้องไปจัดระบบการให้ข่าว ไม่ต้องไปขอข่าว (หัวเราะ) ประเภทยืนหน้ารถแล้วเอาไมค์ไปจ่อ เอาเทปไปจ่อ มันหมดสมัยแล้ว นั่งถามกันแบบเรียบร้อยก็ได้ แล้วแหล่งข่าวก็บอกเลยให้เวลาครึ่งชั่วโมง เอ้า! ถามมา แล้วนักข่าวก็มีสิทธิบอกว่าท่านนั่งลงนะ อย่างเช่นเรื่องทุจริตกล้ายางในกระทรวงเกษตรฯที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ นักข่าวก็ต้องบอกกับคนที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีในกระทรวงเกษตรฯเลยว่า ท่านนั่งลงนะ ขอครึ่งชั่วโมงนะ ใจเย็นๆ  แล้วก็ถามกันให้เต็มที่ประเด็นเดียว อย่าไปถามเรื่องอื่น เขาต้องมาตอบ ไม่ต้องไปยืนดักตอนลงจากรถ ยืนหน้าห้องน้ำ ไปยืนหน้าห้อง เคาะประตูขอให้เลขาฯช่วย นั่นไม่ใช่ !!

  • เช่นเดียวกับการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี

แน่นอน  แต่ผมไม่ทราบว่าทำไมนายกฯทักษิณ ชินวัตร ไม่ทำ สมัยนายกฯอานันท์ ปันยารชุน  นายกฯชวน หลีกภัย  นายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ก็มี  จะมีทุกอาทิตย์ มานั่งลงบอกเป็น press confer-rent” เป็นเรื่องเป็นราว แต่ทำไมนายกฯคนนี้ซึ่งเข้าใจถึงความสำคัญของสื่อแต่กลับไม่ทำ หรืออาจเป็นเพราะนักข่าวไม่เรียกร้องก็ได้ ถ้านักข่าวเรียกร้อง นายกฯจะไม่ทำได้ไง ถ้านักข่าวบอกว่า ต่อไปนี้ไม่ไปยืนดักท่านแล้ว ทุกวันกี่โมง ให้เวลา 1 ชั่วโมงแล้วกัน แล้วเราก็จะได้ถาม สมมุติถ้านายกฯจะพูดทุกวันซึ่งไม่จำเป็นนะ เพราะพูดทุกวัน วันละ 3 เวลา มันทำให้ข่าวสับสน แล้วส่วนใหญ่ทำเพื่อทีวี ฉะนั้นทีวีได้ 2-3 คำก็พอแล้ว ถามเสร็จแล้วก็ไปถามเรื่องอื่นต่อ เพราะทีวีต้องการข่าวเยอะแต่สั้น  แต่หนังสือพิมพ์ไม่ได้  ต้องบอกว่าเดี๋ยวก่อนท่านนายกฯ เรื่องบริษัทอินวิชั่นมันเป็นยังไง เรื่องนี้จะตอบ 30 วินาทีได้ยังไง มันเป็นเรื่องที่ต้องอธิบาย

สื่อเองก็ต้องตั้งกติกากับทางทำเนียบ เช่นเอาอย่างงี้แล้วกัน ทุกวันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขอเวลาเท่านั้นเท่านี้ ให้ท่านนายกฯพูด ไม่ต้องทุกวันก็ได้ วันเว้นวันก็ได้ เอากี่โมง ที่ไหนบอกมา นักข่าวจะได้ไปปักหลักที่นั่น เทป กล้องก็จะได้ตั้งให้มันเรียบร้อย (หัวเราะ) ไม่ต้องไปยืนดักยืนรอ ไม่ต้องวิ่งหน้าวิ่งหลัง แล้วก็ไม่ได้อะไร ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ระบบปัจจุบันจะมีนักข่าวซีเนียร์เพียงไม่กี่คนที่ถามคำถาม ไม่ได้ว่านักข่าวรุ่นใหม่นะ แต่เขาไม่รู้จะไปถามอะไร นักข่าวซีเนียร์เราก็รู้จักดี ถามอยู่ไม่กี่คนนี่แหละ เพราะความที่เคยชินและกล้ากว่า นักข่าวรุ่นใหม่ก็คอยจดไปสิ แต่ถ้าเกิดจัดระบบนี้แล้วนักข่าวทุกคนก็ต้องไปทำการบ้านนะ ไปคิดคำถามมาแล้วว่าเราจะถามอะไร

ฉะนั้นคำว่านักข่าวไดรฟ์เอก็จะไม่มี  ทุกคนต้องทำการบ้าน พิสูจน์ว่าตัวเองนั้นมีสมอง นักข่าวมีสมอง มีกึ๋น แล้วก็รู้เลยว่าคำถามนี้มาจากใคร ไม่ใช่ว่าไม่รู้เสียงนี้มาจากไหน เสียงก็โผล่มาที อยากถามก็ถาม อยากตอบก็ตอบ แซวกันเล่นบ้าง บางทีพูดทีเล่นทีจริงก็กลายเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา

อย่างตอนตั้ง ครม. มีการพูดกันถึงมิสเตอร์คลีน คืออยู่ดีๆ ผมก็แปลกใจว่า ทำไมนายกฯทักษิณมาบอกว่า ครม.ผมจะเป็นมิสเตอร์คลีน ผมไม่เชื่อว่าอยู่ดีๆ นายกฯทักษิณเดินมาแล้วจะพูดอย่างนั้น ผมก็ไปเปิดเทปดู ว่ามันเป็นยังไง ปรากฏว่านักข่าวเป็นคนถาม นายกฯก็บอกว่า ครม.ชุดใหม่จะพยายามทำให้ดีที่สุด ก็มีเสียงนักข่าวถามมา “จะต้องเป็นมิสเตอร์คลีนมั้ยค่ะ” นายกรัฐมนตรีตอบว่า ใช่สิ เป็นมิสเตอร์คลีนแน่นอน ประโยคนั้นเทปจับไว้ แต่เสียงคำถามไม่มี ฟังประหนึ่งว่าอยู่ดีๆ นายกฯทักษิณมาพูดคำนี้ขึ้นมา แต่ถ้าคุณเป็นนักข่าว คุณก็จะต้องไม่เขียนว่านายกฯประกาศว่า ครม.จะต้องเป็นมิสเตอร์คลีน เพราะเป็นการตอบคำถาม ไม่ใช่คำพูดของนายกฯ แต่นักข่าวถามมา คุณก็ต้องเขียนให้มันตรงกับข้อเท็จจริง ข่าวก็จะไม่ออกมาว่านายกฯโอ้อวดว่าจะเป็นมิสเตอร์คลีน ถ้าเป็นคำที่ดี นายกฯเอาด้วยก็แล้วไป แต่ถ้านายกฯบอก ไม่ใช่ !!!ผมไม่ได้พูด  นายกฯก็จะบอกว่านักข่าวเบี้ยว นักข่าวสร้างเรื่อง  คุณเอาคำถามมายัดปากผม แล้วก็จะโดนข้อหานี้อีก เพราะว่ามันเป็นการรายงานข่าวที่ไม่ตรงกับ mood ที่มันเกิดขึ้นจริงๆ

ฉะนั้นการแถลงข่าวโดยนั่งถามตอบกันให้เป็นกิจจะลักษณะ ยกมือขึ้นถาม หนูชื่อนี้ ผมชื่อนี้ จากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เอาล่ะแฟร์แล้ว แล้วก็ตกลงกันนะว่า  ต้องถามให้จบประเด็นนี้นะ ไม่ใช่ถามเสร็จแล้วไปอีกเรื่องหนึ่งนะ คุณก็จะได้ประเด็นครบถ้วน นักการเมืองก็ไม่สามารถหลบไปอีกเรื่องหนึ่งได้

  • ถ้าเราต้องการอย่างนี้ ก็ต้องกลับไปที่กระบวนการของหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดซึ่งเยอะพอสมควรเหมือนกัน คือทุกคนต้องมีวาระของตัวเองในการทำงาน

ก็ต้องค่อยๆ ปรับ เพราะอย่างสมัยก่อน นักข่าวก่อนออกจากบ้าน หรือก่อนนอนด้วยซ้ำไป ต้องคิดแล้วว่าพรุ่งนี้เราจะไปถามอะไร ต้องเปิดหนังสือพิมพ์ดู ต้องจดว่าเราจะถามอะไร เพราะไม่ได้คิดพึ่งพาว่าจะมีรุ่นพี่ถามแทนคุณ อีกอย่างคุณต้องมีประเด็นของคุณเอง เพื่อคุณจะได้เขียนข่าว หัวหน้าก็พอจะรู้ว่าเราฉลาด เรามีงาน ฉันไม่ใช่เป็นประเภทลอกข่าวใคร การลอกข่าวสมัยก่อนมันน่าอับอายมาก น่าอับอายที่สุด  แต่หากไปลอกข่าวใครมา ต้องขออนุญาตก่อนด้วยนะ ว่าหนูมาไม่ทันนะ ก็เลยต้องขอข่าวเขา แล้วก็ต้องขออนุญาตหัวหน้าข่าว หัวหน้าข่าวต้องรู้ว่าคุณไปขอข่าวเขามา แต่ทุกวันนี้ทำเป็นประหนึ่งว่าเป็นข่าวของคุณเอง กลับตาลปัตรกัน (หัวเราะ) แล้วก็ไม่รู้สึกละอายใจด้วย ถือว่าการลอกข่าวเป็นเรื่องธรรมดาด้วยซ้ำ

แต่ถ้าถามว่าทำยังไง ผมคิดว่ามันไม่ยากเลย ก็คือว่ากอง บ.ก.แต่ละกองต้องร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหานี้ ส่งระดับซีเนียร์ออกไปอยู่ตามกระทรวงต่างๆ แล้วก็เอาระดับเด็กๆ เข้ามาสอนงานก่อน สลับกัน ให้เด็กรู้จักรับข่าวจากหัวหน้าข่าว หรืออาจจะไม่ต้องหัวหน้าข่าวก็ได้ อาจเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์หน่อย แล้วจริงๆ มันก็จำเป็นต้องทำ เพราะในกอง บ.ก.จะมีซีเนียร์ มีรีไรเตอร์ ที่อยู่ในออฟฟิศนานแล้ว ต้องออกสลับกันบ้าง

เพราะถ้าคุณเก่งจริง คุณต้องเรียนรู้ทุกกระทรวง ทำไมไปติดอยู่ที่ทำเนียบ 5 ปี 6 ปี 10 ปี คุณไปอยู่ที่นั่นทำไม พรุ่งนี้คุณไปอยู่ที่สภาบ้าง คุณไปกระทรวงศึกษาฯบ้าง กระทรวงศึกษาฯนี่ข่าวแห้งมากเลย ไม่มีข่าวเลย นักข่าวก็ไม่ถามอะไร วิธีการให้ข่าวของกระทรวงศึกษาฯก็แย่มาก คือไม่มีการแถลง ดังนั้นคุณต้องไปเจาะเอง บอกเขาว่าเอาอย่างนี้สิ คุณอยู่ทำเนียบมานาน เราไปเจาะข่าวกระทรวงศึกษาฯกันดีกว่า ไปเลยไปเจาะเรื่องแอดมิสชั่น คุณก็ไปถามฝ่ายที่เกี่ยวข้องเบื้องหลังว่าเป็นอย่างไร บางทีอาจได้ข่าวที่ดี เพราะไม่มีใครเข้าไปทำ เข้าไปเจาะ

ฉะนั้นคุณก็ไปขอเจออธิบดี  ไปเจอผู้อำนวยการกอง เจอแล้วก็ถามว่า ทำไมต้องแก้ไม่แก้ กลับมาเขียนเอ็กซ์คลูซีฟลึกด้วย น่าอ่าน วิธีอย่างนี้จะไม่ก่อให้เกิดนักข่าวเกาะเป็นพูล คือต้องสลายในแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดข่าวพูล อันนี้คนทำข่าวและกอง บ.ก.ก็ต้องคิด ต้องกล้าหน่อย เพราะสมัยนี้ บ.ก.กลัวเด็ก เกรงใจเด็ก กลัวเขาน้อยใจ แต่สำหรับผมกลับคิดตรงกันข้าม เพราะนี่คือการปฏิรูป แล้ววงการการเมือง วงการรัฐบาล วงการแหล่งข่าวก็จะชื่นชมเราว่า เออ ! สื่อเคลื่อนไหวแล้วนะ สื่อปรับปรุงตัวเองแล้วนะ ฉะนั้นพูดอะไรบ้าๆ โง่ๆ ไม่ได้แล้ว เพราะว่าระดับซีเนียร์ขึ้นมาทำข่าวเอง

นักข่าวที่มาอย่างน้อยก็ต้อง 5 ปีขึ้นไป ที่จะไปฟังการแถลงข่าว จะไปตั้งคำถามและเป็นคนเขียนข่าว และเมื่อถึงเวลานักข่าวรุ่นใหม่ก็สามารถออกไปประกบได้ ไปด้วยกันกับซีเนียร์ ทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง รับรองว่าขวัญเขาจะดีขึ้น เขาก็จะกล้าขึ้น แล้วเขาก็จะเรียนรู้วิธีการทำงาน แล้วคุณภาพข่าวของเราก็จะดีขึ้น ไม่ต้องไปลอกข่าวเลย เพราะทุกคนได้ข่าวเหมือนกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณจะเอาข่าวนี้ไปเขียนในแนวไหน คุณไปเจาะของคุณมากขึ้น เราจะต้องสอนเด็กตลอดเวลาว่าไม่ใช่แค่แถลงข่าว แล้วจด แล้วส่ง แต่คุณต้องไปตามต่อ คุณต้องรู้ว่าเรื่องนี้รายละเอียดยังไม่พอ คุณต้องเหลียวไปข้างหลัง ไปหาแหล่งข่าวต่อ ไปคุยต่อ  รัฐมนตรีคนนี้พูดเสร็จไม่พอ คุณต้องเดินตามเขาไปอีก ว่าเมื่อกี้มันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถามต่อเอารายละเอียดเพิ่มเติม  มิฉะนั้นคุณจะมีประโยชน์อะไร ถ้าคุณเหมือนกับทุกคน ถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้องไปก็ได้

  • แต่ในความเป็นจริง บรรยากาศแบบนี้แทบไม่มีให้เห็น หรือมีน้อยมากในสนามข่าว

ทำไมล่ะ เพราะอะไร (หัวเราะ)  ต้องสร้างความรู้สึกผิด ต้องรู้สึกว่าเราไม่มีฝีมือเลยหรือ ไม่ใช่แค่เป็นนักข่าวแล้วไปเจอแหล่งข่าว แต่มันน่าละอายมากเลย ที่นักข่าวเป็นแค่จดคำพูดแล้วก็ส่ง อย่างที่บอกมันก็คือเทป เทปยังดีกว่าคุณอีก

  • แต่ใครคิดอย่างนั้นจะกลายเป็นคนที่แปลกแยกไปเลย ถ้าเกิดว่าพรุ่งนี้เช้ามา คุณมีข่าวไม่เหมือนใครจะโดนเพื่อนในสนามข่าวโกรธ เกลียดชัง

ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องสร้างค่านิยมใหม่ว่า อันไหนคือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่กลับกัน คุณต้องสร้างความภูมิใจว่าทุกคนเป็นมืออาชีพ ทุกคนมีความภูมิใจในผลงาน แล้วทุกคนก็แสดงฝีมือกับคนอ่าน คนอ่านก็จะบอก เออ ! นักข่าวคนนี้มันใช้ได้มันเก่ง มันมีฝีมือ มันไปเจาะข่าวนี้มา ไปเขียนเรื่องเดียวกันแต่ไปเขียนสีสันให้เราเข้าใจมากกว่าอีกฉบับ อย่างนี้คือความภูมิใจของคุณ

  • ชุมชนนักข่าวสมัยก่อนกับสมัยนี้มันเปลี่ยนไปมากหรือเปล่า เพราะสมัยคุณเคยมีสโมสรนักข่าวด้วย

ใช่ !  มีที่กินข้าว มีที่กินกาแฟ แล้วก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หรือว่านัดแหล่งข่าวมาคุยกันที่นี่ นักข่าวก็บอกว่า เดี๋ยวเรานัดแหล่งข่าวมาคุยที่สโมสรนักข่าว จะออฟเร็กคอร์ดก็ตกลงกันให้เรียบร้อย เคยได้ยินว่าสมาคมนักข่าวฯจะสร้างตรงนี้ แต่จู่ๆ ก็เงียบไป คือมันต้องมีสโมสร คล้ายๆ กับเป็นคลับ เป็นที่เจอกันตอนเย็น หรือว่าคุณจะไปไหนก็ตามคุณต้องแวะมาก่อน เพราะที่นี่อาจจะมีข่าวให้ มีรูปเป็นกลางมาให้ หรือมีรัฐมนตรีต่างประเทศไหนมาเยือนก็อาจจะเชิญเขามาดื่มกับเรา  คุณแวะมา คุณก็จะได้เจอ วันนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนนี้เขาอยากมาคุยก็ให้มาที่นี่ โฆษกรัฐบาลบอกว่าไม่มีเวลาเจอกันเลย เดี๋ยวเย็นเจอกันที่สโมสรนักข่าว ทุกคนก็จะมาที่นี่ ให้มันมีประโยชน์ต่ออาชีพเรา นี่คือจุดที่เราสามารถทำได้ แต่ก่อนเราไม่มีตังค์ แต่เดี๋ยวนี้เรามีตังค์แล้ว

สมัยนั้นมีสโมสรมานั่งถามกันว่า ข่าวนั้นข่าวนี้จริงหรือเปล่า แต่ไม่มีการแข่งขันกันแล้ว เพราะปิดข่าวกันไปหมดแล้ว อย่างน้อยคือการมีสปิริตเหมือนกัน เพราะโดนบีบเหมือนกัน โดนกลั่นแกล้งเหมือนกัน สันติบาลมาแอบเช็กเราเหมือนกัน นักการเมืองก็โกหกเราเหมือนกัน แต่เรามาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน พอเราเช็กข่าวกัน นักการเมืองก็ไม่มีทางมาหลอกเราได้ เพราะการปล่อยข่าวในแต่ละมุมก็จะถูกเช็ก ถูกตรวจสอบกันที่ตรงนี้

ฉะนั้นสมาคมนักข่าวน่าจะมีสโมสรขึ้นมา เป็นสโมสรที่เราสามารถทำให้เป็นศูนย์กลางการพบปะกัน ไม่ใช่ให้เราตามไปโน่นไปนี่ ซึ่งมันไม่จำเป็นเลย สะดวกที่สุดคือตรงนี้ เสร็จแล้วเราก็อาจจะให้เลขาฯของสมาคม ใครมาพูด ใครมาให้ข่าวก็ถอดเทปแจกทุกคน คือบริการให้เลย  ไม่ต้องไปนั่งลอกกัน แต่ไม่ใช่เขียนข่าวให้นะ มันเป็น text ของคุณ ใครถามใครตอบออกมาอย่างไร สมมุติว่าเป็นคำถามเปิด หรือจะออนเดอะเร็กคอร์ด เราก็ทำให้ทุกคนโดยสมาคมนักข่าว ใครมีแถลงข่าวเปิดต่างๆ นานาก็มาที่นี่  แล้วอาจจะมีอนุกรรมการของสมาคมฝ่ายต่างๆ ก็จะได้มาประชุมปรึกษาหารือกัน คือสร้างทั้งสปิริตและกายภาพ มีตึกมีห้องหับพร้อม มีที่ทางสามารถรับรองได้ ซึ่งควรที่จะทำเป็นเรื่องเป็นราวเลย

  • นี่คือข้อเสนอถึงบทบาทที่สมาคมนักข่าวฯควรจะทำใช่หรือเปล่า

ใช่ครับ จะได้เป็นการสร้างวัฒนธรรมให้กับคนทำข่าว  สมัยก่อนคนมันน้อย ตกเย็นปิดข่าวเสร็จก็ไปกินเหล้ากัน ก็มีที่นัดหมายกัน ตามโรงแรมบ้าง ร้านข้าวต้มบ้าง ก็รู้กันว่าจะไปหาใครที่ไหนอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้บรรยากาศไม่เป็นอย่างนั้น รถติดด้วย อยู่กันไกลด้วย แต่สมัยก่อนอยู่แถวราชดำเนิน อยู่แถวกรมประชาสัมพันธ์ ตอนเช้าก็จะไปเจอกันก่อนที่นั่น แล้วก็บอกหมายข่าวกัน ว่าใครแถลงอะไรยังไงกันที่ไหน ยิ่งตรงนั้นก็มีสยามรัฐ มีบางกอกโพสต์ แล้วก็อีกหลายฉบับ ฉะนั้นพอตกเย็นก็จะรู้เลยว่านักข่าวจะไปเจอกันที่ร้านข้าวต้มไหน แต่ไม่มีบริการให้นะ ไม่มีที่ทางให้ แต่เป็นโดยสังคม ทำให้เราสามารถรวมตัวกันแน่นหนาได้  ช่วยเหลือกันได้ ใครกลั่นแกล้งเราก็สามารถเช็กข่าวกันได้

เพราะมันมีแรงกดดันขนาดนั้น สมัยนี้ก็มี แต่ว่าเราไม่กระทำเพียงพอ แค่ยกหูคุยกัน ซึ่งมันก็มีวิธี แต่ถ้าหากเขารู้ว่าสื่อรวมตัวกันได้ นักการเมืองก็จะกลัวไปครึ่งหนึ่งแล้ว

  • แต่สถานการณ์วันนี้สามารถแบ่งแยกได้หรือเปล่า คือเขาเลือกที่จะให้คนนี้ กลุ่มนี้ แต่ไม่ให้อีกกลุ่มหนึ่ง เขาก็เลยสามารถคุมเกมได้

เราก็อย่าให้เขามาแบ่งแยกแล้วปกครองเราสิครับ เราต้องรวมตัวกันให้ได้ เชื่อเถอะสื่ออย่างไรก็แล้วแต่  มีความรู้สึกกันเองมากกว่าที่จะมีความผูกพันกับแหล่งข่าว นอกจากเด็กรุ่นใหม่ที่เขาอาจจะยังรู้สึกน้อย ซึ่งเราก็ต้องสอนเขาให้เขาเข้าใจเรื่องความสามัคคี ว่าการรวมตัวกันก็คือการปกป้องสิทธิของการรับรู้ข่าวสารนั้นเป็นหัวใจของการทำข่าว ฉะนั้นอย่าไปยอม อย่าไปรับปาก เสียผู้เสียคนเพราะเขาเอาใจเราหน่อย พาเราไปเที่ยวไปโน่นไปนี่แล้วเราก็ยอมเป็นขี้ข้าเขา ต้องสอนเขาว่านักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่อาชีพนี้เราต้องอยู่ตลอด ต้องบอกเขาว่าเราเป็นนักข่าว เราอยู่นาน นักการเมืองเขามาแล้วก็ไปแล้วก็มา (หัวเราะ)

เล่าให้เขาเข้าใจว่าอาชีพนี้อยู่นาน หากเราซื่อสัตย์ต่ออาชีพ แต่ถ้าเราหลงระเริงไปกับผลประโยชน์ กับความสัมพันธ์ส่วนตัว เขาให้ของเรา ให้เงินเรา ความน่าเชื่อถือของคุณก็ค่อยๆ หมดไป แล้วเชื่อเถอะ คนจะต้องรู้ ไม่มีความลับหรอก  ไม่ว่าคุณจะไปแอบซ่อนตัวอย่างไรก็แล้วแต่ เขาก็รู้ว่าคุณไปรับเงินนักการเมืองมา คุณสนิทกับพ่อค้าคนนี้ คุณเขียนเชียร์เขา เขาให้ตั๋วคุณไปเที่ยว ทุกคนรู้กัน เรื่องอย่างนี้ไม่มีความลับสำหรับวงการนี้

  • แสดงว่าสื่อก็ต้องมี code of conduct เหมือนกัน

ต้องมีแน่นอน

  • ปัจจุบันมักไม่ค่อยปรากฏชัดเรื่อง code of conduct

มีนะ อย่างของเครือเนชั่นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือเลย แล้วประกาศเลยว่าทุกคนต้องทำอย่างนี้ แล้วเราก็กล้าประกาศกับสังคมด้วยว่า ถ้าเราผิดอย่างนี้ลงโทษเรา ด่าเรา ประณามเรา อย่าเชื่อเราถ้าเราไม่ทำตามที่ว่านี้ เราต้องกล้าที่จะมีคอมมิสเมนต์กับสังคมนะ แล้วผมก็ถือว่านี่คือพื้นฐานที่เราต้องทำ ว่าคุณมีโค้ดออฟคอนดักต์อย่างไรบ้าง ฉะนั้นถ้าคนอ่านบอกว่าเรามั่ว เราก็ต้องแก้ไข เราต้องรับผิดชอบ คือเขียนไว้เลย แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยืนยันว่า เราจะต้องเป็นกลางอย่างไร เราก็ต้องลงตามสิ่งที่เรารู้เห็นหรือได้ไปเจาะมา แล้วก็จะเป็นกติกาของทุกคนที่มาทำงานที่นี่

จริงๆ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็มีนะ ก็เขียนออกมา แล้วก็พยายามส่งเสริมให้แต่ละโรงพิมพ์มีโค้ดออฟคอนดักต์ของตัวเอง แต่ของเราเราทำเงียบๆ (เนชั่นเวย์) แต่เราก็พร้อมถ้าหากว่าใครสนใจ แล้วก็ส่งไปตามคณะนิเทศศาสตร์ให้อาจารย์ ให้นักศึกษาเขาวิจารณ์ ว่าทำไมมันต้องมีโค้ดออฟคอนดักต์ เพราะบางที่ไม่ได้สอนวิชาจริยธรรมสื่อ เมื่อไม่สอน เด็กจบมาใหม่จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจได้ยังไง ฉะนั้นควรจะทำและมีโค้ดออฟคอนดักต์ อาจจะเรียกว่าหลักจริยธรรมของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ เกี่ยวกับเรื่องความซื่อตรงต่อข่าวยังไง เป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย แล้วก็ลงรายละเอียดเลยว่า หากคุณได้รับเชิญจากนักการเมืองหรือจากธุรกิจ คุณควรจะทำตัวอย่างไร

  • ต้องกำหนดหรือเปล่าว่านักข่าวสามารถรับของขวัญได้ในปริมาณเท่าไร

มีๆ ซึ่งของเราสามารถทำได้จริง เพราะก่อนจะออกข้อกำหนดนี้ มีการจัดประชุมสัมมนากับนักข่าวภาคสนามทุกคนเลย แล้วก็คุยกันว่าทำได้หรือเปล่า เห็นด้วยมั้ย ไม่เห็นด้วย บอก เพราะเราต้องการให้เขาทำได้ด้วย ไม่ใช่เขียนเฉยๆ ล่าสุดเราก็ให้แยกเป็นกลุ่มย่อยไปถกกัน ว่าทำได้ ไม่ได้ เช่น หากการบินไทยเชิญคุณไปเปิดจุดบินใหม่ เขาออกเงินให้หมดค่าโรงแรม คุณรับได้มั้ย  แล้วกลับมาถ้ารับ คุณจะเขียนว่ายังไง เราต้องบอกเลยว่าทริปนี้สปอนเซอร์โดยใคร คนอ่านก็จะได้รู้ เราไม่ได้บอกว่าไม่ให้รับหมดเลย ในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้ แต่ว่าถ้ารับ กำหนดให้ชัดว่าเงื่อนไขคืออะไร

สมุมติว่านักการเมืองพาคุณไปหาเสียง อันนี้เราบอกเลยว่า เราออกค่าใช้จ่ายเอง ผู้สมัครคนหนึ่งพาไปหาเสียงโดยจะออกค่าเครื่องบินให้ ออกค่าโรงแรมให้ 3 วัน 3 คืน แต่เราบอกว่าเราไปทำข่าวแต่เราขอออกตังค์เอง อย่างนี้คือมันมีหลักการบอก แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นการเปิดแนะนำรถ BMW พาไปดูโรงงานถึงเยอรมนี เราจะทำอย่างไร ในนั้นก็จะมีบอก ว่าเขาจะต้องขออนุญาตใครก่อน แล้ว บ.ก.ก็จะตัดสินขั้นตอนกระบวนการ ว่าจะให้ไปหรือไม่ให้ไป มันเป็นอย่างไร ถ้าให้ไปต้องมีเงื่อนไขใดบ้าง นั่นคือต้องมีเหตุผลอธิบาย

  • หากการกอบกู้ภาพลักษณ์แล้วสถานการณ์ของสื่อยังไม่ดีขึ้น ยิ่งวันนี้ยอดหนังสือพิมพ์ก็ตกลง ภาพลักษณ์ของสื่อในสายตาชาวบ้านก็แย่ลงเรื่อยๆ จะทำอย่างไร

อย่างที่บอก สมาคมอาจจะต้องจัดสัมมนาเป็นชุดในระยะยาว อย่าจัดทีเดียว นำนักข่าวในสนาม คนในกอง บ.ก.หรือแม้แต่คนข้างนอก คนอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วก็สร้างคอนเน็กชั่นระหว่างคนอ่านกับคนทำหนังสือพิมพ์ให้มากยิ่งขึ้น เช่นกรณีในต่างประเทศมี “public editor” ซึ่งก็คือตัวแทนของคนอ่านที่อยู่ในกอง บ.ก. มีหน้าที่วิจารณ์ว่าข่าวนี้ไม่แฟร์ ข่าวนี้ลำเอียง พาดหัวอย่างนี้ไม่ถูก แต่ก็จะเขียนในคอลัมน์นี้ในหนังสือพิมพ์ตัวเอง แต่มันจะไปถึงจุดนั้นหรือเปล่า เมืองไทยพร้อมตรงนี้หรือยัง ก็ต้องมาคุยกัน

แต่บางทีมันก็สร้างความตื่นตัว ว่าเราต้องรับผิดชอบต่อคนอ่าน แต่ในทางกลับกันก็ต้องถามว่า แล้วใครคือตัวแทนของคนอ่าน ไม่มี ทุกวันนี้ไม่มี เพราะโครงสร้างของสังคมไทยไม่มีตัวแทนของคนอ่าน ถ้าเป็นเมืองนอกมันยังมี “Reader club” มีกลุ่มสโมสรหนังสือพิมพ์เล็กๆ ถ้าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนไม่แฟร์ เขาก็จะเขียนโปสการ์ดไปด่า ไปประท้วง มีการชักชวนไม่ให้ซื้อหนังสือพิมพ์ คือเป็นการลงโทษกันไปเลย ไปบอกกับผู้ลงโฆษณาว่า อย่าไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เพราะลงแต่ข่าวที่แย่ ลงแต่ข่าวอาชญากรรม ทำให้เด็กเสีย หรือว่ามีรูปโป๊มากเกินไป เขาก็จะไปประท้วง มีจดหมายมีการรณรงค์ แต่เมืองไทยสังคมมันไม่มี สื่อเองก็ต้องคิดกลไกนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ฉะนั้นอาจมีการตั้งเป็นกลไกใหม่ขึ้นมาว่า อาจจะมีกลุ่มเอ็นจีโอ ที่เขาทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบสื่ออยู่แล้ว ให้เขาทำอาจจะเดือนละครั้ง ให้เขามาวิจารณ์ให้เราฟัง เปิดเวทีให้เขา เขาก็จะบอกเลยว่าเดือนที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ไม่แฟร์ อยู่ดีๆ ข่าวนี้มันก็หายไปเลย ไม่มีใครตอบว่ามันคืออะไร ผู้บริโภคข่าว สมาคมผู้ปกครอง นักวิชาการ มาเจอกับตัวแทนของสมาคม หนังสือพิมพ์ทั้งหลายแหล่ก็มา ซึ่งก็แล้วแต่คุณ ว่าคุณจะเอามาลงหรือเปล่า  หรือจะมาฟังเฉยๆ ก็ได้ คนอ่านก็จะรู้เองว่าฉบับนี้เขายอมรับนะ แต่ฉบับนี้ไม่เคยพูดถึงเลย แสดงว่าคุณไม่สนใจเลย อย่างนี้ก็เป็นทางหนึ่งที่จะกู้ภาพลักษณ์ และแสดงความรับผิดชอบ ว่าสื่อก็ไม่ได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์

เราก็ต้องการให้คนอ่านเห็นว่า เรามีการรับฟังถึงปัญหา เสียงเรียกร้องและคำวิจารณ์ ถ้าเขาบอกว่ามีคอลัมน์จดหมาย บ.ก.อยู่แล้ว อันนั้นไม่สะท้อน เพราะว่าคนไม่อยากเขียนมา หรือเขียนมาก็ไม่รู้ว่าจะได้ลงหรือไม่

สมมุติว่าต่อไปนี้สมาคมนักข่าวฯขอให้สมาคมผู้ปกครอง นักวิชาการ เอ็นจีโอด้านสื่อ หรือเอ็นจีโอที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องปัญหาเด็ก เขาอาจจะบอกว่าสื่อแย่มากเลยที่เล่นข่าวนี้ เด็กเสียหายมาก แต่ถ้าเราทำเป็นระบบเดือนละครั้ง จะมีคนมาวิจารณ์ให้เราฟัง ผมว่าคุณภาพเราก็จะดี

เมื่อมีคนคอยจับผิดเรา คอยมอนิเตอร์เรา เราต้องยิ่งระวังมากขึ้น ยิ่งถ้าเรารู้ว่าจะมีคนวิจารณ์เราทุกเดือน ก็ทำให้ได้คิดแล้วว่า ถ้าพาดหัวอย่างนี้อาจจะโดนด่าแน่ คือสังคมมันต้องมีเช็กแอนด์บาลานซ์ ตรงนี้คืออยากให้สมาคมนักข่าวฯทำ

  • กรณีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ คุณมองการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างไร นักข่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือเปล่า

ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ว่าจู่ๆ นักการเมืองหรือคนในรัฐบาลจะลากออกนอกประเด็นไป เพราะประเด็นจริงๆ คือเรื่องทุจริตไม่ใช่เรื่องชาตินิยม ไม่ใช่เรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือรัฐกับเอกชน ไม่ใช่เลย แต่ผมก็ยังเห็นความพยายามของหนังสือพิมพ์อยู่ แต่สื่อทีวีวิทยุกลับน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ที่สำคัญเกิดปัญหาการดิสเครดิตด้วย

ฉะนั้นหนังสือพิมพ์เองยังเป็นปราการด่านสุดท้ายของสังคมไทย จะดีจะชั่วอย่างไร หรืออย่างที่เราวิจารณ์กัน แต่อย่างน้อยก็ยังมีสำนึกอยู่ว่า อันนี้ไม่ได้ อันนี้มันผิด แล้วก็มีการติดตามข่าว รายงานข่าว วิพากษ์วิเคราะห์ให้ฟัง นั่นคือความหวังของสังคมที่ยังเหลืออยู่ ถ้าไม่มี หรือลองว่าสื่อสิ่งพิมพ์ถูกซื้อไปหมด หรือถูกควบคุมได้เหมือนทีวีวิทยุ ข่าวนี้ไม่ปรากฏหรอก

เคยมีเหมือนกันนะ โทรศัพท์มา 2 ครั้ง บอกว่า เฮ้ย ! เบาๆหน่อย เรื่องนี้ประเทศชาติเสียหาย เขาใช้คำว่าประเทศชาติเสียหาย คุณไม่รักชาติหรือไง แล้วมีใครมากดข้างหลังคุณอีกที ข่าวนี้ก็หายไป คุณก็ไปเล่นข่าวสร้างบ้านร้าว  ไข้เลือดออก ไปโน่นเลย ไม่ใช่ว่าข่าวดังกล่าวไม่สำคัญ แต่มันสามารถปิดข่าวอื่นได้หมดเลย ยิ่งมีข่าวมิสยูนิเวิร์สเข้ามาด้วย อย่างนี้ก็หมดสิ

ฉะนั้นถามว่า ทำไมเราถึงจะต้องห่วงสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เพราะหนังสือพิมพ์เป็นสถาบันเดียวที่เราต่อสู้มาตลอดเวลา เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะดีจะเลวอย่างไรก็เป็นปราการด่านสุดท้ายจริงๆ แล้วก็เป็นสถาบันเดียวที่คนยังเชื่อ หากเราปรับปรุงตัวเองไปเรื่อยๆ ให้เห็นว่าเราพยายาม คนก็จะเชื่อ แล้วก็ตื่นเช้าขึ้นมาเปิดทีวี วิทยุ แต่สุดท้ายก็ต้องมาอ่านหนังสือพิมพ์ถึงจะเชื่อว่า จริงหรือไม่จริง

  • เราจะแก้ปัญหาอย่างไรกับเรื่องการโกงในโลกยุคใหม่ โกงโดยคนฉลาด อย่างสัญญาสุวรรณภูมิก็เป็นภาษาอังกฤษส่วนหนึ่งแล้ว แถมยังมีศัพท์เทคนิคทางวิศวกรด้วย แหล่งข่าวมักบอกกับนักข่าวว่าจะไปรู้เรื่องอะไร นักข่าวตามไม่ทัน

(หัวเราะ) ใช่ๆ แล้วที่แย่กว่านั้นคือคนที่ไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ไม่รู้ในเรื่องเหล่านั้นจริงๆ ไม่ได้ทำการบ้านจริงๆ เขาก็ลากออกไปเลยนะ คนสัมภาษณ์ก็งงเลยนะ ตามไม่ทัน แหล่งข่าวก็เก่ง พูดเสร็จก็ลากไป พูดอ้อมไปจนจบ แต่นักข่าวยังไม่รู้เลยว่าตกลงแล้วประเด็นเป็นยังไง เฮ้ย! สนุกดีนะ ซื้อต้นไม้ราคา 50 ล้านได้ ไปออกนั่นเลยนะ ซื้อที่ 80 ล้านได้ ทำไมเงินเยอะจัง ลืมประเด็นไปเลย

ลืมไปว่าจริงๆ ใครจ่ายใคร แต่จริงๆ ความสามารถนักข่าวมี ถ้านั่งลงซักถามกันจริงๆ มี แต่ว่าต้องส่งระดับซีเนียร์ มีประสบการณ์ไปซักนะ จริงๆ เรื่องนี้ไม่มีทางหลุดหรอก แหล่งข่าวไม่มีทางหลุด ถ้าเจอนักข่าวระดับที่มีประสบการณ์หน่อย รับรองว่าเจาะกลับมาได้ บอกว่าเดี๋ยวเอาเรื่องนี้ก่อน คือสามารถลากกลับเข้าประเด็นได้ เพราะไม่เกรงใจเนื่องจากมีความเป็นซีเนียร์พอ  แต่ถ้านักข่าวใหม่ไป เขาอาจจะไม่กล้า แหล่งข่าวก็จะบอกว่า โอ๊ย! คุณไม่รู้เรื่องหรอก เคยไปมั้ยสนามบินที่ชิคาโก สนามบินที่บอสตัน มันจะมีเครื่องนั้นเครื่องนี้ นักข่าวก็งงสิครับ (หัวเราะ)

แต่ถ้าวกกลับมาที่พื้นฐานของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน เราต้องกลับมาสร้างตรงนี้ แต่เบสิกของการตั้งประเด็นมันต้องสอน ประเด็นถูกต้องยังไง มันต้องสอน รายละเอียดในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ซึ่งข้อมูลมันไม่ใช่เรื่องยาก เทคนิคขนาดไหนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะลงท้ายมันคือเงิน (หัวเราะ)  คุณไม่ต้องห่วงว่าเทคนิคมันขนาดไหน แต่ให้เรารู้พื้นฐานของการจับประเด็นคืออะไร การย่อความ อ่านเอาเรื่อง อันนั้นต้องสอน

นี่แหละคือสิ่งที่เครือเนชั่นกำลังจะจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จับมือกับ ม.รังสิต ม.หัวเฉียว เข้าไปในคณะเขา สอนสิ่งเหล่านี้ แล้วผมก็อยากไปสอนวิชาจริยธรรม เพราะมันไม่มี ผมบอกว่าวิชานี้ต้องให้เครดิตสูงด้วย แล้วผมก็จะสอนโดยเอากรณีศึกษาจริงๆ บอกนักเรียนว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พาดอย่างนี้ คุณคิดว่าโดยหลักจริยธรรมแล้ว คุณจะเขียนข่าวนี้อย่างไร หากคุณมีสิทธิเขียน  เขาก็ต้องไปคิดสิ  เพราะเราตั้งประเด็นในทางปฏิบัติ เขาก็ต้องไปย้อนหลักทฤษฎี ว่าความถูกต้องมันคืออะไร นี่คือการฝึกเขาให้คิดเป็น ในฐานะเป็นนักหนังสือพิมพ์ ต้องคิดให้เป็น คิดให้ถูก คิดมีระบบ แล้วรายละเอียดไม่ต้องห่วง ใครจะมาบลัฟ คุณก็ไม่ต้องกลัว (หัวเราะ)

  • กรณีข่าวเครื่องตรวจวัตถุระเบิดในสนามบินสุวรรณภูมิ CTX 9000 ส่วนใหญ่นักข่าวใหม่จะเจอข่าวทุจริตเป็นครั้งแรก กลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน คุณจะแนะนำเขาอย่างไรดี

ผมว่าเราเรียนรู้ได้ บ.ก.ข่าวก็สามารถบรีฟให้คุณได้ อยู่ที่ว่าคุณต้องเกาะติดได้ คุณต้องอ่าน สมัยก่อนหากเจออย่างนี้ เราอ่านทั้งวันทั้งคืน กลางคืนไม่นอนก็อ่าน เพราะพรุ่งนี้เราต้องไปถาม ถ้าไม่เข้าใจก็จบ คือต้องมีคำถามว่ามีกี่คำถาม ประเด็นเป็นยังไง ตื่นเช้าสมัยก่อนข้อดีอย่างหนึ่งคือการนั่งรถเมล์ไปทำงาน เราก็จะครุ่นคิดตลอด ว่าเราจะถามอะไรดี ขึ้นรถเมล์ยังมีเวลาคิด เวลาเตรียมตัว แต่เดี๋ยวนี้ปุ๊บปั๊บก็ไปแล้ว

แต่อย่างไรเสียก็ต้องสอนให้เขาคิด  วิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น แล้วเดี๋ยวนี้มันง่ายกว่าแต่ก่อนตรงที่ข้อมูลมันมี อินเทอร์เน็ต คุณเข้าไปเถอะ แม้กระทั่งเรื่องซีทีเอ็กซ์ เข้าไปในอินเทอร์เน็ตก็มีหมด ตรงไหนคุณไม่รู้ คุณก็มาถามคนที่เขารู้ ก็จะได้อธิบายให้ฟัง มันก็ไม่ยาก หรืออย่างคุณเปลว สีเงิน เขาเขียนละเอียด มันก็น่าอ่านนี่ เขียนภาษาไทยด้วย เขาเรียบเรียงให้ดู เราก็อ่าน เออ ! เข้าใจเว้ย  ก็จะได้รู้ว่าเราเข้าใจถูกหรือผิด จะได้มาคิดต่อ มันไม่ยากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้

เพียงแต่ว่าเราสอนพื้นฐานเขาหรือเปล่า เราสอนความกล้า ความมุ่งมั่นที่จะเจาะไปให้ถึงปลายทางหรือเปล่า  ซึ่งความมุ่งมั่นตรงนี้แหละที่ยังไม่มี เพราะถ้าเขาไม่มีความมุ่งมั่น ง่ายขนาดไหนเขาก็ไม่ทำ แต่ถ้าเขามีความมุ่งมั่น แม้มันยากซับซ้อนขนาดไหน เขาก็ต้องไปหาคำตอบ ว่าอันนี้มันคืออะไร

เขาต้องกลับมาหา บ.ก.ข่าว พี่เรื่องนี้มันเป็นยังไง หนูอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเลย ก็บอกเขา โอเค ใจเย็นๆ เรื่องนี้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไปถามคุณสุริยะอย่างนี้ ต้องไปถาม บทม.อย่างนั้นอย่างนี้ ไอทีโอต้องไปถามอย่างนี้ เพราะว่าเขาจ้างตรงนี้ ให้ตังค์ตรงนี้ แล้วคนนี้เป็นนายหน้า เข้าใจมั้ย นายหน้าก็ไปซื้อจากอเมริกา แต่ว่าทำไมต้องมีนายหน้า ทำไมต้องมีบริษัทแพทริออท ตกลงแพทริออทเป็นนายหน้าของไอ้นี่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะถามแหล่งข่าวก็ไม่เคยมีหลักฐานว่าได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทอินวิชั่น แต่อ้างว่าเป็นตัวแทน แต่ไปๆ มาๆ คุณเปรมชัย กรรณสูต ก็ออกมาบอกว่า ถึงไม่ซื้อยี่ห้อนี้ ก็ยังจะให้แพทริออทเป็นตัวแทน เอ๊ะ ! มันเริ่มแปลกแล้ว

ตรงนี้ไม่ยากเกินไปที่นักข่าวจะเข้าใจ  เออ ! ทำให้เขามีคำถามในใจ แม้จะสลับซับซ้อน แต่เขาสามารถเรียงลำดับได้ แล้วก็จะไปเจาะไปหาข่าวด้วยตัวเอง

หรือไม่ก็เอาหนังให้ดู เช่นเรื่อง “ออลเดอะเพรซิเดนต์เมน” ที่นักข่าววอชิงตันโพสต์ 2 คนล้มประธานาธิบดีนิกสันได้ นั่นคือพื้นฐาน คือความมุ่งมั่นเลยนะ ซึ่งยุ่งยาก สลับซับซ้อนกว่าไม่รู้กี่ร้อยเท่าเลย แหล่งข่าวทุกคนเงียบหมด ไม่มีใครพูดกับเขาเลย นิกสันสั่งห้ามพูดหมด ใครพูดสั่งตัดคอเลย (หัวเราะ) ทำไงล่ะ ใช้โทรศัพท์ตื๊อ มีเบอร์กี่เบอร์เช็กหมด ไปหาที่บ้านสี่ห้าทุ่ม เขายังไม่กลับก็ยังรออยู่ข้างบ้านนั่นแหละ ไม่ให้เข้าบ้านก็ยืนอยู่ข้างบ้าน พอรถวิ่งมาปั๊บก็ไปนั่งหน้าบ้าน มุ่งมั่นมาก นี่แหละ....สิ่งเหล่านี้ต้องสอน

เพราะสังคมต้องการเราให้ทำความถูกต้องให้ปรากฏ นั่นแหละคือความภูมิใจที่สุดของคนทำอาชีพนี้ มิฉะนั้นไปเป็นแบงเกอร์ ไปเป็นเซลส์ หรือไม่ก็ไปขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า เพราะว่าอาชีพนี้มันเหนื่อยนะ แต่มันน่าภูมิใจที่เราสามารถป้องกันผลประโยชน์ของประเทศได้ จับคอร์รัปชั่นได้ แล้วทำให้คนไม่กล้าโกงอีกนะ คุณใส่พวกนี้เข้าไปในความคิดเขา ให้เขาเข้าใจ มันก็จะเกิดเพราะเขาคิดได้

และหากสมาคมนักข่าวฯเชิญหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับมาร่วมกันทำเทรนนิ่ง ต่อไปนักข่าวที่เข้ามาใหม่ต้องมาทำเทรนนิ่งก่อน เหมือนไอโอดีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ใครมาเป็นกรรมการบริษัทต้องผ่านการเทรนนิ่งก่อน เกี่ยวกับคุณสมบัติที่ถูกต้องของผู้ที่เป็นกรรมการบริษัทมหาชน หน้าที่ของไดเร็กเตอร์คืออะไร ต้องไม่ให้ฝ่ายบริหารโกงอย่างไร ต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใสอย่างไร ธรรมาภิบาลคืออะไร ต้องผ่านเทรนนิ่งนี้ทั้งหมด มีใบรับรองให้ คุณถึงเป็นกรรมการได้ แต่ของเราอาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น อาจจะแค่บอกว่า ถ้าคุณผ่านเกณฑ์ของสมาคมนักข่าว คุณขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ผ่านก็ยังไม่ถือว่าผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง หรืออาจจะสอนเรื่องพื้นฐานทางจริยธรรม พื้นฐานความภาคภูมิใจในอาชีพนี้ ประวัติการต่อสู้ของสื่อมวลชนไทยเป็นอย่างไร

ตรงนี้จะทำให้เขาเกิดความฮึกเหิม มีความภูมิใจ เพราะว่าเรามาทำสื่อก็เพราะว่ามีความรู้สึกอย่างนั้น เราต้องการเปลี่ยนสังคม เราต้องการทำให้สังคมดีขึ้น สร้างความสำนึกนี้กลับมาให้ได้ ถ้าสำเร็จนั่นก็เท่ากับว่าสำเร็จครึ่งหนึ่งล่ะ ที่เหลือคือเทคนิค ทักษะ เพราะตอนนี้สิ่งที่ขาดคือหัวใจ แล้วเรื่องนี้สมาคมนักข่าวฯทำดีที่สุด เพราะเหมาะที่สุด

  • ในทางกลับกัน ถ้านั่งพิมพ์งานอยู่แต่ในโรงพิมพ์ 2-3 ปี โดยที่ให้พี่ที่เป็นซีเนียร์ออกสนามข่าว แล้วนักข่าวใหม่จะโตได้อย่างไร ถ้าไม่ออกสนามจริง

เราสามารถไปประกบได้ แต่หน้าที่หลักคือรับข่าวก่อน แต่ถ้าวันไหนว่าง บอกเลย พี่ ! พรุ่งนี้หนูไปด้วยนะ มีแถลงข่าวที่ไหนก็ขอตามไปด้วย หรืออย่างมีเรื่องอินวิชั่น บอกเลยว่าผม หนูอยากไปฟังวรพจน์ (เช) ว่าเขาพูดยังไง อย่างไร ก็ไปด้วย กลับมาพี่อ่านจะให้เขียนข่าวด้วย แต่ว่าพื้นฐานมันอยู่ที่การฝึกฝน การรับข่าว แต่ไม่ได้แปลว่าอยู่แต่ในโรงพิมพ์เลย ไม่ออกไปไหนเลย อันนั้นไม่ใช่  มีออกไปเป็นครั้งเป็นคราวได้ แต่อาจจะไม่ได้อยู่ประจำ ซึ่งมักจะพบปัญหาคือถ้าเกิดไปอยู่ประจำ หากไปย้ายเขา เขาน้อยใจเอานะ เขาอาจจะคิดว่าเขาถูกลงโทษ เหมือนกับว่า เอ๊ะหนูทำอะไรผิดเหรอ แต่บอกเขาว่าเปล่าเลย เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คุณจะไปสลับเขาก็ไม่ได้ คุณไปเรียกเขาเข้าออฟฟิศก็ไม่ยอม กลายเป็นว่าเป็นวัฒนธรรมที่แปลก กลายเป็นค่านิยมที่เหมือนกับว่าตัวเองเสียหน้า

และผมก็ยืนยันกับหัวหน้าข่าวว่าต้องทำ  แล้วต้องไม่มีการเสียหน้า เพราะว่านี่คือสิ่งที่ดีสำหรับเขา ถ้าเราเริ่มต้นบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องเสียหน้า คนอื่นก็ไม่ควรจะรู้สึกเสียหน้า  ท้ายที่สุดเราก็จะได้นักข่าวที่มีคุณภาพ ไม่มีปรากฏการณ์นักข่าวไดรฟ์เออีกก็ได้ (หัวเราะ)

อย่างน้อยที่สุดสำนึกเกี่ยวกับเรื่อง “public interest” หรือผลประโยชน์ของประชาชนยังมีอยู่พอสมควร ตรงนี้แหละที่เราต้องสร้างขึ้นมา เพราะเราเห็นปัญหาเรื่องไดรฟ์เอแล้วว่า อย่างนี้ไม่ได้ ดังนั้นต้องลงไม้ลงมือทำเพื่อคงไว้ เพื่อความเป็นสถาบันสื่อมวลชน

…………….